Public Statement: Chiang Mai is an Air Pollution Zone
เครือข่ายประชาชนฟ้องฝุ่น แถลงการณ์ประกาศ เชียงใหม่เมืองมลพิษทางอากาศ พร้อมเรียกร้องประชาชนในภาคเหนือที่เผชิญฝุ่น PM2.5 ร่วมกันประกาศเขตมลพิษ หลังรัฐบาลเมินอ้างกลัวกระทบท่องเที่ยว
4 เมษายน 2567 เวลา 09.30 น. หน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายประชาชนผู้ฟ้องคดีฝุ่น นำโดย ดร.กฤษณ์พชร โสมณวัตร รักษาการแทนผู้ช่วยฝ่ายคุณภาพนักศึกษา และศิษย์เก่าสัมพันธ์ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล รักษาการแทนหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย และนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ร่วมกันแถลงข่าวประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเขตมลพิษ หลังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ยื่นอุทธรณ์ต่อคำตัดสินของศาลปกครองเชียงใหม่ หลังเครือข่ายฯ ได้ฟ้องคดีต่อนายกฯ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ทำแผนตั้งแต่เดือนมกราคม 2567
รวมไปถึงการที่นายกรัฐมนตรีไม่ประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ จึงเป็นที่มาในการประกาศในครั้งนี้ โดยเนื้อหาในแถลงการณ์มีดังนี้ นับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2567 ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ผู้คนจำนวนมากต้องเจ็บป่วยจากโรคทางเดินหายใจ ดังสามารถพบเห็นได้จากสื่อสารมวลชนและสื่อสมัยใหม่ที่มีการส่งต่อข้อมูลกันอย่างกว้างขวาง
โดย ดร.กฤษณ์พชร เป็นผู้อ่านแถลงการณ์เรื่อง ‘เชียงใหม่ คือเขตมลพิษทางอากาศ’ กล่าวว่า
ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนภาคเหนือได้ดำเนินการฟ้องคดีนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำตัดสินเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่เพื่อจัดทำแผนในการรับมือกับปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ก็ได้อุทธรณ์ต่อคำตัดสินของศาลปกครองเชียงใหม่ อันทำให้การแก้ไขปัญหาด้วยมาตรการทางกฎหมายต้องทอดเวลาออกไป
ขณะที่ต้องเผชิญหน้ากับมลพิษทางอากาศที่รุนแรงในห้วงเวลาปัจจุบัน ทางรัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ยังไม่มีการใช้อำนาจตามกฎหมายที่จะแสดงให้เห็นว่าบัดนี้เชียงใหม่อยู่ภายใต้สถานการณ์มลพิษทางอากาศ ทั้งที่ควรต้องมีการแจ้งเตือน การแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันตัวพื้นฐานให้กับประชาชน การรับมือกับไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในห้วงเวลาก่อนหน้า แต่จะพบว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็ยังไม่ปรากฏขึ้นให้เห็น
ความเพิกเฉยของรัฐในการไม่จัดการและไม่ประกาศแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือเพราะห่วงผลกระทบที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพียงด้านเดียวโดยไม่คำนึงถึงชีวิตและสุขภาพของประชาชนย่อมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างร้ายแรง ละเลยต่อสุขภาพชีวิต อนามัย และความเป็นอยู่ของประชาชนที่ไม่ได้หายใจในอากาศที่สะอาด รวมถึงการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งหมดนี้เป็นภาระหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน แต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็ไม่ปรากฏให้เห็น แม้นายกรัฐมนตรีจะมีการเยือนเชียงใหม่ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ส่งผลต่อการจัดการปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่อย่างใด
ในสถานการณ์เฉพาะหน้า มีข้อมูลทางการแพทย์ที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องประสบกับโรคทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้นในรอบเดือนที่ผ่านมา ในสถานการณ์ระยะยาว มีรายงานการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือเกือบทุกจังหวัดมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหอบหืด มะเร็งปอด และปอดอุดกั้นเรื้อรังสูงกว่าประชาชนในพื้นที่อื่น ๆ อย่างชัดเจน ข้อมูลเหล่านี้ย่อมเป็นการยืนยันได้ว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือมีสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชีวิตของประชาชน
จึงจำเป็นที่จะต้องประกาศให้เป็นที่รับทราบกันว่าเชียงใหม่คือเมืองมลพิษทางอากาสในระดับรุนแรง โดยไม่จำเป็นต้องให้รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐเป็นผู้ประกาศ เพราะชัดเจนว่ายากจะฝากความหวังไว้ได้ การร่วมกันประกาศว่าเรากำลังอยู่ในเมืองที่เผชิญกับมลพิษทางอากาศ มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความตระหนักว่าสภาพแวดล้อมขณะนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของผู้คนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างรุนแรง และเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนป้องกันตนเองเท่าที่จะกระทำได้ การปล่อยให้เด็ก ๆ คนแก่ ผู้ใช้แรงงาน พ่อค้าแม่ค้า คนทำงานที่ต้องอยู่ในพื้นที่โล่งโดยไม่มีการแจ้งเตือนเพื่อให้เกิดการป้องกันตัวถือเป็นความอำมหิตอย่างยากจะปฏิเสธ รวมถึงการกระตุ้นเตือนบรรดานักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ให้มีการป้องกันตัวเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
ในนามของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่จึงขอประกาศว่าเชียงใหม่ในห้วงเวลานี้ คือเขตมลพิษทางอากาศที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คนอย่างรุนแรง เพื่อเป็นสร้างความตระหนักต่อความรุนแรงของปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งใคร่ขอเรียกร้องให้ประชาชนในจังหวัดอื่น ๆ ที่กำลังเผชิญกับมลพิษทางอากาศได้ร่วมกันประกาศว่าจังหวัดของตนก็เป็นเขตมลพิษทางอากาศเช่นเดียวกันกับจังหวัดเชียงใหม่
การร่วมกันประกาศเขตมลพิษทางอากาศโดยประชาชนในทุกพื้นที่ที่เผชิญกับปัญหานี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสียงเตือนถึงภัยอันตรายจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ระหว่างประชาชนด้วยกันแล้ว ก็จะยังเป็นการร่วมกันกดดันให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการในการรับมือกับปัญหาฝุ่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เครือข่ายประชาชนผู้ฟ้องคดีฝุ่น วันที่ 4 เมษายน 2567
ทำไมต้องฟ้องคดีฝุ่น ?
- 10 เมษายน 2566 เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ ฟ้องนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
การฟ้องคดีนี้ เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นละออง 2.5 ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือนับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่มาผ่านมาและทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน โดยที่หน่วยงานรัฐทั้งรัฐบาลและหน่วยงานระดับท้องถิ่นต่างไม่ได้มีการรับมืออย่างกระตือรือร้นและมีประสิทธิภาพ การฟ้องครั้งนี้ต่างจากเดิม แตกต่างจากที่เคยมีประชาชนฟ้องศาลปกครองแล้วถูกยกฟ้อง
สำหรับการฟ้องร้องก่อนหน้านี้ ภาคประชาชนมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ
1.ฟ้องนายกรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างร้ายแรงให้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างเข้มงวด เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจนี้จนการแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 มีความล่าช้า ไม่ทันต่อความร้ายแรงของเหตุการณ์
2.ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากในระยะเวลา 4 ปีในการใช้แผนนี้ แทบจะไม่เห็นความคืบหน้าและปัญหายังคงความรุนแรงอยู่ นี่คือความผิดปกติที่เราไม่อาจยอมรับ
3.ฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขต (Extraterritorial Obligations) ให้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน เพิ่มในแบบรายงาน 56-1 One Report หรือแบบอื่นๆ ในฐานะเอกสารสำคัญสำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย
- 19 เมษายน 2566 ความคืบหน้าคดีฝุ่น PM 2.5 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง กรณีศาลไม่รับฟ้อง
ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำสั่งรับฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 แต่ในส่วนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และ 4 นั้นศาลไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าเป็นหน่วยงานผู้มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 จึงมิใช่เป็นผู้มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 รวมถึงประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่องกำหนดมาตรการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศโดยทั่วไปฯ ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และ 4 จึงไม่ใช่ผู้มีหน้าที่ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5
- 18 พฤษภาคม 2566 ตัวแทนผู้ฟ้องคดีฝุ่น PM2.5 ทั้ง 10 คน ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง กรณีศาลไม่รับฟ้องคกก.กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และคกก.กำกับตลาดทุน โดยมีเหตุผลโต้แย้งคำสั่งของศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่
- 10 กรกฏาคม 2566 ศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษา ”นายกรัฐมนตรี-บอร์ดสิ่งแวดล้อมชาติ “ละเลยหน้าที่-แก้ปัญหาฝุ่นเชียงใหม่ล่าช้า”
นายวสุชาติ พิชัย ผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้แก่ประชาชนอย่างจริงจัง จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566
โดยผู้ฟ้องคดี ได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาและคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สั่งให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรทำฝนหลวงเพื่อดับควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เพื่อให้ฝุ่นเบาบางลง และประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่ที่มีปัญหา เป็นเขตภัยพิบัติทั้งจังหวัด เพื่อให้หน่วยงานใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาได้ และอย่านิ่งเฉยต่อปัญหาควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน โดยทำให้เป็นวาระแห่งชาติอันดับหนึ่งในการแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ จากการไต่สวนจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาระบุว่า เนื่องจากค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจริง ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จนเกินกำลังของบุคลากรทางการแพทย์ ตามคำชี้แจงของคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพเขตที่ 1 เชียงใหม่ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 กำหนดให้ต้องปฏิบัติและปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
จึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ร่วมกันใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินการอื่นใด เพื่อระวัง ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขมลพิษอันเกิดจากควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ให้อยู่ในค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป และเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศในระดับดีมากหรือระดับดีต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้อย่างทันท่วงที คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก”
พิชญ์ณัฏฐ์ คันธารัตนกุล ตุลาการผู้แถลงคดี อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ส. 2/2566 คดีหมายเลขแดงที่ ส. 2/2566 คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ระหว่าง นายวสุชาติ พิชัย ผู้ฟ้องคดี กับ นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 วันนี้ (10 ก.ค. 2566) ที่ศาลปกครองเชียงใหม่
ดูคำพิพากษาฉบับเต็ม คำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ คดีฝุ่น PM 2.5
- 22 พฤศจิกายน 2566 ศาลปกครองเชียงใหมานัดไต่สวน เร่งด่วน กรณีภาคประชาชนฟ้องนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ศาลมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีเร่งแก้ปัญหา มีแผน-มาตรการ เร่งด่วนแก้ฝุ่นสถานการณ์วิกฤตในภาคเหนือ
โดยเรียกตัวผู้ถูกฟ้องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ในคดีฟ้องฝุ่น PM2.5 ต่อ นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ณ ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ เวลา 10.00 น. เป็นการฟ้องเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งวันนี้เป็นการนัดไต่สวนครั้งแรก โดยมีผู้ฟ้องคดี 10 คน และตัวแทนผู้ถูกฟ้อง มาร่วมไต่สวนคดี
- 9 มกราคม 2567 ไม่รับฟ้อง ไม่รับคำขอท้ายคำฟ้อง : อุทธรณ์คดีฝุ่นเชียงใหม่
ศาลปกครองสูงสุดตัดสินเป็นที่สุด “ไม่รับฟ้อง-การปฏิบัติหน้าที่ กตล.-กตท.ไม่ได้เป็นผลโดยตรงต่อความเสียหาย” กรณีเครือข่ายประชาชนภาคเหนืออุทธรณ์ให้ “กตล.-กตท.” เป็น 2 ใน 4 ผู้ถูกฟ้อง “คดีฝุ่นเชียงใหม่” รวมทั้งไม่รับคำขอท้ายคำฟ้อง “ให้เปิดเผยข้อมูลผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจที่ทำให้เกิดฝุ่นข้ามพรมแดน”ส่วน “นายก-บอร์ดสิ่งแวดล้อมชาติ” 2 ผู้ถูกฟ้องที่เหลือ “จะดำเนินกระบวนการพิจารณาแบบเร่งด่วนต่อไป”
- 19 มกราคม 2567 คำตัดสินคดีฝุ่น นายกต้องสั่งการให้ทันควัน ทำแผนฉุกเฉินภายใน 90 วัน
สืบเนื่องจากการฟ้องคดีของเครือข่ายประชาชนในคดีฝุ่น PM 2.5 ศาลปกครองเชียงใหม่ เผยแพร่คำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ส. 3/2566 คดีหมายเลขแดงที่ ส.3/2566 คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และเดินทางภายในพื้นที่ภาคเหนือ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบและประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (นายกรัฐมนตรี) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ) ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จนทำให้กลายเป็นสภาวะวิกฤติ มีคำสั่งให้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมกำหนดมาตรการหรือทำแผนฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในระยะเวลา 90 วัน