อีสานอินเตอร์กับซอฟพาวเวอร์ไทยแลนด์ 

ถ้าหากพูดถึงภูมิภาคอีสาน หลายคนคงมีประสบการณ์ ความทรงจำ ที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป แต่สำหรับคนอีสานแล้ว หากให้หาคำนิยามของตนเองก็คงจะนึกถึงแต่ความ “ม่วน” “ความแซ่บ” “เลือดนักสู้” ที่ฝังอยู่ในดีเอ็นเอของคนอีสานมาทั้งชีวิตตั้งแต่บรรพบุรุษมาแล้ว

แผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลของภาคอีสานนี้ มีหลายสิ่งหลายอย่างซ่อนอยู่ ทั้งประวัติศาสตร์ สถานที่สำคัญ ภูมิปัญญา ผู้คน ความหลากหลายของวิถีวัฒนธรรม ที่หลอมรวมกันเรียกว่า “แผ่นดินอีสาน” และกลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้หลายคนอยากมาเยือน มาอยู่ และมาใช้ชีวิตอยู่ที่แผ่นดินแห่งนี้

ทุกวันนี้ การเดินทางมาภาคอีสานช่างสะดวก สบาย และไปที่ไหนก็รวดเร็วทันใจ มีรถติดบ้างเล็กน้อยในเมืองใหญ่ แต่ในพื้นที่อื่นถนนหนทางเรียกว่า “ดี” ในหลายพื้นที่ และรอการพัฒนาอีกหลายพื้นที่เช่นกัน

20 จังหวัดของภาคอีสานมีเสน่ห์ที่แตกต่างกันไปตามบริบทพื้นที่ สภาพภูมิศาสตร์ ทำให้มีจุดเด่น จุดขายที่แตกต่างกัน และมันคือเสน่ห์ที่ทำให้แม้แต่คนอีสานเองก็อยากไปเยือนจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่บ้านเกิดตนเอง เพื่อให้ได้เรียนรู้และรู้จักภูมิภาคของตนเองให้มากยิ่งขึ้น

หากดึงเสน่ห์ของความเป็นอัตลักษณ์อีสานที่โดดเด่น แต่มีศักยภาพก้าวไกลไปยังต่างประเทศ ตามบริบทของ Soft Power ที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนประเทศทั้ง 11 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น  1. แฟชั่น 2. หนังสือ 3. ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ 4. เฟสติวัล 5. อาหาร 6. ออกแบบ 7. ท่องเที่ยว 8.เกม 9.ดนตรี 10. ศิลปะ และ 11.กีฬา เรียกได้ว่าทุกหัวข้ออีสานเราก้าวไปสู่สากลได้ทั้งหมด และเป็น Soft Power ที่สามารถส่งออกและดึงคนต่างวัฒนธรรมมาสัมผัสได้อย่างไม่เขินอาย เพราะแผ่นดินอีสานมีองค์ประกอบของภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ ที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นองค์ความรู้ที่อยู่คู่แผ่นดินอีสานมาช้านาน

พิสูจน์ให้ได้เห็นเมื่อเร็ว ๆ นี้จากภาพยนตร์เรื่อง “สัปเหร่อ” ที่เป็นฝีมือเด็กอีสานกำกับกวาดรายได้ในประเทศและไปสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศก็ได้นำเสนอภูมิปัญญาของคนอีสานผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ  นอกจากนั้นศิลปะการแสดงของคนอีสานที่เป็นที่รู้จักอย่างหมอลำ ยังมีคณะหมอลำจากอีสานที่ถูกจ้างงานและไปแสดงในต่างประเทศหลายคณะ ซึ่งจากการเก็บตัวเลขของการวิจัยการแสดงหลังโควิด – 19 ระบาด ของอาจารย์วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นพบว่าคณะหมอลำของอีสานที่แสดงในประเทศไทยก็กวาดรายได้มหาศาลเข้าสู่ภูมิภาคไม่ต่ำกว่า  6-7 พันล้านบาท หรือแม้แต่ศิลปินวงเคป๊อปชื่อดังที่เป็นสาวน้อยเลือดเนื้อเชื้อไขของคนบุรีรัมย์แดนอีสานอย่าง “ลิซ่า” ลลิษา มโนบาล ก็พิสูจน์ให้เป็นความสามารถของสาวอีสานอย่างภาคภูมิ อีกทั้งอาหารอีสานที่โกอินเตอร์ไปนานแล้วคือ ปลาร้า ข้าวเหนียว ไก่ย่าง ส้มตำ ที่ไปที่ไหนใคร ๆ ก็เรียกหาก็ถือเป็นอีสานอินเตอร์เช่นกัน    

นอกจาก Soft power ทั้ง 11 ด้านที่จะเป็นหมุดหมายในการพัฒนาประเทศ และแผ่นดินอีสานมีครบถ้วนทุกด้านแล้ว คนอีสานยังมีความสามารถไม่น้อยหน้าใคร แรงงานฝีมือดี ๆ ก็ส่งออกไปจากอีสานมากมาย นักเรียน นักศึกษาที่ไปแข่งขันระดับโลกก็กวาดรางวัลมาทุกปี  หรือแม้แต่ผู้หญิงอีสานที่หลายคนมองว่าไปเป็นภรรยาฝรั่งทำให้เสียชื่อเสียงและถูกดูถูก แต่พวกเธอทุกคนล้วนทำอาชีพสุจริตและหาเลี้ยงปากท้องตัวเองตราบเท่าที่รัฐบาลยังไม่สามารถดูแลเรื่องเศรษฐกิจปากท้องประชาชนได้ โดยเคยมีการวิจัยของ  ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อปี 2551 เคยเผยผลการทำวิจัยพบว่า  “เมียฝรั่ง”ในภาคอีสานส่งผลทำให้เศรษฐกิจภาคอีสานขยายตัวมากขึ้น เงินสะพัดเกือบ 9 พันล้านบาทต่อปี 

นอกจากนั้นยังมีอีกหลายเรื่องราวของอีสานบ้านเฮาที่ไม่ธรรมดา และก้าวจาก Local to Global  ในหลายประเด็นที่จะมาเปิดประตูสู่ผู้อ่านให้ได้เรียนรู้ศักยภาพของอีสานไปด้วยกัน เพราะหากจะว่าไปแล้วภาคอีสานมีศักยภาพอยู่มากมาย ไม่เฉพาะแค่มีประชากร 1 ใน 3 ของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งการเรียนรู้ ศิลปวัฒนธรรมที่สามารถเสริมศักยภาพของความเป็นอีสานให้แข็งแกร่งได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ที่จะไม่ได้มองแค่เฉพาะในมุมธุรกิจและการแข่งขันทางการตลาด แต่มองเรื่องศักยภาพและความสามารถที่ส่งออกไปสู่ตลาดสากลได้อย่างภาคภูมิใจ

นอกจากจะมีคนรุ่นก่อนที่ถางทางเพื่อให้คนอีสานได้เดินแล้ว คนรุ่นใหม่ที่มีทางเดินของตนเองและไปเติบโตประสบความสำเร็จในระดับโลกก็มีมากมาย ส่วนจะมีใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไม และอย่างไร คอลัมน์ “อีสานอินเตอร์” จะค่อย ๆ นำมาเล่า ให้ได้อ่าน ได้ฟัง เพื่อหวังว่านี่จะเป็นอีกหน้ากระดาษหนึ่งที่จะทำให้คนไทยหรือคนทั่วโลกได้รู้จักคนอีสานในแง่มุมต่าง ๆ ได้ครบถ้วนกระบวนความมากยิ่งขึ้น อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่า “อีสานไม่ธรรมดา” อีสานมีดี และอีสานโกอินเตอร์ไปนานแล้ว

แชร์บทความนี้