ปัญหาฝุ่น PM2.5 กับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ : ความเหลื่อมล้ำและความท้าทายที่ต้องแก้ไข
ในปี 2568 ประเทศไทยตั้งเป้าหมายชัดเจนที่จะจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วยการวางกรอบแนวทางล่วงหน้า 5 ปี พร้อมผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด เพื่อสร้างระบบการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ แม้จะมีความพยายามจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับสะท้อนถึงช่องโหว่ในกระบวนการและความซับซ้อนของปัญหาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 จะลดลงในเร็ววัน
กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ : การทบทวนและการขยายกรอบการดูแล
เมื่อฝุ่น PM2.5 ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนต้องเผชิญ การดูแลผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในมิติสุขภาพ กลายเป็นสิ่งที่ต้องได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้น แม้ว่าปี 2565 นโยบายสุขภาพเคยถูกยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่เมื่อพิจารณาการดำเนินงานที่ผ่านมา กลับพบว่า การดูแลกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบยังคงมีข้อจำกัด นิยามของกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วย เด็ก และผู้สูงอายุ ไม่ครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงในหลายมิติ
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ กลุ่มคนจนเมือง ซึ่งรวมถึงไรเดอร์ส่งอาหารและแรงงานกลางแจ้ง ที่ต้องเผชิญมลพิษตลอดทั้งวัน คนกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม แม้พวกเขาจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คนจนเมือง: กลุ่มผู้ถูกมองข้าม
กลุ่มคนจนเมือง เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบที่ยังไม่มีมาตรการรองรับอย่างเหมาะสม หนึ่งในนั้นคือ ไรเดอร์ส่งอาหาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องทำงานบนถนนตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นฤดูฝุ่นหรือไม่ พวกเขายังคงต้องเจอกับมลพิษ เช่น ควันรถและฝุ่นจากการก่อสร้าง
พี่กบ (พิเชษฐ์ ไชยวงค์) ผู้ก่อตั้งสมาคมไรเดอร์ภาคเหนือเชียงใหม่ เล่าว่า ในเชียงใหม่มีไรเดอร์ประมาณ 4,000 พันคน โดยกว่า 90% ทำงานแบบฟูลไทม์ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ซึ่งแตกต่างจากภาพเดิมที่ไรเดอร์เคยเป็นเพียงงานเสริม รายได้ที่ได้รับขึ้นอยู่กับจำนวนออเดอร์ที่ทำสำเร็จ บางคนต้องทำงานถึงวันละ 12 ชั่วโมง จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะต้องเผชิญฝุ่นและมลพิษตลอดทั้งวัน โดยไม่มีทางเลือก
ไรเดอร์: แรงงานที่ยังไม่มีสถานะชัดเจน
หนึ่งในปัญหาหลักของไรเดอร์ คือสถานะทางกฎหมายที่ไม่ชัดเจน แม้พวกเขาจะเป็นผู้ใช้แรงงาน แต่กลับไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานในปัจจุบัน ด้วยลักษณะงานที่อิสระ เช่น การเลือกรับงานหรือกำหนดเวลาทำงานเอง ส่งผลให้พวกเขาไม่มีสิทธิในการต่อรองค่าตอบแทนหรือรับการสนับสนุนด้านสุขภาพ
พี่กบเล่าว่า ช่วงแรก ๆ ไรเดอร์ไม่ได้มีปัญหาเรื่องนี้ เนื่องจากงานยังเป็นเพียงพาร์ทไทม์ แต่เมื่อคนเริ่มทำงานนี้เป็นอาชีพหลัก สิทธิต่าง ๆ ที่ควรได้รับ เช่น การประกันสุขภาพหรือการคุ้มครองแรงงาน กลับยังไม่มี การจัดตั้งสมาคมไรเดอร์ภาคเหนือเชียงใหม่ในเดือนตุลาคม 2567 เป็นก้าวสำคัญในการเรียกร้องสิทธิและความคุ้มครองให้กับกลุ่มคนทำงานนี้
ความเหลื่อมล้ำในการเผชิญปัญหาฝุ่น
“ทุกคนได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 แต่ไม่เท่ากัน” ดอย (เริงฤทธิ์ ละออกิจ) ผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานบาริสต้าประเทศไทย กล่าวไว้ได้อย่างน่าสนใจ เขาอธิบายว่าความรุนแรงของปัญหามลพิษนี้ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจ ยิ่งจนเท่าไหร่ ยิ่งได้รับผลกระทบหนักขึ้น เช่น ค่าหน้ากากกันฝุ่น PM2.5 ซึ่งราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาท หากผู้มีรายได้ขั้นต่ำวันละ 350 บาท ค่าหน้ากากจะคิดเป็น 10% ของรายได้ แต่สำหรับคนที่มีรายได้ 3,500 บาทต่อวัน ค่าใช้จ่ายนี้จะลดลงเหลือเพียง 1%
ดอยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ความเหลื่อมล้ำในการเผชิญปัญหา ซึ่งสะท้อนถึงความจำเป็นในการจัดการที่ครอบคลุม เช่น การแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันที่มีคุณภาพเท่ากันสำหรับทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นแรงงานกลางแจ้ง เด็ก หรือผู้สูงอายุ
ข้อเสนอ: การดูแลที่เท่าเทียมและครอบคลุม
ในเมื่อปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในทันที การดูแลผู้ได้รับผลกระทบควรเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม เช่น การแจกหน้ากากคุณภาพสูง การสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นในชุมชน และการให้การสนับสนุนแรงงานที่ต้องทำงานกลางแจ้ง
ฝุ่น PM2.5 เป็นมากกว่าปัญหาสุขภาพ แต่มันสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำในสังคม การแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องพิจารณาทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อมและการดูแลคนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งไม่ใช่เพียงการลดฝุ่น แต่เป็นการสร้างระบบที่เท่าเทียม เพื่อให้ทุกคนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมเดียวกันได้