ฟังเสียงประเทศไทย: พื้นที่ช้ำน้ำอยุธยา จากอุทกภัยซ้ำซากสู่การรับมือน้ำท่วม 2567

ถอดบทเรียนปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอยุธยา พื้นที่ที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมสูงเกือบทุกปี เพื่อหาความเป็นไปได้กับเรื่องของการจัดการน้ำในพื้นที่ภาคกลางที่เป็นธรรม และมีส่วนร่วมของประชาชน 

นี่คือโจทย์ที่ฟังเสียงประเทศไทย เดินทางลงพื้นที่ วันอินทาราม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่าน เพื่อชวนแทนคนอยุธยากว่า 30 คน และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ มาร่วมระดมความเห็น การบริหารจัดการน้ำพื้นที่อยุธยา เพื่อให้คนอยุธยาต้องเจอกับสภาวะช้ำน้ำไปทุกปี 

ขอ 3 คำ การจัดการน้ำที่อยุธยาอยากเห็น –

สอาด สุขสุแดน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า เวลาประชุมสภาเกษตร ทุ่งบางบาลบ่นกันว่าเวลาน้ําท่วม ท่วมก่อน เวลาแห้ง แห้งทีหลังเขา ผมก็ไม่เข้าใจทีนี้ พอแห้งทีหลังเขา ทำนารอบแรก มันก็จะล่าล่นไปอีก ไปทําเอาเดือนธันวาคม – มกราคม กว่าจะไปเก็บเกี่ยวเมษายน เขาจะต้องรีบทํา เพราะว่าเดี๋ยวไม่ทัน 15 กันยายน ปฏิทินการเพาะปลูกของเกษตรออกมาแล้วว่า 15 กันยายน ในช่วงรับน้ํา แต่ว่าน้ําไม่มี พอน้ําไม่มีเขาก็ทําไม่ทัน จังหวัดอยุธยาเราใช้น้ําเขื่อนน้อยมาก เพราะเรามีแม่น้ําเจ้าพระยาขึ้นมาถึง 

ผมอยากนําเรียนกรมชลประทานว่าตรงไหนที่มีสถานีสูบน้ํา อยากสูบน้ําให้เขาทํานาให้ได้ เดือนเมษายน มันจะเก็บเกี่ยวทัน 15 กันยายน ถ้าทําตามนี้ ฝั่งบ้านผมบางไทรทําทันตามนั้นทีนี้กังวลแม่น้ําบางบาล บางไทรตรงนี้ เพราะปัจจุบัน สมมุติว่าน้ําเยอะ ๆ ปล่อยจากแม่น้ําน้อย แม่น้ําป่าสัก ไปถึงบางไทร เต็มที่ 3,000 น้ําท่วมเยอะ ถ้าเกิดบางไทร บางบาล อีกคลองหนึ่งเปิดไปอีกมันจะเป็นกี่พัน ผมก็ไม่รู้ พอเลยจากอยุธยาไป 3 โคก จ.ปทุมธานี สองฝั่งถูกกั้นหมด 

มันผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะระบายน้ําได้ทันรึเปล่าถ้าเกิดว่าบางๆบางไทรไอ้นั่นแม่น้ําน้อยป่าสักแล้วก็บางๆบางไทรรวม 3 แยกบางไทรเนี่ยผมอยู่ท้ายแล้วนะแล้วแม่น้ําที่อยู่แถว ๆ ปทุมสามโคกเนี่ย เขารับได้แค่ 2,000 แล้วเปิดไป 4,000 แล้วน้ํามันจะไปตรงไหน บ้านผมก็ขยับไม่ไหว

สันติ โฉมยงค์ ต.คลองสระบัว จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า เรากําลังเห็นชุมชนถูกทิ้งให้ร้าง เพราะว่าเป็นพื้นที่ที่ถูกบังคับให้ท่วม ตอนนี้คนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมา เวลาน่านน้ําเค้าก็ต้องย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง ไปอยู่หอพัก หรือบางคนก็ทิ้งถิ่นฐานเลย ขายบ้าน ขายที่ดิน หรือว่าย้ายไปอยู่ที่อื่น ย้ายโรงเรียนไปเลย

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในโซนบาง ๆ โซน บางบาล เสนา ผักไห่ ชุมชนถูกทิ้งร้าง มีแต่ผู้สูงอายุหรือกลุ่มที่เขาเรียกว่าอาจจะเป็นคนที่ไม่มีกําลังทรัพย์มากนักที่จะย้ายถิ่นที่อยู่แล้ว ที่สําคัญก็คือมันทําให้ทั้งวัดทั้งโรงเรียนไม่มีพระ ไม่มีนักเรียน โรงเรียนหลายแห่งกําลังจะถูกยุบ 

เราเห็นภาพว่า ถ้าไม่แก้ปัญหาเรื่องการจัดการน้ําในโซนนี้อีก 10-20 ปีข้างหน้า ชุมชนจะล่มสลายนะครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากเห็นก็คือเราต้องช่วยกันเรื่องบริหารจัดการน้ํา ทํายังไงที่จะดึงคนกลับมาให้ทํามาหากิน หรือว่ามีอาชีพอยู่ได้ ทั้งในช่วงที่น้ําท่วม และน้ําไม่ท่วม ต้องทําภาพนั้นให้เกิดให้ได้ เพราะไม่งั้นคนทิ้งร้างชุมชนหายหมด

ปรีชา ดัสดุลย์ ต.บางโพ จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ชะตากรรมของคนอยุธยา หรือโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเรื่องน้ํามันเป็นประเด็นหลัก เอย่าใช้คําว่าน้ําท่วม เพราะน้ําท่วมมันก็อาจจะลดเร็ว ลดช้า แต่อยุธยาคือพื้นที่รับน้ําที่เป็นภาระของคนที่อยุธยา 

ประเด็นต่อมาคืออยุธยาเป็นพื้นที่แล้งน้ํา จะเห็นว่าอยุธยาน้ําท่วมทุกปี แต่น้ําทํานาไม่ถึง 40% ที่เข้าทุ่งและอีกอย่างนึงที่เป็นน้ํามือของโครงการรัฐ ทุ่งน้ําเน่า คลองขนมจีนน่าทั้งปี เพราะว่ากรมชลประทานไปสร้าง ประตูน้ําตั้งแต่โรงห่าน และมีกรมโยธามาสร้าง สร้างและปิด สมัยก่อนคนบางซ้าย คนเจ้าเจ็ด  ไปหาปลา ปลาเยอะมาก กุ้ง หอย ปู ปลา เยอะมาก แต่น้ํามือของนโยบายรัฐมาสร้างประตูน้ํา ปรากฏว่าน้ําเน่าทั้งปี 

การช่วยเหลือเยียวยา ปี 2565 ไม่เป็นธรรมเลย ที่บ้านกระทุ่มท่วมหลังแรก ท่วมครึ่งหลัง แต่แถวข้างในท่วมแค่บันไดบ้านครั้งแรกได้ 9,000 เท่ากัน ไม่เป็นธรรม และภาครัฐจะอ่อนแอตอนน้ําท่วม แต่จะมาเข้มแข็งตอนน้ําลด เอาของมาแจก นี่คือปัญหาที่ไม่เป็นธรรม อยากให้แก้ตรงนี้ น้ําท่วมหลังแรกท่วม 3 เดือนต้องเข้าไปช่วยเลยและช่วยทุกเดือน 

ประเด็นหนึ่งที่อยากจะฝากกับหน่วยงานของกรมชลประทาน ผมสังเกตแล้วคือทํางานแบบฟังก์ชั่น ต่อสายตรงกับ สทนช. แล้วก็นโยบายก็ลงมาข้างล่าง ผมเคยเป็นกรรมการจังหวัด สมัยนั้นกรมชลประทานทํางานกับจังหวัดก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะเขาต้องทํางานใส่หลักฟังกรมชลประทานมากกว่า กุญแจอยู่กับกรมชลประทาน เพราะฉะนั้นทํายังไงจะให้บริบทของการบริหารราชการแผ่นดินของกรมโยธาธิการ มันมีการมีส่วนร่วมบริหารจัดการพื้นที่รับน้ํา ฟังเสียงประชาชน และคุยกับประชาชนบ่อย ๆ

กมลชนก สถาพรอมรวุฒิ ต.บางชะนี อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า คนที่อยู่ริมน้ํา จะมีคําพูดที่ว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนนอกคันกั้นน้ํา คนนอกพื้นที่เศรษฐกิจ เป็นการผลักภาระให้กับชาวบ้านที่อยู่ริม ซึ่งมาก่อนคันกั้นน้ํา คันกั้นน้ําของเขาคือถนน ถนนปีไหนท่วม ปีนั้นทํา แล้วชาวบ้านจะหาเงินที่ไหนมาดีดบ้านได้ทุกปี 

ชาวบ้านบางคนมีการปรับตัว ใครมีเงิน มีความสามารถในการกู้เงินก็เอามาดีดบ้าน หลังนึงอย่างน้อยเป็นแสน สมมุติปี 2554 ที่ผ่านมา เคยท่วมบ่าถนน ปีต่อไปก็ถมถนนขึ้นมา พอมาปี 2564-2565 บ่าอีกถนนก็กําลังทําอีก แล้วบ้านที่เคยดีดไปหลังจากปี 2554 ก็ถึงพื้นบ้าน อีก 10 ปี น้ําถึงพื้นบ้านนี่คือการพัฒนาเหรอคะ พัฒนาจากหัวเข่าเป็นมิดหัว 

คําพูดกับชาวบ้านอยุธยาว่าพื้นที่รับน้ํา อะไรก็อยุธยาบางบาล เสนา พื้นที่รับน้ํา แต่คุณเคยบริหารจัดการให้คนรับน้ําได้แค่ไหน เคยลงมาถามเค้าไหม ถ้าวันนี้แก้ไขไม่ได้ สํารวจเลยว่าบ้านใครเตรียม หางบประมาณมาดีดบ้าน บ้านที่เขาไม่ท่วมพื้น เขาอาจจะไม่ได้เขียนขอชดเชยก็ได้ 

แล้วก็เรื่องชดเชย กว่าจะได้เงินชดเชยซ่อมแซมบ้าน 6 เดือน น้ําท่วมตั้งแต่สิงหาคม กว่าจะแห้งพฤศจิกายน ปี 2565 ได้เงินชดเชยวันที่ 8 พฤษภาคม ปี 2566 ก่อนเลือกตั้งหนึ่งอาทิตย์ ถามว่าชาวบ้านจะทันไหม ยังหาช่างไม่ทันเลย ฝนมาอีกแล้ว ช่างยังไม่ทันจะมา น้ํามาอีกแล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปซ่อม ถ้าทําไม่ได้ก็หางบประมาณดีดบ้านให้ชาวบ้าน สํารวจก่อนเลย คิดว่าแก้ไขง่ายแล้วก็ทันเวลามากกว่า

ฐิติวัฒน์ กลีบมาลัย ชาวบ้าน อ.เสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า โซนผมจะอยู่เสนาตอนใต้เป็นทุ่งท่วมช้ากว่าแถวนี้ แต่ท่วมนานแล้วก็แล้งหนัก เวลาท่วม 3 เดือน โดยประมาณ แต่เวลาแล้ง 6 เดือน ของผมเป็นพี่น้องเป็นโซนพื้นที่ปลูกข้าวเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วตอนนี้ข้าวพี่น้องชาวนายังไม่ได้เก็บเกี่ยว กําลังเริ่มออกรวง เพราะปัญหาต่อเนื่องมาจากตอนช่วงแล้ง ทางชลประทานให้เลื่อนการเพาะปลูก ก็เลื่อนการเพาะปลูกไป จะเลื่อนไปปลูกกันประมาณเดือนมิถุนายน ตอนนี้ข้าวกําลังจะเก็บเกี่ยว เริ่มออก 

แล้วที่ตกลงกันไว้ ว่า 15 กันยายน จะปล่อยน้ําเข้าทุ่ง ตรงนั้นทํา MOU กันไว้ นั่นคือการทํานาปกติ จะเริ่มปลูกข้าวตั้งแต่หนึ่งพฤษภาคม แล้วตอนนี้เลื่อนไปปลูกมิถุนายน ก็ต้องเริ่มเก็บเกี่ยวไปประมาณ 30 กันยายน ตอนนี้ถ้าปล่อยน้ําเข้าไปในทุ่ง พี่น้องชาวนาทุ่งทางเสนาตอนใต้จะถูกน้ําท่วม ทําให้เสียหาย

ถามว่าชาวบ้านพร้อมไหมรับมือกับน้ําน้ําท่วม ชาวบ้านพร้อมอยู่แล้ว ถามว่าทางหน่วยงานรัฐ ทางชลประทานพร้อมหรือเปล่า เดี๋ยวนี้ทําไมเวลาท่วม ท่วมเยอะ เพราะน้ํามีเจ้าของ เขตใคร เขตมัน ดูแลพื้นที่ใครพื้นที่มัน แต่เวลาจะผ่านต่อไป ของผมเป็นทุ่งที่รับน้ําจะต้องผ่านสู่แม่น้ําต่าง ๆ เมื่อผ่านไปไม่ได้ ก็จะอยู่ในทุ่งเสนาผักไห่ เสนาทางตอนใต้รับกันอยู่เต็ม ๆ แล้วท่วมแล้ว เป็นพื้นที่ถูกลืม เพราะอะไร ตอนนี้เป็นข่าวหมดเลย ตั้งแต่ชัยนาทลงมาออกข่าวหมด แต่เวลาไปท่วมเสนาตอนใต้เลิกแล้ว เสนาตอนใต้ไม่เคยได้รับการเยียวยากันช่วยเหลือเลย

นพดล มีสมจิตร ต.บางหลวง อ.บางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ผมมาอยู่ที่นี่ สังเกตว่าบ้านตรงข้าม แต่ก่อนแกจะมาดูทีวีที่บ้าน ข้ามเรือมาประจํา ช่วงหลังหลังมาแกต้องย้ายบ้าน เพราะว่าน้ํามันเซาะ ตรงข้ามบ้านก็กําลังจะพังกัน เขื่อนที่เขาทํากันก็พังอีก อันนี้เป็นปัญหาซึ่งผมสังเกตบ้านเราของแม่กิมเตียงน่ะก็ต้องย้ายขึ้นไปอีกหน่อย หนีน้ํา โดยกู้เงิน ด้วยการเอาที่ดินไปจํานอง จํานํา ก็อันนี้คือชาวบ้านต้องลงทุนเอง รัฐไม่ได้ช่วยอะไร

ผมตั้งข้อสังเกตว่า ทําไมน้ํามันถึงสูงขึ้น แต่ก่อนยังมีจ้างเขาเลื่อยกระดานหนุนขึ้นมาทีละหน่อย ยังพอหนุนรอน้ําได้ เดี๋ยวนี้ไม่ได้ เพราะว่าถนนมันสูงขึ้น แต่ละปีถนนพัง พอถนนพัง เค้าก็มาซ่อมมาถม อันนี้ก็เป็นปัญหา น้ําที่เราบอกว่ามันมากขึ้นทุกปีอย่างที่ผู้ใหญ่สามารถพูด ผมว่ามันเกี่ยวกับคันกั้นดินด้วยที่มันสูงขึ้น เพราะระดับบันได 9 ชั้น มันต้องทําเป็น 12 ชั้นแล้ว มันก็ลําบาก

จตุพร แสงนาค ชาวบ้านจาก อ.บางซ้าย จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ตอนเนี่ยน้ํายังไม่ค่อยมาก แต่เท่าที่ผมไปดูมา อยากให้กรมชลประทาน ดูแลหน่วยงานในการจัดการบริหารจัดการน้ําให้ดี หลายจุดประตูรั่ว เครื่องเสีย อันนี้จุดนึงที่ทําให้เกิดน้ําท่วมได้ เพราะว่าสูบไม่ได้ น้ํารั่วเข้า
พงศ์พาณิช ตนุพันธ์ ประธานสภาองค์กรชุมชน ตําบลบ้านกุ่ม อําเภอบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า บ้างกุ่ม อยู่ในเขตชลประทานของมหาราช ซึ่งกํานันผู้ใหญ่บ้านเค้าไม่ได้คุยที่มหาราช เค้าคุยที่บางบาน ฉะนั้นข้อมูลของบ้านกุ่ม ก็จะเป็นปัญหา ตอนนี้เราประสาน ปภ. เพื่อขอเรือช่วยเหลือกับผู้สูงอายุ คนพิการ และกลุ่มเปราะบาง 

ส่วนด้านชลประทาน ตอนนี้ผมเชื่อว่าน้ําจากแม่น้ํายม ลงมาไม่ถึง 1,700 ลูกบาศก์เมตร ตอนนี้ที่บ้านกุ่ม น้ําล้นตลิ่งก็ประมาณ 4 หลัง เพราะว่ากรมชลประทานใช้คําว่าน้ําล้นตลิ่ง ยกเว้นเป็นล้นตลิ่งถึง 2 เมตร ไม่รู้จะพูดว่าอย่างไร เพราะว่าเค้าใช้ถนนเป็นตัวกั้นคันกั้นน้ำต้องการอย่างเดียว ให้เค้าเฉลี่ยน้ํา ถ้ากรณีว่าหลังจากเดือนกันยายน จะมีพายุจรมาก็ตาม ให้เฉลี่ยน้ำไปซ้าย-ขวาหน่อย อย่าให้คนที่อยู่นอกคันกั้นน้ํา เดือดร้อนถึงชั้นสอง

สามารถ ทองงาม ผู้ใหญ่บ้านตําบลบางหลวงโดด อําเภอบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า บางบาล วิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องน้ํามาก ชาวบ้านไม่ได้กลัวน้ําปี 2554 กลัวปี 2565 ครับ เพราะว่าปี 2565 พื้นที่บางบาลน้ํามากกว่าปี 2554 ซึ่งมวลน้ํามันน้อยกว่าปี 2554 จริง แต่การบริหารจัดการมันมาอยู่ที่บางบาลซะมากกว่า

ซึ่งปีนี้ผมสังเกตน้ําจากสุโขทัย ปริมาณมันก็น่าจะมากกว่า หรือใกล้เคียงของปี 2565 เหมือนกัน ผมก็เป็นกังวลเหมือนกันเรื่องของการบริหารน้ํา ถ้าบริหารดีบางบาลท่วมไม่เยอะแน่นอน แต่จะบอกว่าบางบาลไม่รับน้ําไม่ได้ ถ้าบางบาลไม่รับน้ํา มันก็ต้องไปทางเสนา บางซ้าย บางไทร ทุกคนสามารถที่จะรับรับน้ําท่วมได้ แต่ขอให้บริหารจัดการ กระจายให้ชาวบ้านอยู่ได้ ไม่มีความเดือดร้อน 

ทำความเข้าใจพื้นที่อยุธยา น้ำท่วมซ้ำซาก –  

ฝนมาแล้วต้องรับมือน้ำท่วม ที่มาเป็นประจำทุกปี ทั้ง 2554  2564 และ 2567 อยุธยาได้ชื่อว่าพื้นที่โมเดลรับมือน้ำท่วมของหน่วยงานราชการที่มักพาคนมาดูงาน

แต่ในความจริง คนในพื้นที่ยังต้องการความชัดเจน ‘น้ำจะท่วมเมื่อไหร่ สูงขนาดไหน และจะท่วมนานไหม’ เพื่อจะได้เตรียมการรับมือกันได้ หรือในอนาคตจะมีแนวทางไหน ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

น้ำท่วมอยุธยาซ้ำซาก เป็นเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ โดยมี ‘แม่น้ำเจ้าพระยา’ เป็นน้ำแม่สายหลัก จากพิกัดทางภูมิศาสตร์ อยุธยาเป็นจังหวัดที่อยู่กึ่งกลาง ระหว่างระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน และตอนล่าง

จากแผนที่ เราจะเห็นแม่น้ำที่กระจายอยู่ ใน อยุธยาตอนบน รองรับน้ำมาจากแม่น้ำลพบุรี และคลองสายบางแก้ว ซึ่งเป็นสายย่อย เพื่อไหลเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อยุธยาฝั่งตะวันออก รับน้ำจากแม่น้ำป่าสัก และ คลองระพีพัฒน์ ซึ่งเป็นคลองสายย่อย ฝั่งตะวันตก ทางตอนบน รับน้ำจากแม่น้ำน้อย คลองบางบาล คลองเจ้าเจ็ด ส่วนตอนล่าง ก็รับน้ำจากคลองพระยาบันลือ
จากภูมิศาสตร์ อยุธยากลายเป็นด่านแรก ของการรับน้ำในภาคกลางตอนล่าง และเป็นจุดที่แคบที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนไหลต่อไปที่ ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ สมุทรปราการ เพื่อไปยังทะเลอ่าวไทย 

เครื่องมือการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

ที่ผ่านมา ในพื้นที่ อยุธยา ก็มีเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำอย่าง

  1. ประตูระบายน้ำหลายจุดที่มีอยู่ตลอดลำน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณของน้ำ ในแต่ละช่วงของแม่น้ำเจ้าพระยา 
  1. คันกั้นน้ำของกรมชลประทาน ซึ่งหลายจุดถูกเปลี่ยนให้เป็นคันถนนที่ถูกถมสูง จนกลายเป็นคั้นกันระหว่างชุมชนริมแม่น้ำ กับชุมชนในพื้นที่แปลงเกษตร นำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนนอกคันกันน้ำและคนในคันกันน้ำ
  1. ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างจะมี “ทุ่งรับน้ำ” ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำท่วม โดยการจัดการของรัฐ อยู่ 10 ทุ่ง มีพื้นที่รวมกันเกือบ 1 ล้านไร่ สามารถรับน้ำได้มากกว่า 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร
  1. ส่วนการเฝ้าระวังภัย มีแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของจังหวัด ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐจะแจ้งเตือนชาวบ้านล่วงหน้า เมื่อระดับน้ำจากเสาวัดระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น เฝ้าระวัง เสี่ยง หรืออันตราย 
  1. โครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน คือ โครงการ ‘คลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร’ มูลค่ากว่า 21,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาคอขวดของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ วัดพนัญเชิง ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรัง และเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำ ตามแผนแม่บทแก้ปัญหาน้ำท่วม 

ที่ผ่านมา ความพยายามเพื่อแก้ปัญหาแต่กลับสร้างปัญหาให้กับบางพื้นที่ และหลายกรณีนำสู่ความขัดแย้ง จากมุมมองและความต้องการแก้ปัญหาที่ต่างกัน

Image Name

ข้อท้าทายของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในการปกป้องเมือง 

อยุธยาเมืองประวัติศาสตร์ที่เป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลก นอกจากการประกาศขึ้นทะเบียนนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็น “มรดกโลก” อยุธยายังมีแหล่งโบราณสถานสำคัญตั้งอยู่ใกล้ชิดแม่น้ำกระจายตัวอยู่ทั่วไป

ต้องดูแลเมืองอู่ข้าว อู่น้ำ ที่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวแปลงใหญ่ติดอันดับของประเทศไทย จากพื้นที่ทั้งจังหวัดเป็นพื้นที่เกษตรกรรมมากกว่า 55 เปอร์เซนต์ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข่าว

ในหน้าประวัติศาสตร์  “ข้าว” เป็นที่มาของอำนาจทางการเมืองของอยุธยา และด้วยการให้ความสำคัญกับข้าวและความสมบูรณ์ในการเพราะปลูกนี้ อยุธยาจึงดำรงความยิ่งใหญ่ในฐานะศูนย์กลางการปกครองได้นานถึง 417 ปี

อีกทั้งยังต้องปกป้องเมืองอุตสาหกรรมที่มี 2 พันโรงงาน 5 นิคม ‘อยุธยา’ ปัญหาน้ำท่วมยังมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรง เนื่องจากความแปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศ 

การเปลี่ยนผ่านจากปรากฏการณ์ El Nino ไปสู่ La Nina ในช่วงปลายปี 2567 ทำให้มีการคาดการณ์ปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ในช่วงครึ่งปีหลัง

ขณะที่ พื้นที่รับน้ำลดลงทุกปีจากการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ที่ดิน มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมชนบทไปสู่สังคมเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนมีโอกาสอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายจากน้ำท่วมที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น 

แต่เราก็ยังมีความหวังในการแก้ปัญหา ทั้งจากรัฐบาลที่เห็นความสำคัญ มีการออกนโยบายและจัดทำโครงการต่าง ๆ ในการรับมือน้ำท่วม ส่วนหน่วยงานของท้องที่ ก็มีความพยายามในการแก้ปัญหา โดยการตั้งศูนย์บัญชาการรับมือน้ำท่วม ควบคู่ไปกับ การมีนโยบายการกระจายอำนาจ ที่เปิดให้หน่วยงานท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทหน้าที่ในการจัดการภัยพิบัติด้วยตนเอง

มาถึงปีนี้ 2567 คนอยุธยาก็เริ่มมีการเตรียมรับมือกับน้ำท่วมแล้วในหลายพื้นที่ จากการปักหมุดรายงานผ่าน C-Site ถึงสถานการณ์ฝนที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น ร่วมทั้งลำน้ำสาขา ในพื้นที่ อ.บางบาล อ.เสนา และ อ.ผักไห่ ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ เริ่มเตรียมตัวรับมือสถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังจะมาถึง “การบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมที่ทำให้คนอยู่ได้” นี่คือ โจทย์สำคัญของคนอยุธยาในวันนี้

4 มุมมอง การบริหารจัดการน้ำอยุธยา –  

น้ำท่วมซ้ำซาก ความเดือนร้อนที่ทั้งประชาชน และเกษตรกรต้องแบกรับ ควบคู่ไปกับดูแลรักษาความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ และการพัฒนาของเมือง ทั้งหมดนี้คือโจทย์ที่ต้องเดินหน้าไปพร้อม ๆ กับเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ฟังมุมมองแนวการบริหารจัดการน้ำจากตัวแทนนักวิชาการที่ทำงานศึกษาเรื่องการจัดการน้ำในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐ และผู้แทนประชาชน ทั้ง 4 ท่าน 

  • คมลักษณ์ ไชยยะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชนและสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
  • วันชัย ปังพูนทรัพย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน พระนครศรีอยุธยา
  • ปวีณา ทองสกุลพันธ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สส.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 พรรคประชาชน

คมลักษณ์ ไชยยะ กล่าวว่า เราเคยตั้งคําถามไหมครับ ว่าน้ําท่วมที่เราทนอยู่ไม่ได้ มันเริ่มตั้งแต่ปีไหน ผมเข้าใจว่าคนบางบาลน่าจะเริ่มตระหนักตอนปี 2554 แต่ปี 2554 ถึงจะเกิดภัยพิบัติค่อนข้างรุนแรง แต่มันเป็นน้ําท่วมที่มีความยุติธรรมพอสมควร 

ปี 2554 น้ำท่วมกันถ้วนหน้า ไม่ว่าคุณจะอยู่พื้นที่ไหน ในความรู้สึกคนทั่วลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะรู้สึกแบบว่าที่อื่นเค้าก็ลําบากเหมือนเราเลย แต่ที่นี่เราเดือดร้อนกว่าคนอื่น ที่บางบาลปัญหามันเริ่มปรากฏชัดหลังปี 2554 เป็นต้นมา หลังปี 2554 เริ่มจากภาวะช็อกของสังคมที่เกิดน้ําท่วมครั้งใหญ่ ทําให้รัฐบาล ตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มมีการใช้แผนบริหารจัดการน้ำ 9 โมเดล 

แผน 9 โมเดล จะมีอยู่อยู่โมเดลหนึ่งก็คือ การใช้ทุ่งรับน้ำ เป็นพื้นที่รับน้ําจากน้ำเหนือก่อนจะเข้ากรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่พอดีเกิดการรัฐประหาร คสช. เข้ามาแทน แผนงานก็ถูกสานต่อ แล้วก็ถูกนํามาใช้ปฏิบัติการของการใช้ทุ่งรับน้ํา บริเวณตั้งแต่ใต้เขื่อนชัยนาทลงมาจนถึงทุ่งรังสิต 

12 ทุ่งรับน้ำ เริ่มขึ้นครั้งแรกตอนสมัยปี 2560 ผมคิดว่าทุกท่านก็จําได้ว่าปี2560 เราเกิดภาวะช็อกมากว่า ทําไมน้ำมันท่วมได้ขนาดเท่ากับ 2554 เลย แต่ปรากฏว่าข่าวจน้อยมาก เพราะมันเป็นพื้นที่เฉพาะบริเวณพื้นที่เกษตรกรรมของอยุธยา ข่าวไม่ดัง 

หลังจากปี 2560 เกิดเอลนีโญ 2561-2563 เกิดภัยแล้ง ไม่มีน้ำท่วมเหมือนกับเราก็จะลืมไป คิดว่าน้ำอาจจะไม่ท่วมแล้ว มีโครงการที่จะมาทําอะไรต่าง ๆ เริ่มเข้ามา เพราะว่ารัฐบาลคุณประยุทธ์ก็ใช้แผนมี9 โมเดล เริ่มมีการขุดคลองบางบาล-บางไทรช่วงนั้นด้วย มีโครงการผันน้ำจากใบพัดที่กําลังก่อสร้างอยู่ชัยนาทป่าสักลงมาเยอะแยะไปหมดเลย 

พอปี 2564 ก็เกิดน้ำท่วมซ้ำอีกครั้งอีก คนอยุธยาก็ตกใจอีก แล้วยังไม่พอ เราก็คิดว่ามันน่าจะนาน ๆ ที ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยเกิด ปี 2564 ชาวบ้านเริ่มคิดแล้วว่า 2560 เคยท่วม 2564 เคยท่วมแต่เดิมเคยอยู่มาตั้งแต่ปู่ย่า ตายาย น้ำท่วมในระดับที่เค้าทนได้คือปี 2538  

หลังจากนั้นชาวบ้านก็จะเริ่มดีดบ้าน ทําพื้นให้สูง มีการปรับปรุงบ้าน ปี 2538 คือจุดอ้างอิง แล้วคนแถบบางบาล หลังจากปี 2538 เค้าอยู่มาโดยสงบ รอดพ้นจากน้ําเป็นส่วนใหญ่ แต่พอมาเจอช่วงหลังปี 2554 แล้วก็ปรากฏชัดในปี 2560 

2564 แล้วมาซ้ําด้วยปี 2565 คนบางบาลได้ข้อสรุปว่าน้ํามันเปลี่ยนแล้ว แต่มันไม่ใช่การเปลี่ยนโดยธรรมชาติ มันเป็นการเปลี่ยนจากการกระทําของมนุษย์ ซึ่งนโยบายที่มีความสําคัญที่ทําให้เกิดปรากฏการณ์นี้ก็คือการใช้ทุ่งรับน้ํา 12 ทุ่งรับน้ํา ตั้งแต่เขื่อนชัยนาทป่าสัก ลงมายังถึงบางบาล

เป้าหมายของการเกิดของทุ่งนเค้าเขียนไว้ชัด ว่าเพื่อไว้ป้องกันกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่ให้น้ําท่วม การมีทุ่งแก้มลิงที่เราเห็นอยู่ข้าง ๆ ของคนบางบาล จึงไม่ใช่ทุ่ง เพื่อคนบางบาล แต่มันเป็นเพื่อพื้นที่เศรษฐกิจทางตอนล่าง

วันชัย ปังพูนทรัพย์ อธิบายภาพรวมว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีชลประทานอยู่ทั้งหมด 14 หน่วยงาน 3 เขต แบ่งเขตกันจริง ๆ คือเป็นแบ่งเขต เพื่อบริหารจัดการน้ำ ส่งน้ำ เพื่อพื้นที่การเกษตร แต่ว่าเวลาเกิดอุทกภัย เราใช้ส่วนกลางเป็นคนสั่งการ ผมไม่ได้เป็นคนสั่งว่าให้เปิดประตู นั้นปิดประตูนี้ หรือระบายน้ําที่เขื่อนเจ้าพระยาเท่าไหร่ เราก็จะแบ่งน้ําออกซ้ายขวามา 

น้ำน้อยเท่าไหร่ หรือว่าเขื่อนป่าสักจะปล่อยไหม ส่วนกลางเขาบริหารทั้งหมด แล้วถ้าเขื่อนเจ้าพระยาระบายถึง 1,500 ก็จะเป็นอํานาจของ สนช. แล้วก็นายกเป็นคนสั่งการว่าจะเอาน้ําเข้าทุ่งหรือไม่เข้าทุ่ง แต่ว่าวันนี้ยังเป็นหน้าที่ของชลประทานอยู่ เพราะเราระบายไม่ถึง 

คนละพื้นที่กัน พื้นที่ที่ผมบริหารจัดการก็ไม่เกิดผลกระทบอะไร แต่ว่าวันนี้ที่มา ผมเข้าใจว่าเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทุกครั้งไป เพราะว่าเราต้องระบายน้ำออกทางด้านนี้ แล้วแม่น้ำน้อยมีความคดเคี้ยว พอตอนปลายเราจะระบายออกแม่น้ําเจ้าพระยายาก เนื่องจากว่าลําน้ําเจ้าพระยาใหญ่กว่า แม่น้ำน้อยจะเข้าไปไม่ได้ ต้องต่อคิว พอต่อคิวปุ๊บน้ําข้างบนก็เหมือนเข้ามาอีก ก็ระบายออกพื้นที่ข้าง ๆ ทั้งหมด 

แล้วส่วนที่อาจารย์พูดถึง 9 โปรเจกต์ใหญ่นั้น คลองบางบาล บางไทร เป็นหนึ่งในโปรเจกต์แรกที่เราเริ่มก่อสร้างแล้วอีก 8 โปรเจกต๋ อยู่ระหว่างขั้นตอนศึกษา ยังใช้เวลาอีกนาน ถ้าแล้วเสร็จทั้งหมดทั้ง 9 โปรเจกต์ จะไม่มีปัญหา เพราะเราจะสร้างคลองใหม่เกือบทั้งหมดระบายออกได้ทั้งหมด คลองบางบาล บางไทร ถ้าเกิดว่าเสร็จแล้ว จะแบ่งน้ำจากเจ้าพระยาสายหลักออกมาในเขตเกาะเมืองทั้งหมด จะรับน้ําได้ประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็จะลดผลกระทบของในเขตเกาะเมืองได้ แล้วพอรวมตอนปลาย จะประมาณ 3,500 ก็ไม่สร้างผลกระทบทางด้านปลายด้วย

ด้านปวีณา ทองสกุลพันธ์ กล่าวว่า ในพื้นที่มีการเตรียมความพร้อม มีการประชุมก่อนแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุม เพื่อที่จะดําเนินการเตรียมการว่า วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ 

เมื่อต้นสิงหาคม เราเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นประจํา ทุกสัปดาห์ เพื่อที่จะมาวิเคราะห์ประเมินกันว่า น้ําที่ทางชลประทานปล่อยมา น้ําจะท่วมที่ไหนบ้าง แล้วก็ต้องช่วยเหลือประชาชนยังไรบ้าง 

ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ให้ทางทาง ผอ.โครงการชลประทานไปสํารวจในเรื่องของประตูระบายน้ําทั้งหมดที่มีอยู่ว่ายังมั่นคงแข็งแรงอยู่ไหม พอที่จะรับน้ําที่จะปล่อยมาหรือไม่ แล้วในช่วงของภาคอุตสาหกรรมก็เหมือนกัน ท่านผู้ว่าฯ ก็ลงไปดูเขื่อนป้องกันน้ําท่วมของนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งที่ท่านผู้ว่าฯ ไปดู 2 แห่งแล้ว ที่บางปะอินกับที่โรจะนะ อันนี้ก็สบายใจได้สําหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเขาทําคันสูงกว่าน้ําท่วมปี 2554 ขึ้นไปอีก 1.50 เมตร สามารถที่จะป้องกันน้ําไว้ได้

ในส่วนของภาคประชาชนที่เป็นทุ่งรับน้ํา ที่เราพูดพูดกัน ท่านผู้ว่าฯ ตั้งแต่ที่ท่านมา เมื่อปี 2565 ท่านทําหนังสือถึงผู้บริหารแล้วว่า อยุธยาเป็นพื้นที่ที่เสียสละในเรื่องของการรับน้ํา ทํายังไรจะให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับค่าชดเชยมากกว่าที่ระเบียบของทางราชการกําหนดไว้ ซึ่งอันนี้ก็ยังไม่มีคําตอบอะไรมา ทาง ปภ. เป็นคนทําหนังสือขึ้นไปเอง 2 ปีแล้ว ยังไม่มีคําตอบอะไรกลับขึ้นมาตามที่ท่านผู้ว่าฯ ขอไป 

ประชาชนของเราต้องอยู่กับน้ํา 3-4 เดือน ในเรื่องของพื้นที่รับน้ํานอกคันกั้นน้ํา จะมีอะไรมาชดเชยมากกว่าระเบียบที่ทางราชการกําหนดไหม อันนี้ท่านผู้ว่าฯ ก็มีหนังสือสอบถามไปแล้วนะท่านผู้ว่าฯ ให้ความสําคัญกับพื้นที่ที่เป็นทุ่งรับน้ํา 

ตอนนี้ ถ้าคุณอยู่นอกคันกับอยู่ในคันกั้น การเยียวยาไม่แตกต่างกัน ระเบียบของทางราชการเท่ากันหมดเลย บ้านเสียหายทั้งหลัง จะเป็นการเหมารวมทั้งหมด แล้วทั้งระเบียบไม่แบ่งว่านอกคันกั้นน้ํา หรือในคันกั้นน้ํา มันเป็นระเบียบของกระทรวงการคลังที่กําหนดมา 

เวลาอยุธยาท่วมมันไม่ได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ถ้าอย่างปี 2565 เราประกาศ ปี 2566 ที่ผ่าน มา เราประกาศแค่เขตพื้นที่ ประกาศจะมีอยู่สองประเภท ประกาศตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ คือประกาศให้ตรงนี้เป็นพื้นที่ประสบภัย 

อีกประกาศคือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือเพื่อที่จะใช้เงินทดลองราชการ แต่เมื่อปี 2564 และ 2566 ที่ผ่านมา ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง เค้าใช้เงินของเค้าในการบริหารจัดการ หรือว่าการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่แต่ถ้าปี 2565 ประชาชนได้รับผลกระทบทั้งสิ้นแสนกว่าครัวเรือน ซึ่งท้องถิ่นรับไม่ไหว ทางท่านผู้ว่าฯ ก็ต้องเป็นผู้ดําเนินการให้ความช่วยเหลือ มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือ  

ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ กล่าวในฐานะผู้แทนประชาชนว่า เรื่องที่สําคัญที่สุดที่พี่น้องประชาชนสะท้อน คือ ระบบแจ้งเตือนภัยที่ค่อนข้างที่จะล่าช้า และก็ไม่สาารถเข้าถึงพี่น้องประชาชนได้ ทําให้เขาไม่สามารถที่จะเตรียมรับมือได้ทัน พอเตรียมรับมือไม่ทันแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นในบ้านเรือนกับชีวิตของประชาชนมันก็มากขึ้นตามไปด้วย นี่คือเรื่องที่อยากจะต้องขอสะท้อนผ่านพี่น้องสื่อมวลชนถึงหน่วยงานรัฐต่าง ๆ แล้วก็รัฐบาลในเรื่องของระบบแจ้งเตือนภัยที่ต้องรวดเร็วมากกว่านี้ 

อย่างที่สองที่สําคัญ หลายท่านได้สะท้อนให้ฟังแล้ว ว่าถ้าน้ํามาแล้ว อย่าให้น้ํามันมากเกินไปจนเค้าไม่สามารถอยู่ได้ โดยเฉพาะพี่น้องที่อยู่นอกคันกั้นน้ํา หรืออยู่ริมแม่น้ําครับ เพราะว่าอย่างที่ได้พูดคุยกัน พี่น้องชาวอยุธยา แรกเริ่มเดิมที เราใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับน้ํา พึ่งพาอาศัยสายน้ําอยู่แล้วแต่ก่อนสายน้ําพลัดพาความเจริญ พัดพาแร่ธาตุมา ให้เรามีความอุดมสมบูรณ์ แต่กลายเป็นว่าปัจจุบันนี้พอมีการพัฒนาคันกั้นน้ํา ซึ่งเป็นถนน ทําให้เกิดเป็นกําแพงขนาดใหญ่ที่กั้นระหว่างพื้นที่ในทุ่ง 

ระดับพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำ แต่ประเด็นคือพื้นที่เหล่านั้นที่อยู่นอกคันกั้นน้ํา เป็นพื้นที่ที่พี่น้องประชาชนตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอยู่เป็นจํานวนมาก ทําให้ปัจจุบันการบริหารจัดการน้ําไม่มีการผันน้ําอย่างเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขเข้าไปในทุ่งรับน้ํา ทําให้พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ หรือพื้นที่ริมแม่น้ำ มีระดับน้ำที่สูงมากขึ้นเรื่อย ๆ สูงขึ้นตลอดแทบทุกปี 

อย่างที่หลายหลายท่านสะท้อน ปี 2554 อาจจะน้อยกว่าปี 2565 ที่ผ่านมา แต่สิ่งที่สําคัญมากกว่านั้นคือ มันมากขึ้นไปถึงพื้นบ้านเค้าแล้ว พื้นบ้านของพี่น้องชาวอยุธยาเนี่ยคือชั้นสองนะพวกเค้ามีใต้ถุน แต่มันถึงชั้นสองแล้ว นั่นคือความลําบากที่มันเจ็บช้ําน้ําใจ แล้วมันเป็นเหมือนการซ้ําเติมกัน ทั้งที่เขาเป็นผู้เสียสละที่จะปกป้องผู้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่เศรษฐกิจ ที่นี่มีวิถีที่ผูกโยงอยู่กับน้ําอยู่แล้ว คือให้อยู่กับน้ำอยู่ได้ แต่น้ำท่วมสูงมากขึ้น มันไม่ไหวและท่วมนาน 

นี่เป็นเพียงมุมมองส่วนหนึ่งที่ถูกสะท้อนในวงเสวนาฟังเสียงประเทศไทย ทุกท่านสามารถติดตามเสียงสะท้อนจากคนอยุธยา และ 4 มุมมอง จากนักวิชาการและหน่าวยงานที่บริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดอยุธยาแบบเต็ม ๆ ได้ที่ 

 

โหวตฉากทัศน์ –

หลังจากได้ฟังมุมมองจากวิทยากรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลแล้ว เรามีภาพฉากทัศน์ที่เป็นตุ๊กตาตั้งต้นเพื่อให้ทุคนได้นำไปคิดต่อ ด้วยกัน 3 ฉากทัศน์ ภาพฝันของการบริหารจัดการน้ำที่ทุกคนอยากเห็น เพื่อช่วยรักษาอยุธยา เมืองอู่ข้าว อู่น้ำ และเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ ไม่ต้องกลายเป็นพื้นที่ช้ำน้ำ มาให้ได้ลองโหวตเลือกกัน

ฉากทัศน์ 1 ท้องทุ่งผู้เสียงสละ

พื้นที่นอกแนวคัดกั้นน้ำและทุ่งรับน้ำยังคงทำหน้าที่รับน้ำท่วมที่หลากมาก่อนถึงพื้นที่เมืองลุ่มต่ำ พระนครอยุธยายังคงได้ชื่อว่าปราการรับน้ำ เพื่อป้องกันพื้นที่ศูนย์กลางการเมืองเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผู้คนให้ความสำคัญ 

รัฐส่วนกลางบริหารจัดการน้ำผ่านโครงสร้างเขื่อนและประตูระบายน้ำ โดยมีพื้นที่นอกคันกั้นน้ำและทุ่งรับน้ำเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการป้องกันน้ำท่วม แต่การบริหารจัดการต้องถูกให้ความสำคัญมากกว่าในอดีต ทั้งจากสถานการณ์ที่ดินเปลี่ยนมือ ท้องทุ่งหลายแห่งแปลงสภาพเป็นบ่อทราย พื้นที่อุตสาห กรรม และที่อยู่อาศัย 

ขณะที่อายุเฉลี่ยของผู้คนสูงขึ้น ทำให้ยากลำบากในการใช้ชีวิต กระทั่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น รัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ทั้งปัจจัยสี่ ค่าชดเชยเสียโอกาส การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และการดูแลสภาพจิตใจ เพื่อให้ชุมชนไม่ถูกทิ้งร้าง จากการที่ผู้คนเลือกออกไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่อื่น

ฉากทัศน์ 2 เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข

ท้องทุ่งและเส้นทางน้ำน้อยใหญ่ของพระนครอยุธยา มีท้องถิ่น ท้องที่ ร่วมมือในการ “บริหารจัดการ” โดยมีเงื่อนไขที่ต้องตระหนักถึงการมีระบบการระบายน้ำที่ดีพอและมีการจัดการที่เชื่อมประสานระหว่างพื้นที่ สามารถแจ้งเตือนภัยน้ำมาได้อย่างทันท่วงที มีการให้ข้อมูลระยะเวลาการอยู่กับน้ำที่ชัดเจน และร่วมดูแลทุกข์สุขยามวิกฤติ

รัฐให้อำนาจท้องถิ่นจัดการน้ำ เพราะท้องถิ่นจะรู้เรื่องพื้นที่มากกว่า ทั้งในเรื่องทิศทางการไหลและจุดพักน้ำที่จะกระทบกับประชาชนในพื้นที่น้อยที่สุด รวมทั้งให้ความช่วยเหลือที่ตอบโจทย์คนในพื้นที่ได้จริง เพื่อรับมือเหตุอุทกภัย แต่การให้ท้องถิ่นมีอำนาจจัดการ ก็ต้องมีองค์ความรู้และวิธีการจัดการที่ทันสมัย ขณะที่รัฐส่วนกลางต้องจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรที่เพียงพอ 

ส่วนในภาพรวม มีโจทย์ใหญ่เรื่องการประสานงานเพราะการระบายในแม่น้ำสายใหญ่เป็นเรื่องของส่วนรวม ต้องร่วมกันบริหารจัดการกับหลายภาคส่วน

ฉากทัศน์ 3 หาทางเลือกเพื่ออยู่ร่วม

เมื่อน้ำไม่ได้เป็นเพียงภัยพิบัติที่รอระบาย แต่ต้องให้ประโยชน์กับประชาชนในฐานะพื้นที่ทุ่งน้ำหลากที่มีประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองมายาวนาน คนกรุงเก่าตื่นตัวเห็นความสำคัญของสิทธิในถิ่นที่อยู่อาศัย ร่วมกับภาควิชาการ ลุกขึ้นมาทำข้อมูลที่จำเป็น บนโจทย์ของคุณภาพชีวิตที่ตนเลือกได้เอง และเพื่อร่วมจัดการปัญหาที่ไม่ใช่เพียงการตั้งรับเหมือนทุกครั้ง

นอกจากการปรับตัว คนในพื้นที่ยังมีการรวมตัวเพื่อช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน หาทางเลือกทางรอดในการดำเนินชีวิตท่ามกลางกระแสน้ำ ขณะเดียวกันก็สร้างพลังในการต่อรองเพื่อที่จะร่วมบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์ ไปพร้อมกับท้องถิ่น ท้องที่ และรัฐส่วนกลาง 

เมืองมรดกโลกในการบริหารจัดการน้ำ ถูกหยิบยกมาพูดถึงโดยความร่วมมือของชุมชน คนในพื้นที่ และนักวิชการ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ให้ประชาชนดำเนินชีวิตอยู่ได้บนคุณภาพชีวิตที่ดี

แชร์บทความนี้