นวดล้านนา สู่นวดกระแสหลัก

นวดล้านนา สู่นวดกระแสหลัก บทสนทนากับแม่ครูฉวีวรรณ วิจฝัน
ผู้บริหารโรงเรียนลานนานวดแผนไทย และหนึ่งในผู้บุกเบิกนวดล้านนาสู่มาตรฐานแพทย์แผนไทย

“ต๊อกๆ ต๊อกๆ ต๊อกๆ” เสียงค้อนไม้กระทบลิ่ม ตอกไล่ไปตามไหล่ คอ แขน แข้งขา เรื่อยไปจนถึงอุ้งเท้า ตามตำแหน่งเส้นเอ็น เส้นลม ด้วยเชื่อว่าจะช่วยคลายปวดลดอาการเมื่อยล้า  ให้ผลการรักษาบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้จริง เป็นภูมิปัญญาการแพทย์โบราณที่ชาวล้านนาสืบทอดกันมายาวนาน จนถึงปัจจุบัน 

อยู่ดีกิ๋นลำ อยากชวนทุกคนไปร่วมสำรวจวิถี และเรื่องราวเบื้องหลัง ที่ทำให้ ‘นวดตอกเส้น’ ภูมิปัญญาล้านนายังคงแพร่หลายทั้งในหมู่ผู้คนที่สนใจ และลู่ทางที่กำลังสดใสในฐานะการนวดแผนโบราณกระแสหลัก ผ่านบทสนทนาจากผู้คร่ำหวอดแห่งวงการการเรียนการสอนนวดไทยและล้านนา แม่ครูฉวีวรรณ วิจฝัน ผู้บริหารโรงเรียนลานนานวดแผนไทย

นวดตอกเส้น องค์ความรู้ผสมผสาน และต่อยอด

 “นวดของล้านนาบ้านเรานี่นะคะ ที่เคยเห็นและไปศึกษามาก็มี ย่ำขาง ตอกเส้น ดึงเส้น คนเฒ่าโบราณเขาเรียนรู้ส่งต่อกันมานาน ใช้รักษาบรรเทาการเจ็บปวดเมื่อยล้า การนวดตอกเส้นนั้นดี ที่บอกว่าดีนั้นเพราะ สามารถต่อยอด และผสมผสานกับองค์ความรู้การนวดแผนไทย หรือล้านนาได้  คือแทนที่เราจะใช้นิ้วมือ ซึ่งใช้นานๆมันก็จะปวดมือ ปวดเมื่อย เราก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ไม้ ใช้ค้อนใช้ลิ่ม ยิ่งถ้ามีรู้เรื่องเส้นเอ็น เส้นลม สลัก รู้ว่าต้องนวดตรงไหน คลายตรงไหน จะยิ่งทำให้รักษาได้ถูกต้อง และตรงจุด แต่ลักษณะของการใช้ค้อน ใช้ลิ่ม คาถา หรือสมุนไพรน้ำมันต่างๆ ประกอบ อันนี้ก็แล้วแต่ละสถาบัน หรือพ่อครูแม่ครู แต่ละที่จะแตกต่างกันไป อย่างแม่ครูแมว (อรุณศรี ละม่อมพร้อม) ใช้แบบหนึ่ง ของพ่อหนานอินสม (อินสม สิทธิตัน) ก็ใช้อีกแบบอย่างหนึ่ง ของพระมหาสีไพร (พระมหาสีไพร อาภาธโร) ก็ใช้อย่างหนึ่ง แม่ครูได้ไปขอเรียนกับทั้ง 3 ท่านแล้วก็นำมาใช้สอนที่โรงเรียน”  

นวดตอกเส้น ความรู้ และขั้นตอน

“จะนวดตอกเส้นได้ ต้องมีพื้นฐานในด้านการนวดไทยมาก่อน ชื่อก็บอกว่าตอกเส้น ต้องรู้ตำแหน่งเส้น รู้ว่าตอกไปแล้วช่วยอะไรยังไง ต้องรู้จักแนวเส้น 10 เป็นแนวเส้นการนวดของราชสำนัก ก่อนจะเริ่มนวดตอกเส้นเราต้องถามเขาก่อนว่า เป็นการซักประวัติ และขออนุญาตจับจุดชีพจร แล้วก็ถามไปพลางๆ ว่าเขามีโรคความดัน เคยประสบอุบัติเหตุรึเปล่า แขน ขา กล้ามเนื้อจุดไหนมีปัญหา  กินยาประจำอยู่บ้าง อย่างบางคนเป็นโรคเบาหวาน เราก็ไม่สมควรที่จะตอกแรง เพราะเกิดการฟกช้ำ หรือใครที่เพิ่งทานอาหารมาใหม่ๆ ก็ต้องให้พักรออย่างน้อยครึ่งชั่วโมง 

ข้อควรระวังของนวดตอกเส้น เรื่องแรกคือต้องซักประวัติให้ละเอียด พิจารณาดูอายุของคนที่มานวด บางคนสูงอายุอาจมีภาวะกระดูกพรุน กระดูเปราะ บางคนอาจมีกระดูกคดงอ จุดไหนที่ไม่ควรตอก และเป็นจุดที่อันตรายเราควรรู้  และต้องรู้ว่าจะใช้น้ำหนักมือ  จึงจำเป็นมากๆ ที่ผู้นวดต้องมีความรู้เรื่องกายวิภาคศาสตร์ และเข้าใจเรื่องสุขภาพของคนแต่ละช่วงวัย 

อุปกรณ์ที่ใช้ก็จะมีค้อนตอก และลิ่ม จะเป็นไม้เนื้อแข็ง อย่างไม้มะขาม ส่วนรูปทรงของค้อน และลิ่ม ก็จะแตกต่างกันไปแล้วแต่สถาบัน บางแห่งก็จะเป็นมนๆ บางแห่งเป็นกลมๆ ตอกแล้วมีเสียงดัง แต่ที่ครูใช้จะเลือกไม้ที่เคาะกระทบกันแล้วไม่มีเสียง หรือมีแต่เบามากๆ เพราะเวลาเราสอน หรือเวลานวดตอกเส้น ห้องเรียนห้องนวดไม่ได้กว้างขว้าง เสียงดังระงม บางคนก็ไม่ชอบ  

ก่อนจะเริ่มนวดเราจะยกมือไหว้ขอขมา เราก็ระลึกถึงครูบาอาจารย์ แล้วเริ่มนวดโดยใช้นวดแผนไทยก่อน เพื่อคลายกล้ามเนื้อ และสัมผัสดูว่ากล้ามเนื้อ เส้นเอ็นต่างๆ ลักษณะเป็นอย่างไร ตึง แข็ง หรือเจ็บปวดตรงไหน ก่อนจะเริ่มนวดตอกเส้น  สรรพคุณของนวดตอกเส้นคลายกับนวดไทย ช่วยคลายกล้ามเนื้อและเอ็น และจะช่วยมากเรื่องของความแม่นยำ ตรงจุด เหมือนเรากดจุด แต่เปลี่ยนเป็นแรงสะท้อนที่พอเหมาะพอดี เรียกว่าแก้อาการปวดเมื่อยได้สารพัด อย่างออฟฟิศซินโดรม เมื่อยล้าจากการใช้แรง ออกกำลังกาย หรือนิ้วล็อค ก็ช่วยได้ ยิ่งใช้น้ำมันสมุนไพรช่วย ก็จะได้ผลดีขึ้นไปอีก บางสถาบันเขาก็บอกว่าเสียงจากการเคาะลิ่มที่ต่อเนื่องเป็นจังหวะ ก็ช่วยเรื่องสมาธิ ทำให้จิตใจสงบ และผ่อนคลาย” 

โรงเรียน หลักสูตร และการยอมรับนวดตอกเส้น 

“เมื่อก่อนครูไม่ได้ทำโรงเรียนนวด แต่ทำโรงเรียนสอนพิมพ์ดีด สอนคอมพิวเตอร์ จริงๆ คือเราก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์อะไรมากนัก ถือว่าเป็นอาชีพ เป็นธุรกิจที่เราทำได้ เลี้ยงตัวได้ และเรารักที่จะทำโรงเรียน แต่พออายุเข้า 50 กว่าๆ ก็เริ่มอยากจะเปลี่ยนไปทำโรงเรียนอื่นๆ ดูบ้าง เพราะโลกมันเปลี่ยน พฤติกรรมคนกับการใช้พิมพ์ดีด คอมพิวเตอร์ ก็เปลี่ยนไป พอดีว่ามีช่วงหนึ่งลงกรุงเทพ แล้วได้ไปลองนวดที่วัดโพธิ์ ซึ่งรู้สึกดีมาก และจริงๆ เราก็เป็นคนชอบนวดอยู่แล้ว ถ้าอย่างนั้นก็เปิดโรงเรียนนวดไปเลยก็ดูเข้าท่าดี จึงตัดสินใจลงทุน ไปลงเรียนนวดเริ่มจากวัดโพธิ์ ไปอบรมของกรม และเรียนกับพ่อครูแม่ครู เรียกว่าที่ไหนดี และเป็นความรู้ เพื่อให้เราเข้าใจ ทำเองเป็น เราลงทุนไปร่ำเรียนไว้หมด” 

“แล้วก็มาพบว่า ถ้าเป็นนวดไทยทางกระทรวงศึกษา เข้ามีหลักสูตรไว้แล้ว จะเปิดโรงเรียนนวด อันนี้ทำได้ตามขั้นตอนของเขา แต่พอจะประยุกต์ผสมผสานของล้านนาเข้ามา เรื่องนี้เริ่มจะยาก กว่าจะสู้กันเพื่อให้ได้มาซึ่งตอนนี้มีตอกเส้น และย่ำขาง ที่ได้รับการรับรองจากรัฐ ก็ถือว่าใช้เวลามาร่วมๆ 10 ปี ในมุมของคนสอนให้คนนวดได้ ในมุมผู้บริหารโรงเรียน ที่อยากเอาของดีบ้านเรา ส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทาย แม้คนมาเรียนกับเราเขาจะหวังเพียงแค่ได้ใบรับรองเพื่อไปทำงานต่อ จะที่บ้านเราหรือเมืองนอก หรือเป็นฝรั่งที่อยากจะมาเรียนคอร์สสั้นๆ เราก็ได้แต่ตั้งความหวัง และตั้งใจพยายามทำโรงเรียนกับหลักสูตรให้ดีที่สุด เพื่อให้องค์ความรู้ของปู่ย่าตายาย มีที่ยืนในกระแสโลก เป็นเสน่ห์และอาชีพให้คนบ้านเราได้ทำมาหากิน เชิดหน้าชูตาและภาคภูมิใจ …นี่คือคุณค่าสำคัญของการทำโรงเรียน การเป็นครูสอนนวด และข้อคิดเตือนใจที่ครูบาอาจารย์รุ่นก่อนๆ ได้ส่งมอบไว้ให้ค่ะ” 

แชร์บทความนี้