เมื่อระบบเศรษฐกิจโลกหมุนเร็ว ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และเทคโนโลยีรุดหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ปรากฏการณ์หนึ่งที่ชัดเจนในยุคปัจจุบันคือการ “เคลื่อนย้ายแรงงาน” ทั้งภายในประเทศและข้ามพรมแดน กิจกรรม “ดูหนัง ฟังทอล์ก สัญจรถิ่นอีสาน” ที่จัดโดยพนมนครรามา ได้หยิบยกประเด็นแรงงานมาเปิดพื้นที่พูดคุยในเวทีเสวนา “เคลื่อนย้ายหวังตั้งมั่นเมืองบ่มั่นคง : การเคลื่อนย้ายแรงงานกับการเผชิญความเสี่ยงจากการทำงานท่ามกลางสภาวะโลกรวน” เพื่อสะท้อนมุมมองและเสียงจริงของแรงงานจากหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นไรเดอร์ แรงงานไทยในต่างแดน ไปจนถึงนักวิชาการ และนักสื่อสารสาธารณะ
“ไรเดอร์” ฟันเฟืองเศรษฐกิจที่ไร้หลักประกัน
“เราทำได้แค่ส่งให้ทัน เพื่อให้ได้เงินมากที่สุดในแต่ละวัน” คือเสียงสะท้อนจากไรเดอร์หนุ่มในนครพนม ที่เล่าถึงความกดดันของอาชีพซึ่งหลายคนมองว่า “อิสระ” และ “มีรายได้ดี” แต่ในความจริงกลับเต็มไปด้วยข้อจำกัด ระบบให้คะแนนลูกค้า กติกาของแอปฯ การแข่งขันเพื่อไม่ให้ตกอันดับ และสภาพอากาศที่ไม่อาจควบคุมได้ ล้วนเป็นปัจจัยที่บีบให้แรงงานไรเดอร์ต้อง “วิ่ง” ทั้งวันโดยไร้ความมั่นคง
หลายคนขับรถตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ได้เงินเพียง 600-700 บาท หักต้นทุนค่าน้ำมันและค่าเสื่อมสภาพของรถจักรยานยนต์แล้วแทบไม่เหลือ ยิ่งวันใดเจอลูกค้าให้คะแนนต่ำหรือร้องเรียน แม้ไรเดอร์จะพยายามอย่างดีที่สุดแล้วก็ตาม ก็อาจถูกตัดสิทธิ์รับงานในวันถัดไป “ไม่มีใครอยากเป็นไรเดอร์ตลอดชีวิต แต่มันไม่มีงานอื่นให้เลือกแล้ว” พวกเขาไม่ขออะไรมากไปกว่าการได้รับการคุ้มครองเมื่อเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน ความมั่นคงขั้นต่ำที่แรงงานกลุ่มนี้สมควรได้รับ
“ชีวิตบนเรือสำราญ” ความฝันที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อ
กิจจาพร เชื้อดวงผุย แรงงานไทยที่เคยทำงานบนเรือสำราญ ได้บอกเล่าประสบการณ์ที่สวนทางกับภาพฝันของหลายคน “คนเห็นเราทำงานบนเรือ คิดว่าได้เงินเยอะ ได้เที่ยวรอบโลก แต่เราไม่มีวันหยุด ทำวันละ 12-13 ชั่วโมง แบกถาดอาหาร 12 จานจนเส้นเลือดขอด” สุขภาพที่ทรุดโทรม คำพูดดูแคลนจากลูกค้า และความกดดันจากระบบบริการ
“ลูกค้าคือพระเจ้า” กลายเป็นกรอบบังคับให้ต้องยิ้มแม้จะเจ็บป่วย
ถึงแม้จะได้ค่าแรงสูงและมีโอกาสเดินทางไปหลายประเทศ แต่การทำงานบนเรือสำราญก็แลกมาด้วยการห่างครอบครัวนานนับเดือน ความเหนื่อยล้าสะสม และภาวะที่ใกล้เคียงกับ “หมดไฟ” ในชีวิตการทำงาน “เราทำต่อไม่ไหว เพราะร่างกายเราไม่ไหวแล้ว”
“แรงงานข้ามชาติ” กลไกที่ถูกหลงลืมในระบบเศรษฐกิจไทย
อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวถึงแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในพื้นที่ชายแดนไทยว่า ส่วนใหญ่เป็นแรงงานวัยรุ่นจากประเทศลาว ที่มาทำงานในภาคเกษตรกรรม เช่น การปลูกยาสูบ และมะเขือเทศ ในอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม เพราะแรงงานไทยไม่ต้องการทำงานดังกล่าว “แต่เรายังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการจัดการและดูแลแรงงานเหล่านี้”
แรงงานข้ามชาติจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีส่วนช่วยเพิ่ม GDP ไทยถึง 6.2% แต่ในทางกลับกัน พวกเขากลับยังถูกมองเป็นแรงงานชั้นล่าง และขาดการคุ้มครองในระบบที่เพียงพอ ตัวเลขปี 2568 ชี้ว่า มีแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบประกันสังคมและสุขภาพ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มกองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ (ท.99) ประมาณ 730,000 คน, กลุ่มระบบประกันสังคม ประมาณ 1,430,000 คน และกลุ่มกองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว (ซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข) ประมาณ 309,000 คน แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่อยู่ในระบบผิดกฎหมาย ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการใด ๆ ได้
แรงงานข้ามชาติที่ทำงานกลางแจ้งต้องเผชิญกับอุณหภูมิสูง ไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน หรือแม้แต่ร่มเงา พวกเขาได้ค่าแรงเพียง 35 บาท ต่อการร้อยใบยาสูบ 100 ไม้ (ในกรณี อ.บ้านแพง จ.นครพนม) สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมและผลกระทบจากสภาวะโลกรวนที่ส่งตรงถึงร่างกายของแรงงาน
“แรงงานไทยในต่างแดน” เมื่อบ้านเกิดไม่อาจรองรับการกลับมา
ภัทราภรณ์ ศรีทองแท้ บรรณาธิการ Decode Thai PBS ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาไทย แรงงานไทยจำนวนมากกลับไหลออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะแรงงานอีสานที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอลและฟินแลนด์ ในอิสราเอลพวกเขาได้ค่าจ้างราว 50,000–60,000 บาทต่อเดือน แต่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากสงคราม ส่วนในฟินแลนด์แรงงานหลายคนเข้าประเทศด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวเพื่อเก็บผลเบอร์รี่ แม้ไม่มีสถานะถูกกฎหมาย ก็ยอมแลกเพราะต้องการรายได้มาจุนเจือครอบครัว
ที่น่าสนใจ คือแรงงานจำนวนหนึ่งได้นำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด เช่น ระบบน้ำหยดจากอิสราเอล หรือเทคโนโลยีการปลูกพืชในสภาพอากาศแปรปรวน แต่เมื่อกลับมาพวกเขากลับไม่สามารถเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างเต็มที่ “เรามีระบบรองรับแรงงานที่กลับมาหรือยัง?” ภัทราภรณ์ ตั้งคำถาม
แรงงานคือรากฐานไม่ใช่เพียงแรงขับ บทสนทนาบนเวทีในนครพนมไม่ใช่เพียงการแลกเปลี่ยนเรื่องงาน แต่สะท้อนถึง “ชีวิต” ของแรงงานในหลายมิติ ทั้งไรเดอร์ผู้ไร้หลักประกัน แรงงานหญิงบนเรือสำราญที่ต้องแลกสุขภาพเพื่อเงินตรา แรงงานข้ามชาติที่เผชิญกับความเปราะบาง และแรงงานไทยในต่างแดนที่แบกรับความเสี่ยงเพื่อครอบครัว ในยุคที่โลกเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว การเคลื่อนย้ายแรงงานไม่ใช่เพียงการโยกย้ายทางภูมิศาสตร์ แต่สะท้อนถึงช่องว่างของระบบโครงสร้าง เศรษฐกิจ และสวัสดิการที่ยังต้องได้รับการทบทวนอย่างจริงจัง เพื่อให้แรงงานทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในห่วงโซ่การผลิต ได้รับการเคารพในฐานะมนุษย์ และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต
ข่าว/บทความ : นครพนมโฟกัส