“เกลือ” ในความทรงจำใหม่

การออกเดินทางเป็นโอกาสสำคัญที่จะสร้างและบันทึกความทรงจำแปลกใหม่ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และเช่นกันในช่วงวันหยุดแม้จะไม่ยาว ผู้เขียนก็ออกเดินทางอีกครั้ง บนเส้นทางสายเกลือ ณ เมืองหนองหารล่ม เพื่อร่วมบันทึกเรื่องราว “ความม่วนซื่น” ในเมืองเก่าสกลนคร เมืองที่มีต้นทุนทางศิลปะ วัฒนธรรม ผู้คน วิถีชีวิต และทรัพยากรทางธรรมชาติที่สวยงามท่ามกลางแดดสวยฟ้าใสและไอร้อน

แหล่งผลิตเกลือสินเธาว์อีสาน

ผู้เขียนใช้เส้นทางจากเมืองหมอแคน แดนหมอลำ จ.ขอนแก่น ผ่านเมืองดินดำน้ำชุ่ม จ.กาฬสินธุ์ และผ่านเทือกเขาภูพาน มุ่งหน้าสู่แอ่งวัฒนธรรมแอ่งสกลนคร โดยมีเป้าหมายไปเรียนรู้ชุมชนคนต้มเกลือ ที่ บ้านกุดเรือคำ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร แหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ “กุดเรือคำ” จากข้อมูล  ISAN INSIGHT & OUTLOOK โครงการภายใต้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่าอีสานมีแหล่งเกลือหิน และการนำมาใช้ผลิตเกลือท้องถิ่นหลายพื้นที่  ดังนี้

เกลือบ่อกฐิน – อำเภอโนนศิลา ขอนแก่น

วิสาหกิจชุมชนเกลือต้มแม่บ้านเก่าน้อยสามัคคี – อำเภอธวัชบุรี ร้อยเอ็ด

เกลือบ่อพันขัน – อำเภอหนองฮี ร้อยเอ็ด

เกลือสินเธาว์บ่อศาลา – อ.คำเขื่อนแก้ว ยโสธร

เกลือโบราณบ้านเม่นใหญ่ – อำเภออากาศอำนวย สกลนคร

เกลือสินเธาว์หัวแฮด – อำเภอเซกา บึงกาฬ

เกลือต้มบ้านเซิมทุ่ง – อำเภอโพนพิสัย หนองคาย

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเกลือไอโอดีนบ้านดุงเหนือ – อำเภอบ้านดุง อุดรธานี

เกลือบ้านดุงนาเกลือสุรพงษ์ – อำเภอบ้านดุง อุดรธานี

แหล่งทำนาเกลือบ้านดุง – อำเภอบ้านดุง อุดรธานี

กลุ่มเกลือเสริมไอโอดีน – อำเภอศรีธาตุ อุดรธานี

ชุมชนต้มเกลือ ณ บ้านกุดเรือคำ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร แม้จะอยู่ห่างออกมาจากชุมชน แต่ที่โรงต้มเกลือที่นี่กลับมีสมาชิกคึกคักทั้งวัน สมาชิกบางคนก็พักค้างอ้างแรมที่นี่ เพื่อให้มีเวลา “ต้มเกลือ” ได้มากขึ้น เพราะนั่นหมายถึงรายได้จากเกลือที่เสมือน “ทองคำขาว” ของพวกเขา

“เพิ่นคิดค่าแรงจั่งได๋น้อ” นี่คือประโยคเริ่มต้นบทสนทนาเพื่อฟังปากคำคนพื้นที่ หลังจากผ่านสัมผัสแรก เมื่อสาวเท้าเข้าไปถึงโรงต้มเกลือที่เรียงรายนับร้อยท่ามกลางกองฟืนไม้ยางพาราที่สูงท่วมหัว ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนหมู่บ้านย่อม ๆ นอกจากนี้จมูกยังสัมผัสได้ถึงกลิ่นไอความร้อน ควันไฟ ที่พวยพุ่งและเข้าปะทะเนื้อตัวผู้มาเยือน พร้อมผสมสภาพอากาศที่อบอ้าวแม้จะเป็นยามเช้าของวัน นั่นทำให้ยิ่งนับถือคนต้มเกลือผู้อยู่หน้าเตาตลอดทั้งคืนวัน

ต้มน้ำให้เป็นเกลือ

พ่อภพ หนึ่งในคนต้มเกลือผู้มีประสบการณ์กว่า 20 กว่าปี แต่ด้วยเป็นลูกจ้างจึงต้องเริ่มงานตั้งแต่เวลา 01.00-17.00 น. ในทุกวัน เพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว เฉลี่ยรายได้พ่อภพบอกประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับตัวแรงงานที่รับทำในแต่ละวัน พ่อภพบอกว่าเหมือนเหมารับจ้างเป็นนายตัวเอง ทำได้เท่าไรก็รับเท่านั้น ชั่วโมงทำงานอาจไม่สลักสำคัญเท่ากับว่า “กองเกลือ” หลังการเคี่ยวกรำมีน้ำหนักเท่าไรในการสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัว

อีกเตาเราลัดเลาะไปยังโรงต้มเกลือของแม่จันทร์ศรี แม่บอกว่าเริ่มทำเกลือตั้งแต่ปี 2540 เป็นรุ่น 2 ของที่นี่ โดยโรงต้มเกลือของแม่จันทร์ศรีจะทำเกลือมะตูม เพราะเกลือแดงจะได้ราคาดีกว่าเกลือขาว ด้วยเกลือสมุนไพรที่ได้สีจากการต้มมะตูม เอาไปใช้ทำอาหาร หมักปลาร้าจะได้สีสวย และช่วยถนอมอาหารได้นานกว่าเกลือขาว แต่มีข้อจำกัด คือ จะใช้เวลาพักแห้งนานกว่า แม่บอกว่าตอนนี้ขายกิโลกรัมละ 3 บาท จะแพงกว่าเกลือธรรมดา 1 บาท  หรือขายเกลือขาวได้ในราคากิโลกรัมละ 2 บาท โดยรอบ ๆ โรงต้มของแม่จันทร์ศรีจะมีเด็ก ๆ คนรุ่นใหม่ ที่ใช้เวลาช่วงวันหยุดมารับจ้างหารายได้ เฉลี่ยได้วันละ 200-300 บาท  ซึ่งรายได้ก็ขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลางที่มารับเกลือไปขายในแต่ละช่วง

เกลือเครื่องปรุงอาหาร และวัฒนธรรมการกินของคนท้องถิ่น

 เกลือ มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนอีสานมาแต่โบราณ ใช้ในการเก็บถนอมรักษาอาหารตามกรรมวิธีแตกต่างกัน  เช่นการหมัก หารดอง หรือการใส่เกลือตากแห้ง  เกลือ นอกจากจะเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญใช้ในการประกอบอาหารแล้ว ในทางด้านโจทย์เรื่องผลกระทบจากการต้มเกลือต่อวิถีการเกษตร และชุมชนโดยรอบก็ยังมีอยู่ ดังนั้นการพัฒนาทั้งคุณภาพผลิตภัณฑ์ การดูแลสิ่งแวดล้อม และการยกระดับท่องเที่ยวชุมชนเส้นทางสายเกลือจึงเป็นโจทย์สำคัญ ที่ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครร่วมกันกับชุมชนท้องถิ่นในการเข้าไปยกระดับหนุนเสริม

อาจารย์ ดร.วินิธา พานิชย์ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านพัฒนานักศึกษาและกิจการพิเศษ เป็นหนึ่งในทีมวิจัยในโครงการวิจัยเรื่อง  เกลือสิน(ทรัพย์): การสร้างอัตลักษณ์และยกระดับผลิตภัณฑ์เกลือสินเธาว์เครือข่ายชุมชนผู้ผลิตเกลือสินเธาว์ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร  เล่าถึงการนำเกลือมาพัฒนายกระดับ ร้อยเรียงเรื่องใหม่ในมุมวิชาการ เพื่อสื่อสารเกลือของท้องถิ่นอีสาน

 “เกลือเป็นสิ่งภูมิปัญญาที่มันเกิดในพื้นที่สกลนครเกือบจะใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ถ้าเราไม่จับประเด็นนี้ขึ้นมาจะไม่่มีใครรู้จัก ไม่สามารถที่จะนำมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เราไม่อยากจะมองเพียงแค่มูลค่าทางเศรษฐกิจ เราอยากให้เกลือเป็นตัวที่จะมีทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้คนในพื้นนที่่สกลนครได้มีรายได้จากเกลือ ส่วนหนึ่งอยากจะเอาภูมิปัญญาเกี่ยวกับเกลือที่มันมาแต่ดั้งเดิม มาสร้างเป็นมูลค่าในเรื่องของสังคม ถ้าเป็นครอบบครัว คือ เกลือ สามารถทำให้ครอบครัวอยู่ร่วมกันได้ มีความสามัคคี ใช้คนในครอบครัวที่จะสืบสาวเรื่องราว เหนือมากกว่านั้นเกลือยังเป็นตัวเชื่อมโลกอนาคตได้ ไม่ใช่เพียงแต่เป็นสินค้าเพื่อส่งออกขาย แต่เกลือยังทำหน้าที่ส่งต่อความสร้างสรรค์ในหลายมุมมอง คุณสมบัติ รูปแบบการใช้ Packaging รูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เป็นที่รู้จัก เกลือขาว เกลือมะตูม  แต่ในขณะเดียวกันอยากให้ชุมชนเป็นที่รู้จักก็ต้องสร้างพื้นที่ เรียนรู้ เวิร์กชอป ไปดูไปศึกษา สร้างสตอรี่ ท่องเที่ยวเส้นทางสายเกลือ  เราอยากพัฒนาเกลือสกลนคร เป็นทั้งในเรื่องของสุขภาพ ทางด้านการรับประทาน อาหาร การบำบัดรักษา”

เกลือในความทรงจำใหม่ เป็นอีกเรื่องที่ทีมวิจัยพยายามยกระดับ สร้างการเล่าเรื่องให้เชื่อมกับวิถีในมุมวิชาการ เพื่อเป็นฐานในการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้ชุมชนทำเกลือในอีสานได้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง  และยังเป็นอีกหน้าบันทึกความทรงจำของผู้เขียนที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น และลองชิมเกลือบ้านกุดเรือคำ เกลือสกลนคร

แชร์บทความนี้