เพราะการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือโดยมีครูอาจารย์ยืนพูดอยู่หน้ากระดาน แล้วให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาฟังแล้วจดเท่านั้น แต่การประยุกต์ศาสตร์วิชาต่าง ๆ เข้ารวมกันแล้วชวนคิด ออกแบบ ปรับให้เข้ากับยุคปัจจุบันแล้วมองถึงวันข้างหน้าที่ควรจะเป็น จึงจะสมกับยุคสมัยในวันนี้
ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้หยิบยกเอาชาดกในตำรามาชวนออกแบบและหาทางไปต่อผ่านเวทีการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ที่อิงเอาพระเวสสันดรชาดกมาถก มานำเสนอแลกเปลี่ยนกัน
พระครูสังฆรักษ์จักรกฤษณ์ ภูริปญฺโญ ผศ.ดร. อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มจร. กล่าวว่า เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะการสื่อสารด้านการเทศน์สำหรับรุ่นใหม่ ที่มีการสื่อสารที่แตกต่างจากอดีตอย่างไร และจะส่งต่อไปในรุ่นต่อไปได้อย่างไร และต้องสื่อสารให้เข้ากับยุคปัจจุบันได้มากน้อยด้วยวิธีการอย่างไร นี่คือผลสัมฤทธิ์ของบัณฑิตพระนักเทศน์รุ่นที่ 1 ที่ทาง มจร.เราได้จัดขึ้น และจะมีต่อในรุ่นถัดไป
โดยเวทีนี้ มีการแลกเปลี่ยนการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ ทั้งเทศน์สามธรรมาสต์ประยุกต์ ทั้งแหล่แบบดั้งเดิม ทั้งแหล่ประยุกต์ อีกทั้งดีเบต มุมมองวิชาการที่สร้างสรรค์ ทั้งโคลง กลอน กาพย์และขับเสภา รวมไปถึงบทเพลงจากชาดกที่มีกระแสติดตลาดในปัจจุบัน
ผศ.ดร.แสวง นิลนามะ อาจารย์ประจำคณะพุทธศาสตร์ มจร. กล่าวถึงมุมมองความงามของภาษาท้องถิ่นว่า เรายอมรับว่าอิทธิพลของภาษาต่างประเทศหรือภาษาจากส่วนกลาง ทำให้ภาษาท้องถิ่นหายไปและขาดพลัง และโครงการผลิตบัณฑิตพระนักเทศน์นี้จึงหมายถึง การเผยแผ่หลักธรรมคำสอน อีกนัยะหนึ่ง หมายถึงการอนุรักษ์ สืบสานภาษาถิ่นให้คงอยู่ด้วย ผ่านบทกลอน ผ่านลีลาภาษาที่สื่อสารไปในทำนองของท้องถิ่นนั้น ๆ
พระมหาณัฐพงษ์ อธิฏฺฐาโน บัณฑิตพระนักเทศน์ รุ่นที่ 1 กล่าวว่า เป็นการหยิบยกเอาธรรมะมาเสริมเทศน์สอนพุทธศาสนิกชนได้ และมีธรรมะสอดแทรก ให้เกิดความสนุกสนานให้เข้ากับผู้คนในปัจจุบันได้ด้วย
เช่นเดียวกับ สามเณรถิระเทพ ชัยเตชิษฐ์ บัณฑิตพระนักเทศน์ รุ่นที่ 1 กล่าวถึงกิจกรรมในครั้งนี้ว่า ได้เห็นการหยิบยกเรื่องราวชาดกมาสะท้อนมุมมอง เราควรจะสื่อสารธรรมะผ่านชาดกอย่างพระเวสสันดรชาดกให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ และอนาคตได้อย่างไร เป็นสิ่งที่ดีที่ได้รับรู้ รับฟัง และได้ชวนฉุกคิดได้ว่าเราในนามพระนักเทศน์รุ่นที่ 1 จะได้นำไปประยุกต์และปรับใช้ได้
และบทสรุปของโครงการในวันนี้ พระครูสังฆวิริยกิจ รศ.ดร. รองคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ฝ่ายวิชาการ มจร. ได้ให้มุมมองไว้ว่า จะเป็นการส่งต่อ สืบต่อและสานต่อของนิสิตรุ่นใหม่ บัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพในการสื่อสารพระเวสสันดรชาดกในมิติของยุคข้อมูลข่าวสารได้เป็นอย่างดี
นับว่าเป็นอีกบทบาทหนึ่งกับการปรับ ประยุกต์การเรียนการสอนให้เข้ากับยุคสมัยได้เป็นอย่างดี ที่มีการให้ความสำคัญกับสิ่งเก่าปรับประยุกต์และมองถึงทิศทางไปข้างหน้าที่ควรจะเป็นสำหรับวิถีพุทธกับการให้ความสำคัญกับการสื่อสารที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
เรื่อง ภาพ ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์ [สื่อชุมชนคนชายแดนไทยกัมพูชา