“แพร่เป็นเมืองเล็กๆ ที่คนทั่วโลกอยากรู้จักผ่านสินค้า เพราะเขาเห็นของ เขาก็ถามว่า แพร่อยู่ตรงไหนบนแผนที่โลก แพร่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ มีเรื่องราว มีอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ ทำให้สิ่งดี ๆ เหล่านี้เปล่งประกายยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ทั่วโลกที่ของของเราไปอยู่ เพื่อให้ผู้คนได้เห็นความสวยงามของมัน บางคนก็คิดว่าแพร่ควรจะมีแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเด่น ๆ สักที่ แต่เราคิดต่าง เราคิดว่าจังหวัดของเรามีเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อยู่แล้ว และเรายังสามารถส่งต่อสิ่งเหล่านี้ไปหาผู้คนทั่วโลกได้อีกด้วย”
นิว นันทนิจ บอยด์ เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Natcharal ซึ่งยกระดับผ้าหม้อห้อมสินค้าพื้นเมืองของเมืองแพร่ไปสู่เวทีแฟชั่นโชว์ในกรุงเทพ และเป็นสินค้าส่งออกได้สำเร็จ รวมทั้งเป็น ผู้ร่วมก่อตั้งงาน “แพร่คราฟ์ท” พื้นที่แสดงผลงานคราฟ์ของหนุ่มสาวนักออกแบบเมืองแพร่ ที่ริเริ่มและดำเนินการต่อเนื่องมาถึง 7 ปี ปัจจุบันสมาชิกของแพร่คราฟ์ทมีบทบาทในการขับเคลื่อนเมืองแพร่ในมิติต่างๆมากขึ้น ไม่เพียงแค่ออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่พวกเราร่วมกันออกแบบเมือง
“เราเกิดและใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านทุ่งโฮ้ง จากเดิมที่เป็นพนักงานเทศบาล เราเห็นสินค้าของชุมชนมาตั้งแต่เด็ก เห็นผ้าห้อมพื้นเมืองเรียงรายตลอดแนวถนนเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้คิดว่ามีความโดดเด่นอะไร วันหนึ่งเราอยากทำชุดที่ทำจากห้อมให้ลูก แต่เน้นย้อมแบบปลอดภัยตามธรรมชาติ เลยไปเรียนรู้กับพี่คนหนึ่งที่ทำห้อมแบบปลอดภัยตามธรรมชาติ จากนั้นได้ทำเองและเพิ่มดีไซน์ และพัฒนาต่อยอดเป็นแฟชั่น ยกระดับจากสินค้าท้องถิ่นทำในรูปแบบที่ต่างออกไปจากเดิม ขายในตลาดใหม่ คนที่เห็นเรากล้าเปลี่ยนออกจากแบบเดิม เขาก็จะทำต่างไปจากเดิมในฉบับของเขาเหมือนกัน เมื่อก่อนเราอาจจะมองว่าการทำผ้าห้อมของคนแพร่ ก็คือผลิตไว้รอนักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อ แต่ที่จริงแล้วเราพาออกไปข้างนอกได้ซึ่งมากกว่าการที่นักท่องเที่ยวมาซื้อในพื้นที่ของเราอีก ปัจจุบัน แบรนด์ของผ้าห้อมที่ทำอยู่ วางอยู่ในช็อปประจำแล้ว ทั้งแคนาดา อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น”
“เอามันออกไป” สิ่งนี้เป็นเรื่องดี คือการยกระดับ คือการกระจายรายได้ คือการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน เพราะเชื่อมโยงกับช่างเย็บผ้า ชาวสวนห้อม และตลาดภายในประเทศและนอกประเทศ
สิ่งหนึ่งที่ นิว ภูมิใจ คือ การปรากฏ เมืองแพร่ อยู่บนแผนที่ห้อมโลก หรือ world indigo เพราะรู้สึกว่าได้พาตัวเองออกไปสู่โลกภายนอกแล้ว “ตัวเอง”นี่หมายถึงเมืองแพร่ทั้งหมด ไม่ใช่เพียงหม้อห้อม และแพลทฟอร์มสำคัญที่ทำให้คนรู้จักแพร่ คือ “แพร่คราฟท์” ซึ่งไม่ใช่กิจกรรม แต่เป็นช่องทางสำหรับการมาเจอกันของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ไม่ได้มีสินค้าเพียงแค่ห้อมเท่านั้น ยังมีอีกหลาย product เช่นอาหาร ไม้ จักสาน โดยใช้ความสามารถของที่สมาชิกมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภาษา องค์กร หน่วยงานที่พอที่จะรู้จักแล้วพาสินค้าหรือโปรดักส์ของแต่ละคนออกไปสู่ตลาดภายนอกให้คนรู้จักและมีเครื่องมือที่จะร่วมกันพัฒนาเมืองตามที่ตนเองถนัด เพื่อให้ เมืองแพร่ เป็นเมืองแป้ ที่ไม่ได้เป็นแค่ทางผ่าน
นิว เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อครั้งเริ่มต้นกลุ่มแพร่คราฟท์ใหม่ๆ ว่า
“กลุ่มแพร่คราฟท์เป็นกลุ่มของคนหลากหลายวัย ไม่ใช่เฉพาะคนรุ่นใหม่ แต่เป็นผู้ประกอบการใหม่ที่มีความคิดเป็นของตัวเอง พูดกันว่าเราลองมาทำอะไรซักอย่างไหม แบบให้สนุกๆ ตอนแรกเราก็ไปพูดกับลุงไกร ผู้ประกอบการผ้าหม้อห้อมในเมืองแพร่ มีการโหวตชื่อกัน ก็มาลงตัวที่ชื่อ“แพร่คร้าฟท์” ไม่ได้เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาแบบเท่ห์ ๆ แต่เป็นชื่อที่ได้ยินแล้วรู้จักเลยว่าเรามาจากไหน เวลาไปไหนก็เหมือนประกาศตัวเองเลย พอเรามารวมตัวกันแล้ว ก็รู้สึกว่าเราอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของทุกคนเลย ไม่ใช่เฉพาะคนในกลุ่มเราแล้ว เราอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของคนแพร่ ที่ได้มาร่วมแสดงออก ในเรื่องของความคิด เรื่องกิจกรรม อะไรก็แล้วแต่ เราอยากให้มีความกว้างมากยิ่งขึ้น ใช้พื้นที่ตรงนี้ เปิดเพื่อที่จะได้เห็นว่ามีงานประเภทนี้อยู่ในบ้านเราด้วย เป็นเจตนาดีที่อยากเอาของในบ้านตัวเอง ออกมาให้คนข้างนอกเห็นว่า บ้านเรามีอะไรบ้าง มีอาหารอะไรอร่อยบ้าง มีเสื้อผ้าอะไรน่าสวมใส่บ้าง มีของใช้อะไรดีๆบ้าง
“รู้สึกว่าเป็นการเปิดบ้าน เพราะบางครั้งเรามักจะติดคำว่า “ไปสู่โลก” บางครั้งหลายๆคนก็ไม่สามารถที่จะไปจริงได้หรอก ทำไมเราไม่เปิดบ้านเราเพื่อจะให้โลกเข้ามาหาเรา”
ชวน ชมคลิป หม้อห้อมไทยสู่สากล-แพร่คราฟท์ ชุมชนคนรุ่นใหม่