การจะเข้าใจและแก้ไจปัญหาความขัดแย้งที่คาราคาซังมาหลายสิบปีต้องประกอบไปด้วยหลายปัจจัย ภายใต้การทำความเข้าใจสิ่งที่จะนำให้ปัญหาเหล่านั้นถูกขยับไปให้เกิดขึ้นจริงได้มากขึ้นคงหนีไม่พ้นข้อเสนอในการจัดการปัญหาเหล่านั้น
ทีมห้องทดลองปัญญารวมหมู่ สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ทำการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับโจทย์วิจัยแบบไหนที่ใช่? งานวิจัยที่คนชายแดนใต้ได้ประโยชน์
โดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี ที่มีความหลากหลายด้านอายุ เพศ การศึกษา และอาชีพ ใช้แบบสอบถามที่มีคำถามหลากหลายประเภท ทั้ง คำถามแบบเลือกตอบ (Multiple Choice) และคำถามแบบปลายเปิด (Open-ended Question)
เครื่องมือที่ใช้การเก็บข้อมูลคือ แบบสอบถามออนไลน์ ซึ่งออกแบบมาเพื่อประเมินความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี แบบสอบถามที่ประกอบไปด้วยคำถามที่ครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้ :
- ข้อมูลประชากร
- ความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี
- ปัญหาสำคัญที่พบในพื้นที่
- ความต้องการงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างการเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ยังนำผลวิเคราะห์จากแบบสำรวจข้างต้น สังเคราะห์ร่วมกับบทความเรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัยในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ อาจารย์อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทลัยธรรมศาสตร์ โดยบทความนี้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยอาศัยงานวิจัยเป็นฐาน ประกอบด้วย 5 หัวข้อซึ่งมีความคาบเกี่ยวกัน คือ รูปแบบการปกครอง วัฒนธรรม กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจและการพัฒนา และการศึกษา โดยแต่ละหัวข้อชี้ให้เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างไร จากนั้นจึงประมวลและเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาภายใต้หัวข้อดังกล่าวพร้อมบทสรุปในช่วงท้าย
1.รูปแบบการปกครอง
ต้องจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ที่เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นหรือประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการปกครองที่สอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ อาจอยู่ในรูปของ “รูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ” ที่วางอยู่บนหลักของการกระจายอำนาจ
“เหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่เป็นผลของปัญหาทางการเมืองหรือปัญหาการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างศูนย์กลางหรือรัฐกับท้องถิ่นหรือผู้อยู่ใต้การปกครองซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิม เพราะชาวมลายูมุสลิมจำนวนมากเห็นว่ารูปแบบการปกครอง รวมถึงนโยบาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ และกฎหมาย หลายส่วนไม่สอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมของพวกเขา ดังนั้นประชาชนควรมีอำนาจในการตัดสินใจหรือกำหนด ‘ชะตากรรม’ ของตัวเองในลักษณะที่สอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมของพวกเขา โดยอาจอยู่ในรูปของ ‘รูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ’ ที่วางอยู่บนหลักการกระจายอำนาจ”
: งานวิจัยเรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของอาจารย์อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2.สังคมวัฒนธรรม และคุณภาพชีวิต
ปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการส่งเสริมวัฒนธรรมของรัฐจากที่เน้นการผสมกลมกลืนเป็นการเปิดโอกาสให้แต่ละวัฒนธรรมได้แสดงออกอย่างเสมอภาค และไม่ตอกตรึงวัฒนธรรมไว้ แต่เปิดให้มีความหลากหลายและปฏิสัมพันธ์กันทั้งภายในและระหว่างวัฒนธรรม รัฐจำเป็นต้องแยกปฏิบัติการด้านความมั่นคงออกจากพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้หน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่โดยตรงปฏิบัติการด้วยแนวคิดและวิธีการที่ปรับปรุงใหม่ นอกจากนี้ต้องมีการวิจัยความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการอนุรักษ์อัตลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจและการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม และศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการปรับความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรม
[จากข้อมูลที่รวบรวมได้ พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจได้ระบุโจทย์งานวิจัยที่ต้องการในด้านคุณภาพชีวิต สุขภาพ และวัฒนธรรมจำนวน80% ]
: การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตชายแดนใต้ ทีมห้องทดลองปัญญารวมหมู่ สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
3.กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน
ด้วยความที่ปัญหาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงเหตุการณ์ความไม่สงบ รัฐจึงควรบังคับใช้กฎหมายพิเศษเฉพาะเท่าที่จำเป็นหรือใช้กฎหมายปกติแทน ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและนำผู้เคลื่อนไหวกลับสู่สังคม รวมถึงแก้ไขกฎหมายและปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมด้วยการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่และสังคม
“เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังถูกหล่อเลี้ยงด้วยปัญหาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมด้วย ทั้งนี้ก็เพราะว่า “กฎหมายพิเศษ” 3 ฉบับที่ประกาศใช้ในพื้นที่หลังจากเหตุการณ์ปะทุตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา อันได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มีเนื้อหาละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ขัดหลักนิติธรรมทั้งรูปแบบและเนื้อหา เพราะขึ้นกับทหาร ไม่ใช่ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล และหากทหารทำรัฐประหารก็จะไม่สามารถเอาผิดได้”
: งานวิจัยเรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของอาจารย์อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
4.เศรษฐกิจ
จำเป็นต้องเข้าใจสภาพสังคมและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ให้ถ่องแท้ และใช้ทุนทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง รวมถึงให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจข้ามแดนและปัญหาในการจัดการทรัพยากร ทำการวิจัยเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อเพิ่มรายได้และลดความยากจน การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และต้องพัฒนาการเกษตรและการแปรรูปสินค้าเกษตร
“หลังเกิดความขัดแย้งทางการเมือง การเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ลดลงและส่วนใหญ่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัวและรายได้ต่อหัวของประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง จำนวนประชากรยากจนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในผู้ชายและในเขตชนบท และมีอัตราการว่างงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ขณะที่งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่าการผลิตในภาคธุรกิจต่างๆ ลดลงอย่างมากหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ เนื่องจากผู้ประกอบการขาดความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ผู้ประกอบการค้าปลีกเชื้อสายจีนและชาวไทยพุทธต้องปิดร้านเร็วขึ้น รวมทั้งต้องอาศัยชาวมลายูมุสลิมมาขายหน้าร้าน และมักลงเอยด้วยการย้ายถิ่น”
: งานวิจัยเรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของอาจารย์อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
5.การศึกษา
ต้องสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนในพื้นที่และพัฒนาระบบการศึกษาให้มีคุณภาพและเท่าเทียม ศึกษาเชิงพื้นที่และบูรณาการอิสลามศึกษารัฐไม่ควรใช้สถานศึกษาหรือโรงเรียนเป็นกลไกในการถ่ายทอดอุดมการณ์ที่คับแคบและไม่โอบรับความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา แต่ควรใช้พื้นที่กลางในการเชื่อมต่อระหว่างเด็กไทยพุทธและเด็กมลายูมุสลิมที่ปัจจุบันห่างกันมากขึ้น ไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้ง และเน้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมถึงปรับทัศนะเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อสถาบันการศึกษาอิสลามให้มีความเปิดกว้างและไว้วางใจมากขึ้น ซึ่งหากสามารถดำเนินการควบคู่กันไปทุกด้านได้ก็มีความเป็นไปได้ที่เหตุการณ์ความไม่สงบจะคลี่คลายลง
6.ความรุนแรงและความสงบสุข
ไม่ว่าอย่างไรก็ตามต้องการลดความรุนแรงและสร้างสันติภาพในพื้นที่ ต้องพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และวิจัยเกี่ยวกับกลไกการสร้างความไว้วางใจและการอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างในทุก ๆ แง่มุม
ท้ายที่สุดการนำเสนองานวิจัยและข้อเสนอเชิงนโยบายเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของทุกฝ่ายโดยเฉพาะการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นคนกำหนดอนาคตพื้นที่ของตัวเอง และนอกจากนี้การหยิบยกข้อมูลเหล่านี้นำไปปรับใช้ในการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน จะทำให้ข้อเสนอกลายเป็นข้อปฏิบัติที่ใช้งานได้จริงในที่สุด