“ผมเป็นคนทุ่งกุลามาแต่เกิด ชีวิตของคนทุ่งกุลาคือการทำข้าว … ตอนนี้เราเกิดสภาวะปัญหาโลกร้อน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ความร้อนขึ้นมา 41 – 43 องศาเซลเซียส อยู่ที่ จ.ร้อยเอ็ด พี่น้องก็คงได้รับผลกระทบ…” เอกณรงค์ ชื่นมณี ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เล่าถึงผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อพี่น้องชาวนาทุ่งกุลา
“ การทำข้าวมีอยู่ 2 ช่วง ข้าวนาปีกับข้าวนาปรัง ตอนนี้เราเกิดสภาวะปัญหาโลกร้อน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ความร้อนขึ้นมา 41 – 43 องศาเซลเซียส อยู่ที่ จ.ร้อยเอ็ด พี่น้องก็คงได้รับผลกระทบ นั่นแหละครับก็เลยได้รับผลกระทบไปถึงข้าวนาปรัง ซึ่งข้าวนาปรังใช้ระยะเวลาอยู่ 3 เดือน แต่พอมันแดด มันแห้งทำให้ข้าวนาปรัง 2 เดือนกว่าก็จะสุกแล้ว แต่ความเป็นจริงความสมบูรณ์ของเมล็ดข้าว การผลิตแป้งของเมล็ดข้าว ไม่ได้สมบูรณ์ตามอายุไขของข้าว ก็เลยเกิดสภาวะที่เรียกว่า ข้าวแก่แดด”
เอกณรงค์ ชื่นมณีประธาน แลกเปลี่ยนต่อถึงการเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบสุดขั้วในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาของชาวทุ่งกุลา ที่ปรากฎชัดในพืชผลที่เขาปลูก เพราะเมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดู ความไม่แน่นอนมีโอกาสมาเยือนสูง คาดการณ์ว่า มีแนวโน้มเกิดวิกฤตจากฝนที่อาจตกน้อยเกินไป หรือเยอะจนน้ำท่วมผลผลิตทางการเกษตรก่อนฤดูเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคม
โลกรวนกระทบการผลิตด้านการเกษตร
คลื่นความร้อนได้สร้างผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร ซึ่งไม่ว่าจะร้อนหรือจะหนาวเกินไป ล้วนมีผลต่อการเติบโตของพืช อย่างชาวบ้านทุ่งกุลาที่ได้รับผลกระทบจากอากาศร้อนจัด ในช่วงปลูกข้าวนาปรังที่ส่วนใหญ่นิยมเริ่มปลูกในช่วงเดือนมกราคม แล้วไปเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนเมษายน เป็นช่วงที่ตรงกับฤดูร้อนของไทย ที่ในปีนี้ 2567 มีอุณภูมิเฉลี่ยถึง 44.5 องศา ซึ่งเป็นอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ข้าวของชาวบ้าน “แก่แดด”
สถานการณ์โลกเดือด โลกรวน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสภาพอากาศแปรปวน เริ่มชัดเจนและส่งผลกระทบมากขึ้นเรื่อย ๆ ปีนี้ผู้บริโภคอย่างเราเห็นภาพชัด เพราะราคาพืชผลทางการเกษตรหลายชนิดปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคการเกษตร พืชผักให้ผลผลิตน้อยลง คุณภาพต่ำ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อโรคและแมลง ทั้งนี้ยังมีการคาดการว่าผลกระทบที่เรากำลังเจอ จะรุนแรงและหนักขึ้นกว่านี้อีก
เครือข่ายกินสบายใจ หวั่นโลกรวนกระทบเกษตรอินทรีย์
“พื้นที่อุบลราชธานีเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เราเป็นเมืองรับน้ำจากลุ่มน้ำสาขาต่าง ๆ ที่ไหลมารวมกันที่นี่เราจะเจอภัยพิบัติครั้งใหญ่ในระยะเวลาที่มันถี่ แล้วก็มีความรุนแรงขึ้น เดิมทีภัยพิบัติที่เราเจอ ปีพ.ศ. 2521 และปีพ.ศ. 2543 ห่างกัน 20 กว่าปี แล้วล่าสุดนี้ก็คือ ปี พ.ศ.2562 ต่อด้วย ปี พ.ศ. 2565 ซึ่งห่างกันเพียงแค่ 3 ปีนั่นหมายถึงว่ามันมีความถี่มากขึ้น และที่สำคัญรุนแรงมากขึ้นด้วย เพราะว่าเป็นน้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ 40 ปี”
คนึงนุช วงศ์เย็น โครงการกินสบายใจ ได้สะท้อนภาพผลกระทบจากโลกรวนที่กำลังถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น และนี่คือสาเหตุหลักที่ส่งผลต่อรายได้และความมั่นคงทางอาหารของทุกคน
“ผลกระทบที่เกิดขึ้นนอกจากเกษตรเราจะขาดแคลนความมั่นคงทางอาหารแล้ว ก็ยังเจอว่ากระทบกับรายได้และอาชีพเกษตรกรด้วย นอกจากนี้ก็ยังกระทบในเรื่องของการเพาะปลูก เพราะว่าเกษตรกรขาดแคลน เมล็ดพันธุ์ที่จะเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป นอกจากภัยพิบัติน้ำท่วมเรายังเจอสภาวะอากาศร้อนฤดูกาลคลาดเคลื่อน”
คนึงนุช เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการกินสบายใจ ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่อุบลราชธานีกว่า 500 ครัวเรือน วันนี้ผลกระทบได้ปรากฎชัดเช่นกัน เมื่อผลผลิตของเครือข่ายได้รับความเสียหายทำให้ตลาดขาดแคลนสินค้า
“ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เกษตรกรที่เคยผลิตผักแล้วส่งเข้ามา ไปจำหน่ายต่อในตลาดหนึ่ง เดือน 600 กิโลกรัม ไม่สามารถผลิตได้ มะเขือเทศเชอรี่หวานทานสดซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ ม.อุบลราชธานี ตั้งใจที่จะส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่มีความหวานลดลง
แล้วก็ได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งใน 1 ฟาร์ม ผลผลิตลดลงถึง 30% ทำให้สูญเสียรายได้อยู่ประมาณ 30,000 บาทต่อฟาร์ม ต่อหนึ่งฤดูกาลผลิต นอกจากนี้ก็ยังมีพืชผักอื่น ๆ อีก”
ภาพความเสียหายมหาศาลในพื้นที่จังหวัดเล็ก ๆ ได้สะท้อนภาพใหญ่ เพราะนี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับทุกคนทั่วโลก ข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าในไตรมาส 1 ของปี พ.ศ. 2567 เศรษฐกิจการเกษตรหดตัวร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปี พ.ศ. 2566 โดยสาขาพืช หดตัวร้อยละ 6.4 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้พืชเจริญเติบโตช้า ให้ผลผลิตน้อยลงและไม่สมบูรณ์ บางพื้นที่พบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาดส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง ผลผลิตข้าวนาปี ปีการผลิตพ.ศ. 2566 และ พ.ศ. 2567 ทั้งประเทศ อยู่ที่ 25.5 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 4.28 ผลกระทบดังกล่าวทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อผลผลิตลดลง สินค้าเกษตรจึงปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกตลาด
นิเวศเกษตรสู้โลกรวน
ซึ่งในส่วนของนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมก็ติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมลองหาแนวทางรับมือ โดย ดร.จตุพร เทียรมา อาจารย์สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.มหาสารคาม ได้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เป็นมาเป็นไป พร้อมทดลองจัดการสภาพแวดล้อมเกษตรระดับครัวเรือน สู้โลกร้อน
“โลกร้อนที่ชัดเจนที่สุดก็มีอยู่ 2 ส่วน คืออุณหภูมิที่เราเผชิญอยู่ในแต่ละวันเพิ่มสูงขึ้น หลักจากนั้นสิ่งที่ตามมาหลังจากอุณหภูมิสูงขึ้นก็คือ เกิดการแปรปรวนของลม ฟ้า อากาศ จะเห็นว่าในระยะหลังที่อุณหภูมิสูง ๆ เวลาก่อนเกิดฝนจะมีลม พายุ ที่รุนแรงมาก ความเสียหายก็จะสูง ในขณะเดียวกันฝนที่เคยตกเป็นปกติ คือตกช่วงฤดูฝนกระจายตลอดทั้งช่วงฤดูกาล ก็เปลี่ยนรูปแบบการตก อาจจะตกในช่วงต้นฤดูฝนในช่วงสั้น ๆ แล้วเว้นช่วง และมาตกหนัก ๆ แล้วก็เว้นช่วง แล้วก็มาระดมตกตอนปลายฤดู สุดท้ายนำไปสู่แล้งตอนต้นฤดูกาล แล้วก็ท่วมตอนปลายฤดูกาล
ในขณะเดียวกันอุณหภูมิที่มันสูงขึ้น ในภาคเกษตรก็จะเผชิญกับการระบาดของโรคและแมลง ซึ่งอันนี้เราเก็บข้อมูลและติดตามข้อมูลในปีที่ผ่านมา เราพบว่าการระบาดของโรคใบส้มหรือโรคใบแสด เกิดจากเชื้อไวรัสที่มากับแมลงสูงมากในภาคอีสาน อันนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นชัดเจน
ทางออกและทางแก้เราอาจจะโฟกัสหรือมองไปที่เรื่องของอุณหภูมิกับการแปรปรวนของปริมาณฝน ทำอย่างไรที่จะทำให้ความเสียหายเราไม่เกิดขึ้นในภาคการเกษตร สิ่งแรกที่เราจะต้องทำให้ได้คือการจัดการน้ำ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเราอาจจะพึ่งระบบน้ำจากภายนอก ทั้งน้ำชลประทานและน้ำฝน
แต่ผลมองว่าในอนาคตนับจากนี้ไปการพึ่งปัจจัยเรื่องน้ำ เรื่องความชื้นในภาคเกษตร โดยอาศัยจากปัจจัยภายนอกไม่น่าจะเพียงพอ
เราจำเป็นที่จะต้องเอาน้ำหรือเอาระบบชลประทานยกมาไว้ในพื้นที่เกษตรของเราเอง ในขณะเดียวกันเราก็ต้องปรับอุณหภูมิในฟาร์ม แม้เรื่องของโลกร้อนเป็นอุณหภูมิของโลก แต่อุณหภูมิในฟาร์มเราสามารถลดได้โดยการใช้น้ำ ที่เราสามารถจัดการได้นั้นไปปลูกพืชพรรณที่มันหลากหลาย ไล่ตั้งแต่พืชไร่นา พืชสวน ไม้ยืนต้น ไม้ผล ให้เต็มพื้นที่กระจัดกระจาย แบ่งเป็นสัด เป็นส่วน แล้วพยายามมองถึงการเกื้อกูลกันในระบบของไม้ต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม จัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมแล้วก็ฟื้นฟูทรัพยากรดินแล้วสร้างระบบนิเวศที่หลากหลาย ทำให้การผลิตทางการเกษตรมีความเสี่ยงต่ำที่สุด ใช้ต้นทุนให้ต่ำที่สุด ผมมองว่าการจัดการสวนแบบนี้น่าจะเป็นทางออกและทางรอดในสภาวะที่โลกของเรานี้มันไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว”
เริ่มนับหนึ่งจากตัวเรา แม้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นปัญญาระดับชาติและระดับโลก แต่สิ่งที่ทุกคนสามารถเริ่มทำได้ คือการเริ่มจัดการพื้นที่ตนเองให้สามารถรับมือกับโลกร้อน โลกรวน และนี่คือสิ่งที่ ดร.จตุพร เทียรมา มองว่าน่าจะเป็นทางรอดในยุคสภาวะภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
รู้ รับ ปรับ (ฟื้น) ตัว แนวทางรับมือโลกรวนของเกษตรกร
“รู้ รับ ปรับ ตัว”
ข้อเสนอของ วันสาด ศรีสุวรรณ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
ที่มองถึงการปรับสภาวะอากาศยังต้องใช้เวลา สิ่งที่ทำได้เร็ว ๆ นี้ คือการปรับตัว บริหารจัดการพื้นที่ของตนให้ทิศทางที่สามารถรับมือได้
“เราต้องเรียนรู้รับปรับตัว เพราะว่ายังไงเราก็เปลี่ยนสภาวะอากาศไม่ได้ เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องรู้จักการปรับตัว เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการทำการเกษตรให้สอดคล้องกับบริบทของความเปลี่ยนแปลง เราต้องรู้จักบริหารจัดการการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในส่วนของพืชที่จะนำมาปลูกก็ต้องสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ ที่ปลูกไว้แล้วเราก็ต้องหาวิธีในการที่จะนำพืชอย่างอื่นมาปลูกเสริมหรือปลูกแทน ในส่วนที่ให้ทำเกิดการเกษตรแบบยั่งยืนให้สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงในส่วนนั้นเท่านั้นยังไม่พอ เราจะต้องบูรณาการความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ
สภาเกษตรกรนั้น เรารวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ในการที่จะนำเสนอให้หน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร ให้ตรงกกับประเด็นความต้องการและปัญหาที่เกษตรกรทำอยู่ วันนี้หลายพื้นที่อาจสะเปะสะปะในการประกอบอาชีพเลยทำให้ขาดความมั่นใจ ปลูกพืชตามกระแส ปลูกพืชโดยไม่ได้มีการวางแผนไว้ก่อน โดยสภาเกษตรเราจะนำพาพี่น้องเกษตรกรไปสู่การทำเกษตรโดยภูมิปัญญา ไม่ได้ทำการเกษตรโดยสะเปะอีกต่อไปครับ”
การปรับตัวสำคัญที่จะพาเดินหน้าต่อไปได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกากาศคือสิ่งที่ทุกคนได้รับกันถ้วนหน้า และต้องจัดการรับเพื่อหาทางรอด
เตรียมพร้อมรับมือร่วมกัน ลดการสร้างมลภาวะซ้ำเติมปัญหา
“ไม่ไหวก็ต้องไหว เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยประเทศเดียวเกิดขึ้นกับทั่วโลก ผลกระทบไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุณหภูมิที่สูงขึ้น แล้ง ท่วมซ้ำซาก ในพื้นที่เดิมมีทั้งแล้งท่วม เราจะทำอย่างไร จะรับมืออย่างไร ต้องมีมาตรการต่าง ๆ ที่ต้องมีการเตรียมพร้อมจริง ๆ
แล้วที่สำคัญที่สุดวันนี้ต้องพยายามแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการปล่อยมีเทนลงไปในอากาศ ที่ทำให้เกิดภาวะวิกฤตการณ์ ก็คือ การลดการเผา การบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เหมาะสมเอามาเพิ่มมูลค่า อันนี้คือสิ่งที่เราต้องเร่งดำเนินการในระยะสั้น ส่วนระยะยาวต้องบริหารจัดการน้ำ ต้องยอมรับว่าเราพึ่งฟ้า
พึ่งฝน เยอะ พื้นที่ชลประทานของเรามี 30% ต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้มากขึ้น สร้างให้พี่น้องเกษตรกรตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และมีความรู้ ความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีมาใช้รับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น แล้วก็อยู่กับสิ่งเหล่านั้นให้ได้ ดังนี้คือสิ่งที่เราพยายามส่งเสริมและดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะยาว” ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนขับเคลื่อนการพัฒนาในภาคการเกษตร ได้ร่วมมองถึงการแก้ไขที่ต้นเหตุในทุกด้าน ตั้งแต่การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของเราเอง จนถึงการจัดการทรัพยากรน้ำและการใช้พลังงานที่มีความยั่งยืน
การจัดการแหล่งน้ำทางการเกษตรแนวทางรับมือการผลิต
เช่นเดียวกับ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ที่มองถึงความสำคัญในการส่งเสริมแหล่งน้ำ พร้อมนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยเกษตรกรในการจัดการการเกษตรได้ดีขึ้น
“จริง ๆ ภาครัฐบาลเองท่านก็มีแผน แต่ทำอย่างไรให้แผนส่งผ่านลงสู่การปฏิบัติในเชิงพื้นที่ให้ได้ ซึ่งผมมองว่าในเชิงของมาตรการแก้ไขที่เราสามารถทำได้เลยเพื่อรับมือกับปัญหาโลกรวน โลกเดือด จะมีอยู่หลัก 3 ตัวด้วยกันที่ควรจะต้องเรียกว่ารีบทำ
อันแรกคือการส่งเสริมในเรื่องของแหล่งน้ำ แต่ต้องเป็นแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน ปัจจุบันเราทุ่มงบประมาณเยอะมากให้กับแหล่งน้ำในเขตชลประทาน แต่ 74% ของครัวเรือนเกษตรอยู่นอกเขตชลประทาน ตอนนี้มันเกิดความเหลื่อมล้ำในมิติของการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือ และรูปแบบของการส่งเสริมการช่วยเหลือแหล่งน้ำ ในการลงทุนต้องเปลี่ยนใหม่จากเดิม
มิติที่ 2 คือต้องส่งเสริมนวัตกรรมเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ นั่นคือทำอย่างไรให้เกษตรกรทำแล้วสามารถลดความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้ ทำแล้วจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำแล้วจะช่วยยกระดับผลิตภาพทางการเกษตรให้ได้ เช่น ในเรื่องของการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง หรือในเรื่องของการส่งเสริมให้มีการปรับใช้เทคโนโลยีที่เป็นเรียกว่าเตือนภัยล่วงหน้า หรือส่งเสริมในตัวการตรวจวัดวิเคราะห์ค่าดิน เป็นต้น
อีกอันนึงที่สำคัญมาก ๆ คือการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงที่ปรึกษาทางการเกษตร หรือ Core Advisor ปัจจุบันเกษตรกรสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือและองค์ความรู้ต่าง ๆ ผ่านเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเษตรของภาครัฐ ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีจำนวนจำกัดมาก ทำอย่างไรที่จะทำให้เกษตรกรเข้าถึงได้ เรามีสถาบันการศึกษาในพื้นที่ทั่วประเทศไทย เพราะฉะนั้นการขยายความร่วมมือ ยกระดับความร่วมมือให้เข้มข้นมากขึ้น ว่าตรงส่วนนี้จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึงทุกพื้นที่” รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
โลกรวนซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในสังคม
การช่วยให้เกษตรสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่สำคัญ เปรียบเสมือนการติดตั้งเครื่องมือต่อสู้กับสภาวะโลกรวน เอาตัวรอดได้ท่ามกลางความผันผวน แปรปรวนของสภาพอากาศ ใกล้เคียงกับ ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ที่เห็นว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เกษตรจึงจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลเพื่อออกแบบการรับมือให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง พร้อมย้ำถึงการมีส่วนร่วมในการออกแบบแนวทางและนโยบายที่เกี่ยวข้องในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสถาพภูมิอากาศ
“ความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม เป็นโครงสร้างที่ดำรงอยู่เดิม และทำให้ปัญหาโลกร้อนรุนแรงขึ้น เกษตรกรที่ผมสัมผัส ไม่ว่าจะปัญหาที่ดิน ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องน้ำต่าง ๆ ล้วนแต่มีความเปราะบางเป็นทุนเดิม พอเราเจอปัญหาเรื่องโลกร้อนมันเลยทำให้วิกฤตของเขารุนแรงขึ้น
เราต้องตระหนักรู้ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะดูมีความหวังน้อยที่เราจะรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศา ดังนั้นสิ่งที่เกษตรกรและโลกต้องเจอคื อยู่กับความผันผวนให้ได้ ฤดูฝนจะไม่เป็นฝนแบบเดิม ฤดูร้อนจะไม่ใช่ร้อนแบบเดิม สิ่งที่เราต้องตระหนักรู้ว่านี่ไม่ใช่ภาวะผิดปกติแค่ 1-2 ปี แต่มันจะรวนไปอย่างนี้
ดังนั้นเกษตรกร รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องเห็นว่านี่คือความแปรปรวนที่เราต้องออกแบบให้การเกษตรมีความยืดหยุ่นกับความเปลี่ยนแปลง
เนื่องจากผลกระทบมีความแตกต่างกัน ต่อให้อยู่พื้นที่เดียวกัน ต่อให้ระบบนิเวศน์เดียวกัน ก็อาจจะมีผลกระทบที่ต่างกัน บางพื้นที่เป็นที่โคก ที่ลุ่ม ที่ดอน ต่าง ๆ กันดังนั้นการออกแบบเรื่องการปรับตัวจึงเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริมให้ชาวบ้านแต่ละที่ แต่ละถิ่น มีขีดความสามารถ และเข้าถึงข้อมูล ออกแบบการปรับตัวของตัวเอง
แต่ถ้าเป็นแผนจากข้างบนมาเมื่อไหร่และทำให้เหมือนกันหมด ขุดบ่อเหมือนกันหมด เกษตรแบบเดียวกันหมด แพทเทิร์นแบบเดียวกันหมดอันนี้คือล้มเหลวแน่นอน ดังนั้นเราจะอย่างไรถึงจะเกิดการปรับตัวแบบ button up ขึ้นมา ที่เกษตรกรมีส่วนร่วมในการวางแผน
ประเด็นต่อมาคือเรื่องทำได้เกิดการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งขณะนี้เรื่องการเข้าถึงข้อมูล เรื่องของสภาพภูมิอากาศ เกษตรกรก็พยายามพึ่งพากรมอุตุนิยมวิทยา เพียงแต่ว่าเราต้องการข้อมูลที่เฉพาะเจาะจง และมีความสอดคล้องกับระบบนิเวศแต่ละถิ่น แต่ละที่ เพราะฉะนั้นระบบฐานข้อมูลที่ทันสถานการณ์และเจาะจงจึงมีความสำคัญยิ่ง แต่เราจะปรับตัวไปสู่อะไรนั่นเป็นคำถามใหญ่ เราแค่ปรับเพราะเพื่อให้อยู่รอดไปเฉพาะหน้า หรือเราต้องการเปลี่ยนผ่านเกษตรไปสู่ความมั่นคง” ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
“แผนสู้โลกร้อนแพทเทิร์นเดียวกันทั้งหมด ไม่อาจใช้ได้จริง” มุมมองสำคัญของดร.กฤษฎา บุญชัย ที่เห็นสอดคล้องกับ ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่มองว่า “เราไม่สามารถใช้นโยบายเดียวครอบคลุมทั้งประเทศได้”
“วันนี้เราต้องยืดหยุ่นปรับตัว เปลี่ยนแปลงให้ทันต่อโลก รัฐพยายามสร้างมาตรการจูงใจแบบมีเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบประกันภัย วันนี้ถ้าจะเข้าไปเปลี่ยนแปลง เกษตรกรอาจยังไม่อยากเปลี่ยน ด้วยข้อกังวลเปลี่ยนไปแล้วขายได้ไหม
ถ้าเรามีเกษตรพันธะสัญญามีคนซื้อ 100% มีรายได้การันตีว่าได้สูงขึ้นกว่าปลูกพืชเดิม มีระบบประกันภัยว่าทำแล้วไม่เสียหาย ผมว่าเขายอมเปลี่ยน
เราพยายามดึงเกษตรกรที่เป็นเกรด A ที่มีคุณภาพ มีศักยภาพ ลองต่อยอดให้เขาส่งออก แล้วไปดึงเกษตรกรเกรด B ที่ยังผลิตยังไม่ได้ดีเท่าไหร่ให้ผลิตได้ดีขึ้น หรือ C ทำไม่สำเร็จเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นไหม เราพยายามจะทำมาตรการในลักษณะแบบนี้เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดต้องจับมือกันทั้งหมด รัฐทำคนเดียวไม่ได้ รัฐต้องจับมือกับทุกคน เกษตรกร ภาคเอกชน แล้วทุกภาคส่วนจับมือด้วยกันฝ่าฟันไปด้วยกัน แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน พร้อมที่จะต้องเปลี่ยนแปลงนำประเทศไทยเป็นครัวของโลก นำประเทศไทยเป็นแหล่งความมั่นคงด้านอาหารของโลก” ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
คืนระบบนิเวศธรรมชาติแก้ไขที่ต้นเหตุ ทางออกช่วยโลกอย่างยั่งยืน
ก้าวสู่ยุคที่เทคโนโลยีและการพัฒนาเติบโตอย่างรวดเร็ว มีผลต่อความหลากหลายทางระบบนิเวศเริ่มน้อยถอยลง ส่งผลกระทบให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เปลี่ยนแปลงไป การฟื้นฟูให้ระบบนิเวศมีความหลากหลายและมั่นคงจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเริ่มทำ เพื่อคืนความสมดุลให้สิ่งแวดล้อม
“ดังนั้นถ้าเรามีความชัดเจนว่าการเปลี่ยนผ่านมันก็ต้องกลับคืนมา เราต้องฟื้นความมั่นคงของนิเวศน์ขึ้นมา รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าในธรรมชาติหรือพันธุกรรมในไร่นา
ฐานเศรษฐกิจที่ชาวบ้านจะสามารถพึ่งตัวเองมีความมั่นคงได้ และความมั่นคงทางอาหาร เป็นเจตจำนงที่เกษตรกรและคนที่เกี่ยวข้องต้องออกแบบ ประเด็นสำคัญต่อให้เกษตรกรวางแผนได้ ก็ใช่ว่าเขาจะทำได้เพราะต้องผ่านทรัพยากร ผ่านอะไรต่าง ๆ ฉะนั้นกระบวนการส่งเสริม ถ้าเป็นการส่งเสริมที่ไม่เข้าใจความซับซ้อน ไม่เข้าใจความเฉพาะเจาะจงอันนี้ความเสียหายเกิดขึ้นมาเยอะแล้ว แล้วเราต้องทำอย่างไรให้ระบบการส่งเสริมมาทำให้ชาวบ้านจัดการน้ำได้ จัดการดินได้ มีพื้นที่ทรัพยากรต่าง ๆ
และการปรับตัวไม่ใช่แบบฉายฉวย บอกได้เลยว่าเกษตรแบบนิเวศจะมีความสำคัญในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นเกษตรพื้นบ้าน ไปจนถึงเกษตรนิเวศรูปแบบใหม่ ๆ เป็นเกษตรที่กลับไปให้ความสำคัญของนิเวศไม่ใช้สารเคมีและทำให้นิเวศมีบริการที่ดีกับเกษตรและชุมชน แล้วผลผลิตเหล่านี้มันจะเป็นสิ่งที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรมีความหมาย มีความสำคัญในตลาดโลกด้วย
ถ้าเราเห็นทิศทางแบบนี้พันธุกรรมพื้นบ้านต้องมาแล้วใช่ไหมครับ การจัดการน้ำที่มั่นคงต้องมา การทำแผนเฉพาะเจาะจงต้องมา แล้วสุดท้ายคือวางแผนเปลี่ยนผ่านเลย ถ้าเกษตรของประเทศไทยอย่างน้อย 45% – 50% ที่เป็นเกษตรกรรายย่อย ต่อให้อยู่นอกชลประทาน ถ้าเราสามารถเปลี่ยนผ่านให้เขามีความมั่นคง 3 อย่างที่ผมกล่าวไปได้มีระบบรองรับชัดเจนผมคิดว่าเราจะอยู่กับโลกที่ผันผวนได้อย่างมั่นคงขึ้น” ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
“อย่าเพิ่งเบื่อทำความเข้าใจระบบนิเวศ ยิ่งสลับซับซ้อนยิ่งมีเสถียรภาพ คำว่าเสถียรภาพในที่นี้หมายถึงว่ามันไม่มีอะไรมาสั่นคลอนได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากในพื้นที่เกษตรกรรมหรือในแปลงเกษตรเราสามารถจัดการน้ำได้ภายในฟาร์ม เปรียบเสมือนกับเราเป็นเจ้าของระบบชลประทานเอง นั่นก็คือมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว เพราะตัวน้ำจะไปทำให้เกิดการสร้างระบบนิเวศที่หลากหลายง่ายขึ้น เหมือนกับเราไปประดิษฐ์พื้นที่ที่มีความหลากหลายเลียนแบบระบบนิเวศป่า แต่ว่าเอามาใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม เรายังคงวางเป้าหมายของการเกษตรอยู่ ความหลากหลายตรงนี้จะช่วยเกื้อกูลซึ่งกันละกัน
หลายครั้งเราชอบบอกว่า เวลาอากาศมันร้อนมาก โลกมันรวน การระบาดของโรคแมลงมันเยอะ ซึ่งเป็นธรรมชาติของแมลงมันชอบอากาศร้อนและไม่ชอบฤดูฝน หากว่าเราสร้างระบบนิเวศในฟาร์มที่หลากหลาย จะเกิดความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในกลุ่มของแมลงด้วย มันจะควบคุมกันเอง ต้นทุนเราก็จะลดลง อุณหภูมิที่มันสูงภายในฟาร์มก็จะต่ำลง แล้วมันก็จะทำให้การติดดอกออกผลของพืชพันธุ์ โดยเฉพาะพืชที่เราทำในฤดูร้อนมันไม่ประสบปัญหาในเรื่องของการผสม ทำให้เกิดเป็นเมล็ด เป็นผล เป็นลูกรวมถึงการรักษาขั้วผลให้เหนียวให้ยังคงติดอยู่กับต้นจนกระทั่งถึงเวลาเก็บเกี่ยวได้ คือความหลากหลายทางระบบนิเวศช่วยได้ทั้งหมดเลย” ดร.จตุพร เทียรมา สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.มหาสารคาม
ความหลากหลายของระบบนิเวศคำตอบความยั่งยืน
ระบบนิเวศที่หลากหลายคือคำตอบ ของการรักษาความสมดุลและความยั่งยืนของโลก แต่มันมีปัญหาอยู่ว่าหลายคนอยากทำแต่ทำไม่ได้ เพราะมีหลายข้อจำกัดไม่ว่าในเรื่องของทุน องค์ความรู้ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยสนับสนุน ส่งเสริม อย่างเหมาะสม
“ถ้าหากว่าเรามองที่โลกร้อน เรื่องของความแปรปรวนของปริมาณน้ำหรือการมีน้ำไม่ต่อเนื่อง สิ่งแรกที่เรามองคือเราต้องมีน้ำในฟาร์มแต่ปัญหาคือทุน อย่างล่าสุดที่ผมพึ่งขุดสระเพื่อเก็บน้ำเพิ่มอีก 1,450 คิว ใช้เงินเป็น 75,000 บาท เฉลี่ยลูกบาศก์เมตรละ 50 บาท แล้วการขุดสระแบบนี้มันไม่ใช่ขุดแล้วก็ทิ้ง สร้างภูเขาไว้รอบ ๆ สระ เพราะว่ามันจะไปทำให้พื้นที่รับน้ำแคบลงเหลือแค่ปากสระ มันจำเป็นต้องกระจายดินแล้ววางสโลปให้ถูกต้อง เพื่อที่จะปลูกพืชพันธุ์แล้วก็ให้น้ำมันไหลระบายลงมาสู่แหล่งน้ำ จึงจะเก็บผักได้ต้นทุนมันเลยสูง ทำอย่างไรที่จะไปช่วยให้เกษตรกรสามารถมีกำลังสร้างแหล่งน้ำในพื้นที่ได้
ประเด็นต่อมาก็คือว่าพอมีน้ำแล้ว การจัดการน้ำยังง่ายกว่ามีน้ำแล้วอย่างไรต่อ ในประเด็นเรื่องของการใช้น้ำ มักจะได้ยินคำถามว่าพอเห็นน้ำเต็มสระอยากจะปลูกอะไรเต็มไปหมด เลยลืมคำนวณว่าพืชที่ปลูกเราควรจะปลูกได้กี่ต้น เราควรจะปลูกให้หลากหลาย แล้วพอปลูกไปหลาย ๆ อย่าง ตอนพืชเด็ก ๆ น้ำมันพอไงมันใช้น้ำน้อย ช่วงจะออกผลน้ำหมด คราวนี้มันก็เลยกลายเป็นว่าการมีน้ำแล้วก็ยังทำให้เกิดความเสียหายอีก อันนั้นเป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจอย่างไร ให้เกิดการใช้น้ำได้อย่างคุ้มค่าที่สุด เกิดประโยชน์สูงสุด” ดร.จตุพร เทียรมา สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.มหาสารคาม
ควรปลูกพืชให้หลากหลาย ไปพร้อมกับทำความเข้าใจการใช้น้ำให้คุ้มค่าที่สุด คือสิ่งที่ ดร.จตุพร เทียรมา ย้ำถึงมาเสมอในการปรับพื้นที่แปลง การรับมือกับภัยที่ตามมาจากโลกร้อน โลกรวน วันนี้ยังไม่มีองค์ความรู้ที่เบ็จเสร็จตายตัว แต่สิ่งที่เกษตรกรสามารถทำได้เลยคือการปรับใช้ภูมิปัญญาบวกกับชุดประสบการณ์ของพื้นที่ตนเองรวมถึงของเพื่อน ๆ นำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม เพื่อเรียนรู้และหาทางออกให้พื้นที่แปลงของตนได้
“ถึงแม้ว่าจะไม่มีนักวิชาการที่เป็นข้าราชการอะไรในพื้นที่ คนที่เป็นต้นแบบของความสำเร็จในแต่ละพื้นที่มันมีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการบริหารการจัดการน้ำ เอาน้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ คนเหล่านี้เขาเรียกว่าภูมิปัญญา แต่ส่วนมากมักจะไปลอกข้อสอบของภูมิปัญญาอีกที่นึง ที่ไม่เอาข้อสอบของภูมิปัญญาในแต่ละถิ่นที่มันสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่นั้น ยกตัวอย่างภาคใต้ปลูกทุเรียน การจัดการสวนทุเรียนในแต่ละสวนมีการจัดการสวนไม่เหมือนกันสักแปลง การวางแผนในการนำน้ำมาใช้ในเบื้องต้น ต้องรู้ว่าสวนเราขนาดนี้เราจะต้องทำสระขนาดไหน แล้วปริมาณการใช้น้ำเพียงพออยู่จุดคุ้มทุนอยู่ตรงไหน” วันสาด ศรีสุวรรณ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
ในวิกฤตของโลกที่เผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป สิ่งสำคัญคือการหาวิธีรับมือและเอาตัวรอด โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่เป็นฐานปากท้องของคนทั่วโลก ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญและมีการให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ชาวเกษตรกรมีทิศทางการปรับตัวที่ตรงจุดและก้าวผ่านช่วงเวลาสำคัญนี้ไปได้ พร้อมเป็นฐานความมั่นคงทางอาหารต่อไปอย่างยั่งยืน
“ที่ปรึกษาด้านการเกษตรวันนี้ยังขาดอีกเยอะ เนื่องจากเกษตรกรที่ทำงานในภาคเกษตรมีกว่า 12 ล้านชีวิต ถ้าเกษตรตำบลทั่วประเทศไทย 1 ตำบล 1 คน รวมแล้วประมาณ 8,000 คน ซึ่งไม่เพียง” รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
“ข้าราชการที่จะต้องดูแลพี่น้องเกษตรกรต่อคนมันน้อยมาก วันนี้เรามีข้อจำกัดเรื่องอัตรากำลัง แต่ว่าวันนี้ผมเห็นด้วยกับทั้งท่านอาจารย์ แล้วก็ท่านรองประธานภาคเกษตร วันนี้เราสามารถสร้างเครือข่ายที่ปรึกษา advisor ที่จะช่วยเกษตรกร ช่วยประชาชนอาจไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐอย่างเดียว มีอาจารย์ มีผู้ที่ทำงานประสบความสำเร็จ ปราชญ์ชาวบ้าน หรืออะไรต่าง ๆ เหมือนกัน อยู่ในพื่นที่เดียวกัน” ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
เพราะที่ปรึกษาด้านการเกษตรเป็นอีกกำลังสำคัญ ที่จะช่วยคนที่กำลังเพิ่มเริ่มหาแนวทางวิธีปรับตัว ให้มีแนวทางหรือชุดประสบการณ์จากคนอื่น ๆ มาเติมเต็มปรับใช้ในพื้นที่ตนเอง ให้ปรับตัว รับมือกับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“สิ่งที่ขาดคือความรู้ที่เท่าทันต่อการปรับตัวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกลุ่มเกษตรกร เราพบว่าสิ่งที่มันสำคัญมาก ๆ คือทำให้เกษตรกรเข้าใจสภาพปัญหาของโลก แล้วก็เชื่อมโยงกับปัญหาในพื้นที่ของตัวเองและตระหนักรู้ พร้อมหาวิธีการปรับตัวรับมือที่มันสอดคล้องกับวิถีชีวิตสภาพปัญหาแล้วก็ภูมินิเวศน์ของตัวเอง ที่สำคัญคือต้องเรียนรู้แล้วก็ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และไม่มีเทคนิคหรือสูตรสำเร็จใดที่นำมาใช้ในพื้นที่ของตัวเองได้
ข้อเสนอแรกรัฐบาลต้องขยายพื้นที่หรือสนับสนุนระบบเกษตรที่มันยั่งยืน และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มันเป็นวาระแห่งชาติ เราต้องสร้างบุคลากรที่มีความเข้าใจเรื่องนี้ สร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกร เพราะว่าความรู้ความเข้าใจของเกษตรกรมีผลอย่างมากต่อการปรับตัวและรับมือ
สร้างปฏิบัติการในพื้นที่ หรือสนับสนุนปฏิบัติการในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นระดับแปลงของเกษตรกร ซึ่งมีเกษตรกรหลายท่านที่ผสมผสานระหว่างเกษตรอินทรีย์กับวนเกษตร
ทุกวันนี้ไม่มีศาสตร์ใดที่สามารถรับมือกับเหตุการณ์เรื่องนี้ได้เพียงศาสตร์เดียว นอกจากยังต้องเป็นองค์ความรู้ในสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยด้วย ที่จะต้องลงมาควบคู่กับการปฏิบัติการของชาวบ้านหรือในห้องแลป ทำความเข้าใจแล้วพัฒนานวัตกรรมการเกษตรที่มันสามารถรับมือกับเรื่องนี้ได้
การพัฒนาเศรษฐกิจอาหาร คิดว่าโมเดลของภาคประชาที่ทำตลอดห่วงโซ่อาหาร แล้วพยายามทำตลาดเขียวสร้างความร่วมมือกับผู้บริโภค ให้ผู้บริโภคได้เปลี่ยนวิธีการบริโภคของตัวเองมาสนับสนุนระบบการผลิตที่มันเป็นธรรม เรามามาถูกทางแล้วแต่มันจำเป็นจะต้องได้รับการขยายเพิ่มขึ้น
พื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วก็การแชร์กันเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก คือปัญหาเหล่านี้เราไม่เคยเจอเลย เราจะเอาความรู้มาแลกกัน ให้ทุกคนเห็นแล้วก็เอาปรับประยุกต์กลับไปใช้ในพื้นที่ของตัวเองมันก็จะนำมาสู่เรื่องของการปรับตัวที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และสุดท้ายในพื้นที่ของอุบลการจัดการน้ำเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในระบบของเกษต รเราทำมาดีมากแต่ว่าการจัดการน้ำของภาครัฐค่อนข้างที่จะไม่มีประสิทธิภาพ แล้วก็อาจจะต้องคุยกันกับลุ่มน้ำทั้งหมด ก็จะช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติรุนแรงในเรื่องน้ำท่วมด้วยนอกเหนือจากการรับมือในเรื่องของภาคเกษตรที่เกิดจากอาการร้อนอากาศร้อน อากาศแปรปรวน” คนึงนุช วงศ์เย็น โครงการกินสบายใจ
แก้ปัญหาให้ตรงจุด ปลดล็อคข้อกฎหมายให้เกษตรกรเดินหน้าต่อ
เมื่อโลกร้อน โลกรวนมาเยือน สภาวะท่วม แล้ง ก็ตามมา หลายพื้นที่มีน้ำท่วมและแล้งในที่เดียวกัน และหลายพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทานก็ประสบปัญหาแล้ง ชาวเกษตรกรจึงหาแนวทางจัดการโดยจัดธนาคารน้ำใต้ดินแต่ยังติดข้อจำกัดทางข้อกฎหมายที่มีการจำกัดความลึกของบ่ ชาวบ้านมองว่า 3 เมตรไม่เพียงพอต่อการกักเก็บน้ำที่จะใช้ตลอดฤดูกาลที่ไม่มีน้ำ ฝนไม่ตก
“บ่อ 3 เมตรห้ามขุดลึกกว่านี้ผิดกฎหมาย ตอนนี้เราแก้ปัญหาง่าย ๆ คือเราต้องไปคุยกันและต้องออกกฎหมายว่าให้สามารถขุดได้ ต้องรอฟ้า รอฝน อย่างเดียว แต่น้ำในบ่อของกรมพัฒนา 3 เมตรเอง สมัยก่อนเขาบอกว่าน้ำจะลดมาแค่ปีละ 1 เซนติเมตร แต่ตอนนี้ 42-43 องศาเซลเซียส น้ำลดเยอะการเก็บน้ำไม่พอ เราก็ต้องใช้สูตรก็คือออกกฎให้หน่อยว่าเจาะธนาคารน้ำใต้ดินเสริมได้” เอกณรงค์ ชื่นมณี ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด
แก้ไขเยียวยาให้ตรงจุด เสริมสร้างความเข้มแข็งและเติมทักษะ ทางช่วยเกษตรกรให้สามารถรับมือกับความท้าทายจากภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้
“เราสามารถลดการเยียวยาแล้วปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่การให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าการให้เงินเยียวยาให้เปล่ามันฉุดรั้งทุกอย่างเลย อยากจะให้ปรับเปลี่ยนให้มากขึ้นในมิติของการให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข โดยเฉพาะเงื่อนไขการปรับใช้นวัตกรรมเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ ปรับตัวทำยังไงที่จะสร้างภูมิคุ้มกันที่อนาคตนะโลกร้อน โลกเดือดมา เขาจะมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นในการรับมือ
ในแง่ของการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ทำอย่างไรที่ได้เงินมาแล้วจะปรับตัว เพราะอนาคตสินค้าเกษตรไทยต้องไปแข่งกับตลาดโลก ถ้าเรายังไม่ปรับตัวทุกอย่างเราทำเหมือนเดิม แต่เพื่อนบ้านอื่น ๆ ปรับไปแล้ว อนาคตสินค้าเกษตรไทยจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน และสุดท้าย
ก็จะกลับมาสู่เกษตรกรเพราะขายของไม่ได้ราคาตกต่ำปัญหาหนี้สินก็จะตามมา ในท้ายที่สุดการทิ้งที่ดินขายที่ดินออกไปก็จะเกิดขึ้นมากมาย” รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
“ในระยะต่อไปในเรื่องมาตรการสนับสนุนหรือการส่งเสริมแบบมีเงื่อนไข จะถูกนำมาใช้เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องของการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาเรื่อง climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น คุณไม่เผา เราก็จะมีส่วนช่วยในการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการผลิตบางอย่างที่เหมาะสม ในราคาที่เหมาะสม หรือในเรื่องของการช่วยเหลือให้สิทธิ์เข้าถึงเครื่องมือ เครื่องจักร ที่จะมาช่วยให้คุณไม่เผาในมาตรการลักษณะแบบนี้ ในอนาคตก็จะมีเพิ่มมากขึ้น” ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ชุมชนกับการแก้ไขและรับมือโลกร้อน-โลกรวน
นอกจากการปรับตัวที่หลากหลายตามความเหมาะสมของพื้นที่ อีกสิ่งสำคัญที่ต้องร่วมด้วยช่วยกัน คือต้องรับผิดชอบบทบาทของตนเองอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริโภค, ภาครัฐ, ภาคเอกชน, นักวิชาการ, องค์กรสิ่งแวดล้อม, รวมถึงทุกคนทั้งหมด เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะในสภาวะภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ยากต่อการรับมือ
“ผมคิดว่าเราก็จะเจอความสูญเสียและเสียหาย เพราะตอนนี้ร้อนก็เพิ่งผ่านไป แล้วไม่รู้จะร้อนต่อหรือเปล่าฝนก็มาแล้ว ฉะนั้นเกษตรกรส่วนมากยังไม่รู้จะปรับตัวในทิศทางอย่างไรเลย ถ้าถามระยะสั้นผมคิดว่าสิ่งที่รัฐทำได้นั่นคือต้องหาทางช่วยชาวบ้านโดยด่วน
เรื่องที่ 2 ที่ตามมาคือถ้าไม่อยากให้เกิดความสูญเสียและเสียหายมากขึ้น การปรับทิศทางการสนับสนุนอันนี้จะเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะว่าถ้าเรายังใช้การวางแผนจากข้างบนอย่างเดียว เราไม่สามารถมีผู้รู้ที่จะรู้เรื่องราวในพื้นที่ได้จริง ๆ ลองนึกถ้าเราเป็นเกษตรจังหวัด เราจะรู้อะไรในพื้นที่นี้ได้เราจะหาข้อมูลจากไหน ฉะนั้นสิ่งที่เราควรจะทำได้เราต้องเป็นนักจัดการความรู้ ความรู้อยู่ทั่วแผ่นดิน อยู่ที่เกษตร อยู่ที่ประชาชนจำนวนมาก ทำอย่างไรถึงจะเอาเรื่องราวของเขา บทเรียนของเขา ออกมาสร้างให้เป็นระบบความรู้ให้เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดได้ เกิดการปรับตัวที่หลากหลายขึ้น ผมคิดว่าอันนี้อยากเห็นการเปลี่ยนผ่าน
เกษตรกรไม่ได้ดำรงอยู่อย่างอิสระ เขาอยู่ในพันธนาการของโครงสร้างอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งอันนี้เป็นตัวปัจจัยสำคัญ ที่จะถามว่าตกลงปรับตัวมันเป็นทางเลือกที่อิสระหรือเปล่า ถ้าเกษตรเขาเป็นเกษตรพันธะสัญญา เขาต้องทั้งปลูกอ้อย มัน ยาง พวกนี้ต้องส่งโรงงาน ส่งบริษัท ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ส่งออก
คำถามที่เกษตรกรและประชาชนควรถามคือ รัฐบาลจะทำอย่างไรกับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารขนาดใหญ่เหล่านี้ ที่ทำให้เกษตรกรมีความสามารถในการปรับตัว แต่ถ้าเราต้องการจะเกษตรที่ประเภทแบบเดิม ก็ผลักภาระไปให้เกษตรกรคุณก็ปรับตัวเอา แบบนี้สุดท้ายเราต้องปรับไม่ได้ ดังนั้นความรับผิดชอบ เขาเรียกว่าความรับผิดชอบที่แตกต่าง
ใครเป็นผู้มีบทบาทที่ก่อให้เกิดปัญหาก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้ระบบนิเวศเสียหาย ที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงอาหาร ต้องมีบทบาทของการเปลี่ยนแปลงอย่างโดยด่วน ไม่เช่นนั้นถ้าเราเป็นชาวไร่อ้อยเราจะปรับยังไงก็เราต้องส่งอ้อยแบบนี้ ถ้าเราทำนาขนาดจำนวนมากเราจะทำอย่างไร ก็เมื่อตลาดโรงสีเรารับแบบนี้ ทั้งหมดเลยต้องปรับตลอดห่วงโซ่ ซึ่งผมคิดว่าการติดตามที่สำคัญคือต้องไปที่กลไกของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และคนขายตลาดต้องเปลี่ยน” ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
ต้องปรับตัว ต้องสร้างระบบนิเวศที่หลากหลาย เป็นสิ่งที่เกษตรกรทำได้ แต่โจทย์สำคัญสำหรับการปรับตัวปลูกพืชแบบใหม่ ๆ คือตลาดที่มารองรับพืชผลที่จะเกิดขึ้นจริง รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาร่วมออกแบบและเชื่อมโยงตลาดให้เหมาะสมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ชาวเกษตรกร
“จากประสบการณ์ที่เราทำการเกษตรนิเวศคือ ทั้งพยายามหาความรู้ทางวิชาการด้วย แล้วก็ไปสัมผัสกับผลพลอยได้หรือผลผลิตที่เกิดขึ้นด้วย เรามองเห็นแล้วว่าผลผลิตที่มันหลากหลาย การกระจายผลผลิตโดยตัวเกษตรกรเองภายใต้เทคโนโลยีปัจจุบัน ยอมรับว่าเราต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะว่าเราต้องทำตลาดเองด้วย กระจายผลผลิตออกไปเองด้วย แล้วบังเอิญอาศัยคนรู้จักและความเชื่อมั่นในเชิงระบบที่เราทำการเกษตรโดยปราศจากสารเคมี มันเลยทำให้เราทำตลาดง่ายขึ้น
แต่โจทย์ที่ผมได้ยินจากเกษตรกรจริง ๆ เป็นเสียงเดียวกันหมดเลย คำถามแรกเลยว่าถ้าหากทำอย่างอื่นแล้วขายให้ใคร ในเมื่อพืชเศรษฐกิจหลักที่เรามองเห็นอยู่ ก็มีอยู่ 5 พืชหลัก ๆ มันก็ต้องไปผูกโยงกับตัวเศรษฐกิจ ตรงนั้นมันเลยไม่ทำให้เกิดแรง ก็คือลองทำไปแบบเดิมแล้วมันเสี่ยงน้อยสุด แล้วมันกลายเป็นว่าทำแบบเดิมเสี่ยงน้อยสุด ในขณะที่เรากำลังมองว่าขืนทำแบบเดิมในยุคโลกร้อนเสี่ยงมากสุด
เราจะต้องพยายามสื่อสารเรื่องนี้ออกมาให้ได้ เพราะเวลาเราทำเกษตรที่หลากหลาย อาศัยการพึ่งพิงเชิงระบบต้นทุนเราต่ำมาก เพราะจริง ๆ แล้วต้นทุนธรรมชาติทำงานให้เรา มันทำให้ต้นทุนที่เป็นตัวเงินเราใช้น้อย คราวนี้ประสบการณ์ที่เราเจอก็คือว่าถ้าหากว่าข้างนอกขายแพงแต่ต้นทุนเราต่ำที่สุด แล้วเราขายถูกตลาดวิ่งมาหาเรา แต่เราไม่ได้มีเยอะเรามีอย่างละนิด มันหลากหลายมันกระจายผลผลิตไปตลอดทั้งปีมันเลยทำให้ส่วนของส่วนตัวเองที่ทำเกษตรที่หลากหลาย ภายในการจัดการในเชิงระบบแบบมีความไม่มีเสี่ยง ต้นทุนต่ำ การกระจายผลผลิตก็ง่าย
แต่ข้อเสียก็คือว่ารายได้ที่ได้มามันเป็นเบี้ยหัวแตกมันกระจายทีละเล็ก ทีละน้อย ไปทั้งปี ไม่เป็นกอบเป็นกำ และสุดท้ายมันก็ไม่พอเอาไปใช้หนี้ใช้สิน อันนี้ก็ต้องให้ทางภาครัฐไปดู ผมเห็นแล้วล่ะว่าเงื่อนไขที่ทำให้การเปลี่ยนมันมาจากอะไร หนี้สินและความเสี่ยง และมุมมองความเสี่ยงของเกษตรกรไม่เหมือนเรา เปลี่ยนมารับโลกร้อนเสี่ยงมากกว่าทำแบบเดิม เงื่อนไขการถูกโยงกับพืชเศรษฐกิจ ยังมีวิธีเอาเงินไปโชว์แล้วก็เป็นการใช้หนี้เรียบร้อย แล้วเอากลับมาอีกมันยังมีคงอยู่ในเรื่องของสถาบันการเงิน ที่เกษตรกรต้องพึ่งพิงด้วย ก็คือความเสี่ยงที่ต่ำของเกษตรกร” ดร.จตุพร เทียรมา อาจารย์สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.มหาสารคาม
ปรับไปแล้ว เปลี่ยนไปแล้วจะอยู่ได้ไปรอดจริงหรือไม่ เมื่อพืชเศรษฐกิจหลักของไทยตอนนี้มีอยู่ 5 พืชหลัก สิ่งที่เกษตรกรกลัวคือปรับไปแล้วปลูกไปแล้วจะขายไหน ใครซื้อ นี่คือสิ่งที่ ดร.จตุพร เทียรมา แลกเปลี่ยนถึงปัญหาส่วนใหญ่ที่เกษตรกรกำลังเจอ ท่ามกลางความแปรปรวนของอากาศและความไม่แน่นอนของตลาดที่จะมารองรับ เป็นความกังวลของเกษตรกรหลายคน วันนี้เริ่มมองเห็นทางเมื่อในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี สร้างความหวังใหม่นำโดยเกษตรกรคนรุ่นใหม่ รวบรวมเกษตรกรที่สนใจปรับตัวและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ มาร่วมกันปลูกและยกระดับมาตรฐานแปลง ไปพร้อมกับมีพื้นที่ตลาดให้มาเจอกันกับผู้บริโภคโดยตรง สร้างรายได้ไป สร้างความมั่นคงทางอาหารให้ชาวอุบล พร้อมรับมือกับภัยที่อาจเกิดขึ้น
“เราทำงานกับเกษตรกรมาแล้วก็เจอว่าเกษตรกร 100 คน เราไม่ได้ทำงานกับเกษตรกร 100 คน เราเลือกทำงานกับเกษตรกรที่เห็นปัญหาแล้วอยากเปลี่ยน ทุกคนที่เดินเข้ามารู้สึกว่าอยู่ไม่ได้กับระบบเกษตรแบบเดิมแล้ว แล้วเราก็มุ่งที่จะเกาะติดคนที่เห็นปัญหาแล้วอยากเปลี่ยนแล้วก็ค่อย ๆ ดึงเกษตรกรรายอื่น ๆ ที่อยู่ข้างเคียงเข้ามาเรียนรู้ได้เพิ่มเรื่อย ๆ คือมันสร้างเป็นกลุ่มหรือว่าเป็นคลัสเตอร์ ตามชุมชน แล้วกลุ่มเขาก็ไปขยับขยายตัวของเขาเอง
ถามว่ามันสร้างเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี มีกลุ่มชื่อว่ากลุ่มผักอินทรีย์บุณฑริก ยอดขาย 1 ปี 1.8 ล้านบาท สำหรับเกษตรกร 20 กว่าราย เปิดบ้านเกษตรอินทรีย์ขายสัปดาห์ละ 6 วัน นี่คือระบบเศรษฐกิจ สร้างเศรษฐกิจในครัวเรือนของตัวเองจากระบบอาหารที่มันมีความยั่งยืน ระบบการผลิตที่มีความยั่งยืน
ที่ จ.อุบลราขธานีมีคนทำมันสำปะหลังค่อนข้างเยอะ แต่ว่าสิ่งที่เราทำคืออย่าทำพืชเชิงเดี่ยว 100% จากที่ทำ 100% มาทำ 50% และแบ่ง 50% มาทำระบบการผลิตที่มันมีความยั่งยืน มาทำป่าหัวไร่ปลายนา มาปลูกพืชในระบบเกษตรผสมผสาน มาลองทำตลาดกับกลุ่มกับเครือข่ายดู คือแบ่งไข่หลาย ๆ ฟองไปกระจายอยู่ในหลาย ๆ ตะกร้า
แล้วก็เรียนรู้ว่าระบบไหนที่มันจะสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ค่อย ๆ สร้างเครือข่าย การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับชาวบ้านที่อยู่ข้างเคียงก็มีความสำคัญเหมือนกัน แล้วก็เกิดการขยายวงออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งเราก็ยอมรับว่ายังเป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ ยังต้องอาศัยระบบของอาจารย์ที่จะต้องมาช่วยขยายทั้งนวัตกรรม และระบบการให้คำปรึกษาต่าง ๆ” คนึงนุช วงศ์เย็น โครงการกินสบายใจ
จากภาพที่ คนึงนุช วงศ์เย็น เล่าถึงการออกแบบ บริหารจัดการแปลงร่วมกันของเกษตรกร รวมถึงร่วมใช้องค์ความรู้ มีการพัฒนาการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างรายได้ เกิดเศรษฐกิจภายในจังหวัด นี่คือภาพความสำเร็จอีกขั้นของเกษตรกรกลุ่มเล็กๆ และคุณคนึงนุชยังย้ำต่ออีกว่า การทำงานยังต้องอาศัยนวัตกรรมและคำแนะนำจากภาคส่วนต่างๆ
ในด้าน รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ก็ได้มองต่อถึงบทบาทหน้าที่ของรัฐที่จะต้องมองและผลักดันนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในระยะยาวให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำงานได้อย่างยืดหยุ่น สามารถปรับตัวรับมือให้ได้กับทุกการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามา รวมถึงต้องปรับตัวชี้วัดให้เห็นรายได้สุทธิของเกษตรกรจริง ๆ
“เรื่องเดียวที่สำคัญมากเลยคือเรื่องตัวชี้วัด ภาครัฐจะต้องปรับเปลี่ยนตัวชี้วัด ซึ่งตอนนี้ภาครัฐให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้เกษตรกร แต่ตัวชี้วัดนี้ไม่ท้าทาย ถ้าจะท้าทายและเป็นคุณเป็นประโยชน์กับเกษตรกรจริง ๆ ต้องเป็นคำว่ารายได้สุทธิ ทำอย่างไรที่จะยกระดับรายได้สุทธิที่ให้กับเกษตรกร ไม่ใช่แค่รายได้อย่างเดียว เพราะการเพิ่มรายได้ทำง่าย เหมือนที่พี่พูดมาเมื่อสักครู่นี้ให้เงินเยียวยาให้เปล่าเกษตรกรมีรายได้เพิ่ม แต่อีกไม่นานราคาค่าปุ๋ย ค่ายา ก็จะพาเหรดขึ้น สุดท้ายแล้วเกษตรกรก็มีรายได้สุทธิเท่าเดิม คำถามคือสุดท้ายแล้วเราจะไปอย่างไร เพราะสุดท้ายแล้วมันเป็นการโอนย้ายผลประโยชน์จากเงินงบประมาณภาครัฐไปสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ถ้าเกิดมีการันตีว่ารายได้สุทธิเพิ่มขึ้นผมว่าตรงนี้นโยบายทุกอย่าง ภาครัฐที่เราคุยกันวันนี้จะเป็นนโยบายที่ไม่ใช่แค่เกิดผลประโยชน์ในระยะสั้น แต่ภาครัฐจะคิดมากขึ้น ทำอย่างไรให้เกิดผลประโยชน์ในระยะยาว เพราะตัวชี้วัดเปลี่ยนไปเป็นรายได้สุทธิ อยากจะเชิญชวนให้ภาครัฐปรับเปลี่ยนใหม่ ตัวชี้วัดจะต้องเป็นรายได้สุทธิ ไม่ใช่รายได้ครับ” รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
การรับมือกับโลกที่แปรปรวนในปัจจุบันว่ายากแล้ว หลังจากนี้มีการคาดการณ์ว่าผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวนจะรุนแรงมากขึ้นอีก คุณวันสาด ศรีสุวรรณ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เล็งเห็นว่าเราต้องเริ่มวางแผนรับมือตั้งแต่วันนี้
“ในส่วนของเกษตรกรเราต้องวางแผนต่อไปว่าถ้าภัยมันมารุนแรงมากกว่านี้ เราจะต้องทำอะไร 1 2 3 4 ถ้าเราอยู่เฉพาะกับปัญหาเฉพาะหน้า การจัดการของภาคเกษตรเราจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ เช่น ระบบการบริหารการจัดการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ การบริหารการจัดการน้ำ การแบ่งปันน้ำ การแบ่งปันและการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ การวางแผนในเรื่องของการขุดสระ ขุดอะไรต่าง ๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งสำหรับการวางแผนของเกษตรกร เรามีที่ 10 ไร่ เราต้องมีแหล่งน้ำเท่าไหร่ เรามีน้ำในปริมาณเท่าไหร่ การใช้กับพืชต่อต้น ต่อแปลง ระยะเวลาในการใช้ได้นานเท่าไหร่ การปรับเปลี่ยนฤดูกาลผลิต ยกตัวอย่างวันนี้เราทำทุเรียนถ้าออกช่วงเมษายนมันแล้งจัดลูกร่วง ผลผลิตไม่ได้ คนที่จ.นครศรีธรรมราช เขาเปลี่ยนฤดูการผลิต ไปทำทวาย ผลผลิตไปออกอีกช่วงนึง ราคาดี มีคุณภาพ แล้ววันนี้เกษตรกรทุกอาชีพไม่ว่าปลูกอะไร ถ้าไม่ผลิตสินค้ามีคุณภาพไม่มีโอกาสขาย
ในส่วนของสภาเกษตรนั้น เรามีการวางแผนในการทำความรู้กับเกษตรกร มีแผนยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนกับเกษตรกร มีแผนในการแก้ปัญหากับเกษตรกรด้วยการมีส่วนร่วม ไม่ได้คิดและเอาไปใส่ให้เค้า ให้มีส่วนในการวางแผนและการขับเคลื่อนด้วยกัน ตัวแทนภาคเกษตรวันนี้ไม่ใช่คนธรรมดา ตัวแทนภาคเกษตรวันนี้เป็นคนที่มีความรู้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นขอเพียงแต่ให้รัฐจัดการเรื่องราคาให้ได้ เรื่องผลิตไม่มีปัญหา แต่วันนี้มันกำลังมีปัญหาที่จะออกมาเรื่องเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อน มีข้อจำกัดในเรื่องของการใช้แรงงาน มีข้อจำกัดในเรื่องของพื่นที่ เกษตรที่อยู่ในพื้นที่เขตป่า ช้าง ลิง ม้า วัว ควาย ทุกอย่างเป็นข้อจำกัดสำหรับเกษตรทั้งหมดเลย” วันสาด ศรีสุวรรณ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
นอกจากคนต้องปรับตัวแล้ว พืชเองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน
เพื่อให้พืชปรับตัวไปต่อได้ในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป จำเป็นที่จะต้องสร้างการเรียนรู้ให้พืชค่อยๆ ปรับตัว โดยปลูกพืชชนิดเดิมในพื้นที่เดิมซ้ำ ๆ ทุกปี เพื่อให้เขาเรียนรู้และปรับพันธุกรรมตัวเองให้แข็งแรงและไปต่อได้ นี่คือวิธีที่ดร.จตุพร เทียรมา นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมที่ ที่มีการออกแบบและปรับปรุงระบบนิเวศในพื้นที่ไร่ตนเองมาตลอดหลายปี เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ เก็บข้อมูล ชุดความรู้ที่จะใช้พัฒนาระบบการเกษตรที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับโลกใบนี้ได้
“ถ้าเราไม่ปรับตัวเราจะถูกบังคับให้ปรับ เพราะมาตรการการกีดกันทางการค้ามันจะมาในรูปแบบใหม่ ในเมื่อระเบียบโลกเขาเริ่มเห็นแล้วว่าการเกษตรเป็นภาระของโลก ในเรื่องของการเปิดก๊าซเรือนกระจกกันทั่วไป เราจำเป็นจะต้องลด แล้วเขาก็โฟกัสไปที่วิธีการผลิตที่จะนำไปซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างที่ท่านว่าครั้งนี้ถ้าหากว่าเรายังไม่ปรับ เรายังทำเกษตรเหมือนเดิมก็แปลว่าปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเราก็เหมือนเดิม แล้วเราก็ได้ถูกบังคับให้เราขายไม่ได้เอง แล้ววันนั้นเราจะยุ่งยิ่งกว่านี้อีก เพราะว่ามันก็อาจจะมีผลผลิตออกมาแต่ว่าไม่มีคนซื้อ อันนี้ก็คือในกรณีที่มันจะส่งผลตามมา แต่ผมมองว่าการทำเกษตรที่หลากหลายหรือที่เราเรียกว่าเกษตรเชิงนิเวศมันจะแก้ปัญหานี้ได้ เพราะตัวของระบบเกษตรแบบนี้เองไม่ได้ปล่อย ไม่ได้สร้างภาระให้กับโลกร้อนมากเท่าเกษตรเชิงเดี่ยว หรือเกษตรที่มีทั่ว ๆ ไป
ประเด็นต่อมาในเรื่องของพันธุกรรมพืช เรากำลังมองว่าการรักษาเสถียรภาพของพืชมันจำเป็นต้องปลูกในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมเดิม เดี๋ยวพันธุกรรมของมันจะปรับตามเหมือนเรานี่แหละ มันก็ไม่อยากสูญพันธุ์เหมือนกัน มันก็จะมีเมล็ดพันธุ์จำนวนหนึ่งออกมาที่ทนอุณหภูมิ 43 องศา ปีหน้าทนอุณหภูมิ 44 องศา
ปีหน้าทนอุณหภูมิ 45 องศา เมล็ดไหนรับสภาพแบบนี้ไม่ได้ก็ล้มหายตายจากไป มันก็จะกลายเป็นพันธุ์ที่แข็งแรงมาเรื่อย ๆ
แต่ตอนนี้โดยเฉพาะพืชพันธุ์ผักอายุสั้นเราใช้วิธีการซื้อ เราไม่ได้เก็บเอาพันธุกรรมพื้นบ้าน หรือพันธุกรรมพัฒนาภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มันเกิดมาแล้วก็สั่งสอนลูกได้ ลูกเอ้ยปีนี้อากาศ 43 องศานะลูก ปีหน้าถ้าลูกโตขึ้นไปลูกต้องอดทนกว่านี้นะ ยกตัวอย่างเมล็ดผักมันสอนกัน เพราะฉะนั้นเวลาเราเอาเมล็ดไปปลูกมันก็จะทนสภาพอยู่ได้เพราะมันคุ้นเคยมาแล้ว
ตัวนี้เป็นอีกตัวที่อันตราย เรื่องของความหลากหลายของพันธุ์พืช โดยเฉพาะพันธุ์พืชพันธุ์ผักที่เราใช้บริโภคกันในชีวิตประจำวัน มันจะค่อย ๆ หายไปเพราะว่ามันปรับตัวไม่ทัน มันถูกผลิตในพื้นที่หนึ่งแล้วเอามาใช้ในพื้นที่หนึ่ง สุดท้ายก็กลายเป็นต้นทุนให้เกษตรกร เพราะว่ามันไม่สามารถรับสภาพแวดล้อม ณ ตรงนั้นได้ ทำอย่างไรที่จะทำให้นอกจากจะรักษาความหลากหลายแล้ว การรักษาหรือการปลูกประจำซ้ำ ๆ ทุกปี ๆ มันยังส่งสัญญาณให้พืชปรับตัวแล้วให้อยู่ได้ในสภาวะภูมิอากาศที่มันเปลี่ยนแปลงไป
แต่ก็ไม่รู้ว่าเราจะแก้อย่างไร เพราะเราก็เข้าใจว่าเวลาจะกินผักกวางตุ้งสักแปลงเล็ก ๆ เราไม่มีเวลาพอที่จะมานั่งปลูกต้นกวางตุ้ง หรือว่าเก็บเมล็ดมาเลย ไปซื้อมา 1 ซอง 10 บาท เราก็ได้เมล็ดพันธุ์เพียงพอแล้ว พอเวลาเราเก็บกินเสร็จปุ๊บเราก็ปล่อยมัน ปีหน้าก็ไปซื้อมาใหม่ อันนี้เป็นตัวอย่างที่ก็เข้าใจได้ แต่ถ้าหากว่าเราโฟกัสไปตัวพืชพื้นบ้านที่เป็นอาหารที่ทำให้เกษตรกร หรือในพื้นที่ชนบทลดรายจ่ายมาก ๆ ก็คือพืชพันธุ์พื้นบ้าน จะทำอย่างไรให้เกิดการสะสมคือการปรับปรุงพันธุ์ โดยธรรมชาติปลูกมันทุกปีไปตามฤดูกาลของมันเดี๋ยวมันปรับตัวของมันเอง” ดร.จตุพร เทียรมา อาจารย์สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.มหาสารคาม
ปลดล็อคประเทศไทยสู้โลกร้อน
“ผมมองว่าเราไม่มีเวลาแล้วล่ะ ที่จะมารอให้โลกมันเย็นลง แล้วก็อยู่ในสภาพเหมือนเดิม แต่เรามีเวลาพอที่เราจะทำการปรับพฤติกรรม ลองทดลองดูว่าเวลาที่เราทำการปลูกพืชอะไรก็ได้ในสภาพดินหรือในสภาพแวดล้อมที่มันคล้ายธรรมชาติมาก ๆ แล้ว ลองสังเกตดูว่าต้นทุนที่เราใส่ลงไปมันต่ำ มันสูง บางครั้งเราคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีเรื่องของปุ๋ย เรื่องของยา จนกระทั่งหลงลืมไปแล้วว่าจริง ๆ แล้ว มันมีคนลงทุนให้เราอยู่แล้วไงในธรรมชาติ ถ้าหากว่าเราทำแบบนั้นได้ แล้วเราเข้าใจดีว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นจริงเรื่องของต้นทุนที่มันต่ำลง ยังคงผลผลิตเหมือนเดิม คุณภาพก็ยังเหมือนเดิม มันทำได้ แล้วเราก็ค่อย ๆขยายออกไปขนาดใหญ่ขึ้นก็ได้
อีกอันที่ผมกังวลอยู่ในใจลึก ๆ แล้วก็พยายามจะค้นหาคำตอบในแวดวงวิชาการ ก็คือคุณค่าทางโภชนาการของพืชอาหารของเรามันไม่เหมือนเดิม ด้วยความเข้มข้นของการคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในอากาศมันเยอะเกินไป หรือแม้แต่ทางทุ่งกุลา จ.ร้อยเอ็ด ที่เรียกว่าข้าวแก่แดด พอมันรับอุณหภูมิที่สูงการเจริญเติบโตของเมล็ดน้ำมันเร็ว แต่การสร้างแป้งตามไม่ทันเพราะว่าอายุเก็บเกี่ยวมันจะสั้นลง
เพราะมันเจริญเติบโตในช่วงต้นเสร็จ มันมาออกผลเสร็จ เมล็ดใหญ่สมบูรณ์มากเลยแต่แป้งตามไม่ทัน แล้วยังไม่นับเรื่องของคุณค่าทางโภชนาการพวกวิตามินทั้งหลายที่ถูกใส่เข้าไปในพืชพรรณ มันไม่เหมือนเดิม คุณค่ามันลดลงด้วยความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยวิธีการผลิต ที่ธาตุอาหารไม่สมดุลกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีในอากาศที่มันเติมเข้าไปทางใบ ตัวนี้แหละมันเป็นเรื่องของระยะยาวมากเลย ทำให้การบริโภคอาหาร การบริโภคผัก การบริโภคโปรตีนจากสัตว์ อาจจะไม่ได้คุณค่าเท่าเดิมแล้ว อาจจะนำไปสู่เอนไซน์ทั้งหลายในร่างกายเราบางครั้งจำนวนมากเกือบ 10-20 ชนิด ที่ร่างกายเราสร้างไม่ได้ต้องไปเอากับพืช ไปเอาจากสัตว์ ถ้าหากว่าในพืช ในสัตว์ มันไม่เหมือนเดิม กลไกในร่างกายในระดับชีวโมเลกุลของเราก็จะมีปัญหาตามมา
ผมก็ยังเชื่อว่าการจัดระบบนิเวศน์เกษตรให้เกิดความสมดุล ทั้งในแง่ของอุณหภูมิ ทั้งในแง่ของแร่ธาตุที่พืชจะเอาไปใช้เอาไปสังเคราะห์สร้างเป็นโปรตีนออกมาเนี่ย จะทำให้คุณค่าของโภคชนาการไม่ลดลงไปมากกว่าที่ไม่ทำอะไรเลย” ดร.จตุพร เทียรมา อาจารย์สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.มหาสารคาม
โลกเดือดแล้ว รวนแล้ว และเราไม่มีเวลาจะรอให้โลกเย็นลงแล้ว ต้องทดลองเรียนรู้ และปรับตัวอย่างเข้าใจไปพร้อมๆกัน เพื่อให้เจอทางที่รับมือได้ดีให้เร็วที่สุด แนวทางการปรับตัวแบบเร็วๆจาก ดร.จตุพร เทียรมา เช่นเดียวกันกับ วันสาด ศรีสุวรรณ ที่มองว่าเราไม่สามารถหยุดโลกร้อนได้ในตอนนี้ สิ่งเดียวที่ทำได้คือต้องรู้รับปรับตัวก่อนในอันดับแรก
“เราไม่สามารถที่จะไปหยุดโลกร้อนได้ ณ เวลาปัจจุบัน เพราะฉะนั้นสิ่งเดียวที่เกษตรกรจะอยู่ได้ก็คือต้องปรับ ถ้าไม่ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงเราอยู่ไม่ได้แน่นอน สิ่งแรกคือต้องปรับวิธีคิด ถ้าคิดเหมือนเดิมทำเหมือนเดิมอยู่ไม่ได้ ต้องเรียนรู้สิ่งที่มากระทบ ก่อนเกิด ขณะเกิด หลังเกิด วิธีการจัดการคือรู้รับปรับตัว ฟื้นเร็ว อย่างยั่งยืน คือถ้าเกิดภัยเราต้องฟื้นกลับมาให้ได้ถ้าฟื้นกลับมาไม่ได้เราอยู่ไม่ได้
การจัดการโลกร้อนต้องไปดับตรงนั้น แต่วันนี้ถ้ารอไปดับต้นเหตุระหว่างการเดินมันต้องใช้เวลา ก่อนที่จะดับเหตุให้ได้ ต้องปรับวิธีคิด ปรับวิธีกิน ปรับวิธีอยู่ ปรับวิธีการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับสิ่งที่มันเกิดต้องอยู่กับมันให้ได้” วันสาด ศรีสุวรรณ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
ใกล้เคียงกับ ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่มองว่าเป็นเรื่องที่ทุกคน ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว เพื่ออยู่ให้ได้ไปให้รอด
“คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชนพี่น้องเกษตรกร รวมถึงภาคส่วนต่าง ๆ ทุกภาคส่วนต้องรวมกันในการที่จะแก้ไขปัญหา หรือดำเนินการในเรื่องนี้ ต้องตระหนัก วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นทุกคนต้องรู้แล้วว่ามันมีความรุนแรง และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นมา ตระหนักแล้วคุณต้องรู้เท่าทัน ต้องปรับตัวทั้งผู้ผลิต ภาครัฐ ในเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบ ต่าง ๆ ก็ต้องร่วมกันปรับ ตระหนัก รู้เท่าทัน แล้วก็ปรับตัว” ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
มองต่อกับ คนึงนุช วงศ์เย็น ว่าไม่ใช่แค่ภาคการเกษตรที่ต้องปรับ ผู้บริโภคเองก็ต้องมีการตระหนักและสนใจอาหารที่บริโภคในทุกๆวันด้วย
“สร้างระบบเกษตรที่มันยั่งยืนไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และสามารถหล่อเลี้ยงตัวเองได้ แต่ว่าระบบที่เราพูดถึงไม่ใช่ระบบที่เกษตรกรต้องปรับตัวเพียงอย่างเดียว อย่างเรื่องพันธุกรรมพื้นบ้าน เราพบว่าข้าวพื้นบ้าน 10 กว่าสายพันธุ์ ที่อยู่กับเรามาตลอดหลายสิบปี ที่เกิดจากการตอบรับของผู้บริโภค เพราะฉะนั้นผู้บริโภคก็ต้องเข้าใจสถานการณ์ปัญหาโลกร้อนด้วย แล้วเข้าใจว่าการกินอาหารก็ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นทั้งผู้ผลิตแล้วก็ผู้บริโภคจำเป็นต้องร่วมกันสร้างระบบอาหารตรงนี้ขึ้นมา” คนึงนุช วงศ์เย็น โครงการกินสบายใจ
“ภาครัฐก็มีหน้าที่กำกับดูแลกฎหมาย มีหน้าที่ส่งเสริม มีหน้าที่ไปสนับสนุนช่วยเหลือภายใต้ข้อจำกัดหลายสิ่งหลายอย่าง ภาครัฐก็ต้องทำให้ดีที่สุด ลำดับความสำคัญอะไรควรทำก่อน ทำหลัง วันนี้การจัดเวทีต่าง ๆ ก็เชิญพี่น้องเกษตรกร เชิญอาจารย์ เชิญเอกชน ทุกคนเข้ามาวางแผนแล้วจัดการร่วมกัน วันนี้ทุกหน่วยงานในภาครัฐ ภาคเกษตรกร และภาคเอกชน ทุกภาคส่วนต้องไปด้วยกัน” ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
มองประเทศไทยท่ามกลางภาวะโลกเดือด
“ภาพอนาคตภาคเกษตรไทยเป็นภาพที่จะได้รับความเสียหายมากขึ้นเรื่อย ๆ งานวิจัยชี้ชัดว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เสี่ยงลำดับต้น ๆ ของโลก จากความเสียหายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ผ่านมาจากอดีตถึงปัจจุบันเรื่องของขีดความสามารถในการแข่งขัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นปีแรกที่ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกในรอบ 21 ปี ปีที่แล้วก็ยังต่ำอยู่ เพราะทั้งความเสียหายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งขีดความสามารถในการงานที่ลดลง เราจำเป็นต้องมี 3 ปลดล็อคด้วยกัน
ปลดล็อคที่ 1 ปลดล็อคตัวชี้วัดจากตัวชี้วัดรายได้ เพิ่มให้เป็นรายได้สุทธิ
ปลดล็อคตัวที่ 2 เป็นการปลดล็อคการใช้นโยบายแบบเดิม ๆ ให้มาปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข หรือในแง่ของการส่งเสริมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมแหล่งน้ำ จริง ๆ แล้วธ.ก.ส. ยังมีการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมานานแล้ว แต่เกษตรกรยังไม่ได้สนใจในการลงทุน จะทำอย่างไรที่ทำให้กลไกเหล่านี้จูงใจเกษตรกรมากยิ่งขึ้น ถ้าเกิดเกษตรกรมีแหล่งน้ำผมเชื่อว่า เช่น ในภาคอีสานเขามี 1 ปี ปลูกได้แค่ 1 ฤดูกาล ถ้ามีแหล่งน้ำหมายถึงรายได้ก็จะเพิ่มขึ้น เพราะเขาสามารถปลูกได้มากกว่า 1 ฤดูกาล การที่มีแหล่งน้ำมากขึ้นมันช่วยระบบนิเวศต่าง ๆ ให้กลับคืนมาสมดุลเหมือนเดิม
ปลดล็อคตัวที่ 3 คือปลดล็อคในมิติของความร่วมมือ การบูรณาการต้องปรับเปลี่ยน ในเชิงพื้นที่ให้มันทำงานได้จริง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีที่ปรึกษาทางการเกษตร ทำอย่างไรที่ให้สถาบันการศึกษาเข้ามาร่วม ปัจจุบันก็ร่วมแต่ร่วมในรูปแบบช่วยกัน ขอความร่วมมือแต่ไม่ได้ช่วยแบบเป็นระบบ ทำอย่างไรที่จะมีงบประมาณมาส่งเสริม มีตัวชี้วัดเป็นหลักเป็นฐานให้ต่างประเทศ ทุกมหาวิทยาลัยเขาวางพื้นที่ มหาวิทยาลัยไหนรับผิดชอบพื้นที่ไหน สุดท้ายแล้วมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน มีงบประมาณส่งผ่านถ้าเกิดตัวชี้วัดนั้นวัดแล้วทำสำเร็จ” รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
“ปลดล็อคแรก โครงสร้างความเหลื่อมล้ำ ความเปราะบางที่มีอยู่เดิม ถ้าเราดูตัวเลขต่าง ๆ แล้วก็เห็นชัดอยู่แล้ว เริ่มตั้งแต่การถือครองที่ดินของเกษตรกร เกษตรกรที่มีที่ดินไม่พอกิน หรือขาดแคลนที่ดินประมาณ 8 ล้านครอบครัวไปแล้ว
อันที่ 2 ถ้าเราดูเรื่องแหล่งน้ำ ตอนนี้ชลประทานมีแค่ 26% โครงการจัดการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ไปไม่ได้แล้วครับมันต้องเปลี่ยนระบบใหม่
อันที่ 3 เรื่องพันธุกรรมอย่าง พันธุกรรมตอนนี้ในระดับตลาดข้างบนมีไม่กี่พันธุ์ แต่ทำไมพันธุกรรมทั้งหลายไม่ถูกยอมรับ ไม่ได้ถูกส่งเสริม สนับสนุน อันนี้ก็เป็นตัวที่เราต้องให้ความสำคัญ
อันที่ 4 ก็คือเรื่องอายุ ตอนนี้เกษตรกรอยู่ในสังคมสูงวัยมากที่สุด ใครจะมาเป็นผู้ปรับตัว ไม่มีใครอยู่บ้าน มีแต่พ่อเฒ่า แม่แก่ ที่อยู่ ใครจะปรับตัว ใครจะไปหาข้อมูลเรื่องกรมอุตุอะไรต่าง ๆ แรงงานต่าง ๆ ที่ไหลสู่ภาคเมือง กำลังทำให้เกิดความล้มเหลวในภาคเกษตร เมืองที่โตขึ้นด้วยคนจนเต็มไปหมดเลย เหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่ปรับตัวได้ง่ายที่สุดเลย
โครงสร้างที่สร้างความเปราะบางแต่เดิมต้องเปลี่ยนใหม่ ต้องหาทางจัดการใหม่ สองเรื่องการปรับตัวอย่างยืดหยุ่น ให้เกษตรกรสามารถมีความสามารถในการวางแผนของตัวเอง คิดว่าถ้าเราจัดโครงสร้างงบประมาณแบบเดิมคงเป็นไปได้ยาก กรมส่งเสริมก็แบบนึง กรมพัฒนาที่ดิน ส.ป.ก. ก็มาอีกแบบหนึ่ง ทำอย่างไรระบบงบประมาณแผ่นดินจะมีกองทุนพิเศษ ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงกองทุนนี้ได้โดยตรง และออกแบบการปรับตัวของตัวเอง แต่ถ้าต้องไปผ่านโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ แล้วไปรอรับการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ผมคิดว่ายาก
เรื่องการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินอาจจะยังมีข้อติดขัด แต่ถึงจุดหนึ่งต้องเปลี่ยน ต้องคิดว่าประชาชนทั่วแผ่นดินก็มีส่วนร่วมเป็นผู้ใช้นโยบายของรัฐด้วย ดังนั้นควรได้รับงบประมาณให้เกษตรไปสัก 50% แล้วออกแบบการจัดการมีบางเรื่องจัดการร่วมกัน บางเรื่องอาจจะต่างคนต่างลองดูโมเดลที่น่าสนใจ การปรับเรื่องงบประมาณแบบนี้จะทำให้เกิดความยืดหยุ่นได้มากขึ้น มีระบบการให้คำปรึกษาตรวจสอบ
เราพูดถึงแค่ภาคเกษตร แต่ถ้าเราลองดูสัดส่วนที่ทำให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจกสูงสุดร้อยละ 70 มาจากพลังงานฟอสซิล อัตราโลกก็เป็นอย่างนี้ เรากำลังเจอความไม่เป็นธรรม ก็คือมีผู้ก่อให้เกิดโลกร้อนรายใหญ่ แต่ว่าเรากำลังพูดถึงรายย่อยที่ต้องมาเร่งปรับตัวกัน ความรับผิดชอบต้องดูทั้งระบบ ความเป็นธรรมแบบนี้ต้องตรวจระบบว่าภาคส่วนอื่นที่ปล่อยก๊าซมหาศาล จะมีความรับผิดชอบกับกลุ่มแปราะบางต่าง ๆเหล่านี้อย่างไร
ออกแบบนโยบายแบบนี้มันต้องคิดทั้งหน้ากระดาน ต้องดูทั้งระบบ ไม่เช่นนั้นเรากำลังปล่อยให้ปล่อยก๊าซกันมากขึ้น เราบอกมาจากภาคเกษตร จำนวนไม่น้อยมาจากก๊าซธรรมชาติในอุตสาหกรรมพลังงานคำถามคือเราเคยไปจัดการกับสิ่งเหล่านั้นไหม แต่เราก็มาบอกทำนาเปียกสลับแห้งสิ คุณต้องลดก๊าซมีเทนอย่างสิ คุณต้องจัดการทั้งระบบไม่เช่นนั้นโลกมันมีผู้ทำ กับมีผู้รับผลกระทบ แบบนี้มันยากที่จะไปต่อได้” ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
สภาพอากาศสุดขั้ว ที่เรากำลังเผชิญในสภาวะโลกรวน การปรับตัวเพื่อรับมือเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา พร้อมทำความเข้าใจถึงสภาพภูมิอากาศในแต่ละสถานการณ์ เพื่อให้เรามีความสามารถในรับมือการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ แต่นั่นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย หรือเรื่องทำได้ แล้วเห็นผลทันที แต่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนจากผลกระทบที่ยาวนาน