อุทกนคร

คนอุบลฯ จะอยู่กับน้ำอย่างไรไม่ให้เป็นทุกข์

อีสานแล้ง หรือแค่วาทกรรมอำพราง

250 มิลลิเมตรต่อปีหรือน้อยกว่า คือปริมาณฝนเฉลี่ยในพื้นที่ทะเลทราย ส่วนตัวเลข 1,000 มิลลิเมตรต่อปีคือปริมาณฝนเฉลี่ยในพื้นที่กึ่งชุ่มชื้นหรือฝนตกปกติ  แต่ถ้ามากกว่า 2,000 มิลลิเมตรขึ้นไปแสดงว่าพื้นที่นั้นมีฝนตกมากเกินเกณฑ์  ในขณะที่ประเทศไทยตลอด 40 ปีที่มีการเก็บข้อมูลตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 มิลลิเมตร*(www.thaiwater.net)   

หากพูดถึง “ภาคอีสาน” ภาพจำคือกันดารและแห้งแล้ง  แต่สำหรับคนอีสานแล้ว “แล้ง”เป็นแค่ฤดูกาลพวกเขาสามารถหาความสุขได้จากความแล้ง  จนมีประโยคสุดคลาสสิคจากกลอนอีสาน หรือ “ผญา” กล่าวเอาไว้ว่า “ไผว่าอีสานแล้งสิจูงแขนเพิ่นไปเบิ่ง น้ำไหลอยู่จ้นๆ มันสิแล้งบ่อนจั่งได๋”  โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา  ภาคอีสานมีฝนตกเฉลี่ย 1,766 มิลลิเมตร มากกว่าภาคเหนือและภาคกลาง  ในขณะที่ทั้งประเทศในปีเดียวกันมีฝนเฉลี่ย 1,848 มิลลิเมตร 

“ทุ่งกุลาร้องไห้” มีส่วนสร้างภาพจำแบบนั้น  มันมาจากเรื่องเล่าขานถึงชนเผ่าหนึ่งที่ชื่อ “กุลา” จากเมืองเมาะตะมะ ประเทศพม่า(สมัยนั้น) พวกกุลาคือนักธุรกิจประเภทซื้อมาขายไป  เมื่อครั้งเดินทางหาบสินค้ามาเร่ขายในเขตลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี  พวกเขาจะต้องเดินลัดผ่านทุ่งแห่งหนึ่งเพื่อไปยังเมืองป่าหลาน (อำเภอพยัคฆภูมิพิสัยในปัจจุบัน) แต่ประเมินระยะทางผิด  แม้จะพยายามเท่าไรก็เดินไม่พ้นทุ่งแห่งนี้เสียทีจนต้องยอมทิ้งสินค้าไว้กลางทางเพื่อเอาชีวิตรอด   แม้พวกเขาจะมีคุณสมบัติ อึด ถึก ทน สู้งาน สู้แดด ลม ฝนได้เป็นอย่างดี  แต่การเดินทางครั้งนี้ถึงขั้นทำให้คนเผ่ากุลาร้องไห้ได้  จนเป็นที่มาของ “ทุ่งกุลาร้องไห้”

ปัจจุบันพื้นที่กว่า 2 ล้านไร่ที่เชื่อว่าเป็นเขตทุ่งกุลาร้องไห้กลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิชั้นดีไปแล้ว  อันเนื่องมาจากการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลออสเตรเลียในยุคหนึ่ง  ที่เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องดินและน้ำ  จนสุดท้ายความกันดารก็หายไป  แต่ป้ายความแห้งแล้งก็ไม่เคยถูกถอดออกจากที่นี่  หลายหน่วยงานยังคงใช้วาทกรรมนี้ในการผลักดันนโยบายบางอย่าง โดยเฉพาะเมกะโปรเจกต์มูลค่า 2.27 ล้านล้านบาทที่ชื่อ “โขง-ชี-มูล”

การมาของเขื่อนกั้นกลางแม่น้ำ

อย่างที่เกริ่นไปว่าฝนในภาคอีสานไม่ได้ตกน้อยแบบทะเลทราย  กลับกันในบางพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณใกล้แม่น้ำ  มีฝนตกมากกว่าเกณฑ์ด้วยซ้ำ  แต่เราไม่สามารถกักเก็บน้ำฝนเหล่านั้นเอาไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งได้  นั่นจึงเป็นนิยามความแล้งของภาครัฐ  หากย้อนกลับไปเมื่อหลายร้อยปีก่อนปัญหานี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นเพราะยุคนั้นยังคงมีป่ามากมาย  รากของมันทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำคอยดูดซับน้ำไว้อย่างที่เราเคยเรียนกันมาตอนชั้นอนุบาล  แล้วป่าพวกนั้นหายไปไหนคงเดาไม่ยาก  เราตัดมันเอง   โดยเฉพาะช่วง พ.ศ.2502-2534 มีการแผ้วถางทำลายป่ารวมถึงป่าต้นน้ำอย่างบ้าคลั่ง  เนื่องจากยุคนั้นมีความพยายามปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่ส่วนใหญ่หนีเข้าไปอาศัยอยู่ในป่า  กองทัพจึงวางกลยุทธ์ด้วยการอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าบุกเบิกผืนป่าเพื่อทำกินได้  คอมมิวนิสต์จะได้ไม่มีที่หลบซ่อนแถมมีการตัดถนนเข้าไปซึ่งมันก็สะดวกดีต่อการขนย้ายท่อนซุง  เมื่อป่าถูกทำลายพื้นดินจึงเหลือแค่ทราย  น้ำฝนที่รวมตัวกันเป็นมวลน้ำก็ไหลหลากซัดผ่านทุกอย่างที่ขวางหน้าให้ราบเป็นหน้ากลอง    

น้ำทุกหยดพยายามหาทางออกสู่ทะเลโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก  จากเทือกเขาสูงไหลลงมารวมกันเป็นลำธาร  จากลำธารไหลลงลำห้วย  จากลำห้วยไหลลงสู่ลำน้ำ  จากลำน้ำไหลลงสู่แม่น้ำแล้วไหลลงสู่ทะเลตามลำดับ  ซึ่งในภาคอีสานมีแม่น้ำหลักอยู่ 2 สายคือ แม่น้ำชีความยาว 765 กิโลเมตรไหลผ่าน 9 จังหวัด และแม่น้ำมูลความยาว 640 กิโลเมตร ไหลผ่าน 5 จังหวัด  แม่น้ำทั้ง 2 สายไหลเอื่อย ๆ มาเรื่อย ๆ จนบรรจบกันที่บ้านวังยาง ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี  แม่น้ำมูลต่อจากตรงนี้จะมีขนาดกว้างขึ้น  ไหลแรงขึ้น   แล้วไหลไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม  จ.อุบลราชธานี  แล้วชวนมวลน้ำจากทิเบตพากันออกสู่ทะเลที่ประเทศเวียดนาม

แม่น้ำชี(บน)บรรจบกับแม่น้ำมูล(ล่าง) ที่บ้านวังยาง ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

ด้วยความเสียดายน้ำมหาศาลที่ไหลทิ้งไปเฉย ๆ ภาครัฐจึงคิดที่จะเก็บมันไว้  “เขื่อน” คือตัวเลือกแรกที่จะเข้ามาจัดการตรงนี้  ทำให้ปัจจุบันแม่น้ำหลักทั้ง 2 สายนี้มีเขื่อนกั้นอยู่หลายแห่ง  โดยแม่น้ำชีมีอยู่ 6 แห่ง คือ เขื่อนชนบท ,เขื่อนคุยเชือก ,เขื่อนวังยาง ,เขื่อนร้อยเอ็ด ,เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ทั้งหมดสร้างขวางกั้นแม่น้ำชีโดยตรง  ส่วนแม่น้ำมูลมีเขื่อนในลุ่มน้ำทั้งหมด 7 เขื่อน แต่ถ้านับเฉพาะเขื่อนที่กั้นแม่น้ำมูลโดยตรงมี 3 เขื่อนคือ เขื่อนราศีไศล  ,เขื่อนหัวนาและเขื่อนปากมูล

เขื่อนธาตุน้อย เขื่อนกั้นแม่น้ำชี อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

เขื่อนที่สร้างขวางกั้นลำน้ำทั้ง 2 สายส่วนใหญ่เป็นแบบไม่มีอ่างเก็บน้ำแต่จะใช้ลำน้ำเป็นอ่างเก็บน้ำแทน  ซึ่งมีการคำนวนเป็นอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญแล้วว่าจะต้องกักขังน้ำไว้ในระดับใดถึงจะเหมาะสม  เพราะถ้าน้อยเกินไปก็จะมีปัญหากับการเกษตรบางประเภทแต่ถ้ามากเกินไปก็จะเกิดน้ำท่วมในช่วงฤดูมรสุม

ตลอดระยะเวลาที่เริ่มมีการควบคุมปริมาณน้ำด้วยประตูเขื่อนก็ยังคงเกิดทั้งภัยแล้งและอุทกภัย  มันไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจน  แน่นอนด้านดีของมันก็มี เช่น เอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรบางกลุ่มที่มีนาใกล้แม่น้ำจึงสามารถปลูกข้าวได้มากกว่า 1 ครั้งต่อปี  หรือเป็นผลดีต่อการผลิตน้ำประปาสำหรับเมืองใหญ่หลายแห่ง  และบางเขื่อนก็สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้  ส่วนด้านไม่ดีก็มี เช่น มันขวางกั้นการอพยพของสัตว์น้ำตามธรรมชาติที่เคยเป็น  จนทำให้สัตว์น้ำบางชนิดถึงขั้นสูญพันธุ์  เมื่อปลาลดลงชาวประมงก็มีจำนวนลดลงด้วย  ไม่ใช่แค่ปลามันน้อยลงแต่มันจับได้ยากขึ้นเพราะน้ำไม่ลดสักที  อีกย่างเกาะแก่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็จมอยู่ใต้น้ำ  และที่สำคัญมันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดอุทกภัยในรอบหลายปีที่ผ่านมา  เพราะการพร่องน้ำออกจากเขื่อนไม่สัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝน

ที่ตั้งเมืองอุบลฯ สุดยอดทำเลในอดีต

ย่านเมืองเก่าเทศบาลนครอุบลราชธานี

วิศัยทัศน์ของ “เจ้าคำผง” หรือพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ ผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานีมองออกว่าถ้าให้จุดศูนย์กลางของเมืองอยู่ที่ห้วยแจระแมต่อไปเห็นทีจะไม่ดีแน่  เพราะที่นี่อยู่ห่างจากท่าน้ำมูลไกลโข  เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงป่าวประกาศถึงราษฎรว่า  พวกเราจะย้ายเมืองไปอยู่ที่ดงอู่ผึ้ง(ปัจจุบันดงอู่ผึ้งอยู่คนละที่กัน)  ตรงนั้นอยู่ติดกับแม่น้ำมูลซึ่งจะมีความสะดวกสบายหลายประการ  ทั้งการสัญจรทางเรือ  การขนส่งสินค้า  การมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี  การหาอยู่หากินและเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีในการสงคราม  ว่าแล้วก็นำไพร่พลเดินทางไปสร้างบ้านแปงเมืองยังท่าน้ำมูลแล้วใช้ชีวิตตามวิถีคนริมน้ำเรื่อยมาเป็นเวลากว่าสองร้อยปี  จากประชากรเพียงหยิบมือเมื่อครั้งก่อตั้งก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นคน  เมืองจึงแออัดจนมีการขยายตัวออกไปทุกทิศทุกทาง  จะเหลือพื้นที่ว่างก็เฉพาะบริเวณลุ่มต่ำที่เสี่ยงถูกน้ำท่วมในช่วงมรสุม

คนสมัยก่อนทำใจไว้แล้วว่ายังไงน้ำก็ต้องท่วมเมืองอุบลฯ เพราะด้วยทำเลที่เป็นแอ่งกระทะ น้ำจากทุกทิศทุกทางจะต้องไหลมาผ่านตรงนี้  แต่พวกเขาก็ไม่ได้ซีเรียสอะไรเพราะน้ำท่วมแต่ละครั้งกินเวลาไม่นาน  ผู้คนส่วนใหญ่ก็อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงอยู่แล้วจึงไม่กระทบมากนัก  และสมัยก่อนตามริมแม่น้ำจะมีแอ่งเล็ก ๆ คอยช่วยอีกทางหรือที่คนอีสานเรียกว่า  “บุ่งและทาม” น้ำที่หลากมาส่วนหนึ่งจะเข้าท่วมในบุ่งและทามทำให้ในเมืองถูกท่วมไม่หนักมาก  และจะมีพืชบางชนิดที่มีคุณสมบัติพิเศษคือจะท่วมจะแล้งก็ไม่ตาย  พวกมันทำหน้าที่คอยดูดซับน้ำเอาไว้  และยังเป็นแหล่งอาหาร  แหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำนานาชนิดอีกด้วย  ชาวบ้านก็ได้อาศัยที่นี่ในการหาอยู่หากินซึ่งถ้าพูดตามตรงคือคนสมัยก่อนดีใจด้วยซ้ำที่มีน้ำท่วม พื้นที่ตรงนี้จึงถูกเรียกว่า “ป่าบุ่งป่าทาม”

ป่าบุ่งป่าทาม  หาย!

เมืองอุบลราชธานีทั้งหมดอยู่ในเขตควบคุมการบิน  จึงไม่สามารถสร้างอาคารได้สูงมากนัก  ฉะนั้นสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่จึงเป็นไปในแนวราบซึ่งข้อเสียของมันคือต้องใช้พื้นที่เยอะ ทำให้ปัจจุบันตัวเมืองขยายออกไปทุกทิศทุกทางอย่างไร้การควบคุม  พื้นที่ดอนส่วนใหญ่ถูกจับจองไปหมดแล้วจึงมีคนบางกลุ่มพยายามถมพื้นที่ลุ่มให้สูงขึ้นเพื่อก่อสร้างอาคาร  ซึ่งพื้นที่ลุ่มที่ว่านั้นก็คือป่าบุ่งป่าทามของเรานั่นเอง

นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าการถมพื้นที่บุ่งทามเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางธรณีวิทยา  แม้ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่ามันเป็นตัวการทำให้น้ำท่วม  แต่แน่นอนมันได้เปลี่ยนเส้นทางเดินน้ำใหม่ให้ไปท่วมในจุดที่ไม่เคยท่วม  หรือปิดทางน้ำที่เคยไหลทำให้น้ำท่วมบางจุดยาวนานขึ้น  เคยมีการเสนอร่างผังเมืองใหม่เมื่อหลายปีก่อน  โดยให้ทบทวนการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่รับน้ำที่อาจส่งผลต่อตัวเมืองและชุมชน  แต่เรื่องดังกล่าวก็เงียบหายไปจนถึงทุกวันนี้

*ภาพปี 2562 ในอดีตบริเวณนี้คือพื้นที่บุ่งทาม

น้ำท่วมใหญ่ถี่ขึ้นเรื่อย ๆ

จังหวัดอุบลราชธานีมีน้ำท่วมใหญ่มาแล้วหลายครั้ง  และนับวันจะถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งคำว่า “น้ำท่วมใหญ่” คือ เมื่อวัดจากสถานี M7 บริเวณเชิงสะพานเสรีประชาธิปไตย แม่น้ำมูลมีความลึกมากกว่า 10 เมตร ขึ้นไป  และจากการเก็บสถิติกว่า 70 ปี ที่ผ่านมา มีน้ำท่วมใหญ่ไปแล้ว 6 ครั้ง  คือ

ตุลาคม   2493   สูงสุด 11.56 เมตร
ตุลาคม   2509   สูงสุด 10.79 เมตร
ตุลาคม   2521   สูงสุด 12.76 เมตร
ตุลาคม   2545   สูงสุด 10.77 เมตร
กันยายน 2562   สูงสุด 10.97 เมตร
ตุลาคม   2565   สูงสุด 11.51 เมตร

จากการประเมินของหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี  น้ำท่วมใหญ่ครั้งล่าสุด (2565) สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้จังหวัดอุบลฯ มากที่สุดในประวัติศาสตร์คือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท  โดยประเมินจากความเสียหายของทรัพย์สินบ้านเรือนราษฎรและการเสียโอกาสทางธุรกิจหลายอย่าง เช่น ห้างสรรพสินค้าหรือห้างวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ถูกน้ำท่วมหลายแห่ง  ธุรกิจหลายแห่งต้องหยุดชะงักไปจากกระแสน้ำที่ตัดขาดเส้นทางขนส่ง  มีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 46,000 คน ใน 17 อำเภอ  ซึ่งทั้งหมดไม่ได้นับรวมเรื่องความบอบช้ำทางสภาพจิตใจของราษฎรโดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก

อะไรคือพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก

พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากตามความหมายของกรมพัฒนาที่ดินคือ  พื้นที่ที่มีการท่วมขังของน้ำบนผิวดินสูงกว่าระดับปกติและมีระยะเวลาที่น้ำท่วมขังยาวนานอยู่เป็นประจำ จนสร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร ทรัพย์สิน หรือชีวิต แบ่งความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเป็นครั้งคราว มีน้ำท่วมขังไม่เกิน 3 ครั้งในรอบ 10 ปี ระดับที่ 2 พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากบ่อยครั้ง มีน้ำท่วมขัง 4-7 ครั้งในรอบ 10 ปี  และ ระดับที่ 3 พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำ มีน้ำท่วมขังมากกว่า 8 ครั้งในรอบ 10 ปี

แม้ป่าบุ่งป่าทามจะถูกน้ำท่วมทุกปีแต่ก็ไม่ได้ถือเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก  เพราะไม่ได้สร้างความเสียหายแต่อย่างใด  แต่หากมีคนไปอาศัยอยู่หรือทำการเกษตรมันก็จะกลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากทันที  แล้วทำไมคนต้องไปอาศัยอยู่ตรงนั้น  ก็เพราะว่าเมื่อตัวเมืองมีความเจริญขึ้น  ผู้คนก็ย่อมหลั่งไหลเข้ามาหากินมากขึ้น  การได้อาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งทำมาหากินจะสร้างความสะดวกให้กับพวกเขา  แต่อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าที่ดอนหรือพื้นที่สูงนั้นถูกจับจองมีเจ้าของไปหมดแล้ว  หากอยากซื้อหรือเช่าก็มีราคาแพงมากยากที่คนหาเช้ากินค่ำจะสู้ไหว  เหลือก็แต่พื้นที่ต่ำที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมนี่แหละที่ไม่มีใครอาศัยอยู่  ซึ่งคนที่เข้ามาทำมาหากินนั้นส่วนใหญ่ก็ย้ายมาจากชนบท  พวกเขามีทางเลือกไม่มากนักในการเลือกที่อยู่อาศัย  พื้นที่รกร้างว่างเปล่าจึงถูกถากถางสร้างบ้านเรือนแบบพอคุ้มแดดคุ้มฝน  นานไปก็มีคนย้ายตามมาอยู่ด้วยและยิ่งนานก็ยิ่งเยอะขึ้นจนปัจจุบันริมแม่น้ำมูลมีชุมชนเกิดขึ้นหลายแห่ง  บางชุมชนอาศัยกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว  จนพวกเขาคิดว่าที่นี่คือบ้านเกิดไม่คิดจะย้ายหนีไปไหน  แม้จะเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากก็ตาม

ท่าบ้งมั่ง หมู่บ้านน้ำท่วมซ้ำซาก

บ้านท่าบ้งมั่ง  อำเภอวารินชำราบ  ปัจจุบันคือพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากระดับ 3 จากปากคำของ บุญทัน  เพ็งธรรม ในวัย 60 ที่อยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิดเล่าว่าบ้านท่าบ้งมั่งก่อตั้งมามากกว่าร้อยปีแล้ว  ตั้งแต่สมัยเป็นเด็กก็เห็นน้ำท่วมที่นี่เป็นประจำ  แต่ชาวบ้านก็อยู่กันได้เพราะแต่ละครั้งที่ท่วมก็ระดับไม่สูงมากนักและเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ถึงกับต้องอพยพหนีขึ้นไปอยู่ที่สูง  บางปีที่ท่วมหนักหน่อยก็แค่เอาไม้มาพาดระหว่างหน้าต่างให้เป็นห้างก็อยู่กันได้  ไม่กี่วันมันก็ลงแล้ว  ที่สำคัญมันไม่ได้ท่วมทุกปี แต่ 5-6 ปีถึงจะท่วมสักครั้ง  ผิดกับปัจจุบันที่ท่วมแทบทุกปี

บุญทัน เพ็งธรรม

บุญทันยังเล่าต่อว่า  ในสมัยก่อนชุมชนแห่งนี้จะมีเรือสแตนบายด์ไว้ใต้ถุนบ้านแทบทุกหลังเอาไว้ใช้เดินทางข้ามฝั่งบ้าง  ใช้ในการประมงบ้างและเอาไว้ขนของเมื่อยามน้ำมาบ้าง  แต่เมื่อปลาในแม่น้ำมูลลดน้อยลงพวกเขาจึงไปทำมาหากินอย่างอื่น  เลยขายเรือออกไปหมด  จนหลังจากที่มีการสร้างเขื่อนปากมูลน้ำก็ท่วมหมู่บ้านแทบทุกปี  และเป็นการท่วมที่รุนแรงขึ้น  ยาวนานขึ้น  พอไม่มีเรือไว้ขนของก็ว้าวุ่นกันเลยทีนี้ 

ซ้ำเมื่อไม่กี่ปีก่อนยังมีโครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งทรุดเป็นแนวยาวพาดผ่านตัวเมืองทั้งสองฝั่งแล้วมันก็พาดผ่านบ้านท่าบ้งมั่งด้วย  สิ่งก่อสร้างนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ตลิ่งถูกกัดเซาะจากน้ำ  แน่นอนว่ามันได้ผลความกว้างของแม่น้ำจะถูกหยุดอยู่แค่นี้ตลอดไป(จนกว่าเขื่อนจะพัง) แต่อาการข้างเคียงที่ตามมาคือคนในชุมชนมองไม่เห็นแม่น้ำมูลเหมือนเคย  สันเขื่อนที่สูงเท่าหลังคาชั้นล้างบดบังทัศนวิสัยของวิวแม่น้ำไปโดยสิ้นเชิง  นอกจากนั้นมันยังขังน้ำไว้ในชุมชนไม่ให้ไหลลงแม่น้ำมูลซึ่งทุกปีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มาสูบน้ำออก  ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในชุมชนจึงเป็นเรื่องของธรรมชาติเพียงเล็กน้อย  ที่เหลือฝีมือมนุษย์ล้วน ๆ  

“เมื่อก่อนพวกเรายังพอทำนายได้ว่าน้ำจะมาเมื่อไหร่จากการสังเกตธรรมชาติรอบตัว เช่น สังเกตต้นงวงช้าง ถ้ายอดของมันชี้ชันขึ้นหมายความว่าน้ำจะสูง หรือสังเกตมดย้ายรังขึ้นที่สูงแสดงว่าน้ำกำลังจะมา เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่ตอนนี้วิธีการเหล่านี้ใช้ไม่ได้ผลแล้ว  เราต้องรอฟังประกาศจากทางการเพียงอย่างเดียว  ซึ่งบางปีก็ประกาศไม่แม่นยำทำให้เก็บข้าวของไม่ทัน มันฉุกละหุกจนแทบไม่มีข้าวกิน”บุญทัน เพ็งธรรม

2566 ถือว่าเป็นปีที่น้ำท่วมชุมชนท่าบ้งมั่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เมื่อกองทัพต้องเดินด้วยท้องจึงต้องมีครัวกลาง

จากเหตุน้ำท่วมใหญ่ปี 2562 และ 2565 ที่ผ่านมา  ชาวบ้านท่าบ้งมั่งและอีกหลายหมู่บ้านที่ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันได้เรียนรู้ว่า “อาหาร” คือสิ่งจำเป็นที่สุดในการดำรงชีพช่วงหนีน้ำ  ชาวบ้านต้องหมดพลังในแต่ละวันจากการขนของ  สิ่งที่ตามมาคือไม่มีเวลาหาของกิน  เมื่อพลังงานหมดมันจึงเป็นเรื่องยากที่จะดิ้นรนต่อ  กองทัพต้องเดินด้วยท้องจึงหมายถึงสิ่งนี้

ในพื้นที่ศูนย์อพยพฝั่งอำเภอวารินชำราบจะมีครัวกลางอยู่ทั้งหมด 5 จุด  เกิดจากการระดมทั้งเงินบริจาคและข้าวสารอาหารแห้งจากเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ  ได้จำนวนหนึ่ง  หลังจากพวกเขาเริ่มตระหนักถึงลำดับความสำคัญของการช่วยเหลือผู้ประสบภัย  การมีอาหารสดใหม่ในแต่ละวันคือเรื่องสำคัญ  แม้ครัวกลางจะไม่ใช่โรงครัวที่มีอาหารให้ทุกคนอย่างไม่อั้น  แต่มันก็มีพอช่วยประทังชีวิตได้ในบางมื้อ  ครัวกลางดำเนินงานโดยชาวบ้านกลุ่มจิตอาสา  หนึ่งในนั้นก็คือบุญทัน  เพ็งธรรม  นั่นเองที่จริงเขาเป็นเครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติอุบลราชธานี (อช.ปภ.) มีหน้าที่คอยสอดส่องช่วยเหลือคนในชุมชนโดยไม่มีค่าตอบแทน

วันนี้ครัวกลางตกลงกันว่าจะทำเมนูก๋วยเตี๋ยวไก่  เพราะได้รับบริจาคไก่สดมาหลายแพคใหญ่เมื่อวานนี้จากภาคเอกชน  แม่ครัวจิตอาสารุ่นการันตีฝีมือมารวมตัวกันที่เต็นท์  หลังจากบุญทันขับมอเตอร์ไซค์กลับจากตลาดรอบสุดท้ายพวกเขาก็ลงมือทำอาหารอย่างคล่องแคล่วว่องไวด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมกันมาหลายทศวรรษ  บุญทันเคยทำอาหารตามสั่งและส้มตำขายมาก่อน  จึงรับประกันได้ว่าอาหารที่ออกมาต้องถูกปากชาวบ้านแน่นอน  และไม่นานนักน้ำซุปในหม้อก็เดือดปุดปุดส่งกลิ่นหอมฉุยไปทั่วบริเวณ  จนเด็ก ๆ และผู้ใหญ่หลายคนต้องเดินอมน้ำลายมากลืนที่หน้าเต็นท์พร้อมคำถามที่ว่าใกล้เสร็จหรือยัง 

เส้นก๋วยเตี๋ยวและน้ำซุปถูกแพ็คแยกจากกัน  หลังป่าวประกาศออกไปว่าอาหารพร้อมแล้วคนก็ออกมาต่อแถวอย่างรวดเร็ว  กฎเข้มของวันนี้คือ 1 คนรับได้ 1 ชุด  หากอยากได้เพิ่มต้องไปต่อแถวใหม่เพราะอาหารมีไม่มากจึงต้องกระจายออกให้ได้มากที่สุด  ในเวลาไม่น่าเกิน 15 นาทีก๋วยเตี๋ยวชุดสุดท้ายถูกส่งไปในมือเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง  ลุงที่ขี่รถเครื่องสีแดงมาจอดหน้าเต็นท์ช้าไปเพียงเสี้ยววินาทีเลยได้แค่น้ำซุปเปล่า ๆ กลับไปแทน

บุญทันบอกว่าจริง ๆ เป้าหมายของกลุ่มอยากทำอาหารแจกจ่ายให้ได้วันละ 2 มื้อคือ เที่ยงกับเย็น  แต่ทุนมีน้อยเลยได้แค่มื้อเที่ยง ที่ผ่านมาก่อนที่จะมีครัวกลางประจำจุดอพยพก็มีครัวกลางใหญ่ของจังหวัด  แต่บางครั้งอาหารที่เป็นข้าวกล่องทำไว้นานกว่าจะแจกจ่ายมาถึงก็บูดไปเสียก่อน  เมื่อมีครัวกลางอยู่ใกล้ ๆ ชาวบ้านก็บอกว่าดีมากเพราะได้กินอาหารสดใหม่ทุกวันและที่สำคัญที่นี่สามารถทำอาหารตามเสียงโหวตได้โดยเฉพาะอาหารแบบพื้นบ้าน

Super Open Chat เตือนภัยพิบัติอุบลราชธานี

ชาวบ้านในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากมัวแต่ขนของจนไม่มีเวลาหาอาหารใส่ท้อง    นั่นเพราะพวกเขาไม่ต้องการสูญเสียทรัพย์สินอันมีค่าที่หามาด้วยหยาดเหงื่อแรงกายที่กำลังจะจมน้ำไปต่อหน้าต่อตา  สถานการณ์อาจไม่เป็นเช่นนี้หากเรามีระบบเตือนภัยที่รวดเร็วและแม่นยำ นี่คือเหตุผลที่ สุชัย  เจริญมุขยนันท  ต้องเปิดห้องแชทออนไลน์เพื่อเตือนภัยน้ำท่วมด้วยตัวเอง

สุชัย เจริญมุขยนันท

สื่อมวลชนท้องถิ่นที่ขลุกอยู่กับหน้าจอเครื่องมือสื่อสารทั้งวันทั้งคืนท่านนี้เล่าให้ฟังว่า  เมื่อครั้งที่น้ำท่วมใหญ่เมืองอุบลฯ ปี 2562 เกิดความวุ่นวายหนักมาก น้ำขึ้นสูงและเร็วมากโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า  ทำให้ข้าวของเครื่องใช้ของประชาชนเสียหายอย่างหนัก  หลังกลับเข้าสู่สภาวะเกือบปกติก็มีเวทีถอดบทเรียนซึ่งเขาได้ไปร่วมด้วย  สิ่งที่ทุกคนพูดตรงกันว่าทำไมน้ำท่วมครั้งนั้นจึงเป็นฝันร้ายของหลายคน  ก็เพราะการเตือนภัยจากภาครัฐล้มเหลว

เขาคิดหาวิธีเปลี่ยนรูปแบบการเตือนภัยที่ล่าช้าและเข้าถึงประชาชนคนอุบลฯได้ยากนั้น  และพบว่าสื่อที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าคือ Application LINE ซึ่งในแอพไลน์ก็มีฟีเจอร์หนึ่งที่เรียกว่า Line OpenChat มันเป็นห้องสนทนาที่ใหญ่กว่ากลุ่มไลน์ทั่วไป  โดยคนที่สนใจเรื่องเดียวกันจะเข้ามาแลกเปลี่ยนในนี้ได้และไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง  ทำให้ภายในห้องแชทของเขามีบุคคลจากหลายสาขาอาชีพรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการบริหารจัดการน้ำเข้ามาอยู่ด้วย

“ใน Open Chat นี้จะมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือทุกคนจะเป็นนิรนามคือไม่รู้ว่าเป็นใคร   ทำให้บางครั้งเขาสามารถนำข้อมูลบางอย่างมาเปิดเผยในนี้ได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวอะไร  ในมุมกลับกันก็มีบางคนเกรงว่าสิ่งที่นำมาบอกนี้จะไม่น่าเชื่อถือเพราะมันหลอกกันได้  แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่าไม่มีใครกล้าทำอย่างนั้น  เพราะมันจะมีคนอื่นไปหาข้อมูลที่ถูกต้องมาหักล้าง  มันเลยกลายเป็นกฎระเบียบอัตโนมัติว่าคนที่นำข้อมูลมาลงจะต้องเช็คเป็นอย่างดีก่อน”สุชัย เจริญมุขยนันท

“การพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยามีความแม่นยำไม่เกิน 70% อย่างเช่นเรื่องฝนก็บอกได้แค่คร่าว ๆ ว่าจะตกโซนไหน มีโอกาสกี่เปอร์เซ็นต์แค่นั่น  ซึ่งเคยถามไปทางกรมอุตุฯ ว่าทำไมการพยากรณ์มันคลาดเคลื่อน  เขาบอกว่าพื้นที่โซนที่เราอยู่นี้มีความแปรปรวนของสภาพอากาศสูงการพยากรณ์จึงไม่แม่นยำ  อันนี้ก็อาจจะจริง  แต่เรื่องหนึ่งที่ผมสังเกตคือยังไม่มีรัฐบาลไหนให้ความสำคัญกับกรมอุตุนิยมวิทยา  ไม่มีการพัฒนาแต่อย่างใดซึ่งในขณะที่เรากำลังสัมภาษณ์กันอยู่นี้  เรดาห์ของกรมอุตุฯ ที่อุบลฯ เสียมา 2 เดือนแล้ว”สุชัย เจริญมุขยนันท

จากการที่สมาชิกนำข้อมูลต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนอยู่เรื่อย ๆ ห้องแชทนี้จึงกลายเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data ที่สมาชิกส่วนใหญ่สามารถนำไปประมวลผลได้เองว่าฝนจะตกเมื่อไหร่  พายุจะเข้ามาแบบไหน  หรือน้ำจะขึ้นมากน้อยแค่ไหน  มันคือปัญญารวมหมู่ที่ทุกคนมาช่วยกันแก้ปัญหาได้ตามเจตนารมย์ของสุชัย  เจริญมุขยนันท  ปัจจุบันห้องสนทนาแห่งนี้มีสมาชิกอยู่ 3 พันคนและขึ้นไปถึงกว่า 4 พันคนในบางช่วง

“ใน Open Chat นี้ไม่มีรายได้เลยแม้แต่บาทเดียว  เรียกได้ว่าเป็นงานจิตอาสาที่เริ่มต้นจากที่เราเห็นปัญหาจึงลงทุนทุกอย่างด้วยเงินของตัวเอง  การเป็นจิตอาสาของบางคนอาจไปช่วยคนอื่นลอกท่อ โบกรถ  กวาดถนนหรืออะไรก็ตาม  แต่เรามีความถนัดทางการใช้สื่อก็เลยเป็นจิตอาสาทางนี้  ผมสร้าง Open Chat ขึ้นมาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมให้มันดีขึ้น”สุชัย เจริญมุขยนันท

จิตอาสา  คุณค่าของชีวิตจากการเป็นผู้ให้

มอเตอร์ไซค์สีน้ำเงินถูกขับมาจอดอยู่หน้าบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้สองชั้นสภาพค่อนข้างเก่าที่ใต้ถุนเต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้สารพัด  ซึ่งดูแล้วเหมือนอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลเสียเป็นส่วนใหญ่  ผู้หญิง 2 คนลงจากรถแล้วเดินเข้าไปหาชายชุดดำที่ไว้เคราถักเปีย  พวกเธอมาถามหาอะไรบางอย่างก่อนที่ชายเคราถักเปียจะไปหยิบอุปกรณ์คล้ายเก้าอี้พับส่งให้  ที่แท้มันคือเก้านั่งถ่ายสำหรับผู้สูงอายุที่เดินเหินลำบากซึ่งน้ามะลิเดินทางมายืมไปให้คุณพ่อวัย 90 ของเธอได้ใช้ ที่นี่คือศูนย์ป่วยให้ยืม  คนในพื้นที่รู้กันดีว่าเป็นจุดให้ยืมอุปกรณ์ช่วยเหลือในการดำรงชีพสำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียง  ที่นี่มีของให้ยืมสารพัดอย่างตั้งแต่เตียงผู้ป่วย รถเข็นวีลแชร์ วอล์คเกอร์หัดเดินไปจนถึงถังออกซิเจน  ชายผู้ไว้เคราถักเปีย  คือ สถาพร  ศรีแย้ม เขาเป็นจิตอาสาที่อุทิศกำลังกายกำลังใจเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก

“เรื่องมันเริ่มมาจากน้ำท่วมเมื่อปี 2562 ตอนนั้นผมกับเพื่อนอีก 5 คนออกไปช่วยเหลือชาวบ้านขนของหนีน้ำขึ้นไปอยู่ศูนย์พักพิง  ในระหว่างขนของเราก็ได้เห็นบางเคสที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงจึงคุยกันว่าจะต้องช่วยเขาทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลดด้วยให้เขากลับมาอยู่ได้อย่างสะดวก  เมื่อช่วยเคสนั้นแล้วก็คิดกันว่าจะทำต่อแต่ไม่มีอุปกรณ์  พอดีมีรุ่นพี่ที่รู้จักกับมูลนิธิกระจกเงาจึงประสานขอยืมอุปกรณ์  ซึ่งเขาก็ให้มาอย่างครบครันจนทำภารกิจสำเร็จแต่พวกเราก็ยังอยากทำต่ออีกเลยขอเข้าร่วมกับมูลนิธิเพื่อช่วยล้างบ้านต่อ”สถาพร ศรีแย้ม

หลังจากนั้น สถาพร ก็กลายเป็นสมาชิกมูลนิธิกระจกเงาคอยช่วยเหลือผู้คนยามตกยากเรื่อยมา  โดยเฉพาะกับเหตุการณ์น้ำท่วมเมืองอุบลฯ ที่เขาและสมาชิกอีกหลายคนออกไปให้การช่วยเหลือทั้งขนคน  ขนของหนีน้ำขึ้นไปยังศูนย์พักพิง  หลังจากนั้นก็รวบรวมของบริจาคจัดสรรให้กับคนที่จำเป็นต้องใช้โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก อันที่จริงตัวเขาเองก็เป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยด้วย  เพราะบ้านของสถาพรอยู่ในชุมชนหาดสวนยาหนึ่งในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก  ฉะนั้นเขาจึงค่อนข้างรู้จักคนในพื้นที่เป็นอย่างดี  การช่วยเหลือจึงถูกส่งตรงไปยังผู้เดือดร้อนอย่างถูกต้องและทันท่วงที  และเขายังตระเวนไปช่วยเหลือชุมชนอื่นที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย

“ผมมีกฎอยู่ข้อเดียวคือเวลาลงพื้นที่อย่าทำหน้าบูดใส่ ถ้าหน้าบูดใส่ผมจะไม่มาอีก”

วันนี้สถาพรพร้อมลูกทีมอีก 2 คนขนอุปกรณ์จำพวกรถเข็นกับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ขึ้นเต็มคันรถแล้วตระเวนเอาของไปมอบให้กับผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมหลายแห่ง  ช่วงหลังเขาได้รับการประสานจาก อสม.หลายชุมชนเพื่อขอรับอุปกรณ์ต่าง ๆ มันทำให้ศูนย์แห่งนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น

เที่ยงกว่า ๆ รถขนของมาจอดริมถนนเลียบแม่น้ำมูล เรือท้องแบนไฟเบอร์มาจอดรอที่ร่องน้ำเล็ก ๆ อยู่ก่อนแล้ว  สถาพรหอบผ้าอ้อมสำเร็จรูปพร้อมของใช้ที่จำเป็นอีกจำนวนหนึ่งขึ้นเรือ  ก่อนที่ฝีพายจะใช้ไม้ไผ่ยันพื้นให้เรือลอยล่องไปตามแนวรั้วไม้ไผ่ที่จมน้ำอยู่ครึ่งหนึ่ง  เรือพาทีมผ่านป่าไผ่มาโผล่ที่เกาะเล็ก ๆ มีบ้าน 2 ชั้นหลังหนึ่งตั้งอยู่ตรงนั้น  สถาพรพร้อมลูกทีมหยิบข้าวของลงจากเรือ  คนเรือพาเราเดินผ่านบ้านหลังนั้นไปยังกระท่อมยกสูงเก่า ๆ ที่อยู่ด้านหลัง  นั่นคือบ้านของพ่อแม่ของพวกเขา  คุณตาอยู่บนกระท่อมหลังนั้นเขาเป็นผู้ป่วยติดเตียงและตอนนี้ยังติดกระท่อมอีก  น้ำท่วมล้อมรอบกระท่อมไปหมดแล้ว ลูก ๆจึงไม่อยากย้ายคุณตาออกไปแบบทุกลักทุเล  ซึ่งคาดการณ์กันว่าน้ำคงจะลดลงเร็ว ๆ นี้ ของบริจาคอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่กำลังใจจากการมาเยี่ยมของสถาพรและทีมงานอาจมีคุณค่ายิ่งใหญ่กว่าในภาวะวิกฤติเช่นนี้

ปัจจุบันศูนย์ป่วยให้ยืมไม่ได้ช่วยเหลือเฉพาะคนถูกน้ำท่วมเพียงอย่างเดียว  แต่คนทั่วไปที่ต้องการใช้อุปกรณ์บางอย่างก็สามารถมายืมได้  สถาพรบอกว่าสาเหตุที่มีคนมายืมอุปกรณ์เหล่านี้อยู่เรื่อย  ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้สูงอายุมาก ๆ ที่พูดกันตามตรงคือญาติของเขาคิดว่าถ้าซื้อเองคงไม่คุ้มเพราะบางเคสก็ได้ใช้แป๊บเดียว  ในทางกลับกันสำหรับคนที่มีฐานะดีเขาก็จะซื้อใช้เอง  แต่เมื่อเจ้าของไม่ได้ใช้แล้วไม่รู้จะเอาไปให้ใครเพราะบางคนก็ถือเรื่องนี้  ทางศูนย์จึงขอรับบริจาคด้วยทั้งใหม่ทั้งเก่าเอาหมด  ซึ่งถ้าเก่าและชำรุดมากก็มีอาสาสมัครมาช่วยซ่อมแซมให้  ส่วนคนที่เคยถือเรื่องเอาของจากคนที่ตายไปแล้วมาใช้ พอมาผ่านคนกลางอย่างศูนย์ป่วยให้ยืม  ความรู้สึกนั้นก็เปลี่ยนไปทันที

ห้องเรียนน้ำท่วม  จากครูผู้เดือดร้อนจริง

สาย ๆ ของวันหยุดสุดหรรษา  รถตู้ 3 คันติดเครื่องรอผู้โดยสารอยู่หน้าคณะศิลปะศาสตร์  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  วันนี้มีคาบเรียนวิชา อีสาน โลก และความพลิกผัน  นักศึกษาสาขาวิชานวัตกรรมการพัฒนาสังคม ราว 30 คนต้องขึ้นรถตู้เดินทางไปศึกษาเรื่องน้ำท่วมในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากอย่างบ้านท่าบ้งมั่ง

รถตู้พามาถึงวัดเสนาวงศ์ได้อย่างปลอดภัยโดยมีบุญทัน เพ็งธรรม มารอต้อนรับอยู่ก่อนแล้ว  แต่กิจกรรมแรกของนักศึกษาคือต้องเดินลุยน้ำไปดูปั๊มยักษ์ที่ท่าน้ำมูล  บางคนยังยืนค้ำเอวเอียงคอคิดอยู่ว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้  แต่สุดท้ายก็ถูกเพื่อนผลักลงน้ำอยู่ดี  วันนี้ทางการยังคงเดินเครื่องสูบน้ำเต็มกำลังเพื่อรักษาระดับน้ำภายในอ่างหรือก็คือหมู่บ้านไม่ให้สูงไปกว่านี้  เมื่อก่อนไม่เคยมีกิจกรรมเช่นนี้แต่หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนกันตลิ่งทรุดเป็นแนวยาวผ่านหมู่บ้าน  นอกจากเขื่อนจะช่วยกันน้ำเข้ามาแล้วยังกันน้ำจากข้างในออกไปอีกด้วย

หลังจากสูดควันเครื่องสูบน้ำเต็มปอดและเซลฟี่กันพอใจแล้ว  ดร.สุรสม  กฤษณะจูฑะ  อาจารย์ประจำวิชาที่พามาก็มอบหมายให้พวกเขาเดินไปคุยกับชาวบ้าน  สอบถามสารทุกข์สุขดิบของชาวบ้านแต่ละคนที่พานพบ  นี่คือหนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องของเด็กพัฒนาสังคมที่คาดว่าประสบการณ์ครั้งนี้จะนำพาพวกเขาค้นพบอะไรบางอย่างที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม

“การเรียนรู้ในยุคปัจจุบันมันไม่สามารถเรียนในห้องเรียนได้  เราคิดว่าการเรียนรู้ปัญหาสังคมที่ดีที่สุดก็คือการพาไปเรียนรู้จากปัญหาจริง  ถ้าอยากเรียนรู้เรื่องน้ำท่วมไม่ใช่เรียนจากในหนังสือ  แต่ต้องไปสัมผัส พูดคุย มองเห็น ถึงจะเข้าใจ เราต้องการคนที่รับรู้และเข้าใจปัญหาเพราะในอนาคตเขาก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหานั้น”ดร.สุรสม  กฤษณะจูฑะ

เต็นท์สีฟ้าตั้งเรียงรายหลายสิบหลังบริเวณถนนหลังสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี  มันถูกใช้เป็นบ้านชั่วคราวของผู้ประสบอุทกภัยทั้งจากบ้านท่าบ้งมั่งและอีกหลายชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง  นักศึกษาแบ่งทีมออกสำรวจตามเต็นท์ต่าง ๆ เพื่อสอบถามความเป็นอยู่ของชาวบ้าน  บางคนขอเข้าไปดูในเต็นท์หลังหนึ่งแต่ต้องหน้าหงายออกมาเพราะอากาศภายในเต็นท์ร้อนอบอ้าวอุดอู้เหมือนอยู่ในเตาอบ  มียายแก่ ๆ นอนป่วยติดเตียงอยู่ข้างในดูแลโดยชายชราผู้พิการเดินเหินลำบากที่ยังต้องเฝ้าหลานตัวเล็ก ๆ อีกคนที่วิ่งเล่นอยู่หน้าเต็นท์   นี่คือความรันทดแรกที่น้อง ๆ ได้เจอ

ออกจากเต็นท์นี้เดินไปทางบ่อบำบัดน้ำเสีย หญิงชราใช้ไม้ไผ่แห้งค้ำยันค่อย ๆ เดินต่อส้นไปตามถนน  กลุ่มนักศึกษาจึงเข้าไปสอบถาม  คุณยายบอกว่ากำลังเดินทางไปที่เต็นท์ข้างหน้านี้แหละเดินนานแล้วแต่ยังไม่ถึงสักที  หลังจากน้อง ๆ ช่วยกันประคองยายเข้ามาในเต็นท์เตาอบได้แล้วก็เริ่มสอบถามหญิงชราทันที  ได้ความว่ายายป่วยไปนอนที่โรงพยาบาลหลายคืนแล้วเพิ่งได้ออก ว่าจะกลับบ้านแต่กลับไม่ได้เพราะน้ำท่วมไปแล้วเขาเลยให้ย้ายมาอยู่ที่เต็นท์  ซึ่งคุณยายก็พยายามเดินมาที่นี่ตั้งแต่เช้าแล้วเพิ่งถึง  กะว่ามาถึงจะได้กินยาที่หมอให้มาแต่มันเป็นยาหลังอาหารซึ่งตอนนี้ไม่มีข้าวกิน   นักศึกษาคนหนึ่งจึงอาสาไปเอาที่ครัวกลางมาให้  เมื่อสอบถามต่อก็รู้ว่าคุณยายอยู่คนเดียวไม่มีลูกหลานคอยช่วยเหลือซึ่งพอเราสำรวจรอบเต็นท์ของยายนอกจากแคร่ไม้ไผ่เล็ก ๆ 2 อันแล้วก็มีข้าวของเครื่องใช้อีกเพียงเล็กน้อย  ยายบอกว่าเขาขนมาได้เท่านี้  ของส่วนใหญ่จมน้ำไปแล้ว  น้องนักศึกษาบางคนแอบปาดน้ำตาอยู่ข้างหลัง  สิ่งนี้คือความจริงที่พวกเขาค้นพบ

“นักศึกษาบางคนรู้แค่ว่าน้ำท่วม  เห็นแค่น้ำที่ท่วมแต่ไม่เคยเห็นคน  ไม่เคยรับรู้ถึงความรู้สึกที่แท้จริงของคนถูกน้ำท่วม  สายตาของพวกเขาจึงสามารถแทนสายตาของคนทั่วไปที่มองเรื่องนี้ได้  แต่หลังจากนี้มุมมองของพวกเขาจะเปลี่ยนไป”ดร.สุรสม  กฤษณะจูฑะ

กลับมาที่ห้องเรียนพวกเขามีประเด็นให้ถกกันอย่างออกรสออกชาติ  หลายคนมีมุมมองทางสังคมเปลี่ยนไปจริง ๆ ซึ่งสิ่งนี้อาจารย์ไม่จำเป็นต้องพร่ำสอนหรือพยายามอธิบายให้นักศึกษาเข้าใจ เหตุการณ์มันอธิบายได้ด้วยตัวมันเอง

“สิ่งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยควรมีบทบาทก็คือการเข้าไปสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง  โดยการนำความรู้หรือทรัพยากรต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยมีเข้าไปทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง  ซึ่งไม่ใช่เฉพาะมหาวิทยาลัยท้องถิ่นแต่รวมถึงมหาวิทยาลัยระดับประเทศ  เราผลิตความรู้ไปเพื่ออะไร เราผลิตความรู้เพื่อให้สังคมมันดีขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนไม่ให้ปัญหามันวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า”ดร.สุรสม  กฤษณะจูฑะ

ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่ภัยพิบัติ

คนนับร้อยออกเดินเท้าไปตามถนนของตัวเมืองวารินชำราบ  เดินผ่านหน้าจ่าเฉยโดยไม่ได้แยแส  แต่ไม่ลืมที่จะโบกธงกระดาษสีขาวเล็ก ๆ ไปตลอดทาง  ป้ายข้อความขนาดใหญ่ที่ต้องจับช่วยกันสองด้านถูกถือนำหน้าขบวน  นี่คือกิจกรรมเดินรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลกเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา  โดยเครือข่ายจัดการภัยพิบัติ เครือข่ายที่ดินที่อยู่อาศัยและเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  งานนี้จะถูกจัดขึ้นมาทุกปีโดยหมุนวนพื้นที่จัดกันไป  สำหรับประเด็นหลักของปีนี้พวกเขาพูดถึงการขับเคลื่อนเพื่อที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในเขตชุมชนพิเศษในพื้นที่ภัยพิบัติ  จึงเห็นทิศทางของข้อความบนป้ายที่อยากนำเสนอเรื่องความเดือดร้อนจากการอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากและพวกเขาก็อยากมีที่อยู่อาศัยที่สามารถเผชิญกับน้ำท่วมได้ดีโดยไม่ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น

จำนงค์  จิตนิรัตน์   กรรมการมูลนิธิชุมชนไท บอกว่ากว่า 40 ปีที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก  โดยให้สมาชิกกว่าสองร้อยประเทศได้ไปสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยภายในประเทศตัวเอง  ซึ่งปีนี้ UN รายงานว่าในหลายประเทศมีการจัดการกับปัญหาได้ดีพอสมควรแต่ยังไม่มีความมั่นคงอยู่ดีรวมถึงประเทศไทยด้วยโดยเฉพาะในพื้นที่ภัยพิบัติ

“ที่ผ่านมาการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำตาม พรบ.ปี2550 โดยมีขั้นตอนคือ  ประกาศเตือนภัย ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติหลังจากนั้นจึงจะสามารถตั้งงบประมาณช่วยเหลือได้  ซึ่งบางครั้งมันไม่เป็นไปตามความจริงเช่นบางชุมชนอยู่ในพื้นที่ต่ำมากและถูกท่วมไปก่อน  ส่วนบางชุมชนยังท่วมไม่ถึงก็ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติไม่ได้ เมื่อประกาศไม่ได้ก็ตั้งงบช่วยเหลือไม่ได้ทำให้ชุมชนที่ถูกท่วมไปก่อนหน้านี้ไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที  ปีนี้ประชาชนจึงมีข้อเสนอว่ารัฐบาลจะต้องมองพื้นที่ภัยพิบัติซ้ำซากให้เป็นพื้นที่พิเศษ  แล้วให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งมาดูแลโดยภาคประชาสังคมต้องมีส่วนร่วมด้วย  และอย่างน้อยต้องมีรองนายกฯ เป็นประธานเพราะเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง”จำนงค์  จิตนิรัตน์

เครือข่ายชาวบ้านที่มาร่วมงานในวันนี้เป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาอุทกภัยเช่นเดียวกับชุมชนน้ำท่วมซ้ำซากในอุบลราชธานี  พวกเขาตั้งความหวังว่าภาครัฐจะมีทิศทางการแก้ปัญหาให้เป็นไปตามสภาพที่เกิดขึ้นจริง  อย่างเช่น ต้องยอมรับว่ายังไงชาวบ้านก็ไม่สามารถย้ายออกไปอยู่ที่อื่นได้แล้ว  และการมอบเงินและของเยียวยาทุกปีไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านต้องการที่สุด แต่มันคือบ้านที่เหมาะสมกับสภาพธรรมชาติมากกว่าที่พวกเขาต้องการ  ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาชุมชนริมฝั่งมูลร่วมกับหลายหน่วยงานได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่หลายอย่าง  มันอาจไม่ใหม่ในที่อื่นแต่มันใหม่สำหรับพวกเขา  โดยหลัก ๆ พวกเขาจะสร้างอะไรก็ตามที่ลอยขึ้นตามระดับน้ำได้ เช่น แปลงผักลอยน้ำ สุขาลอยน้ำ  หรือบ้านลอยน้ำ 

บ้านลอยน้ำคือประเด็นหลักที่ทุกคนสนใจ  เพราะมันคือปัจจัยหลักที่จะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ในระหว่างที่น้ำท่วม  ที่ชุมชนหาดสวนสุขพวกเขามีสิ่งก่อสร้างลอยน้ำอยู่ 2 หลัง หลังแรกใช้เป็นร้านค้าสวัสดิการชุมชน  ซึ่งใช้งานได้ดีในช่วงที่มีน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว  อีกหลังเป็นเป็นแพลอยน้ำที่เน้นใส่ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ต้องรีบขนออกมาจากบ้านมาพักไว้ตรงนี้ก่อน  บนแพจะมีอุปกรณ์หลายอย่างที่จำเป็นต้องใช้ในช่วงน้ำท่วมรวมไปถึงเตาเผาถ่าน  อันนี้ค่อนข้างน่าแปลกใจ  พวกเขาอธิบายว่าในแต่ละวันต้องมีการหุงหาอาหารเกิดขึ้น แหล่งพลังงานที่ต้องใช้เป็นของหายากในสภาวะนั้น  ซึ่งวัตถุดิบประเภทเศษไม้หาได้ง่ายในช่วงน้ำท่วม  หากมีเตาเผาถ่านเล็กๆ อยู่บนแพด้วยจะทำให้ชาวบ้านใช้ชีวิตอยู่ได้นานขึ้น  หรือหากเผาได้มากก็ขายสร้างรายได้ให้อีกทางในระหว่างรอน้ำลด

นอกจากจากนี้แต่ละชุมชนยังมีการฝึกผลิตเรือท้องแบนจากไฟเบอร์กลาสไว้ใช้ยามฉุกเฉิน  หากแต่ช่วงเริ่มสามารถทำได้แค่ลำเล็ก ๆ ชุมชนละ 1 ลำเนื่องจากมีงบประมาณไม่มากนัก  เช่นเดียวกับบ้านลอยน้ำที่มีแค่บ้านตัวอย่างแค่นั้น  เพราะบ้านลอยน้ำหลังเล็ก ๆ  ต้องใช้เงินประมาณ 1-2 แสนบาท เงินจำนวนนี้กับสภาพความเป็นจริงของคนที่อยู่ตรงนั้นคงไม่ต้องอธิบายว่ามีหรือเปล่า

พวกเขาวางแผนจะยื่นข้อเสนอเหล่านี้ถึงรัฐบาลโดยตรงผ่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่เป็นคนจังหวัดอุบลราชธานีและดูแลเรื่องภัยพิบัติโดยตรง  แต่สุดท้ายได้ยื่นผ่านตัวแทนของตัวแทนอีกชั้น  ซึ่งหวังว่าเรื่องทั้งหมดจะไปถึง

ท้ายที่สุด เราจะอยู่ร่วมกับน้ำท่วมอย่างไร

คงต้องยอมรับว่า  น้ำจะท่วมเมืองอุบลฯอีกแน่นอน  เราไม่สามารถกำหนดธรรมชาติให้เป็นอย่างที่ใจต้องการได้  แม้แต่การระบายน้ำจากเขื่อนที่มีคนกำหนดได้แต่ชาวบ้านก็กำหนดไม่ได้อยู่ดี  ทุกวันนี้มุมมองต่อเรื่องนี้ของชาวบ้านเปลี่ยนไปมาก  การฟูมฟายเมื่อภัยมาไม่มีให้เห็นอีกแล้ว  เหลือแต่รอยยิ้มที่ยอมรับสภาพและการลุกขึ้นมาสร้างเกราะป้องกันตนเอง

“เมื่อก่อนเวลาน้ำท่วมเราก็รอแต่เรือของหน่วยงานซึ่งกว่าจะได้มาก็ต้องรอคิวนาน  ตอนนี้ที่ชุมชนเลยคิดกันว่าจะหาเงินมาสร้างเรือใช้เองและได้ขอความอนุเคราะห์ชุมชนคูสว่างที่เขาทำเรือเป็นแล้วช่วยสอนให้  ตอนนี้คนในชุมชนของเราทำเป็นแล้วและสร้างได้ 1 ลำ  อนาคตถ้ามีเงินก็จะสร้างเพิ่มอีก  เราต้องลุกขึ้นมาสู้เพื่ออยู่กับน้ำให้ได้”บุญทัน เพ็งธรรม

“แล้งสิบปีก็ไม่เท่าน้ำท่วมปีเดียว  ผมคิดว่าวิธีแก้ปัญหาง่ายมากคือการระบายน้ำออกไม่ต้องอ้างเรื่องต่าง ๆ แล้วค่อยกักหลังเดือนกันยายนก็ทัน  ถ้าหากทำไม่ได้ชาวบ้านก็คงต้องทำใจ”สถาพร ศรีแย้ม

“เราต้องเปลี่ยนชุดความคิดใหม่  แทนที่เราจะเอาน้ำออกหรือทำคลองผันน้ำออกไป  ลองมองในแง่ดีว่าเราจะได้น้ำมาเพื่อทำอย่างอื่น  อันนี้ได้แนวคิดจากชุมชนราชธานีอโศกที่เขาจัดงานฉลองน้ำ  ในขณะที่คนอื่นทุกข์ยาก  รอถุงยังชีพ น้ำท่วมแล้วทำมาหากินไม่ได้  แต่ชาวอโศกทำแพ  ปลูกผักลอยน้ำ  ใช้ชีวิตในน้ำอย่างสนุกสนาน  หากเอาเรื่องนี้มาคิดต่อยอดกักน้ำไว้แล้วทำสิ่งปลูกสร้างทุกอย่างให้ลอยน้ำ  ทำตลาดน้ำให้คนทั่วโลกมาเที่ยว  แทนที่จะเอางบ 4 หมื่นล้านไปทำคลองผันน้ำออก  ก็เอามาสร้างบ้านลอยน้ำให้ชาวบ้านแทน แล้วเราก็ไม่ต้องมาทุกข์เวลาน้ำท่วม”สุชัย เจริญมุขยนันท

“คนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากมีหยิบมือเดียว  แล้วนับเขาเป็นคนอุบลฯ ไหม  พวกเขาเลือกที่จะอยู่ตรงนั้นบนทางเลือกที่มีจำกัด  วันหนึ่งคุณก็บอกว่าให้พวกเขาย้ายออกไปเพราะว่าตรงนั้นเป็นพื้นที่น้ำท่วม  แต่คุณมีทางเลือกที่ดีให้กับพวกเขาหรือไม่  โจทย์ที่ว่าเราจะอยู่กับน้ำได้อย่างไรมันไม่ใช่แค่เรื่องการอยู่กับน้ำ  แต่มันเป็นการสร้างเมืองอุบลฯ ที่สร้างเพื่อใครและเพื่ออะไร  ถ้าสร้างเพื่อให้ตอบโจทย์ทางธุรกิจเราก็จะมีแต่ถนนหนทาง มีรถไฟรางคู่หรือมีแต่ตึกใหญ่โต  แล้วคนเล็กคนน้อยจะอยู่อย่างไรเราเคยออกแบบเมืองสำหรับคนเหล่านี้ไหม  ถึงเราจะพัฒนาเศรษฐกิจเมืองอุบลฯ ไปมากเท่าไหร่ก็ตาม  แต่เราก็ไม่ควรละเลยกลุ่มคนจนที่มีทางเลือกน้อยเหล่านี้เอาไว้ข้างหลัง”ดร.สุรสม  กฤษณะจูฑะ

แชร์บทความนี้