“ถนนและประปาดีขึ้น”
“มีขนส่งสาธารณะที่ทันสมัย”
“ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม”
เสียงสะท้อนความต้องการจากคนโคราช หรือ นครราชสีมา ที่อยากให้เกิดขึ้นในบ้านตนเอง ผ่าน My CEO บ้านฉันเอาแบบนี้ มีจำนวนผู้เข้าร่วมบอกความต้องการทั้งหมด 100 กว่ารายการ ทีมงานได้วิเคราะห์และจัดหมวดหมู่ออกเป็น 6 ประเด็นสำคัญได้ดังนี้
ปรับปรุงถนน ทั้งในเขตเมืองและชนบท
เสียงสะท้อนความต้องการเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นสิ่งที่ชาวนครราชสีมาพูดถึงมากที่สุด โดยเฉพาะประเด็นคุณภาพถนน ทั้งในเขตเมืองและชนบท เนื่องจาก “แก้ปัญหาถนนเป็นหลุม ขรุขระ ไฟฟ้าสว่างไม่เพียงพอในถิ่นทุระกันดาร” จึงเสนอให้มีการซ่อมแซมถนนที่ชำรุด ปรับปรุงผิวถนนและเพิ่มไฟส่องสว่างตามท้องถนนเพื่อความปลอดภัยอย่างทั่วถึง
อีกเรื่องคือพัฒนาระบบสาธารณูปโภคอย่างคุณภาพประปาน้ำ “ในบริเวณพื้นที่ชนบทต่างๆ มีความสะอาดมากกว่านี้” และ “การจัดการระบบระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน”
เข้าถึงขนส่งสาธารณะอย่างทั่วถึง
“อยากให้มีรถไฟฟ้าเจ๋งๆ” และ “มีระบบการขนส่งที่สะดวกและทันสมัย” โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนรถสาธารณะในเขตเมือง รวมถึงขยายเส้นทางให้เข้าถึงพื้นที่ชานเมืองและระบบขนส่งรูปแบบใหม่ เช่น รถไฟฟ้า เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทาง รวมถึงการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด และการจัดระเบียบการจราจรให้มีความคล่องตัวมากขึ้น
เพิ่มพื้นที่สีเขียวและจัดการขยะอย่างเป็นระบบ
ประชาชนให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ง่าย เพื่อเป็นพื้นที่พักผ่อนและออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหามลพิษ โดยเฉพาะ PM2.5 และต้องการ “ระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ มาตรฐานโลก” รวมถึงการแก้ปัญหาการเผาขยะในที่โล่งซึ่งส่งผลต่อคุณภาพอากาศ
ปรับค่าแรงสอดคล้องกับค่าครองชีพ
ประชาชนต้องการให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจที่สมดุล โดยเฉพาะ “การปรับค่าแรงและรายได้” ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ การช่วยเหลือเกษตรกรในด้านราคาผลผลิต และ “การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม” รวมถึงการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมให้กับประชาชนทุกกลุ่ม
ยกระดับบริการสาธารณสุข
“อากาศดี เมืองน่าอยู่ สาธารณูปโภคพร้อม” เป็นอีกเรื่องที่ประชาชนให้ความสำคัญ การพัฒนาคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานโรงพยาบาล การเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และการพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด
โปร่งใส ตรวจสอบได้ ประชาชนมีส่วนร่วม
การบริหารจัดการที่ “มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้” เป็นสิ่งที่ประชาชนสนใจ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่าง “รวดเร็วและตรงจุด” อีกทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย
สำรวจงบอบจ. ที่ผ่านมา ใช้ไปกับเรื่องไหนบ้าง?
เมื่อย้อนดูงบประมาณอบจ. ของจังวหัดนครราชสีมา ในปี 2567 ทั้งหมด 3.4 พันล้านบาท (ที่มาข้อมูล องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)) พบว่า ใช้กับเรื่องด้านบริการชุมชนและสังคมมากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 2.2 พันล้านบาท โดยให้กับเรื่องการศึกษามากที่สุด รองลงมาคือสังคมสงเคราะห์ และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
จากกราฟยังเห็นอีกว่างบประมาณถูกใช้ไปกับเศรษฐกิจเป็นอันดับสอง โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมและโยธา และการเกษตร
ส่งเสียงให้บ้านหมู่เฮาดีกว่าเดิม
มีเรื่องไหนที่อยากบอก อยากให้แก้ My CEO บ้านฉันเอาแบบนี้ เชิญชวนหมู่เฮากำหนดอนาคต เปิดให้แสดงความคิดเห็นได้ตลอดเวลา ยิ่งมากยิ่งดี