เปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิล ด้วย Green Energy : ดร.นุวงศ์ ชลคุป

รู้หรือไม่ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 70% มาจากภาคพลังงาน ทั้งการผลิตไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง รองลงมาคือ ภาคเกษตร เปรียบเทียบกับแผนปฏิบัติการของไทยหลังจากเข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) พิธีสารโตเกียว (Conference of the Parties: COP) และความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่กำหนดมาตรการการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ไทยเองได้ตกลงเข้าร่วมเมื่อปี 2559 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศหมุดหมายจะดำเนินตามเป้าการเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emissions)  ภายในปี 2065 ไว้ในแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567-2580 (AEDP2024)

กลับมาที่ไทยเองมีการวางแผนแนวทางการเปลี่ยนผ่านโดยเฉพาะภาคพลังงาน (Energy Transition) ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากสุด จากเดิมที่พึ่งพาการใช้ฟอสซิลมาสู่พลังงานทางเลือกมากขึ้นนั้นไว้อย่างไร งานชิ้นนี้ชวนคุยกับ ดร.นุวงศ์ ชลคุป จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถึงทิศทางที่ประเทศไทยจะไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำนั้นจะมีแนวทางไหน และประชาชนจะต้องเตรียมตัว รับมืออย่างไรในอนาคต

ภาพรวมการเปลี่ยนผ่านพลังงานในไทยถึงไหนแล้ว

ในนามของ​​กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้มีการจัดตั้งส่วนของหน่วยรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ (ววน.) ด้านคาร์บอนต่ำและสิทธิหมุนเวียน ซึ่งผมเป็นประธานคณะนี้ และศึกษางานวิจัยที่จะสามารถช่วยส่งมอบหรือส่งต่อในส่วนของการที่จะทำให้ประเทศไทยนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยจะประสานงานกับกระทรวงพลังงานซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายเป็นหลัก

ความท้าท้ายอันหนึ่งคือ ต้องทำให้สมดุลกันระหว่าง สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และ สังคม และการจะเป็นกลางทางคาร์บอนได้ คือต้องใช้พลังงานสะอาด ซึ่งปัจจุบันอาจจะมีต้นทุนมากกว่าพลังงานฟอสซิล แต่ด้วยเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนต่างๆ ก็เริ่มถูกลงเรื่อยๆ อย่างที่เห็นได้ชัดคือ โซลาร์เซลล์ ที่การติดตั้งและการผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนไม่แตกต่างจากการใช้พลังงานก๊าซหรือเชื้อเพลิงฟอสซิล 

ดังนั้นความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้การใช้พลังงานส่วนใหญ่ซึ่งเป็นฟอสซิลอยู่ไปเป็นพลังงานสะอาด ทั้งจากแสงอาทิตย์ ลม หรือส่วนพลังงานชีวมวล มาทดแทนตัวพลังงานจากฟอสซิลได้มากขึ้น โดยที่ไม่เพิ่มตุ้นทุนด้านพลังงานผลักให้เป็นภาระของประชาชนมากจนเกินไป

ตามเป้า COP26 ตอนนี้มีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วางแผนในส่วนของการลดก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง ทั้งส่วนพลังงาน การผลิตไฟฟ้า การใช้พลังงานในอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง

“นอกจากนี้มีความพยายามใช้ Nature Base Solution คือ คำตอบที่ใช้ในทางธรรมชาติอย่างการใช้พื้นที่ป่ามาดูดซับคาร์บอน ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในการดูดกลับประมาณ 120 ล้านตัน มาจากส่วนของพื้นที่ 120 ล้านไร่”

จะเห็นได้ชัดจากหน่วยงานระดับใหญ่หรือบริษัทมีการรณรงค์ปลูกต้นไม้มากขึ้น ซึ่งปลูกตอนแรกจะไม่สามารถดูดซับได้ทันที อายุอย่างน้อยต้องประมาณ 5 ปี แล้วก็ต้องมีต้นไม้ใหญ่พอสมควรในการที่จะดูดซับในส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

เป้าหมายการเปลี่ยนพลังงานของไทยและโลกภายในปี 2065

โดยเฉพาะภาคพลังงานต้องมีการปรับตัวให้เท่าทัน

ปัจจุบันกระทรวงพลังงานมีร่างแผน National Energy Plan หรือ แผนพลังงานแห่งชาติ ซึ่งมีหลายประเด็นในส่วนของการผลิตไฟฟ้า การใช้พลังงานหมุนเวียน การทำอย่างไรให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ กระทั่งการใช้น้ำมันซึ่งเป็นพลังงานหลักในปัจจุบันให้มีความสมดุลกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานให้เป็นกลางทางคาร์บอน

การเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ความเป็นการทางคาร์บอน มีการพูดถึงเรื่อง Just Energy Transition การเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม แบ่งเป็น 2 ประเด็นคือ การเปลี่ยนผ่านพลังงาน และต้องเป็นธรรม จะเห็นว่าเทคโนโลยีด้านการหมุนเวียนจะมีความซับซ้อนหรือมีมูลค่าสูงมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้แรงงานต่างๆ ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่มีการผลิตพลังงานทดแทนต้องปรับตัว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ปัจจุบันมีการใช้ยานยนต์ที่เป็นสันดาปภายในค่อนข้างเยอะบนท้องถนน ไม่ว่าจะรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ จะทำอย่างไรให้เหล่านี้กลายเป็นรถ EV ยานยนต์ไฟฟ้า ตรงนี้ก็ต้องมีการพยายามยกระดับความสามารถในส่วนของอุุตสาหกรรมผู้ผลิตยานยนต์ ซึ่งไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์สันดาปภายใน

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐช่วยสนับสนุนทำให้ราคา การจับต้องยานยนต์ไฟฟ้าถูกลง แต่นั่นหมายถึงว่าต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์  และยกระดับแรงงานที่ตอบกับอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ การผลิตส่วนของพาร์ทต่างๆ ต้องมีความร่วมมือกันพัฒนาให้มากขึ้น

อีกด้านกระทรวงพลังงานเข้ามาช่วยในส่วนของการบิดดิ้งเพิ่มสัดส่วนของการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าแสงแดด ลม โซลาเซลล์ ไอโอแก๊สคือ ก๊าซชีวภาพ หรือส่วนการลงทุนภาครัฐอย่างเช่นการการทำโซลาเซลล์บนเขื่อน เป็นการใช้พื้นที่ที่ไม่ใช้ประโยชน์ในการทำอย่างอื่น แต่ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของโซลาเซลล์คือ พื้นที่ ซึ่งตอนนี้ไปเกี่ยวข้องกับพื้นที่การเกษตร หรือส่วนที่่ต้องต่อเข้าสายนำส่งไฟฟ้าการผลิตในส่วนของโซลาเซลล์ กระทั่งส่วนความเร็วแรงลมประเทศไทยอาจจะไม่สเถียรมากขนาดนั้น ฉะนั้นต้องทำให้เท่ากันระหว่างพลังงานที่คงกับไม่คงที่

ท้องถิ่น ประชาชนเกี่ยวข้องอย่างไร

จากแผนพลังงานของกระทรวงพลังงานจะมีนโยบาย 4D กับ 1E คือ DIGITALIZATION,   DECARBONIZATION, DECENTRALIZATION, DE-REGULATION  และ ELECTRIFICATION เป้าคือพยายามกระจายตัวพื้นที่การผลิต เพราะเดิมถ้าทำเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ต้องดึงส่วนทรัพยากร (resource) เข้ามาที่เดียวแล้วกระจายตามสายส่ง

ฉะนั้นการกระจายแต่ละส่วน จะทำให้เกิดความร่วมมือจากชุมชนไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนที่การพยายามผลักดันขึ้นมา การแบ่งกันในส่วนของผลประโยชน์มากขึ้นของชุมชน รวมถึงสัดส่วนการใช้แรงงาน ทรัพยากรขยะชุมชนนั้นๆ

จากนโยบายจะมีทั้งการยกระดับโครงข่ายไฟฟ้าให้เป็น smart grid   ระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage System) เชื่อมโยงโรงไฟฟ้าระดับชุมชน ที่มาจากแสงอาทิตย์ ชีวภาพ และชีวมวล

เรื่องขยะ เป็นสิ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความร่วมมืออยู่แล้ว กระทรวงมหาดไทยที่ต้องจัดการสิ่งปฏิกูลหรือขยะที่เกิดขึ้น เรื่องของ tipping fee หรือค่าธรรมเนียมการทิ้งขยะ การเก็บแล้วต้องนำไปฝังกลบหรือไปผ่านกระบวนการเผาแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร เพื่อให้ได้สัดส่วนความร้อนและปั่นไฟเชิงของการผลิตไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานทดแทนการใช้ฟอสซิล

นอกจากนี้มีการพยายามเปลี่ยนในส่วนของ Waste to Energy การผลิตพลังงานจากขยะ จะเห็นว่ามีโรงไฟฟ้าขยะซึ่งแน่นอนขยะต้องมีการจัดการ ถ้าไม่ทำอะไรก็เกิดการหมักหมม ปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งจะมีอนุภาคทำลายล้างในส่วน climat change มากกว่าคาร์บอนไดออไซด์ประมาณ 25 เท่า

ดังนั้นการทำ Waste to Energy จะได้ประโยชน์ 2 เด้งคือ หนึ่งจัดการขยะ ลดการปล่อยก๊าสมีเทนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจก และสองสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ด้วย ซึ่งต้องมีการทำกับหลายๆ หน่วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้แต่ชุมชนซึ่งทุกชุมชนมีขยะ จะจัดการขยะอย่างไรให้ถูกเหมาะสม สะอาด และนำมาทำในส่วนของพลังงานได้

กระบวนการทำ Waste to Energy

อปท. เองมีความร่วมมือกับเอกชน ชุมชนที่เกิดขึ้น เพราะกลไลที่ทางภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทยทำงานร่วมกัน ตัวอย่างเรื่องการติดตั้งโซล่ารูฟท็อป หรือ ระบบผลิตไฟฟ้าบนหลังคา ซึ่งจะไปปลดล๊อคการขอใบอนุญาตของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เดิมอาจมีข้อจำกัดเรื่องการผลิตไฟฟ้าในบ้าน ตามนิยามของแนวอุตสาหกรรม ฉะนั้นสิ่งนี้จะช่วยให้เกิดการผลิตหรือสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการติดตั้งโซล่าผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง ลดการใช้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานฟอสซิล

อีกมุมของกระทรวงอว. มีหน่วยงาน projectment unit ที่ให้ทุนกับพื้นที่หรือเรียกว่า บพท. เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ หน่วยบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ประเด็นด้านพลังงานคาร์บอนต่ำ ก็ทำงานร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้ประเด็นด้านพลังงานมีการตระหนักและมีส่วนร่วมจากชุมชนมากขึ้น

ตรงนี้ทีมมีการสำรวจด้านศักยภาพชีวมวลหรือการผลิตพลังงานขยะ พยายามสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับภาคอุตสาหกรรม แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทที่ไปร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกำหนดว่าปริมาณวัตุดิบที่เก็บจากด้านเกษตร ซึ่งมีความแตกต่างในแต่ละภาคส่วน หรือกระทั่งขยะเองก็ขึ้นอยู่ขนาดประชากรจะมีความเหมาะสมกับการลงทุนของภาคเอกชนที่เรียกว่า PPB ไหม

“โดยการรับซื้อไฟในส่วนของพลังงานทดแทนในราคาที่สูงขึ้นเพื่อเป็นสิ่งจูงใจ (incentive) ให้มีการร่วมมือกันกับในส่วนของภาคประชาชนแล้วก็ภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม โดยมีรัฐเป็นคนวางกรอบเกณฑ์ตรงนี้ขึ้นมา”

จะสังเกตเห็นว่ามีเรื่องของ เมืองคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon City) มีการลง pilot ทำให้เห็นว่านอกจากกิจกรรมต่างๆ ที่ชุมชนทำอยู่ยังสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร โดยมีกลไก finance หรือทางด้านการเงินเข้ามาช่วยขับเคลื่อน ซึ่งในแผนนววน.ปัจจุบัน ปี 66-70 ได้มีการประสานส่วนของความร่วมมือกับกรมมลพิษให้เกิดขึ้นด้วยเหมือนกัน 

ซึ่งไม่ใช่ประเด็นด้านพลังงานอย่างเดียว แต่รวมถึงเรื่องขยะ ประเด็นการรับรู้ สังคม เศรษฐกิจด้วย อย่างน้อยเราพยายามจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในพื้นที่ทุกที่ โดยที่ไม่ต้องมีการพยายามให้คนเป็นแรงงานที่เมืองใหญ่อย่างเดียว ตรงนั้นก็เป็นประเด็นที่ทางววน. พยายามช่วยในหลายมิติ

3 Tech พลังงานทางเลือก สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน 

ในบทบาทของสกสว. กระทรวงอว. มีการวางในส่วนของการจัดสรรเงินวัจยเพื่อสนับสนุนพื้นที่ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่พร้อมใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรม มีเอกชนเข้าไปลงทุน ซึ่งทางทีมที่ทำร่วมกันมีการคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ระบุไว้เป็น 3 ประเด็นหลักๆ 

อย่างแรกคือ ด้านเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือว่า SAF: Sustainable Aviation Fuel จะได้ยินว่าสายการบินจะแข่งเรื่องการทำอย่างไรให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น ซึ่งของไทยอยู่ในร่างแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก การผลิตของ SAF จะมาจากส่วนของน้ำมันที่ใช้แล้ว เช่น น้ำมันทำอาหารใช้แล้ว นำมาใช้ในส่วนของเครื่องยนต์ผสมได้ถึง 50% แต่ด้วยต้นทุนของการผลิต SAF ที่แพงกว่าน้ำมันอากาศยานในปัจจุบันอยู่ที่ 3 เท่า จึงยังมีสัดส่วนการใช้ที่ยังไม่มากนักแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

ประเด็นที่สองเรื่อง ไฮโดรเจน มีการพูดคุยเยอะมาก ประเทศไทยเองมีส่วนของไฮโดรเจนคลับคือ สมาคมทางด้านไฮโดรเจนที่มีภาคเอกชนนำเป็นหลัก ถามว่าทำไมต้องใช้ไฮโดรเจน เพราะไฮโดรเจนไม่มีตัวคาร์บอน ฉะนั้นถ้าเกิดการเผาไหม้ตัวไฮโดรเจนจะไม่มีคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา แต่การจัดการผลิตไฮโดรเจนที่สะอาดจะมีต้นทุนการขนส่งที่มากขึ้น เพราะเป็นก๊าซเบาติดไฟได้

ณ ตอนนี้ประเทศไทยมีการใช้ไฮโดรเจนแต่เป็นการใช้ไฮโดรเจนจากฟอสซิล  จะทำอย่างไรให้ให้ไฮโดรเจนมี carbon footprint น้อยลง  ซึ่งอาจจะพยายามใช้ในส่วนของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยในภาคที่ผลิตไฮโดรเจนมาใช้ใหม่ หรือเอาไฮโดรเจนตรงนี้ไปเป็นสารตั้งต้นผลิตไฮโดรคาร์บอนที่เป็นเชื้อเพลิงอื่นๆ 

สุดท้าย ทีมมองในส่วนของการได้พลังงานผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมต่ำ คือ การใช้ Small Modular Reactor หรือ SMR ถ้าพูดคือพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก จากประสบการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะที่ญี่ปุ่น เลยมีการออกแบบโรงงานผลิตไฟฟ้าไฮโดรเจนใหม่คือ SMR เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่อนาคตถ้าเกิดเหตุภัยธรรมชาติขึ้นก็จะทำให้ผลกระทบนั้นไม่มาก

SMR นี้จึงมีการออกแบบเมื่อเกิดสถานการณ์เหล่านี้ สามารถที่จะป้องกันตัวเองได้ พลังงานนิวเคลียร์ยังเป็นพลังงานทางเลือกทดแทนที่ต้นทุนต่ำสุด ณ ตอนนี้ ถ้าอย่างโซลาร์เซลล์ก็ยังมีความไม่เสถียร ในเรื่องของแสงแดดและกระแสลม ในแผนพลังงานผลิตไฟฟ้าประเทศไทยได้มีการกำหนดส่วนของ SMR ไว้ กำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์จำนวน 2 แห่งในประเทศไทยคือ ภาคอีสานกับภาคใต้

“เป็นอันที่ววน. เข้าไปช่วยการสื่อสาร สร้างความตระหนัก ความเข้าใจกับชุมชน เพราะอย่าลืมว่าชุมชนที่จะมีการรองรับสถานที่ติดตั้ง ต้องมีการทำความเข้าใจ เหมือนกับที่ดูแลในส่วนของชุมชนรอบโรงไฟฟ้าที่เกิดขึ้น”

จริงๆ ทั่วโลกจะเลี่ยงใช้คำว่านิวเคลียร์เพราะเป็นคำที่อ่อนไหวจากเหตุการณ์ที่ฟูกุชิมะ ญี่ปุ่น แต่ก่อนไทยเคยมีการบรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ทุกแผนยกเว้นแผนปัจจุบันที่กำลังมีอยู่เนื่องจากว่าเป็นแผนที่มีการทำประชาพิจารณ์ตรงกับช่วงฟูกุชิมะ เลยมีการเอาออก

ในส่วนของกระทรวงอว. มีส่งคนไปเรียนทางด้านด้านนิวเคลียร์นานมาก หลายๆ ท่านหรือปัจจุบันก็อาจจะเกษียณไปแล้วก็มี  ส่วนหน่วยงานหลักที่จะขับเคลื่อนด้านการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตก็มีแผนที่จะมีการพัฒนาคนของเขาเรื่อยๆ หรือส่วนของแผนการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นทางด้านตัวสถาบันนิวเคลียร์ที่อยู่ในส่วนของกระทรวงอว.เอง หรือส่วนของอาจารย์หลายๆ ท่านที่อยู่ในภาคนิวเคลียร์ ก็มีการสร้างความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี เพราะอย่าลืมว่าการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก ต่อให้มีความปลอดภัยอย่างไรก็ต้องมีการดูแลชิ้นส่วน เรื่องการดูแลถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นเจ้าของที่เอง จะใช้มันได้อย่างปลอดภัยอย่างไร

ทั้งปัจจุบันและอนาคต ไทยต่อจากนี้

ถ้าจะไปสู่ความเป็นการทางคาร์บอน สถานะการใช้พลังงานทดแทน ณ ตอนนี้ปี 2024 ยังใช้ไม่ถึง 20% เพราะปี 2025 ต้องใช้เกินกว่า 50% คือประมาณ 2.5 เท่า ซึ่งมาจากโซลาร์เซลล์เยอะที่สุด  ไม่ว่าจะการติดตั้งทางบ้านเรือน  ในโรงงานอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้าหรือออฟฟิศต่างๆ เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่มาจากพลังงานโซล่ามันจับต้องได้ ไม่แพงมากขนาดนั้นเมื่อเทียบกับค่าไฟที่ต้องจ่ายปัจจุบันซึ่งอยู่ประมาณ 4 บาทกว่าถ้าเป็นในส่วนของบ้านเรือน ฉะนั้นตรงนี้มีการขยายตัว

ตรงนี้ทางววน. จะไปตอบโจทย์ในส่วนของศูนย์พลังงานแห่งชาติที่ดูการจัดการกับผังที่ใช้แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้ในส่วนที่มีการผลิตพลังงานทดแทนกลายเป็นปัญหาทางด้านขยะอิเล็คทรอนิกส์ในอนาคต ให้มีการใช้ซ้ำ หรือส่วนภาคการเกษตรทำอย่างไรให้พื้นที่ที่สามารถปลูกทั้งพืชและผลิตไฟฟ้าได้ด้วย

อีกเรื่องคือ Waste Energy จากขยะ ทั้งขยะเปียก ขยะแห้ง หรือส่วนชีวมวลที่มาจากการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว มัน ยาง อ้อย กระบวนการผลิตและการแปรรูปไม่ต่างกันมาก  ซึ่งในส่วนของเหลือใช้จากกระบวนการนี้มีความพยายามนำมาเป็นแหล่งพลังงาน สำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้า

ส่วนสุดท้ายคือ การใช้น้ำเสีย เอาตรงนั้นมาเป็นมีเทนใส่ในเครื่องยนต์ มาผลิตไฟฟ้าได้ ตอนนี้โรงงานแปรรูปหรือภาคเกษตรมีการลงทุนในการเปลี่ยนน้ำเสียซึ่งเดิมต้องมีการดูแลน้ำเสียอยู่แล้วก่อนจะปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ให้กลายเป็นส่วนของแหล่งมีเทนเพื่อมาปั่นไฟฟ้าใช้ในโรงงานของตัวเอง

ในแง่เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทย ตามเป้าหมายของกระทรวงพลังงานจะต้องดูเรื่องความเหมาะสม อย่างโซล่าเซลล์ถึงจะมีราคาถูกแต่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ตรงนี้ทางการไฟฟ้าก็ช่วยในส่วนของการใช้พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานเช่นในเขื่อนมาทำโซลาร์ลอยน้ำ

อนาคตเองยังมองเรื่องของการบินน่าจะมาอย่างแน่นอน เพราะต่อให้ไทยไม่ทำกลไกบังคับ กลุ่มประเทศยุโรปเขาจะเริ่มปีหน้าแล้ว มีการบังคับสารเคมีที่บินเข้าออกในสนามบินยุโรปต้องมีการผสมของ SAF อีกอันมองเรื่องการบาลานซ์ของเชื้อเพลิงในภาคขนส่งเองมีความสำคัญ ไทยมีรถ EV ค่อนข้างเยอะก็แต่มีข้อจำกัดเรื่องระยะทางของการวิ่ง ในส่วนของรถบ้านน่าจะโอเคแต่รถบรรทุกที่ต้องวิ่งระยะทางไกล EV อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ เป็นอีกอันที่ต้องมาวางแผน sector ที่เป็นทั้งด้านขนส่งจะมีการเปลี่ยนในส่วนของ logistic fee อย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นที่ทางบริษัทขนส่งส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ

“เพราะว่าบริษัทไม่สามารถเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าได้ จึงพยายามหาเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่อาจจะเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งปัจจุบันยังมีข้อจำกัดการผสมอยู่ ตอนนี้ในศูนย์พลังงานแห่งชาติของพยายามทำเป็นกึ่งกลางฝั่งทางด้านไบโอดีเซลกับส่วนใช้น้ำมันพืชมาผลิตในส่วนของไฮโดรคาร์บอนเลย มีทำกับทางด้านหน่วยงานทางญี่ปุ่นอยู่”

นอกจากนี้มีการผลักดันสิ่งที่เรียกว่า Direct PPA การซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง คือ ปัจจุบันอาศัยว่าทุกคนต้องแบกภาระ มามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งบางครั้งชุมชนอาจมีความกังวลในเรื่องของราคาค่าไฟ เลยมีการทำส่วนของการซื้อไฟฟ้าโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นซื้อเก็บไว้เอง หรือ prosummer direct ppa อันนี้ก็จะเป็นอันต่อไปที่จะหารือกันว่าไม่ต้องให้ทุกคนมามีส่วนร่วมในการใช้พลังงานสีเขียว แต่สามารถแบ่งส่วนให้คนที่มีความต้องการจ่ายก็จ่ายไป ส่วนคนที่มีข้อจำกัดทางด้านรายได้ก็ใช้ในส่วนของตัวค่าไฟที่เข้าถึงได้

อย่างประเด็นเรื่อง PDP ตามหน้าข่าวก็ค่อนข้างเป็นประเด็นอ่อนไหว ประเด็นที่หลายๆ หน่วยงานมาคอมเม้นท์เรื่องแผนผลิตพลังงานไฟฟ้ามันเหมาะสมไหม ที่ผ่านมาด้วยแผนเก่าๆ มีการ over forecast ในส่วนของกำลังการผลิตไฟฟ้าค่อนข้างเยอะทำให้อาจจะมี margin ค่อนข้างเยอะ ซึ่งตรงนี้จะกลายเป็นต้นทุนที่ทุกคนต้องแบกรับตัวเรื่องของ Ft ต่างๆ

ข้อสังเกต ควรจับตาต่อเรื่องโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

ในส่วนของร่างแผนพีดีพีใหม่ ก็มีการปรับลดเรื่องตัวของประชากร เศรษฐกิจที่มีการชะลอตัวทำให้ margin ลดลง เพื่อจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจับต้องได้มากขึ้น ละก็ไม่เป็นประเด็นเรื่องของการที่จะขึ้น Ft อาจจะเป็นผลกระทบทุกคนใประเทศไทย แต่แน่นอนเราหลีกเลี่ยงการใช้สัดส่วนที่เป็นพลังงานทดแทนมันอาจจะมีต้นทุนที่มากกว่าจากฟอสซิล ซึ่งในระยะสั้นมีการจัดการบางอย่างโดยที่อาจจะเลือก priority การผลิตพลังงานไฟฟ้าขึ้นมาเพื่อสะท้อนต้นทุนไม่ให้สูงเกินไป แต่ระยะยาวการเข้ามาของ renewable electricities ก็จะมีมากขึ้นต้องมีการบาลานซ์กัน ตรงนี้ให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม


เรียบเรียง : อรกช สุขสวัสดิ์

สัมภาษณ์ : ธีรมล บัวงาม, แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง, กัณญาพัชร ลิ้มประเสริฐ

ภาพถ่าย : ธีรมล บัวงาม, กัณญาพัชร ลิ้มประเสริฐ

แชร์บทความนี้