สถานการณ์ผู้อพยพหนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาในประเทศไทยมีความรุนแรงมากขึ้น ยังมีผู้อพยพชาวเมียนมาที่ยังตกหล่นจากฐานข้อมูลของรัฐบาลไทยอยู่อีกเป็นจำนวนมาก พวกเขามีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุม กักขังและถูกส่งกลับไปสู่อันตราย แนะรัฐบาลไทยจำเป็นต้องยึดมั่นในจุดยืนด้านมนุษยธรรม การไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้อพยพชาวเมียนมาทุกกลุ่มและต้องมีแผนระยะยาวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการกำลังแรงงานและประชากรของสังคมไทยที่กำลังลดลง
000
นับตั้งแต่การรัฐประหารในเมียนมาเมื่อปี 2564 ได้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารและกองทัพเมียนมา จนทำให้เกิดการปราบปรามกลุ่มต่อต้านฯ ด้วยความรุนแรง ทำให้เกิดการบาดเจ็บ บางส่วนถูกจับกุมคุมขัง และยังมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก บางส่วนเคลื่อนไหวต่อต้านด้วยอาวุธ รวมถึงกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มได้ออกมาประกาศที่จะยืนเคียงข้างประชาชนและร่วมมือต่อต้านรัฐบาลทหาร
ทำให้มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internal Displaced People: IDPs) มากกว่า 2.5 ล้านคน โดยจำนวน 5 แสนคนอาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ชายแดนไทยและทำให้มีผู้อพยพหนีภัยความไม่สงบจากเมียนเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ปลายปี 2566 จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาได้ทวีรุนแรงมากขึ้นในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ จนทำให้มีผู้หนีภัยการสู้รบตามแนวชายแดนอพยพเข้ามาลี้ภัยเป็นการชั่วคราวอย่างต่อเนื่อง ความไม่สงบที่เกิดขึ้นทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรฐกิจของประเทศเมียนมา หลายธุรกิจปิดตัวลง การลงทุนต่างประเทศลดลง อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนชาวเมียนมามีความยากลำบากในการหางานและสร้างอนาคตที่มั่นคง
นอกจากนี้การจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน การปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลายแห่งในเมียนมา ทำให้เกิดนักเรียน นักศึกษาขาดการศึกษาที่ต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลทหารเมียนมาประกาศใช้กฎหมายบังคับการเกณฑ์ทหาร ทำให้มีหนุ่มสาวชาวเมียนมาจำนวน 14 ล้านคนเข้าข่ายถูกบังคับเกณฑ์ทหาร จนทำให้เราเห็นปรากฏการณ์ว่ามีนักศึกษาและประชากรวัยทำงานชาวเมียนมาจำนวนมากเดินทางเข้ามาแสวงหาความปลอดภัย ศึกษาต่อ หรือหาโอกาสทางเศรฐกิจในประเทศไทยและในอีกหลายประเทศทั่วโลก
ล่าสุด วันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าออกคำสั่งห้ามไม่ให้ชายวัยเกณฑ์ทหารเดินทางออกมาทำงานในต่างประเทศ
ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยพยายามอย่างยิ่งที่จะลดการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยที่ผ่านช่องทางธรรมชาติโดยการทำข้อตกลง (MOU) กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำเข้าแรงงานเข้ามาในประเทศ พร้อมกับการลดการอนุญาตผ่อนผันในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง กำหนดเงื่อนไขให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับการผ่อนผันต้องเดินทางกลับไปพิสูจน์สัญชาติ และดำเนินการขออนุญาตเข้ามาทำงานตามข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน หวังว่าจะลดการหลบหนีเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดนได้ในที่สุด แต่ความจริงสถานการณ์ในประเทศเมียนมากลับมีความไม่สงบมากกว่าเดิมและสร้างแรงกดดันให้ชาวเมียนมาต้องเดินทางออกมาผ่านช่องทางธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของชาวเมียนมาเข้ามายังประเทศไทยมีรูปแบบผสมผสาน (mixed migration) และประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ (irregular migration) ซึ่งเป็นการอพยพเข้ามาหรืออยู่อาศัยนอกเหนือจากที่กฎหมายของไทยกำหนดและทำให้สถานการณ์ของผู้อพยพย้ายถิ่นชาวเมียนมามีความซับซ้อนและยากลำบากมากยิ่งขึ้น
ผู้เขียนได้จำแนกผู้อพยพชาวเมียนมาในประเทศไทยและชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงความเปราะบางและความเสี่ยงหลักที่พวกเขาต้องเผชิญในประเทศไทย เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ดังนี้
กลุ่มผู้อพยพหนีภัยชาวเมียนมาและชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบในประเทศไทย | ความเปราะบางและความเสี่ยงที่ต้องเผชิญในประเทศไทย | ||
1 | กลุ่มผู้หนีภัยการสู้รบ (ผภร.) ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง | มีจำนวน 70,000 – 80,000 คน อพยพเข้ามาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี อยู่ระหว่างการดำเนินการไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามซึ่งต้องใช้เวลานานและไม่ไช่ว่าทุกคนต้องการหรือได้รับคัดเลือกให้เดินทางไปประเทศที่สาม | – ไม่มีสถานะทางกฎหมาย – ไม่มีสิทธิในการทำงาน – เสี่ยงต่อการถูกจับกุม กักขัง หากออกนอกพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต – ไม่มีโอกาสได้ศึกษาในหลักสูตรไทย ทำให้ยากต่อปรับตัวเข้าสู่สังคมไทย (local integration) |
2 | กลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภ.สม.) | ที่ผ่านมามีจำนวนหลักพันถึงหลักหมื่น แล้วแต่สถานการณ์ในพื้นที่ อพยพเข้ามาภายหลังปี พ.ศ. 2564 โดยเข้ามาเป็นระลอกและอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดให้ แนวโน้มการย้ายถิ่นมีลักษณะเป็นการชั่วคราว โดยเมื่อสถานการณ์ในพื้นที่สงบลงก็จะเดินทางกลับประเทศเมียนมา | – ไม่มีสถานะทางกฎหมาย – ขาดการประเมินความเปราะบาง ทำให้การให้ความช่วยเหลืออาจไม่ตรงต่อความต้องการที่แท้จริงมี – ข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาและสาธารณะสุขมีภาวะความเครียดและสะเทือนใจต่อเหตุการณ์ความรุนแรงและความสูญเสีย – ยังมีความเสี่ยงต่อการถูกส่งกลับไปสู่อันตราย |
3 | กลุ่มผู้หนีภัยทางการเมืองที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยภายหลังรัฐประหารในเมียนมา | ส่วนมากเป็นที่ต้องการตัวของรัฐบาลทหารเมียนมา ภาคประชาสังคมประมาณการณ์ว่า มีจำนวนมากกว่า 20,000 คน อาศัยอยู่นอกพื้นที่ที่รัฐจัดให้ ต้องการอยู่ในประเทศไทยจนกระทั่งสามารถเดินทางไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม หรือสถานการณ์ในเมียนมาปลอดภัยและเป็นประชาธิปไตย มีความหลากหลายของสถานะการเข้าเมือง สถานการณ์อยู่อาศัยในประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการจด นับ และขาดแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน | – ส่วนมากไม่มีสถานะทางกฎหมาย หรือสถานะทางกฎหมายไม่ตรงกับข้อเท็จจริง – ไม่สามารถขอสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ได้ – เสี่ยงต่อการถูกจับกุม กักขัง – มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกส่งกลับไปสู่อันตราย – ไม่มีสิทธิในการทำงานมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาและสาธารณะสุข – มักถูกแสวงหาประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐและนายหน้าต่าง ๆ |
4 | กลุ่มผู้หนีภัยจากสภาพเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ | แฝงตัวอยู่ในผู้อพยพมากกว่า 2.3 ล้านคนที่เข้ามาเป็นแรงงานในประเทศ อยู่ภายใต้แนวนโยบายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของกระทรวงแรงงานที่ยังคงยึดตามข้อตกลงการนำเข้าแรงงานระหว่างประเทศ (MoU) กับรัฐบาลทหารเมียนมา | – เสี่ยงต่อการถูกผลักให้ออกจากระบบการจัดการแรงงานของไทยและทำกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย – ไม่สามารถขอสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ได้ – เสี่ยงต่อการถูกจับกุม กักขัง – มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกส่งกลับไปสู่อันตราย – มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาและสาธารณะสุข – มักถูกแสวงหาประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐและนายหน้าต่าง ๆ |
5 | กลุ่มผู้หนีภัยชาวเมียนมาที่อยู่อาศัยและทำงานในประเทศหรือศึกษาต่อ | กลุ่มชาวเมียนมาที่อยู่อาศัยและทำงานในประเทศที่อาจจะสูญเสียสถานนะอยู่อาศัยในไทย ซึ่งบางส่วนก็จะอยู่ร่วมกับกลุ่ม 3 และกลุ่ม 4 ที่เป็นผู้หนีภัยทางการเมือง เป็นผู้หนีภัยทางเศรษฐกิจ นักเรียนนักศึกษาและกลุ่มที่ได้รับอนุญาตทำงานประเภททักษะวิชาชีพอื่น ๆ โดยคาดว่าจะมีจำนวนมากถึง 1.5 ล้านคน ที่น่าจะอยู่นอกระบบการจัดการของไทย | – เสี่ยงต่อการถูกผลักให้ออกจากระบบการจัดการแรงงานหรือระบบการศึกษาของไทยและทำกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย – ไม่สามารถขอสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ได้ – เสี่ยงต่อการถูกจับกุม กักขัง – มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกส่งกลับไปสู่อันตราย – มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาและสาธารณะสุข – มักถูกแสวงหาประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐและนายหน้าต่าง ๆ |
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่มีแนวโน้มจะอพยพเข้ามาอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันและอนาคตอีก เช่น กลุ่มผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ กลุ่มที่กำลังหนีการบังคับการเกณฑ์ทหาร กลุ่มเปราะบางที่มีสถานะไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศต้นทาง เช่น ชาวโรฮีนจา ที่เสี่ยงต่อการกลายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รวมถึงผู้เสียหายจากธุรกิจผิดกฎหมายในพื้นที่ชายแดน
จากสถานการณ์การสู้รบในเมืองเมียวดีที่ผ่านมาทำให้มีประชาชนชาวเมียนมาอพยพหนีตายเข้ามายังฝั่งไทยในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากและพื้นที่ใกล้เคียง โดยรัฐบาลไทยประกาศเตรียมแผนรองรับผู้อพยพจากเมียนมาได้ถึง 100,000 คน โดยศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมาได้ชี้แจงว่า มีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวประเทศเมียนมา (ผภ.สม.) จำนวนกว่า 3,000 คน เข้ามาขอพักพิงในประเทศไทยและได้เดินทางกลับไปจนเกือบทั้งหมดแล้ว โดยเหลือเพียง 77 คน ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว อำเภออุ้งผาง โดยที่ไม่รวมชาวเมียนมามากกว่า 10,000 คน ที่ข้ามชายแดน เข้ามาโดยใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราวที่มีอายุ 7 วัน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ลงนามในคำสั่ง สมช. ที่ 1/2567 แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมาขึ้น โดยมี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร (อดีต) รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานกรรมการ ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการทางการทูต ความมั่นคง เศรษฐกิจ และการสื่อสารต่อสาธารณะ รวมถึงการบริหารสถานการณ์พื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา
ในการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ที่ประชุมได้ประเมินว่าสถานการณ์สู้รบในเมียนมายังมีความไม่แน่นอน และสรุป 3 หลักการที่จะใช้บริหารจัดการการรับมือการสู้รบในเมียนมา คือ 1. ยึดมั่นการรักษาอธิปไตยของไทยเป็นเรื่องหลัก ดูแลคนไทยไม่ให้ได้รับผลกระทบ 2. ไม่ให้ใช้ดินแดนของไทยดำเนินกิจกรรมในการต่อต้านรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติตามปกติ 3. ยึดมั่นในหลักมนุษยธรรมกับทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ ถือเป็นหัวใจในการดำเนินการ ในขณะที่การให้สัมภาษณ์สื่อของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยังคงจำกัดวงในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพชาวเมียนมาในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว (ผภ.สม.) เท่านั้น
แต่เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2567 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ได้ทำจดหมายลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและทุกตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายในรัฐบาล โดยวันที่ 30 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้นำชื่อ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการประทรวงการต่าง แทนที่นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ลาออกภายหลังจากมีการประกาศปรับคณะรัฐมนตรีโดยไม่ได้ควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี นี่ทำให้เกิดกังวลถึงความไม่แน่นอนว่าคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ จะสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้หรือไม่และจะมีแนวทางดำเนินงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในอนาคต
คณะทำงานติดตามสถานการณ์ในประเทศเมียนมาควรต้องประกอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องมีบุคคลากรระดับนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน เพื่อสั่งการและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สถานการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดคำถามจากผู้สังเกตุการณ์สถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคม และประชาชนที่สนใจว่า รัฐบาลไทยได้ประเมินสถานการณ์ผู้อพยพหนีภัยความไม่สงบจากเมียนมาในประเทศไทยรอบด้านแล้วหรือไม่ หากมีการประเมินที่รอบด้านแล้วเหตุใดจึงไม่มีแนวทางการให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพชาวเมียนมากลุ่มอื่น ๆ ในประเทศไทยโดยไม่เลือกปฏิบัติตามหลักการที่คณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ได้ประกาศไว้ และเหตุใดรัฐบาลจึงให้ข้อมูลแก่ประชาชนไม่ครบถ้วนโดยจำกัดวงในการสื่อสารอยู่เพียงผู้อพยพกลุ่มเดียวเท่านั้น
โครงการ Armed Conflicts Location and Event Data (ACLED) เป็นองค์กรเอกชนที่เชี่ยวชาญในการรวบรวมข้อมูลความขัดแย้งในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกผ่านตัวชี้วัด 4 ประการ คือ ความสูญเสียและความตาย ความเสี่ยงต่อชีวิตประชาชน การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ และจำนวนกลุ่มติดอาวุธ เพื่อใช้วิเคราะห์เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก โดย ACLED ระบุว่าเมียนมาเป็นประเทศที่มีความขัดแย้งรุนแรงมากที่สุดในโลก เป็นประเทศที่มีความแตกแยกมากที่สุด เนื่องจากมีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธเป็นร้อย ๆ กลุ่มที่แย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจจากรัฐบาลทหารตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2564
ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาวันนี้มีความซับซ้อนและส่งผลกระทบถึงสังคมไทยมากกว่าสิ่งที่เราเห็น มันเกิดขึ้นกับเมืองเมียวดี นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2564 และสงครามกลางเมืองทำให้มีผู้อพยพหนีภัยชาวเมียนมาเข้ามาแสวงหาความปลอดภัย โอกาสทางเศรษฐกิจ และการศึกษาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ตัวเลขนั้นมีมากกว่าผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภ.สม.) ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวที่รัฐจัดให้หลายร้อยหลายพันเท่า หากเราจะสามารถรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจำเป็นต้องมีการตั้งสมมุติฐานที่อยู่บนฐานของความเป็นจริงทั้งในเชิงตัวเลขและสถานการณ์
ในขณะที่ประเทศไทยมีพรมแดนติดกับเมียนมาราว 2,400 กิโลเมตร และประเทศไทยก็เป็นเป้าหมายแรก ๆ ของผู้อพยพชาวเมียนมา ประกอบกับนโยบายรัฐบาลทหารเมียนมาที่ลิดรอนสิทธิของประชาชน เศรฐกิจที่ตกต่ำและความขัดแย้งรุนแรงที่ยากจะแก้ไขในระยะเวลาอันสั้น การทำให้เมืองเมียวดีสงบเพียงอย่างเดียวนั้นจึงไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน เพราะคงจะช่วยได้เพียงแค่ทำให้ชาวเมืองเมียวดีไม่อพยพหนีภัยข้ามมายังฝั่งไทยเท่านั้น ยังมีชาวเมียนมาอีกเป็นจำนวนมากที่พร้อมจะอพยพเข้ามายังประเทศไทยหากสถานการณ์ในประเทศของพวกเขาไม่ดีขึ้น ในขณะที่ยังมีผู้อพยพชาวเมียนมาในประเทศไทยที่ยังตกหล่นจากฐานข้อมูลของรัฐบาลไทยอยู่อีกเป็นจำนวนมาก
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้อพยพหนีภัยความไม่สงบจากเมียนมาจะยังคงอยู่ในประเทศไทยไม่ว่ารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอีกเป็นเวลานาน รัฐบาลไทยจึงต้องยึดมั่นในจุดยืนด้านมนุษยธรรมและการไม่เลือกปฏิบัติ โดยต้องมีแนวทางรับมือและให้ความคุ้มครองแก่ผู้อพยพหนีภัยความไม่สงบจากเมียนมาในระยะยาว มีนโยบายเชิงรุกที่มีความชัดเจนและครอบคลุมรอบด้านโดยคำนึงถึงความสมดุลด้านความมั่นคง เศษฐกิจ สังคม การเมือง หลักการสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาสถานการณ์ผู้อพยพหนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาของประเทศไทยให้ดีขึ้นได้
เฉพาะหน้า รัฐบาลไทยจะต้องเร่งรัดการบริหารจัดการผู้อพยพหนีภัยจากประเทศเมียนมาที่เข้ามาภายในประเทศไทย บนพื้นฐานหลักการมนุษยธรรม ความต้องการทางด้านเศรษฐกิจ และประชากรของสังคมไทย โดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย พิจารณาเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ให้ความเห็นชอบอนุญาตให้คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการอนุญาตสิ้นสุดลง และมีความจำเป็นที่ต้องทำงานเลี้ยงชีพหรือศึกษา ให้อยู่อาศัยและทำงานได้เป็นการชั่วคราว เพื่อเข้าสู่การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ โดยรัฐบาลไทยจำเป็นต้องพิจารณาผู้อพยพหนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาและชาติอื่น ๆ อย่างละเอียดรอบด้าน ตามกรอบการจัดการของรัฐที่มีอยู่เดิมและสถานการณ์ใหม่ที่อุบัติขึ้น ดังต่อไปนี้
- กลุ่มผู้หนีภัยการสู้รบ (ผภร.) ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง
- กลุ่มผู้อพยพหนีภัยความไม่สงบทางการเมืองและการบังคับเกณฑ์ทหารชาวเมียนมา
- กลุ่มผู้หนีภัยทางเศรฐกิจชาวเมียนมา
- กลุ่มผู้ติดตามผู้หนีภัย เช่นคู่สมรสและเด็กผู้ติดตามอายุไม่เกิน 18 ปี
- กลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่อยู่ระหว่างการศึกษาในสถานการศึกษาของรัฐ สถานศึกษาเอกชน สถานดูแลเด็กขององค์กรภาคประชาสังคม
- กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาที่อยู่อาศัยและทำงานในปัจจุบันที่การอนุญาตกำลังสิ้นสุดลงและมีความเสี่ยงจะเผชิญอันตรายหากเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง หรือไม่สามารถดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแล้วเสร็จ
- กลุ่มเด็กต่างชาติที่ต้องได้รับการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ
- กลุ่มคนต่างด้าวที่มีความเปราะบางต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ถูกควบคุมตัวไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ
ในระยะยาว รัฐบาลไทยอาจต้องสร้างทางเลือกที่สอดคล้องผลประโยชน์ของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของรัฐบาลทหารเมียนมา ด้วยการนำแนวทางการผ่อนปรนเพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาสถานะของคนต่างด้าวที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้เป็นการชั่วคราว โดยไม่กำหนดให้จำเป็นต้องเดินทางกลับไปประเทศต้นทางเพื่อพิสูจน์สัญชาติ และเมื่อปรับตัวเข้าสู่สังคมไทยมากขึ้นก็อาจจะยื่นขอสิทธิอยู่อาศัยระยะยาวในประเทศไทยได้ต่อไป
ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องผ่อนปรนเงื่อนไขแรงงานที่พยายามเดินทางเข้ามาตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ด้วยการขยายอายุเวลาที่อนุญาตทำงานมากขึ้น ลดค่าธรรมเนียม ยกเลิกอาชีพต้องห้ามและอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ก็มีความจำเป็นที่อาจต้องพิจารณากำหนดให้การปรับตัวเข้าสู่สังคมไทยเป็นส่วนหนึ่งของการขอต่ออายุการอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำงานในอนาคตต่อไป
ทุกวันนี้เราต้องไม่โกหกตัวเองว่า มีชาวเมียนมากว่า 4 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดย 2.3 ล้านคน ได้รับการอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำงานในฐานะแรงงานต่างด้าว ขณะที่ชาวเมียนมากว่า 1.5 ล้านคนยังคงมีปัญหาสถานะทางกฎหมาย หลายคนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องแต่วีซ่าที่อนุญาตให้อยู่ได้หมดอายุไปแล้ว อีกหลายคนอาจเดินทางเข้ามาในประเทศไทยตามช่องทางธรรมชาติ พวกเขาจำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่ ที่เป็นนักเรียน นักศึกษา เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นครู เป็นผู้มีทักษะวิชาชีพที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย หากเราจะเลือกการดำเนินนโยบายบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน คำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและผลประโยชน์ของสังคมไทยในระยะยาว…