อยู่ดีมีแฮงโสเหล่ ชวนฉายภาพและพูดคุยให้เห็นนครน้ำแห่งอีสานใต้ของประเทศไทยที่ได้พบเจอในปีที่ผ่าน ๆ มา กับการเตรียมความพร้อมในการรับมือและใช้ชีวิตอย่างใรในห้วงเวลาเช่นนี้ ในงานเสวนาเรื่อง “ภัยพิบัติในจังหวัดอุบลราชธานีกับของบริจาคที่จำเป็น” วันที่ 17 สิงหาคม 2567 ณ ลานกิจกรรมชั้น 3 ห้างสุนีย์ทาวเวอร์ จ.อุบลราชธานี โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ คุณประวิทย์ ตอพล โปรดิวเซอร์และผู้กำกับสารคดีอุทกนคร และ อาจารย์ ดร. สุรสม กฤษณะ จูฑะ นักวิจัยโครงการการวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจน จ.อุบลราชธานี ดำเนินวงเสวนา โดย คุณวลัยลักษณ์ ชมโนนสูง เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายสื่ออาวุโส Thai PBS
เบิ่งหนัง ทวนความทรงจำกับอุทกนคร
สารคดี 19 นาที โดยคุณประวิทย์ ตอพล ได้ฉายภาพให้เห็นน้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานี ในปี 2566 โดยมีการเปรียบเทียบการท่วมในปี 2545, 2562 และ2565 ด้วย เป็นความจริงของน้ำในพื้นที่กับผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วม และการเข้ามาของกลุ่มผู้คนที่อาสาในการช่วยเหลือผู้คนประสบภัยดังกล่าว อาทิ
Super Open Chat Line เตือนภัยพิบัติอุบลราชธานี โดยคุณสุชัย เจริญมุขยนันท กล่าวถึงการเปิด Super Open Chat ว่า กลุ่มผู้คน 90 % เป็นคนที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ไม่ได้มีการจัดตั้งใครเข้ามา เราทำหน้าที่แค่ให้ข้อมูล แล้วผู้คนนำไปประมวลเอง เป็นรูปแบบ Model ของการร่วมกันหาทางแก้เป็นปัญญารวมหมู่ เป็น Open Chat Line ที่ไม่ได้มีรายได้ใด ๆ เราเป็นสื่อก็ใช้สื่อเพื่อสร้างสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้
อาสาสมัครป่วยให้ยืม โดย มูลนิธิกระจกเงา เล่าว่า ร่วมกับเพื่อน 5-6 คน ทำหน้าที่ช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระให้กับผู้คนที่ประสบภัย หาสิ่งของมาแบ่งปัน ช่วยล้างบ้าน ช่วยจัดของและขนย้ายผู้ป่วยและหาอุปกรณ์ช่วยเหลือต่าง ๆ ช่วยเหลือในสิ่งที่เราทำและช่วยเหลือได้ เราทำแล้วมีความสุขที่ได้เห็นคนที่เราไปช่วยเหลือแล้วทำให้เกิดพลัง ทำให้มีพลังในการทำต่อไปเรื่อย ๆ
นักศึกษาที่ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือ กล่าวว่า คุณยายที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาลแล้วได้มีแต่ของบริจาคจากหน่วยงานเพียงไม่กี่ชิ้น เห็นแล้วทำให้เดินร้องไห้ เป็นภาพที่หดหู่มากที่ได้พบเจอแบบนั้น ควรต้องมีหน่วยงานที่เข้ามาเยียวยามากกว่านี้
ที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ดี โดย กรรมการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า ควรต้องมีคณะกรรมการที่ขับเคลื่อนเรื่องปัญหาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของผู้ประสบภัย
คุณภาพชีวิต โดย เครือข่ายอาสาสมัครชุมชนป้องกันภัยพิบัติจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า คงไม่มีใครอยากทิ้งบ้านเรือนของตัวเองที่ประสบภัยหรอก แต่คงต้องมีการยกพื้นบ้านเรือนให้สูงขึ้น บ้านลอยน้ำ
สื่อมวลชนท้องถิ่น (อุบลคอนเนก) กล่าวว่า เปลี่ยนเมืองอุบลที่อยู่กับน้ำ หากน้ำมาให้น้ำมันอยู่ได้ ไม่ต้องไปไหน ทำน้ำตกธรรมชาติ ทำตลาดน้ำ ทำแพ ทำบ้านลอยน้ำ ทำทิวทัศน์ที่คนทั้งโลกมาดูว่านี่คือจุดใหม่ที่อยู่กับน้ำอย่างมีความสุข อาจารย์สาขาวิชานวัตกรรมการพัฒนาสังคม คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า หากสร้างเมืองอุบลเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ ก็ต้องสร้างถนน รถไฟรางคู่ ตึกใหญ่โตมโหฬาร เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ แล้วชีวิตผู้คนตัวเล็กตัวน้อยจะอยู่อย่างไร เราเคยออกแบบให้ผู้คนเหล่านี้บ้างไหม มีการบริหารจัดการน้ำเพื่อนึกถึงกลุ่มคนเหล่านี้บ้างหรือไม่ ต่อให้เราพัฒนาเศรษฐกิจเมืองอุบลให้โตขึ้นมากเท่าไรก็ตาม เราไม่ควรละเลยกลุ่มคนจนหรือเดือดร้อนจากภัยพิบัติ
ความจุกอกในใจ ของผู้ถ่ายทอดสารคดี อุทกนคร
คุณประวิทย์ ตอพล โปรดิวเซอร์และผู้กำกับสารคดีอุทกนคร สะท้อนให้ฟังว่า ในฐานะที่เป็นคนอุบล และทำสื่อในพื้นที่อยู่แล้ว ก็อยากบันทึกเก็บเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง เพราะบางทีข่าวจากส่วนกลางที่นำเสนอไปอาจดูไม่ค่อยตรงตามความจริงเท่าไรนัก หรือมีการนำเสนอในส่วนที่ไม่ได้เดือดร้อนจริงก็เป็นได้ ซึ่งเราลงพื้นที่ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของผู้คนเหล่านั้นได้จริงจากที่ได้พูดคุย และเราไม่ได้ประทับใจเลยในการถ่ายทำสารคดี แต่มันรู้สึกจุกข้างใน ที่ได้เห็นน้ำตาของคนที่ประสบภัยเหล่านั้น รู้สึกหดหู่มากกว่าที่ได้เห็นความทุกข์ของผู้คน จุกอกมาก ๆ ที่เราได้แต่รับรู้แต่ช่วยเขาไม่ได้ ทำให้เราได้แต่รับรู้และถ่ายทอดช่วยไปเท่านั้น
เรามีความพร้อมแค่ไหนในการรับมือกับน้ำท่วม
ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ นักวิจัยโครงการการวิจัยการพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจน จ.อุบลราชธานี สะท้อนว่า เราไม่ควรตั้งคำถามว่า อุบลจะท่วมหรือไม่ท่วม หรือท่วมมากน้อยแค่ไหนในปีนี้ แต่ควรตั้งคำถามว่า เรามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนในการรับมือกับอุทกภัยมากกว่า
14 วันข้างหน้า น้ำจะท่วมอุบลฯ
คุณประวิทย์ ตอพล โปรดิวเซอร์และผู้กำกับสารคดีอุทกนคร สะท้อนให้ฟังเพิ่มเติมอีกว่า ก่อนหน้าที่จะมีน้ำท่วม ชาวบ้านต้องรับฟังหน่วยงานที่ประกาศสถานการณ์ต่าง ๆ ว่าจะมีน้ำท่วมช่วงไหน อย่างไร แต่ในรอบปีที่ผ่านมา ชาวบ้านเริ่มรู้สึกไม่กังวลมากนักแล้ว เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญการประกาศจากหน่วยงานเหล่านั้น กลับมาให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมชาติมากขึ้น เช่น สังเกตจากมด จากแมลง เป็นต้น
เต็มใจให้ ที่ไม่ต้องรอให้เกิดเหตุแล้วจึงมีโครงการ
ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ นักวิจัยโครงการการวิจัยการพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจน จ.อุบลราชธานี สะท้อนเพิ่มเติมว่า เราทำโครงการนี้ “เต็มใจให้” ร่วมกับห้างสุนีย์ทาวเวอร์ โดยที่ชั้น 3 ของห้างสุนีย์ทาวเวอร์ อุบลราชธานี มีกล่องไว้รับบริจาค สิ่งของที่เหมาะจะแบ่งปัน ของเล่นเด็ก หรือหนังสือต่าง ๆ รวมทั้งของใช้มือสองที่มีสภาพดี โดยในช่วงที่ผ่านมา เรารอรับบริจาคในตอนที่น้ำท่วมแล้ว เลยคิดว่าทำไมเราไม่ทำไว้เลยโดยไม่ต้องรอให้เกิดเหตุนั้น ๆ แล้วค่อยทำ
รับฟังการสะท้อนของทุกภาคส่วน
นายชัชวาล เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ตั้งใจมารับฟังการสะท้อนความทุกข์ร้อนภัยพิบัติต่าง ๆ ที่มีของคนอุบลราชธานี เพื่อจะได้นำไปประชุมปรึกษาหารือและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและหาวิธีการในการแก้ไขได้ต่อไป
อยู่ดีมีแฮงโสเหล่ กับวงเสวนา เรื่อง “ภัยพิบัติในจังหวัดอุบลราชธานีกับของบริจาคที่จำเป็น” เป็นการพูดคุยให้เห็นสภาพจริงของภัยพิบัติจากน้ำท่วมในปีที่ผ่าน ๆ มา ผ่านรูปแบบสารคดีและชวนพูดคุยให้เห็นถึงเรื่องราวนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร มีการสะท้อนมุมมองและหาทางออกร่วมกัน ที่ไม่ได้ต้องรอให้เกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยดำเนินการ แต่เป็นรูปแบบการเตรียมพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติอย่างเข้าใจและมีสติ เห็นสิ่งที่เหมือนกันในทุกด้านกับเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาและพร้อมที่จะอยู่กับน้ำได้
เรื่องโดย : ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์ : สื่อชุมชนคนชายแดนไทย-กัมพูชา