ตุ๊กตาวาดหวังก่อนและหลังทำความสะอาด และหมีเกย
หมีเกย – วาดหวัง ฟื้นฟู ชูใจ เจียงฮาย บ้านเฮา เป็นกิจกรรมเล็กๆ ที่ได้ริเริ่มขึ้นมาเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อต้องการมีส่วนร่วมในการหนุนเสริมกำลังใจให้ผู้คนที่ท้อแท้กับการล้างบ้านและเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังน้ำท่วมให้มีแรงใจในการก้าวเดินไปข้างหน้า และเป็นหนึ่งในนิทรรศการ“มหาอุทกภัยเชียงราย 2567 (Chiangrai Disaster Archives 2024)” ที่จะมีตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. ไปจนถึงวันที่ 20 ธ.ค. 67 ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CCAM)
หมีเกยกับศิลปิน ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยเมืองเชียงราย
ทุกวันๆ ที่ผมออกไปทำงานร่วมกับอาสาสมัคร ผมพบว่าประชาชนจ่อมจมอยู่ในความเศร้าโศก ท้อแท้ และสิ้นหวัง เนื่องจากการล้างบ้านเป็นงานหนักและใช้เวลานานหลายวัน อีกทั้งขยะน้ำท่วมคือข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ของชิ้นใหญ่เช่นทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เตียง โซฟา ที่นอนไปจนถึงของชิ้นเล็กๆ เช่น ของเล่น และตุ๊กตาผ้า ข้าวของทั้งหมดที่จมน้ำและกองโคลนคือทรัพย์สิน ความรัก และความผูกพันของผู้คน นอกเหนือจากการล้างบ้านแล้ว ผมตระหนักดีว่าจะมีหนทางใดที่ช่วยฟื้นฟูจิตใจผู้สูญเสียให้กลับมามีความหวังอีกครั้ง
สืบสกุล กิจนุกร กับหมีเกย
นี่คือเรื่องราวที่เล่าโดย สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้ก่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติจังหวัดเชียงราย และผู้ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ตัวเมืองเชียงรายตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2567 มาจนถึงปัจจุบัน
หากคำถามใหญ่ของวันนี้คือเมื่อไหร่เราจะจัดการภัยพิบัติได้จริง ?
ขอตอบในฐานะนักวิชาการ ผู้ประสบภัยและอาสาสมัคร ผมพบว่าในด้านหนึ่งเราต้องการแผนจัดการภัยพิบัติที่ครอบคลุมทุกช่วงเวลาของภัยพิบัติ ตั้งแต่ช่วงป้องกัน เตรียมความพร้อม ช่วงรับมือเหตุการณ์ ไปจนถึงช่วงฟื้นฟู
แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ผมพบว่าเราต้องการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของแผนการทั้งหมด เนื่องจากประชาชนเป็นเหยื่อของภัยพิบัติ ขณะเดียวกันประชาชนมีบทบาทอย่างสำคัญในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามที่เผชิญสถานการณ์ปัญหา และประชาชนคือผู้เริ่มต้นที่สำคัญ ดังที่ผมจะเล่าผ่านเรื่องราวของตุ๊กตาหมีเกย วาดหวัง ฟื้นฟู ชูใจ เจียงฮาย บ้านเฮา
ทีมอาสาจากแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาและนักศึกษาแม่ฟ้าหลวงช่วยกันล้างบ้านผู้ประสบภัย
ในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงราย ผมเชื้อเชิญนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในจังหวัดเชียงราย รวม 600 คน หมุนเวียนกันเป็นอาสาสมัครล้างบ้านให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้บ้านกลับมาเป็นบ้านอีกครั้งหนึ่ง พวกเราช่วยล้างบ้าน ถูพื้น ขัดฝาผนัง ตักโคลน และขนขยะน้ำท่วมที่มีรวมกันมากถึง 50,000 ตันทั่วเมืองเชียงราย
ผมเริ่มต้นเก็บหมีเกยเป็นตัวแรก หมีเกยเป็นตุ๊กตาหมีตัวใหญ่ที่ถูกวางเกยอยู่บนขอบกำแพงเฝ้ามองดูกองขยะน้ำท่วมวันแล้ววันเล่า เจ้าของคงตัดใจทิ้ง แต่ก็คงไม่อยากให้หมีเกยแปดเปื้อนไปมากกว่านี้
หมีเกยสัญลักษณ์ของการตักและขนขยะออกจากชุมชนตอนกลางคืน
ผมใช้หมีเกยเป็นสัญลักษณ์ของการตักและขนขยะออกจากชุมชนตอนกลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัดในตอนกลางวัน เนื่องจากต้องใช้รถตักและขนขนาดใหญ่ในการทำงาน ตอนแรกหมีตัวนี้ยังไม่มีชื่อ ต่อมาเพื่อนๆ ในเชียงรายได้ช่วยกันตั้งชื่อเจ้าหมีตัวนี้ว่าหมีเกย
ส่วนตุ๊กตาวาดหวังเป็นตุ๊กตาผ้าที่เจ้าของยอมทิ้งรวมกับขยะชิ้นอื่นๆ จนเปื้อนมอมแมม ผมตามเก็บมาจากกองขยะได้ทั้งหมด 200 ตัว
ทีมอาสาช่วยเก็บตุ๊กตาวาดหวังและนำมาซักทำความสะอาด
ผมนำเอามาทำความสะอาด ซัก และอบให้แห้งสนิท ผมพบว่าในระหว่างการเก็บตุ๊กตาวาดหวังนั้นผู้คนที่พบเห็นต่างรู้สึกสงสารเจ้าตุ๊กตาทั้งหลายที่จมกองโคลน แต่เมื่อพวกเขาเห็นว่าตุ๊กตาได้รับการอาบน้ำใหม่แล้ว พวกเขาก็มีความยินดีปรีดา มีความสุข ความหวัง ที่เห็นสิ่งใหม่ที่เราสร้างมาจากสิ่งเก่า
ตอนนี้มิใช่เพียงแต่ผมเพียงลำพังเท่านั้นที่ทำงานนี้ กลุ่มศิลปิน นักธุรกิจ และอาสาสมัครในจังหวัดเชียงรายได้เข้ามาร่วมงานกันกับผม พวกเราปรึกษาหารือกันว่า เราจะทำการส่งมอบตุ๊กตาหมีเกย วาดหวังทั้งหมดให้กับเจ้าของเดิม เรามีกำหนดเปิดตัวหมีเกย วาดหวังอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 ตุลาคม 2567 ภายในงาน จดหมายเหตุฉบับประชาชน มหาอุทกภัยเชียงราย 2567 ที่ขัวศิลปะ จังหวัดเชียงราย เราจะนำเอาหมีเกย วาดหวังทั้งหมด 200 ตัวไปร่วมจัดแสดง และตามหาเจ้าของเดิมที่แท้จริง เราจะเฝ้ารอเจ้าของเดิมให้ได้มีเวลาตามหาหมีเกย วาดหวังไปจนถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2567 หลังจากนั้น หากยังคงมีตุ๊กตาที่เจ้าของไม่ได้ประสงค์รับคืน หรือยินดีมอบต่อให้เรา เราจะทำการเปิดประมูลเพื่อระดมทุนสำหรับการฟื้นฟูชุมชน และเมืองเชียงรายต่อไป
ตุ๊กตาวาดหวังได้รับการทำความสะอาดและพร้อมแสดงในนิทรรศการ“มหาอุทกภัยเชียงราย 2567 (Chiangrai Disaster Archives 2024)”
ผมหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าท่ามกลางการสูญเสีย เศร้าโศก หมดหวัง เราจะค้นพบสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราพอจะทำได้และทำร่วมกัน เพื่อสร้างสรรค์อนาคตใหม่ด้วยแรงกายแรงใจของประชาชน
หากเราจะถามกันอีกครั้งว่าเมื่อไหร่เราจะจัดการภัยพิบัติได้จริง คำตอบของผมก็คือเมื่อวันไหนก็ตามที่ประชาชนพากันลุกยืนขึ้นมาลงมือทำ วันนั้นแหละมันคือจุดเริ่มต้นของการจัดการภัยพิบัติอย่างแท้จริง “หมีเกย วาดหวัง ฟื้นฟู ชูใจ เจียงฮาย บ้านเฮา”
เรื่องเล่าของสืบสกุล กิจนุกร จากรายการฟังเสียงประเทศไทย ตอน เมื่อไหร่เราจะจัดการภัยพิบัติได้จริง? กรณีเชียงราย ออกอากาศ 12 ต.ค. 67