“บ้านค่ายเรามีช้างมานาน ผมอยู่กับช้างตั้งแต่เด็ก เกิดมาในครอบครัวเลี้ยงช้าง ไม่อยากให้ทุกอย่างจบที่รุ่นนี้ บางประเพณีบางงานก็ยังต้องใช้ช้างในการแห่หรือทำพิธีกรรม เราไม่อยากใช้ช้างจากที่อื่นทั้งที่ในชุมชนพื้นที่เราก็มีช้าง”
มุมมองคนรุ่นใหม่กับการอนุรักษ์ช้าง
ความรู้สึกของ “เจษฎาณัฐฏ์ พรมสิทธิ์” (น้องเจษ) กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยังคงผูกพันและอยากจะเห็นการอนุรักษ์ช้างให้คงอยู่กับคนบ้านค่ายหมื่นแผ้ว อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ซึ่งปัจจุบันยังคงหลงเหลืออยู่น้อยมากสำหรับคนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ส่วนใหญ่ได้เลิกทำอาชีพเหล่านี้ไปแล้ว ทั้งที่ช้างของบ้านค่ายหมื่นแผ้วมีความเกี่ยวเนื่องสำคัญกับประวัติศาสตร์การสร้างบ้านแปงเมืองของจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งจำนวนช้างที่ยังหลงเหลืออยู่ในกลุ่มคนเลี้ยงช้างบ้านค่ายหมื่นแผ้ว มีเพียง 60 เชือก หรือคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์จากอดีต
จากข้อมูลการบริโภคอาหาร พบว่าช้าง 1 ตัว กินอาหารเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว หากเป็นช้างขนาดใหญ่จะกินวันละประมาณ 200 กิโลกรัม โดยอาหารหลักส่วนใหญ่เป็นหญ้า ข้าวโพด สับปะรด หรือต้นกล้วย อาจจะด้วยการบริโภคอาหารเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน จึงทำให้หลายครอบครัวเลิกอาชีพการเลี้ยงช้าง ส่วนที่เหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนว่าเป็นกลุ่มคนรักช้างที่ยังผูกพันและสืบทอดต่อจากบรรพบุรุษ
เจษฎาณัฐฏ์ บอกอีกว่า สิ่งที่น่ายกย่องมากที่สุดคือคนที่ยังสืบทอดการอนุรักษ์ในปัจจุบัน ซึ่งที่จริงกลุ่มคนเหล่านี้สามารถเลือกที่จะไม่เลี้ยงให้เป็นภาระได้ ในมุมกลับกันเขามองว่า “ช้าง” เปรียบเสมือนสมาชิกอีกคนในครอบครัวที่ต้องดูแลกัน
“ช้างบ้านค่ายมีหลายตระกูล ผมโตมาพร้อมกับช้าง ตอนเด็ก ๆ ปู่ย่า ตายาย จะนำช้างออกไปทำการแสดงเพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัว ถ้าไม่มีช้างเหล่านี้ก็ไม่มีเราถึงขนาดนี้ เขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเราไปแล้ว อยากให้ทุกคนรู้ว่าบ้านค่ายก็มีช้างเหมือนกัน อยากให้มีการอนุรักษ์พวกเขาให้อยู่กับเรา”
สถานการณ์ช้างบ้านค่ายหมื่นแผ้ว
นายทองล้วน พงษ์วิเศษ ประธานชมรมคนรักษ์ช้างบ้านค่ายหมื่นแผ้วเล่าถึงสถานการณ์ช้างในพื้นที่ว่า แต่ก่อนช้างในบ้านค่ายหมื่นแผ้วมีจำนวนมาก ประมาณ 300-400 เชือก แทบจะมีทุกหลังคาเรือน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 60 เชือก และจะอยู่ในหมู่บ้านจริง ๆ น้อยมาก เนื่องจากบางครอบครัวต้องนำช้างออกไปทำการแสดงนอกพื้นที่ตามหัวเมืองใหญ่ เพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว (ตามที่เล่ามาข้างต้นของจุดประสงค์พาช้างออกทำการแสดง) เนื่องจากไม่มีการช่วยเหลือ หรือสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางเลือกจึงมีไม่มาก และการนำช้างออกไปแสดงคือทางเลือกสุดท้าย เพราะช้างต้องกินอาหารทุกวันเช่นเดียวกับคน จึงเป็นการพึ่งพากันและกันระหว่างคนกับช้าง
“การที่เรานำช้างออกไปทำการแสดงก็พอเลี้ยงตัวได้ เขาคือส่วนหนึ่งของครอบครัว เปรียบเสมือนน้องสุดท้องในบ้านเรา เราดูแลเขา เขาก็หารายได้ดูแลเรา ช้างบ้านค่ายหมื่นแผ้วไม่มีหน่วยงานใด ๆ เข้ามาสนับสนุนเลย พวกเราดูแลกันเองช่วงหน้าแล้งจะหาอาหารลำบากมากต้องอาศัยต้นสับปะรดบนภูเขามาเสริมด้วย อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโรงพยาบาลสัตว์เล็ก ๆ ไว้สำรองในกรณีฉุกเฉินให้กับช้างที่ป่วย เพราะเวลาช้างป่วยเราต้องนำไปรักษาที่ จ.สุรินทร์ ซึ่งไกลและใช้เวลานาน หากสุรินทร์รับไม่ไหวก็จะถูกส่งต่อไปที่กำแพงแสน จ.นครปฐม เราอยากให้หน่วยงานรัฐเข้ามาดูแลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของช้างเหมือนที่จังหวัดอื่น ๆ เขามี เพราะสถานที่เราพร้อมแต่ขาดหน่วยงานสนับสนุน หรือโดมให้เป็นที่พักของช้างในหมู่บ้าน ไว้สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ชมเวลามีกิจกรรมการแสดงต่าง ๆ ยอมรับว่าทุกวันนี้มีนักเรียน นักศึกษามาทัศนศึกษากับเราอยู่ครั้ง เราก็จัดให้ช้างแสดงโชว์ต้อนรับ แต่บริเวณลานกิจกรรมมันไม่มีร่มไม่มีโดมให้หลบแดดหลบฝน หากมีโดมเราสามารถจัดการแสดงให้มีทุกวันสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอีกทางหนึ่ง”
วิถีชีวิตคนเลี้ยงช้างสู่อาชีพ “ควาญช้าง”
การเลี้ยงช้างเป็นวัฒนธรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยช้างที่นี่จะมีหลายตระกูลสืบทอดกันมา จากความใกล้ชิดกลายเป็นความผูกพันเกิดเป็นอาชีพของ “ควาญช้าง” ซึ่งกว่าจะมาเป็นควาญช้าง จะต้องศึกษาและเข้าใจพฤติกรรมของช้างแต่ละเชือก รวมถึงการสื่อสารด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อให้เขาสามารถจดจำและเข้าใจคำสั่ง อย่างเช่น ท่าทาง หรือน้ำเสียง
อาทิตย์ จิตรมา ควาญช้างบ้านค่ายหมื่นแผ้วเล่าว่าผู้ที่เป็นควาญช้างจะต้องฝึกการใช้ภาษากับช้างก่อน เพราะช้างแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะการจดจำที่แตกต่างกัน เช่น ช้างชัยภูมิ จะเป็นภาษาลาว ช้างสุรินทร์ จะเป็นภาษาส่วย (เขมร) ช้างภาคเหนือ จะเป็นภาษากะเหรี่ยง หรือ ช้างภาคใต้ ก็จะเป็นอีกภาษา คล้าย ๆ กับภาษาคนในแต่ละพื้นที่ “ช้างต้องเข้าใจควาญ ควาญต้องเข้าใจช้าง” ซึ่งการสื่อสารจะต้องใช้เวลา เช่นเดียวกับการฝึก บางเชือกสุขภาพดี 2-3 ปี สามารถทำการฝึกได้เลย ส่วนการฝึกช้างของที่นี่จะเป็นการฝึกเพื่อนำไปใช้ในการแสดง เช่น วาดรูป เตะฟุตบอล ชู้ตลูกบาส ปาโป่ง ฮูล่าฮูป และส่ายสะโพกตามจังหวะดนตรี เป็นต้น
การแสดงของช้างถูกมองว่าทารุณกรรมสัตว์
ด้วยความรักความผูกพันระหว่างคนกับช้าง เมื่ออาหารไม่เพียงพอต่อการดูแล สิ่งที่ควาญช้างจะต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด คือ การนำช้างออกไปจัดแสดงโชว์ความสามารถตามหัวเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ช้างมีอาหารและคนมีรายได้จุนเจือครอบครัว
“เป็นการนำช้างไปแสดงโชว์ความสามารถ (เป็นศิลปิน) เพื่อไปแลกเงินตรากับชาวบ้าน เราไม่เคยเดินเร่หรือไปขายอาหารตามที่เห็นทั่ว ๆ ไปนะ ไม่ใช่ช้างของบ้านค่ายแน่นอน เราไม่มีแบบนั้น คือ ไปเป็นศิลปินแสดงมากกว่า เผยแพร่ศิลปะของช้าง เราเปิดทำการแสดงด้วยการเก็บบัตรเข้าชม เพื่อสนับสนุนค่าอาหารและนำเงินที่ได้ไปซื้อหญ้าให้กับช้าง เวลาออกไปโชว์ก็จะหลายเดือน เราบรรทุกใส่รถ 6 ล้อ ซึ่งไปแต่ละครั้งประมาณ 5-6 เชือก ถ้าไม่ทำแบบนี้ก็ไม่ได้ เราจะเอาเงินที่ไหนมาเลี้ยงดูช้างเลี้ยงดูคนในครอบครัวล่ะ มันเหมือนเป็นอาชีพติดตัวเป็นวิถีชีวิตเราไปแล้ว เพราะช้างบ้านค่ายของเราไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาดูแลหรือสนับสนุนเลย”
หากถามว่าเป็นการใช้แรงงานทารุณกรรมสัตว์ อาทิตย์ กล่าวต่ออีกว่า จริง ๆ แล้ว การแสดงของช้างใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน คือ ตั้งแต่เวลา 19.00 -21.00 น. ช่วงกลางวันระหว่างรอทำการแสดงมีหญ้าให้ช้างกิน เขาเปรียบเสมือนลูกหลานคนในครอบครัว เรารักเขา เราไม่พาเขาออกไปเดินเร่แบบนั้น เวลาเราไปทำการแสดงเราจะไปเป็นจุด ๆ อยากให้ทุกคนมองด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นนี้ใหม่ เราหาอาหารให้ช้าง ช้างหาเงินให้เรา เป็นการพึ่งพาอาศัยกันมากกว่า เพราะเขาอยู่กับเรามาตั้งแต่บรรพบุรุษ เราจำเป็นต้องเลี้ยงเขา ดูแลเขาต่อ
สนับสนุนพัฒนาและต่อยอดวิถีคนกับช้าง
ดร.อนุชิต สิงห์สุวรรณ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนมผู้ศึกษาโครงการ ช้างบ้านค่าย เมืองชัยภูมิ: ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ว่าด้วย “คน” กับ “ช้าง” มองว่า ปัจจุบันสังคมไทยอยู่ในเส้นทาง 2 แพร่ง ระหว่างเรื่องของการอนุรักษ์ช้าง มีเรื่องของการพิทักษ์สิทธิ์ของช้าง เช่น การคุ้มครองช้าง เป็นต้น ซึ่งช้างควรเป็นสัตว์ที่ควรอนุรักษ์ อีกทางเลือกหนึ่ง คือ ชุมชนที่เลี้ยงช้าง ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.ชัยภูมิ หรือพื้นที่อื่น ๆ จะมองว่าช้างเป็นเปรียบเสมือนสมาชิกคนในครอบครัว โดยช้างกลุ่มนี้ไม่สามารถปล่อยป่าได้
ดังนั้น ทางเลือกและทางรอดต้องมีการพึ่งพากัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สำหรับชุมชนที่บ้านค่ายหมื่นแผ้ว ยังมีประเด็นที่สามารถพัฒนาได้อีกหลายมิติ เช่น การกำหนดแผน กำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อดูแลด้านสิทธิสัตว์ และสิทธิคนเลี้ยงช้าง และอีกประเด็น คือ การส่งเสริมเศรษฐกิจท่องเที่ยวชุมชน เพราะที่นี่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำชีที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงเกษตรกรรมภายในชุมชน
“พ่อหมื่นแผ้ว”อนุสาวรีย์ของคนเลี้ยงช้าง
จากการบอกเล่าของคนในพื้นที่ “พ่อหมื่นแผ้ว” เป็นลูกมือของเจ้าพ่อพญาแล ผู้สร้างบ้านแปงเมืองชัยภูมิ ซึ่งพ่อหมื่นแผ้วได้มาตั้งค่ายจับช้างป่าเพื่อนำมาฝึกขนไม้ ขนเสบียง ให้กับเจ้าพ่อพญาแลในช่วงของการสร้างเมือง สมัยนั้นบริเวณดังกล่าวอยู่ติดลำห้วย และมองว่าน่าจะเป็นพื้นที่เหมาะสมในด้านภูมิศาสตร์ จึงทำให้พ่อหมื่นแผ้วได้เริ่มลงหลักปักฐานใช้เป็นที่อยู่ของตนกับพรรคพวก จนกลายเป็นที่มาของคำว่า “บ้านค่ายหมื่นแผ้ว” ในปัจจุบัน เมื่อเวลาผ่านไปนานหลายปี ชาวบ้านจึงได้สร้างอนุสาวรีย์พ่อหมื่นแผ้วขึ้นมา เพื่อเทิดทูนและระลึกถึงหมื่นแผ้วในฐานะผู้ก่อตั้งบ้านค่ายแห่งนี้ และได้จัดพิธีเลี้ยงประจำปีให้แก่พ่อหมื่นแผ้ว พร้อมกับงานประเพณีช้างคืนถิ่น (ต้นเดือนมกราคมของทุกปี) นอกจากนี้ อนุสาวรีย์พ่อหมื่นแผ้ว ยังเป็นที่กราบไหว้สักการะของคนเลี้ยงช้าง โดยเชื่อว่าจะทำให้การนำช้างออกไปทำทำการแสดงข้างนอกได้ราบรื่นและปลอดภัย
“โฮงปะกำ”ความสำคัญที่มีต่อคนในบ้านค่าย
“โฮงปะกำ” หรือ “ศาลปะกำ” หากอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ จะคล้ายกับศาลปู่ตาท้ายบ้านในภาคอีสาน เป็นสถานที่เก็บหนังปะกำ(หนังควายดัดคล้ายเชือกสำหรับคล้องช้าง) ภาพถ่ายของบรรพบุรุษ หมอช้าง หรือพระครูผู้ที่เป็นหมอช้าง(คูบาใหญ่)ในตระกูลนั้น“โฮงปะกำ”ตั้งอยู่บริเวณภายในอนุสาวรีย์หมื่นแผ้วบ้านค่ายหมื่นแผ้ว อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เป็นที่สักการะของครอบครัวคนเลี้ยงช้าง ซึ่งจะมีการเลี้ยงโฮงปะกำเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับคนในครอบครัว นายสมหวัง จิตรมา อายุ 76 ปี หมอช้างบ้านค่ายหมื่นแผ้ว บอกว่าในอดีตของการออกไปจับช้างป่า จะต้องมีพระครู (คูบาใหญ่) ประกอบพิธีตั้งแต่งให้เป็นหมอช้างเสียก่อน ถึงจะสามารถเข้าไปจับช้างป่าได้ เมื่อจับช้างป่ามาได้จะมีการสร้างโฮงปะกำ เพื่อเอาไว้เก็บหนังปะกำ ซึ่งหนังปะกำเป็นอุปกรณ์คล้องช้างที่ทำมาจากหนังควาย จำนวน 3 ตัว (3 เส้น) ดัดเป็นเกลียวคล้ายกับเชือกเพื่อใช้สำหรับคล้องช้างป่า เพราะหากเก็บหนังปะกำไว้ที่บ้านจะทำให้คนในบ้านเจ็บป่วยไม่สบาย
ก่อนจะออกไปคล้องช้างป่าจะต้องเลี้ยงช้างต่อให้แข็งแรงก่อนและจะต้องมีพิธีเลี้ยงโฮงปะกำเพื่อเสี่ยงทำนายถึงจะออกเดินทางเข้าป่าไปได้ โดยการเดินทางเข้าไปคล้องช้างป่า จะขี่ช้างต่อเป็นพาหนะ ซึ่งช้างต่อ 1 เชือก จะประกอบด้วย หมอช้างกับควาญช้าง เท่านั้น นายสมหวัง ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
“เจ้าพ่อพญาแล”เจ้าเมืองคนแรกของชัยภูมิ
การตั้งบ้านค่ายหมื่นแผ้วมีความสัมพันธ์กับการตั้งเมืองชัยภูมิ กล่าวคือ ในปี พ.ศ.2365 ท้าวแลชาวเวียงจันทน์ได้อพยพครอบครัวพร้อมสมัครพรรคพวกข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านหลวง ยกเลิกการขึ้นตรงต่อเวียงจันทร์มาขึ้นกับราชสำนักกรุงเทพฯ โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านหลวงขึ้นเป็นเมืองชัยภูมิ พร้อมกับตั้งท้าวแลเป็นพระยาภักดีชุมพล เจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก ในการสร้างบ้านแปงเมืองครั้งนั้น พระยาภักดีชุมพล หรือพญาแลได้มอบหมายให้หมื่นแผ้ว ออกไปตั้งกองช้างหลวงที่บ้านกะฮาด (อ.เนินสง่า จ.ชัยภูมิ) เพื่อทำหน้าที่ในการคล้องช้างป่าเข้ามาฝึกฝนใช้เป็นพาหนะ และป้องกันการรุกรานจากข้าศึกศัตรู จนในท้ายที่สุดคนกลุ่มนี้ได้อพยพมาอยู่ที่บ้านค่ายเพราะเห็นว่ามีความอุดมสมบูรณ์ และเมื่อหมื่นแผ้วได้เสียชีวิตลง ชาวบ้านก็ได้ขนานนามหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านค่ายหมื่นแผ้ว” ตามนามผู้ก่อตั้ง พร้อมกับได้ยกย่องบูชาดวงวิญญาณของหมื่นแผ้วในฐานะผีบรรพบุรุษที่ปกป้องคุ้มครองชุมชน (ลายทองเหรียญ มีพันธุ์, 2552, น.38)
ในช่วงทศวรรษ 2490 ถึงปี พ.ศ.2532 เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมป่าไม้ขยายตัวทั่วทั้งประเทศ กล่าวคือจังหวัดชัยภูมินั้น ป่าสัมปทานในปัจจุบัน คือ บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกตาดโตนของอุทยานแห่งชาติภูแลนคา อ.เมือง อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อ.เทพสถิต อุทยานแห่งชาติไทรทอง อ.หนองบัวระเหว ซึ่งในช่วงเวลานี้ ผู้คนบ้านค่ายนิยมคล้องช้างป่ามาขายให้กับโรงเลื่อย (บริษัทสัมปทานป่าไม้) และชาวบ้านทั่วไปที่รับจ้างชักลากซุง โดยชายฉกรรจ์ในหมู่บ้านจะรวมกลุ่มกันไปคล้องช้างป่าในเขตทุ่งกะมัง ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นแนวป่าต่อเนื่องจนไปถึงภูกระดึง ภูหลวง จ.เลย น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ และภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ดังนั้น ผู้คนที่บ้านค่ายต้องเรียนรู้ธรรมชาติของป่า เส้นทางเดิน และพฤติกรรมของช้างป่า เพื่อหาวิธีการในการคล้องช้างป่ามาฝึกเพื่อใช้งาน รวมถึงต้องเรียนรู้จักรวาลวิทยาความเชื่อเรื่อง “ผี” ที่มีอยู่ในป่า และผีปะกำ เพื่อการปฏิบัติพิธีกรรมให้ถูกต้อง อันเป็นวิถีทางจะทำให้เกิดความปลอดภัย ในกระบวนการฝึกฝนช้างเพื่อใช้งานนั้น เจ้าของช้างและควาญช้างต้องเรียนรู้พฤติกรรมของช้าง ในขณะเดียวกันช้างที่ถูกฝึกก็ต้องเรียนรู้ “ภาษา” และ “วัฒนธรรม” ของมนุษย์ไปด้วย
ในช่วงภายหลังปี พ.ศ.2532 รัฐบาลประกาศปิดป่าสัมปทาน ทำให้แรงงานช้างและคนที่บ้านค่ายจำต้องปรับเปลี่ยนไปรับจ้างทำการแสดงตามเทศกาลงานต่าง ๆ รวมถึงงานรื่นเริงและประเพณีงานบุญ บางส่วนได้ไปทำงานประจำในปางช้างแถบลำปาง เชียงใหม่ ภูเก็ต และชลบุรี ช้างที่ทำการแสดงจะถูกฝึกฝนให้มีความสามารถหลายรูปแบบ เช่น ทำท่าสวัสดี ท่านอน ท่านั่ง ท่านั่งบนเก้าอี้ การเต้นรำ ไต่ลวดสลิง การยืนสองขาบนถังน้ำมัน การเตะฟุตบอล การชักเย่อกับคน ฯลฯ (ปัจจุบันลดการแสดงบางท่วงท่าลง เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับช้าง) การรับงานแสดงนั้นชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันเป็น “คณะช้าง” ประกอบไปด้วยคนจำนวน 10 คน ซึ่งต้องทำหน้าที่ในการดูแลช้างจำนวน 2-3 เชือก หนึ่งคณะประกอบด้วยเจ้าของรถบรรทุก ควาญช้าง คอนวอยที่ทำหน้าที่เปิดเครื่องเสียงคนขายตั๋วเข้าชม คนครัวทำอาหาร และคนจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มแก่นักท่องเที่ยว การตระเวนทำการแสดงตามจุดต่างๆ ทำให้ “คน” และ “ช้าง” ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่หลากหลายข้ามแดนออกไปจากโลกของหมู่บ้าน และมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านค่ายหมื่นแผ้ว ถูกถักด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง “ช้าง” และ “คน” จนกลายเป็นอัตลักษณ์ทางสังคมของท้องถิ่น (รินทรา เหล่าภักดี,2537, น.3; ลายทองเหรียญ มีพันธุ์, เรื่องเดียวกัน, น.44)
ความสำคัญของ “ช้าง” บ้านค่ายหมื่นแผ้วยังมีต่อพิธีกรรมรัฐในระดับท้องถิ่น ดังจะเห็นได้จากผู้ที่เป็นเจ้าของและควาญที่ไปทำงานต่างถิ่นนำช้างกลับเข้าร่วมพิธีสำคัญ คือ งานช้างคืนถิ่นกินพาแลง เป็นพิธีเลี้ยงหมื่นแผ้ว และโฮงปะกำ ช่วงต้นเดือนมกราคม (จัดที่บ้านค่ายหมื่นแผ้ว) งานบวงสรวงเจ้าพ่อพญาแล ช่วงต้นเดือนมกราคม (จัดที่อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล กลางเมืองชัยภูมิ) และงานประเพณีบุญเดือนหก ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม (จัดที่ศาลเจ้าพ่อพญาแล สวนสาธารณะหนองปลาเฒ่า เขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ)ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ การเข้านำช้างบ้านค่ายเข้าร่วมในพิธีกรรมสำคัญเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของช้างบ้านค่ายที่มีต่อสำนึกทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ภาพ/บทความ : พัฒนะ พิมพ์แน่น
ข้อมูลอ้างอิง
รินทรา เหล่าภักดี. (2537). ช้างกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ตำบลบ้านค่าย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ.(วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต). มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยศรีนครรินทรวิโรฒ มหาสารคาม
ลายทองเหรียญ มีพันธุ์ เรื่อง การศึกษาสาเหตุ กระบวนการ และปัญหาการนำช้างมาเร่ร่อนของกลุ่มผู้เลี้ยงช้างบ้านค่าย จังหวัดชัยภูมิ กับกลุ่มผู้เลี้ยงช้างบ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์(2553). (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต).พระนครศรีอยุธยา: มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรอยุธยา