เดินทางมาถึงปลายเดือน พฤษภาคม เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มตัว หลายพื้นที่ก็ชุ่มชื้นมีชีวิตชีวาอีกครั้ง การเดินทางท่องเที่ยวหน้าฝนดูเหมือนจะเป็นอีกตัวเลือก ในขณะที่นักท่องเที่ยวมองหาหมุดหมายที่ชื่นชอบที่อยากจะไปเยือน คนในพื้นที่เองหลายพื้นที่ก็พยายามผลักดันแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ตนเองให้เป็นที่รู้จัก และให้ผู้คนภายนอกสนใจ
โอกาสมาเยือนเมืองท่องเที่ยวภูเขาอีกครั้ง เมื่อเทรนด์การท่องเที่ยวในปัจจุบัน คนหันมาท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมากขึ้น นักท่องเที่ยวเริ่มมองหาการท่องเที่ยวแบบสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ไม่ซ้ำเดิม และนี่จึงเป็นโอกาสที่พื้นที่ท่องเที่ยวน้องใหม่จะได้ปล่อยแสง แสดงศักยภาพ
“เรื่องของการท่องเที่ยว ในภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด 20 จังหวัด การท่องเที่ยวมองเป็นมิติใหญ่ ๆ ได้ 2 มิติ มิติที่ 1 ก็คือเรื่องของการท่องเที่ยวธรรมชาติ รวมอุทยานแห่งชาติรวมการท่องเที่ยวสีเขียวต่าง ๆ เป็นมรดกทางธรรมชาติที่เรามีอยู่และ ณ วันนี้อีสานมี 3 มรดกโลก ส่วนอีกมิติคือด้านวัฒนธรรม เรามีเรื่องของเทศกาลงานประเพณี ซึ่งเป็นจุดแข็งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรามีมรดกทางวัฒนธรรม จากมรดกทางด้านวัฒนธรรมก็ส่งต่อมาในเรื่องของอาหารการกิน ซึ่งเป็นวิถีของเรา
ทางการท่องเที่ยวประเทศไทยในปีนี้เราก็เอามาทำเป็นเรื่อง “อีสานไปใสกะแซ่บ” นั่นก็เป็นหนึ่งในวิถีของเรา ทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเรา และรวมไปถึงชุมชน สิ่งเหล่าก็จะค่อย ๆ ต่อยอดจากภาพใหญ่ของความเป็นธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เป็นต้นทุน นำมาสู่ภาพของชุมชนที่เราจะมาต่อยอด ” อรรถพล วรรณกิจ ผอ.ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ททท.)
“พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว มีความแตกต่างกันไปตามกลุ่มนักท่องเที่ยว ดังนั้นเราต้องกลับมามองตัวเราว่าพื้นที่ของเรา ภาคอีสานของเรา กลุ่มเป้าหมายเราเป็นใครเราชัดเจนมากในเรื่องของเทศกาลงานประเพณีที่เป็นจุดแข็ง สิ่งเหล่าเราจะเห็นได้ชัดว่าในช่วงออกพรรษา ซึ่งเป็นตามวิถีของคนไทยเรา เสร็จสิ้นจากงานเกี่ยวข้าวเราก็เข้าสู่การเฉลิมฉลอง ดังนั้นช่วงออกพรรษาเป็นช่วงเทศกาลของการเฉลิมฉลองของเรา เราจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพื้นที่เราอย่างอุ่นหนาฝ่าคั่ง ดังนั้นนี่เป็นสิ่งที่เป็นจุดขายของเรา แล้วก็เป็นจุดเด่น
สิ่งที่ททท. จะต้องทำต่อก็คือทำอย่างไรจะทำให้นักท่องเที่ยวต่าง ๆ เหล่านั้นไปถึงชุมชน นี่คือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย นี่คือเป็นสิ่งที่เราจะต้องร่วมกับสำนักงานททท. ที่อยู่ในพื้นที่ 8 สำนักงานที่เราให้เห็นว่าชุมชนแต่ละชุมชนมีจุดแข็ง จุดอ่อน แตกต่างกันออกไป” อรรถพล วรรณกิจ ผอ.ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ททท.)
ต้นทุนด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ และทุนทางวัฒนธรรม ในบ้านเกิดเมืองนอนของหลายคน คือความหวังของคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับบ้าน หวังใช้ฐานนี้ในการสร้างรายได้ ขยับเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนชุมชน อยู่ให้ได้ ไปให้รอดในบ้านเกิด
“ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ตื่นตัวกันครับ แล้วก็มีจำนวนไม่น้อยเลยที่กลับมาบ้าน แล้วก็มีความหวังกับพื้นที่บ้านตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว เรามีความหวังเพราะว่าทรัพยากรในพื้นที่เรา เรื่องธรรมชาติเรามีจุดเด่นมาก และตอนนี้หนุ่มสาวในชุมชนก็เริ่มเกิดการรวมตัวกัน เพราะเรารู้แล้วว่าเราทำลำพังไม่ได้ เราต้องมีเพื่อน พอเรามีเพื่อนเราก็ไม่ได้ทำแค่เฉพาะอำเภอของเรา เราไปเชื่อมอำเภออื่น แล้วก็ข้ามไปจังหวัด แล้วรู้สึกว่าเรามีพลัง พอเรามีเพื่อนมันก็ถูกการส่งต่อกันโดยผู้ประกอบการกัน” สัญญา มัครินทร์ กลุ่มท่องเที่ยววิถีสีชมพู
ทุนเดิมบวกกับศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ที่นำประสบการณ์กลับมามองหาของดีบ้านตัวเอง จนเกิดไอเดียหยิบมุมมองความงามของพื้นที่มานำเสนอ ชักชวนเพื่อนๆ ทั้งคนนอก คนใน ทั้งใกล้และไกล ได้เข้ามาเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวชุมชนแบบไม่ซ้ำใคร ให้ได้มาใกล้ชิดธรรมชาติ สัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลาย พร้อมกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนและวิถีธรรมชาติ เชื่อมโยงความเข้าใจ ได้เห็นความสำคัญของทรัพยากรท้องถิ่น ที่เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ พาตัวเองไปฮีลใจกับธรรมชาติ
แม้จะเริ่มต้นอย่างมีความหวังแต่ข้อท้าทายที่ยังรออยู่ก็มีไม่น้อยเช่นกัน เพราะสร้างพื้นที่ พัฒนาเศรษฐกิจ ต้องอาศัยปัจจัยหลายส่วน ร่วมถึงการร่วมมือ ร่วมผลักดัน จากทั้งชุมชน ภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้การท่องเที่ยวได้และชุมชนก้าวไปได้พร้อมกัน
“ความท้าทายเยอะมากนะครับ เพราะว่าพอเรามีประสบการณ์ทำกันมา 3 ปี เราก็ได้บทเรียนว่าการมีส่วนร่วมของชุมชน ลำพังหนุ่มสาวรวมกลุ่มกัน ถ้าเกิดผู้นำหรือว่าราชการเองยังมองไม่เห็นภาพที่ไปด้วยกัน ผมว่าก็ยังต้องอาศัยคนที่มีอำนาจหรือคนที่มองวิสัยทัศน์ไปช่วย เพราะบางพื้นที่มีศักยภาพมาก ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ แต่ขาดคน ขาดผู้นำ
ลำพังจะให้คนตัวเล้กตัวน้อย คนที่อกหักจากงาน จากเมืองแค่เขากลับบ้านเขาหอบความหวังมาแล้วก็อยากใช้บ้านตัวเองเป็นทางรอด เป็นทางเลือกให้เขา ถ้าจะลำพังพึ่งตัวเอง ทั้งไม่พร้อม ผมว่าหน้าภาครัฐต้องมาช่วยมอง
เราไม่มีความรู้เรื่องการท่องเที่ยวเลย เราไม่มีประสบการณ์เลยเรารวมกันเราก็ลองผิดลองถูก องค์กร ชุมชน หรือส่วนไหนมาช่วยเรา เราไม่อยากต้องการแค่คำแนะนำ เราอยากต้องการหาช่องด้วย อันนี้ต้องให้เครดิตทางททท. คือเขาช่วยในการบอกกล่าว แต่ตัวทักษะ ตัว System ต่าง ๆ
อันนี้รัฐเองต้องซัพพอร์ต ผมยังรู้สึกว่านี่เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องช่วย ไม่ใช่ผลักภาระแล้วมาโยนให้พวกเรารวมตัวกัน
พลังของหนุ่มสาวเขามาด้วยความหวัง และเขาพักพวก มีเพื่อน แล้วเขามีสื่อ ตอนนี้พื้นที่ของพวกเราถูกรับรู้เพราะว่าเราใช้สื่อของเรา มีเพจอีเกิ้ง เที่ยววิถีสีชมพู เพจโนนนี่นั่น คือเราใช้ตรงนี้แต่ตัวองค์ความรู้ ตัวเครือข่าย ตัวผู้ประกอบการทางธุรกิจ อันนี้เรายังขาด แล้วก็เรื่องการเดินทาง การขนส่งที่ยังไม่พร้อม ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวก็ถาม ถ้าเกิดมีการขนส่ง การส่งต่อที่ดี ผมว่ามันมีศักยภาพ” สัญญา มัครินทร์ กลุ่มท่องเที่ยววิถีสีชมพู
สร้างความหวัง ดึงศักยภาพท้องถิ่น เชื่อมโยงชุมชน ให้พร้อมรับมือกับทุกโอกาสและความเปลี่ยนแปลง เกิดเศรษฐกิจฐานรากที่มันคงต่อไปด้วยกัน
“อยากให้มามองว่าเราารวมตัวกันเพื่อการท่องเที่ยว หรือเรารวมตัวกันเพื่อการเรียนรู้แล้วค่อยนำไปสู่การท่องเที่ยว มันเป็นสเต็ปของมัน เราอยากจะบอกว่าวันนี้การรวมตัวของวิถีสีชมพู เราอยากทำเรื่องการท่องเที่ยวที่มันเป็นการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์และครบวงจร เราอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเริ่มต้นจากองค์กรปกครองท้องถิ่นซึ่งดูแลปกครองพวกเขาอยู่ ลองเข้ามาดูว่าสิ่งที่ชุมชน โดยผู้ประกอบการเขารวมตัวกันทำอยู่ ณ วันนี้ขาดเหลืออะไร สิ่งเหล่านี้ผมว่ามันน่าจะเป็นจุดที่เดินไปถูกทางพร้อม ๆ กัน จุดแข็งถ้าผมมองตอนนี้แบบเร็ว ๆ คือมีความเป็นศิลปะ มีธรรมชาติที่มีความสวยงาม สิ่งเหล่านี้มันก็สามารถที่จะไปต่อได้” อรรถพล วรรณกิจ ผอ.ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ททท.)
ไม่ง่ายที่จะยกระดับชุมชน ท้องถิ่น ผลักดันพื้นที่ให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้อยู่ได้จริง พร้อมการเตรียมรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น แต่เชื่อว่าหากประสานความร่วมมือ เข้ามาร่วมกันจัดการ อาจเป็นหนทางให้ทุกความหวังเป็นไปได้จริง
“ชุมชนแต่ละชุมชนก็จะมีข้อจำกัดแตกต่างกันไป บางชุมชนอยู่ใกล้เมืองก็จะได้เปรียบในการที่จะนำสินค้าออกมาให้คนได้รู้จัก หรือนักท่องเที่ยวเข้าไปพักในโรงแรมแล้วยังมาต่อที่ชุมชนได้ในระยะทางไม่ไกล แต่ในขณะเดียวกันชุมชนที่มีระยะทางที่ไกล นั่นคือสิ่งที่ภาครัฐขาด
ขยายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ว่าวันนี้เราเริ่มมีเพชรที่รอการเจียรนัยอยู่ในพื้นที่ อย่างไรภายใต้แคมเปญที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเราทำ ตรงกับสิ่งที่คนรุ่นใหม่ได้กลับถิ่น
แคมเปญของเราคือหลงรักแผ่นดินถิ่นอีสาน เราก็อยากให้คนอีสานได้เห็นศักยภาพของคนอีสานด้วยกัน สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เกิด เราไม่อยากให้เป็นเรื่องของการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ แต่เราอยากให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวที่สนใจอยากจะไปเรียนรู้
แล้วนำไปสู่เรื่องการจับจ่ายใช้สอย ก็จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น
ภายใต้ร่มใหญ่ของเราที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า “อีสานเขียว เที่ยวหน้าฝน ดลบันดาลใจ” นั่นก็แปลว่าเราเที่ยวอีสานทั้งช่วงหน้าฝนที่มีความสวยงาม แล้วเรายังได้ศรัทธาจากพญานาคที่เราศรัทธากัน ความศรัทธาจะนำไปสู่ความหวัง ความหวังคือสิ่งที่เราไปสู่ความฝันและเราก็จะลงมือทำ” อรรถพล วรรณกิจ ผอ.ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ททท.)
การพัฒนาที่แท้จริงต้องพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ ชุมชน และทรัพยากร ต้องมีทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องกัน และยังคงรักษาต้นทุนที่สำคัญอย่างสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต ให้คงอยู่ไม่เสื่อมสลายเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับเข้ามาของการท่องเที่ยว
“คนรุ่นใหม่เขามีความหวัง เราเห็นชัดเลยว่าท่องเที่ยวชุมชนเป็นเครื่องมือในการพัฒนานา เราอยากกลับบ้านที่มีความหมาย ไม่ใช่แค่อยู่รอด อยู่ร่วม แต่เราอยากอยู่อย่างมีความหมายจริง ๆ เราอยากทำการท่องเที่ยวที่มันพัฒนาเรื่องการมีชีวิตเป็นอยู่ที่ดี ทั้งตัวเราด้วย แล้วก็ตัวชุมชนไปด้วย อันนี้คือจุดแข็งและความหวังของคนหนุ่มสาว ก็เลยรู้สึกว่าการท่องเที่ยวชุมชนควรจะเป็นเรื่องที่รัดฐควรมอง ไม่อยากให้มองเรื่องเศรษฐกิจที่มันโต แต่เศรษฐกิจที่คนกลับไปบ้านมันได้ช่วยคนแก่ คนที่อยู่กับบ้าน มันเป็นเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ด้วย อยากให้มองเรื่องแบบนั้นไปเลย” สัญญา มัครินทร์ กลุ่มท่องเที่ยววิถีสีชมพู
ภาพอนาคตการท่องเที่ยวชุมชนเมืองภูเขา ทุกคนมีส่วนในการกำหนด บทบาทหน้าที่ของทุกภาคส่วนล้วนมีผลต่อการก้าวไปต่อของการท่องเที่ยว ทุกพื้นที่มีหวัง และทุกคนฝันอยากกลับบ้าน หลายพื้นที่เริ่มต้นด้วยตัวเอง แต่การจะก้าวไปต่อได้ให้ไกลขึ้น จำเป็นต้องมีการเข้ามาสนับสนุน ร่วมกันสร้างสรรค์พื้นที่ ไม่มีใครต้องโดดเดี่ยว ย่อมเป็นหนทางที่ดีที่การท่องเที่ยวบ้านเราจะเติบโตได้งดงามและมั่นคง