แม้แสงแดดเปรี้ยงในเดือนเมษายน จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินเลาะเมืองฟ้าอมร แต่ก็ไม่อาจต้านทานเสน่ห์นางเลิ้งให้ผู้มาเยือนในกิจกรรม “Community lab” ทุกคนต้องสาวเท้าเดินเลาะครั้งแรกในย่านนางเลิ้ง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ไปยังหมุดหมายต่าง ๆ ในเวลาจำกัด
นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนมีโอกาสมาเยือน “นางเลิ้ง พื้นที่ความทรงจำแห่งความสุข”ชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นับกว่าสองร้อยปี สิ่งที่ได้เห็นคือภาพของผู้คนเนืองแน่น เต็มไปด้วยรอยยิ้ม อัธยาศัยดี และเป็นการพบเจอกลุ่มคนเล็ก ๆ ในชุมชน ที่เปี่ยมล้นด้วยพลังและเป้าหมายยิ่งใหญ่กับความพยายามปกป้องดูแลบ้านเกิด และยกระดับชุมชนไปพร้อมกับกระแสเปลี่ยนผ่านการพัฒนาเมือง
“งานศิลปะ งานฐานข้อมูล มันเติมเต็มทำให้เห็นบางอย่าง มันพ่วงไปจนถึงงานออกแบบ อนาคตจะมีรถไฟฟ้าสายสีส้ม สถานีลาดหลวงย่านนางเลิ้งขึ้นมา ฐานข้อมูลเหล่านี้ถ้าไม่ถูกจัดเก็บ เรื่องราวเหล่านี้มันจะหายไป สถานีนางเลิ้งก็เหมือนสถานีอื่น ๆ คิดว่าฐานข้อมูลที่เก็บไว้ น่าจะไปเติมเต็มอนาคตที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ให้มันเล่าเรื่องชุมชนได้ เป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่ต่อไป”
“น้ำมนต์” นวรัตน์ แววพลอยงาม คนรุ่นใหม่ที่เกิดและเติบโตมากับการขับเคลื่อนพัฒนาชุมชน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 และผู้ปลุกปั้นกลุ่มอีเลิ้ง (E-Lerng) เล่าถึงความสำคัญของข้อมูลชุมชนที่เธอและชาวนางเลิ้งพยายามรวบรวมจัดเก็บอย่างเป็นระบบ
ผู้เขียนจึงมีโอกาสได้รู้จักนางเลิ้งเพิ่มมากขึ้น ผ่านบทสนทนาที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง จากการทำงานร่วมกับชุมชนมายาวนาน 16 ปี ผ่านเรื่องเล่าของคนเล็กๆ ผ่าน community lab Nang Loeng ร่วมกับทีมอาจารย์ และน้อง ๆ นักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครื่องมือที่เป็นหัวใจ ส่วนหนึ่งคือบันทึกข้อมูล เรื่องเล่าตั้งแต่อดีต ฐานข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนใน และคนนอก ที่เข้ามาเรียนรู้พัฒนาชุมชนได้เข้าใจเ ข้าถึงได้ข้อมูลในเชิงหลายมิติ ทั้งเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยเชื่อมหลอมการทำงานของคนหลาย GEN เข้าด้วยกัน
“เรื่องเล่านางเลิ้ง สมัยก่อนเป็นทุ่งสนามควาย ทุ่งโล่งกว้าง อยู่นอกกำแพงเมือง ค่อย ๆ พัฒนาจากการขุดคลองผดุงกรุงเกษม เกิดตลาด เกิดถนนลูกหลวง หลานหลวง ลุกพระราชา หลานพระราชา มีคนจีนเข้ามาค้าขาย เรื่องฐานข้อมูลเก่า ๆ ค่อย ๆ เติมเต็มมาสู่ยุค มิตร ชัยบัญชา ยุคพัฒนาการศิลปะความบันเทิงในไทย นางเลิ้งมันอยู่ในชั้นเหล่านั้น บางส่วนอยู่ในการทำแผนที่ชุมชน
แผนที่เมื่อ 10 ปี ที่แล้วกับ10 ปีนี้ร้านอาหารหลังโควิด-19 มันหายไปหลายร้าน ข้อมูลเชิงแผนที่เป็นส่วนหนึ่งที่อธิบายภาพบางอย่างได้อีกแบบ เก็บทั้งในเชิงสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องโควิด-19 มีการเก็บข้อมูลมีปัญหาตามมาอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม เรามองเห็นขยะที่มากขึ้น และฐานข้อมูลนำมาสู่ว่ามันต้องมีโครงการเกี่ยวกับ Nang-Loeng Plastic Bank การจัดการส่งต่อขยะ ให้ครอบคลุมหลายด้าน”
การทำงานบนพื้นฐานของปัญหาจึงเป็นโจทย์ใหญ่ ด้วยนางเลิ้งเป็นแหล่งชุมชนแออัด มีพื้นที่น้อยแต่มีคนอยู่มาก ผู้เขียนได้เดินลัดเลาะตามซอกซอยต่าง ๆ พบเห็นว่ามีคนอยู่อาศัยจำนวนมาก ส่วนใหญ่พบเป็นผู้สูงอายุและเด็กที่อาศัยในพื้นที่บริเวณบ้านเก่า ที่กั้นเป็นห้องเล็กๆ ท่ามกลางด้านหน้าที่เต็มไปด้วยฉากอาคารบ้านเรือนในรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่สวยงามฝั่งติดถนน ทำให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ด้วยความโดดเด่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาหาร สถานที่ และผู้คนที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย
“นางเลิ้งหลากหลายด้วยตัวพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ทั้งคนในปัจจุบัน คนในยุคเดียวกัน มีความหลากหลาย อย่างการ Community ออนไลน์ กับ Offline physical space HUB ตรงกลาง ที่ทำให้คนสลัมกับบ้านตึกได้เจอกัน ร้านหนังสือเปิดใหม่ กับโรงพิมพ์เก่าได้เจอกัน นักศึกษาที่ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย กับผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งได้เจอกัน
เพราะฉะนั้นองค์ประกอบของ Community physical space คิดว่าเป็นจุดสำคัญ เช่น ทางที่เดิน เดินได้เฉพาะข้างนอกสวย ๆ อย่างเดียวก็จะไม่เห็นเนื้อในของอะไรบางอย่าง ด้วยความเป็นย่านยังพยายามรักษา ดึงกันไว้อยู่ เดี๋ยวนี้ก็มีกระแสการย้อนมา ANALOG ความเป็นโรงพิมพ์เก่า อันนี้เป็นเอกลักษณ์ความหลากหลายของผู้คน ก็ต้องมีโลกจริง physical space ให้คนในคนนอกได้เจอกันได้พาเด็ก ๆ เข้าไปหาร้านป้าเก่า ๆ เขาอาจจะเลิกกิจการ มีคนมาเยี่ยมทำกิจกรรม อย่างน้อยยังได้ยื้อ skill เดิมต่อไป แล้วสุดท้ายความใหม่ ความเก่าไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ สิ่งเหล่านี้ที่พยายามรักษาต้นทุนเหล่านี้ให้อยู่ได้ เกิดด้วยความเหนื่อยล้า ตั้งแต่รุ่นแม่ที่พยายามทำมา เกิดจากเงินของพ่อที่ไปกู้มาทำตั้งแต่รุ่นแม่ประมาณ 30 กว่าปี แล้วมาสานต่อด้วยรุ่นน้ำมนต์”
น้ำมนต์ยังเล่าต่อถึงการเปลี่ยนแปลงย่านนางเลิ้ง ที่เป็นได้ทั้งวิกฤตและโอกาส ในการเกิดงานใหม่ที่เชื่อมต่อการทำงานชุมชน และเล่าทิ้งทายถึงหัวใจสำคัญของการต่อสู้ของคนเล็กคนน้อยตลอดช่วงการเปลี่ยนผ่านของแต่ละยุค
“ก่อนจะมาถึงยุคน้ำมนต์ก็มีคนต่อสู้เรื่องโรงหนัง สิ่งที่นางเลิ้งสู้ได้ในหลายรูปแบบ ณ เวลานี้ Community ทำหน้าที่ของมันได้ เท่าที่ผ่านมาคนทำงานร่วมกัน ทั้ง คนใน คนนอกชุมชน ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน ช่วยพยุงงานพัฒนาชุมชนให้ดำเนินต่อไปได้กับการพัฒนาเมือง อันนี้คือกุญแจสำคัญ”
ปัจจุบันการเติบโตของย่านในหลาย ๆ พื้นที่ ถือว่าเป็นดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกันการพัฒนาเมืองที่ผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ ทำให้เมืองมีหน้าตาเปลี่ยนไป เท่ากับพื้นที่อยู่อาศัย ที่หลับนอน แหล่งทำมาหากินของคนเล็กคนน้อยที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายการพัฒนา อาจถูกลบเลือนตามไปด้วย ทำให้กลุ่มนักพัฒนาชุมชน กลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ต้องลุกขึ้นมาหาเครื่องมือที่เป็นใจสำคัญในการเก็บข้อมูล database แผนที่ เรื่องเล่า วัฒนธรรม ต้นทุนเศรษฐกิจท้องถิ่น และทำให้เกิดการยกระดับวิถีชีวิตของผู้คน ให้สามารถปรับคงอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของชุมชนตลอดการเปลี่ยนผ่านกาลเวลา
“ชาไทย 1 แก้วค่ะ” นี่คือรางวัลตบท้ายแก่ผู้เขียนหลังจบบทสนทนากึ่งเดิน ยืน นั่ง ที่พาผู้เขียนและผู้เยี่ยมชมในกิจกรรม Community lab ลัดเลาะตามตรอก ซอก ซอย ย่านนางเลิ้งไปสัมผัสพื้นที่ความทรงจำแห่งความสุข ทั้งชุมชนศิลปิน ตลาดนางเลิ้ง โรงหนังเก่า วัดสุนทรธรรมทาน พิพิธภัณฑ์มิตรชัยบัญชา บ้านศิลปะ พูดคุยแลกเปลี่ยนกลุ่มผู้ประกอบการย่านนางเลิ้ง ซึ่งแม้จะฝ่าเปลวแดดร้อนแรงปลายเดือนเมษายน ก็คุ้มค่ากับการเดินทางในวันนี้ ที่มีโอกาสสบตาความมุ่งมั่นของชาวนางเลิ้ง บอกเลยว่า “เทิงฮ้อน เทิงม่วน คักอีหลี”