เตือน 7 จว.ริมโขงอีสานเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ นักวิชาการชี้ต้องติดตามผลกระทบระยะยาว

5 เมษายน 2567 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 1/2567 เรื่อง เฝ้าระวังผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง ระบุว่า ตามที่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้มีหนังสือแจ้งเตือนประชาชน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 แจ้งการเกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ ทำให้กรดซัลฟิวริก (Sulfuric Acid) ไหลลงสู่แม่น้ำคาน บริเวณแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 ซึ่งระยะทางจุดเกิดเหตุห่างจากอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ประมาณ 293 กิโลเมตร

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขง พบว่าสารเคมีจะเคลื่อนตัวผ่านเขื่อนไซยะบุรี วันที่ 5 เมษายน 2567 ซึ่งจะทำให้สารเคมีเจือจางลง จากนั้นจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย (จังหวัดเลย) ช่วงวันที่ 8 – 10 เมษายน 2567 และจากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำแม่น้ำโขงในประเทศไทย

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยได้ติดตามสถานการณ์และประสานสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ให้พิจารณาประสาน สปป.ลาว ในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนไซยะบุรี เพื่อเจือจางสารเคมี พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยดำเนินการตรวจวัดคุณภาพน้ำพร้อมรายงานสถานการณ์ให้จังหวัดทราบอย่างต่อเนื่อง เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว และขอให้จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โปรดประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง และแจ้งเตือนให้ประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง การประมงสัตว์น้ำ รวมทั้งผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ

ด้าน ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ระบุแม้สารเคมีอาจจะเจือจางลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบหลังเกิดเหตุในระยะยาว ที่อาจจะเกิดกับปลา สัตว์น้ำ และ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ

“ในประเทศลาว แม่น้ำคานปลาคงตายเยอะ เพราะกรดซัลฟิวริกพอลงน้ำก็กลายเป็นกรด เหมือนกับเอาน้ำกรดไปใส่ปลา สิ่งมีชีวิตทุกอย่างน่าจะตายเกือบหมด พอไหลลงแม่น้ำคานแล้วมาถึงแม่น้ำโขงอาจจะมีการเจือจาง แล้วเวลาก็อาจจะนานขึ้น ไม่แน่ใจว่าจะกระทบมากน้อยแค่ไหน แต่น่าจะมีส่วนไม่มากก็น้อย

ถ้าเป็นเรื่องสารเคมีต้องติดตามข่าว และหน่วยงานราชการที่มีอุปกรณ์เครื่องมือคงต้องตรวจคุณภาพน้ำระยะยาวหลังจากเกิดเหตุการณ์ แล้วก็ดูว่าน้ำเปลี่ยนแปลงแค่ไหน การตรวจคุณภาพน้ำกรณีกรด ตรวจเรื่องของค่า PH เรื่องของออกซิเจนที่ละลายในน้ำ และติดตามดูว่ามีการตายของปลาชนิดไหนบ้าง มีปลาอะไรขึ้นมาเยอะกว่าปกติไหม ทางชีวภาพคงต้องตรวจสอบ

แต่ว่าภายใน 1-2 วันนี้ อาจจะยังไม่เห็นผลเพราะว่าน้ำยังมาไม่ถึง แต่พอหลายวันไปแล้วยังตรวจไปได้เรื่อย ๆอีกประมาณ7-10 วัน ติดตามไป เพราะเราไม่ทราบว่าความเร็วของน้ำกับตัวมวลของสารพิษจะมาประมาณกี่วัน พอมีน้ำกรดหรือสารพิษอย่างหนึ่งลงไปในน้ำมันอาจจะเปลี่ยนเป็นสารอื่น ๆ หรือให้ผลอื่น ๆ ตามมาได้ ซึ่งเราไม่ทราบ บางทีเราไปตรวจตรง ๆ ในประเด็นหนึ่งอาจจะไม่เห็นผล ต้องตรวจหลาย ๆ ประเด็นที่รอบข้าง จะต้องให้นักสิ่งแวดล้อม นักเคมี เขาคงจะชี้จุดหรือจับจุดที่จะตรวจได้ถูกซึ่งผมก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องนี้โดยตรง”

นอกจากเหตุการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดเหตุรถบรรทุกพลิกคว่ำและสารเคมีรั่วไหลลงสู่แม่น้ำคาน แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ในเขต สปป.ลาว ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนต่อแหล่งน้ำในพื้นที่ชุมชน โดยพบว่ามีความถี่เพิ่มมากขึ้น และอาจมีสาเหตุที่ไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้อย่างชัดเจน (Nonpoint source pollution) ขณะที่วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง Citizen science กลายเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการสังเกต เฝ้าระวัง ป้องกัน และแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุ

“เรื่องของน้ำเสียที่ลงมาสู่แม่น้ำ มันเป็นเรื่องที่เหมือนหนามยอกอกคนไทยมานาน น้ำเสียที่หาแหล่งไม่เจอ จริง ๆ มันคงเจอแต่เขาไม่บอกแหล่ง คือ ฝ่ายผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็อาจจะทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะว่ามันจะมีหลายกรณีที่ปลาตาย เช่น แม่น้ำบางประกง หรือ แม่น้ำอื่น ๆ ปลาตายบ่อยมาก และก็มีการโทษชาวนาทำนาปีปล่อยน้ำมา ผมคิดว่าหน่วยงานควรมีการตรวจคุณภาพน้ำจากแหล่งที่น่าสงสัยบ่อย ๆ และน่าจะมีการสร้างสมรรถนะของชุมชน คล้าย ๆ กับว่า ชุมชนที่อยู่ในจุดที่มีโรงงานอุตสาหกรรม เขาจะต้องรู้จุดว่าอยู่ตรงไหน ปากท่ออยู่ตรงไหน แล้วก็หมั่นไปจับตามอง โดยภาคเอกชน ภาคราชการมีข้อจำกัดเยอะก็อาจจะทำงานได้ไม่ถี่ถ้วน เช่น เกิดกรณีน้ำเปลี่ยนเห็นการปล่อยน้ำเสียออกมา ก็บันทึกภาพเก็บน้ำส่งไปตรวจได้  อยากแนะนำว่าให้ประชาชนจับตาดูว่าปากท่อลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ มันเกิดอะไรขึ้น และตรวจให้ทันท่วงทีแล้วแจ้งข่าวเลย ดูว่าฝ่ายทางผู้ถือกฎหมายทำอย่างไรถ้าเกิดได้รับความละเลยว่ามีเรื่องไม่ชอบมาพากล ชุมชนเหล่านี้สามารถรวมตัวชี้จุด

ตอนนี้ทางกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ภาคประชาชนมีความแข็งแกร่งมากครับ ใช้ประโยชน์ทางสื่อมีความแพร่หลายกว่าเมื่อก่อน  และมีความรู้ในการสังเกตสภาพแวดล้อม สังเกตสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในแม่น้ำ ที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่าได้เร็ว ทำการบันทึกภาพส่งข่าวมาเราสามารถทำได้เร็วมากขึ้น ทีนี้อยู่ที่ว่าชุมชนน่าจะมีส่วนดูแลได้ เราก็มีกลุ่มรักแม่น้ำโขงแต่ละหมู่บ้าน ที่มีในกลุ่มไลน์โซเชียลมีเดียทั้งหลาย เราน่าจะมีความหวังเรื่องการตรวจจับคุณภาพ เฝ้าตรวจระวังสิ่งแวดล้อมดีขึ้นครับ”

แชร์บทความนี้