ชวนทำความรู้จักแนวคิด Harm Reduction กับ ผศ.ดร.ปรีชญาณ์ นักฟ้อน
ปฏิเสธไม่ได้ว่ายาเสพติดเป็นหนึ่งในปัญหาของสังคมไทย แต่ไม่ว่าเราจะพยายามมากเท่าไหร่ ก็เหมือนว่ายาเสพติดไม่เคยจะหายหรือหมดไปจากประเทศนี้ สรุปแล้วทางออกของปัญหานี้อยู่ตรงไหนกันแน่
สำหรับเรื่องนี้เราได้ไปขอความเห็นจาก ผศ.ดร.ปรีชญาณ์ นักฟ้อน จากภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องปัญหายาเสพติดมาอย่างยาวนาน และผู้เขียนหนังสือ นวัตกรรมเชิงนโยบาย: การลดอันตรายจากยาเสพติด ซึ่งมีความโดดเด่นตรงที่ได้ช่วยเติมเต็มแง่มุมที่ต่างออกไปให้กับแวดวงวิชาการด้านยาเสพติดในไทย
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ปรีชญาณ์ อยากชวนสังคมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันต่อว่าถ้ายาเสพติดยังไม่หมดไป ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องทบทวนท่าทีที่มีต่อปัญหายาเสพติดกันใหม่
Q : ปัญหายาเสพติดมันสามารถมองมิติไหนได้บ้าง
A : ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ายาเสพติดมันไม่ใช่ต้นทางปัญหา ยาเสพติดก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นผลพวงจากปัญหาอื่น แต่พอเกี่ยวข้องแล้วมันก็ไปสร้างปัญหาใหม่ เพราะงั้นปัญหายาเสพติดมันเป็นปัญหาเชิงซ้อนที่มันพัวพันค่อนข้างเยอะ เวลารัฐจะตั้งเป้าในอดีตก็เลยมุ่งเน้นกันไปที่การทำสงครามยาเสพติด ซึ่งเป็นกันทั่วโลก คือทำให้มันหมดไป ถ้ามันไม่ดี ทำให้มันไม่มีในโลกใบนี้ ก็จะจบปัญหา
ปัญหาที่ผ่านมาในอดีตก็คือสงครามมันไม่เคยชนะ ไม่ว่าจะทำยังไงก็ยังมียาอยู่ ไม่ว่าจะทำยังไง ก็ยังมีคนเข้าไปเกี่ยวข้องคนแล้วคนเล่า มันก็เลยเป็นโจทย์ที่คนทั้งโลกต้องมานั่งคุยกันว่าแล้วเรามองปัญหายังไง เราแก้ถูกทางหรือเปล่า
สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้เลยก็คือว่า มันอาจจะไม่สามารถทำให้เราเจอสังคมที่เรียกว่าปลอดยาเสพติดได้หรือเปล่า นี่คือสิ่งที่ตั้งคำถามกันมาหลายปีแล้ว ในเวทีระดับโลกเช่นยูเอ็นเองก็มีการประชุมเพื่อพูดคุยกันเรื่องนี้ว่าหรือเราควรจะต้องมีวิธีการในการที่จะมองปัญหาหรือว่าแก้ปัญหาใหม่
Q: ถ้าการทำสงครามกับยาเสพติดนั้นมันไม่ได้ผล แล้วเราควรมองปัญหาเรื่องยาเสพติดอย่างไรดี
A: ขอชวนมองในมุมที่เขาคุยกันมาแล้วดีกว่านะคะ ด้วยสถานการณ์ที่ทุกคนอยากให้เป็นคือโลกที่ปลอดยา สังคมที่ปลอดยาเสพติด ปลอดการได้รับผลกระทบจากมัน เราไม่ได้ปฏิเสธว่าสังคมที่ไม่มียาเสพติดมันดีหรือไม่ดี แต่คำถามก็คือถ้าเราทำไม่ได้ล่ะ เราจะอยู่ยังไงให้เราได้รับผลกระทบที่น้อย มันก็เลยมีการคลี่กันออกมาว่าจริง ๆ แล้วเรากลัวอะไร
อย่าลืมนะคะว่ายาเสพติดเนี่ยมันเป็นปัญหาที่ที่รัฐแต่ละรัฐต้องพิจารณาเอาเองว่าตัวเองเนี่ยเดือดร้อนอะไรกับมัน เราถึงได้ตั้งมันเป็นประเด็นที่ต้องเข้าไปจัดการ ซึ่งเราอยากจะจัดการมันเพราะเราได้รับผลกระทบหรือที่เรียกง่าย ๆ ว่าอันตราย
เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่อยากให้มียา เป็นเพราะเราไม่อยากให้ได้รับอันตรายอะไรอีก คนในสังคมไม่ควรจะได้รับผลกระทบอีก ถ้าเราทำให้สังคมปลอดยาไม่ได้ เอ๊ะเราทำสังคมปลอดภัยได้มั้ยล่ะ งั้นจุดโฟกัสมันเลยหมุนอีกนิดนึงอ่ะค่ะ
ก็คือไม่ได้มองปัญหายาเสพติดเปลี่ยนไปมากนัก แต่มองว่าถ้าเราตั้งเป้าหมายใหม่ล่ะ เปลี่ยนจากการทำให้ไม่เหลือยาอีกแล้ว กลายเป็นสังคมที่มันปลอดภัยมากขึ้น สังคมที่ไม่ได้รับผลกระทบจากมัน ถ้าเราโฟกัสแบบนี้ อาจจะเป็นไปได้มากกว่าสังคมปลอดยา จุดนี้ต่างหากที่มีการพูดคุยกันมาตั้งแต่ที่ประชุมของ UNGASS 2016*
*UNGASS 2016 คือการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลกที่จัดขึ้นในปี ค.ศ.2016
Q : อย่างประเด็นการทำแท้งถูกกฎหมายนั้นก็มีทั้งฝั่งที่คัดค้านและเห็นด้วย แนวทางใหม่ในการมองปัญหายาเสพติดก็เจอสถานการณ์แบบเดียวกันหรือเปล่า
A : มีแบบหนักหน่วงมากเลยค่ะ เพราะวิธีการใหม่อาจจะยังไม่น่าเชื่อ หรือยังไม่เห็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม จริงๆ โจทย์ที่ควรจะตั้งไม่ใช่วิธีการ มันควรจะเป็นเป้าอย่างที่บอก ถ้าเราสร้างสังคมปลอดยาไม่ได้ แล้วเราสร้างสังคมปลอดภัยได้ มันดีกว่าไหม ไม่ต้องรอให้ปลอดยาแล้วค่อยปลอดภัย ไม่ต้องรอเป็นเหมือนขั้นตอนน่ะค่ะ เราสามารถปลอดภัยได้ แม้ว่าจะปลอดหรือไม่ปลอดยาก็ตาม จริงๆอยากชวนคิดแบบนี้มากกว่า
เพราะสุดท้ายแล้วการที่เราอยากให้สังคมมันไม่มียาเสพติด คนที่ใช้ก็เลิกซะ ปลายทางทุกอย่างมีหวังอย่างเดียวคือไม่อยากได้รับอันตรายอะไร แต่พอมันทำไม่ได้ เราก็ต้องนั่งรอ รอจนกว่าจะไม่มียาเสพติด วันที่ทุกคนเลิกยา วันที่ทุกคนเลิกค้า พอมันไม่มีวันนั้น เราก็รู้สึกยังไม่ปลอดภัยอยู่ดี
“ถ้าเราสร้างสังคมปลอดยาไม่ได้ แล้วเราสร้างสังคมปลอดภัยได้ มันดีกว่าไหม ไม่ต้องรอให้ปลอดยาแล้วค่อยปลอดภัย ไม่ต้องรอเป็นเหมือนขั้นตอนน่ะค่ะ เราสามารถปลอดภัยได้ แม้ว่าจะปลอดหรือไม่ปลอดยาก็ตาม”
Q : แบบนี้แล้วเราจะมีวิธีการอะไรที่ช่วยให้การแก้ปัญหายาเสพติดขับเคลื่อนไปทิศทางที่ว่าได้
A : ต้องถามก่อนว่าทุกวันนี้เวลาเราพูดถึงปัญหายาเสพติด เราเข้าใจปัญหากันจริง ๆ หรือเปล่า คำถามง่าย ๆ คือทำไมคนถึงอยากขายยาเสพติด อะไรดี ๆ มีให้ขายตั้งเยอะ ทำไมไม่ขาย คำตอบน่าจะเป็นยังไงคะ เค้าเป็นคนไม่ดีเหรอ เลยเข้ามาขายยาเสพติด ไม่หรอก จริง ๆ คำตอบคือขายยาได้เงินเยอะกว่าเมื่อเทียบกับอย่างอื่น ถูกมั้ยคะ
งั้นแรงจูงใจทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ต่อสู้ในเรื่องของการค้ายามาตลอดแล้ว เพราะฉะนั้นศัตรูจริง ๆ มันคือเรื่องความยากจน มันคือเรื่องการไม่มีเงินไม่มีรายได้
ในขณะเดียวกัน ทำไมคนใช้ยาเสพติด ทำไมไม่ใช้วิธีการอื่น เราก็ต้องเข้าใจปัญหาก่อนว่ามันไม่ใช่เรื่องดีหรือไม่ดีอย่างเดียว มันมีภาวะหลาย ๆ ภาวะมาก ที่ทำให้คนเข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าเราแก้ภาวะนั้นให้เขาไม่ได้ เขาก็จะหันไปพึ่งพิงยาเสพติด เพราะฉะนั้นความเข้าใจในปัญหาต่างหากค่ะ ที่จะเป็นตัวช่วย ทำให้เราหันมาตอบกันเองว่าถ้าปัญหาเป็นแบบนี้ วิธีแก้ที่ตรงกับปัญหาคืออะไร
เพราะฉะนั้นแนวคิดในตอนนี้ที่หลาย ๆ ประเทศพยายามทำ ก็คือการพยายามเลิกมองคอนเซปต์ที่เอารัฐเป็นตัวตั้ง โดยลืมมองปัญหาของเขาจริง ๆ แล้วถ้าเกิดเราหันไปสนใจปัญหามากขึ้น วิธีการมันจะใหม่ขึ้น ถ้าเกิดเราค่อย ๆ เรียนรู้ตรงนี้ต่างหากค่ะ ที่จะช่วยทำให้วิธีการแก้ไขปัญหายาเสพติดมันไปได้มากกว่าเดิม
จริง ๆ ที่เราพูดกันเรื่องของแนวคิดใหม่เนี่ย ถ้าภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า Harm Reduction ชื่อมันก็ซื่อตรงมากเลยค่ะ คือการลด Harm หรือก็คือสิ่งที่เป็นอันตรายให้น้อยลง
อย่างถ้าเรากินกาแฟเยอะ ๆ มันก็ไม่ดี มันก็เกิดผลกระทบกับร่างกาย แต่จะให้บอกว่ากินกาแฟมันไม่ดีหรอก เลิกซะ มันก็สุดโต่ง ในขณะเดียวกันถ้าเรายังอยากได้ฤทธิ์บางอย่างของกาแฟ มันไม่ได้มีวิธีการแค่ใช้กับไม่ใช้ เราค่อย ๆ ลดทอนได้ไหม หรือเรากินในระดับที่เรารู้ว่าร่างกายเราหัวใจเราเต้นแล้วเราไปไหว
สิ่งที่สำคัญในการเอาหลักพวกนี้มาใช้ก็คือว่า ข้อแรกต้องรู้ว่าอันตรายมันแค่ไหน แล้วมันมีวิธีการลดทอนอันตรายได้ไหม เช่นกรณีของบุหรี่ เดี๋ยวนี้เด็กวัยรุ่นเขาบอกไม่ได้สูบบุหรี่นะ แต่สูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน ก็จะมีการเปลี่ยนวิธีการหรือเปลี่ยนพฤติกรรมที่เขาเชื่อได้ว่าเป็นอันตรายน้อยลง ส่วนว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าจริงมั๊ย อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องนึงก็ต้องไปดูสารที่ก่อให้เกิดอันตรายอีกที
เพราะงั้นหลักการมันคือว่าจะทำยังไงที่จะไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นอันตรายให้มันลดอันตรายตรงนั้นให้น้อยลง
“Harm Reduction คือการลด Harm หรือก็คือสิ่งที่เป็นอันตรายให้น้อยลง อย่างถ้าเรากินกาแฟเยอะ ๆ มันก็ไม่ดี แต่จะให้บอกว่าเลิกซะ มันก็สุดโต่ง ถ้าเรายังอยากได้ฤทธิ์บางอย่างของกาแฟ มันไม่ได้มีวิธีการแค่ใช้กับไม่ใช้ เราค่อย ๆ ลดทอนได้ไหม
Q: อย่างนี้แล้วแนวคิด Harm Reduction จะกลายเป็นการทำให้เกิดความชอบธรรมในการใช้ยาเสพติดหรือเปล่า
A: ถ้ามันเป็นยาเสพติดแล้วยังมีการใช้อยู่ ยาเสพติดผิดกฎหมายเหล่านี้จะมีโทษอาญาคู่ไปด้วยคือจำคุก เพราะฉะนั้นต่อให้เป็นแนวทาง Harm Reduction แต่ยังไปแตะอยู่ มันก็มีโทษอยู่ดี
ประเด็นคือในข้อการศึกษาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยหรือแม้กระทั่งตัวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอง ก็รับรู้ทั่วกันว่าการให้เขาอยู่ดี ๆ ให้เขาเลิกมันทำไม่ได้ ถ้าทำได้ มันจบ แต่ในความเป็นจริงมันทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เลยไม่อยากจะใช้แค่วิธีการเดียว ลองมาหาวิธีการอื่นไหม ระหว่างทางที่เขายังเลิกไม่ได้ มันมีวิธีอื่นที่ทำให้อันตรายน้อยลงหรือเปล่า โจทย์มันอยู่แค่ตรงนี้
Q: ในต่างประเทศมีตัวอย่างความสำเร็จที่สะท้อนให้เห็นเลยไหมว่าแนวทางเรื่อง Harm Reduction นั้นมาถูกทางแล้ว
A : เวลาพูดถึงปัญหายาเสพติดมันมีความซับซ้อน และต้องอาศัยระยะเวลาในการเปลี่ยนพฤติกรรม การเปลี่ยนแปลงจึงมักไม่ค่อยมองในเชิงแบบปริมาณที่เปลี่ยนพลิกสถานการณ์ แต่จะมองในเชิงว่าเคสต่างๆ มันมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง
ประเทศหนึ่งที่ถือว่าโดดเด่นในเชิงของ Harm Reduction ก็คือโปรตุเกส ซึ่งเป็นประเทศที่ประเทศไทยเองก็ไปดูงานแล้วก็นำมาขยับประมวลกฎหมายยาเสพติดเมื่อปี พ.ศ.2564*
โปรตุเกสนั้นเป็นประเทศที่มีปัญหายาเสพติดหนักพอสมควร โดยเขาได้มีการขยับกฎหมายยาเสพติดของประเทศให้ลดทอนความเป็นอาญาลง เปลี่ยนโทษให้ไม่ได้เป็นโทษอาญา พอไม่ได้เป็นปุ๊บ ก็เอาสาธารณสุขเข้าไปหนุนเสริม แปลว่าอย่างน้อยคนกลุ่มนี้จะถูกดูแลโดยสาธารณสุข สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็คือคุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้ใช้ยานั้นดีขึ้น
ส่วนประเด็นต่อมาที่พยายามเก็บข้อมูลเหมือนกัน ก็คือพยายามจะดูว่าอาชญกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติดลดลงด้วยหรือไม่ ข้อมูลอาจจะไม่ถึงขั้นรับรองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยโทนแล้ว คนกลุ่มนั้นมีงานทำ กลับไปอยู่กับครอบครัวได้ โดยตรรกะก็เป็นการลดความเสี่ยงในการก่ออาชญากรรมอยู่แล้ว
ส่วนในประเทศไทยหน่วยงานสาธารณสุขก็มีบทบาทเข้าไปช่วยเหลือดูแล อย่างกลุ่มที่ใช้ยาด้วยวิธีการฉีด เขามีโอกาสอันตรายตั้งแต่เรื่องของโอกาสน็อคยา เรื่องของการติดเชื้อ HIV และติดเชื้อวัณโรค หรือแม้กระทั่งไวรัสตับอักเสบบี
เพราะฉะนั้นรัฐก็จะต้องเพิ่มรูปแบบการให้บริการสำหรับคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ให้คนกลุ่มนี้สามารถตรวจ HIV ได้ ตรวจเรื่องของไวรัสอักเสบได้ หรือในบางกรณีก็มีการให้ยาทดแทนเพื่อที่จะได้ไม่ลงแดง เพราะมันติดด้วยร่างกาย ถ้าไม่ใช้จะมีอาการหนักมาก
อย่างน้อยคือไม่ว่าจะยังไงก็ตาม ก่อนจะเลิกยาได้ เขาต้องไม่ตาย ฉะนั้นใจความสำคัญคือการที่เราค่อยๆ ถอดอันตรายออกจากตัวเขา โดยที่ยังไม่ได้ไปถึงปลายทางคือเขาเลิกยาเนี่ย มันยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้
ภาพรวมความเปลี่ยนแปลงหลักๆ ที่เกิดขึ้นในประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564
ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 โดยได้รวบรวมเอากฎหมายยาเสพติดที่เดิมกระจายอยู่หลายฉบับ ให้บูรณาการอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน และมีคณะกรรมการที่ดูแลขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ
อีกความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการเปิดช่องนำยาเสพติดไปใช้ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย และเศรษฐกิจ และมองผู้เสพเป็นผู้ป่วย เน้นนำวิธีทางสาธารณสุขเข้ามาแก้ปัญหาผู้เสพยา โดยใช้กระบวนการบำบัดรักษาฟื้นฟู ทั้งนี้ประมวลกฎหมายฉบับนี้ยังคงมุ่งเน้นปราบปรามผู้ค้าและขบวนการค้ายา แต่มีการเปลี่ยนแนวทางการลงโทษผู้ทำผิดให้ชัดเจนและสมเหตุสมผลมากขึ้น จากเดิมที่อาจไม่มีการกำหนดโทษไว้ชัดเจนหรืออาจรุนแรงเกินกว่าเหตุ
สัมภาษณ์และเรียบเรียง : รณวัฒน์ จันทร์จารุวงศ์
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเพื่อสื่อสารความรู้และการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ระหว่างสกสว.และส.ส.ท. โดยสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ