ช่วยกันจัดการกันเอง เทศบาลฯ ก็งานหนัก เราเห็นใจ สละเงินคนละเล็กละน้อยจัดการตัวเองไปก่อน…
ชุมชนฟ้าใหม่สามัคคี ชุมชนที่นี่โดนน้ำท่วมอย่างหนักไม่ต่างจากชุมชนเมืองอื่น ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ หลังน้ำลด ขยะเศษซากความเสียหายจากบ้านเรือนทยอยออกมากอง อยู่หน้าบ้าน จำนวนมาก
เวลาผ่านไปหลายวัน ขยะเศษซากความเสียหายจากน้ำท่วมเริ่มส่งกลิ่นเหม็น ชุมชนที่นี่หาวิธีการจัดการนอกจากกลิ่นแล้วการสัญจรก็ยากลำบากทำให้ต้องเร่งจัดการโดยที่ไม่รอหน่วยงานซึ่งภาระงานก็เยอะอยู่แล้วที่จะต้องฟื้นฟูทั้งเมือง
ไพรสณฑ์ สุขโชติ ประธานชุมชนฟ้าใหม่ร่วมใจสามัคคี บอกว่า ขยะเต็มถนนและเริ่มส่งกลิ่นเหม็นการเดินทางสัญจรยากลำบากบังเอิญว่าทางบ้านเตื่อมฝัน หรือศูนย์ฟื้นฟู และพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน มีการว่าจ้างรถแบคโฮ และรถบรรทุกดัมพ์ การขยะบริเวณชุมชน เลยเสนอมายังประธานชุมชนว่าหากชาวบ้านอยากจัดการขยะบริเวณชุมชนและหน้าบ้านจะร่วมกันได้หรือไม่ ไพรสณฑ์ บอกว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ได้เชิญชวนลูกบ้านว่าบ้านไหนเอาบ้างก็จ่ายกันคนละ 100 บาท ไปจนถึงหลัก 1,000 บาท เพื่อฟื้นฟูชุมชนของตัวเอง เพราะพวกเราเข้าใจว่าเทศบาลฯ กำลังคนน้อย และน้ำท่วมครั้งนี้เสียหายหนักทั้งเมืองพวกเราในชุมชนพอช่วยกันเองได้เพื่อลดผลกระทบโดยเฉพาะกลิ่นก็เลยช่วยกันทำอีกแรงหนึ่ง
ขณะที่เเดง พวงเล็ก ชาวบ้านชุมชนฟ้าใหม่ร่วมใจสามัคคี บอกว่าได้รับการเชิญชวนให้ร่วมจ่ายเหมือนกันตัวเขาเองที่บ้าน น้ำท่วมสูงเฟอร์นิเจอร์และที่นอนต้องทิ้งทั้งหมดเขาจ่ายไป 1,000 บาท เพื่อจ้างรถบรรทุกช่วยขนขยะ ร่วมกับคนในชุมชน เขามองว่าเป็นคนดีดีกับเขา โดยเฉพาะเรื่องกลิ่นและอันตรายจากขยะโดยเฉพาะเชื้อโรคเพราะตัวเองป่วยเป็นโรคเบาหวานซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่แล้วต้องรีบจัดการขยะเหล่านี้เพื่อลดอันตรายในอนาคต
วิเชียร ท้าหล้า ผู้จัดการบ้านเตื่อมฝัน บอกว่าเรื่องนี้ไอเดียมาจากจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เผชิญกันมาก่อนที่มีภาคประชาสังคมทำเป็นตัวอย่าง ไว้ก่อนหน้าจึงปรับไอเดียนั้นมาทำร่วมกันกับคนในชุมชนโดยที่บ้านเตื่อมฝัน ช่วยเรื่องค่าเเบคโฮ เรื่องนี้หลายคนอาจจะมองว่าจะกลายเป็นภาระของชุมชนหรือไม่แต่ถ้าเกิดคนในชุมชนหลายหลังร่วมกันก็อาจจะช่วยแก้ไขปัญหาหรือคลี่คลายปัญหาโดยเฉพาะเรื่องขยะล้นและเรื่องกลิ่นได้
ชวิศา อุตตะมัง นักพัฒนาในจังหวัดเชียงใหม่มองว่า นี่คือบทเรียนที่เราในฐานะคนเชียงใหม่ได้เรียนรู้ประสบการณ์จากจังหวัดเชียงราย ว่าเรารอพึ่งหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียวไม่ได้ อะไรที่เราในฐานะคนในชุมชนพอที่จะทำได้ ต้องรีบทำเพราะเป็นเรื่องของพวกเรา การจัดการที่เราทำร่วมคือ เราตั้งต้นหารถและลงขันให้ก่อน และถ้าชุมชนเห็นด้วย คนในชุมชนก็จะร่วมลงขันกับเรา เหมือนกรณีชุมชนฟ้าใหม่สามัคคีเเห่งนี้
ขยะจากทุกชุมชน จะถูกส่งไปกองพักไว้ที่นี่สวนสาธารณะรถไฟ เชียงใหม่ ที่นี่นี้เดิมอยู่ระหว่างการปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะ ยามวิกฤติขยะล้นเมืองที่นี่ถูกปรับเป็นที่พักขยะก่อนจะถูกลำเลียงส่งไปฝังกลบ ที่บ่อฝังกลบอำเภอดอย ซึ่งอยู่ห่างจากที่นี่กว่า 50 กิโลเมตร ซึ่งเทศบาล นครเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และภาพเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ช่วยกันจัดการขยะกองนี้ สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ตั้งเป้าฟื้นฟูเมืองให้เสร็จสิ้นภายใน 31 ตุลานี้ เพื่อรับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวนี้