“กุดเรือคำ” แหล่งต้มเกลือสินเธาว์ ที่ใหญ่ที่สุดใน จ.สกลนคร

“ บ้านกุดเรือคำ” ตำบลกุดเรือคำ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ที่ตั้งหมู่บ้านมีลำห้วยสายหนึ่งซึ่งไหลมาสิ้นสุดที่ทุ่งนาไม่มีทางน้ำไปต่อ ลักษณะแม่น้ำแบบนี้ภาษาถิ่นเรียกว่า “กุด” และเล่าลือกันว่ามีเรือล่องหนอยู่บริเวณนี้ เป็นเรือขนาดเล็กทำด้วยทองคำยาวประมาณ 1 เมตร เชื่อกันว่าเป็นสมบัติของเทวดา หากผู้ใดอยากพบเห็นก็ต้องกราบไหว้อ้อนวอนขอ แต่ก็มีผู้คนโลภมาก อยากได้เรือนั้นมาเป็นสมบัติของตนเอง จึงไปเชิญหมอผีมาทำพิธีขับไล่เทวดารักษาเรือทองคำ แต่ก็ไม่มีใครทำได้สำเร็จคนโลภเหล่านั้นก็มักจะเสียชีวิตอย่างกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงเป็นที่มาของชื่อบ้าน กุดเรือคำ

บ้านกุดเรือคำก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อราวปีพ.ศ. 2433 มีผู้คนอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณแห่งนี้ หลังโครงการสำรวจน้ำบาดาลในจังหวัดสกลนครเมื่อช่วงปีพ.ศ. 2520 ได้เจาะพบน้ำบาดาลเค็มใต้ดินบริเวณบ้าน กุดเรือคำ และหมู่บ้านใกล้เคียงชาวบ้านจึงเริ่มพากันขุดบ่อด้วยมือ บางบ่อใช้เวลานานถึงหนึ่งสัปดาห์กว่าจะพบน้ำเค็ม ต่อมาจึงใช้เครื่องขุดเจาะน้ำบาดาลแล้วใช้เครื่องสูบน้ำมาต้มโดยใช้กระทะที่ทำขึ้นจากแผ่นสังกะสี  ชาวบ้านหลายคนตัดสินใจที่จะต้มเกลือ ตั้งแต่นั้นมา

“ ต้มเกลืออยู่ตรงนี้เราก็มีการเสียภาษี และต้มเกลือก็เป็นรายได้ที่ดีที่สามารถ มีเงินส่งลูกเรียนหนังสือได้ ” ผู้ประกอบการต้มเกลือกุดเรือคำ

ชาวบ้านกุดเรือคำทั่วไปมีอาชีพทำนาและมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่มีอาชีพต้มเกลือ โดยบริเวณเตาที่ต้มเกลือเดิมเคยเป็นนาข้าวมาก่อน ตั้งอยู่บริเวณถนน หนองแวง-บ้านดุง โดยผู้ประกอบการจะลงทุนเจาะบ่อน้ำด้วยกันแล้วต้มด้วยกัน บางคนซื้อน้ำเค็มจากเจ้าของบ่อเกลือมาอาศัยที่ดินของตนเองตั้งเตาต้มเกลือซึ่งไม่คุ้ม จึงกลับไปรวมกลุ่มกันเจาะน้ำบาดาลเพื่อสูบน้ำขึ้นมาต้มด้วยกัน

คนต้มเกลือที่กุดเรือคำ มีจำนวนโรงต้มเกลือกว่า 40 โรง โดยจะมีประมาณรายละ 2 กระทะ ส่วนใหญ่จะใช้แรงงานในครอบครัวต้มเกลือเองและญาติพี่น้อง ส่วนผู้ที่มีกระทะต้มเกลือมากตั้งแต่สามกระทะขึ้นไปจะจ้างแรงงานเพิ่มเติมจากแรงงานในครอบครัว เพราะการต้มเกลือ 1 กระทะต้องใช้แรงงาน 2 คนขึ้นไป

**1 กระทะ ลงทุนทำเครื่องมือประมาณ 20,000 ถึง 30,000 บาท**

หลังจากที่ได้เกลือมาแล้ว ก็จะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ และนำไปขายต่อทั่วประเทศ ทั้งเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร ขึ้นภาคเหนือ หรือแม้แต่กระจายตัวในอีสาน ในการนำเกลือไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารที่หลากหลาย

อ้างอิง : นิทานธรณีเกลือ : เล่าความลับใต้ดินอีสาน ,บำเพ็ญ ไชยรักษ์. นนทบุรี : โรงพิมพ์คลังวิชา, 2561

ภาพโดย : จักรพันธ์ จันทร์ปัญญา เลนส์ไทบ้าน

แชร์บทความนี้