ช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยที่หลายคนจับตามองกับการสรรหา สว. ชุดที่ 13 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีพลเมืองไทย อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป กว่า 48,117 คน สมัครเข้าไปมีส่วนร่วม หวังเป็นจุดเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองในรัฐสภาไทย
แม้ว่าจะมีเสียงสะท้อนออกมามากมายว่า การเลือก สว. ครั้งนี้มีความลึกลับซับซ้อนที่สุด จนยากจะคาดเดาได้ แต่หลายคนก็มีความหวังว่ากระบวนการในการเลือก สว. จะดำเนินการไปด้วยความยุติธรรม และโปร่งใสมากที่สุด เพื่อให้ได้ สว. ชุดใหม่ 200 คน เป็นตัวแทนของประชาชน จาก 20 กลุ่มอาชีพ ที่มีความเชี่ยวชาญและยืดหยัดในหน้าที่ พร้อมทำงานเป็นหู เป็นตาให้กับประชาชนในสภาฯ
ฟังเสียงประเทศไทย ได้เปิดพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตัวแทนประชาชนต่อความหวังในการเลือก สว. 2567 นี้ ในทั้ง 4 ภูมิภาค รวมทั้งภาคกลาง ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จ.ลพบุรี โดยมีตัวแทนคนลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี อ่างทอง ปทุมธานี และสระบุรี เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว่า 70 คน
–ขอ 3 คำ สว. ของคนภาคกลาง–
ประชาชน” คือ “คำ” ใหญ่ที่สุดจากการชวนมองไปข้างหน้า ด้วยการ “ขอ 3 คำ สว. ของคนภาคกลาง” และนี่คือบางส่วนของเหตุและผลที่ประชาชนในวงฟังเสียงฯ บอกเอาไว้
“เรามองว่า อยากจะเปลี่ยนแปลง โดยเป็นพวกเราเอง ในความที่เป็นตัวแทน ผมมองว่า สว. ควรมาจากประชาชนอย่างแท้จริง ถ้า สว. มาจากหน่วยงาน หรือองค์กร ก็คงกลับเข้าไปสู่ระบบแบบเดิม”
“เป็นคนดี ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้น ครั้งแรกที่จะมีการเลือกตั้ง เหมือนกับกรณีลักหลับประชาชน เพราะส่วนใหญ่ประชาชนไม่รู้เลยว่าจะมีการเลือกตั้ง ผมคาดหวังวันนี้ขอให้ สว. เป็นคนดี เราไม่เคยคาดหวังเรื่องการเข้าไปทำงาน เพราะมีคนที่รู้เรื่องนี้น้อย คาดหวังให้เป็นคนดีก็พอแล้ว”
“การบริหารบ้านเมือง ถ้าเป็นคนที่ซื่อสัตย์ โปร่งใส บ้านเมืองก็จะเดินหน้าต่อไปได้ดี ในกรอบการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้อยู่ในกรอบความโปร่งใส แต่อยู่ในกรอบของผู้มีอำนาจและเสนอตัวเข้าไป ไม่ได้คำนึงถึงคุณธรรมเรื่องของความดี ใช้ปัจจัยหรือเงินเป็นตัวตั้ง ดังนั้นกลุ่มพวกพ้องผู้ที่จะแสวงหาประโยชน์เป็นตัวตั้ง การเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าผมเป็นผู้ตัดสิน ต้องการให้เป็นโมฆะมากที่สุด นี่คือสิ่งที่จะสะท้อนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รู้ว่า ภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคมแบบผม จะรู้เรื่องขนาดไหน ไม่มีความโปร่งใสเลย”
“ขอ คน จริง เพราะคนเรารู้จักกับผู้คนมากมาย เรามีผลประโยชน์กับผู้คนมากมาย คนเรากลัวเสียผลประโยชน์กับบางเรื่อง เราอยากได้คนจริงที่ยอมเสียผลประโยชน์เพื่อประชาชน”
“อยากจะได้ สว. คนดี ก็ต้องมีอยู่แล้ว คุณธรรมก็ต้องมี จริยธรรมก็ต้องมี เป็นหลักการหนึ่งในวิถีพลเมืองดีประชาธิปไตย แต่ที่สำคัญ สว. ต้องเคารพสิทธิ และเสียงของประชาชน มีหลักการประชาธิปไตยชัดเจน ไม่อยากให้เป็นแบบที่ผ่านมา ที่กระบวนการประชาธิปไตยมักไม่ได้ผล ถ้าทุกคนไม่เคารพกระบวนการประชาธปไตย ก็จะเกิดดราม่าเหมือนที่ผ่านมา”
– 3 มุมมอง วิเคราะห์เกมการเลือก สว. ชุดใหม่ 2567 –
นอกจากตัวแทนคนภาคกลาง ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแล้ว เรายังมีวิทยากรอีก 3 ท่าน ที่เป็นตัวแทนภาคประชาชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง รวมทั้งนักวิชาการ ที่ศึกษาเรื่องระบบของการเลือก สว. จากนานาประเทศ และอดีต สว. ที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มาร่วมให้ข้อเสนอและช่วยวิเคราะห์เกมการเลือก สว. ในครั้งนี้
- วรวิทย์ วงษ์สุวรรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดลพบุรี
- วิศรุต สมงาม เครือข่ายเยาวชน กลุ่มพลเมือง และคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาจับตาการเลือกตั้ง
- ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการของ We Watch
ดูคลิปเต็ม : ฟังเสียงประเทศไทย : เลือกตั้ง สว. 2567 เสียงสะท้อนความหวังของประชาชน (ภาคกลาง)
ช่องโหว่ ระบบการเลือก สว. 2567 ส่งผลให้การเมืองไทยพิการ
ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข เปิดประเด็นว่า ช่องโหว่ของการเลือก สว. เจาะตรงไหนก็เจอตรงนั้น เริ่มตั้งแต่ที่มาเลย สว. ครั้งนี้เลือกกันเอง มีที่มาจาก 20 กลุ่มอาชีพ คำถามที่เราถามมาตั้งแต่ปี 2560 ว่า 20 กลุ่มอาชีพแบ่งตามพื้นฐานของกลุ่มอาชีพอะไร ก็ยังไม่มีคำตอบจนถึงวันนี้ และคนที่มาสมัครใน 20 กลุ่มอาชีพ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นตัวแทนที่มาจากกลุ่มอาชีพนี้จริง ๆ สมมติว่าผมเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ แล้วไปสมัครกลุ่มการศึกษา ซึ่งคู่แข่งผลเยอะแน่นอน ผมไม่สมัครหรอก แต่ผมมีอาชีพเสริม เป็นไรเดอร์ ไปสมัครอาชีพนั้น คู่แข่งอาจจะน้อยกว่า หรือผมอยู่กรุงเทพฯ คู่แข่งผมอาจจะเยอะมาก ๆ ผลกลับไปลงบ้านเกิดผมคู่แข่งอาจจะน้อย นี่เป็นโจทย์ใหญ่สำคัญมาก ในการเลือก สว. ที่จะเข้าไปทำหน้าที่แทนเรา
ต่อมาคือวิธีการสมัคร ที่บอกว่าสมัครได้กลุ่มอาชีพเดียว ต้องมีประสบการณ์ในวิชาชีพนั้นไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งต้องมีการเซ็น แต่ผู้สมัครจะทราบดีว่าใครจะเซ็นก็ได้ แล้วใครจะรู้ว่า คนนี้เป็นคนที่ทำอาชีพนี้จริง ๆ นี่เป็นช่องโหว่ที่เห็นได้ชัดที่สุดในระบบการเลือก สว. แต่ถ้าพูดแค่นี้ จะไม่เห็นภาพใหญ่ ต้องย้อนไปดูภาพใหญ่ตอนรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ถูกร่างขึ้นตอนรัฐประหารปี 2557
การร่างขึ้นมา เพื่อดำรงรักษาการรัฐประหารปี 2557 ทุกเรื่องมันบิดเบี้ยว เราถึงมีคำถามว่า ทำไม สว. ถึงต้องเลือกกันเอง ทำไมต้อง 20 กลุ่มอาชีพ และทำไมต้องเลือกไขว้ เพราะทุกอย่างมันบิดเบี้ยวมาตั้งแต่ภาพใหญ่จนถึงปัจจุบัน
ด้าน วรวิทย์ วงษ์สุวรรณ์ อดีต สว. ที่มาจากการเลือกตั้ง วิเคราะห์ระบบการเลือก สว. ครั้งนี้ว่า ช่องโหว่มีอยู่อย่างเดียว คือ การไม่ยึดโยงกับประชาชน ดังนั้นในวันนี้ ในฐานะที่ตนมีประสบการณ์ในการเลือก สว. ตั้งแต่ปี 2540 และ ปี 2550 แต่ปีนี้ได้แจ้งทุกคนว่าจะไม่ลง สว. ครั้งนี้ เพราะดูแล้ว ไม่มีทางที่จะยึดโยงกับประชาชน และไม่มีทางที่ผมจะชนะได้เลย ดังนั้นผมจึงไม่ลง
ส่วน วิศรุต สมงาม มองในฐานะคนรุ่นใหม่ว่า เราตั้งคำถามว่า สว. ยังจำเป็นอยู่ไหมในยุคนี้ ในระบบรัฐสภา อย่างแรกที่เห็นคือ กติกาที่ไม่เป็นธรรม เราออกมารณรงค์ให้คนเล่นตามกติการ เพราะเราเชื่อว่า เป็นวิธีการเดียวที่จะเข้าไปสู่คูหาของการประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ร่วมกัน
แน่นอนว่ากติกาครั้งนี้มันบิดเบี้ยว แล้วก็ไม่เคยเกิดขึ้นที่ใดในโลกนี้มาก่อน แต่เราก็สร้างตำนานกับประเทศของเรา ซึ่งมันบิดเบี้ยว มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว แต่เราอยากรณรงค์ให้พี่ ป้า น้า อาหลาย ๆ คน ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เข้ามาสมัคร ผมรู้จักใครผมโทรหาทุกคนนะ แม้แต่คนรอบ ๆ ตัว คนในครอบครัว ก็พยายามที่จะให้สมัคร เพื่อที่จะเข้าไปเป็น ส่วนหนึ่งในการโหวต ซึ่งคุณไม่ต้องอยากเป็นก็ได้ครับ สว. แต่ว่าคุณทำได้คือเข้าไปโหวตเพื่อเปลี่ยน
บางคนถามว่าแล้วจะให้สมัครทำไม ถ้าสมัครก็โหวต ทำไมไม่ให้สมัคร เพื่อเป็น สว. คุณแน่ใจเหรอว่าคุณจะเป็น สว. ในกติกาแบบนี้ได้ มีการจับฉลากด้วยนะครับ มันเสี่ยงดวงมากเลย มันดูเป็นเซียมซีมากเลย ถ้าคะแนนเท่ากันให้จับฉลาก เราจะฝากความหวังไว้กับ สว. ที่ต้องมาจากการจับฉลากได้จริง ๆ หรือครับ
แต่ถึงยังไงเราก็ต้องสู้ภายใต้กติกานี้ เพื่อเข้าไปสู่บันไดสุดท้าย แล้วก็เป้าหมายสุดท้ายของเราที่ อยากจะได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนครับ
เปิดกลยุทธ์แก้เกม ลงสมัคร หวังเลือกคนในใจ แฮกระบบการเลือก สว. ใหม่
ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข กล่าวว่า การสมัคร สว. ครั้งนี้ กกต. ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีคนลงสมัคร ประมาณ 100,000 คน แบ่งเป็น 20 กลุ่มอาชีพ วางอยู่บนความคิดที่ว่าคนจะมาแห่กันมาสมัครเต็มฮอลล์ เต็มศูนย์ประชุม ไม่ใช่บางอำเภอ ทุกท่านน่าจะเคยเห็นข้อมูลกันแล้ว ว่า บางกลุ่มคนอาชีพ มีคนเดียวสมัคร ไขว้ก็ไม่ได้ ตกรอบ เงินก็ไม่ได้คืนด้วยนะครับ สะท้อนให้เห็นว่า กติกามันมันซับซ้อน แค่ผมศึกษาเรื่องนี้เอง ผมยังเหนื่อยเลย แล้วพี่ป้าน้าอา ที่อยู่ในตรงนี้ ห็นแล้วมันลึกลับซับซ้อน ไปสมัคร อย่าว่าจะเป็น สว. เลยครับ จะได้เข้ารอบไขว้หรือเปล่ายังไม่รู้เลย
เงินก็เสีย เวลาก็เสีย มันมีต้นทุน มันจะมีคุณสมบัติต้องห้ามอยู่ 26 ข้อ ข้อที่ท็อปฮิตที่สุดที่คนถูกตัดสิทธิ์คือไม่ไปเลือกตั้ง เออใครจะไปรู้ รัฐธรรมนูญฉบับก่อน คือ ถ้าไม่ไป เลือกตั้ง ไปเลือกครั้งใหม่ก็ได้สิทธิ์กลับคืนมา รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ถ้าไม่ไปเลือกตั้ง งดไปเลย 2 ปี เเป็นข้อที่ถูกตัดสินเยอะที่สุด แล้วก็รองลงมาคือ เป็นสมาชิกพรรคการเมือง สะท้อนให้เห็นว่ากติกามันไม่ได้เอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมใน การเลือก สว. ครั้งนี้
วรวิทย์ วงษ์สุวรรณ์ มองว่า หากถามถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ตนมองว่า แค่เฉพาะ ที่ อ.เมือง จ.ลพบุรี มีคนสมัคร สว. เป็นอันดับ 1 แล้วก็บอกว่าลพบุรีเนี่ย มีการฮั้วกันมากที่สุด จริงหรือเปล่า ผมไม่รู้ และจะไม่ยุ่งกับเรื่องนี้ แต่คิดว่าต้องปล่อยให้เป็นคนที่มีอุดมการณ์ใหม่ ๆ เข้าไปแทน ผมไม่อยากจะเรียกว่า คนรุ่นใหม่ กับคนรุ่นเก่า ดูแล้วมันขัดแย้ง ผมอยากจะเรียกว่า คนมีอุดมการณ์กับคนมีอุดมการณ์น้อย
อย่าลืมว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม คนที่ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคมมา ยังมากินข้าวโชว์ 10 ปี ได้เลย เพราะฉะนั้น ผมประเมินแล้วว่า ลักษณะการเลือกสรรแบบเนี้ย มันไม่เหมาะกับวิถีชีวิตของผม เมื่อมันไม่เหมาะ ก็ไม่ลงดีกว่าแค่นั้นเอง แต่ใครจะต่อสู้ผมยินดีสนับสนุน ยินดีที่จะช่วยเหลือ เพราะผมอายุ ๗๓ ปีแล้ว อยู่มาชีวิตนี้ ทุกคนในลพบุรีทุกคนก็คงจะรู้ว่า เราได้ต่อสู้มามากแล้ว ณ วันนี้ไม่ใช่หยุดการต่อสู้นะครับ เพียงแต่ว่าพักไว้ก่อน ให้เด็ก ๆ เขาทำกันบ้าง
ด้าน วิศรุต สมงาม ในฐานะคนรุ่นใหม่ ที่ถูกกล่าวถึง มองว่า สิ่งที่เขาออกแบบมา มันออกแบบมาอย่างมียุทธศาสตร์พอสมควร คือเว้นช่วง เพื่อให้ กลุ่มหลาย ๆ กลุ่ม มีโอกาสและเวลาที่จะเข้าไปสมัครได้ เราจะเห็นจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของตัวเลข ถ้าใครติดตามนะครับ จะเห็นว่า จังหวัดลพบุรี สถิติในการยื่นใบสมัครเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อยต่อวันในขณะที่ จังหวัดอื่น ๆ ทั่วไป จังหวัดขนาดเล็ก ขึ้นแค่หลักหน่วยหรือหลักสิบด้วยซ้ำ แต่ จ.ลพบุรี มีการเพิ่มขึ้นแบบต่อเนื่อง แล้วก็ไม่ลดลง
สิ่งที่เราเห็น จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่อำเภอ ได้ข้อมูลว่า มีการระดมคนมาเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เข้ามาจัดการ มีชาวบ้านเข้ามา ลักษณะเนี้ยเราเรียกว่าเป็นการกลุ่มจัดตั้ง มันสะท้อนถึงการระดมคนของฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายกลุ่มขั้วอำนาจเก่า หรือ อะไรก็ตาม หรือบ้านใหญ่ก็ตามนะครับ หลังจากที่ กกต. ออกมาประกาศว่า อย่าฮั้วกันนะ เขาก็เปลี่ยนกลยุทธ์ ตัวเลขมันยังเท่าเดิมแต่ว่าใช้วิธีการในการกระจายกันมา แต่ใน 1 วัน ยังขึ้นหลักร้อยเหมือนเดิมที่ จ.ลพบุรี
ผู้สังเกตการณ์ของเราในหลาย ๆ พื้นที่ภาคกลาง รายงานมาตรงกันตามนั้น ก็หมายความว่ามันมีกลุ่มจัดตั้ง ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะตั้งด้วยเงิน หรือด้วยอะไรนะครับ อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วก็เห็นได้ชัดมาก
กกต. แง้มตัวเลขออกมาว่า มีการฮั้วกัน 149 คน ผมว่าเขาจงใจปล่อย เป็นตัวล่อเป้าแน่นอน เพื่อที่จะให้เกิดการร้องเรียน เกิดการตรวจสอบแล้วประเทศไทยระบบราชการเป็นระบบที่ใช้ระยะเวลานานมากในการตรวจสอบ แน่นอนพอเงื่อนเวลามันเพิ่มขึ้น พอมีเคสให้เกิดตรวจสอบ เพิ่มขึ้นเนี่ยเข้ากับว่าจะชะลอเวลาในการตั้ง หรือว่าแต่งตั้ง สว. ชุดใหม่ขึ้นมาเท่ากับว่าเกมนี้อีกยาวแน่นอน
เกมการสรรหา สว. 67 เหนี่ยวรั้งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ล่าช้า
ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข มองประเด็นนี้ว่า หากการสรรหา สว. ชุดใหม่มีความล่าช้า ยังไม่มี สว. ชุดใหม่ ภายในวันที่ 2 กรกฎาคม เท่ากับว่า สว. ชุดรักษาการตอนนี้ ก็อยู่ไปเรื่อย ๆ อันนี้เฉพาะหน้า ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ทุกท่านในวงนี้น่าจะทราบกันว่ามันมี ความเคลื่อนไหวเรื่องการจะทำประชามติใช่ไหม ต้องอธิบายก่อนว่า การจะทำประชามติรัฐธรรมนูญ จริง ๆ แล้ว ในมาตรา 256 ในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนว่าต้องทำประชามติก่อนจะร่างใหม่ ทั้งฉบับนะ แต่ว่ามันเป็นแนวคำวินิจฉัยของศาล รัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2564 ที่มีคนไปร้อง แล้วบอกว่า ถ้าจะร่างใหม่ทั้งฉบับ ต้องทำประชามติก่อน
กฎหมายประชามติ ปัจจุบันมันมีล็อค 2 ชั้นในการจะทำให้ประชามติมีผลสำเร็จ คือ อันที่ 1 กึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องไปใช้สิทธิ์ แล้วเงื่อนปม ที่ 2 คือ กึ่งนึงของคนที่ไปใช้สิทธิ์ทั้งหมด ต้องโหวตเห็นชอบ ถึงจะทำให้ประชามติมีผล ตอนเนี้ยในรัฐสภาเขากำลังเคลื่อนเพื่อแก้กฎหมายประชามติอยู่ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะออกหน้าไหน
ฉะนั้นเฉพาะหน้าถ้ายังเป็นเกมยื้อ เกมยาว สว. ชุดรักษาการก็ยังอยู่ไปเรื่อย ๆ แล้วเนื่องจากว่า สว.เป็นประตูด่านแรก ที่จะไปสู่ประชาธิปไตยที่เราฝันใฝ่อยาจะเห็น ถ้าประตูนี้ยังไม่แง้มออกมา เราก็จะอยู่ในสภาวะที่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ แบบนี้ต่อไป
ความหวัง การได้ สว. ที่ยึดโยงกับประชาชน
วรวิทย์ วงษ์สุวรรณ์ กล่าวว่า ตนไม่เคยหวังอยากจะเห็นอะไรจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะมันไม่มีทาง เนื่องจากตัวเองเป็น สว. ปี 2549 ที่มาจากการเลือกโดยใช้ประชาชนเป็นหลัก ในขณะนั้น จ.ลพบุรี มีประชากรกว่า 7 แสนคน ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถเลือกได้หมด เท่ากับว่า คะแนนเสียง 350,000คน ต่อ จำนน สว. 1 คน
ผมไม่มีฐานเสียงด้าน สส. แต่ผมเอาชนะฐานเสียงของลูก สส. จ. ลพบุรีได้ นี่แสดงว่า คำครหานินทาเรื่องสภาผัวสภาเมีย และคนที่จะมีคะแนนนำที่สุด จะต้องเป็นผู้ที่ถูกแต่งตั้งมา ไม่จริง ซึ่งในปี 2549 มีคนที่เป็นแบบผมเยอะด้วย แต่ภายหลังมีการรัฐประหาร
และในปี 2551 คือ รัฐธรรมนูญ ปี 2550 สว. มี ทั้งหมด 150 คน จังหวัดละ 1 คน มาจากการเลือกขึ้นมา ผมก็ไ้ด้มา เมื่อก่อนมี 76 จังหวัด เอาไปลบ 150 คน ก็เหลือ 74 คน เป็น สว. สรรหา และ สว. สรรหานั้นจะอยู่ได้ 2 วาระ ต้องเลือกใหม่ 3 ปี เลือกครั้งนึง แต่ สว. เลือกตั้ง นั้น อยู่ได้ครบหกปีเลย นั้นคือ รัฐธรรมนูญปี 2550
ผมชอบรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะว่า สว. ที่มาจากการสรรหานั้น เขาจะสรรหามาใน กลุ่มของอาชีพ มันต้องมีความรู้ทางด้านนี้ เพราะ สว. มีหน้ากลั่นกรองกฎหมาย ว่ามันถูก มันดี หรือไม่ดีอย่างไร เมื่อส่งลงไปท้วงติงลงไป สส. เขาก็จะ แก้ไข ถ้าไม่แก้ไข เขาก็สามารถส่งให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลงพระปรมาภิไธย ออกมาได้เลย ดังนั้น สว. สมัยนั้น สามารถถอดถอน สส. ได้ ผมจึงมองว่าระบบการเลือกแบบนั้นดีที่สุด
ถึงอย่างไร สว. ก็ยังจำเป็นต้องมีอยู่ เพราะ สว. ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ถ่วงดุล และตรวจสอบฝ่ายบริหารทั้งหมด เพราะฉะนั้น สว. มีหน้าที่ในการแต่งตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระทั้งหมดที่จะมาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เพราะฉะนั้นจึงมีพรรคการเมืองบางพรรค ที่คิดจะเอาคนที่เป็นพวกของตัวเอง เพื่อที่จะมาสรรหาคนพวกนี้เป็นของตัวเอง การทำการเมืองแบบนี้ เขาเรียกว่า การเมืองแบบไร้อุดมการณ์
เกมการเมืองท้องถิ่น ภาพสะท้อน การเลือก สว. ใหม่ ในพื้นที่
ด้านเครือข่ายเยาวชน กลุ่มพลเมือง คนรุ่นใหม่ที่มีความหวังในการเปลี่ยนแปลงประเทศ วิศรุต สมงาม วิเคราะห์เกมการเมืองในท้องถิ่นว่า ในบริบทภาคกลาง โซนลุ่มน้ำ ไม่นับตะวันออก และตะวันตกจะเห็นชัดเลยว่า อิทธิพลในท้องถิ่นเป็นบริบทคล้ายคลึงกัน คือ มีบ้านใหญ่หลาย ๆ บ้าน อย่าง จ.ลพบุรีก็มีหลายบ้านเหมือนกัน ซึ่งมันมันเบียดเสียดกัน ทำให้ผู้สมัครหลาย ๆ คน ที่เป็นกลุ่มอิสระ หรือคนที่ลงสมัครด้วยเจตนารมณ์อิสระไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัวตน เพราะเข้าใจว่าอาจจะโดนบล็อก โดนซื้อ หรือว่าโดนคุกคาม ก่อกวน ซึ่งมันก็เกิดขึ้นให้เห็น มีการดึงตัวกันไป หรือมีการโทรไปข่มขู่อันนี้จากรายงาน
ดังนั้นโซนภาคกลางจะต่างจากพื้นที่อื่นมาก มีการระดมคนกันเป็นจำนวนมาก เข้ามาสู่การเลือกครั้งนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว อยากจะบอกว่า อย่าเรียกการเลือกครั้งนี้ว่าเลือกตั้ง เพราะว่ามันไม่สมควร ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วยซ้ำไป แต่มันเป็นโอกาสเดียวที่เราจะฟื้นฟูประชาธิปไตยให้กลับมา หลังจากที่เว้นว่างไป
วรวิทย์ วงษ์สุวรรณ์ เสริมต่อว่า คนที่จะใช้ระบบฮั้วกันนั้น ส่วนใหญ่เป็นพวกกันทั้งนั้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่มันเกิดขึ้นในความรู้สึกของผม ไม่อยากเข้าไปยุ่ง มันเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยของเรา ทหารที่ดีใน จ.ลพบุรี มีอยู่เยอะ ทหารที่ไม่ค่อยดีก็มีอยู่เยอะเช่นเดียวกัน รวมทั้งตำรวจ ทุกสาขาอาชีพทั้งนั้นแหละครับ เพราะฉะนั้นเราต้องมาช่วยกันต่อสู้ คนที่ลงสมัคร สว. เพื่อไปต่อสู้ ผมชื่นชม แต่ลงมาเพื่อที่ รับเงินเขา แล้วก็ลงมาเพื่อที่จะไปเลือกบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เขาฮั้วมานั้น ผมไม่สนับสนุนและก็ไม่เห็นด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วที่มองดู ณ วันนี้มันจะเป็นการฮั้วเสียมากกว่า
ความคาดหวังต่อ กกต. ในการเลือกตั้ง สว. 67
ขณะที่ ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข กล่าวว่า กกต. คือผู้จัดการเลือกตั้ง การออกเสียงประชามติ ที่ตอนนี้กกต. เป็นตำบลกระสุนตก ใคร ๆ ก็ตกไปหา กกต. หมด ใคร ๆ ก็โจมตี กกต. โดยที่ กกต. ก็ได้แต่ อธิบายว่า รัฐธรรมนูญมาแบบนี้ เราเป็นผู้ปฏิบัติ เราก็ต้องทำตาม
อย่างระเบียบการแนะนำตัว สว. ก็บอกตาม พ.ร.บ. แต่ปรากฎว่าศาลบอกว่าให้เพิกถอน 3 ข้อ ถ้าผมเป็น กกต. แล้วผมอยากจะไม่ทำให้ตัวเองป็นกระสุนตกนะ รัฐธรรมนูญ พรป. เราแก้ไม่ได้วันนี้ แต่ที่ กกต. ทำได้ คือ ออกระเบียบ และระเบียบที่น่าจะทำที่สุดตอนนี้คือ การบอกให้ชัดเจนเลยว่าภาคประชาชน สื่อที่ต้องการเข้าไปสังเกตุการณ์การเลือก สว. นี้ต้องทำอย่างไร
เพราะตาม พรป. การได้มาซึ่ง สว. มีอยู่มาตรา 37 เขียนบอกว่า เขาไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่ผู้สมัครเข้าไปในพื้นที่ของการเลือก เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการเลือกตั้ง จาก กกต. ปัญหาคือ ตอนนี้ภาคประชาสังคม ก็ส่งเสียงไปอยู่ว่าให้ท่านออกระเบียบมาหน่อยว่าจะสังเกตการณ์อะไร
เพราะว่าเมื่อตอนต้นเดือนพฤษภาคมท่านเลขาธิการก็บอกว่า ทุกที่ไม่ต้องห่วงเราจะจัดมีพื้นที่สังเกตการณ์ให้ สื่อมวลชน มีกล้อง CCTV แน่นอนทุกอำเภอ ในการเลือก สว. ระดับอำเภอ ปรากฏว่าตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนอะไรเลย แล้วเราจะเลือกกันวันอาทิตย์ที่ 9 นี้แล้ว ถ้าผมเป็น กกต. ผมจะลบภาพความเป็นตำบลกระสุนตก
คุณต้องเปิดให้การเลือก สว. รอบนี้ มีคนเข้ามาสังเกตการณ์ดูได้ว่าเป็นอย่างไร ไม่ต้องให้เข้าไปทั้งหมด 928 อำเภอ ให้เอามาเลยเลือกมากี่อำเภอ กี่เขต เลือกมาก็ได้ แต่บอกหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนว่าจะเข้าไปต้องทำอย่างไร
วิศรุต สมงาม กล่าวว่า ถ้าหากตนเองเป็น กกต. จะให้เลขาธิการ พูดให้น้อยลง สื่อสารให้น้อยลง และอย่างที่สองที่ผมจะทำ ก็คือระเบียบที่เปลี่ยนใหม่เนี่ย คุณจะต้องรับผิดชอบ เเพราะว่าคุณประกาศระเบียบในห้วงแรกมาแล้ว เขาก็มีการอบรมกันไปแล้ว อยู่ดี ๆ คุณมาแยกบัตรออกเป็น 4 ใบอีก แต่ไม่มีการอบรมมันเตรียมตัวไม่ทันแล้ว คนก็จะสับสน ด้วยความซับซ้อนเดิมที่มีอยู่แล้วก็มาเปลี่ยนใหม่อยู่เรื่อย ๆ เราเรียกว่า กกต. รายวันเลยก็ได้นะครับ
เรื่องของการสื่อสารอาจจะต้องใส่ใจนิดนึง มันยิ่งสื่อสารมาก ๆ ยิ่งทำให้เกิดความสับสนในสังคม ดังนั้นกติกาที่มันออกมาซับซ้อนแล้ว เห็นด้วยกับอาจารย์ คือ ทำยังไงก็ได้ให้มันง่ายขึ้น และสะดวก อำนวยความสะดวกให้กับทั้งผู้สมัคร และผู้สังเกตการณ์มากขึ้น
เปลี่ยนกติกาใหม่ ‘เขียนตัวเลข’ แทนกากบาท แก้ปัญหาบัตรเสียได้จริงหรือ
ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข มองว่า การที่ กกต. เปลี่ยนมีการเขียนตัวเลขแทนการกากบาท เพื่อป้องกันบัตรเสียครั้งนี้ อาจทำให้มีโอกาสที่จะเกิดบัตรเสียจะมากกว่าเดิม เพราะมีการบอกล่วงหน้า ผู้สมัครเตรียมเขียนไว้ ซึ่งการเขียนเลขต้องเขียนให้ถูกด้วยนะครับ ถ้าเขียนผิดมีจุดมีอะไรนิดเดียวก็ปัดเสียได้แล้ว กติกานี้มาเปลี่ยนเมื่อไม่กี่วันมา แล้วจะเลือกกันอยู่วันอาทิตย์นี้แล้ว
ปกติเราทำงาน เราต้องแผนงานใช่ไหม มีแผนงานใหม่เราก็ต้องมีระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้คนทำงานปรับตัว กับแผนใหม่ อันนี้เหมือน กกต. รายวัน อย่างที่คุณไอซ์บอก
ปลดล็อก สว. เส้นทางสู่การแก้รัฐธรรมนูญใหม่
วิศรุต สมงาม มองว่า ในวันนี้เส้นทางของรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ต้องฝ่าด่านไป 5 คูหา เริ่มที่คูหาที่ 1 ก็คือ สว. และจะมีการทำประชามติครั้งที่ 0 ในประชามติครั้งที่ 0 ก็เป็นประเด็นว่า มันดูยิบย่อย และซับซ้อนขึ้นอีก เพราะคุณมีชัย ฤชุพันธ์ุ เค้าเขียนไว้ในมาตรา 256 ว่า การที่จะแก้รัฐธรรมนูญได้ คุณต้องประชามติก่อน ว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะแก้วิธีการแก้รัฐธรรมนูญอันซับซ้อน วิธีการแก้คือจะแก้ตรง ๆก็ไม่ได้ เพราะว่าในมาตรา 256 เขียนไว้ว่า วิธีการแก้ต้องไปถามมติก่อน
จากนั้นจะมีการประชามติครั้งที่ 1 เพื่อถาม ต้องไปถกเถียงกันต่อว่าชุดคำถามจะเป็นยังไง แก้ทั้งหมดทุกมาตราหรือไม่ มีคำถามพ่วงไหม จะทำให้ประชาชนสับสนไหม และต่อไปก็จะเป็นเรื่อง สสร. ซึ่งอันนี้ก็เป็นที่คาดหวังอย่างยิ่งว่า สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% ต้องมาจากประชาชนจริง ๆ อันนี้คือสิ่งที่ต้องต่อสู้ด้วยกัน และรณรงค์ร่วมกันต่อไป
ส่วนคูหาสุดท้ายก็คือ การประชามติ เพื่อรับรองยืนยันว่าประชาชนจะเอารัฐธรรมนูญใหม่ร่วมกันไหม ซึ่งจุดยืนนี้เป็นจุดยืนที่ทุกพรรคการเมืองเห็นด้วย แม้แต่พรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาลอยู่ตอนนี้ก็เห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูใหม่
ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนประชาชนทุกคน เป็นโอกาสที่ดีมากในคูหา สว. ที่เราได้เห็นปรากฏการณ์ การตื่นตัวของประชาชนคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่ที่อายุยังไม่ถึง 40 พวกเราออกมาขยันขันแข็งทำงานแม้พวกเราไม่มีสิทธิ์ที่จะลง สว. แต่ว่าเรามีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอนาคตหลังจากนี้ที่เราจะฝากไปสู่รุ่นน้อง รุ่นลูกของเรา มันจะไม่มีเบี้ยวอีกต่อไป ส่วนถ้าได้รัฐธรรมนูญใหม่แล้ว สิ่งที่จะต้องแก้ในส่วนของ การได้มาซึ่ง สว. คิดว่า มันควรจะออกแบบร่วมกันก่อน แต่ถ้าให้พูดตอนนี้เลยก็คิดว่า โดยหลักการต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยประชาชน
ปิดท้ายที่ ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข วิเคาะห์รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กับความจำเป็นของการมี สว. ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่แตะตรงไหน เห็นปัญหาเพราะว่ามันร่างบนความบิดเบี้ยว สืบทอดอำนาจจากรัฐประหารปี 2557 ดังนั้นเรื่องรัฐธรรมนูญนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่เราต้องคุยกันอีกพอสมควรเลย
ส่วนเรื่อง สว. คำถามที่บอกว่า สว. มีไว้ทำไม ไม่ใช่คำถามที่ถามแต่ในประเทศไทย ถามในหลาย ๆ ประเทศว่า ระบบรัฐสภาจำเป็นไหมที่จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า สภาสูง หรือสภาที่ 2 หลาย ๆ ประเทศเคยมีสภาสูงมาแล้ว ก็ยกเลิกไป ตัวอย่างเช่น ประเทศสวีเดน นิวซีแลนด์ เป็นต้น
แม้กระทั่งประเทศที่เป็นแม่แบบของประชาธิปไตยสมัยใหม่ อย่างสหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ ที่เราชอบพูดกัน จะมีการเลือกตั้งเดือนหน้า ถ้าพรรคแรงงานชนะเลือกตั้ง เขามีพิมพ์เขียวแล้วว่าจะยกเลิกสภาขุนนางที่คุณมีชัย บอกว่าเอาโมเดลมาร่างที่มาของ สว. ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้วเปลี่ยน สว. ของภูมิภาคที่มาจากการเลือกตั้ง
ผมขอขมวดก่อนว่าในโลกนี้คำถามเรื่อง สว. มีไว้ทำไมมันไม่ใช่แปลกใหม่ มันมีถามมานานแล้วแล้วในโลกนี้รูปแบบของรัฐสภาโดยส่วนใหญ่เป็นระบบสภาเดียวไม่ใช่ระบบ 2 สภา ซึ่งจริง ๆ มันควรจะเริ่มด้วยคำถามว่าเราจะมี สว. ไหม จากการศึกษาของผมในรัฐธรรมนูญไทยหลาย ๆ ฉบับ หมวดที่ว่าด้วยรัฐสภา เป็นหมวดที่มีการถกเถียงกันยาวนานที่สุด นั่นหมายความว่ามันไม่ลงตัวสักที ถามว่าก่อนหน้านี้เคยมีข้อเสนอเรื่องการมีสภาเดียวไหม มีแต่ในหมู่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บอกว่าจะเอาสองสภา สภาเดียวเลยตกไป
ดังนั้นถ้ามีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องรูปแบบของรัฐสภา ต้องถามว่าจะเอาสภาเดียว หรือ 2 สภา สมมติว่าจะให้มีสองสภา ผมเป็นคนนึงที่ ผมไม่ขัดข้องกับการมี สว. แต่การมีอยู่ของ สว. อำนาจต้องไม่ล้นเกิน เพราะว่าอะไรครับ เราจะผูกเรื่องที่มาไม่ได้นะครับ เราต้องผูกเรื่องที่มากับอำนาจมันผูกโยงกัน ถ้าอำนาจยิ่งมาก ที่มาต้องมีความชอบธรรมสูงมาก ๆ
ถ้าเราอยากให้ สว. เลือกเป็นอิสระ ถอดถอนได้ ความชอบธรรมในระดับหนึ่ง เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็พิสูจน์แล้วว่ามีปัญหา การครอบงำต่าง ๆ ฉะนั้น ถ้า สว. มีแต่อำนาจการกลั่นกรองกฎหมายตามที่ อาจารย์บอก สำหรับผมรื่องที่มาไม่สำคัญเลย ถ้ามีอำนาจน้อย ๆ คนจะไม่แย่งกันเป็น ฉะนั้นเวลาเราบอกว่า อยากได้ สว. แบบไหนมันต้องดูสองจุด คือ เราอยากให้ สว. มีอำนาจอะไร แล้วอำนาจมันจะไปผูกโยงกับที่มา สถาบันไหนที่ได้อำนาจเยอะ มักจะใช้อำนาจกันเกินเลยกันหมด
ผมคิดว่าอำนาจไม่ควรเยอะ อำนาจควรมี ประมาณนึง กลั่นกรอง กม. ถ้าจะมี ก็พอ ส่วนที่มา ผมไม่ขัดข้องเลย ที่มาของการวุฒิสมาชิกสภาในโลกนี้มันมีหลากหลายเป็น 10 วิธีเลย เลือกตั้งทางตรง เลือกตั้งทางอ้อม แต่งตั้งก็มี เลือกตั้งจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อันนี้ประเทศฝรั่งเศส ก็พูดได้ มีแบบนี้ คือ มันขึ้นอยู่กับอำนาจ
–ถอดรหัส เลือก สว. คนไทยได้อะไร ผ่าน 3 ฉากทัศน์–
หลังจากที่ได้อ่านมุมมองที่หลากหลายแล้ว เรามี 3 ฉากทัศน์ที่เป็นตุ๊กตาตั้งต้นของการพูดคุยในครั้งนี้มาให้ทุกคนได้ลองเลือก และลองเติมมุมมองของตัวเองว่า ถ้าเป็นคุณ คุณอยากจะเห็นกระบวนการเลือก สว. แบบไหน
ฉากทัศน์ที่ 1 ผัดกะเพรา
ข้อจำกัดและความไม่ชัดเจนของกติกาการเลือกตั้งตัวแทนประชาชนที่ได้ชื่อว่า “ซับซ้อนที่สุดในโลก” ทำให้คนไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่รู้สึกว่า ตนเองถูกกีดกัน ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในครั้งนี้ ส่งผลโดยตรงกับจำนวนและคุณภาพของผู้สมัครในแต่ละพื้นที่ เปิดช่องให้กลุ่มการเมืองจัดตั้งผู้สมัครเพื่อเลือกตัวแทนของตนเอง ทำให้ภาพรวม สว.หน้าใหม่ ไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพ ขณะที่ความรู้สึกโดยรวมของ สว. แม้ไม่มีคำถามเรื่องคุณภาพ แต่ไม่ได้เกิดความรู้สึกยึดโยงกับผลประโยชน์ของประชาชนและสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม
ผ่านไปไม่นาน ประชาชนเริ่มตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของ สว. ถึงบทบาทในการสนับสนุนหลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญและร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ขณะที่โอกาสในการแก้ปัญหาวงจรอุบาทว์จากการยุบพรรคตัดสิทธิ์ตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งแทบไม่เหลือ เนื่องจาก สว. เสียงข้างมาก ยังยืนยันที่จะรักษาโครงสร้างอำนาจเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น ส่วน สว.เสียงข้างน้อย พยายามสร้างกลไกยึดโยงกับประชาชน ไม่สามารถต้านทานได้ ทำให้การเมืองไทยที่เริ่มฟื้นตัวยังคงเผชิญภาวะลุ่ม ๆ ดอน ๆ ต่อไปอีกหลายปี
ฉากทัศน์ที่ 2 ส้มตำทอด
ภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคส่วนต่าง ๆ เห็นความสำคัญที่จะผลักดันให้มีตัวแทนของประชาชนทุกภาคส่วน สมัครเข้ารับการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา อีกด้านเพื่อป้องกันการบล็อกโหวตจากกลุ่มการเมืองที่ต้องการรักษาโครงสร้างอำนาจเดิมไว้ แต่อย่างไรก็ตามผลของเงื่อนไขที่ซับซ้อนและความไม่ชัดเจนของกติกาสรรหาฯ ยังมีตัวแทนผลประโยชน์ทางการเมืองหลุดรอดเข้ามาได้ กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการทำหน้าที่ สว. โดยเฉพาะการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องใช้เสียงอย่างน้อย 1 ใน 3 ของทั้งหมด
การเมืองในรัฐสภาเข้มข้นขึ้น เนื่องจากมี สว.ที่ประกาศตัวว่าเป็น เสียงของประชาชนเข้าไปร่วมสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย ร่วมผลักดันกฎหมายและติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของผู้ทำหน้าที่ สว. ขณะที่ภาคประชาชนสร้างกลไก เพื่อเชื่อมต่อทำงานกับกลุ่ม สว. ภาคประชาชน เพื่อนำปัญหาและข้อคิดเห็นต่าง ๆ จากพื้นที่ไปอภิปรายและผลักดัน เสนอและแก้ไขกฎหมายร่วมกับพรรคการเมืองที่เป็นแนวร่วม ทำให้มีความหวังที่จะเห็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะเกิดขึ้นจากความร่วมมือของประชาชนกับรัฐสภาไทย
ฉากทัศน์ที่ 3 ก๋วยเตี๋ยวคลุก
การเมืองไทยเข้าสู่กระแสสูง เกิดความตื่นตัวทางการเมืองในหมู่ประชาชน เนื่องจากสถาน การณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะฝ่ายเสรีนิยมรณรงค์ผลักดันให้การเมืองหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ และได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ขณะที่เวทีการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา กลายเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ทั้งฝ่ายโครงสร้างอำนาจเดิม และฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง พยายามช่วงชิงที่นั่ง สว.เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและผลักดันให้การเมืองไทยไปในทิศทางที่ต้องการ
หลังการสรรหา สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ประสานกับภาคประชาชนและพรรคการเมืองผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอย่างแข็งขัน ขณะที่ฝ่ายโครงสร้างอำนาจเดิมพยายามเดินเกมการเมืองยืดเยื้อ เพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นความขัดแย้งที่บานปลายขยายตัวลงไปถึงระดับประชาชน รัฐบาลเกิดปัญหาเสถียรภาพจนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่
สำหรับในวงเสวนา เราได้นำฉากทัศน์ทั้ง 3 ฉากนี้ ไปให้ทุกคนที่อยู่ในวงได้โหวตเลือก โดยกระบวนการโหวตในวง จะมีด้วยกันทั้งหมด 2 ครั้ง คือก่อนที่ผู้เข้าร่วมทุกท่านจะได้รับฟังชุดข้อมูลจากวิทยากร และหลังจากได้ฟังชุดข้อมูลที่วิทยากรได้แลกเปลี่ยนไปแล้ว โดยผลลัพธ์ที่ได้มานั้น
ในรอบแรกก่อนที่คนในวงจะได้ฟังชุดข้อมูล มีคนโหวตให้กับฉากทัศน์ที่ 3 มากที่สุด 43.33% รองลงมาคือ ฉากทัศน์ที่ 1 และ 2 ในสัดส่วนที่เท่ากัน 28.33% ส่วนรอบ 2 หลังจากที่ทุกคนได้ฟังชุดข้อมูลแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิด คือมีผู้ที่โหวตฉากทัศน์ 3 มากที่กว่ารอบแรก รองลงมาคือ ฉากทัศน์ที่ 2 และ ฉากทัศน์ที่ 1 ตามลำดับ
แล้วถ้าเป็นคุณ หลังจากได้อ่านชุดข้อมูลทั้งหมดแล้ว ฉากทัศน์ไหน ที่คุณอยากให้เป็น โหวตเลือกด้านล่างนี้ได้เลย