แก้โจทย์ ‘พื้นที่เปราะบาง-ปัญหาน้ำท่วม’ ตามหาผู้ร้ายตัวจริงใน ‘ร่างผังเมือง กทม.’ 

หลายสิบปีที่กรุงเทพมหานครต้องเผชิญกับน้ำท่วมมาโดยตลอด ทั้งที่หน่วยงานภาครัฐพยายามอย่างเต็มที่ในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ยิ่งแก้ยิ่งพบความจริงว่าสถานการณ์น้ำท่วมนับวันยิ่งวิกฤติ และเกินครึ่งมาจากปัญหาเรื่องของท่อระบายน้ำและการจัดการน้ำเสีย ซึ่งเรื่องนี้ไม่เคยถูกพูดถึงในร่างผังเมืองฉบับใหม่ของ กทม.เลย

ข้อมูลจากแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร 2567 ปกติแล้วกรุงเทพมหานครจะเจอน้ำท่วมเฉลี่ยประมาณ 8 เดือนต่อปี คือ พฤษภาคม – ตุลาคม โดยท่วมจากน้ำฝน ส่วนตุลาคม-ธันวาคม ชาวกรุงมักต้องรับมือกับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของประเทศและน้ำทะเลหนุน แต่เชื่อว่าปัญหาที่กวนใจคนกรุงคือน้ำก้อนแรก เพราะพอฝนที่ตกแม้ไม่หนัก แต่ก็มักทำให้คนอยู่กรุงฯ ต้องเจอกับน้ำท่วมขังรอระบาย

ผศ.ดร. สิตางศุ์ พิลัยหล้า


ทีมข่าวพลเมือง คุยกับ ผศ. ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่าอะไรทำให้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ กลายเป็นโรคเรื้อรัง และทำไมท่อระบายน้ำถึงเป็นปัญหาหลักที่ทำให้น้ำท่วม รวมทั้งการจัดการของ กทม.หลังจากนี้ต้องเป็นอย่างไร อีกทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนภาพการจัดการน้ำของไทยอย่างไรบ้าง

ถาม: ร่างผังน้ำกทม. กับปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพ ร่างผังน้ำนี้สะท้อนอะไรออกมาบ้าง

ผศ. ดร.สิตางศุ์ : สำหรับการจัดการน้ำของกทม. เรามีระบบระบายน้ำแต่เป็นระบบท่อรวมคือท่อน้ำเสียและน้ำฝนรวมกัน ต่อให้ฝนไม่ตกภายในท่อระบายน้ำก็มีน้ำรออยู่ในนั้นแล้ว

ในการทำผังน้ำอันดับแรกต้องใช้หลักการ “หาที่ให้น้ำอยู่ หาทางให้น้ำไป” ตอนประเมินจัดทำผังน้ำนั้นเราไม่ได้พูดถึงน้ำเสียเลย ให้เพียงแค่น้ำฝนและน้ำหลากเป็นหลัก เอาข้อมูลการเกิดฝนซ้ำ เอาฉากทัศน์น้ำท่วมในอดีตมาประมวลข้อมูล ส่วนน้ำหลากอันนี้จะเน้นในฝั่งทางตะวันตก ฝั่งสุวรรณภูมิ

ร่างผังน้ำในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2567 ที่มา: กรุงเทพมหานคร

กทม.ไม่ได้ให้ความสำคัญกับน้ำเสียเลย ทั้งที่การใช้น้ำของประชากรใน กทม. ร้อยละ 80 จะออกมาเป็นน้ำเสีย ด้วยการจัดการแบบระบบท่อเดียว ฉะนั้นน้ำเสียจึงยังไม่ได้รวมไปในผังน้ำ จากผังการใช้ประโยชน์ที่ดินมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้หลายพื้นที่มีการเปลี่ยนให้มีความหนาแน่นมากขึ้น ซึ่งสาเหตุมาจากการเกิดรถไฟฟ้า ร่างผังเมืองครั้งนี้ไม่ได้มีการประเมินว่าประชากรที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อน้ำจะลงไปในท่อมากขนาดไหน

ทางน้ำเส้นหลักฝั่งตะวันตกเปลี่ยนจากพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมเป็นเพียงแค่ชนบทและเกษตรกรรม ฝั่งตลิ่งชันและทวีวัฒนาจากอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมเปลี่ยนเป็นพื้นที่หนาแน่นน้อย หนาแน่นปานกลางและพาณิชยกรรม ประชากรและการใช้ที่ดินจะเพิ่มขึ้น จากร่างผังเมืองนี้ทำให้พื้นที่ซับน้ำลดน้อยลง เกิดน้ำไหลหลากมากขึ้น 

” กทม.ไม่ได้ให้ความสำคัญกับน้ำเสียเลย การใช้น้ำของประชากรในกทม.ร้อยละ 80 จะออกมาเป็นน้ำเสีย ด้วยการจัดการแบบระบบท่อเดียว ฉะนั้นน้ำเสียจึงยังไม่ได้รวมไปในผังน้ำ “

ส่วนผังน้ำที่ทำในตอนนี้ก็เป็นเพียงแค่ผังน้ำ สมมุติหากทำเสร็จแล้วต่อไปต้องเอาไปรวมกับ พ.ร.บ.ผังเมืองในส่วนต่าง ๆ แล้วร่างผังน้ำจะช่วยน้ำท่วมได้แค่ไหนก็อยู่ที่การนำไปใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำท่วม แผนที่คือแผนที่แต่ยังไม่สะท้อนเรื่องการปรับการระบายน้ำ แผนการรับรองน้ำท่วมและการเพิ่มศักยภาพการรองรับน้ำเสีย 

สรุปง่าย ๆ ยังไม่มีอะไรใหม่จากร่างผังน้ำนี้เลย

ถาม: การวางงบประมาณของกทม.สะท้อนให้เห็นอะไรถึงการจัดการปัญหาน้ำ

ผศ. ดร.สิตางศุ์ : พอรู้ว่าระบบระบายน้ำมีปัญหาก็มีความพยายามจะให้มีการลอกท่อระบายน้ำตามที่เป็นข่าว งบที่ใช้สะท้อนให้เห็นว่าการลอกท่อทำได้น้อย งานลอกท่อเป็นงานที่ตรงไหนทำได้ทำเลย แต่มีส่วนที่ทำไม่ได้อีกเยอะมากเพราะมีส่วนที่คดเคี้ยว จุกตกท้องช้าง ท่อเก่า และส่วนท่ออื่นอย่างเช่นท่อระบบสายต่าง ๆ ฉะนั้นมีงานอะไรที่ง่าย อยู่บนดิน ทำเห็นแล้วจับต้องได้ มักจะเป็นโครงสร้างลักษณะอื่น

ที่ผ่านมาเราใช้งบประมาณในการก่อสร้างอุโมงค์และสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ถามว่าดีมั้ยก็ดี แต่ในเมื่อระบบที่จะลำเลียงน้ำยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีเท่าที่ควรจะเป็น ก็ยังเกิดปัญหาน้ำท่วมอยู่ดี

อีกทั้ง งบประมาณยังสะท้อนให้เห็นว่า งานเล็กที่สำคัญแต่อาจทำยาก กทม.ยังไม่มุ่งมั่นจะทำให้สำเร็จ แม้ว่าจะมีการแสดงให้เห็นถึงความพยายาม เช่นภาพการลอกท่อหรือผู้บริหารเดินตรวจก็ตาม เมื่อดูงบประมาณกับสิ่งที่เกิดขึ้น บางพื้นที่ลอกท่อสามารถช่วยได้แค่จุดหนึ่งแต่ส่วนอื่นยังท่วมอยู่ กทม.ยังไม่ได้พิจารณาทั้งระบบ การแก้ปัญหายังมองเป็นท่อน ๆ ทำให้ปัญหาน้ำท่วมยังไม่หายไปจากเมือง

ถาม: ช่วยขยายความแนวทางของ การประเมินจุดเปราะบางน้ำท่วม ต้องทำไงและช่วยได้ยังไงบ้าง

ผศ. ดร.สิตางศุ์ : จุดเริ่มต้นของปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมาจากน้ำฝนในพื้นที่ อันที่สองคือน้ำหลากที่มาจากทางเหนือแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน และอันที่สามคือน้ำทะเลหนุน 

สำหรับน้ำเหนือ ทุกหน่วยงานช่วยให้ กทม.เป็นพื้นที่ปลอดภัย ทั้งผันน้ำออกไปแม่น้ำใกล้เคียง เช่น แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง เป็นต้น สำหรับน้ำทะเลหนุนเป็นปัจจัยทางธรรมชาติ เรามีคันป้องกันน้ำท่วมไว้ด้วย แต่ตอนนี้เราจะคุยปัญหาจากน้ำฝน เอาแค่ระบบระบายน้ำในกรุงเทพฯ กทม.จัดการตัวเองให้ได้ 

น้ำท่วมกรุงเทพฯ เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ประการแรก คือ พฤติกรรมฝนเปลี่ยนไป จากที่เราเคยใช้แผนการรองรับน้ำท่วมโดยอ้างข้อมูลสถิติปริมาณน้ำฝน 30 ปี หรือ เฉลี่ย 5 ปีล่าสุดอยู่ที่ 76 มล. แต่ว่าตอนนี้ฝนตกแต่ละครั้งมากกว่า 76 มล.ไปแล้ว ตัวอย่างบางเขนฝนตก 1 ชั่วโมง มีปริมาณเกิน 100 มล. สิ่งนี้เป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้เพราะเกิดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก

อย่างที่ 2 คือ ประสิทธิภาพของระบบระบายน้ำ กทม.ออกแบบให้สามารถระบายน้ำฝนอยู่ที่ 76 มล./ชั่วโมง แต่ว่าประสิทธิภาพที่มีอยู่ไม่ถึงครึ่งแค่ฝนตกมาร้อยละ 30-40 ก็ทำให้เกิดน้ำท่วมได้แล้ว และ 

อย่างที่ 3 คือ เรื่องการรับมือน้ำฝน ตอนที่ทีมลงพื้นที่วิจัยวิเคราะห์พื้นที่เปราะบางน้ำท่วม เราไม่ได้วิเคราะห์ผ่านการระบบระบายน้ำเท่านั้น แต่ดูข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชน พื้นที่ความหนาแน่นของประชากร การจราจรที่หนาแน่น การเก็บขยะ ตัวอย่างเช่น ถ้าพื้นที่เป็นทุ่งหากน้ำท่วมถึงหน้าอกก็ไม่มีใครเดือดร้อน ถ้าเป็นพื้นที่ย่านบางเขนหรือเขตอนุสาวรีย์แค่ท่วมถึงหน้าแข้งหรือหัวเข่าเรียกได้ว่าวิกฤติ หรือเรื่องขยะหากคุณมายื่นมองบนห้าแยกลาดพร้าวจะสามารถเห็นได้เลยว่าข้างล่างมีขยะอะไรอยู่บ้าง เพราะแค่ถุงพลาสติกใบเดียวสามารถทำให้เกิดวิกฤติได้

นอกจากนี้มีปัจจัยอื่นเข้ามาช่วยมอง เช่น การมีพื้นที่ที่สามารถเป็นแก้มลิง พื้นที่ซึมน้ำ พื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะ พูดง่าย ๆ คืออะไรที่ส่งผลให้เกิดน้ำนองเมื่อฝนตกและเกิดความเดือดร้อนมาก ซึ่งจากการวิเคราะห์หลายปัจจัยจะพบว่า มีพื้นที่เปราะบางของ กทม.อยู่เยอะมาก เช่น พื้นที่เขตดอนเมือง สายไหม ลาดพร้าว บึงกุ่ม วังทองหลาง ภาษีเจริญ จอมทอง หนองแขม วัฒนา คลองเตย เป็นต้น

ถาม: ภาครัฐต้องแก้ปัญหาแบบไหน

ผศ. ดร.สิตางศุ์ : การจะแก้ปัญหาพื้นที่เปราะบาง เราใช้การแก้ปัญหาแบบแผนเดียวกับทุกพื้นที่ไม่ได้ อันดับแรกต้องจัดการพื้นที่ตัวเองให้ได้ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ปิดล้อมของ กทม.แก้ไม่เหมือนกัน ทางทีมเคยมีการทดสอบว่าถ้าเราแก้ปัญหาในรูปแบบนี้จะทำได้จริงมั้ย เช่นพื้นที่ดอนเมือง ตรงนั้นไม่สามารถหาพื้นที่ทำแก้มลิงได้ จึงหาแนวทางอื่นมาช่วยเช่น การลดการจราจรให้หนาแน่นน้อยลงหรือปรับปรุงการระบายน้ำให้ดีขึ้น

ตอนนี้สิ่งที่ กทม.พยายามทำสามารถลดความเปราะบางไปได้จุดหนึ่ง แต่แม้จะทำได้ทั้งหมดก็ไม่ได้ทำให้น้ำไม่ท่วมอยู่ดี เพราะยังต้องใช้ตัวแปรอื่นมาใช้มองด้วย อย่างตอนที่ กทม.เพิ่มประสิทธิภาพการระบายให้เป็นร้อยละ 75 บางพื้นที่รอดแต่ทำให้พื้นที่ข้างเคียงมีความเสี่ยงน้ำท่วมเพิ่มขึ้น 

สอง การแก้ปัญหาจำเป็นต้องดูพื้นที่รอบข้างประกอบกันไปด้วย ซึ่งต้องมองเพื่อนบ้านออกไปอีกสองชั้น จนกว่าจะระบายออกสู่แม่น้ำหรือทะเลได้สำเร็จ ไม่ใช่แบบเขตใครเขตมันเหมือนในตอนนี้ หลังจากนั้นมองดูในภาพการจัดการน้ำภาพใหญ่ว่ามีความสอดคล้องในการจัดการมากน้อยแค่ไหน

สาม สำหรับการบริหารของเขตต้องปรับปรุงระบบระบายน้ำในเขตให้มากขึ้น เช่นปรับปรุงท่อระบายน้ำ ลำคลอง แอ่งรับน้ำเป็นต้น เพื่อรองรับความหนาแน่นมาก จากแผนผังเมือง ซึ่งส่วนใหญ่จะเติบโตตามจุดที่มีการโครงการรถไฟฟ้า

ส่วนภาคนโยบายเรื่องการจัดการระบบระบายน้ำ การจัดการปัญหาขยะ การแจ้งเตือนประชาชน การลดการสัญจรในพื้นที่เปราะบาง การสนับสนุน Work From Home เป็นสิ่งที่ กทม.และรัฐบาลควรวางแผนและดำเนินการนอกเหนือจากการก่อสร้างทางชลศาสตร์อื่น ๆ

ถาม: สำหรับการแก้ปัญหาเบื้องต้นสำหรับชุมชนและประชาชนทำอะไรได้บ้าง

ผศ.ดร. สิตางศุ์ : สำหรับภาคประชาชน ส่วนของหมู่บ้านดั้งเดิมตอนนี้กำลังเป็นแก้มลิงธรรมชาติ พวกเขาควรจะต้องหาพื้นที่ทำเป็นแก้มลิงธรรมชาติของตัวเองให้ได้ บางพื้นที่มีสวนสาธารณะเล็ก ๆ อยู่อาจต้องดัดแปลงให้เป็นพื้นที่รับน้ำ 

ส่วนบ้านแต่ละหลัง สิ่งที่ทำได้ต้องหาที่ให้น้ำอยู่ ง่ายที่สุดคือหาภาชนะรองรับน้ำ เราอาจรู้สึกมันดูเชยมากและคิดว่าจะทำได้หรอ? เราชวนทุกคนจินตนาการว่าหากน้ำฝนที่ตกลงมาอยู่ในภาชนะที่เราเก็บไว้กับปล่อยให้น้ำท่วมในพื้นที่แบบไหนจะดีกว่ากัน อย่าคิดว่าไม่เห็นผลหากทำกันทุกบ้านอย่างจริงจังก็สามารถช่วยได้

” ง่ายที่สุดคือหาภาชนะรองรับน้ำ เราอาจรู้สึกมันดูเชยมากและคิดว่าจะทำได้หรอ? เราชวนทุกคนจินตนาการว่าหากน้ำฝนที่ตกลงมาอยู่ในภาชนะที่เราเก็บไว้กับปล่อยให้น้ำท่วมในพื้นที่แบบไหนจะดีกว่ากัน อย่าคิดว่าไม่เห็นผลหากทำกันทุกบ้านอย่างจริงจังก็สามารถช่วยได้ “

ต่อมาคือการทำยังไงให้ใช้น้ำน้อยลงแต่ไม่ได้ให้ประหยัดน้ำ ความหมายคือเราจะใช้น้ำอย่างไรในแต่ละครั้งให้มีประโยชน์มากที่สุด เพราะร้อยละ 80 ของการใช้น้ำจะเป็นน้ำเสียและน้ำเสียนี้จะไปนอนกองอยู่ในท่อ กระทบต่อการระบายน้ำ เรื่องนี้จะช่วยลดภาระของระบบระบายน้ำได้

สำหรับหมู่บ้าน คอนโดหรืออาคารใหม่ควรออกแบบให้อาคารมีพื้นที่รองรับการกักเก็บน้ำฝนให้ได้ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศสิงคโปร์ แม้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับแต่สามารถรณรงค์และสร้างการตระหนักรู้ทางสังคมได้ อาจให้มีที่กักเก็บน้ำอยู่ใต้ดิน สนามหญ้า เป็นต้น 

พื้นที่รับน้ำตัวอย่างในประเทศไทยอย่างเช่น เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เพราะพื้นที่บนเกาะมีน้ำใช้จำกัดในหน้าแล้ง เมื่อถึงฤดูฝนจึงต้องเพิ่มการเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด การกักเก็บน้ำฝนนี้ควรจะทำให้เกิดได้ทุกพื้นที่ 

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ระดับชาวบ้านและชุมชนสามารถจัดการได้

ถาม: ภาพการจัดการน้ำของกทม.สามารถสะท้อนภาพใหญ่ของการจัดการน้ำระดับประเทศยังไงได้บ้าง

ผังน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่มา: กรมชลประทาน

ผศ. ดร.สิตางศุ์ : สิ่งแรกคือการขาดแคลนการบูรณาการ กทม.และภาพรวมระดับประเทศมองเห็นเรื่องนี้ได้ชัดเจน ทาง กทม.ดูแลโดยผู้ว่าฯ ก็จริง แต่การจัดการน้ำเป็นหน้าที่ของแต่ละเขต เขตไหนมีเครื่องสูบน้ำแรงน้ำจะแห้งเร็ว แต่น้ำที่สูบออกไปก็ไหลไปลงแห่งน้ำเดียวกันซึ่งมีความจุจำกัด ปัญหาที่เกิดขึ้นคือในพื้นที่แห้งแต่จะไปส่งผลกระทบกับพื้นที่อื่น ฉะนั้นปัญหาน้ำท่วมก็ยังคงอยู่ไม่หายไปไหน จากภาพการทำงานแบบนี้สะท้อนให้เห็นของการทำงานที่ไม่บูรณาการเข้าด้วยกัน ไม่ต้องพูดไปถึงการขุดลอกท่อ

สำหรับภาพใหญ่ของประเทศของประเทศจะมีการดูแลเป็นลุ่มน้ำ ซึ่งแต่ละลุ่มน้ำก็ไหลผ่านในหลายจังหวัดเช่น แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่านจังหวัดชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ในแต่ละจังหวัดตอนนี้ขับเคลื่อนด้วยอนุจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน แต่เราไม่ได้มองการให้สัญญาณน้ำเหมือนสัญญาณไฟจราจร 

สมมุติถ้าน้ำมาเราจะให้ใครปล่อยน้ำไปก่อนหรือจะเก็บน้ำไว้ตรงไหน สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้อยู่ภายใต้การมองว่าให้มีกำแพงหรือแนวกั้นน้ำเท่ากับรอด เมื่อน้ำถูกบีบด้วยกำแพงน้ำที่ไหลมาก็จะไปท่วมในพื้นที่ที่ไม่มีแนวกันน้ำทั้งหมด แม้ว่าบางพื้นที่จะมีการสูบน้ำออกจากพื้นที่ลงแม่น้ำ ท้ายที่สุดน้ำก็ยังท่วมทั้งลุ่มน้ำอยู่ดี เพราะขาดการบูรณาการในการแก้ปัญหาร่วมกันของทุกฝ่าย

แชร์บทความนี้