10 กว่าปีการระบาดปลาหมอคางดำ เราจะจัดการแบบครบวงจรได้อย่างไร​?

ปัญหาการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” เอเลี่ยนสปีชีส์ชนิดรุกรานที่มีมากว่า 10 ปีกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง มีการรายงานพบเจอในพื้นที่ 13 จังหวัดทั่วประเทศไทยบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยและแหล่งน้ำคูคลอง ด้วยสถานการณ์ที่รุนแรงและน่ากังวลของเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ และสัตว์ท้องถิ่นในแหล่งน้ำ จึงมีหลายหน่วยงานและประชาชนออกปฏิบัติการกำจัดและควบคุมปลาหมอคางดำตามแนวทางของกรมประมง และผลักดันให้เป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องจัดการแก้ไขอย่างครบวงจร

ห้องทดลองปัญญารวมหมู่ได้สำรวจข้อมูลและแนวทางการจัดการ พบว่าแนวทางการจัดการมี 3 ลักษณะด้วยกันได้แก่การป้องกัน การควบคุม และการกำจัด ซึ่งแต่ละแนวทางสามารถปฏิบัติได้ตามความเหมาะสมตามวงจรชีวิตปลาหมอคางดำและลักษณะแหล่งน้ำที่พบเจอ ตอนนี้เราทราบแนวทางการจัดการแต่ยังไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะยังตอบไม่ได้ว่าควรจะต้องทำไรอะไรต่อ หรือสถานะของปัญหาในตอนนี้อยู่ขั้นตอนไหนและควรจะทำอย่างไร

จัดการตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

จากที่กล่าวไป ทางทีมจึงขอนำเสนอแนวทางการจัดการอย่างเป็นระบบจากในวงเสวนาสาธารณะ “นิเวศลุ่มน้ำแม่กลอง กับปลาหมอคางดำ” ข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวังและการรับมือแบบรวมหมู่ (25 ก.ย. 2566) ร่วมจัดโดยประชาคม คนรักแม่กลอง, มนต์รักแม่กลอง, สมุทรสงครามอยู่ดี, มูลนิธิโลกสีเขียว และนักข่าวพลเมือง รวมถึงชวนกันร่วมพิจารณาถึงแนวทางการจัดการที่เป็นระบบว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร

รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อธิบายภาพปัญหาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (invasive alien species) ว่าเป็นปัญหาระดับโลก โดยความเสียหายหรือความรุนแรงของปัญหาจะเพิ่มขึ้นตามเวลาที่ปล่อยไป หรือแปรผันตามมาตรการการจัดการ

ทั้งนี้ แนวทางการจัดการปลาชนิดพันธุ์รุกรานต่างถิ่นที่พบจาก 95 งานวิจัยทั่วโลกพบว่ามีการใช้หลากหลายวิธี อาทิ การใช้สารเคมี การจัดการทางกายภาพ ใช้ไฟฟ้าช๊อต การจัดการทางชีวภาพ เช่น ใช้ปลากระพงขาว หรือจับมาขาย

ตารางที่ 4. จำนวนกรณีของแต่ละวิธีการแทรกแซงภายในแต่ละหมวดหมู่การแทรกแซงที่สัมพันธ์กับเป้าหมายที่ระบุไว้ของการศึกษา หมายเหตุ ชุดข้อมูลอาจมี >1 กรณี หากมีการใช้วิธีการแทรกแซง >1 วิธี ไม่ว่าจะจากหมวดหมู่การแทรกแซงเดียวกันหรือต่างกันการกำจัดควบคุมประชากรทั้งกำจัดและควบคุมประชากรรวม
การกำจัด/ควบคุมประชากร: เป้าหมายคือกำจัดควบคุมประชากร
การใช้ต่ายแบบพาสซีฟ (passive)2220951
การใช้ตาข่ายแบบแอคทีฟ (active)38112
การตกปลา134
การใช้ไฟฟ้าช็อตปลา2047976
ไม่ทราบ11
การเก็บเกี่ยว
การใช้ตาข่ายแบบพาสซีฟ/แอคทีฟ66
การตกปลา2316
สารเคมี
โรติโนน372140
แอนติไมซิน1111
อื่นๆ628
ไม่ทราบ11
ชีวภาพ
การควบคุมด้วยผู้ล่า2215
สิ่งแวดล้อม
การควบคุมน้ำ5117
อื่นๆ
วัตถุระเบิด11
ที่มา https://cdnsciencepub.com/doi/10.1139/er-2018-0049

เหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีองค์ความรู้ในการจัดการ แต่ยังไม่ถูกประเมินว่าเหมาะกับประเทศไทยหรือไม่ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สามารถสนับสนุนกองทุนงานวิจัย สร้างระบบข้อมูล (AI) ปลาหมอคางดำ โดยใช้ Ecological Niche Models (ENMs) วิเคราะห์ว่า สามารถแพร่กระจายไปที่ไหน ในแหล่งน้ำเพื่อเตรียมการรองรับส่วนแนวทางการจัดการข้อมูล แบ่งเป็น 4 ส่วนหลัก ได้แก่

  1. ประเมินขอบเขตและอัตราการแพร่การจายของปัญหา โดยมีวิทยาศาสตร์ภาคประชาชนร่วมกับระบบสารสนเทศ
  2. คาดการณ์ เตือยภัยล่วงหน้าเพื่อการป้องกัน (AI)
  3. กำจัด/ควบคุมการแพร่กระจาย ด้วยวิธีทางเคมี/ชีวภาพ/กายภาพ/บริโภค
  4. ลดความเสียกายของชาวประมง/เพิ่มมูลค่าของปลาหมอคางดำ

ทั้งหมดประชาชนมีส่วนร่วมในการรายงานถ่ายรูป บอกตำแหน่งปลาหมอคางดำ ที่จะทำให้เห็นความถี่ ปริมาณความหนาแน่นในแหล่งน้ำที่พบ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ และมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น นำไปสู่การประเมินเพื่อจัดทำมาตรการต่างๆ หรือชี้เป้าพื้นที่ที่ควรจะต้องแก้ไขโดยภาคราชการจะพัฒนาแนวทางการกำจัด/ควบคุมการแพร่กระจายด้วยวิธีการต่างๆ ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ทั้งการใช้เคมี ใช้สัตว์นักล่า หรือการจับกินเพื่อแปรรูปบริโภค

ส่วนภาควิชาการหรือสกสว. จะนำผลมาประเมินเพื่อจัดทำแบบจำลองคาดการณ์ผลกระทบ เตือนภัยจุดเสี่ยงล่วงหน้าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด อ.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านชนิดพันธุ์ปลา กล่าวถึงบทบาทของฝั่งเอกชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้เอาไว้ โดยเอกชนผู้ได้รับผลประโยชน์จากการนำเข้ามาควรจะลงต้นทุนในการกำจัดระยะยาว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทางกายภาพคือ เครื่องมือ กำลังคน และพลังงานที่ใช้ในการกำจัดแหล่งน้ำ หาแนวทางพัฒนาเครื่องมือประมงที่จับได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ไม่กระทบปลาพื้นถิ่น รวมถึงประเมินความเสียหายในแต่ละฟาร์ม

อีกวิธีการสำคัญที่สามารถทำได้เลยโดยคนในพื้นที่ร่วมกับภาคส่วนอื่นคือ การสร้างฐานข้อมูลเปิด (Baseline) โดยการบันทึกข้อมูลสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพที่อยู่รอบตัวทั้งบนฟ้า ในน้ำ และผืนดิน อย่างกิจกรรม Home River Biobliz เมื่อวันที่ 24 กันยายน 66 เป็นตัวอย่างการสำรวจวิทยาศาสตร์พลเมือง (citizen science) ร่วมกันกับนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และท้องถิ่น การทำฐานข้อมูลจะช่วยทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในพื้นที่ สามารถนำมาเป็นสิ่งคาดการณ์ เฝ้าระวังสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่จะเข้ามารุกรานชนิดอื่นๆ รวมถึงปลาหมอคางดำที่แพร่กระจายในตอนนี้

ตอนนี้เรามีองค์ความรู้และแนวทางการจัดการที่สามารถนำไปปรับใช้แก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำที่มีมากว่า 10 ปี โดยทุกภาคส่วนตั้งแต่หน่วยงานท้องถิ่น นักวิชาการ เอกชนและประชาชนมีบทบาทสำคัญกับการแก้ไขครั้งนี้ จะเห็นว่าเมื่อมีแผนแนวทางการจัดการที่เป็นระบบ แบ่งบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายชัดเจนว่าต้องทำอะไรและอย่างไร ก็จะทำให้เห็นภาพการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อ รวมถึงหยิบยกเอาไปใช้ในช่วงเวลาอื่นเมื่อเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นอีกครั้ง

งานที่เกี่ยวข้อง

ชีวะตะลุมบอน สำรวจนิเวศ ตามหาสัตว์ต่างถิ่นรุกราน ที่บางสะแก สมุทรสงคราม

รู้จักปลาหมอคางดำ สัตว์น้ำต่างถิ่น

แชร์บทความนี้