ผ่านพ้น 2 ทศวรรษ เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ยังคงเป็นเงาแห่งความสูญเสียที่ตามหลอกหลอนสังคมไทย เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่เพียงคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปกว่า 85 คน แต่ยังตอกย้ำบาดแผลความขัดแย้งในชายแดนใต้ให้ลึกลง และทิ้งคำถามสำคัญเกี่ยวกับความยุติธรรม และกระบวนการสร้างสันติภาพที่แท้จริงไว้เบื้องหลัง
บทสัมภาษณ์พิเศษนี้ ชวนมองเหตุการณ์ตากใบผ่านมุมมองของ ศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาการเมือง ผู้ศึกษาเรื่องอำนาจ อัตลักษณ์ และความขัดแย้งในชายแดนใต้ เพื่อร่วมกันสำรวจร่องรอยความทรงจำ บทเรียนที่สังคมไทยพึงตระหนัก และความหวังในการแสวงหาทางออกจากวังวนความรุนแรง
สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567
อาจารย์มองกรณีตากใบในปีที่ 20 ทั้งในมิติการเมือง สังคม และกฎหมายอย่างไร
‘ตากใบ’ เป็น 1 ใน 3 เหตุการณ์ที่มักจะถูกนับการเปิดศักราชใหม่ของเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ เอาเข้าจริงในเรื่องของความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ความไม่สงบมันเกิดขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มันมี 2 กระแสบวกกันก็คือ รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายที่เรียกว่า นโยบายกลืนกลายแกมบังคับ ทำให้คนมลายูมุสลิมรู้สึกว่าถูกเบียดขับจนนำไปสู่ความไม่พอใจ ประกอบกับช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดกระแสการเรียกร้องเอกราชในบรรดาประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
2 กระแสบวกดังกล่าวผนวกเข้าด้วยกันทำให้คนในชายแดนใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นกลุ่มแกนนำคล้าย ๆ กับตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวขึ้นมา เรียกกันว่า ‘ขบวนการแยกดินแดนมลายู’ เดิมทีประสงค์อยากเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาลายา ซึ่งตอนนั้นกำลังจะแยกตัวจากอังกฤษ แต่ภายหลังตั้งรัฐอิสระปาตานีขึ้นมา หลังจากนั้นก็เคลื่อนไหวเรื่อยมา ประเด็นที่เรียกร้องก็คือ เรื่องการแบ่งแยกดินแดน ตั้งรัฐอิสระปาตานี ในช่วงนั้นมีการขยายตัวอย่างมากในทศวรรษ 1970 – 1980 มีจำนวนมากถึง 84 กลุ่ม และถดถอยลงในช่วงศตวรรษ 90 จนกระทั่งคนทั่วไปคิดว่ากลุ่มนี้หายไปแล้ว
จุดเปลี่ยนสำคัญคือปี 2547 ที่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนในช่วงมกราคม กรือเซะ ในช่วงเมษายน และตากใบในเดือนตุลาคม 3 เหตุการณ์นี้ประกอบเข้าด้วยกันเพื่อจะหมายความว่านี่เป็นศักราชใหม่ ซึ่งต่างไปจากขบวนการแยกดินแดนมลายูในช่วงก่อนหน้านั้น
เหตุการณ์ตากใบอยู่ตรงไหนในกระแสเหตุการณ์ความไม่สงบในระลอกใหม่
ตากใบไม่ได้เป็นการปฏิบัติของกลุ่มนักเคลื่อนไหว แต่เป็นกลุ่มประชาชนที่ออกมาชุมนุมซึ่งไม่ได้ประสงค์ที่จะก่อความรุนแรงหรือทำร้ายใคร เพียงแต่มารวมตัวชุมนุมกันเรียกร้องความยุติธรรมซึ่งก็เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย คือ เมื่อรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมก็รวมตัวกันชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้คนที่อยู่ในอำนาจมาตอบสนองในสิ่งที่เรียกร้อง แต่สิ่งที่ตามมากลับเป็นการสลายการชุมนุมที่ไม่สมเหตุสมผล ยังไม่รวมกับการพาผู้ชุมนุมขึ้นรถบรรทุกซึ่งนำมาสู่การเสียชีวิต 70 กว่าคนเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจาก ‘กฎหมายพิเศษ’ ที่มีการบังคับใช้อยู่ในพื้นที่ในเวลานั้นก็คือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก 2457 มาตรา 16 บัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนว่าในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติหน้าที่อยู่ไม่สามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ จึงส่งผลให้เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีความระมัดระวังมากพอกับกลุ่มคนที่เข้าไปปฏิบัติด้วย ด้วยความรู้สึกที่ตัวเองมีหลังพิงอยู่ก็คือกฎหมายฉบับนี้
ถ้าไปดูข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของ BRN ไม่ว่าจะเป็นทางกิจกรรมในพื้นที่ หรือแม้แต่ในโต๊ะเจรจาสันติภาพ ไม่มีข้อใดพูดถึงตากใบ ตากใบเป็นความพยายามของคนที่สูญเสีย ตากใบเป็นความพยายามของคนธรรมดาสามัญที่พบว่ากระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่กลับไม่ได้บันดาลความยุติธรรมให้กับพวกเขาเท่าที่ควร จึงต้องลุกขึ้นมาร่วมมือกับทนายความ ร่วมมือกับภาคประชาสังคม กลุ่มองค์กรต่าง ๆ ในการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ เพราะในเบื้องต้นที่ฟ้องโดยหน่วยงานรัฐมันจบไปเรียบร้อยแล้ว แต่มันไม่ได้ตัดสิทธิ์ของผู้ที่สูญเสียจึงมีการรื้อคดีขึ้นมาใหม่จนถึงก่อนที่จะหมดอายุความ ซึ่งมันคือกระบวนการปกติ
“การที่คุณจะไปพึ่งพากระบวนการยุติธรรมที่ถึงแม้จะพึ่งพาอะไรไม่ได้แต่อย่างน้อยที่สุดก็ต้องลองดู แล้วพวกเขาก็ลองมาจนถึงตอนนี้”
ตากใบ – 6 ตุลา – สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ความเหมือนในความต่างกับความยุติธรรมซึ่งเป็นรากฐานของสังคม
ความคล้ายคลึงก็คือกลุ่มของคนที่ไปชุมนุมมีสำนึกอยู่อย่างนึง คือ ตัวเองได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ถ้าเทียบเคียงกับคนเสื้อแดง คำหนึ่งที่พวกเขาใช้เรียกตัวเองคือ ‘ไพร่’ และ ‘สองมาตราฐาน’ เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับคนในจังหวัดชายแดนใต้ที่รู้สึกเหมือนตัวเองถูกปฏิบัติเป็นพลเมืองชั้น 2 ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเทียบเท่ากับคนไทยโดยทั่วไป อยากทำอะไรตามต้องการก็ทำไม่ได้ อยากระบุในเอกสารราชการว่าเป็นสัญชาติไทย เชื้อชาติมลายู ก็ทำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นสัญชาติไทย เชื้อชาติจีน กลับได้รับอนุญาตให้ใช้ได้
ความคล้ายคลึงถัดมาคือการตอบสนองของรัฐที่มีต่อการเรียกร้องลักษณะเช่นนี้จากคนที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมก็คือการตอบสนองด้วยความรุนแรงหรือการใช้มาตรการอย่างไม่ได้สัดส่วน อาจจะมีข้ออ้าง เช่น กรณีคนเสื้อแดงมีชายชุดดำในการชุมนุม แต่เพียงแค่ข้ออ้างชายชุดดำมันไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะใช้ความรุนแรงมากขนาดนั้น ซึ่งเป็นการสังหารประชาชนกลางกรุงเทพฯขนาดใหญ่ที่สุดที่ประเทศไทยเคยมี เช่นเดียวกับกรณีตากใบ ถึงแม้จะมีการเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 7 ชีวิต แต่การเสียชีวิตที่ตามมาอย่างที่ไม่ควรเกิดขึ้นจากบนรถบรรทุกก็แสดงให้เห็นว่ามันคือมาตรการที่ใช้มันไม่ได้สัดส่วน
ซึ่งสิ่งที่ตามมาและคล้ายคลึงกันอีกก็คือ ผู้กระทำกลับไม่ได้รับผิด และยังมีกฎหมายที่พิงหลังอยู่ด้วย ในกรณีของคนเสื้อแดงมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศเขตใช้กระสุนจริง อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ยิงได้ เช่นเดียวกันในกรณีตากใบที่มี พ.ร.บ.กฎอัยการศึก เช่นกัน ซึ่งมันคือการที่กฎหมายยกเว้นการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการสร้างสภาวะยกเว้นขึ้นมาในอาณาบริเวณของกฎหมายที่อนุญาตให้ที่คนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่สามารถปฏิบัติได้ซึ่งในสภาวะปกติทำไม่ได้ ซึ่งในประเทศอื่นก็อาจจะมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เพียงแต่การบังคับใช้บางประเทศจะมีการบังคับใช้ที่ถ่วงดุลผ่านปัจจัยต่าง ๆ แต่ในกรณีของบ้านเรามันไม่มีการถ่วงดุลเท่าไหร่ อย่างกฎอัยการศึกก็ประกาศใช้โดยทหารเป็นหลักที่ใช้อำนาจกับทหารค่อนข่างเยอะ เอาผิดก็ไม่ได้ แม้กระทั่งฝ่ายบริหารเองก็เข้าไปก้าวก่ายไม่ได้ และอย่างพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ให้อำนาจฝ่ายบริหารก็คือนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีการถ่วงดุลใด ๆ เข้ามาช่วยอีก ซึ่งนี่ก็ถือเป็นโจทย์ใหญ่ในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษของประเทศไทย
กฎหมายพิเศษ ทางออกหรือกับดักแห่งความขัดแย้ง?
ถ้ามองในสายตาความมั่นคง เขาจะบอกว่า ขนาดมีกฎหมายพิเศษยังเอาไม่อยู่ ก็จำเป็นจะต้องเอาไว้ต่อไปแต่ว่ากับคนในพื้นที่เขามองว่าใช้กฎหมายธรรมดาก็พอ ซึ่งมีงานวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับในจังหวัดชายแดนใต้ ข้อที่ข้อเสนอขึ้นมาให้ยกเลิก อันแรก ก็คือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก หรือไม่ก็ให้บังคับใช้เพียงแค่ฉบับใดฉบับหนึ่ง ตามลำดับความสำคัญ แต่ในปัจจุบันมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ซ้ำซ้อนกัน เช่น บางพื้นที่ก็เจอกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ บางพื้นที่อาจจะเหลือ 1-2 ฉบับ
ตากใบจะมีนัยยะสำคัญในแง่ของเหตุการณ์ความไม่สงบ มันจะมีในแง่ของการสุมไฟ หรือเอาน้ำมันราดเข้าไปในกองเพลิง เพราะถ้าไปดูเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ มันคือปัญหาทางการเมืองที่มีเหตุมาจากวัฒนธรรม กล่าวคือคนรู้สึกว่ารูปแบบการปกครองที่มีอยู่มันไม่สอดรับกับวิธีชีวิต ความเชื่อ ประเพณี ของพวกเขา มันเริ่มต้นจากตรงนั้น แต่ขณะเดียวกันมันก็ถูกหล่อเลี้ยงด้วยความอยุติธรรม สิ่งที่พบคือหลายกรณีที่สามารถดึงเอาคนรุ่นใหม่เข้าไปร่วมได้คือการอ้างถึงการที่พ่อแม่พี่น้องญาติหรือคนที่รู้จักถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เช่น โดนควบคุมตัวทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิด เป็นต้น ความไม่เป็นธรรมที่เขาประสบพบเจอจากเหตุการณ์ต่าง ๆ มันเป็นเชื้อเพลิงที่คอยหล่อเลี้ยงเอาไว้ไม่ให้เหตุการณ์มันสงบได้
ในกรณีตากใบเป็นเหมือนบททดสอบบทใหญ่ว่ามันจะลงเอยไปในทิศทางไหน ถ้าเกิดว่ามันเอื้ออำนวยให้เกิดความยุติธรรมได้ก็จะทำให้คนในพื้นที่รู้สึกว่ารัฐไทยอย่างน้อยก็มีความไว้วางใจได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าหากเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ปฏิกิริยามันก็จะย้อนกลับและทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบลุกลามหนักขึ้นไปอีก
“รัฐและผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมยังสามารถจะพึ่งพาได้ ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ได้เป็นเครื่องมือในการกดทับหรือกำจัดกลุ่มพวกเขา หากแต่เป็นช่องทางที่พวกเขาสามารถที่จะเรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาต้องการได้”
บทเรียน(ที่ไม่ได้เรียน)จากตากใบ กับเส้นทางสันติภาพอย่างยั่งยืน
อย่างแรกคือเรื่องมาตรการในการรับมือกับผู้ชุมนุม ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยเป็นไปตามมาตรฐานสากลเท่าที่ควร เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเรามักจะบังคับใช้กฎหมายที่ใช้ใช้พิงหลัง ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อาจจะไม่ค่อยกังวล หรือคิดให้ถี่ถ้วนรอบคอบ จนละเลยเรื่องมาตรการในการรับมือกับผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องคิดถึงมาตรการรับมือการชุมนุมที่เหมาะสมและเป็นไปตามมาตรฐาน และหลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายพิเศษ เพราะมันจะทำให้คนที่อยู่สถานการณ์ขาดความรอบคอบและระมัดระวังในการใช้อำนาจ ซึ่งสิ่งเหล่ามันน่าจะช่วยบรรเทาความสูญเสียที่มันไม่ควรจะเกิดจากเพียงแค่การชุมนุมของผู้คนในพื้นที่
ถ้าท้ายที่สุดตากใบครบ 20 ปี คดีหมดอายุความ หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อ
มันก็จะสะสมความเจ็บช้ำ ความโกรธเคือง คือมันจะไม่ปะทุออกมาเป็นสเกลใหญ่ แต่มันจะฝังลึกเข้าใจ ทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้เป็นไปยากขึ้น และมันก็จะเอื้อให้ฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงมีความชอบธรรมมากขึ้นอีก อย่าให้มันเป็นเช่นนั้นเลย
ทำไมสังคมไทยต้องมีส่วนร่วมกับตากใบ หรือ ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้
ในเรื่องของตากใบ นอกจากเรื่องความต่างทางชาติพันธุ์และศาสนาแล้ว ความคล้ายคลึงที่เกิดขึ้นคือคุณไม่ได้เป็นข้อยกเว้นของความรุนแรงที่เกิดขึ้นถ้าหากคุณไปกระด้างกระเดื่องกับรัฐ กรณีของคนเสื้อแดงชี้ให้เห็นแล้วว่า คุณก็เป็นคนธรรมดาสามัญและคุณก็โดนรัฐใช้ความรุนแรงได้ เช่นเดียวกับ 6 ตุลา ฉะนั้นเรายังยินดีจะอยู่เฉยแล้วไม่เข้าไปรับรู้เรื่องราวตรงนั้นหรือ เรายังยินดีจะอยู่เฉยเพื่อว่าวันนึงคุณอาจต้องเจอเรื่องราวแบบนี้แล้วไม่มีใครมาช่วยคุณอย่างนั้นหรือ ผมไม่คิดว่าเราควรจะทำเช่นนั้น เราจะควรจะเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อที่จะได้ไม่มีใครต้องมาเผชิญกับชะตากรรมเช่นนี้อีกต่อไปในการอยู่ภายใต้รัฐไทยในฐานะที่เป็นพลเรือน
“สังคมไทยยังต้องเรียนรู้กรณีของคนชายแดนใต้ค่อนข้างเยอะ เพราะท้ายที่สุด ‘เรา’ กับ ‘เขา’อาจจะมีสภาพไม่ต่างกันเมื่อใดก็ตามที่ถูกมองว่าเป็นผู้กระด้างกระเดื่องในสายตาของรัฐ”
ปัจจุบันหลายคนดูเหมือนว่ามีความก้าวหน้าทางการเมือง รักประชาธิปไตย แต่พอเจอเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ปฏิกิริยากลับเปลี่ยนไปอีกทางหนึ่ง นี่คือโจทย์ใหญ่ อาจจะใหญ่กว่าเรื่องประชาธิปไตยด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นเรื่องไม่ยากเท่าไหร่ในการทำความเข้าใจ แต่ในเรื่องของความแตกต่างทางวัฒนธรรมมันมีความซับซ้อน ท้ายที่สุด ‘เรา’ กับ ‘เขา’ อาจจะมีสภาพไม่ต่างกันเมื่อใดก็ตามที่ถูกมองว่าเป็นผู้กระด้างกระเดื่องในสายตาของรัฐ
เขียนโดย : กัณญาพัชร ลิ้มประเสริฐ