อีสานขานข่าว EP 04 : อุบลฯ เรียกร้องยกเลิกสร้างเขื่อนภูงอยหวั่นส่งผลกระทบแม่น้ำโขง

นักวิชาการเมืองอุบลพร้อมด้วยภาคประชาชนเรียกร้องยุติสร้างเขื่อนภูงอยก่อนส่งผลกระทบให้กับแม่น้ำโขงและคนเมืองอุบลราชธานี หลังมีเหตุแม่น้ำโขงเปลี่ยนสีเป็นสีครามส่งผลกระทบระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำโขง

ผศ.ดร.จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึง ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่อยู่ริมน้ำและต้องพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่กับแม่น้ำโขง ซึ่งขณะนี้สิ่งที่เห็นได้ชัดของความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงคือการไหลของน้ำ ดินตะกอน และสีของแม่น้ำโขง ตอนนี้แม่น้ำโขงเปลี่ยนเป็นสีครามรวมถึงระบบนิเวศพันธุ์ปลา ต้นไม้ แม้แต่นกในแม่น้ำโขงก็เปลี่ยนไป สีของแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนเป็นสีครามตอนนี้ เกิดจากสาหร่ายที่อยู่ในแม่น้ำโขง หลายคนอาจจะมองว่าสวยงามแต่แท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่อยู่ในแม่น้ำและมีการสร้างเขื่อนอีกหลายแห่งที่จะขวางกั้นแม่น้ำโขงโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างเขื่อนในประเทศจีนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ แม้ว่าแม่น้ำโขงจะมีคณะกรรมการ mrc หรือคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเป็นคนดูแลอยู่แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วคณะกรรมการชุดนี้ก็แทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย

นอกจากนั้นตอนนี้ใกล้กับจังหวัดอุบลราชธานีกำลังจะมีการก่อสร้างเขื่อนที่แขวงจำปาสัก สปป.ลาว เรียกว่าเขื่อนภูงอยซึ่งเป็นส่วนที่จะทำให้สภาพแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปแล้วจะส่งผลกระทบกับชาวจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งแม้จะเป็นเขื่อนแบบ run of river แต่ก็จะส่งผลกระทบเนื่องจากจะมีการปล่อยน้ำให้ไหลผ่านประตูน้ำไปเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแต่เขื่อนแบบนี้เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ เขื่อนยาวถึง 3 กิโลเมตรมีการผลิตกำลังไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 728 เมกะวัตต์และมีระดับเก็บกักน้ำเหนือเขื่อนประมาณ 98 เมตรซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชาวจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากมีความสูงมาก รวมถึงตัวที่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้มีการระบุเอาไว้ชัดเจนว่าจะมีน้ำท่วมมาถึงแก่งตะนะและรวมถึงตัวเขื่อนปากมูลด้วย ซึ่งวัตถุประสงค์ของเขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนผลิตพลังงานไฟฟ้าเช่นเดียวกันซึ่งเรียกว่าจะส่งผลกระทบข้ามพรมแดน

ด้านนายนิกร วีสเพ็ญ ทนายความภาคประชาสังคมของจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำของทุกคนไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งถ้าคนใดคนหนึ่งจะมาพัฒนาร่วมแล้วอ้างว่าเพื่อผลประโยชน์ต้องถามว่าเป็นประโยชน์ของใคร เพราะคนที่เสียประโยชน์คือประชาชนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำโขงเหมือนกัน เวลาศึกษาหรือตัดสินอะไรต้องศึกษาอย่างรอบคอบรอบด้านมีนักวิชาการหลายภาคส่วนเข้ามาช่วยกันศึกษาไม่ใช่ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งศึกษาเท่านั้น รวมไปถึงการศึกษาวิจัยแบบคู่ขนานก็มีความสำคัญเพราะนักวิชาการส่วนหนึ่งทำวิจัยออกมาต้องทราบอีกส่วนหนึ่งประกอบกัน เพื่อจะเอามาชั่งน้ำหนักเพราะตอนนี้ประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าแม่น้ำโขงแต่ละวันจะเป็นอย่างไร

หากการสร้างเขื่อนไม่มีประโยชน์ก็ไม่ควรที่จะก่อสร้างเนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างและควรจะต้องมีการกลับมาศึกษาใหม่โดยเฉพาะกรณีของเขื่อนภูมิงอยที่จะส่งผลกระทบกับคนเมืองอุบลราชธานีเรื่องนี้ควรจะต้องเอากลับมาศึกษาเช่นกัน

รับชมเพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/share/v/1D6tkfxBzu/

แชร์บทความนี้