บุรีรัมย์ เมืองแห่งศักยภาพอีสานใต้ของประเทศไทย กำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย มรดกทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น และกิจกรรมท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติได้อย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงการพัฒนาระดับท้องถิ่นสู่สากล
ฟังเสียงประเทศไทย ฟังเสียงคนท้องถิ่น ได้ชวนตัวแทนผู้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนา ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันตั้งต้นสนทนามองภาพอนาคตบุรีรัมย์ในอีก 5 ปีข้างหน้า หาแนวทางการสร้างโอกาสการพัฒนาที่สอดคล้องกับท้องถิ่นพื้นที่ ให้การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมให้เดินไปพร้อมกัน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ปรับตัวได้ในยุคที่เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ขอ 1 คำ เมื่อพูดถึง “บุรีรัมย์” นึกถึงอะไร
“บุรีรัมย์คือเมืองแห่งความเป็นไปได้เสมอ บุรีรัมย์ไม่ได้มีภูเขา ไม่มีท้องทะเล ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดเหมือนบางจังหวัด แต่ว่าเราสร้าง เป็นจังหวัดที่สร้างทุก ๆ อย่างเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นวิ่งมาราธอน อีเวนต์ใหญ่ ๆ ประจำประเทศไทย เรามีสนามแข่งระดับประเทศ ระดับโลกที่ชาวต่างชาติแวะเวียนมา มีสนามบินที่จะขยายตัวเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลแอร์พอร์ตในอนาคต แล้วก็ยังมีโครงการอีกมากมายที่เป็นไปได้ตลอดเวลาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แล้วก็คืนความสุขให้กับทุกท่านที่มาเยี่ยมเมืองบุรีรัมย์” เอมอร รัศมีรัถยาธรรม นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์
“ปราสาทพนมรุ้ง เพราะว่าถ้าเป็นคนโบราณพูดถึงบุรีรัมย์จะรู้จักแค่ประสาทพนมรุ้ง แล้วก็ที่พูดถึงปราสาทพนมรุ้งเพราะว่ามันเป็นเรื่องของอารยธรรมขอมโบราณ แล้วก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของบุรีรัมย์มาช้านาน” มนตรี ดำรงมงคลกิจ รองประธานหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์
“เมืองแห่งปราสาท 2 ยุค เพราะว่าบุรีรัมย์เรามีทั้ง “ปราสาทพนมรุ้ง” ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว พอยุคใหม่เรามี “ปราสาทสายฟ้า” จะมีพวกสนามรถ สนามฟุตบอล เราขายจุดเด่นทั้งปราสาทพนมรุ้งและปราสาทสายฟ้า ตรงจุดนี้คือเราสามารถที่จะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาได้เป็นอย่างดี และตอนนี้ ตรงนี้ก็ยังเป็นจุดขายหลักของจังหวัดบุรีรัมย์อยู่” ธนภัทร ตระหนักยศ ประธานชมรมธุรกิจโรงแรมจังหวัดบุรีรัมย์
“ปราสาทพนมรุ้ง ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ โมโตจีพี (MotoGP) และสนามแข่ง สิ่งที่เห็นคือผมมาอยู่บุรีรัมย์ 34 ปี วันแรกที่มาอยู่มีแค่ปราสาทพนมรุ้ง ทับหลัง แล้วตอนนั้นทับหลังที่ได้คืนมาก็โด่งดังมากรู้แค่นั้น ผ่านมา 34 ปี วันนี้บุรีรัมย์มีหลายอย่างที่หลายจังหวัดในภาคอีสานต้องอิจฉา เป็นความภูมิใจสำหรับคนที่ไม่เคยเป็นคนบุรีรัมย์มาก่อน ตอนนี้ทั้งชีวิตอยู่บุรีรัมย์” ทพ.จีรศักดิ์ ทิพย์สุนทรชัย รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์
“ตำน้ำกิน อาจจะดูโบราณแต่อันนี้คือความเป็นมาดั้งเดิมของบุรีรัมย์ “เมืองตำน้ำกิน” เป็นคำที่ถ้าพูดถึงบุรีรัมย์ในสมัยก่อนจะต้องคิดถึงคำว่า “บุรีรัมย์ตำน้ำกิน” แต่ว่าในยุคปัจจุบันบุรีรัมย์ของเราเปลี่ยนไป เราไม่ได้ตำน้ำกินเหมือนในอดีตที่ผ่านมาแล้ว เพราะการขับเคลื่อนของเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านขับเคลื่อนบุรีรัมย์เมืองน่าอยู่ ใครมีนาที่ไหนไม่ใช่ทำนาอย่างเดียว ขุดสระเลี้ยงปลา เพราะฉะนั้นพื้นที่ตำน้ำกินในอดีตที่มีมานั้นปัจจุบันนี้ไม่มีเหลือแล้ว รวมทั้งการขับเคลื่อนของส่วนราชการเองก็ตาม เราผลักดันในเรื่องของแหล่งน้ำ เพราะฉะนั้นคำนี้มันสูญ คือไม่สูญหายไปแต่ยังอยู่ในใจของคนบุรีรัมย์ แต่เราภูมิใจในสิ่งที่คนบุรีรัมย์เป็นอยู่ ณ ขณะนี้ ก็คือเราไม่ต้องตำน้ำกิน แล้วเศรษฐกิจของบุรีรัมย์บ้านเรานั้นก้าวกระโดดอย่างที่ชาวบุรีรัมย์ภูมิใจในความเป็น คนเซราะกราวบุรีรัมย์” มนัญญา ม่วงสมมุข เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านขับเคลื่อนบุรีรัมย์เมืองน่าอยู่
“ความสุข เพราะว่าตัวเองเป็นคนบุรีรัมย์โดยกำเนิด เราอยู่มาจน 68 ปีนี้ จากบุรีรัมย์ไปนานที่สุดแค่เดือนเดียว เพราะฉะนั้นพูดได้ว่าเห็นความเป็นไปของบุรีรัมย์ตลอดชีวิตตัวเอง 68 ปีนี้สุขตลอดไม่มีวันไหนทุกข์ เพราะบุรีรัมย์เป็นเมืองแห่งความสุขจริง ๆ ตามชื่อเมืองว่า “บุรีรัมย์” ที่แปลว่าเมืองแห่งความรื่นรมย์” วันดี เธียรสวัสดิ์กิจ เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านขับเคลื่อนบุรีรัมย์เมืองน่าอยู่
อนาคตเมืองเศรษฐกิจชายแดนใต้ บุรีรัมย์ในอีก 5 ปี
เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน มองภาพอนาคตความเป็นไปได้ บุรีรัมย์จะไปสู่ทิศทางไหน มีทั้งสิ่งที่เป็นจุดเด่น ข้อท้าทาย สิ่งที่เป็นอุปสรรคอย่างไรในการพัฒนา ผ่าน 3 ฉากทัศน์ (Scenario) เมื่อพูดถึงบุรีรัมย์เมืองแห่งเศรษฐกิจอีสานใต้ กับภาพอนาคตที่น่าจะเป็นไปได้
แลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อฉากทัศน์เพิ่มเติมกับวิทยากร 3 ท่าน คือ คุณรัชนี สาระวิถี พัฒนาการจังหวัดบุรีรัมย์ อาจารย์ ดร.พิสมัย ประชานันท์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรมท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และพ่อคำเดื่อง ภาษี ประธานเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านขับเคลื่อนบุรีรัมย์เมืองน่าอยู่ พร้อมให้มีการโหวตเลือกฉากทัศน์และแลกเปลี่ยนข้อมูล จากตัวแทนผู้เข้าร่วมวงสนทนาในพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลให้ชาวบุรีรัมย์นำไปคิดต่อว่าจะออกแบบเมืองในแบบไหนถ้าพูดถึงเมืองเศรษฐกิจชายแดนอีสานใต้
ฉากทัศน์ A : บุรีรัมย์เมืองด่านหน้า ประตูสู่การค้าโลก
รวมขยายภาพฉากทัศน์โดย รัชนี สาระวิถี พัฒนาการจังหวัดบุรีรัมย์
“ฉากทัศน์ที่ 1 ถือว่าเป็นการได้เปรียบของชาวบุรีรัมย์ เนื่องจากบุรีรัมย์เป็นจังหวัดชายแดนที่อยู่ในภูมิประเทศหรือภูมิลำเนาที่สามารถเพิ่มโอกาสให้กับพี่น้องประชาชนในจ.บุรีรัมย์ เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการค้าชายแดน หรือในเรื่องของการส่งเสริมกิจกรรมที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ในภาพรวมของบุรีรัมย์มีจุดเด่น-จุดขาย ที่สร้างพลังหรือสร้างคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการใช้ภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชนของเรา ไม่ว่าจะเป็นด้านอาชีพ วัฒนธรรมประเพณี
เพราะฉะนั้นตรงนี้ถ้าหากเราได้มีการส่งเสริมหรือการสร้างเครือข่ายอย่างมีความเข้มแข็ง แน่นอนว่าในการค้าชายแดนหรือการส่งเสริมการต่อยอดระหว่างประเทศเป็นโอกาสดีมาก เพราะว่าบุรีรัมย์เป็นเมืองที่อยู่ระหว่างที่เป็นรอยต่อของชายแดน โดยเฉพาะประเทศกัมพูชาซึ่งเป็นเหมือนกับประเทศพี่ ประเทศน้องที่อยู่คู่กันมา ซึ่งก็เป็นผลทำให้เกิดอาชีพและสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน
อย่างที่เราเคยไป พบไปเจอมา ในอำเภอบ้านกรวด ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่ติดชายแดน ก็จะเห็นว่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่เราอยู่ระหว่างชายแดน จะทำให้พี่น้องประชาชนได้สร้างโอกาส สร้างรายได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของด้านพืชผลทางการเกษตร ที่ตอนนี้บุรีรัมย์เรามีข้าวที่เป็นผลผลิตมีคุณภาพ เป็นข้าวอินทรีย์ที่ส่งผลเรื่องของสุขภาพ และมีอยู่ทั้ง 23 อำเภอในจ.บุรีรัมย์ เพราะฉะนั้นในช่องทางของการตลาดตรงนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ให้กับพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ การค้าชายแดนจึงทำให้เราได้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ในเรื่องของความรัก ความสามัคคี ในการที่จะเกื้อกูล ทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนดีขึ้นได้
ฉะนั้นในฉากทัศน์ที่ 1 เป็นโอกาสของชาวบุรีรัมย์ที่สามารถเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการสร้างพลังของท้องถิ่นของพี่น้องประชาชน และในเรื่องของการสร้างอาชีพให้กับประชาชน ความได้เปรียบของการเป็นภูมิลำเนาหรือความเป็นเมืองที่อยู่ระหว่างชายแดน อันนี้คือประโยชน์ที่เราได้โอกาสและได้เปรียบของหลาย ๆ จังหวัด เพราะฉะนั้นความเป็นชายแดนก็สามารถที่จะส่งผลให้กับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน โดยการใช้กิจกรรมที่มีความเชื่อมโยงระหว่างชายแดนตรงนี้ได้”
ฉากทัศน์ B : บุรีรัมย์ เมืองแห่งการเรียนรู้ชายแดน
ร่วมขยายภาพฉากทัศน์โดย อาจารย์ ดร.พิสมัย ประชานันท์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรมท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
“ฉากทัศน์ที่ 2 บุรีรัมย์เมืองแห่งการเรียนรู้ชายแดน จะบอกว่าบุรีรัมย์เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ได้ก็ต้องย้อนมาดูว่าเรามีของดีหลายอย่าง การที่จะทำให้จังหวัดบุรีรัมย์สามารถเป็นจังหวัดอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย และเป็นจังหวัดที่ได้รับการยอมรับในทั่วโลก หมายความว่าเราจำเป็นที่จะต้อง “สร้างทุนมนุษย์” หรือว่า “สร้างปัญญา” ให้กับคนบุรีรัมย์ทุกๆ คน ได้รู้รากเหง้าของบ้านเราเอง
บุรีรัมย์ มีของดีโดยเฉพาะวิถีวัฒนธรรมพื้นถิ่น 4 ชาติพันธุ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ และอีกหลายๆ อย่างที่เรามี เพราะฉะนั้นการที่สถาบันการศึกษาในนามของมหาวิทยาลัยมองว่าการสร้างปัญญาให้กับเมืองบุรีรัมย์
เราจำเป็นที่จะต้องสานพลังหน่วยงานของจังหวัดบุรีรัมย์ทุกส่วนฝ่าย ตั้งแต่ระดับจังหวัดจนกระทั่งระดับชุมชน ทำยังไงที่จะทำให้คนทุกคนได้รับโอกาสในการเรียนรู้ ไม่ได้หมายความว่าโอกาสทางการศึกษาในระบบเท่านั้นแต่โอกาสในการที่จะเรียนรู้ตัวตนของตนเอง โอกาสในการเรียนรู้ความภูมิใจของความเป็นบุรีรัมย์ และโอกาสในการที่เขาจะก้าวเดินไปสู่เส้นทางที่เขาใฝ่ฝัน
บุรีรัมย์เราดีตรงที่พลังระดับจังหวัด พลังท้องถิ่น พลังชุมชน เรามีความพร้อม เพียงแต่ขาดในเรื่องของการเชื่อมโยง การจับมือ เพราะฉะนั้นถ้าเราใช้พลังทางการศึกษาเอามาใช้เป็นกาวใจ เอามาใช้เป็นนิ้วมือในการที่จะยื่นไปจับด้วยกัน มันจะสามารถทำให้ช่องว่างของการเรียนรู้ ช่องว่างของการขาดการศึกษาของบุรีรัมย์หมดไป โดยที่เราไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องเป็นในเรื่องของการได้เข้าเรียนในรั้วโรงเรียนเท่านั้น แต่คนบุรีรัมย์ต้องสามารถที่จะรู้ถึงการที่จะเป็นคนบุรีรัมย์อย่างไรที่เป็นคนที่มีความกตัญญู และคนบุรีรัมย์คนนั้นแหละจะสามารถที่จะเป็นฐานของคนบุรีรัมย์เพื่อที่จะสร้างความบุรีรัมย์ให้ยิ่งใหญ่ได้
เพราะฉะนั้น บุรีรัมย์เองมีความพร้อมในเรื่องของการจะเป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้ชายแดน” ร่วมด้วย บ้านกรวดเป็นด่านสำคัญ ไม่ว่าจะ”โอบก”หรือ”สายตะกู” ตรงนั้นคือประตูที่เราจะเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่เราจำเป็นที่จะต้องสร้างองค์ความรู้ให้กับคนในบุรีรัมย์และคนที่อยู่ชายแดนได้รู้จักกัน รู้รับปรับตัวในการที่จะทำให้อยู่ในประเทศไทยและสามารถรับวัฒนธรรมหรือสิ่งดีๆ ของประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยไม่สูญเสียตัวตนของความเป็นบุรีรัมย์ของเรา คิดว่าตรงนี้คือสิ่งที่อยู่ในใจ แล้วคิดว่าฉากทัศน์ B คือ บุรีรัมย์ต้องมีโอกาสในการเรียนรู้เท่า ๆ กัน
ฉากทัศน์ C : บุรีรัมย์ เมืองท่องเที่ยววัฒนธรรมอีสานใต้
ร่วมขยายภาพฉากทัศน์โดย พ่อคำเดื่อง ภาษี ประธานเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านขับเคลื่อนบุรีรัมย์เมืองน่าอยู่
“บุรีรัมย์ติดอันดับที่ 20 คนยากจน รวยไม่ห่วง ห่วงจนนี่แหละ ถ้าจนน้อยก็ไม่ห่วง แต่จนเยอะด้วยมันเกิดอะไรขึ้น ตัวเลขมันฟ้อง แสดงว่าอาจจะรวยกระจุก จนกระจายหรือเปล่า ตัวเลขถึงเป็นอย่างนี้ อาจจะมีคนรวยมาก ๆ และจนมาก ๆ
เพราะฉะนั้นรวยมากกับจนมากมันไม่น่าจะอยู่ร่วมกันหรือว่าเพราะคนนี้จนมันถึงได้รวย อาจจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าเราก็ไม่รู้
ที่ทำได้ อยากให้ทำให้มันนำไปสู่การกระทำ อย่างเช่น ปลูกต้นไม้ไป 5 ปีข้างหน้าจะต้องต้นขนาดเท่านี้ แล้วมันก็เท่านั้นทุกหย่อมหญ้าที่เรากำหนด คือมันจะไม่เพี้ยนไปไหน แล้วตรงนั้นต้องเป็นอย่างนี้คือจะต้องเป็นอย่างนี้เท่านั้น ตัววัดจะต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าคาดว่าจะได้รับแล้วไม่ได้รับก็ไม่เป็นไร อย่างนี้ไม่เอา
จุดเด่นของบุรีรัมย์ก็คืออยู่ติดกับชายแดน การที่อยู่กับชายแดนสิ่งที่ในโลกใบใหญ่เขามักจะนึกถึงการทำการค้าขาย ค้าขายก็คือหาทางให้ได้กำไรมา จริง ๆ แล้วเราจะต้องอยู่ร่วม มาอยู่ร่วมกันยังไง ไม่ใช่การเอาเปรียบและเสียเปรียบ เพราะการเอาเปรียบเทียบหรือเสียเปรียบที่มันเกิดปัญหาทั่วโลกก็คือการเอาเปรียบหลังจากการอยู่ร่วม แล้วจะอยู่ร่วมกันยังไง มันต้องเอาความรู้เอาปัญญาร่วมกันทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งเราทั้งฝั่งกัมพูชาว่าตอนนี้สิ่งที่เรามีปัญหาร่วมกันก็คือต่อไปอีก 5 ปีข้างหน้าน้ำท่วมกรุงเทพฯ แน่นอน พื้นที่หายไปเกือบ 4-5 ส่วนของประเทศไทย แล้วคนจะทะลักมายังไงเราก็ต้องรู้ ไม่ใช่ว่าเราฝันไปทางนี้แต่อีกเรื่องเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่ได้ เราต้องรู้ทุกเรื่อง เมื่อมันถึงวันนั้น 4-5 ปีข้างหน้ามันจะเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา แล้วบุรีรัมย์มันจะอยู่ตรงไหน ตรงนั้นก็ต้องกะให้ถูกด้วย ถ้ากะพลาดนิดเดียวมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว
การท่องเที่ยว ก็ต้องเตรียมว่ากัมพูชาจะท่วมมาถึงตรงไหนก็ต้องกะด้วย อย่าคิดเรื่องเดียวเพราะเรื่องอื่นเกี่ยวข้องแน่นอน เพราะฉะนั้นมันต้องกะพวกนี้ด้วยว่า การท่องเที่ยวมันจะอยู่ได้ต้องมีการกระจาย ไม่ใช่การท่องเที่ยวแบบออแกไนซ์การท่องเที่ยว เหมือนเราไปจีน ไปแล้วต้องขึ้นรถคันนี้นะ ลงเครื่องบินคันนี้ เข้าโรงแรมนี้ กินอาหารนี้ จบส่งกลับบ้าน ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ควรจะเปิดทั้งหมด ที่ท่องเที่ยวทั้งหมดมันควรจะได้ประโยชน์ แล้วก็ทุกคนได้เป็นเจ้าของด้วย แม้แต่การค้าขายต่าง ๆ อยากจะให้ทุกคนมีโอกาสถึงคนเล็กคนน้อยใกล้เคียงกันทุกคน แล้วมันก็จะรู้สึกบุรีรัมย์ร่วมกัน บุรีรัมย์ของเราอย่างนี้ ควรจะเป็นหนึ่งเดียวกันว่า ประโยชน์ร่วมกัน แล้วมันจะต้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน
ถ้าเป็นแบบนี้ได้ ทุกอย่างมันก็จะค่อย ๆ เดินไป แล้ว 4-5 ปีข้างหน้าก็จะเห็นหน้าเห็นหลังพอสมควร ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว แล้วมันก็จะกลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก ซึ่งตอนนี้บุรีรัมย์ทำได้แค่ เมืองที่น่ามา”
มองศักยภาพของบุรีรัมย์ในวันนี้ ต่อยอดสู่อนาคตที่ทุกคนร่วมออกแบบ
“เลือกฉากทัศน์ C เพราะว่าตัวเองทำงานด้านท่องเที่ยวโดยตรงเลย ต้องบอกว่าบุรีรัมย์เป็นเมืองอารยธรรมอีสานล่างอยู่แล้ว เราเคยกำหนดว่าเราจะเป็นศูนย์กลางทางด้านอารยธรรมขอมโบราณ เพราะว่าบุรีรัมย์มีปราสาทขอมมากที่สุดในประเทศไทย 130 กว่าหลัง แล้วเราอยู่ห่างจากชายแดนบ้านกรวดแค่นิดเดียวจากตัวเมืองไป ถ้าสมมติว่าในอนาคตอันใกล้ด่านสายตะกูจะเปิดได้ พอเปิดได้เส้นทางไม่ใช่แค่เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเฉย ๆ เส้นทางการค้าก็มหาศาล เราก็จะกวาดมาหมดเลย เพราะว่าใครที่อยู่ละแวกนี้ถ้าจะไปกัมพูชา ใกล้ที่สุดก็ต้องมาผ่านด่านนี้
และจากชายแดนบ้านกรวด จากด่านเข้าไปในเขตประเทศกัมพูชาเพียงแค่ 40 กว่ากิโลเมตร เราจะเจอปราสาทขอมที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกัมพูชา เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นจุดดึงดูด ซึ่งทุกวันนี้นักท่องเที่ยวเวลาจะไปปราสาทหลังนี้คือ ปราสาทบันทายฉมาร์ เขาต้องอ้อม ฉะนั้นถ้าบุรีรัมย์เปิดความได้เปรียบมันสูงมาก
อีกประการหนึ่งก็คืออีกแป๊บเดียวบุรีรัมย์เราก็จะได้สนามบินนานาชาติแล้ว ตามที่ฟังมาเขาบอกสนามบินนานาชาติอันแรกที่เขาจะเชื่อมให้ได้เลยก็คือเชื่อมกับเสียมราฐ เพราะฉะนั้นบุรีรัมย์ไม่เอาโอกาสนี้ทำตรงนี้ให้ได้ ก็น่าเสียใจ” วันดี เธียรสวัสดิ์กิจ เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านขับเคลื่อนบุรีรัมย์เมืองน่าอยู่
“ผมเลือกฉากทัศน์ C การท่องเที่ยว เพราะเราเห็นโอกาสของการท่องเที่ยว มันเป็นโอกาสการพัฒนา ทุกเรื่อง ดังนั้นเราก็เลยอยากเห็นเมืองบุรีรัมย์เป็นเมืองท่องเที่ยวทุกมิติของจังหวัด หลายท่านอาจจะพูดหลายเรื่องมากว่ามาบุรีรัมย์เรามีอะไรดี แต่การท่องเที่ยวนี้นอกเหนือจากนำวัฒนธรรมหลากหลายเข้าสู่พื้นที่แล้วส่วนหนึ่งก็คือนำคน คนที่มีวัฒนธรรม คนที่มีสตางค์ คนที่มีความพร้อมในการที่จะมารับรู้เรื่องราวบุรีรัมย์ ถ้าบุรีรัมย์เราเป็นเมืองท่องเที่ยวแห่งอีสานใต้ ผมว่าเป็นโอกาสของการพัฒนาทุกมิติ ไม่ว่ามิติทางสังคมด้านเศรษฐกิจ ด้านอะไรต่าง ๆ
เราเห็นว่าคนที่เดินทางมา คนไปอยู่ตรงไหนเงินก็จะไปอยู่ตรงนั้น หลายคนอาจจะบอกว่ามันไม่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต แต่ผมเชื่อว่าชีวิตของทุกคนมันขาดเงินไม่ได้ ดังนั้นการขาดเงินไม่ได้หรือการมีเงิน มันนำไปสู่การพัฒนาทุกมิติของประเทศ ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะยาเสพติด ปัญหาสังคมที่แตกแยก เด็ก สารพัด ผมว่าเป็นเรื่องของเงิน
ดังนั้นถ้าบุรีรัมย์เราเป็นเมืองท่องเที่ยวได้อย่างสมบูรณ์แบบ เหมือนอาจารย์วันดีบอกว่าไหน ๆ สนามบินนานาชาติมันมา มันไม่น่าจะเปิดโอกาสการท่องเที่ยวให้หลุดจากมือของบุรีรัมย์ในอีสานใต้เราได้ ดังนั้นผมก็เลยว่า เอาล่ะ! ยังไงก็ยังยืนยันว่าเราอยากเป็นเมืองการท่องเที่ยว เพราะเมืองท่องเที่ยวเป็นเป็นโอกาสของการพัฒนาประเทศชาติด้วย” เจริญ สุขวิบูลย์ เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านขับเคลื่อนบุรีรัมย์เมืองน่าอยู่
“จริง ๆ แล้วเลือกฉากทัศน์ C เรื่องการท่องเที่ยวเหมือนกัน เพราะว่าในส่วนของบุรีรัมย์เอง วันนี้เรามีตัวหนึ่งที่เห็นเขียนมาในนั้นก็คือ ลิซ่า – ลลิษา มโนบาล (LISA) ทีนี้ถ้าลิซ่าโฆษณาตรงไหน โดยเฉพาะเขาเป็นคนบุรีรัมย์ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นตัวหนึ่งที่เป็นจุดขายของบุรีรัมย์ที่มีตัวหลัก แล้วก็ในส่วนหนึ่งที่เราเห็นชัดเจนก็คือการท่องเที่ยวบุรีรัมย์ที่คนมาบุรีรัมย์เยอะ ๆ เช่น สนามช้าง สนามแข่งรถ เรามีอีเวนต์ตลอด
ตัวหนึ่งที่อยากเห็นการท่องเที่ยวคือ “การท่องเที่ยวเชิงเกษตร” บุรีรัมย์เรามีศูนย์ปราชญ์หลายศูนย์ ครูบาคำเดื่อง พ่อผาย เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านเยอะแยะ พอแขกมาอยากจะไปตรงไหน บางทีเรามีเมนูเล็ก ๆ ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นจุดขายอีกจุดหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของบุรีรัมย์เราที่ทำเรื่องอาหารปลอดสารพิษ อาหารคุณภาพ สามารถที่จะไปแล้วไปกินลมทานอาหารของบุรีรัมย์ที่มันมีเมนูเยอะแยะของบุรีรัมย์ที่อร่อย ๆ
อีกตัวหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ “เขาพนมรุ้ง” ก่อนไปเขาพนมรุ้ง ที่ประโคนชัยจะมี “พระพุทธมหามิ่งมงคล” เป็นพระพุทธรูปที่เป็นระหว่างขอมและอยุธยา เป็นจุดพักพอดี เราเคยคุยกันว่าเราจะเอาสิ่งดี ๆ ของบุรีรัมย์ ไม่ว่าจะเป็นกุ้งจ่อม กระยาสารท อะไรต่าง ๆ ของบุรีรัมย์ไปตรงนั้น แล้วคนไปไหว้พระที่นั่น เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นที่บุรีรัมย์ เรามีศูนย์ตรงนี้ที่เราทำอยู่ที่ศาลากลางหลังเก่า ก็เป็นจุดหนึ่งที่มีมัคคุเทศก์ซึ่งเป็นนักศึกษาจากม.ราชภัฏบุรีรัมย์ ไปคอยตรงนี้ด้วย นี่ก็จะเป็นในส่วน 1-5 ปี ที่เราคิดเอาไว้” ไพรัตน์ ชื่นศรี เป็นเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านแสงจันทร์
“ยังคงเลือกฉากทัศน์เดิมก็คือ บุรีรัมย์เมืองท่องเที่ยววัฒนธรรมอีสานใต้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาพจำของหลาย ๆ ท่าน ทั่วประเทศหรือว่าต่างชาติก็ตาม จะมองเห็นวัฒนธรรมของบุรีรัมย์ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับการแต่งกาย ในเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมการกิน วัฒนธรรมที่เป็นการแสดง อย่างเช่น พนมรุ้ง ที่ถูกตีแผ่ออกมาเป็นภาพจำความยิ่งใหญ่อลังการ
เรามีจุดแข็ง เรามีของดีในพื้นถิ่นทุกที่ที่ดึงดูดคนทั่วโลกมาที่บุรีรัมย์ ทั้งวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เรามีอยู่ และตอนนี้ที่เป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เราเรียกกันว่าบุรีรัมย์ของเราเป็น “เมืองปราสาท 2 ยุค” มีทั้งยุคดั้งเดิมแล้วก็ยุคใหม่ที่ดึงดูดคนมา ทั้งมาท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม มาท่องเที่ยวเชิงกีฬา และทุกที่ที่ไปเราจะนำเสนอวัฒนธรรมพื้นถิ่นของเรา ทั้งอาหาร เรามี “น้ำพริกจรั๊วะโดง” เรามีการร่ายรำ เรามีการแต่งกายที่เราเห็นอย่าง “ผ้าซิ่นตีนแดง” ถ้าเห็นผ้าซิ่นตีนแดงที่ไหน เราบอกเลยว่านี่ของบุรีรัมย์ด้วยความภาคภูมิใจ เพราะเราได้รับการรับรอง GI ด้วย อันนี้บ่งบอกว่าคือบุรีรัมย์
เส้นทางท่องเที่ยวของบุรีรัมย์ เรามีชมรมมัคคุเทศก์ที่ทำเส้นทางท่องเที่ยวไว้ให้แทบจะกระจายในอีสานใต้ของบุรีรัมย์ ไปทางนี้ก็ได้เที่ยว มาทาง อ.แคนดง ก็ได้เที่ยวมีควายเล แคนทะเล ไปทาง อ.สตึก นอกจากจะมีประเพณีเกี่ยวกับแข่งเรือแล้ว เรามี บ้านตาลอง ขายของให้กับชุมชนได้
ในวัฒนธรรมของบุรีรัมย์ที่เข้มแข็งมาได้ ส่วนหนึ่งมาจากบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ที่ลงพื้นที่ เป็นวิทยาลัยเพื่อชุมชนจริง ๆ ที่พยายามไปพัฒนาชุมชนในทุกที่ให้เขาเข้มแข็ง แล้วก็สามารถที่จะดึงศักยภาพของชุมชนออกมาได้ อันนี้ยกความดีให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และความร่วมมือความเข้มแข็งของทางเครือข่ายทั้งราชการและเอกชนของบุรีรัมย์ ที่บุรีรัมย์ของเรานั้นรวมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อพัฒนาเมือง”วชิราภรณ์ ยอดน้ำคำ นักวิชาการคลังชำนาญการ สำนักงานคลังจังหวัดบุรีรัมย์
“เราเห็นชัดว่าบุรีรัมย์มีความพร้อม แล้วเราเป็นไปได้ก็คือเราเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ปัญหาตอนนี้ที่เราต้องช่วยกันก็คือว่า ทำยังไงที่เราจะกระจายเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน เข้าสู่หมู่บ้านต่าง ๆ
อย่างปี 2568 นี้ บุรีรัมย์เราไปสัญญากับทางสำนักงบประมาณไว้ว่าเราจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแตะ 4 ล้านคนต่อปี ซึ่งตอนนี้ทางจังหวัดก็ได้คิดงานต่าง ๆ ขึ้นมา เป็นอีเวนต์ใหญ่ที่จะดึงคนเข้ามาเพิ่ม อย่างงานวิ่ง MotoGP อันนี้เราจัดอยู่แล้ว แต่ปีหน้าเรามีเพิ่มเป็น คัลเลอร์ออฟบุรีรัมย์ (Colors of Buriram)งานผ้าไหมระดับประเทศที่จะมาจัด 19 – 23 มีนาคม 2568 นี้ คราวนี้ก็ต้องฝากท่านพัฒนาการแล้วว่า โจทย์ก็คืออย่างพอคนเขามาเที่ยว มากิน มาใช้ มาพักที่โรงแรมแล้วจะทำยังไงให้คนระดับท่องเที่ยวชุมชน เขาได้ประโยชน์จากตรงนี้ด้วย เราอยากให้คนมาเที่ยวบ้านเรา เราก็อยากให้ทุกฝ่ายทุกคนได้ประโยชน์ได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย
รวมทั้งปีหน้าก็คุยกันว่าต่อไปเราก็ต้องพัฒนาพวกงานต่าง ๆ ของเราให้ขึ้นไปเป็นระดับ Big Event ไม่ว่าจะเป็นงานขึ้นเขาพนมรุ้ง งานปรากฏการณ์พระอาทิตย์ลอดช่องประตู ตรงนี้ผมก็คิดว่าจะทำยังไง ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร ได้อยู่แล้ว แต่ทำยังไงเม็ดเงินเหล่านี้จะไปถึงชาวบ้านด้วย ซึ่งถ้าเราสามารถกระจายเม็ดเงินไปถึงชาวบ้านได้ ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจชุมชนทุกอย่างในพื้นที่ก็จะดีขึ้น อันนี้ก็ต้องฝากไปยังผู้เกี่ยวข้องด้วย” ธนภัทร ตระหนักยศ ประธานชมรมธุรกิจโรงแรมจังหวัดบุรีรัมย์
“บุรีรัมย์เป็นเมืองท่องเที่ยวที่เราทำมานานแล้ว แต่ทำไมชุมชนนอกเมือง ไม่ค่อยจะได้รับประโยชน์เท่าไหร่ ที่สำคัญคือเราขาดองค์ความรู้ เราขาดปัญญา ขาดการเรียนรู้ ไม่เคยมีใครไปจัดการเรียนรู้ จัดประชุมแบบนี้ที่บ้านกรวดเลย
หรือพออีเวนต์เขามาพัก ก็พักแต่ในเมือง ลองไปพักชายแดนดูบ้าง ลองไปหว่านแหดูบ้าง ฝรั่งชอบ แต่เราไม่มีองค์ความรู้ตรงนี้ เพราะฉะนั้นถ้าจะให้พัฒนาเต็มรูปแบบ ฉากทัศน์ที่ 2 ควรจะมาก่อนและควรจะมาได้แล้ว เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้เกิดปัญญา เพราะบุรีรัมย์ทุกหย่อมหญ้ามีสมบัติหมด ใครมีปัญญาก็สามารถเอาเป็นของตัวเองได้ ผมเลือก 3 บุรีรัมย์ เมืองท่องเที่ยววัฒนธรรมอีสานใต้ แต่อยากให้มีความรู้มากกว่า ” ณรงค์ ชัยเชิดชู เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านขับเคลื่อนบุรีรัมย์เมืองน่าอยู่
“ครั้งแรกเลือกฉากทัศน์ A บุรีรัมย์ เมืองด่านหน้าประตูสู่การค้าโลก อันนี้เราก็ฝันว่าเราจะเป็นเมืองด่านหน้าสู่ประตูการค้าโลก เราฝันมาหลายปีที่จะให้มีการเปิดช่องสายตะกูให้เป็นด่านถาวร หรือเปิดให้สม่ำเสมอ ณ บัดนี้ก็ยังเป็นความฝันของพวกเรากันอยู่ ยังไงก็ต้องรออยู่ดี เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะดันอะไรได้มากกว่านี้ คือต้องรอกับรออย่างเดียวในเรื่องของการส่งออก-นำเข้า การข้ามแดน ด้วยปัญหาในเรื่องของช่องสายตะกู อันนี้เป็นเรื่องที่คุยกันมายาวนาน เราฝันตรงนี้
พอฟัง ท่านดร.พิสมัย ขยายภาพฉากทัศน์ B บุรีรัมย์ เมืองแห่งการเรียนรู้ชายแดน มันก็มาฉุกคิดได้ว่า ปัญญาของคนมันสำคัญ แล้วก็ความภูมิใจในความเป็นคนบุรีรัมย์นี่ก็สำคัญ ถ้าหากว่าเราได้เน้นมาส่งเสริมขับเคลื่อนในเรื่องของการสร้างทุนมนุษย์ โดยสร้างปัญญาให้กับเขา เมื่อมนุษย์ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ของเรามีปัญญา มีความฉลาด รู้จักคิดในการที่จะขับเคลื่อนบุรีรัมย์ของเราให้เป็นเมืองที่นอกจากน่าอยู่ที่สุดในโลกตามสโลแกนของเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านขับเคลื่อนบุรีรัมย์เมืองน่าอยู่ของเราแล้ว มีปัญญาในเรื่องของการทำมาหากิน อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ
การที่เราจะให้คนทุกคนได้เรียนรู้ สร้างปัญญา โดยเฉพาะในเรื่องของอาหารที่เราจะขับเคลื่อน ตอนนี้ “ขนมตดหมา” ก็เป็นหนึ่งในอาหารที่เป็นสมุนไพรที่พูดถึงมาหลายปีตั้งแต่เรามีการเปิดเมืองบุรีรัมย์ให้เป็นเมืองท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นเรื่องของอาหารท้องถิ่นอย่าง น้ำพริกจรั๊วะโดง เป็นภาษากัมพูชา จรั๊วะโดง ที่น้องลิซ่าได้เอ่ยถึงคือ น้ำพริกกะทิ เพราะฉะนั้นจะต้องขยายความ เหล่านี้คืออาหารท้องถิ่นที่เราจะขับเคลื่อน จรั๊วะโดง อันนี้อร่อยมาก สำหรับน้ำพริกกะทิ รวมถึง ผ้าซิ่นตีนแดง ลูกชิ้นยืนกิน
ถ้าเราสร้างความรักในท้องถิ่น ความภูมิใจให้คนในท้องถิ่น อันนี้เป็นสิ่งที่อยากจะให้ขับเคลื่อนก่อน คือปัญญาให้กับคนในท้องถิ่นก่อน” มนัญญา ม่วงสมมุข เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านขับเคลื่อนบุรีรัมย์เมืองน่าอยู่
“ครั้งแรกเลือกท่องเที่ยว แต่พอฟังบรรยาย 2-3 ท่านเข้าไปแล้วมันฉุกคิด คือมาเลือกข้อบี 2 การเรียนรู้ คือตอนนี้คือดิฉันทำเกษตร ก็คือการเรียนรู้จากการที่ว่าเราไม่เคยใช้น้ำหมักอินทรีย์เราก็เรียนรู้จากที่มหาวิทยาลัยไปฝึก ฝึกให้เราทำแล้วก็คือเกิดการเรียนรู้ เราต้องเรียนรู้ก่อน ก่อนที่เราจะไปถึงการท่องเที่ยวเราต้องว่าผักของเราปลอดสารพิษ นักท่องเที่ยวถ้าเขาได้รับประทานอาหารไทยเรา เขาจะดูว่าเราปลอดภัย ถ้านักท่องเที่ยวเข้ามา เขาได้ทานอาหารที่ปลอดภัย” ยุพาเพ็ญ ศรีษาคำ กลุ่มวิสาหกิจเกษตรสร้างสุขบ้านยางงาม
“เลือกฉากทัศน์ A B C ตอนนี้ทางการค้าช่องสายตะกู มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นคนที่มีบัตรประชาชนบ้านกรวดเท่านั้นที่จะข้ามแดนไปกัมพูชาได้ ความคืบหน้า ณ วันนี้ ทางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อจัดซื้อ ออกหนังสือผ่านแดน Border Pass SMART แล้วก็ยกจาก MOU ปี 2540 ที่มีข้อตกลงระหว่างกัมพูชาและไทย สามารถข้ามแดนได้ มาปี 2558 ที่เปลี่ยนจากคำว่า “ชายแดน” ว่าเป็นเฉพาะอำเภอบ้านกรวดกับฝั่งโน้น มาเป็น “จังหวัดบุรีรัมย์” หมายความว่าคนทั้ง 23 อำเภอที่เป็นคนบุรีรัมย์สามารถข้ามไปได้ แต่ข้อตกลงระดับจังหวัดยังใช้ของปี 2540 อยู่ ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนไปใช้บันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศของปี 2558 ประมาณปีใหม่นี้
ทุกคนที่เป็นคนบุรีรัมย์สามารถไปขอ Border Pass แล้วก็ผ่านแดนไปกัมพูชาได้ อยู่ได้ 7 วัน ถ้ามีเหตุจำเป็นก็ขยายได้ถึง 15 วัน ถ้าอยู่ในวัตถุประสงค์อีก เป็นแรงงานตามฤดูกาลชั่วคราวอยู่ได้ถึง 30 วัน ก็เป็นบันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศของปี 2558 ที่ทางราชการกำลังขับเคลื่อน นายอำเภอบ้านกรวดในฐานะผู้จัดการพื้นที่ก็ประสานทุกอย่าง ความสัมพันธ์ชายแดนระหว่างประชาชนกับประชาชน ไม่มีปัญหาทางความมั่นคง ณ ปัจจุบัน อย่างที่หลายคนที่เคยสัมผัส
ของบ้านกรวดถ้าถามว่าจะเลือกตรงไหน ก็จะเลือกฉากทัศน์ C (เมืองท่องเที่ยววัฒนธรรม) เพราะว่ามันต้องวัฒนธรรม แหล่งประวัติศาสตร์แหล่งท่องเที่ยวของอำเภอบ้านกรวด หลายท่านยังไม่รู้จัก อย่าง “วัดบ้านกรวด” หลวงปู่ผาด พระเกจิที่ชาวไทย-ชาวกัมพูชาเคารพนับถือมากราบไหว้ “ลานหินตัด” ที่เป็นแหล่งหินมาสร้างเมืองต่ำและพนมรุ้งก็มาจากบ้านกรวด “ผึ้งร้อยรัง” มีผึ้งอยู่ที่ต้นไทรกลางหมู่บ้านที่อยู่กับชุมชนได้ มีวัฒนธรรม มี “เตาเผาเครื่องเคลือบพันปี” ที่ทางกรมศิลปากรได้ดูอายุแล้วก็พันกว่าปี แต่อย่างที่หลาย ๆ ท่านยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำไมเงินไม่ถึงคนบ้านกรวด นำเรียนอย่างนี้ว่าถ้าท่องเที่ยวมันต้องท่องเที่ยวมูลค่าสูง เพราะผมไปผมก็เสียเงินให้กัมพูชาเยอะเหมือนกัน” อุทัย ทองทับพันธ์ ปลัดอำเภอบ้านกรวด
“ผมเลือกฉากทัศน์ C ก็จะเป็นเมืองท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ผมมองว่าการท่องเที่ยวสำคัญ เพราะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม การท่องเที่ยวที่จะให้กระจายไปสู่ชุมชนก็คือ หนึ่งตำบลไหนที่มีสินค้าดีหรือว่ามีอะไรแปลกใหม่ที่ควรที่จะให้รัฐไปสนับสนุนที่จะสร้างเพื่อที่จะเกิดการสร้างงาน สร้างคน ให้กับบุรีรัมย์
ยกตัวอย่าง หมู่บ้านของผมเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ในอนาคตผมก็มองไปว่า นักท่องเที่ยวที่มาดูนกกระเรียนที่ บ้านสวายสอ ต.สะแกโพรง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ก็อาจจะแวะไปเที่ยวที่หมู่บ้านของผมบ้าง บ้านผมมีท่องเที่ยวแบบเชิงนิเวศแต่ผมก็ต้องการให้รัฐมาสร้าง แต่ว่าชาวบ้านเป็นคนบริหารจัดการ คือไม่ต้องการให้เอกชนมาสร้าง เพราะว่าอยากให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของร่วมกัน เพื่อที่จะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างคนขึ้น” ธิติวุฒิ นนพิภักดิ์ ประธานเกษตรสร้างสุขบ้านนาเกียรตินิยม
“ประเด็นของเศรษฐกิจอีสานใต้ ตามที่ผมอยู่กับท้องที่ท้องถิ่นมา สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการส่งเสริมอย่างจริงจังและต่อเนื่องจากทุกภาคส่วน ผมได้ส่งเสริมในตำบลสะแกโพรงในเรื่องของนวดแผนไทย ก็จะมีอีเวนต์ที่เป็นงานบุรีรัมย์มาราธอน งานMotoGP แล้วก็งานสำคัญ ๆ ของจังหวัด แล้วก็ส่วนหนึ่งก็ได้มาร่วมมาขับเคลื่อน แต่ว่ามันก็ไม่ยั่งยืน เคยมีนโยบายว่าบุรีรัมย์ 365 วัน หมายความว่าในหนึ่งปีนี้บุรีรัมย์มีอีเวนต์ทั้ง 365 วัน เพื่อที่จะขับเคลื่อนทั้งองคาพยพของจังหวัดให้เดินไป แล้วเศรษฐกิจของบุรีรัมย์ก็ถูกยกระดับและพัฒนา แต่ว่าหลายๆ อย่างมันก็ต้องอาศัยเวลาแล้วก็ต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการช่วยกันขับเคลื่อน
ดังนั้นสิ่งสำคัญของการที่จะให้บุรีรัมย์ยั่งยืน หรือเศรษฐกิจอีสานใต้โดยบุรีรัมย์มั่นคง การมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ อย่างของตำบลสะแกโพรง มีมหาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ได้ไปร่วมจัดโครงการเรียกว่า “โครงการแก้จน” ซึ่งโครงการแก้จนก็เป็นส่วนหนึ่งในการไปขับเคลื่อน “รถพุ่มพวง”
ซึ่งรถพุ่มพวงก็คือรถที่ขายอาหาร ขายผักผลไม้ เกือบจะ 2-3 อำเภอ เป็นรถจากตำบลผม คือ บ้านหนองไผ่ ซึ่งท่านผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ท่าน ส.อบต.ที่พูดไปเมื่อกี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ในการที่ทำให้เราเห็นว่าชุมชนเขาเริ่มที่จะคิดในเรื่องของการขับเคลื่อนชุมชน
บ้านหนองไผ่ที่เกิดรถพุ่มพวง ตอนผมเป็นเด็กอายุประมาณ 10 กว่าปี จะได้ยินพี่น้องในชุมชนผมพูดถึง บ้านหนองไผ่ หรือ บ้านใหม่พัฒนา ว่าเป็น “หมู่บ้านขอทาน” แต่หมู่บ้านขอทานวันนั้นในวันนี้ ชุมชนบ้านใหม่พัฒนา เขาขับเคลื่อน เขาช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิต จน ณ วันนี้ผมมั่นใจว่าในตำบลสะแกโพรง บ้านใหม่พัฒนาเขามีอาชีพในการที่จะแก้จนโดยการตกผลึกและโดยการระเบิดจากภายในของพวกเขา โดยไม่มีหน่วยงานจากภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องไปเลย การที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ได้ไปช่วยโครงการแก้จนก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งผมในฐานะคนในพื้นที่ผมเห็นพัฒนาการของบ้านใหม่พัฒนา ผมปลื้มใจ ผมดีใจและผมภูมิใจกับคนบ้านใหม่พัฒนา” ดร.บุญถึง – ผม ดร.บุญถึง ประเมินมงคลกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะแกโพรง
“ในเรื่องของการเกษตร อยู่คู่ชีวิตมาตั้งแต่เล็ก ๆ เช่นในฤดูนี้ ฤดูเกี่ยวข้าว ไม่ว่าจะเป็นตรงพื้นที่นาหรือฝั่งหนองน้ำ จะปลูกผักไว้กินในตอนที่เกี่ยวข้าวกัน เป็นภาพที่ก็เห็นกันมาตลอด กระทั่งทุกวันนี้ หลาย ๆ บ้านเริ่มไม่ปลูกผักเองแล้ว แต่อาตมาทำเป็นกลุ่มเลย ตั้งเป็นกลุ่มปลูกผัก มองว่าเรื่องการเกษตรเป็นเรื่องความยั่งยืนของประเทศชาติ เพราะไม่ว่าจะมาจากไหนยังไงก็ต้องกินข้าว กินผักอยู่ดี
เพราะฉะนั้นในเรื่องของการเกษตรทั้งของสมัยก่อนหรือปัจจุบัน ก็ต้องเรียนรู้ หรือเรียกว่า เราทำการเกษตรแบบเรียนรู้ ส่วนในเรื่องที่เราคุยกันวันนี้หัวข้อเศรษฐกิจชายแดนอีสานใต้ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ โคราช ชัยภูมิ เขาเรียกว่าอีสานตอนล่าง แต่ไม่ว่าจะอีสานตอนล่าง ตอนเหนือหรือภาคไหนในประเทศไทยก็แล้วแต่ โดยมวลรวมที่ทิ้งไม่ได้เลยก็คือ “ภาคการเกษตรกรรม” เที่ยวยังไงก็ได้ให้ลงสู่ภาคเกษตรให้ได้” พระครูวิสุทธิพัฒนาภิรม เจ้าคณะตำบลหนองกง
ฝ่าความท้าทาย สร้างโอกาสในการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ ในภาพรวม บริบทของบุรีรัมย์ ซึ่งเราก็เป็นคนบุรีรัมย์โดยกำเนิดและอยู่มาตลอดทั้งชีวิตที่อยู่บุรีรัมย์ ก็จะเห็นว่าบริบทของบุรีรัมย์ในเรื่องของเศรษฐกิจ จากที่เราได้เห็นภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นในชุมชนทุก ๆ ชุมชนในจังหวัดบุรีรัมย์ เราจะใช้ศักยภาพของวิถีในชุมชนตรงนั้นอย่างไรมาเป็นมูลค่าให้เกิดขึ้นในครอบครัว อย่างที่หลาย ๆ ท่านได้พูดถึงว่าทำไมเราอยากจะให้พี่น้องในชุมชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้มีรายได้ ได้มีงานกระจายเหมือนที่ ท่านนายกสมาคมโรงแรม พูดว่าทำยังไงจะให้กระจายทั้ง 23 อำเภอ
การที่เราจะส่งเสริมเรื่องของการท่องเที่ยวโดยใช้วัฒนธรรม วิถีความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนมาสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้น ก็ต้องอาศัยองค์ความรู้ ปัญญาที่มีอยู่ เพื่อที่จะนำมาพัฒนา ฉะนั้นในการขับเคลื่อนของคนบุรีรัมย์ทั้ง 23 อำเภอก็ต้องใช้ศักยภาพที่มีอยู่ เพื่อที่จะเป็นความยั่งยืนเพราะว่าถ้าหากเราไปหยิบหรือไปเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดเข้ามาโดยที่เราไม่มีพลังเดิมอยู่ มันก็ค่อนข้างจะต่อยอดยาก ฉะนั้นถ้าหากเราใช้พลังที่เรามีอยู่ในการที่จะไปเสริมให้มีความแข็งแกร่งขึ้น ความยั่งยืนก็จะเกิดขึ้น
ตรงนี้ก็เลยมองว่า ถ้าเราใช้วิถีของความเป็นคนบุรีรัมย์ สิ่งที่มันมีอยู่ในบุรีรัมย์ได้ แล้วก็ไปต่อยอดให้ได้ แต่ก็ต้องมีองค์ความรู้มาเสริม แล้วก็ใช้โอกาสของความเป็นเมืองชายแดนเข้ามาผนวกกันก็จะสามารถทำให้ศักยภาพและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้นได้” รัชนี สาระวิถี พัฒนาการจังหวัดบุรีรัมย์
“ในมุมมองก็คือมองว่าใน 3 ฉากทัศน์คือฐานสำคัญของการขับเคลื่อนเมืองบุรีรัมย์ โดยมีเป้าหมายในการที่จะพัฒนาไปสู่เมืองด่านหน้าสู่การค้าโลก แต่เราต้องกลับมาพัฒนาถิ่นฐานบ้านเราที่เป็นจังหวัดหรือเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรม วัฒนธรรมหลาย ๆ วัฒนธรรมและเป็นเมืองแห่งภูมิปัญญา เเต่อย่างไรก็เเล้วเเต่เราจำเป็นที่จะต้องทำให้คนบุรีรัมย์ได้รู้จักตัวตนของเราเอง ด้วยการใช้การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ชายแดนร่วม รู้เราและรู้ชายแดน อย่างที่บอกไปว่าทำยังไงที่จะทำให้คนบุรีรัมย์รู้ รู้เพื่อจะรับแล้วก็ปรับในสิ่งที่กำลังจะเข้ามา ทั้งในเชิงพัฒนาและในเชิงการแก้ปัญหา เพราะว่าสิ่งที่ใช้ในเรื่องของฉากทัศน์ที่ 2 เป็นกลไกกลางหรือเป็นโซ่ข้อกลางของการขับเคลื่อนเมือง และระหว่างฉากทัศน์ A กับฉากทัศน์ C มันจะส่งกันและกัน
เพราะฉะนั้นถ้าสามารถที่จะทำให้คนบุรีรัมย์รู้ในระดับที่เท่า ๆ กัน ถึงแม้ว่าจะสถานะต่างกันหรือตำแหน่งหน้าที่การงานต่างกัน แต่รู้ในสิ่งที่เราต้องการนำพาบุรีรัมย์ไปจนสู่เป้าหมาย เรารู้ในระดับที่เท่า ๆ กัน ทุกคนหรือทุกองคาพยพจะสามารถที่จะทำให้เมืองบุรีรัมย์ไปสู่สิ่งที่เราฝันกันไว้ได้ เพราะถึงแม้ว่าเราเป็น “เมืองวัฒนธรรม” แต่เราก็ต้องการ “นวัตกรรม” เอามาใช้ในการต่อยอดความเป็นบุรีรัมย์ของเราให้เป็นที่ประจักษ์ในสังคมโลก ฉะนั้นก็คิดว่า เห็นด้วยกับสิ่งนี้”อาจารย์ ดร.พิสมัย ประชานันท์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรมท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
“ถ้าจะให้มันขับเคลื่อนไปได้จริงสิ่งที่การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจจะต้องเกิดการเรียนรู้ ให้เกิดความรู้กันจริง ๆ คือตอนนี้เราพูดเรื่องการท่องเที่ยวคือการท่องเที่ยวไปเลย ทำไมต้องท่องเที่ยว เราไม่ถอยย้อนหลัง ทุกคนไม่ได้รู้ว่าการท่องเที่ยวมันดีกว่าปลูกข้าวยังไง ดีกว่าปลูกอ้อยยังไง ทำไมต้องการท่องเที่ยวเพราะการท่องเที่ยวมันทำให้คนอื่นอยากมา หัวใจคือทำให้คนอยากมา เมื่อคนมาเที่ยวเขาไม่ได้ห่อข้าวมาด้วย มันมาจากต่างประเทศ มายังไงมันก็ต้องกิน ก็คือได้ขาย เราไม่ได้ออกไปขายแต่เขามาซื้อกินที่เรา คือถ้าทุกคนรู้ตั้งแต่เริ่มต้นเบื้องต้นอย่างนี้ ทุกคนเท่ากันหมด ก็จะนึกภาพออกว่าตัวเองจะอยู่ตรงไหน เหมือนเตะบอลจะยืนอยู่ตรงไหนของเรื่องราว แต่ตอนนี้การท่องเที่ยวของเราก็คือเที่ยวแบบเฮตะโลแบบไม่รู้เรื่อง
อันที่ 2 ตัวเศรษฐกิจ เศรษฐกิจก็เหมือนกัน มาผนวกกับการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเวลาเขามาเที่ยวบ้านเรา เราไม่มีต้นทุนเพราะเขามาหาเราถึงที่ ไม่มีต้นทุนในส่วนนี้ ไม่เหมือนปลูกข้าวแล้วเอามาขาย มันสร้างรายได้กับเรา เช่นเดียวกับประเทศที่มีการท่องเที่ยวดี ๆ ที่คนไปท่องเที่ยว อย่าง นิวซีแลนด์ เขาดีเพราะว่าเขาไม่ต้องลงทุน มีคนเอาเงินไปให้ ฉะนั้นท่องเที่ยวมันดีตรงนี้ คือคนเอาเงินไปให้ ลงทุนน้อยได้เงินมาก เช่นเดียวกันกับไปเที่ยวภูเก็ต เขาเอาน้ำมันไปเติมเรือแกลลอนหนึ่ง 70 บาท พาเราขี่เรือไป นั่งไป 8 คน เขาเอาคนละ 500 บาท กลับขึ้นมาน้ำมันยังเหลือครึ่งถัง แล้วทะเลเขาไม่ต้องขุด น้ำก็ไม่ต้องเอาไปใส่ ปะการังไม่ต้องสร้าง แถมได้เงินมาทั้งนั้นก็รวยสิทีนี้ เขาก็เลยเกิดเป็นการท่องเที่ยว
แต่เราในตอนนี้เราไม่มีพวกนั้นให้ เราต้องสร้างอะไรให้คนอยากมา จะทำยังไงให้คนอยากมา ต่อไปนี้พวกเราก็จะมีสร้างสิ่งแวดล้อมเพราะว่าเราคิดว่าในโลกนี้สิ่งที่ขาดแคลนคือสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่ยังขาดแคลนกันอยู่ โลกร้อนก็แสดงว่าโลกเย็นมันขาดแคลน ซึ่งมันจะมาตอนที่เราปลูกต้นไม้มันเลยมีโลกเย็น ต่อไปเราก็ทำเรื่อง “อาบป่า” แต่เราไม่ต้องอาบ พวกเรารวยแล้วมีป่า เราก็แช่ป่าไปเลย เพราะว่าป่าแอมะซอนมันก็ไปไม่ได้เพราะตอนนี้ไฟไหม้หมด นักท่องเที่ยวก็จะมาที่นี่ มันมีอยู่ที่เดียวที่บุรีรัมย์ มีเยอะที่สุดในภาคอีสาน เรื่องอาบป่าก็ไม่ต้องมาเปลืองป่า เพราะว่ามันอาบป่าแล้วมันก็ไป แล้วเวลามันนอนที่เรามันต้องกิน
แล้วเรากับกัมพูชามีอะไรเยอะแยะที่เชื่อมโยงกัน อย่างเช่น กัมพูชามีไม้ยางนาเยอะมาก แต่พวกนี้ไม่มีไม้ยางนาเพาะกล้าเพราะว่าไม่มีลูกยางนา แบบนี้ก็เป็นการท่องเที่ยว เป็นแลกเปลี่ยนได้ ทำให้กัมพูชาอุดมสมบูรณ์ขึ้น เราก็อุดมสมบูรณ์ขึ้น อยู่ร่วมกันได้ดีไปทั้ง 2 ส่วน ดีไปทั้งสิ่งแวดล้อม ดีไปทั้งอนาคตลูกหลาน ดีไปทั้งการเชื่อมโยงได้ประโยชน์ของกันและกัน ไม่ต้องทะเลาะกันมันก็อยู่ร่วมกันได้ เราก็ตั้งหลักตรงนี้ให้ได้ก่อน
มันต้องมีการร่วมไม้ร่วมมือระหว่างเรา ไม่ใช่ว่าท่องเที่ยวยังไงจะได้เปรียบ คำว่าเทียบเปรียบ แข่งขัน แข่งขันก็คือแย่งชิง การเอาเปรียบ-เสียเปรียบ แต่พูดแข่งขันมันฟังดูโก้กว่า แต่พูดว่าแย่งชิงมันน่าเกลียด แต่ก็คืออันเดียวกันแหละนะ ฉะนั้น เราจะอยู่ร่วมกันได้ยังไงภายใต้มิติการท่องเที่ยว ภายใต้เศรษฐกิจ หมายถึงว่า กิจของเศรษฐี ก็คือร่วมไม้ร่วมมือ อยู่ร่วมกันแล้วแบ่งปันกันไม่ใช่แย่งชิง” พ่อคำเดื่อง ภาษี ประธานเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านขับเคลื่อนบุรีรัมย์เมืองน่าอยู่
นี่คือเรื่องราวไอเดียจากคนบุรีรัมย์ที่ว่าด้วยเรื่องอนาคตเศรษฐกิจชายแดนอีสานใต้ บุรีรัมย์ในอีก 5 ปีข้างหน้า กับการออกแบบวางแผนพัฒนาให้ครบทุกมิติ สู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น พร้อมอนุรักษ์วัฒนธรรม และการเสริมสร้างองค์ความรู้คนในชุมชน มีทุกภาคส่วนเป็นจิกซอต่อเติมภาพฝัน กุญแจสำคัญนำพาบุรีรัมย์สู่ต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนอีสานใต้อย่างยั่งยืน