เขียนโดย : รณวัฒน์ จันทร์จารุวงศ์
ปี 2567 ถือเป็นปีสำคัญที่จะเริ่มนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศ เพราะ นายก อบจ.-ส.อบจ. จะหมดวาระลงในวันที่ 20 ธ.ค. 2567 ซึ่งกฎหมายกำหนดให้จะต้องจัดเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน ซึ่งก็คือต้องมีการไม่เกินวันที่ 3 ก.พ. 2568 ซึ่งเป็นอีกวาระหนึ่งที่คนไทยจะมีปากมีเสียงผ่านการเลือกตั้ง
แต่ยังไม่ทันจะถึงช่วงเลือกตั้ง สนามเลือกตั้ง อบจ. ก็เกิดความเคลื่อนไหวกันแล้ว เพราะในบางพื้นที่ นายก อบจ.ได้ทยอยกันลาออกก่อนครบวาระ โดยให้เหตุผลว่า กกต.มีข้อจำกัดหลายประการก่อนการเลือกตั้งอย่างน้อย 180 วัน ซึ่งอาจทำให้ปัญหาในการบริหารจัดการ เกิดความไม่สะดวก ไม่ราบรื่น จึงขอลาออกเพื่อเปิดทางให้คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่บริหารได้เต็มที่กว่านายกเดิมหากดำรงตำแหน่งต่อ
เรื่องนี้มีนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจริงๆ แล้วเป็นการทำเพื่อชิงความได้เปรียบ เพราะคนที่ลาออกก็เตรียมจะลงสมัครใหม่อยู่ดี แต่ที่ทำแบบนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สมัครอื่นที่เตรียมจะลงเลือกตั้งในช่วงเดือน ก.พ.2568 เตรียมตัวได้ทัน คือบีบให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วขึ้น ซึ่งคู่แข่งก็จะขาดความพร้อมในการเตรียมตัวหาเสียง
ขณะที่กลไกเดิมอย่าง อบจ. ยังคงดำเนินต่อไป ในขณะเดียวกันสังคมก็มีกระแสเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อกระจายกลับสู่ท้องถิ่น ซึ่งก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นได้จริง แต่ไม่ว่าจะเป็น อบจ. หรือผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกิดจากการเลือกตั้ง ประเด็นที่น่าสนใจคือนโยบายและการดำเนินการที่จะเกิดขึ้นตลอดวาระการทำงานนั้นจริงๆ แล้วมันมาจากความต้องการคนในพื้นที่จริงๆ หรือไม่
การกระจายอำนาจคืนสู่ท้องถิ่นจะไม่มีความหมายเลย หากอำนาจในการตัดสินใจจำกัดตัวอยู่แต่ผู้บริหาร แต่ไม่มีกลไกให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกำหนดทิศทางของเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่
การมีส่วนร่วมเป็นเหมือนคีย์เวิร์ดสำคัญในการพัฒนาที่ได้ยินกันบ่อยๆ แต่ถ้าถามว่ารูปธรรมมันมีหน้าตาอย่างไร ส่วนใหญ่ก็อาจจะยังนึกภาพได้ไม่ค่อยชัด บางคนอาจจะนึกถึง Traffy Fondue ที่ทาง กทม. นำมาใช้ แต่เอาเข้าจริงก็ยังไม่ตรงมากนัก
เพราะ Traffy Fondue นั้นเป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหา เรามีส่วนร่วมในการแจ้งปัญหาที่ต้องการให้แก้ไขได้ แต่ถ้าเราต้องการจะมีส่วนร่วมออกแบบเมืองด้วยกลไกในปัจจุบันพบว่ายังทำไม่ได้
ในต่างประเทศก็พบเจอปัญหานี้เช่นกัน และหนึ่งในทางออกที่หลายประเทศเลือกใช้เพื่อแก้ปัญหา ก็คือเครื่องมือที่เรียกว่า “ดัชนีชี้วัดเมือง” หรือ City Index
อธิบายอย่างรวบรัดดัชนีชี้วัดเมืองนั้นเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อวัดสถานะความน่าอยู่ในแต่ละประเด็นของเมือง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและการวางเป้าหมายของการสร้างเมืองน่าอยู่ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่
ตอนนี้ประเทศไทยได้มีการนำทดลองใช้ดัชนีชี้วัดเมืองบ้างแล้ว โดยนำตัวชี้วัดในระดับสากลที่เรียกว่า Urban Monitoring Framework (UMF) ของ UN-Habitat มาใช้นำร่องกับเมืองตามภูมิภาคต่างๆ โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเทศบาลหรือเมืองในหลายแห่ง รวมไปถึงหน่วยงานระหว่างประเทศอย่างโครงการพัฒนาแห่ง สหประชาชาติ (UNDP)
สิ่งที่เกิดขึ้นคือทีมวิจัยได้ทำการสำรวจวัดความน่าอยู่ของเมืองจาก 5 มิติ คือ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดลอม วัฒนธรรม การปกครอง นำมาไขว้กับ 4 แนวทางคือ ความปลอดภัย ความครอบคลุม ความยืดหยุ่น ความยั่งยืน
ตัวอย่างเช่น มิติเรื่องสังคม ก็จะมีวัดความน่าอยู่ใน 4 แนวทาง ความปลอดภัย ความครอบคลุม ความยืดหยุ่น ความยั่งยืน เมื่อทำแบบนี้ครบทั้ง 5 มิติ และ 4 แนวทาง ก็จะได้เป็นดัชนีชี้วัดเมืองใน 20 ประเด็นการพัฒนา
ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ จากดัชนีชี้วัดเมืองใน 20 ประเด็นการพัฒนา แต่ละเมืองมีการโฟกัสประเด็นการพัฒนาแตกต่างกันไปตามศักยภาพและปัญหาของเมืองที่แตกต่างกัน บางเมืองอาจจะมุ่งเน้นไปเรื่องเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ไม่ปล่อยปละละเลยคนชายขอบ ขณะที่บางเมืองอาจจะมุ่งเน้นไปที่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งส่งผลต่อปัญหาสุขภาพของผู้คนในพื้นที่โดยตรง
แต่การรู้ ‘ความต้องการ’ ของเมืองอย่างเดียวอาจจะยังไม่พอ มีคำพูดหนึ่งของ Peter Drucker นักคิดที่บุกเบิกแนวคิดด้านการบริหารจัดการขององค์กรธุรกิจสมัยใหม่ บอกไว้ว่า “ถ้าหากคุณไม่สามารถวัดผลมันได้ คุณจะไม่มีทางปรับปรุงหรือแก้ไขให้มันดีขึ้นได้เลย” ในการบริหารจัดการเมืองก็จำเป็นที่จะต้องวัดผลเหมือนกัน
ดัชนีชี้วัดเมืองใน 20 แนวทางการพัฒนานั้นนอกจากจะทำให้เห็นภาพความต้องการของเมืองซึ่งเป็นเหมือน ‘เป้าหมาย’ ในอนาคต มันยังช่วยฉายภาพ ‘สถานะ’ของเมืองในดัชนีนั้น โดยจะมีการประเมินความยั่งยืนตามตัวชี้วัด หรือ Traffic lights ตามผลของสีไฟจราจร 3 สี โดยสีแดง หมายถึง ปรับปรุง สีเหลือง หมายถึง ผ่านเกณฑ์ และสีเขียว หมายถึง ระดับดี ซึ่งนั่นทำให้เราสามารถทำการวัดผล ‘เมือง’ ได้ โดยเราจะได้เห็นว่าการบริหารจัดการเมืองที่เกิดขึ้นนั้นตอบโจทย์ผู้คนในเมืองนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน
ในแง่นี้ดัชนีชี้วัดเมืองจึงทำหน้าที่เหมือน GPS ที่ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้ว ‘เมือง’ ต้องการจะมุ่งหน้าไปที่ไหน แล้วตอนนี้เราใกล้จะถึงจุดหมายแล้วหรือยัง ฉะนั้นการที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางของเมือง จึงไม่ได้ต้องรอแต่การเลือกเลือกตั้ง แต่เราสามารถช่วยกันส่งเสียงผ่านกระบวนการดัชนีชี้วัดเมืองจนเกิดเป็นความต้องการร่วมของผู้คนในเมืองได้
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะนายก อบจ. ก็ดี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดก็ดี อาจจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้นำที่กำหนดทิศทางนโยบายต่างๆ เป็นการฟังเสียงความต้องการร่วมขอผู้คน แล้วแข่งกันนำเสนอนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของผู้คน ถึงจะเรียกได้ว่าประชาชนมีปากมีเสียงอย่างแท้จริง ซึ่งหากในอนาคตอันใกล้มีการขยายไปใช้ในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่พูดๆ กันก็จะจับต้องได้มากขึ้นโดยไม่ต้องรอบการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตามในการนำดัชนีชี้วัดเมืองมาใช้ในช่วงนำร่องนั้นถึงแม้จะมีการทำงานร่วมกับ คนกลุ่มต่างๆ แกนนำชุมชนในพื้นที่ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐและเอกชนจนสามารถเก็บรวบรวมฐานข้อมูลทั้งในแง่ศักยภาพและปัญหาของเมืองได้ แต่ก็ยังมีเสียงอีกหลายเสียงที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมสะท้อนความต้องการของตนออกไป ความท้าทายจึงอยู่ที่ว่าจะทำให้ยังไงให้ความต้องการที่ได้มานั้นสะท้อนออกมาจากทุกเสียงของคนในพื้นที่จริงๆ.
มาร่วมกันสร้างเมืองที่น่าอยู่ของคุณด้วยกัน
ชวนคนในทุกเมือง เขียนชื่อเมืองของตัวเอง ร่วมกันบอกหน่อยว่าเมืองของคุณ มันน่าอยู่แบบไหน ? ควรจะพัฒนาไปทางไหนกันดี ? มาช่วยกันตั้งโจทย์ที่ใช่ และเลือกทิศทางที่เหมาะกับเมืองที่คุณอยู่ร่วมกัน เพื่อร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง จัดทำแผนของเมืองที่ทุกคนมีส่วนร่วม
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ผู้คน ข้อมูล เทคโนโลยีแบบรวมหมู่สร้างเมืองน่าอยู่ได้อย่างไร?
คุยเนื้อๆ เรื่องมหาสารคามแบบน้ำไม่ต้อง : สิ่งที่เป็นและทิศทางที่เมืองตักศิลาอยากไป