แม้วันนี้คดีตากใบจะหมดอายุความ โดยที่ไม่มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับครอบครัวผู้เสียชีวิตได้ สะท้อนภาพวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่ยังคงอยู่ในสังคมไทยและ อีกด้านหนึ่ง ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางความขัดแย้ง ภายใต้กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกฎอัยการศึก มาเป็นเวลายาวนานถึงราวสองทศวรรษ โดยเหตุการณ์ตากใบกลายเป็นอีกบทพิสูจน์กระบวนการยุติธรรม และเป็นภาพสะท้อนท่าทีของภาครัฐต่อปัญหาชายแดนใต้
สำหรับคดีนี้ได้ให้บทเรียนต่อสังคม และส่งผลต่อความยุติธรรมและสันติภาพชายแดนใต้ ฟังเสียงประเทศไทย ลงพื้นที่ตั้งวงเสวนาพูดคุยที่ อุทยานการเรียนรู้ทีเคพาร์ค ซึ่งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมนิทรรศการ ลบไม่เลือน 20 ปี ตากใบ
ในวาระรำลึก 20 ปี เหตุการณ์ตากใบ จัดขึ้นในห้วงที่ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบลุกขึ้นมาเพื่อยื่นฟ้องผู้กระทำผิดและก่อนคดีจะหมดอายุความ ทำให้สิ่งของแห่งความทรงจำกลับมามีคุณค่าในการเรียกร้องความยุติธรรมเเละเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เป็นบาดแผลความทรงจำ
เราเลยชวนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ คนรุ่นใหม่ นักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาสังคมเเละชาวบ้านที่สนใจ มาร่วมสนทนาเพื่อสำรวจความทรงจำ บทเรียนที่สังคมไทยพึงตระหนัก และความหวังในการแสวงหาทางออกจากวังวนความรุนแรง และร่วมกันกำหนดอนาคตของสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยมี ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง อาจารย์สาขามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ,คุณฮูเซ็ง ดอเลาะห์ ทนายโจทก์ตากใบเเละคุณอัสมาดี บือเฮง เดอะปาตานี เป็นคีย์เเมนในวงเสวนานี้
“ตากใบไม่ใช่เรื่องของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกแล้ว ตากใบเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ” เป็นคำพูดของ ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง อาจารย์สาขามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มองว่า ตากใบเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ เราจะเห็นการเชื่อมโยงตากใบกับ เหตุการณ์ 14 ตุลา (พ.ศ. 2516) เหตุการณ์พฤษภาทมิฬและเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ เพราะฉะนั้นเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย เป็นพลเมืองที่ถูกกระทําบางลักษณะของสังคมไทยด้วยกัน ถามว่าอนาคตต่อไปจะเป็นยังไง?
คิดว่าวันนี้สิ้นสุด 20 ปีตากใบไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 67 เเค่คือจุดเริ่มต้นบทใหม่ ที่เราจะสนทนากับสังคมไทยว่าเราจะ เข้าใจเรื่องแบบนี้อย่างไร เป็นการต่อสู้อีกแบบหนึ่งที่ทําให้ผู้คนจะต้องไม่ลืมเหตุการณ์ตากใบ ที่ผ่านมาเราปล่อยให้ผู้คนที่นี่อยู่กับความเจ็บปวดที่ไม่ใช่แค่การสูญเสีย แต่เป็นความเจ็บปวดที่ถูกอคติในสังคมทั้งหมด กระทําต่อเขาที่สร้างความเจ็บปวดที่มาพร้อมกับความกลัว ว่าเราจะพูดเรื่องนี้อย่างปลอดภัยได้อย่างไร
เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยพอที่จะสนทนาเรื่องนี้กับทุกคนในสังคมไทย ไม่ใช่แค่ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น เพราะว่าเราไม่ต้องการให้สิ่งนี้เกิดขึ้นอีกในสังคมไทยไม่ว่าจะพื้นที่ไหนในประเทศ เราทุกคนไม่ต้องการให้สิ่งนี้เกิดขึ้นไม่ว่าที่ใดในประเทศไทย
ที่สําคัญที่สุดที่เราจะต้องช่วยกันสื่อสารก็คือ การที่คนที่นี่ไปประท้วงที่หน้าสภตากใบ การที่คนที่นี่ลุกขึ้นมา ฟ้องร้องในคดีตากใบในวันที่ครบรอบ 20 ปี เพราะคนที่นี่ตระหนักดีว่าเราเป็นพลเมืองของรัฐนี้ เราจึงใช้ช่องทางสนทนากับรัฐนี้ด้วยการไปประท้วง ซึ่งเป็นวิธีสันติที่เราจะสนทนากับรัฐ การไปฟ้องร้องดําเนินคดีซึ่งเป็นวิธีสันติที่เราต้องการจะเรียกร้องจากรัฐ แต่รัฐมีโอกาสที่จะเลือกที่จะสนทนากับพวกเราอย่างสันติอย่างไร แต่อยากให้เห็นว่านี่คือวิธีสันติที่เราใช้ตลอดมาและ และการต่อสู้เพื่อให้รักษาความทรงจํานี้ก็เป็นอีกหนึ่งสันติวิธีที่เราต้องการจะใช้ในการต่อสู้ทางการเมือง
เราไม่ได้เลือกวิธีที่รุนแรงในการสนทนากับรัฐไทยเลยค่ะ เป็นอนาคตที่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่เราจะเดินต่อไป ได้ในการเปิดบทสนทนากับรัฐ
การบอกว่าไม่ลืมไม่ได้แปลว่ารักษาความแค้นแต่การบอกว่าไม่ลืมแปลว่าอย่าทําอย่างนี้กับเราอีกเท่านั้นเอง
หลายคนพูดถึงความเป็นเหยื่อร่วมกันของคนที่นี่ เป็นคำพูดของ อัสมาดี บือเฮง เดอะปาตานี เล่าว่า ผมเห็นภาพประเด็นตากใบ มาเป็นต้นทุนทางการเมืองคือเวลาพูดว่าเป็นทุนทางการเมืองมันไม่ได้หมายถึงดีหรือไม่ดี มันก็มีความพยายามทําให้กลไกรัฐสภาสร้างหลักประกันบางอย่างว่าเหตุการณ์แบบนี้ มันไม่ควรเกิดขึ้นอีก
ผมเคยสัมภาษณ์เยาวชนคนหนึ่ง ที่เคยร่วมเหตุการณ์ตากใบเขามีความรู้สึกมาตลอดว่าการกระทําต่อเขามันเป็นการ กระทําของสยามถ้าพูดตรงไปตรงมา มันเป็นเรื่องของคนสยามทําต่อคนที่นี่ มันไม่ใช่แค่ทหารหรือรัฐบาลทักษิณเท่านั้น สิ่งนี้เองผมรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่รื้อยาก สำหรับผมมี 2 ประเด็นที่สําคัญคือกระบวนการทําไม่มีความเป็นมนุษย์ ประเด็นที่สองคือกระบวนการทําให้มันไม่เป็นการเมือง
หลายคนพูดถึงความเป็นเหยื่อร่วมกันของคนที่นี่ไม่ใช่แค่ 84 คน ไม่ใช่แค่ครอบครัวที่สูญหายตายจาก มันรวมถึงคนที่รู้สึกว่าเราถูกกระทําเชิงเชิงสัญญะ ถ้าตั้งข้อสังเกตหลังเหตุการณ์ตากใบ ความรุนแรงเป็นสิ่งที่เหมือนจะถูกอธิบายว่ามันชอบธรรม เพราะมันเป็นเงื่อนไขที่เรารู้สึกว่าถูกกระทํา ความเข้มข้นของความเป็นชาตินิยมมลายูมันกลายเป็นสิ่งที่เข้มข้น ถามว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์ตากใบจะเป็นอย่างไร ผมรู้สึกว่าเหตุการณ์ตากใบทําให้เรารู้สึกว่าเราเป็นปีศาจ ถ้ามีโอกาสเราก็อาจจะทํากับคนที่กระทําต่อเหตุการณ์นั้นแบบนี้ อัสมาดี ย้อนความคิดในวัยเด็ก ตอนเกิดเหตุการณ์
เรารู้สึกดีที่เหยื่อออกมาต่อสู้ เรารู้สึกดีที่เห็นเพื่อนนักศึกษาออกมาเรียกร้อง บ่งบอกว่าเราไม่ได้ยอมรับการกระทําของรัฐ ที่เกิดต่อพี่น้องของเรา เเละผมไม่อาจที่จะตัดฉากตากใบออกจากความขัดแย้งทางการเมืองได้
สุดท้ายเราก็ต้องมองว่ามันเป็นหนึ่งในฉากของการต่อสู้ทางการเมือง สิ่งที่กังวลต่อเหตุการณ์ตากใบ คือเงื่อนไขทางกฎหมายมันเป็นลักษณะนี้ สิ่งที่กังวลคือหลายท่านอธิบายว่าถ้ารัฐเป็นอย่างนี้ มันจะกลายเป็นเงื่อนไขที่นําไปสู่การใช้ความรุนแรง
ส่วนตัวผมรู้สึกว่าสังคมที่นี่เพียงพอที่จะเรียนเรียนรู้ว่ามันไม่ใช่เงื่อนไขความความเคียดแค้น มันไม่ใช่ความโกรธ เเต่มันคือกระบวนการทางสังคมเองที่ทําให้คน รู้สึกว่าต้องสู้กันบนฐานความเป็นมนุษย์ ผมก็เลยคาดว่าคาดหวังว่า สิ่งที่เราลุ้นกันไม่ใช่การการนับถอยหลัง เป็นเพียงการเริ่มต้น ที่แสดงให้เห็นว่ามันเป็นสัญญาณบางอย่าง ที่บอกว่าหลังจากนี้จะการต่อสู้ทางการเมืองที่ดีกว่านี้
ฮูเซ็ง ดอเลาะห์ ทนายโจทก์ตากใบ กล่าวว่า ในส่วนของทนายความอยากจะเรียนว่า ในเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่ 04-01- 2547 เป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในบ้านเรามันส่งผล ผลความสูญเสีย ต่อประชาชนในพื้นที่ปัตตานีเองหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่มาปฏิบัติงานในพื้นที่เองมันมันสร้างความเสียหายมากมายทั้งชีวิตและก็ทรัพย์สิน
ผมมองว่า ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่บ้านเรา นอกจากคดีตากใบแล้ว ในส่วนของทัศนคติหรือแนวคิดหรือชุดความคิดของเจ้าหน้าที่ ที่มาปฏิบัติงานในพื้นที่บ้างบ้านเรายังมีอคติอะไรบางอย่างอยู่บ้าง เนื่องจากที่นี่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ มีความเป็นเชื่อชาติมลายู
กรณีตากใบค่อนข้างชัดเจนว่า เหตุการณ์ตากใบ ที่เกิดขึ้นมีกลุ่มคนที่พยายามปลุกปั่นก่อให้เกิดความเสียหาย เราได้ข้อเท็จจริงมาในการที่จะเตรียมคดีจากการสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นปรากฏว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวบ้าน ถามว่าในส่วนของประชาชนเองเขาเรียกร้องได้มากน้อยแค่ไหน
จากที่เราสนศึกษาแล้วก็ติดตามในคดีมาตลอดหรือปรากฏว่าในส่วนของชาวบ้านเองหรือคนในพื้นที่เองกลับถูกรัฐกดดันแล้วก็เหมือนจะให้ลบ เหมือนจะให้ลืมเหตุการณ์ รวมทั้งในทางคดีก็คือไม่ดําเนินการตามที่ควรจะเป็น
ชาวบ้านเองก็ยืนยันว่าจุดประสงค์ที่เราดําเนินคดีเพื่อต้องการหาคนที่ต้องรับผิดชอบ เนื่องจากว่าความเสียหายมันเกิดขึ้น การสูญเสียชีวิต ต้องมีคนรับผิดชอบในการดังกล่าว เราก็เลยยืนยันที่จะดําเนินคดีด้วยตัวเองเพื่อรักษาสิทธิของเรา คืออย่างน้อยรัฐก็ควรที่จะดําเนินการหรือว่ามีการจัดการกับกลุ่มคนหรือกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ว่าในเหตุการณ์ตากใบหรือหรือเหตุการณ์การชุมนุมที่ใดๆก็แล้วแต่ ไม่ควรที่จะมีการสูญเสียชีวิตเกิดขึ้น การจัดการต่อผู้ชุมนุมจะต้องมีขั้นตอน เป็นไปตามหลักสากล คํานึงถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์เป็นสําคัญ
สิ่งที่เราได้เห็นคือปรากฏการณ์ว่าในเหตุการณ์ตากใบมันมีลักษณะของวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล
หลังจากเราอ่านข้อมูลนี้แล้ว คุณผู้อ่านคิดอย่างไร ทีมงานมีการสังเคราะห์ ภาพความน่าจะเป็นหรือฉากทัศน์ เพื่อจำลองว่าแบบไหนที่ อยากจะเห็น หรืออยากจะให้เป็น ซึ่งคุณผู้ชมสามารถร่วมเเสดงความคิดเห็น ด้วยการเลือกจากภาพตั้งต้น 3 ภาพ
ฉากทัศน์ที่ 1 : เมฆหนาแสงมาไม่ถึง
แม้คดีตากใบจะหมดอายุความไปแล้ว โดยมีการนัดแถลงปิดคดีวันที่ 28 ตุลาคม ที่ผ่านมา แต่ก็เป็นกรณีสร้างกระแสสังคมและถูกพูดถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคม คือการที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้ตรวจสอบและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิด
อย่างไรก็ดีการที่ไม่สามารถนำตัวคนผิดมาเข้าลงโทษได้ ส่งผลโดยตรงต่อกระบวนการยุติธรรม รวมถึงความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐลดลงและอาจกลายเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดความรุนแรง
ผลของสถานการณ์ กลุ่มภาคประชาสังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องตื่นตัว เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม แต่ไม่ได้รับการตอบรับในเชิงนโยบายและการปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐ ทำให้ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้ทันเวลา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระบวนการสันติภาพและการแก้ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในชายแดนใต้
ฉากทัศน์ที่ 2 : แสงแดดรำไร
ฉากทัศน์นี้ สังคมไทยตอบรับและตระหนักถึงความสำคัญของเหตุการณ์ตากใบ นำมาสู่การถอดบทเรียนสำคัญและเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งรัฐไม่ควรใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมจนเกิดความสูญเสีย และมีความพยายามเยียวยาแก้ปมความรู้สึกพร้อมโอบอุ้มรับฟังญาติพี่น้องผู้สูญเสีย
ขณะที่รัฐไม่ได้เพิกเฉยแม้ว่าคดีความจะหมดอายุความพยายามที่จะริเริ่มกระบวนการยุติธรรม การพิสูจน์ความจริง อาทิ ตั้งคณะกรรมการที่สร้างความไว้วางใจในกรณีตากใบ และกรณีอื่นๆ ในภาคใต้ คณะกรรมการอิสระเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งต้องสร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงกับมิติสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการที่จะนำสู่ความสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่
แต่ฉากทัศน์นี้ สิ่งที่รัฐดำเนินการยังไปไม่ถึงเป้าหมายยังติดด้วยเงื่อนไขทางการเมืองและแนวทางปฎิบัติ
ฉากทัศน์ที่ 3 : พระอาทิตย์ทรงกลด
เสียงเรียกร้องของผู้ได้รับผลกระทบไม่เฉพาะกรณีตากใบ กลายเป็นเรื่องที่คนในสังคมไทยและโลกให้ความสนใจและและร่วมแสดงความเห็น กระทั่งผลักดันให้รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อเยียวยาและแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงเกิดแรงผลักดันให้เกิดกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม
โดยฉากทัศน์นี้ เน้นที่อยู่การขับเคลื่อนของภาคประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่เห็นความสำคัญและสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้น เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันให้ภาครัฐอำนวยให้เกิดความยุติธรรมทั้งในพื้นที่และอื่นๆ ให้มีความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมๆ กับการร่วมผลักดันให้เกิดกระบวนการพูดคุยฯ เป็นต้นแบบในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนต่อไป
ชมลิ้งค์วงออนกราวด์ 20 ปี คดีตากใบหมดอายุความกับการเรียกร้องความยุติธรรมที่ยังคงดำเนินต่อไปจากชายแดนใต้ เพิ่มเติม https://web.facebook.com/100066939891461/videos/1352873725960781
คุณผู้อ่านสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและเลือกภาพอนาคตนี้ได้ ที่ลิงก์ด้านล่าง
เเละสามารถติดตามชมรายการฟังเสียงประเทศไทย ตอน ตากใบไม่จบ…ลบ ( ไม่ ) เลือน ความยุติธรรม สันติภาพชายแดนใต้
ฟังเสียงประเทศไทย ชวนสำรวจความทรงจำ บทเรียนที่สังคมไทยพึงตระหนักจากบทเรียนเหตุการณ์ตากใบ 20 ปี ผ่านมุมมองนักวิชาการ นักกฎหมายและคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ถึงข้อเสนอต่อกรณีตากใบ กับ 6 มุมมอง ถึงข้อเสนอต่อกรณีตากใบ แม้คดีจะหมดอายุความไปแล้ว
- รัษฎา มนูรัษฎา ทนายโจทก์คดีตากใบ
- อัสมาดี บือเฮง จากกลุ่มเดอะปาตานี
- ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร บรรณาธิการหนังสือ ลิ้มรสความทรงจำตากใบ โครงการพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุชายแดนใต้
- ศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน
- ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ตอน ตากใบไม่จบ…ลบ ( ไม่ ) เลือน ความยุติธรรม สันติภาพชายแดนใต้ ออกอากาศวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 เวลา 17.30 -18.00 น. ทาง ทาง #ThaiPBS #ช่องหมายเลข3 หรือรับชมทีวีออนไลน์ทาง www.thaipbs.or.th/live #ฟังเสียงประเทศไทย67 #ThaiPBS #แลต๊ะแลใต้ #ภาคใต้ #ตากใบ