สืบสานวิถีลงแขกเกี่ยวข้าวเขมรศรีตระกูล ศรีสะเกษ

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป วิถีของผู้คนก็เปลี่ยนไปตาม วิ่งให้ทันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ผู้คนที่ต่างจังหวัดก็ต้องมีการปรับตัวทั้งรูปแบบการใช้ชีวิตและอาชีพไปด้วยเช่นกัน

รูปแบบการทำนาก็มีการปรับไปตามยุคสมัยที่ใช้รถจักรในภาคการเกษตรเกือบเต็มระบบ ทั้งวิถีการเตรียมดิน หว่านเมล็ดพันธ์ บำรุงสภาพดินและบำรุงพืชข้าว รวมถึงการเก็บเกี่ยว ล้วนมีเครื่องจักรเข้ามีส่วนร่วมแทบทั้งสิ้น เพราะสะดวกและสบายรวดเร็วในการดำเนินการภาคการเกษตร และการทำนาแบบนี้ทำให้ภาคการเกษตรใช้เวลาแต่ละขั้นตอนลดลงอย่างมาก ทำให้ผู้คน โดยเฉพาะหนุ่มสาวต้องเลือกไปทำงานต่างพื้นที่มากขึ้น ทำให้ในพื้นที่ชนบทนั้นมีแรงงานหรือภาคการเกษตรที่มีแต่ผู้คนสูงวัยให้เห็น

ที่ชุมชนบ้านละเบิก ต.ศรีตระกูล อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เป็นชุมชนที่สื่อสารกันด้วยภาษาถิ่นเขมร ประกอบอาชีพทำนาและเป็นนาปี เพราะอยู่นอกชลประทาน ทำให้ทำการเกษตรโดยเฉพาะนาได้ปีละหนเท่านั้น เล็งเห็นความสำคัญของวิถีผู้คนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างการทำนา จึงได้มีการสืบสานวิถีการลงแขกเกี่ยวข้าวขึ้น โดยใช้รูปแบบการเกี่ยวมือช่วยกัน เพื่อนำข้าวที่ได้จากเกษตรแปลงรวมของชุมชนมาไว้ประกอบพิธีเฉกเช่นในอดีต โดยใช้พื้นที่วัดเป็นพื้นที่ในการรวบรวมข้าวก่อนจะมีการนวดข้าวแบบโบราณในวันทำบุญคูณลานในรูปแบบ เจดีย์ข้าวเปลือกในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่จะถึง

พระอธิการพัฒนา ปิยธมฺโม เจ้าอาวาสวัดศรีตระกูล อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ชาวนาบ้านเราเปลี่ยนไปมาก ในรูปแบบการทำนา คงจะจริงอย่างที่เขาว่า ทำนาปีละ 3 ครั้ง คือ วันหนึ่งหว่าน วันหนึ่งใส่ปุ๋ยและวันหนึ่งเก็บเกี่ยว ทั้งที่ความจริงในอดีตเราทุ่มเทเพื่อให้ได้ข้าวมาไว้กิน ทำให้คุณค่าของข้าวหายไป เพราะสิ่งนี้จึงได้ชวนชุมชนมาร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไร ถึงจะให้คนรุ่นใหม่หรือบ้านเราได้ร่วมกันเรียนรู้สิ่งดีงามเกี่ยวกับข้าวไว้ จึงสรุปว่าเราจะมาเอาแรงกันเกี่ยวข้าวและนำข้าวขึ้นโพนลานนั่นคือใช้วัดของเราเป็นพื้นที่ในการนวดข้าวเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาไปในตัวด้วย

ชนะ ไพบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านละเบิก ต.ศรีตระกูล อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เล่าว่า หลังจากที่ได้ประชุมและรับความดำริของหลวงพ่อ พวกเราจึงได้ช่วยกันเกี่ยวข้าวด้วยมือโดยใช้แปลงนารวมของชุมชนที่อยู่ติดวัดเป็นข้าวเพื่อใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งรูปแบบนี้เป็นการอนุรักษ์สิ่งดีงามของชาวนาเราเอาไว้ด้วย โดยกิจกรรมการเกี่ยวข้าวก็ได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนในชุมชนเราด้วยดี

กิจกรรมของการให้ความสำคัญเกี่ยวกับข้าวของชุมชนวัดศรีตระกูล (ละเบิก-ตาฮีง) ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวในครั้งนี้ นำรูปแบบการเกี่ยวข้าวในอดีตมาใช้ โดยภาษาถิ่นเขมรเรียกว่า “อา-ศรัย โจรด-เซรา” ที่หมายถึงการ การลงแขกเกี่ยวข้าว อา-ศรัย หมายถึง การลงแขกเอาแรงร่วมมือร่วมใจกัน และคำว่า โจรด-เซรา (อ่านว่า จะโรด-ซะเรา) หมายถึง การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว โดยมีการลงแขกในการเกี่ยวข้าวร่วมกัน และตากไว้ที่แปลงนานั้น ๆ 4-5 แดด แล้วจึงมีการขนมัดฟ่อนข้าวด้วยผ้าขาวม้า หรือเรียกกันว่า การทูนข้าว ไปกองรวมเป็นแถวไว้ที่โพนลาน โดยใช้พื้นที่วัดเป็นสถานที่ดังกล่าว เพื่อรอวันนวดข้าวในรูปแบบอดีตต่อไป ซึ่งมีการกำหนดวันนวดเกี่ยวข้าวคือวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ดำเนินการพร้อมกันเป็นงานบุญ เจดีย์ข้าวเปลือกด้วย

วิรัตน์ ในทอง ชาวบ้านละเบิก 67 ปี กล่าวเป็นภาษาถิ่นเขมร แปลเป็นใจความได้ว่า เราช่วยกันทำกิจกรรมในการเกี่ยวข้าวร่วมกันและทูนมากองไว้บนโพนลานที่วัดแห่งนี้ ก็เป็นการอนุรักษ์และสืบสานวิถีของบ้านเราเอาไว้ด้วย และจะกองเป็นเจดีย์ข้าวเปลือกรอวันนวดฟาดข้าวต่อไปในวันทำบุญใหญ่ส่งท้ายปีเก่าของบ้านเราเอาไว้ด้วย และอยากให้กิจกรรมดี ๆ แบบนี้คงอยู่คู่บ้านเราไปอีกนาน คุณยายจะคอยให้กำลังใจด้วย

สุพัฒน์ เทาศิริ กลุ่มสำนึกรักบ้านเกิดศรีตระกูล คนรุ่นใหม่ที่ทำงานขับเคลื่อนชุมชนในพื้นที่ เล่าให้ฟังว่า รูปแบบนี้เป็นสิ่งที่น่าศึกษาและเรียนรู้ เหมาะกับเป็นห้องเรียนใบใหญ่ให้กับคนรุ่นใหม่และคนทั่วไปได้เห็น เพราะรูปแบบนี้จะหาดูได้ยากมากแล้ว เพราะไม่ได้หมายถึงแค่ว่าเป็นการอนุรักษ์และสืบสานวิถีเท่านั้น แต่เป็นการคงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ความเป็นมาของความเป็นชาวนาแบบเขมรศรีตระกูลเราด้วย ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดล้วนมีผู้สูงอายุอายุ ผู้นำชุมชน เด็กเยาวชนเข้าร่วมด้วยทุกครั้ง

ลูกชาวนา แม้โลกจะเปลี่ยนไปมากสักเพียงไหนก็ตามแต่ แต่การให้ความสำคัญกับเรื่องของข้าวที่มีคุณค่ามากกว่ามูลค่าที่ขายทางเศรษฐกิจ แต่นั่นคือการได้รู้ว่า ข้าวคือสิ่งที่บรรพบุรุษเราทำมาเป็นอย่างไร มีวิธีการทำอย่างไรบ้าง และครั้งนี้แม้จะเป็นกิจกรรมแบบบ้าน ๆ แต่วิถีความเป็นลูกชาวนาก็ควรได้รับการส่งต่อและสืบสานให้คงอยู่ตลอดไปเช่นกัน

โดย ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์ [สื่อชุมชนคนชายแดนไทยกัมพูชา]

แชร์บทความนี้