เพราะบ้านคือที่ปลอดภัย

สูงวัย เดินไม่ได้ ลูกชายอีกคนก็เป็นโรคหัวใจ ความทุกข์ใจของหญิงผู้เป็นแม่ กับโจทก์ใหญ่ที่อยากจะพาทุกคนกลับมาอยู่บ้าน กับความยากของโคลนครึ่งขา   ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกลับไปยังบ้านที่เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัย

นี่คือสภาพบ้านของชาวบ้าน ในชุมชนฮ่องลี่ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย อยู่ริมแม่น้ำกก ที่นักท่องเที่ยวและคนเชียงรายรู้จักกันดีว่า “หาดเชียงราย”  ก่อนที่อาสาสมัครจะเข้าไป  ภาพที่เจ้าของบ้านส่งให้กับเรา ดูแล้วหลายคนคงปวดหัวที่จะเก็บกวาด คืนสภาพบ้านให้ดังเดิม

เที่ยงวันของวันที่ 15 กันยายน ทีมLocals ThaiPBS ได้อาสานำอาหารและน้ำดื่ม ร่วมกับมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ มาแจกจ่ายให้กับชาวบ้านผู้ประสบภัย และมีเรื่องบังเอิญเกิดขึ้นเมื่อเรามาเจอชุมชน บ้านฮ่องลี่ ที่อพยพมาพักอาศัย ที่ศาลาเอนกประสงค์วัดเม็งราย 

ชาวบ้านผู้ประสบภัยเล่าไปร้องไห้ไป ว่า แม้น้ำลดแล้วแต่ยังกลับเข้าไปในบ้านไม่ได้ เนื่องจากโคลนสูงมากและไม่รู้ว่าจะฟื้นบ้านกลับมาได้อย่างไร พร้อมกับเปิดภาพให้เราดู 

เช้าวันที่ 16 กันยายน มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ  ได้แจ้งเรามาว่าตอนนี้อยู่ระหว่างประสานงานกับ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11  พิษณุโลก สังกัดกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  ซึ่งทางหน่วยงานได้จัดส่งอาสาสมัคร 10 นาย รถแบคโฮ  และยังมีกลุ่มฮักลุ่มน้ำสรวย ชาวบ้านในเครือข่ายชุมชนเชียงราย ช่วยชาวชุมชนฮ่องลี่ในการจัดการโคลน

ประจวบกับศูนย์อำนวยการกลางของจังหวัดเชียงราย ซึ่งท่านประเสริฐ จิตต์พลีชีพ  รองผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะรองผู้อำนวยการเหตุการณ์ของจังหวัดรับผิดชอบโซนชุมชนฮ่องลี่ ได้ประเมินสถานการณ์และเร่งนำกำลังพล องค์กรปกครองท้องถิ่นนำรถน้ำเข้าสมทบอย่างเร่งด่วน

ทีมLocals ThaiPBS เดินสำรวจชุมชนที่นี่ พบว่าบ้านทั้ง35 หลังบริเวณนี้ ถูกน้ำท่วมราว 2 เมตรทั้งชุมชน เมื่อน้ำลด  ทิ้งไว้เพียงคราบน้ำ พร้อมดินโคลนที่ทับถมข้าวของภายใน

ระหว่างเดินสำรวจ พวกเราได้แวะพูดคุยกับชาวบ้าน ป้าท่านนี้บอกว่า “หลังนี้บอก เพราะบ้านคือที่ปลอดภัย ยังไงก็ต้องกลับเข้าไปในบ้านแต่รอบนี้คงเสื่อผืนหมอนใบแล้วล่ะ”

ส่วนหลังนี้ลุงบอกว่า “ครั้งนี้คือบทเรียน ต่อไปหากได้ยินประกาศเตือนพวกเขาจะเตรียมตัวให้ดีกว่านี้”

และหลังนี้ “ลุงบอกว่า เกินกว่าประสบการณ์ที่เคยรับมือมา ทีวีเครื่องนี้ถูกซ่อนไว้บนหลังคา รอบนี้น้ำท่วมถึงหลังคา เช่นเดียวกันกับที่นอนและพัดลมที่ยกขึ้นสูงกว่า 2 เมตรก็ไม่พ้นน้ำ”

และนี่คือสภาพห้องครัวที่ลุงชี้ให้ดู สภาพเป็นแบบในภาพอย่างที่เห็น

รอบนี้เชียงรายหนักจริง เพราะรอหน่วยงานรัฐอย่างเดียวไม่ไหว ชาวบ้าน และมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุพร้อมด้วยคนในโซเชียลได้ร่วมบริจาคเงินให้จ้างรถแบคโฮ และแทรกเตอร์มาช่วยจัดการโคลนให้กับชาวบ้าน

นี่คือคำว่า “ช่วย” แบบไม่ต้องรอ

และทุกท่านอยากเป็นส่วนหนึ่งสามารถติดต่อได้โดยตรง ที่ น้องขวัญ เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ 0884272256 

แชร์บทความนี้