เชื่อมโยง “ผู้กระทำการ” และจัดปรับความสัมพันธ์ใหม่สู่การแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่ อำนาจเจริญ

“ความยากจน” และ “ความเหลื่อมล้ำ” ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ การยกระดับมาตรฐานชีวิตของครัวเรือนยากจนเป็นโจทย์สำคัญ ที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยเติมเต็มพลังความรู้ ความสร้างสรรค์ นวัตกรรมทางสังคม หรือการเชื่อมโยงต่างๆ ให้เกิด “พื้นที่ทางสังคม” ที่ครัวเรือนยากจนเป็นผู้กระทำการ หรือผู้แสดง (Actors) ในฐานะ “คนใน” ที่ต้องใช้พลังและศักยภาพของตนเองและครอบครัวสร้างพลังให้หลุดพ้นจากปัญหา ขณะที่หน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ เป็นผู้กระทำการร่วมในฐานะ “คนนอก” ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ผลักดัน หนุนเสริมผ่านประเด็นการทำงานของแต่ละหน่วยงานภาคี ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน วิสาหกิจชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล และชุมชนที่เข้ามา “โอบอุ้ม” และ “โอบกอด” ผ่านความร่วมมือทางสังคม หรือ “โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม” (Social Safety Net) สู่การตัดวงจนปัญหาความยากจน การหลุดพ้นจากกับดักความยากจน หรือปัญหาความยากจนข้ามรุ่นในชนบท โดยบทนี้จะพาลงพื้นที่ภาคสนามสำรวจการทำงานเชื่อมโยงผู้กระทำการต่างๆ และความพยายามในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่ ผ่านการริเริ่มแนวคิดโมเดลนำร่อง “ผักแปลงรวม” อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ ในโครงการวิจัย “การพัฒนาพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนบนฐานเศรษฐกิจชุมชน จังหวัดอำนาจเจริญ” ดำเนินการโดยทีมวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ และภาคีเครือข่ายต่างๆ 

C:\Users\acer\Desktop\New folder (2)\1.jpg

คนจนผู้กระทำการ : “พื้นที่ทางสังคม” กับการปลดปล่อย “อารมณ์” และ “ความรู้สึก” 

ความสำคัญของการมีพื้นที่กิจกรรมร่วมกันในชุมชนช่วยสนับสนุนครัวเรือนยากจนหลายมิติ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม จิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และเปิดโอกาสให้ “ครัวเรือนยากจน” หรือ “กลุ่มเปราะบาง” สามารถเข้ามีส่วนร่วม หรือ “เป็นผู้กระทำการสำคัญหลัก” ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยศักยภาพของตนเอง ร่วมกับผู้กระทำการร่วมอื่นๆ ที่เข้ามาหนุนเสริมด้านต่างๆ เนื่องจากการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ยั่งยืนระยะยาวต้องกระแทกทะลุออกมาจากภายใน 

การสนทนากับ นางหนูเบา แสงฤทธิ์ ครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมโครงการฯ บ้านหนองทับม้า ทำให้เห็นว่า ความยากจนไม่ใช่แค่เรื่องของปากท้อง (กินดีอยู่ดี) แต่รวมถึงเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความอัดอั้นตันใจ และการถูกกดทับจากหลายเหตุผล ซึ่งคนจนไม่ได้ยอมจำนนต่อแรงกดดันเหล่านั้น แต่พวกเขาตั้งใจและพยายามที่จะพาตัวเองทะลุออกจากเพดานโอกาสที่ต่ำเตี้ยกดทับพวกเข้าไว้ นางหนูเบา แสงฤทธิ์ เล่าให้เห็นว่า สำหรับคนจนที่ไม่มีที่ดินทำกินตลอดทั้งปีหรือมีที่ดินจำกัด การได้รับโอกาสให้ใช้ประโยชน์จาก “พื้นที่รวม” ของหมู่บ้านเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยให้ครัวเรือนยากจนได้ใช้ศักยภาพของตนเอง ทั้งภูมิปัญญา ความรู้ ประสบการณ์ และการลงมือทำ เพราะแม้พวกเขาจะจนแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องนั่งรอความช่วยเหลือจากรัฐ สวัสดิการ หรือการหยิบยื่นความช่วยเหลือแบบสงเคราะห์แต่เพียงอย่างเดียว นางหนูเบา สะท้อนให้เห็นอีกว่า การช่วยเหลือแบบสงเคราะห์จำเป็นสำหรับครัวเรือนยากจนที่มีกลุ่มเปราะบางในครอบครัว เช่น เด็กเล็ก ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ หรือคนพิการ ฯลฯ แต่สำหรับครัวเรือนยากจนที่มีแรง มีศักยภาพ และมีใจที่ต้องการสู้สามารถใช้ศักยภาพภายในของพวกเขาได้ 

D:\สื่อสารงานแก้จน บพท อำนาจเจริญ\IMG_7682.JPG
“เป็นคนไม่มีบ้านเป็นของตัวเองต้องอาศัยอยู่กับหลาน ตอนนั้นแม่ป่วยก็ถือโอกาสอยู่บ้านช่วยหลานดูแลแม่ แต่ตอนนี้แม่เสียไปแล้วก็ยังคงอยู่บ้านหลาน บางครั้งก็รู้สึกไม่สบายใจที่ต้องพึ่งพาเขา อึดอัดภายในใจตัวเองไม่รู้จะพูดจะระบายกับใคร คิดแต่เพียงว่าทำไมชีวิตมันถึงทุกข์ยากขนาดนี้ บ้านก็ไม่มีต้องอาศัยเขาอยู่ เก็บความรู้สึกไว้คนเดียว เป็นผู้หญิงใช้แรงหนักทำงานก็ไม่ได้ ไม่รู้จะทำยังไง พอออกมาปลูกผักได้เจอคนอื่นก็ได้พูดคุยกันตามประสาผู้หญิงระบายให้กันฟัง” นางหนูเบา แสงฤทธิ์ ครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมโครงการฯ บ้านหนองทับม้า

เธอฉายให้เห็นว่า การปลูกผักนอกจากจะทำให้ได้ออกจากบ้าน ยังได้ระบายความรู้สึกกับคนอื่นๆ เป็นช่วงของการปลดปล่อยตัวเองออกจากแรงกดดันภายใน ทุกๆ เช้าเธอจะตื่นนอนทำอาหารและนึ่งข้าวเหนียวใส่กระติบสะพายออกมาแปลงผักแต่เช้าเพื่อดูแลผักในแปลง แต่ละวันจะมีลูกค้าทั้งคนในชุมชนและพ่อค้าแม่ค้าที่ทำธุรกิจร้านอาหารเข้ามาเลือกซื้อผักถึงในแปลงรวม ซึ่งเธอมีรายรับจากการขายผักแต่ละวันราวๆ 50-100 บาทในทุกๆ วัน ชีวิตประจำวันของเธอจากแต่เดิมเคยนั่งอยู่ที่บ้านจมอยู่กับความทุกข์และแรงกดดันภายใจใน ปัจจุบันเธอได้ออกมาปลดปล่อยตัวเองในแปลงผัก ได้พบเจอผู้คน นักวิจัย/นักวิชาการ ผู้นำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งระดับท้องถิ่นและอำเภอ รวมถึงขบวนองค์กรชุมชนเสนางคนิคมที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือหนุนเสริมด้านต่างๆ ให้กับเธอและครัวเรือนยากจนคนอื่นๆ ปัจจุบันสมาชิกแปลงผักที่เข้าร่วมผักแปลงรวมยังคงร่วมกระทำการด้ายกันทั้งสิ้น 45 ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง 

C:\Users\acer\Desktop\New folder (2)\IMG_7475.JPG

การปลูกผักแปลงรวมของครัวเรือนยากจนในรูปแบบแปลงรวม 

นักวิจัย/นักวิชาการผู้กระทำการ : จัดปรับวิธีคิดและการยกระดับมาตรฐานการผลิต 

การสนทนากับ ดร.สุกัญญา คลังสินศิริกุล ทีมวิจัยฯ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พบว่า กระบวนการทำงานเชิงพื้นที่ทำให้เห็นข้อจำกัดเรื่องที่ดินของครัวเรือนยากจน คือ ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง หรือมีที่ดินอย่างจำกัด ซึ่งทีมวิจัยได้ทำงานเชิงพื้นที่และจัดปรับกระบวนการปลูกผักให้ครัวเรือนยากจนได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะ เทคนิค วิธีการปลูก การบริหารจัดการแปลงในรูปแบบใหม่ๆ ท่ามกลางความท้าทายต่อวิธีคิดและวัฒนธรรมการปลูกผักแบบเดิม เช่น การยกร่องแปลง การจัดการระบบน้ำ การปรับปรุงดินและการทำปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพสูง รวมทั้งการนำร่องวิธีการปลูกผักอินทรีย์บนแคร่ เป็นต้น “การผลักดันการปลูกผักของครัวเรือนยากจนที่ไม่มีพื้นที่เป็นของตนเอง ทีมวิจัยพยายามให้เกิดการจัดการแปลงที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยชาวบ้านวางแผนปลูกพืชที่ตลาดต้องการและเหมาะกับสภาพภูมิอากาศ เป็นการจัดการพื้นที่ให้มีความเหมาะสม และเอื้ออำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุไม่ต้องลุกนั่งบ่อยๆ 

D:\สื่อสารงานแก้จน บพท อำนาจเจริญ\IMG_7899.JPG
“เทคโนโลยีลดความสูญเสียเปลี่ยนความเชื่อดั้งเดิมที่เคยชิน ปลูกแบบเดิมใช้ระยะเวลาต่อรอบราว 35-40 วัน กว่าจะเพาะเมล็ดและปรับปรุงดินใช้เวลานาน แต่ปลูกแบบใหม่ใช้ระยะเวลา 20-25 วัน และปลูกต่อเนื่องบนแปลงยกสูงได้หลังจากเก็บผลผลิต”ดร.สุกัญญา คลังสินศิริกุล ทีมวิจัยฯ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

นอกจากนั้น การเปิด “พื้นที่ผักแปลงรวม” ที่ครัวเรือนยากจนได้กระทำการและมี “พื้นที่ทางสังคม” ยังส่งผลให้ครัวเรือนยากจนยังได้มี “โอกาส” ในการเรียนรู้เทคนิค ทักษะ มุมมอง วิธีการผลิต และการบริการจัดหารแปลงผักรูปแบบใหม่ ด้วยการถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เรียกว่า “การปลูกแบบแคร่” เป็นการยกแปลงปลูกสูงโดยการจัดปรับและเตรียมดินสำหรับปลูกให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของผัก และลดระยะเวลาในการปลูกผักลงได้อย่างมาก กล่าวคือ แม้การปลูกแบบนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ แต่สำหรับคนจนถือเป็นโอกาสใหม่ที่พวกเขาได้รับ การปลูกผักแบบแคร่ที่เริ่มต้นจากการเพาะต้นกล้าในถาดจะทำให้ได้ผลผลิตผักคุณภาพภายในระยะเวลา 20-25 วัน จากแต่เดิมการทำแปลงบนพื้นดินจะต้องใช้ระยะเวลาต่อรอบมากถึง 35-40 วัน (ครัวเรือนยากจนต้องการรายรับที่รวดเร็ว/ระยะสั้น) “เป็นการหมุนรอบและได้ผักที่มีคุณภาพ ถ้าเป็นตลาดชั่งน้ำหนักแบบคุณภาพสูงไม่กี่ต้นก็ได้น้ำหนักดี แตกต่างจากการปลูกแบบเดิม ความรู้และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงผลผลิตและเหาะกับครัวเรือนยากจนที่ต้องการรายได้รวดเร็ว เขาเริ่มลงผักใน 1 แปลงสามารถเพาะกล้าเตรียมไว้ได้เลย 1 สัปดาห์ในการงอก ถ้าใช้ระบบเดิมต้องรอการปลูกเสร็จสิ้นและเพาะกล้าใหม่กว่าจะได้รอบ ปลูกแบบใหม่สามารถบริหารจัดการได้ เห็นภาพของการย่นเวลาการปลูกที่ลดน้อยลง เมล็ดพันธุ์บางชนิดที่ราคาดีปลูกแบบใหม่จะช่วยให้ได้ต้นกล้าที่มีคุณภาพ ระบบรากดีกว่า การทำแบบใหม่ช่วยลดต้นทุน มีองค์ความรู้ และครัวเรือนยากจนได้เห็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกและการบริหารจัดการ ครัวเรือนยากจนต้องรู้ก่อนว่าวิธีการบริหารจัดการที่เหมาะสมคืออย่างไร ชาวบ้านสามารถวางแผนการปลูกได้ทั้งปี และสามารถวางแผนรายได้จากการปลูก หรือความต้องการของตลาด และสามารถยกระดับรายได้ของครัวเรือน” ดร.สุกัญญา คลังสินศิริกุล ทีมวิจัยฯ กล่าว

ผู้กระทำการฟังก์ชั่น : ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐระดับอำเภอกับการมีส่วนร่วม

การลงพื้นที่ภาคสนามร่วมกับทีมวิจัยเพื่อสำรวจโมเดล “ผักแปลงรวม” บ้านหนองทับม้า อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ ระหว่างวันที่ 18-19 ธันวาคม 2567 ในกิจกรรม “สานภาคีสร้างความมั่นคงทางอาหาร ปลูกผักปลอดภัย” พบว่า การปลูกผักแปลงรวมไม่ใช่แค่การได้ผัก ได้อาหาร หรือเพิ่มรายได้ระยะสั้น (รวดเร็ว) ในชีวิตประจำวันให้กับครัวเรือนยากจน แต่การปลูกผักแปลงรวมได้นำไปสู่การเชื่อมโยงผู้กระทำการต่างๆ เชิงพื้นที่ โดยเฉพาะ “ครัวเรือนยากจน” กับ “หน่วยงานภาครัฐ” ซึ่ง นายฤทธิไกร สายสุด รักษาการนายอำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงผักและเข้าร่วมกิจกรรมกับครัวเรือนยากจนที่ร่วมกันปลูกผัก ได้สะท้อนให้เห็นว่า การปลูกผักของครัวเรือนยากจนและชุมชนส่วนใหญ่ใช้การปลูกแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แม้กระบวนการแบบเก่าจะได้ผลผลิตผักที่มีคุณภาพแต่ต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานกว่าจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตรอบถัดๆ ไป “ปกติชาวบ้านจะปลูกผักตามประเพณีที่สืบทอดวิธีการจากบรรพบุรุษ หลังจากนั้นมีการส่งเสริมการรวมกลุ่มปลูกผักในพื้นที่เดียวกันให้เกิดการจัดการที่ง่ายและสะดวกมากขึ้น โดยทีมวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ลงทำงานสนับสนุน ทั้งการปรับพื้นที่ คุณภาพดิน การยกร่องแปลง การให้ความรู้และทักษะ รวมทั้งระบบระบายน้ำ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนกระบวนการปลูกและการดูแลผัก ชาวบ้านให้ความร่วมมือและปลูกร่วมกัน ‘นอกจากได้ความมั่นคงทางอาหารแล้วยังช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนและความหิวโหย’ และการส่งเสริมกระบวนการปลูกผักนำไปสู่การสร้างความสมัครสมานในชุมชน สมาชิกในชุมชนทั้งครัวเรือนยากจนและครัวเรือนอื่นๆ มีโอกาสทำงานร่วมกันระดับหมู่บ้าน ถึงแม้จะอยู่ในเขตบ้านหนองทับม้า แต่พื้นที่หมู่บ้านอื่นก็สามารถเข้ามาเรียนรู้กระบวนการนี้ได้” นายฤทธิไกร สายสุด กล่าว

“ถ้าเอาใจฟังจะได้ยินเสียงผมเพราะทุกคำพูดผมใช้ใจพูด” อยากให้พี่น้องมีความกล้าหาญ กล้าเปลี่ยนแปลง กล้าใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ วิธีดั้งเดิมก็ดีแต่การลองปรับเปลี่ยนอาจจะดีขึ้น “ต้นกล้าที่อยู่ในใจให้เป็นเหมือนต้นกล้าผัก” เพราะการกล้าจะช่วยให้ได้ผักที่มีคุณภาพ สร้างอาหาร สร้างรายได้ให้กับครัวเรือน และมีตลาดรองรับนายฤทธิไกร สายสุด รักษาการนายอำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ
D:\สื่อสารงานแก้จน บพท อำนาจเจริญ\IMG_7522.JPG

นายฤทธิไกร เล่าต่อว่า “พี่น้องเห็นว่ามีคนปลูกก็มีความต้องการเข้ามาปลูก คนที่ปลูกอยู่แล้วก็มีความต้องการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม เพราะเห็นผลสำเร็จที่สร้างอาหารและรายได้” ผักที่ปลูกได้สามารถบริโภคสดและแปรรูปเป็นผักส้ม ผักดอง สร้างรายได้ให้กับครอบครัว “ผมได้สนทนากับครัวเรือนยากจนคนหนึ่ง พบว่าผักที่ปลูกในแปลงมีผู้ซื้อ คือ ร้านลาบ ซึ่งเป็นร้านอาหารท้องถิ่นที่มีความต้องการพืชผักสายพันธุ์ท้องถิ่นในการประกอบอาหารไปใช้ โดยผู้ซื้อจะเดินทางเข้ามาซื้อผักถึงในแปลง ตอนนี้อยากให้เกิดการปรับพื้นที่ขยายมากขึ้นให้รองรับและเพียงพอต่อความต้องการของครัวเรือนยากจนและผู้ปลูก” ขณะที่ ผศ.ดร.ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวกับครัวเรือนยากจนและภาคีเครือข่ายที่ร่วมกิจกรรมปลูกผักแปลงรวม ว่า  “การปลูกผักร่วมกันทำให้เราเห็นภาพร่วมกัน และได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานต่างๆ ในอำเภอ ซึ่งจะช่วยให้ครัวเรือนยากจนได้ผลผลิตผักที่มีความ “โมเดิร์น” มากขึ้น เช่น จากเดิมเอาเมล็ดพันธุ์หว่านลงในแปลงเปลี่ยนมาเป็นหว่านเมล็ดในถาดก่อน หรือการผลิตปุ๋ยที่พร้อมใช้ปลูก และอื่นๆ สิ่งที่ครัวเรือนยากจนได้รับ คือ ทักษะและการผลักดันให้เกิดกระบวนการปลูกตลอดทั้งปี แต่การบริหารจัดการต้องดำเนินการร่วมกันทั้งชุมชน และเป็นการเปิดพื้นที่ความสัมพันธ์ทางสังคมของอำเภอเสนางคนิคมที่มีต้นทุนทางสังคมที่ดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้

ผู้กระทำการท้องถิ่น : เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่

ทีมวิจัยชี้ให้เห็นว่า การลงพื้นที่ทำงานในเขตอำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ เริ่มต้นจากการลงพื้นที่สำรวจสอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจนตามฐานข้อมูล TPMAP กระทั่งนำมาสู่การออกแบบโมเดลนำร่องการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งโมเดลนำร่อง “ผักแปลงรวม” ได้เลือกพื้นที่บ้านหนองทับม้า อำเภอเสนางคนิคม เนื่องจากพบว่าความหนาแน่นของประชากรครัวเรือนยากจนที่พบมีจำนวนมาก มีทั้งกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ ได้จัดรวบรวมข้อมูลรายชื่อส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการผลักดันให้เกิดระบบสวัสดิการชุมชนผ่าน “กองบุญข้าวปันสุข” ที่ร่วมกันขับเคลื่อนกับขบวนองค์กรชุมชนและวิสาหกิจชุมชน (โรงสีทุ่งรวงทอง) และการสนับสนุนผักแปลงรวม ภาพรวมของการทำงานพยายามผลักดันให้เกิด “ความมั่นคงทางอาหาร/คลังอาหาร” และ “รายได้” และเชื่อมโยงความร่วมกับหน่วยงานเทศบาลตำบลเสนางคนิคม และเทศบาลตำบลสิริเสนางค์ ซึ่ง ว่าที่ร้อยตรี ธีรศักดิ์ จันทวงศ์ นายกเทศมนตรีตำบลเสนางคนิคม อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ภาคส่วนต่างๆ ของเทศบาลได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกันกับทีมวิจัย ชุมชน และครัวเรือนยากจนเป็นระยะ ติดตาม หนุนเสริม จัดกิจกรรมโครงการเชื่อมโยง จัดหาวิทยากรร่วม และลงทำงานร่วมกับชุมชน ว่าที่ร้อยตรี ธีรศักดิ์ จันทวงศ์ ชี้ให้เห็นถึงกระบวนการทำงานของทีมวิจัยกับพื้นที่ว่า “มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเข้าส่งเสริมการปลูกผักเพื่อบริหารความยากจนและลดความอดอยาก ถือเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG ของพื้นที่ และดีใจ/ยินดีที่ได้ร่วมขับเคลื่อนการบริหารความยากจนและลดความอดอยากของพื้นที่ และการทำงานนี้ถือว่ามาถูกทางในการลดปัญหาความยากจน และอยากส่งเสริมให้เป็นต้นแบบและขยายผลในพื้นที่อื่นในการแก้ไขปัญหาความยากจนและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของชาติ”

D:\สื่อสารงานแก้จน บพท อำนาจเจริญ\IMG_7723.JPG

ผู้กระทำการตลาดท้องถิ่น : ผลักดันตลาดและเชื่อมโยง “คนจน” และ “สินค้า” กับ “ผู้บริโภค”

คุณปุณยาพร ปุยวงค์ ผู้ประกอบการตลาดเขียว บุคคลสำคัญหนึ่งในระบบตลาดขนาดเล็กที่เชื่อมโยงระหว่างครัวเรือนยากจนที่ปลูกผักกับผู้บริโภค ได้ทำงานผ่านบทบาทของผู้ประกอบการขนาดเล็กร่วมกับทีมวิจัย เพื่อหนุนเสริมให้สินค้าของครัวเรือนยากจนได้เชื่อมโยงส่งถึงผู้บริโภค “ตลาดเขียวเริ่มต้นนำร่องในโรงพยาบาลร่วมกันระหว่างชุมชนกับทีมวิจัย บางคนไม่ได้มาร่วมขายจะใช้วิธีการฝาก ทิศทางการตลาดแรกๆ ลูกค้าไม่รู้จัก ปัจจุบันบุคลากรและคนที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลเริ่มรู้จักมากขึ้น สินค้าที่มาวางขายมาจากชุมชนทั้งสดและแปรรูป” คุณปุณยาพร ปุยวงค์ กล่าว อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าการทำงานของผู้ประกอบการในพื้นที่มีความพยายามผลักดันให้ครัวเรือนยากจนได้มีโอกาสในการยกระดับสินค้าและผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นผ่านการแปรรูป แต่ข้อเท็จจริงเชิงพื้นที่ครัวเรือนยากจนส่วนใหญ่ไม่ถนัดและไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากบางครัวเรือนเป็นคนสูงอายุ มีคนป่วยในครับครัว ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ หรือไม่มีความประณีตในการแปรรูป และการแปรรูปต้องใช้ระยะเวลานานกว่าผักสด เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่า การผลักดันการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการปลูกแบบแคร่จะเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยให้ครัวเรือนยากจนสามารถผลิตผักที่ได้คุณภาพสูง ปลอดภัย ใช้ระยะเวลาการปลูกสั้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล คนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการอาหารปลอดภัย 

D:\สื่อสารงานแก้จน บพท อำนาจเจริญ\IMG_8002.JPG

พบว่า การทำงานกับครัวเรือนยากจนมีความท้าทายด้านการผลิต แม้คนจนจะขยันทำงานแต่บางครอบครัวมีข้อจำกัดบางอย่างที่ฉุดรั้ง กล่าวคือ ครัวเรือนยากจนบางส่วนไม่ถนัดแปรรูป การขายผักพื้นบ้านใน ตลาดเขียวจึงเป็นพื้นที่รองรับสินค้าของครัวเรือนยากจนที่เข้าถึงผู้บริโภค ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อมักมองราคาและปริมาณ การแปรรูปสินค้าจึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า “คนจนส่วนใหญ่ไม่มีเวลามากพอ หรือบางคนชอบอะไรที่ทำได้ง่าย (ปลูกแล้วขายเลย) เคยพามาเรียนรู้การแปรรูปต่อยอดสินค้าแต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ บางคนเวลาไม่มากพอในการเข้าร่วมกิจกรรมที่ซับซ้อนและใช้เวลานาน จึงถนัดปลูกผักด้วยกันแล้วนำผักมารวมขายที่ตลาดเขียว” คุณปุณยาพร ปุยวงค์ กล่าวสะท้อน 

ผู้กระทำการในโรงเรียนขนาดเล็ก : สอดส่งดูแลครอบครัวเปราะบางและคุณภาพชีวิตของเด็ก

การทำงานแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่ค่อนข้าง “ซับซ้อน” ซึ่งพบว่า ทีมวิจัยพยายามทำงานให้เกิดการเชื่อมโยงผู้กระทำการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นร่วมกับโรงเรียนขนาดเล็กที่เด็กในโรงเรียนส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มครัวเรือนยากจนและครอบครัวเปราะบาง เนื่องจากเด็กในครอบครัวที่สถานภาพทางเศรษฐกิจไม่ดีส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนใหญ่ไกลบ้านได้ ดังนั้นในโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งจึงพบเด็กที่ประสบปัญหาต่างๆ และพบผู้กระทำการสำคัญในการเป็นเกราะป้องกันปัญหา คือ ครู ผู้บริหารโรงเรียน คณะกรรมการโรงเรียน และผู้ปกครอง ฯลฯ และการปลูกผักเป็นวิธีการหนึ่งที่โรงเรียนนำมาใช้ในการสร้างโอกาสและลดปัญหาระดับครัวเรือนให้กับเด็กในโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนบางแห่งในชนบทส่วนหนึ่งเด็กในครอบครัวของครัวเรือนยากจนประสบปัญหาอาหารไม่เพียงพอ ไม่ถูกหลักโภชนาการ ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและการขาดเรียนเนื่องจากไม่มีเงินซื้อขนมและกับข้าว โดย นายธานินทร์ เคนคูณ ครูโรงเรียนบ้านนาสะอาด อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ เล่าว่า “โรงเรียนพยายามแก้ปัญหาเรื่องอาหารกลางวันและจัดหาทุนการศึกษาให้กับกลุ่มเด็กเปราะบาง ปัจจุบันโรงเรียนมีแนวคิดการปลูกผักของโรงเรียนเชื่อมกับแปลงผักของศูนย์เรียนรู้ในชุมชนที่ทำงานร่วมกับครัวเรือนยากจน โดยโรงเรียนสอนนักเรียนในกลุ่มทักษะอาชีพและพานักเรียนออกไปเรียนรู้ร่วมกับศูนย์เรียนรู้บ้านนาสะอาด เรียนรู้การปลูกพืชผักแต่ละฤดูกาลที่มีความแตกต่างกัน บูรณาการร่วมกันกับศูนย์เรียนรู้ให้เด็กได้ต่อยอดการปลูกผัก คะน้า กระเพรา กวางตุ้ง สลัด ที่เพาะในถาดก่อนลงแปลง หลังจากได้ผักจะนำไปประกอบอาหาร ให้นักเรียนที่ปลูกได้นำผักไปขาย สร้างรายได้ให้กับนักเรียน” 

D:\สื่อสารงานแก้จน บพท อำนาจเจริญ\IMG_8300.JPG
“ก่อนปลูกผักไปซื้อผักที่ตลาด และผักบางส่วนที่ซื้อประจำกับศูนย์เรียนรู้ในชุมชน ทางโรงเรียนกำลังมองหากลุ่มเครือข่ายอินทรีย์ทั้งบ้านนาสะอาดและบ้านหนองทับม้า เพื่อนำมาประกอบอาหารให้กับนักเรียน การรับผักปลอดสารพิษมาประกอบอาหารในโรงเรียนจะช่วยให้เด็กได้รับประทานผักที่ดี”

นายธานินทร์ เคนคูณ ครูโรงเรียนบ้านนาสะอาด อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ

นอกจากนั้น พบอีกว่า ในโรงเรียนขนาดเล็กเจอปัญหากลุ่มเปราะบางที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน อย่าร้าง ไปทำงานต่างจังหวัด ดูแลลูกไม่เต็มที่ พ่อแม่ไม่มีเวลาทำอาหารที่มีคุณภาพให้กับเด็ก หรือปัญหาอื่นๆ เช่น ยาเสพติด บุหรี่ ติดเกม ฯลฯ ส่วนใหญ่พบในกลุ่มเด็กในครอบครัวเปราะบาง และครอบครัวที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองต้องรับจากกรีดยาง โดยการออกจากบ้าน 4 ทุ่ม กลับตี 1-2 ไม่มีเวลาตื่นมาดูลูกต้องให้ลูกทำอาหารเอง บางครอบครัวไม่มีเวลาตื่นเช้ามาส่งลูก (เพราะเป็นภาระหน้าที่ต้องหาเช้ากินค่ำจึงไม่มีเวลา) ตัวอย่างนักเรียนครอบครัวหนึ่งที่กำลังประสบปัญหา คือ เด็กในครอบครัวนี้มี 3 คนที่ต้องมาเรียนพร้อมกับ แต่เนื่องจากพ่อกับแม่แยกทางกันจึงเกิดปัญหา แม่ไปทำงานที่ กทม. พ่อไปกรีดยางรับจ้างนอกชุมชน ไม่มีเวลามากเพียงพอในการดูแลเด็ก ทั้ง 3 พี่น้องต้องดูแลกันเองแต่ละวัน “ถ้ามาเรียนคือมาทั้งหมด ถ้าไม่มาก็ไม่มาทั้งหมด” ซึ่งทางโรงเรียนได้หารือกับผู้บริหารและคณะกรรมการสถานศึกษา ลงเยี่ยมบ้านที่ประสบปัญหา และสอบถามผู้ปกครองว่าดูแลเด็กได้หรือไม่ เพื่อประสานหน่วยงานภาครัฐให้ลงช่วยเหลือเรื่องเปราะบาง ไร้ที่พึ่ง ครอบครัวไม่สมบูรณ์ และมี อสม. ประจำหมู่บ้านช่วยดูแล/ช่วยเหลือเฉพาะหน้า 

ผู้กระทำการในชุมชน : “เชื่อมประสานพลังภาคีเครือข่าย” อาสาสมัครชุมชน และคนรุ่นใหม่

คุณณัฐสุดา คณาโรจน์ วิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านนาสะอาด ได้เข้าร่วมกระบวนการทำงานร่วมกับทีมวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระยะที่ 1-5 มองเห็นความสำคัญของการใช้พลังวิสาหกิจชุมชนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือนยากจน ตั้งแต่กระบวนการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลแบบสอบถามที่ตรงเป้าและแม่นยำ การวางบทบาทเป็นอาสาสมัคร/พี่เลี้ยงผลักดันครัวเรือนยากจนสู่อาชีพ และการเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับอาชีพ “มหาวิทยาลัยลงพื้นที่ทำงานกับครัวเรือนยากจนบ้านนาสะอาดอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ทางวิสาหกิจชุมชนและครัวเรือนยากจนบ้านนาสะอาดได้รับการสนับสนุนความรู้ เทคนิค และกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานมากขึ้น และตอนนี้ได้เชื่อมโยงต่อกิจกรรมไปถึงโรงเรียนด้วย” นอกจากนั้น นางสาวชุติมา มณีรัตน์ และ นายมนตรี มณีรัตน์ Young Smart Farmer ตำบลหนองสามสี คนรุ่นใหม่ที่ทำงานกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ได้นำกระบวนการปลูกผักมาใช้ทำงานและเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในพื้นที่ตำบลหนองสามสี “เด็กสนุกสนานในการปลูกผักและได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผักที่ปลูกงาม กรอบ โตไว แตกต่างจากผักทั่วไป ตอนนี้ปลูกผักหลายชนิด เช่น มะเขือ พริก โหรพา กระเพรา สลัด หอมแดง ผักกาดหิน ฯลฯ การปลูกผักทำให้เด็กๆ เห็นว่ามีรายได้ตลอดทั้งปี สามารถสร้างเงินและแบ่งปันในชุมชนต่อเนื่อง” นายมนตรี มณีรัตน์ กล่าวในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับภาคีเครือข่ายและทีมวิจัย

การสนับสนุนพื้นที่เรียนรู้เศรษฐกิจชุมชน บ้านนาสะอาด อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ

ผู้กระทำการภาคประชาสังคม : ขบวนองค์กรชุมชนกับงานวิจัยเชิงพื้นที่

การลงพื้นที่ภาคสนามร่วมกับทีมวิจัย พบว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ปีที่ 1-5 ทีมวิจัยได้ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม ผู้ประกอบการ คนรุ่นใหม่ วิสาหกิจชุมชน โรงเรียน และครัวเรือนยากจนในพื้นที่ ได้มีโอกาสทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนร่วมกันผ่านบทบาทหน้าที่ของแต่ละส่วนอย่างเหมาะสม ทั้งเชิงปฏิบัติการ นวัตกรรมเทคโนโลยี นวัตกรรมสังคม และเชิงนโยบาย กระทั่งภาพความร่วมมือการทำงานโครงการนำร่องดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง 

ซึ่ง นายวานิชย์ บุตรี ประธานสภาองค์กรชุมชน ตำบลเสนางคนิคม กล่าวว่า “การทำงานของขบวนองค์กรชุมชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ที่เข้าร่วมได้เห็นและลงมือทำด้วยกัน โดยมีข้อมูลครัวเรือนยากจนที่ตรงเป้าชัดเจนทำให้ครัวเรือนยากจนเข้าถึงโอกาสกล่าวที่ผ่านๆ มา ภาพการทำงานร่วมกันในพื้นที่กำลังดำเนินการไปได้ด้วยดีต่อเนื่อง” นอกจากนั้น พบอีกว่า ทีมวิจัยพยายามเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ ของครัวเรือนยากจนเข้าสู่กระบวนการพัฒนาและยกระดับสินค้าผ่านผู้ประกอบการ โดยสร้างความร่วมมือกับ ร้านเห็มสุขออร์แกนิค ในการเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มีความสามารถและมีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน การสนทนากับ นางสุพิศ เห็มสุข ผู้ประกอบการท้องถิ่น ชี้ว่า “มีความต้องการสร้างงาน สร้างอาชีพ และผลิตสินค้าที่ปลอดภัยในชุมชน โดยให้คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นแรงงานและผู้ผลิต” โดยร้านเห็มสุขออร์แกนิคกำลังพยายามพัฒนาสินค้าที่มีความหลากหลายต่อเนื่องผ่านแนวคิดที่ว่า “มุ่งมั่นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัย การควบคุมคุณภาพเริ่มต้นจากแหล่งต้นน้ำของวัตถุดิบ ตลอดจนกระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป รวมถึงการปรับปรุงให้อาหารมีความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้าเชื่อมั่นและพึงพอใจ”

D:\สื่อสารงานแก้จน บพท อำนาจเจริญ\IMG_8155.JPG

ทีมวิจัยและภาคีเครือข่ายลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับร้านเห็มสุขออร์แกนิค
หมายเหตุ : นำเสนอประเด็นโดย หน่วยบริหารจัดการข้อมูลเพื่อสื่อสารและเผยแพร่ (นขส.), ข้อมูลจากการลงพื้นที่ภาคสนามในโครงการ “การพัฒนาระบบกลไกกระบวนการสื่อสารฯ”, มูลนิธิปัญญาวุฒิ, ภายใต้การ สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), และขอบคุณโครงการวิจัย “การพัฒนาพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนบนฐานเศรษฐกิจชุมชน จังหวัดอำนาจเจริญ” ดำเนินการโดยทีมวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

แชร์บทความนี้