เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่กินพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของสงขลา เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา โดยแต่ละช่วงเวลามีสถานการณ์ สาเหตุ เงื่อนไขและปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป และยังไม่มีแนวโน้มที่จะมีการจัดการใด ๆ ไม่ว่าจะภาครัฐ หน่วยงานความมั่นคงสามารถคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่ได้
ชวนพูดคุยและอ่านข้อเสนอในการจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในมิติต่าง ๆ ทั้งเรื่องรูปแบบการปกครอง วัฒนธรรม กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจและการศึกษา กับ ศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ถ้าเปรียบเทียบชายแดนใต้เป็นร่างกายของมนุษย์จะเป็นร่างกายแบบใด :
ตอนนี้ชายแดนใต้เหมือนกับว่าเป็นอวัยวะที่เติบโตแบบไม่สมบูรณ์ เนื่องจากถูกจำกัดอิสรภาพในการเติบโต ทำให้เป็นร่างกายที่เติบโตแบบกระท่อนกระแท่น
ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2547) มีพลวัตอะไรเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้บ้าง :
ในช่วงปีแรก ๆ ชายแดนใต้เหมือนอยู่กับความรุนแรงนิรนาม เพราะจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ช่วงนั้น ไม่มีการอ้างถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลังการกระทำดังกล่าว ในระยะ 3-4 ปีแรก ต่างคนต่างต้องหาคำตอบว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร คนที่ทำให้เกิดขึ้นคือใคร แล้วต้องการอะไร ผ่านไปสักพักเริ่มมีการแสดงตัวออกมา เห็นได้ชัดในกรณีปี 2554 การเจรจาสันติภาพครั้งแรก ตัวของผู้ก่อเหตุแสดงตัวออกมาพร้อมกับข้อเรียกร้องของเขา สำเร็จมากน้อยแค่ไหนก็อีกเรื่อง แต่นี่คือความเปลี่ยนแปลงอันหนึ่งที่เห็นได้ชัด
ความเปลี่ยนแปลงอันที่สอง คือ มีความพยายามในการจัดหาแนวทางในการคลี่คลายปัญหา ในแง่หนึ่งก็หยิบพหุวัฒนธรรมมาใช้ แต่ความเข้าใจความหมายของพหุวัฒนธรรมอาจไม่ถูกที่ถูกทางไปบ้าง ส่วนใหญ่จะหยิบคำว่าพหุวัฒนธรรมไปใช้ตามใจชอบเสียมากกว่าจะใช้ให้ถูกที่ถูกทาง พหุวัฒนธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่รัฐใช้ จะเป็นไปทางกระบวนการที่เรียกว่า ‘การกลืนกลายทางวัฒนธรรม’ เสียมากกว่า ซึ่งหมายความว่าการถูกนิยามแบบผิดที่ผิดทางจะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริงเสียที
เห็นได้ชัดจากกรณีหากมีกิจกรรมใด ๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เกี่ยวข้องกับความเป็นพหุวัฒนธรรมจะเห็นว่ามีประชาชนทั่วไปเข้าไปมีส่วนร่วมน้อยมาก ส่วนใหญ่จะกลายเป็นบุคคลที่ยึดโยงกับหน่วยงานราชการหรือภาครัฐเข้าไปมีบทบาทมากกว่า
อย่างไรก็ตาม การนิยามความหมายของพหุวัฒนธรรม ถูกตั้งคำถามมาหลาย 10 ปี ในแง่ของการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้งหรือผูกขาดความหมายไว้กับฝั่งที่มีอำนาจมากกว่าหรือไม่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเอาวัฒนธรรมใดหนุ่งมาเป็นตัวตั้งแล้วบอกว่าทุกคนอยู่ร่วมกันได้ แต่มันคือการสร้างวัฒนธรรมร่วมใหม่ที่คนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกัน
ความเท่าเทียมและสิทธิทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องจำเป็นแค่ไหนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ :
ถ้าจะนิยามว่าเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่คืออะไร ในแง่หนึ่งเป็นปัญหาทางการเมือง ปัญหาของการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เสมอกันระหว่างรัฐกับท้องถิ่น หรือรัฐกับประชาชนที่ถูกปกครอง อย่างไรก็ตามมันมีมูลเหตุมาทางวัฒนธรรม เนื่องจากรูปแบบการปกครองในพื้นที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต โดยเฉพาะเรื่องชาติพันธุ์และศาสนา ทำให้คนในพื้นที่มีการเรียกร้องเรื่องอัตลักษณ์ รวมถึงความเชื่อทางศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องของการที่จะมีสิทธิ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งก็เป็นโจทย์ใหญ่ของสังคม
![]()
สิทธิที่กล่าวมาทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งที่ไปประกอบกับสิ่งที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวใช้กัน คือ Right to self determination คือ สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเอง ซึ่งไม่ได้หมายความแต่เพียงในเรื่องของรูปแบบการเมืองการปกครอง แต่รวมถึงชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับพวกเขาด้วย
รูปแบบการปกครองแบบไหนที่จะเหมาะสมกับพื้นที่ชายแดนใต้ :
เอาเข้าจริงมันมีความพยายามที่จะขบคิดหรือคลี่คลายปัญหานี้มันเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใหม่ ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มของนักรัฐศาสตร์ พยายามจะนึกถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘รูปแบบการปกครองพิเศษ’ หรือ ‘รูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ’ ซึ่งมีลักษณะของการบูรณาการของท้องถิ่นเข้ากับภูมิภาคออกมาเป็นระดับภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวปี 2549 – ปี 2550 ก็ยังมีเสียงตอบรับที่ค่อนข้างดี ในช่วงปี 2552 ก็มีช่วงที่เสนอเรื่องปัตตานีมหานคร แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองมาก ท้ายที่สุดพอเกิดรัฐประหารปี 2557 ข้อเสนอก็ถูกล้มไป ซึ่งก็มีการวิจารณ์ข้อเสนอว่ารูปแบบการปกครองที่เสนอกันไม่ได้ต่างอะไรกับรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคเดิมที่มีอยู่
แง่หนึ่งมันเป็นปัญหาเรื่องการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น ซึ่งมันไม่สมมาตรโดยที่ท้องถิ่นรู้สึกว่าสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของเขาที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมความเชื่อทางศาสนามันขาดหายไป เขาจึงมีการเรียกร้องรูปแบบการปกครองแบบใหม่ เป็นช่วงเดียวกับที่มีกระแสเรื่องจังหวัดจัดการตัวเอง ซึ่งคล้ายคลึงกับสิ่งที่เรียกว่า ‘รูปแบบการปกครองท้องถิ่นพิเศษ’ ปัจจุบัน 1 ในนั้นก็คือ กรุงเทพมหานคร กับ พัทยา
เศรษฐกิจชายแดนใต้เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างไร :
มีการให้ความเห็นจากกลุ่มหนึ่งบอกว่าเศรษฐกิจชายแดนใต้มีผลทำให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ อีกกลุ่มหนึ่งเหตุการณ์ความไม่สงบส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจชายแดนใต้ สิ่งเหล้านี้เป็นปริศนามาก แม้กระทั่งในกลุ่มเดียวกันก็มีความเห็นต่างกัน เช่น กรณีที่บอกว่าเศรษฐกิจชายแดนใต้เป็นผลให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบก็จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ถ้าเป็นเชิงสาเหตุ สาเหตุแรกก็คือ อาจจะบอกว่ามันมาจากสภาพวัฒนธรรม แล้วก็นำมาแก้ปัญหาโครงการพัฒนาใส่เข้าไป มักจะพบได้ในงานเขียนของรัฐค่อนข้างเยอะที่บอกว่า ปัญหาความไม่สงบเป็นเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจ เพราะคนยากจน แล้วใช้การยกตัวอย่างว่า ถ้าไปดูในหมู่บ้านที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเยอะ ๆ หมู่บ้านสีแดงทั้งหลาย มักจะเป็นหมู่บ้านที่มีความยากจนทั้งสิ้น และให้มุ่งเน้นไปที่เรื่องการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจจึงจะทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบหมดไป
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง มองว่า สาเหตุมาจากการพัฒนาที่ผิดพลาดของรัฐ เพราะไปพรากวิถีชีวิต สิทธิเหนือทรัพยากร ต่าง ๆ บางกลุ่มก็กล่าวว่าถ้ามีโครงการพัฒนาถูกต้องก็คงไม่มีคนที่คิดอยากจะแบ่งแยกดินแดน เป็นต้น แต่กลุ่มนี้ก็จะเป็นปัญหาในแง่ของความไม่เท่าทันในความเปลี่ยนแปลงของชีวิตทางเศรษฐกิจของผู้คน มีแนวโน้มที่จะมองคล้าย ๆ กับว่าเศรษฐกิจชุมชนเพิ่งพาตนเองในทำนองแบบสร้างภาพชวนฝันให้กับชุมชน ซึ่งอันที่จริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น
การทำความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจชายแดนใต้ยังมีความรู้ที่ขัดกันอยู่ค่อนข้างสูงและยังไม่ลงรอยกันอยู่ จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มอย่างรอบด้านและรัดกุมพอที่จะรู้ว่าสุดท้ายแล้วปลายทางของเรื่องเศรษฐกิจชายแดนใต้จะนำไปสู่อะไร หรือถ้ามันมีความเฉพาะเจาะจงไม่สามารถอธิบายแบบภาพรวมของพื้นที่ได้อย่างน้อยที่สุดก็จะได้รู้ว่าเงื่อนไขที่ใช้พิจารณาคืออะไร เป็นต้น
งานเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่เห็นตอนนี้มันจะไปเน้นเรื่องของการส่งเสริมนั่นนี่ เนื่องจากมองว่าคนในพื้นที่ยากจน ต้องใส่ชุดความคิดเรื่องการส่งเสริมเข้าไป เพื่อที่จะเข้าไปพัฒนาพวกสินค้าเกษตร ช่วยเหลือการทำประมง ช่วยเหลือการทำมาหากินของผู้คน การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะหลังมันมุ่งเน้นไปที่เรื่องมิติวัฒนธรรม พบว่าการอาศัยสิ่งที่เรียกว่า ‘ทุนวัฒนธรรม’ ซี่งจริง ๆ เป็นการเรียกที่ผิด เนื่องจากการใช้คำว่าทุนวัฒนธรรมแต่กลับไปเสนอว่าต้องมีตลาด ต้องมีโครงการ แล้วก็มีงานวิจัยที่จัดทำโดยทั้งคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่เป็นจำนวนมาก เพื่อดูว่าชุมชนมีทุนอะไรบ้างที่สามารถดึงมาใช้ได้บ้างเพื่อตอบโจทย์การท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วย เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม โดยใช้วัฒนธรรมที่มีความเฉพาะตัวสามารถแปรมาเป็นสินค้าที่จำหน่ายได้
ลักษณะทางเศรษฐกิจของชายแดนใต้ไม่ได้มีแค่เกษตร ประมง แต่ยังมีเรื่องกลุ่มคนที่ไปทำงานข้ามแดนที่ประเทศมาเลเซีย เฉพาะช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง (ปี 2540) มีคนไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียเกือบ 2 แสนคน ยังไม่รวมคนที่ข้ามแดนไปมา และ ตลาดค้าชายแดนอีกด้วย ตรงส่วนนี้ยังไม่มีการพูดถึงมากเท่าไหร่ทั้งที่จริงมันมีศักยภาพในการรองรับผู้คนโดยเฉพาะการไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย ด้วยความที่มีความเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน ศาสนาเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน ซึ่งมันเอื้ออำนวยให้สามารถเข้าไปทำงานได้ค่อนข้างสะดวก ไม่ไปเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ ที่เข้าไปในมาเลเซีย แต่อย่างไรก็มีการกดขี่อยู่ระดับหนึ่ง คือไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนพอเป็นโลกธุรกิจมักจะมีการขูดรีดเกิดขึ้นต่อให้คุณเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันก็ตาม อย่างน้อยที่สุดก็เป็นปัจจัยหนุนเสริมเอื้ออำนวยให้คนในพื้นที่ได้เข้าไปทำงาน โดยที่คนเหล่านี้ไม่ได้รับการช่วยเหลือการรัฐ หากแต่เป็นการดูแลจัดการตัวเองตั้งแต่เรื่องการออกวีซ่าการผ่านแดนไปจนกระทั่งการใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมานานและยังไม่ถูกแก้ไข อันที่จริงควรทำให้ถูกต้องสักที ในเมื่อดูเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซียเริ่มดีขึ้นแล้ว
อีกกระแสการทำงานใหม่ของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้คือการไปทำงานที่ภาคอีสานและภาคเหนือ โดยไปรับจ้างตัดยางพารา เพราะคนในพื้นที่ภาคใต้มีทักษะในการกรีดยางพารา อีกทั้งการเดินทางออกนอกพื้นที่ไปทำงานที่ภาคอื่น ๆ ภายในประเทศมีการจัดการที่ง่ายกว่าการเดินทางออกนอกประเทศอย่างประเทศมาเลเซียค่อนข้างมาก ลดปัญหาในการจัดการไปได้มาก และยังสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายกว่าด้วย
จากที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้เห็นว่าในพื้นที่ยังมีการสร้างงานในจำนวนจำกัด ซึ่งต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรจึงสามารถสร้างงานให้พื้นที่ได้ ลำพังเพียงแค่เกษตรกรรมที่ปัจจุบันมีอยู่ในพื้นที่ไม่เพียงพอ อีกประเด็นที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือเรื่องปัญหาสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร ซึ่งจะพบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องประมง ไปดูเรื่องความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ถัดมาเรื่องการเกษตร ไปดูเรื่องรูปแบบการทำเกษตรที่ยั่งยืน แต่ยังไม่มีงานวิจัยที่พูดถึงเรื่องสิทธิเหนือทรัพยากร ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ถูกละเลยมาตลอด ตัวอย่างเช่นมีคนไปอยู่ในพื้นที่ที่จะประกาศเป็นพื้นที่อุทยานโดยที่ประชาชนไม่รู้มาก่อน ซึ่งเรื่องทรัพยากรเป็นส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวในช่วงปี 2551 เป็นต้นมา
การศึกษาของชายแดนใต้ควรเป็นอย่างไรจึงจะเหมาะสม :
ปัจจุบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เด็กส่วนใหญ่ในพื้นที่พอจบชั้นประถม เขาจะเลือกเส้นทางเรียนต่อคือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งโรงเรียนรัฐทั่วไปก็จะมีเด็กมุสลิมน้อยลงเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าสาเหตุหนึ่งคือเป็นผลมาจากกระแสการตื่นตัวในศาสนาอิสลามซึ่งมันขยายตัวมา 2-3 ทศวรรษแล้ว ทำให้ตัวของพ่อแม่และตัวของเด็กบางส่วนอยากที่จะเรียนทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป แทนที่จะเรียนโรงเรียนรัฐอย่างเดียวเป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตามถ้าใช้เกณฑ์เฉลี่ยของประเทศไทย เด็กจังหวัดชายแดนใต้ก็ยังทำคะแนนได้ลำดับท้าย ๆ ของตาราง อย่างที่บอกว่าความสันทัดในภาษาไทยเขาเทียบกับเด็กไทยโดยทั่วไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อใช้ข้อสอบที่เป็นภาษาไทยแล้วก็มีวิธีคิดแบบไทยมันก็เลยทำให้เด็กเหล่านี้มีคะแนนสอบรั้งท้ายไปโดยปริยาย
โจทย์ใหญ่คือต้องทำอย่างไรที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาของสิ่งที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขึ้นมาให้สร้างทักษะในการสื่อสาร ทักษะการคิด วิเคราะห์ ทักษะการแก้ปัญหาไปจนถึงทักษะการประกอบอาชีพให้กับเด็กเหล่านี้ให้ได้ทัดเทียมกับเด็กที่ได้ภาษาไทย
เราไม่สามารถไปเปลี่ยนความนิยมของคนในพื้นที่ได้เพราะเขาต้องการเรียนศาสนาอิสลามไปในตัว เพราะฉะนั้นในแง่ของคุณภาพการศึกษาจำเป็นต้องเข้าไปพัฒนาเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กจังหวัดชายแดนใต้เข้าไปอยู่ในระบบอุดมศึกษาน้อยมาก ซึ่งจะทำอย่างไรที่จะทำให้อุดมศึกษาสามารถที่จะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ เช่น เด็กสามารถอยากจะเรียน มันจะมีกระบวนการอะไรบ้างเข้ามาหนุนเสริมเขาอย่างไรที่จะสามารถเพิ่มทักษะให้เข้าสู่ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ในระดับของการศึกษาตามประเพณี โดยจะมีความกังวลที่มาจากหน่วยงานความมั่นคงที่มองว่าสถานศึกษาตามประเพณีของอิสลาม ตั้งแต่ตาดีกาไปจนถึงปอเนาะ มันจะเป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดอิสลามแบบสุดขั้ว และมองว่าเป็นคล้าย ๆ กับแหล่งซ่องสุมที่จะปฏิบัติการหรือที่หลบซ่อน เป็นที่ฝึกอาวุธอะไรก็ตาม ซึ่งสิ่งที่พบก็คือรัฐมีความพยายามจะแทรกตัวเข้าไปควบคุมและปิดกั้นการดำเนินกิจกรรามหลาย ๆ อย่าง ซึ่งอย่างในกรณีของปอเนาะก็ถูกสอดส่องมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ และก็มีการสอดส่องควบคุมลากยาวมาเรื่อย ๆ ซึ่งก็มีการปรับตัวมาตลอดจนสุดท้ายก็กลายเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในปัจจุบัน
“รัฐโดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงยังมีความไม่ไว้ใจในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามตามประเพณีอยู่มากจนอาจจะมากเกินไป มันก็เลยเกิดคล้าย ๆ กับเกิดการปะทะ มีแรงเสียดทานเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งส่วนที่ต้องแก้คือว่าหน่วยงานรัฐต้องอย่างน้องที่สุดลดระดับความไม่ไว้ใจลง”
อัตลักษณ์ – วัฒนธรรม – การศึกษา ในจังหวัดชายแดนใต้ มีสัมพันธ์กันแค่ไหน :
อันแรกสุดถ้าถามว่าคนมันจะเรียนรู้ได้ดีมันก็ต้องเป็นภาษาแม่เป็นภาษาที่หนึ่งที่ตัวเองใช้ เมื่อไหร่ก็ตามแต่ที่คุณถูกบังคับให้ต้องคิด ต้องวิเคราะห์พัฒนาอีกภาษาหนึ่งซึ่งไม่ใช่ภาษาแม่ ศักยภาพมันก็ลดไปโดยปริยายอยู่แล้วฉะนั้นในแง่นี้ถ้าเกิดเราอยากจะให้ศักยภาพของเด็กในพื้นที่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพหรืออย่างเต็มที่ มันก็ควรที่จะคิดถึงช่องทางที่จะทำอย่างไรให้เขาใช้ภาษาแม่ในการเรียนรู้ได้อย่างเต็มระบบ แล้ววิธีประเมินก็ควรจะใช้ภาษาแม่ด้วย
ภาษามันไม่ใช่เป็นเพียงแค่เครื่องมือการสื่อสาร แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของผู้คน มันเป็นคล้าย ๆ กับโจทย์ร่วมเหมือนกัน ฉะนั้นเนี่ยมันก็แปลว่าในชั้นเรียนนอกเหนือไปจากการเขาได้ใช้ภาษาของเขาเองแล้วอย่างน้อยที่สุดก็คือส่งเสริมและทำให้สอดรับกับวัฒนธรรมของเขาด้วย
คือในปัจจุบันก็ดีขึ้นถึงแม้ว่าจะยังเป็นพหุวัฒนธรรมแบบกระท่อนกระแท่น แต่ในอดีตโรงเรียนเป็นคล้ายกับกลไกในการกลืนกลายทางวัฒนธรรม เพราะช่องทางหลักเวลารัฐก็ใช้อาจารย์กลืนกลายสิ่งที่เขาทำก็คือว่าการใช้ระบบการศึกษาโดยฌพาะอย่างยิ่งโรงเรียนระดับประถมศึกษาซึ่งก็เป็นช่องทางที่จะสามารถกลืนกลายได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกที่สุดแล้ว ที่ผ่านมาทั้งหมดที่เราเผชิญกับการสร้างความเป็นไทย การสร้างชาติ ซึ่งกระทำผ่านระบบการศึกษา ซึ่งมันก็จะเจอแรงปะทะกับคนในพื้นที่ที่มีความสำนึกในอัตลักษณ์ของตัวเองว่า ฉันไม่ใช่คนไทย ฉันไม่ได้ถือพุทธ ไม่ได้พูดภาษาหลักเป็นภาษาไทย เป็นต้น จำเป็นจะต้องปรับให้มันสอดรับกับอัตลักษณ์หรือว่าสิทธิทางวัฒนธรรมของพวกเขามากขึ้น
ปัจจุบันนี้มันก็มีการปรับตัวอยู่ระดับนึง เห็นได้ถึงความพยายามที่จะปรับตัวโดยให้ที่ทางกับศาสนาอิสลามมากขึ้น แต่ด้วยความที่โรงเรียนมันเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐมีอุดมการณ์ของรัฐมันยังครอบอยู่ ซึ่งมันอนุญาตให้คุณอยู่ได้ภายใต้การมีร่มใหญ่อีกอันอยู่ดี โรงเรียนจะเป็นสนามปะทะใหญ่ คุณจะจัดการกับสิทธิทางวัฒนธรรมหรือจะอนุญาตนะครับให้วัฒนธรรมอื่นเขาสามารถอยู่ได้อย่างเสมอหน้าและมีศักดิ์ศรี โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องจับมัดรวมให้อยู่ภายใต้ร่มใหญ่ที่มาครอบอีกทีนึง อย่าให้สิ่งที่เรียกว่าผู้กระทำกลายเป็นเพียงแค่อีกโฉมหน้าหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า การกลืนกลายทางวัฒนธรรม
20 ปีที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมเป็นสาเหตุ และ เป็นผลของการสร้างความสัมพันธ์อันไม่ดี ระหว่างรัฐส่วนกลาง กับ ท้องถิ่นอย่างไร :
เหตุการณ์ความไม่สงบมันคือปัญหาทางการเมืองที่มีมูลเหตุทางวัฒนธรรมแล้วก็ถูกหล่อเลี้ยงเอาไว้ด้วยความอยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการถูกควบคุมตัว หรือว่าญาติพี่น้องของเขาถูกควบคุมตัวไป ถูกกักขัง โดยที่เขารู้สึกว่าไม่เป็นธรรมแล้วก็ใช้กฎหมายพิเศษเข้าไปหรือแม้กระทั่งว่าการถูกสังหาร มันเป็นคล้าย ๆ กับว่าเป็นเงื่อนไขที่ผลักให้คนซึ่งก่อนหน้านั้นไม่ได้คิดว่าจะเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่สุดท้ายก็ต้องกระโจนเข้าไปมันด้วยความคับแค้นที่บรรดาญาติพี่น้องหรือคนรู้จักของคุณได้รับความอยุติธรรมจากมาตรการในการปราบปรามในขบวนการเคลื่อนไหว
โจทย์ใหญ่ก็คือความอยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมที่มันเกิดขึ้นได้ เพราะว่ามันมีกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างถูกกฎหมาย มีกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก มีการประกาศใช้อยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง บางพื้นที่มีครบทั้ง 3 ฉบับ บางพื้นที่อาจจะ 1 หรือ 2 ฉบับ
มีงานศึกษาข้อเสนอคือถ้าเกิดว่าเลิกกฎหมายพิเศษทั้งหมดเลยไม่ได้ ก็อยากให้เหลือแค่ฉบับเดียว แล้วก็ให้ปรับใช้ไปตามลำดับความหนักเบาของเหตุ แล้วส่วนใหญ่เรียกร้องว่าขอให้ใช้กฎหมายปกติ เพราะกฎหมายพิเศษมันเอื้อให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถจะละเมิดสิทธิไม่ว่าจะเป็นสิทธิของผู้ต้องหาว่าเป็นสิทธิ์พื้นฐานของประชาชนถูกละเมิดได้หมด เพราะมันวางอยู่บนข้อยกเว้น ซึ่งตกลงแล้วเราควรที่จะนะครับจัดการกับประเด็นของกฎหมายเหล่านี้อย่างไร กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมมันเติมเชื้อไฟที่มันหล่อเลี้ยงให้เหตุการณ์ความไม่สงบอยู่จนถึงทุกวันนี้ยังคงอยู่ไปได้เรื่อย ๆ
สังคมไทยควรเรียนรู้เรื่องนี้อย่างไร :
เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบมันเป็นผลพวงมาจากที่เขารู้สึกว่าถูกรัฐจัดการกับชีวิตเขาแบบไม่ค่อยถูก หรือเหมาะสมเท่าที่ควร ฉะนั้นแรกสุดมันก็ควรจะเป็นรัฐและหน่วยงานความมั่นคงที่ควรจะนำเรื่องเหล่านี้ไปพิจารณา เพราะสิ่งที่ตามมาทั้งหมดมันเป็นผลพวงหรือเป็นปฏิกิริยาที่มีต่อการจัดการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการในการออกแบบการปกครองตั้งแต่แรก รวมไปถึงวิธีการคลี่คลายปัญหามันก็สร้างปัญหาตามมา หรือแม้แต่การที่มีทหารเข้ามานำการเมืองหรือเป็นผู้นำฝ่ายความมั่นคงอยู่ โจทย์ของเรื่องความมั่นคงก็ยังคงไม่หายไปไหนอยู่ดี และยังไม่เห็นแนวโน้มที่หน่วยงานความมั่นคงจะถอนตัว ซึ่งทหารหรือฝ่ายความมั่นคงต้องถอนตัวออกมาจากกิจกรรมที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมแล้วมาดูแลเรื่องเฉพาะเกี่ยวกับความมั่นคงจริง ๆ เพราะคุณไม่ได้มีทักษะมีความรู้ความเข้าใจที่มากพอที่จะมาอยู่กับเรื่องวัฒนธรรมซึ่งมีความละเอียดอ่อนมาก
อีกเรื่องคือคนในพื้นที่ ถ้าเป็นประชาชนโดยเฉลี่ยหนักเขาก็บอกว่าขอแค่เขาได้ใช้ชีวิตแบบปกติโดยไม่มีการาข่มขู่คุกคามจากหน่วยงานใด มันยังมีความรู้สึกว่าตัวเองแบบถูกจับตาอยู่ตลอด สิ่งสำคัญคือคุณจะคืนกลับความปกติให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างไร
ถ้าจังหวัดชายแดนใต้อยากมีสิทธิ์ในการจัดการตัวเองจะเป็นอย่างไร :
เนื่องจากจังหวัดชายแดนใต้มีลักษณะเฉพาะ คือส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เนื่องจากมีความเฉพาะตัวในแง่ที่ว่าอาจจะต่างจากศาสนาอื่นตรงที่มีแนวทางให้ปฏิบัติในทุกอณูของชีวิต และมีการวางหลักการและแนวทางเอาไว้ครอบคลุมแทบในทุกมิติของชีวิต ปัจจุบันนี้ถึงแม้ว่าเราจะเห็นถึงการสนับสนุนอิสลามที่ดีขึ้นกว่าในอดีต แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ ทำอย่างไรที่จะทำให้สิทธิ์ในการปฏิบัติกิจวัตรทางศาสนาได้อย่างที่ต้องการ รัฐเองไม่ควรแทรกแซงทั้งกระบวนการตีความเรื่องต่าง ๆ ทางศาสนาด้วย เพราะมันก็ควรจะเป็นพื้นที่เปิดให้กับคนมุสลิมก็ได้ถกกันเองว่าอะไรเป็นอย่างไร มันไม่ควรจะแทรกตัวเข้ามาแล้วบอกว่าแบบไหนถูกหรือผิด นอกจากนี้คนในพื้นที่ก็ควรที่จะมีสิทธิ์ในการใช้ภาษาแม่ในการสนทนาด้วย ซึ่งโจทย์ของมันก็เลยค่อนข้างจะใหญ่หรือว่ามีความเฉพาะมาก ในกรณีของการที่จะให้สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง
นอกจากนี้ยังมีโจทย์ของคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม หรือคนส่วนน้อยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งคนในพื้นที่ต้องคุยกันเพื่อหาทางออกในการอยู่ร่วมกันในพื้นที่ รวมทั้งการมีอิสระในการกำหนดชะตากรรมของตัวเองแล้ว มันก็จะต้องคำนึงถึงความหลากหลายความแตกต่างหลากหลายภายในด้วยไม่เช่นนั้นก็จะซ้ำรอยกับสิ่งที่รัฐไทยทำที่ผ่านมาทั้งหมด
เรียบเรียง : กัณญาพัชร ลิ้มประเสริฐ
สัมภาษณ์ : แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง, ธีรมล บัวงาม
ภาพ : ก้องกนก นิ่มเจริญ