สังคมสูงวัย แรงงานข้ามชาติ ความท้าทายของศตวรรษที่ 21 ที่ยากจะแยกออกจากกัน

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ปรากฏการณ์นี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดแรงงานและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติที่เพิ่มมากขึ้น

จากการสัมมนาสาธารณะเนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นฐานสากลปี 2567 ที่จัดขึ้นโดย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่ผ่านมา ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ ได้นำเสนอสิ่งที่เรียกว่าเป็นทางเลือกเชิงนโยบาย ซึ่งอาจจะช่วยให้ประเทศสามารถฝ่าวิกฤติเรื่องสังคมผู้สูงอายุได้ และอาจทำให้เราต้องทบทวนและปรับมุมมองใหม่ต่อประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติ

อนาคตประชากรไทย จะมองไปทางไหนก็มีแต่คำถาม?

ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ เริ่มต้นวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมผู้สูงอายุ แรงงานข้ามชาติ และผลกระทบต่ออนาคตของประเทศไทย โดยอธิบายสถานการณ์สังคมสูงวัยในประเทศไทย ผ่านการอ้างอิงข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นซึ่งเผยแพร่เมื่อปี ค.ศ.2019

ทางยูเอ็นได้ทำการคาดการณ์สถานการณ์ประชากรของประเทศต่างๆ โดยระบุว่าประเทศไทยจะสูญเสียประชากรถึง 1 ใน  3 หรือก็คือจะมีประชากรลดลงถึง 34.1% เมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองเพียงประเทศญี่ปุ่นที่คาดการณ์ว่าจะมีประชากรลดงถึง 41%

ตัวเลขดังกล่าวอาจดูน่าหวาดหวั่น แต่นั่นก็ยังเป็นเพียงแค่ปฐมบทเท่านั้น ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในปี ค.ศ.2020 ทางThe Lancet ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ทั่วไปรายสัปดาห์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งเก่าแก่ที่สุดและได้รับการยกย่องมากที่สุดในโลก ได้คาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี ค.ศ.​2100 ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรลดลงมากกว่า 50%

ข้อมูลคาดการณ์จำนวนประชากรของประเทศต่างๆ ในปี ค.ศ.2100 โดยองค์การสหประชาชาติ

ทีนี้เมื่อมาดูงานวิจัยในประเทศก็พบว่าสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน จากงานวิจัย  “สถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร” โดย ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน และ ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ ได้ชี้ให้เห็นว่าค่าอัตราการเจริญพันธุ์รวมของประเทศไทยในปี ค.ศ.2021 นั้นมีค่าเท่ากับ 1.16  (อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข)

ทั้งนี้ค่าอัตราการเจริญพันธุ์รวม หรือค่า TFR (Total Fertility Rate) หมายถึง จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่สตรีวัยเจริญพันธุ์คนหนึ่ง หรือ 1,000 คน จะมีได้ตลอดวัยเจริญพันธุ์ โดยค่า TFR ที่ 1.16 นี้ จะทำให้ทำให้ประเทศไทยในอีก 60 ปีข้างหน้า มีประชากรลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น คือมีจำนวนที่ 33 ล้าน

เมื่อถึงเวลานั้นคาดการณ์ว่าวัยแรงงาน จากจำนวน 46 ล้านจะเหลือเพียง 14 ล้านเท่านั้น ขณะที่ประชากรสูงวัยจะเพิ่มจากจาก 8 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน (นับแบบสากลโดยนับที่อายุ 65 ปี) ซึ่งจำนวนนี้ถือเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด จึงเกิดคำถามขึ้นว่าแล้วเราจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไปได้อย่างไร

บทบาทของแรงงานข้ามชาติในสังคมสูงวัยที่ใกล้ตัวขึ้นมาทุกวัน

ปัญหาประชากรลดลงทั่วโลกกำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ แม้ในอดีตที่ผ่านมา ความกังวลส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นไปที่ปัญหาประชากรล้นโลก แต่ปัจจุบัน อัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและอัตราการตายที่เพิ่มขึ้นในบางภูมิภาค ส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของจำนวนประชากรโลก นั่นทำให้เกิดแนวคิดเรื่องการย้ายถิ่นเพื่อเสริมความมั่นคงทางประชากรทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพได้ หรือที่เรียกว่า Replacement Migration Policy

ทั้งนี้ Replacement Migration Policy นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยองค์การสหประชาชาติได้เสนอแนวคิดนี้ไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.2001

โดยมีความหมายถึงนโยบายการจัดการย้ายถิ่นจำนวนมาก (Massive Immigration Policy) เพื่อทดแทนประชากรที่ลดลงจากการเกิดที่ลดลง เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางประชากร โดย ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ ได้ยกตัวอย่างประเทศที่มีการใช้นโยบายการนำเข้าประชากรเพื่อรักษาระดับประชากร


“อย่างสหรัฐอเมริกาแม้จะดูเหมือนมีท่าทีต่อต้านผู้อพยพ แต่เขาก็มีระบบในการนำเข้าประชากรอย่างถูกต้องปีละมากกว่าหนึ่งล้านคน ขณะที่แคนาดาตัวเลขปีนี้เขาต้องการที่ 480,000 คน และปีหน้าเขาต้องการมากขึ้นไปอีก โดยตั้งเป้าว่าต้องมากกว่า 500,000 คน

ส่วนเยอรมันเขาใช้คำว่า Massive Migration Reform เพราะเคยรับประชากรจากภัยสงครามซีเรียอย่างไม่มีระบบ เลยต้องตั้งต้นใหม่ให้มีระบบ โดยเขามีการออกวีซ่าชนิดที่ยังไม่มีงานทำก็เข้าไปก่อนได้ เข้าไปแล้วแล้วค่อยไปหางานทำ ไม่จำเป็นต้องมีนายจ้างก่อนถึงจะได้วีซ่า”

ทั้งนี้ ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ ได้ทำการคาดการณ์จำนวนประชากรของประเทศไทยในอนาคตในปี ค.ศ.2100 โดยใช้วิธีการทางสถิติและคณิตศาสตร์ ออกเป็น 4 แนวทางด้วยกัน ดังนี้

1.  No policy -กรณีไม่ทำอะไรเลย ถ้าอัตราการเกิด ค่า TFR ไม่ลดลง ถึงตอนนั้นจะมีประชากรจำนวน 32 ล้านคน

2. Replacement migration policy – ถ้าอัตราการเกิดค่า TFR ยังคงเดิม แต่มีการนำเข้าประชากรปีละ 200,000 คน ถึงตอนนั้นจะมีประชากรจำนวน 45 ล้านคน

3.National Agenda on Childbirth promotion to replacement level – ถ้าวาระแห่งชาติที่ส่งเสริมการมีบุตรทำได้สำเร็จตามแผน และสามารถขยับอัตราการเกิด ค่า TFR เป็น 2.1 ได้ แต่ไม่มีการนำเข้าประชากร ถึงตอนนั้นจะมีประชากรจำนวน 42 ล้านคน


4.Multi-phasic response policy – ทำหลายๆ ด้านพร้อมกัน โดยเพิ่มทั้งอัตราการเกิด ค่า TFR เป็น 2.1 และนำเข้าประชากรปีละ 200,000 คน ถึงตอนนั้นจะมีประชากรจำนวน 62 ล้านคน

การคาดการณ์จำนวนประชากรของประเทศไทยถึงปี 2100 โดยมีสมมติฐานอยู่บนพื้นฐานของนโยบายระดับชาติปัจจุบันเกี่ยวกับการส่งเสริมการเกิดบุตร และนโยบายการย้ายถิ่นฐานทดแทนที่เสนอ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

จะเห็นว่าหากต้องการให้ประเทศไทยมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับจำนวนในปัจจุบัน เราจำเป็นจะต้องเพิ่มอัตราการเกิดและนำเข้าประชากรไปพร้อมๆ กันถึงจะเป็นไปได้

นโยบายการย้ายถิ่นเพื่อทดแทนประชากร: ความเป็นไปได้และสิ่งที่ต้องทำ?

สำหรับแนวทางและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าวนั้น ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ ได้เสนอว่าหากประเทศไทยจะนำนโยบายนี้มาใช้นั้นจะต้องกำหนดเป้าหมายจำนวนประชากรที่ต้องการนำเข้าให้ชัดเจน และทำงานเชิงรุก เพื่อเสาะหาประชากรให้ได้ตามเป้า

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปก็คือการส่งเสริมการเกิด Active Aging สุขภาพดีทุกอายุเพื่อลดอัตราการตาย เลื่อนอายุเกษียณจาก 60 ปี เป็น 65 ปี และต่อไปก็ขยับเป็น 70ปี  นอกจากนี้ก็จะต้องมีการส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์ AI ทดแทนแรงงาน รวมไปถึงมีการแชร์ทรัพยากรมนุษย์ผ่าน ASEAN MOU

“ควรทำตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะตอนนี้การแย่งชิงทรัพยากรมนุษย์ยังไม่รุนแรง ในอนาคตจะแย่งชิงมากขึ้น อีกอย่างคือตอนนี้ประชากรไทยยังลดลงไม่มาก เรามีประชากรเป็นฐานมากพอ ที่จะนำประชากรใหม่ๆ เข้ามาได้ การบูรณาการกันระหว่างคนที่อยู่มาก่อนกับคนที่ย้ายมาใหม่ยังเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่หากประชากรลดลงเยอะแล้ว การบูรณาการให้ผสมกลมกลืนจะทำได้ยาก”

ทาง ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ ได้ทำข้อเสนอแจกแจงให้เห็นว่าถ้าประเทศไทยตั้งเป้านำเข้าประชากรปีละ 200,000 คน คนจำนวนนี้จะมาจากไหนได้บ้าง โดยแบ่งเป็น

ครม. เป็นผู้เสนอ เพื่อตอบสนองโครงการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชาติเช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC จำนวน 20,000 คน 

อปท. เป็นผู้เสนอ เพื่อเพิ่มประชากรในระดับภูมิภาคที่เชื่อมโยงกับพื้นที่หรือธุรกิจ SMEs ซึ่งทั่วประเทศมีองค์กรปกครองท้องถิ่น 7,850 แห่ง ถ้าคิดเป็นแห่งละ 20 ก็จะเป็นจำนวนราวๆ 160,000 คน

รัฐสภา เป็นผู้เสนอ เพื่อคัดเลือกประชากรคุณภาพเพื่อพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม จิตวิญญาณ อีก 20,000 คน

ถึงตรงนี้เราอาจจะต้องกลับมาตั้งคำถามว่าในเมื่อทั่วโลกต่างก็เผชิญหน้ากับปัญหาจำนวนประชากรที่ลดลง ศักยภาพในการนำเข้าแรงงานของเรานั้นสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้แค่ไหน

ปัจจุบันเรามีสัดส่วนนำเข้าแรงงานต่ำกว่าประเทศสิงค์โปรและมาเลเซีย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรายังไม่มีการปรับปรุงกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานแรงงานข้ามชาติให้มีการคุ้มครองและสวัสดิการที่ดีพอเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ

ยกตัวอย่างการสอบใบประกาศวิชาชีพอย่าง หมอ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก บัญชี ประเทศไทยเรายังกำหนดให้ต้องสอบเป็นภาษาไทยเท่านั้น ขณะที่ประเทศสิงค์โปรและมาเลเซียนั้นการสอบขอใบอนุญาตนั้นใช้เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้แรงงานเหล่านี้จึงไหลเข้าประเทศเพื่อนบ้าน


ด้านกระทรวงมหาดไทยก็เริ่มมีการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้มีกำลังแรงงานเพียงพอในภาคเศรษฐกิจ โดยได้เตรียมออกประกาศกระทรวงเพื่อการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าง 2 ฉบับ ดังนี้

ฉบับที่ 1 เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม

มีสาระสำคัญให้แรงงานทั้ง 4 สัญชาติ ที่การอนุญาตให้อยู่หรือทำงานอยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย, ที่ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาต แต่ทำงานกับนายจ้างโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สามารถอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว ถึง 30 ธ.ค. 67 เพื่อดำเนินการขออนุญาตอยู่และทำงานตามที่ประกาศกระทรวงแรงงานกำหนด

เมื่อดำเนินการตามที่กำหนดและคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ทำงานแล้ว ให้สามารถอยู่ในประเทศไทยได้เป็นกรณีพิเศษเพื่อทำงานได้จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 69 

ฉบับที่ 2 เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

มีสาระสำคัญ กำหนดให้คนต่างด้าว 4 สัญชาติ ที่ได้รับอนุญาตตามมติ ครม. ให้อยู่ทำงานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้ามาตาม MOU ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลทั้ง 4 ประเทศ สามารถขออนุญาตอยู่ในประเทศไทยต่อได้อีก 2 ปี ถึง 13 ก.พ. 70 และสามารถต่ออายุได้อีก 1 ครั้งเป็นเวลา 2 ปี ถึง 13 ก.พ. 72 รวมแล้วเป็นการขยายระยะเวลาให้ขออยู่เพื่อทำงานในประเทศไทยได้อีก 4 ปี

ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ เน้นย้ำว่าการจะตรียมรับมือสังคมผู้สูงวัยควรต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

“รัฐต้องให้ความสำคัญและลงทุนกับมัน ในบางกรณีอาจต้องมีเงินสนับสนุนเพื่อให้มีการย้ายเข้ามา และควรต้องมีหน่วยงานด้านความมั่นคงทางประชากร คนเข้าเมือง และพลเมือง อย่างออสเตรเลียทำมานานแล้วตั้งแต่หลังสงครามโลก เพราะถ้าไม่ทำ เขาจะเจอวิกฤตปัญหาประชากรอย่างแน่นอน ซึ่งตอนแรกนำเข้าจากอังกฤษอย่างเดียว แต่ตอนหลังก็เปิดกว้าง สิงคโปร์ก็เชิงรุกมากมีส่วนงานที่ชื่อ The Ministry of Home Affairs responsible for national security ,public safety, civil defense, border control and immigration ซึ่งสะท้อนให้ถึงความจริงจังของเรื่องนี้

ไทยเรามีสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แต่มันไม่พอ ถ้าจะรับมือเรื่องนี้จริงจังควรต้องมีหน่วยงานที่มีสถานะและความสำคัญเป็นระดับกระทรวง เพราะเรากำลังจะสร้างประเทศขึ้นมาใหม่จากสถานการณ์ที่ประชากรลดหายไปครึ่งหนึ่ง”

แชร์บทความนี้