‘กากแคดเมียม’ ปิดโรงงาน/ปิดพื้นที่/ขนย้าย เรื่องไม่จบ ถึงเวลาแก้ปัญหาแบบใช้ปัญญา

มูลนิธิบูรณะนิเวศแถลง (9 เม.ย.67) กรณีกากแคดเมียม เปิด 6 ข้อเท็จจริงที่สำคัญพร้อมด้วยข้อสังเกตหลัก ๆ และข้อเสนอ 2 มิติ แก้ไขปัญหาเหตุการณ์ร้อน ว่าด้วยระบบการจัดการควบคุมกากอุตสาหกรรมและแนวนโยบายที่เกี่ยวข้อง

ถ่ายโดย Naratip Thongtanom มูลนิธิบูรณะนิเวศ

-1-

เหตุใดจึงต้องขุดและขนกากแคดเมียมที่กำจัดแล้วออกจากหลุมฝังกลบ จ. ตาก มายัง จ. สมุทรสาคร

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า กากแคดเมียมนี้ไม่ใช่กากที่ต้องการการกำจัดหรือบำบัด เพราะได้ผ่านขั้นตอนนั้นไปแล้ว โดยเป็นกากที่ถูกจัดการด้วยการใส่ลงไปในหลุมฝังกลบเรียบร้อยแล้ว ในพื้นที่โรงงานของบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ที่ จ. ตาก ซึ่งมีพื้นที่กว่า 2,500 ไร่

โรงงานแห่งนี้ประกอบกิจการผลิตแร่สังกะสีและแคดเมียม สังกะสีแท่ง สังกะสีอัลลอยด์ และโลหะแคดเมียม พูดให้ง่ายก็คือ เป็นโรงงานทำเหมืองและถลุงแร่สังกะสีและแคดเมียมโดยตรง ดังนั้นหมายความว่าโรงงานแห่งนี้เองเป็นผู้ก่อให้เกิดกากอันตรายดังกล่าว และย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องรับผิดชอบบำบัดจัดการและกำจัดกากเหล่านั้น ซึ่งตามรายงาน EIA ระบุให้ฝังกลบในพื้นที่ และที่ผ่านมา โรงงานก็ได้ทำตามมาตรการดังกล่าว คือฝังกลบไปเรียบร้อยแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องของการกระทำที่ไม่ปกติอย่างยิ่ง เพราะเป็นการลุกขึ้นมาเปิดหลุมฝังกลบที่ปิดไปแล้วตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน (ตามข้อมูลที่ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศได้ทราบมา มีการอนุญาตจาก กพร. ให้ปิดหลุมฝังกลบกากแคดเมียมบ่อที่ 7 ตั้งแต่เมื่อกลางปี 2561) แล้วดึงเอากากอันตรายเหล่านั้นขึ้นมา จากนั้นยอมลงทุนขนส่งออกไปยังผู้ประกอบการรายอื่น ใน จ. ที่ห่างไกลหลายร้อยกิโลเมตร

ประเด็นคำถามสำคัญในที่นี้จึงอยู่ที่ว่า การกระทำเช่นนี้มีสาเหตุหรือแรงจูงใจจากอะไร ในเมื่อเรื่องของความจำเป็นที่จะต้องกำจัดกากนั้นไม่มี เราจึงขอตั้งประเด็นว่า นี่เป็นเรื่องของความโลภโดยแท้ใช่หรือไม่ โลภอย่างไรบ้าง?

โลภที่ 1 โลภในเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินของเบาด์ แอนด์ บียอนด์ใช่หรือไม่

เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีแผนที่จะแจ้งเลิกประกอบกิจการเหมืองในอนาคต และมีความประสงค์ที่จะใช้พื้นที่ 2,500 ไร่ที่ จ. ตากของตนนั้นสร้างผลกำไรให้มากกว่าการเป็นเพียงแหล่งหมกสารพิษ

โลภที่ 2 โลภในเรื่องการใช้ประโยชน์กากของเสียให้คุ้มค่าที่สุดใช่หรือไม่

จากกรณีการพบกากแคดเมียมจำนวนมากถูกส่งต่อจากสมุทรสาครไปยังคลองกิ่ว ชลบุรี บ่งบอกให้รู้ว่า แม้ในมุมสาธารณะ กากนี้ไม่เป็นที่ต้องการและอันตรายมาก แต่ในวงการธุรกิจกาก แคดเมียมคือสินค้ามีราคาสูง ทางคลองกิ่วจึงเป็นฝ่ายจ่ายเงินซื้อกากเหล่านั้นจากโรงงานที่สมุทรสาคร

เรื่องนี้ส่วนหนึ่งเป็นไปตามแนวคิดเรื่องการนำวัสดุใช้แล้วมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงทางอุตสาหกรรม ตามแนวนโยบายโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG และเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) รวมทั้งเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของแนวทางเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ในระดับหลักการ แนวคิดและแนวทางเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดี แต่มีปัญหาใหญ่จากการที่ถูกโหนด้วยปัญหาและผลประโยชน์จากการบำบัด/กำจัดกากอุตสาหกรรม กระทั่งมีการยัดเยียดเอาของเสียอันตรายกลับเข้าสู่ระบบเพื่อทำกำไรเข้ากระเป๋าผู้เกี่ยวข้อง แทนการดำเนินการตามหลักวิชาการให้ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยของสังคมส่วนร่วม

ประเด็นที่ต้องถามต่อคือ ในกระบวนการแห่งความโลภประการที่ 2 นี้ ไม่น่าจะมีผู้เกี่ยวข้องเพียงเบาด์ แอนด์ บียอนด์ และอุตสาหกรรมจังหวัดตาก แต่ต้องมีอีกหลายส่วนที่รู้เห็นและอาจจะสนับสนุนหรือไม่ (ซึ่งคำตอบเรื่องนี้อาจจะพอหาได้จากข้อเท็จจริงประการที่ 2 ที่จะกล่าวต่อไป)

แต่ที่แน่ๆ ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า กลไกการควบคุมด้านการอนุญาตอุตสาหกรรมและการควบคุมสิ่งแวดล้อมมีความบกพร่องและรูรั่วในหลากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการตรวจติดตามการปฏิบัติตาม EIA การกำกับดูแลการประกอบกิจการเหมืองและโรงงานถลุงแร่ การกำกับควบคุมการบำบัด/จัดการของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม การอนุญาตขนย้ายกากอุตสาหกรรม รวมถึงการนำเข้าซึ่งวัตถุดิบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่าง ๆ

-2-

กากแคดเมียมที่โผล่เป็นข่าวขึ้นมาที่สมุทรสาครต้นเดือนเมษายนนี้ แท้จริงมีการขนกันออกมาจาก จ. ตาก ตั้งแต่เมื่อกลางปี 2566

มูลนิธิบูรณะนิเวศได้รับทราบข้อเท็จจริงมาว่า ทางเบาด์ แอนด์ บียอนด์ได้รับอนุญาตให้ขุดและขนย้ายกากแคดเมียมชุดแรกตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 และดำเนินการขนย้ายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน ส่วนการขนเที่ยวสุดท้ายคือวันที่ 8 มกราคม 2567 รวมเป็นปริมาณกากที่นำออก 13,832.10 ตัน

เท่ากับว่ากิจกรรมขนกากพิษอันตรายดำเนินการยาวนานกว่า 8 เดือน ก่อนที่เรื่องจะ “แดง” ออกสู่สาธารณะ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ว่าจะมีเพียงอุตสาหกรรมจังหวัดตากเท่านั้นที่ทราบและเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

-3-

โรงงานที่สมุทรสาครไม่มีศักยภาพจัดการกากแคดเมียมให้ปลอดภัยได้

โรงงานของบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ซ. กองพนันพล ถ. เอกชัย ต. บางน้ำจืด อ. เมือง จ. สมุทรสาคร ถูกเปิดว่าเป็นจุดที่พบกากแคดเมียม โรงงานแห่งนี้เป็นโรงหลอมโลหะที่ตั้งอยู่ในซอยกองพนันพล จ. สมุทรสาครมานานประมาณ 30 ปีแล้ว จนถึงปัจจุบันมีใบอนุญาตประกอบกิจการอุตสาหกรรม 3 ใบ ใบแรกได้รับเมื่อปี 2537 ใบที่สองปี 2557 และใบล่าสุด เพิ่งได้รับเมื่อปี 2566 ซึ่งเป็นเพียงใบเดียวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกากแคดเมียมนี้ เนื่องจากเป็นใบอนุญาตโรงงานประเภทที่ 60 สามารถประกอบกิจการหลอมสังกะสีและแคดเมียม ส่วนสองใบที่มีอยู่ก่อนหน้านั้นทำได้เพียงการหลอมอะลูมิเนียม

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีใบอนุญาตให้เป็นโรงงานประเภทที่หลอมสังกะสีและแคดเมียมได้ แต่จากการตรวจสอบของมูลนิธิบูรณะนิเวศ พบว่า จนกระทั่งถึงวันที่ 4 มีนาคม 2567 นี้ โรงงานเจ แอนด์ บี เมททอลยังไม่เคยแจ้งขออนุญาตประกอบกิจการในส่วนของใบอนุญาตโรงงานประเภทที่ 60 ใบหลังสุดนี้ แต่อย่างใด

นั่นหมายความว่า ในทางกฎหมายแล้ว โรงงานยังไม่สามารถดำเนินการอะไรกับกากแคดเมียมที่ไปรับมาจากเบาด์ แอนด์ บียอนด์ได้ ส่วนศักยภาพในเชิงเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากเป็นเรื่องที่จะถูกตรวจสอบก็ต่อเมื่อมีการแจ้งขออนุญาตประกอบกิจการ

การอนุญาตให้ขนย้ายกากแคดเมียมมายังปลายทางที่ไม่ได้มีศักยภาพในทางกฎหมายเช่นนี้จึงเป็นประเด็นคำถามใหญ่ที่ต้องถามต่อหน่วยงานราชการ ในขณะที่คำถามใหญ่ต่อเอกชนคือ ดีลระหว่างเบาด์ แอนด์ บียอนด์กับเจ แอนด์ บี เมททอล ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนปี 2566 แท้จริงคืออะไร เป็นการจ้างกำจัด หรือขายเศษวัสดุ ฯลฯ และเหตุใดจึงต้องเป็นคู่ดีลนี้ ซึ่งในเวลานั้นยังไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมสังกะสี/แคดเมียม ด้วยซ้ำไป

ส่วนคำถามย่อยที่เชื่อมกันระหว่างราชการและเอกชนก็คือ การให้อนุญาตโรงงานประเภทที่ 60 เป็นไปเพื่อดีลนี้หรือไม่ ความประสงค์ที่จะเข้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมสังกะสี/แคดเมียมของเจ แอนด์ บี เมททอลเกิดก่อน หรือการหาทางให้กากแคดเมียมพ้นจากความรับผิดชอบของเบาด์ แอนด์ บียอนด์คือต้นเหตุ อะไรเป็นไก่และไข่ แล้วไก่หรือไข่เกิดก่อนกัน

-4-

บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ไม่มีศักยภาพรองรับกากแคดเมียมทั้งหมดได้ จึงเกิดการกระจายต่อไปโรงงานอื่น และยังคงหายไปเกือบ 6,000 ตัน

แรกสุดที่มีการเปิดข่าวการพบกากแคดเมียมที่โรงงานของเจ แอนด์ บี เมททอล มีการให้ข้อมูลว่า ปริมาณกากมีมากถึง 1.5 หมื่นตัน แต่ต่อมาถูกพบโดยคณะส่วนราชการที่ลงพื้นที่ซึ่งนำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมว่า ปริมาณมีเพียง 2,400 ตันเศษ ทำให้เกิดกิจกรรมไล่ล่าหากากแคดเมียมตามมา โดยพบแห่งแรกที่โรงงานรีไซเคิลเถื่อน ต. คลองกิ่ว จ. ชลบุรี จากนั้นพบในโรงงานอีกแห่งหนึ่งของ ต. บางน้ำจืด ปริมาณที่พบที่คลองกิ่วมีการแจ้งตัวเลขระหว่าง 3,000 – 7,000 ตัน โดยล่าสุดอยู่ที่ 4,400 ตัน ส่วนที่บางน้ำจืดคนละจุดกับแห่งแรก พบ 1,034 ตัน

เมื่อรวมกันที่ยอดสูงสุดแล้วจึงยังเท่ากับมีส่วนที่หายไปอีกกว่า 5,900 ตัน และตามที่มีกระแสข่าวบางส่วนว่าอาจมีการหลอมไปบ้างแล้วทั้งที่คลองกิ่วและสมุทรสาคร จะสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ หรืออาจจะยังมีเล็ดลอดอยู่ในพื้นที่อื่นๆ อีก?

ประเด็นสำคัญที่สุดในมุมนี้คือ ท่ามกลางการมีกฎหมายและกลไกควบคุมการขนส่งกากอุตสาหกรรมที่รัดกุมและดีเลิศ ตามที่รัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมักกล่าวอ้าง กากแคดเมียมซึ่งเป็นสิ่งมีพิษภัยร้ายแรงถูกขนส่งกระจายไปยังหลายพื้นที่โดยระบบไม่อาจรับทราบและไม่อาจติดตามได้อย่างไร

ถ่ายโดย Naratip Thongtanom มูลนิธิบูรณะนิเวศ

-5-

ในฐานะผู้ก่อมลพิษ บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นตัวการสำคัญในความผิดเรื่องนี้ จึงไม่ควรถูกปล่อยให้หายไปหรือลอยตัวจากสมการการแก้ปัญหาเรื่องกากแคดเมียม

เนื่องจากนับตั้งแต่เกิดข่าวพบกากแคดเมียมที่สมุทรสาคร ก็เกิดประเด็นปัญหาระดับชวนตะลึงตามมาอีกหลายระลอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปริมาณกากที่หายไป ผลตรวจของกรมควบคุมมลพิษที่พบความเป็นพิษร้ายแรง การตรวจพบปริมาณสารพิษในเลือดคนงาน ฯลฯ และเชื่อว่ายังอาจมีประเด็นอื่นๆ ตามมาอีก ส่วนใหญ่แล้ว ด้วยปัญหาที่เกิดใหม่ก็นำไปสู่การแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ซึ่งแม้บางครั้งจะดูมีเหตุมีผล แต่ก็มักไม่ใช่แนวทางที่ดีและเหมาะสม หากไม่ยึดหลักการที่แม่นยำ

มูลนิธิบูรณะนิเวศขอเสนอหลักการสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ว่าจะต้องอยู่บนหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบ (polluter pays principle) และต้องยึดถือความปลอดภัยของประชาชนเป็นความสำคัญสูงสุด

ดังนั้น ในฐานะที่บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือเดิมคือบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของผู้ก่อให้เกิดกากอุตสาหกรรมอันตรายนี้ขึ้นมา จึงควรต้องเป็นผู้เข้ามารับผิดชอบต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในความหมายที่ว่าต้องเป็นผู้จ่ายต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการแก้ไขปัญหานี้

-6-

ทั้งหมดนี้สะท้อนความล้มเหลวของระบบบริหาร-จัดการกากอุตสาหกรรม

ระบบการกำกับดูแลกากอุตสาหกรรมถูกถ่ายโอนจากส่วนราชการส่วนกลางไปเป็นอำนาจหน้าที่ของอุตสาหกรรมจังหวัด ทั้งที่เป็นงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะ นี่เป็นส่วนหนึ่งของช่องโหว่ของระบบการควบคุมกากอุตสาหกรรมของประเทศไทย ซึ่งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมักนำเสนอด้วยความมั่นใจว่าระบบมีความรัดกุมและสามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี ในขณะที่รัฐบาลมุ่งเน้นด้านการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการเป็นสำคัญ ดังพบเห็นได้ในช่วงที่ผ่านมาที่มีการเร่งรัดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมออกใบอนุญาตแก่ผู้ขอประกอบกิจการโรงงานต่างๆ

แต่สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในกรณีแคดเมียมทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ระบบได้อนุญาตให้เกิด “กากซอมบี้” ขึ้นมา และถูกขนย้ายข้ามพื้นที่หลายจังหวัดมายังปลายทางได้อย่างง่ายดายและไร้มาตรการควบคุมดูแล เมื่อมาถึงปลายทางตามที่แจ้งไว้ในระบบแล้ว ก็สามารถมีการกระจายขายต่อโดยหน่วยงานกำกับดูแลไม่รับทราบ เมื่อกากอันตรายหายไปจากระบบก็ไม่สามารถติดตามได้อย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งมิติความเข้มงวดและความจริงจัง

จากประเด็นหลัก 6 ประการนี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศขอเสนอและเรียกร้องต่อรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทย ใน 2 มิติ ดังนี้

มิติที่ 1 เกี่ยวกับกรณีกากแคดเมียมของบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 13,832.10 ตัน ให้ดำเนินการตามลำดับความเร่งด่วน ดังนี้

1. สนับสนุนการติดตามตรวจสอบให้เกิดความชัดเจนและครบถ้วนว่า กากแคดเมียมทั้งหมดนั้น กระจายไปอยู่ในพื้นที่ใด เท่าไร ในสภาพใด ในกรณีที่ยังคงอยู่ในถุงบิ๊กแบก ให้ดำเนินการประกาศและวางมาตรการป้องกันการแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม และ/หรือโอกาสที่คนและสิ่งมีชีวิตต่างๆ จะรับสัมผัส ตลอดจนมีการติดตามเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมบริเวณดังกล่าว และหากพบว่ามีส่วนใดที่หลอมไปแล้ว ให้ติดตามเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมและชุมชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดการหลอมกากแคดเมียมนั้น

2. ตรวจสอบกระบวนการดำเนินการที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทาง ทั้งในประเด็นความชอบด้วยกฎหมาย ปฏิบัติการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และการละเว้นหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงช่องโหว่หรือจุดผิดพลาดที่เกิดขึ้น และการคอร์รัปชัน โดยให้ดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดและการเรียกคืนผลประโยชน์ที่ได้รับหรือเรียกรับโดยไม่ชอบ ทั้งในส่วนของข้าราชการและเอกชน ส่วนข้อค้นพบเกี่ยวกับประเด็นความผิดพลาด ให้นำไปหาแนวทางปรับปรุงระบบและกลไกที่เกี่ยวข้องต่อไป

3. ในการดำเนินการในทุกประการข้างต้น ให้เปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา ส่วนภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด โดยครอบคลุมถึงส่วนที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ด้วย

มิติที่ 2 เกี่ยวกับระบบและนโยบายการกำกับดูแลอุตสาหกรรมและกากอุตสาหกรรมในภาพรวม

1. ทบทวนการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ โดยยอมรับความล้มเหลวและช่องโหว่ของระบบในปัจจุบัน ที่เน้นอำนวยความสะดวกรวดเร็วแก่ภาคเอกชน/โรงงานในการขนย้าย/กำจัดกาก

ระงับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการรีไซเคิลประเภทต่างๆ เพิ่มเติม โดยเร่งทบทวนนโยบายและมาตรการส่งเสริมการทำเหมืองจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และ BCG โดยเฉพาะการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมายในการจัดการสิ่งแวดล้อม มาตรฐานกำกับดูแลการปล่อยมลพิษ การพัฒนาความเชี่ยวชาญ และคัดเลือก/ควบคุมประเภทของกิจการรีไซเคิลที่ควรส่งเสริม

2. ปรับปรุงระบบการควบคุมมลพิษและการรักษาสภาพแวดล้อม ยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม การควบคุมมลพิษ และ EIA/EHIA ก่อนไปมุ่งสู่ Green Mining Green Recycling และ BCG สนับสนุนกฎหมาย PRTR (ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ. …) สำรวจและขึ้นทะเบียนพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษที่เสียหายจากกิจการฝังกลบ การหล่อหลอม และการรีไซเคิลของเสียอันตราย

3. ภาพรวมอื่น ๆ ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 และ… เพื่อให้มาตรการด้านผังเมืองและการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมีการบังคับใช้โดยไม่มีข้อยกเว้น ปรับปรุงโครงสร้างอำนาจหน้าที่ที่ทับซ้อนกันของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริม-การอนุญาตการลงทุนอุตสาหกรรม

ภาพและเนื้อหา : มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

แชร์บทความนี้