รายงานการโยกย้ายถิ่นฐานของไทย (Thailand Migration Report) ฉบับล่าสุดวันที่ 13 ธันวาคม 2567 โดยเครือข่ายสหประชาชาติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย(United Nations Network on Migration in Thailand) ชี้ให้เห็นว่า การโยกย้ายถิ่นฐานยังคงเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างภูมิภาคและเป็นประเทศจุดหมายหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยอาศัยอยู่อย่างน้อย 5.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยในปี 2562 ที่มาถึง 4.9 ล้านคน ตามการสำรวจของรายงานการโยกย้ายถิ่นฐานของไทยที่ผ่านมาประเทศไทยยังเป็นประเทศทางผ่านสำหรับแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และเป็นประเทศต้นทางของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในและนอกภูมิภาค
การโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเมียนมา ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนาขึ้นและโอกาสที่เพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นจากจำนวนแรงงานข้ามชาติแบบปกติกว่า 2.3 ล้านคน จากประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับการลงทะเบียนในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม แรงงานเพื่อนบ้านยังคงเผชิญความท้าทายอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงขั้นต่ำ สภาพการทำงานที่ย่ำแย่ การขูดรีดแรงงาน การเข้าถึงความคุ้มครองทางสังคมที่จำกัด ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ย้ายถิ่นในสถานการณ์ไม่ปกติ มีความเสี่ยงสูงต่อสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่ไม่มั่นคง
สถานการณ์การโยกย้ายถิ่นของผู้อพยพที่เข้ามาในประเทศไทย
อาจารย์จิราพร กล่าวว่า จำนวนผู้อพยพที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมี 6-7 ล้านคน มี 3 แสนกว่าคนในการผลิตเม็ดเงินมหาศาลในภาคอุตสาหกรรมประมงจำนวน 1.8 ล้านล้านบาท ยังไม่นับรวมภาคบริการ การท่องเที่ยว
อาจารย์จิราพร ชี้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเอาผู้อพยพออกจากประเทศไทยทั้งหมด อย่างแรกที่พวกเราจะต้องเผชิญคือ อาหารทะเล ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร จะขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น ตามมาด้วยการล่มสลายของภาคบริการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร รวมไปถึง การโครงการก่อสร้างต่าง ๆ รวมไปถึงการล่าช้าในการเกษียณอายุหรือการออกจากงานเพื่อมาดูแลคนที่รักเพราะขาดกำลังแรงงานในภาคธุรกิจ และไปสู่การล่มสลายทางเศรษฐกิจของประเทศ
“เรื่องผู้อพยพยไม่ใช่เรื่องที่อยู่ไกลตัว เราต่างเป็นผู้อพยพทางใดทางหนึ่ง การพยายามสร้างความเป็นอื่นโดยการแปะป้ายว่า ‘เขา’ ไม่ใช่พวกเดียวกับเรา ‘เขา’ ต่างจากเรา มีพาดหัวข่าวหลายแหล่งนำเสนอเรื่องการคลอดลูกของแรงงานเพื่อนบ้านด้วยถ้อยคำว่า “ต่างด้าวเข้ามาคลอดลูกในไทยจนหมอรับไม่ไหว” “มีลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่มาร้องเพลงชาติไทยแล้วต่อด้วยเพลงชาติพม่า” สิ่งเหล่านี้สังคมต้องตั้งคำถามว่าเพราะอะไรถึงมีการนำเสนอข่าวเช่นนี้”
ผศ.ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“เราไม่เคยตั้งคำถามกับการย้ายถิ่นของสินค้า เราไม่เคยตั้งคำถามกับการย้ายเงินตรา แต่ทำไมเราถึงตั้งคำถามต่อการย้ายถิ่นของคน”
รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์นฤมล กล่าวว่า คนที่เข้ามาในประเทศไทยมีหลายแบบ สาเหตุหนึ่งที่มีการเข้ามาของผู้อพยพคือจากเงื่อนไขที่ไม่ใช่ความอยากจะเข้ามา แต่เข้ามาด้วยสถานการณ์ของสงคราม สถานการณ์ของความขัดแย้งที้นำมาสู่การต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน และสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้อพยพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
อาจารย์นฤมล กล่าวเพิ่มว่า ประเทศไทยจะเจอสถานการณ์สงครามและคนที่อพยพเข้ามาถูกละเลย โดยที่รัฐไทยไม่มีแนวทางการจัดการปัญหาดังกล่าว ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศพม่า มีการข้ามแดนเข้ามาเพราะเหตุการณ์ความไม่สงบมากมาย ในปีหน้า สถานการณ์แรงงานเพื่อนบ้านที่เคยถูกกฎหมายจะผิดกฎหมายมากขึ้น เพราะผู้อพยพไม่อยากกลับประเทศจากผลกระทบของเหตุการณ์สงครามที่เกิดขึ้น
“ปี 2547 อันวาร์เข้ามาอยู่ประเทศไทย อายุ 17 ทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ตอนแรกที่เข้าประเทศไทยไม่รู้มาก่อนว่าต้องทำใบอนุญาตทำงาน ความกดดันเกิดขึ้นผ่านการทำงานที่ไม่สามารถทำงานในระยะยาวได้ ต้องเปลี่ยนการทำงานตลอดเนื่องจากไม่มีใบอนุญาตทำงาน ความเจ็บป่วยจากการทำงานก็ไม่สามารถหาหมอได้ เราไม่ได้อยากเป็นผู้อพยพแต่เราต้องเอาตัวรอดให้ได้ มันยากมาก ๆ กว่าจะได้ใบอนุญาตทำงาน”
นี่คือเสียงของอันวาร์ หนึ่งในผู้อพยพย้ายถิ่นจากความขัดแย้งภายในประเทศของตัวเอง
“ปัญหาหลักคือรัฐไทยไม่มีนโยบายมารองรับที่มีประสิทธิภาพมากพอ ไม่มีมาตรการในการจัดการผู้อพยพย้ายถิ่น ซึ่งรัฐบาลไทยมีส่วนทำให้เขาผิดกฎหมาย บางคนบอกว่าประเทศไทยไม่มีผู้ลี้ภัย แต่ก็เพราะประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับผู้ลี้ภัย”
อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน (TMR)
คุณอดิศร ชี้ให้เห็นถึงข้อเสนอในการบริหารจัดการผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน คือ ข้ามพ้นการจัดการผู้ลี้ภัยโดยการเปิดค่ายผู้ลี้ภัย ไปสู่การกำหนดสถานะทางกฎหมาย เพื่อสร้างโอกาสซึ่งกันและกัน อนาคตไทยขาดแคลนแรงงาน อัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตายตั้งแต่ ปี 2564 อีกทางคือ การบริหารจัดการแรงงานเพื่อบ้านที่ก้าวพ้นกับดักการจัดการระยะสั้น เริ่มจากการจัดการจัดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ
Author : Kanyapat Limprasert