20 ปี สถานการณ์ความรุนแรงชายแดนใต้ นอกจากความสูญเสียทรัพย์สิน และบุคคลคนที่เป็นที่รัก และหนึ่งในเหตุการณ์ที่มีความสูญเสียครั้งใหญ่และอยู่ในความทรงจำ คือเหตุสลายการชุมชุมตากใบ แม้ว่าจะผ่านมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม แต่บาดแผลฝังลึกในจิตใจ ยังไม่เคยเลือน และอีกไม่กี่วันคดีตากใบจะหมดอายุความ นอกจากความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมที่ปล่อยให้คดีไหลยืดมาจนครบ 20 ปี อีกมุมสังคมกำลังตั้งคำถามถึงท่าทีความจริงใจของรัฐบาลเพื่อไทย รายการคุณเล่า เราขยาย ชวนผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคุณนวลน้อย ธรรมเสถียร สื่อมวลชนอิสระที่ติดตามเรื่องราวตากใบมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง มาร่วมขยายประเด็นนี้กัน
“ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็เท่ากับความไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่ง”
“ความรู้สึกของหลาย ๆ คนที่ติดตามกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่เฉพาะคดีตากใบเท่านั้น หลาย ๆ คดีเราจะเห็นถึงความล่าช้า ความไม่คืบหน้า มันคือความไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่ง กรณีตากใบเป็นตัวอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นภาษาอังกฤษเราต้องเรียกมันว่า “the tip of the iceberg” คือยอดของภูเขาน้ำแข็ง เพราะว่าความจริงแล้วยังมีคดีอีกจำนวนมากที่เกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ว่าคดีตากใบ เป็นซีรี่ย์ของปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วง 20 ปี”
นวลน้อย ธรรมเสถียร อธิบายถึงกรณีกระบวนการยุติธรรมของกรณีกลุ่มผู้เสียหาย 48 ครอบครัว ในเหตุการณ์ตากใบ 2547 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ รวม 9 คน ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น และข้อหาร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ซึ่งในเวลาต่อมา (23 สิงหาคม 2567) ศาลฯ มีคำสั่งรับฟ้องจำเลย รวม 7 คน พร้อมนัดสอบคำให้การ โดยการนัดหมายของศาลทั้ง 2 ครั้งยังไม่มีจำเลยคนไหนเดินทางไปศาล ซึ่งคดีนี้จะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม 2567
“หลายคนอาจจะบอกว่า 20 ปี ทำไมไม่ทำอะไร”
“ซึ่งความจริงแล้วทำตลอด มีผู้คนพยายามจะทำหลายอย่าง รวมทั้งประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากกรณีนี้(คดีสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ) ก็ต่อสู้มาโดยตลอดเหมือนกัน เพื่อที่จะเรียกร้องสิทธิของพวกเขา เราต้องเข้าใจว่าประชาชน ไม่ได้มีความเข้มแข็งเหมือนอย่างคนในภาครัฐหรือว่าคนที่มีอำนาจทางการเมืองหรือความสามารถในการสื่อสารสูง เราก็จะเห็นว่าเขาอาจจะไม่กล้า แล้วก็อาจจะรู้สึกว่าไม่อยากจะเป็นคดีความกับเจ้าหน้าที่ ยิ่งในสถานการณ์ที่บังคับใช้กฎหมายพิเศษด้วย”
“ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามอยากจะฟ้องร้อง เพราะว่าทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่ได้ขยับอะไร แต่ว่าในที่สุดแล้วเหตุการณ์นั้นก็ไม่เกิดขึ้น แม้กระทั่งสื่อเอง อย่างดิฉันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสื่อที่รายงานเรื่องของคดีตากใบมาโดยตลอดอยากจะบอกว่า ทุกครั้งที่มีคนพยายามที่จะรายงานเรื่องเกี่ยวกับตากใบ จะต้องมีอุปสรรค แล้วก็มีเสียงปรามมาเสมอ จะมีความรู้สึกว่ามีการพยายามปรามไม่ให้มีการรื้อฟื้น”
นวลน้อย ธรรมเสถียร อธิบายถึงการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ที่นำมาสู่ความหวาดกลัวในการที่จะลุกขึ้นมาฟ้องร้องเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐ โดยกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับที่ประกาศใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้(ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา) ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ,พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน และกฎอัยการศึก
สิทธิการรู้ความจริงในการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของเหยื่อ
“เวลาเราพูดถึงการปรองดองในสังคม ผมคิดว่ามิติการเยียวยาเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นเอง โดยเฉพาะสังคมที่มีความขัดแย้งและรุนแรง หลังเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงนั้น การปรองดองจะเกิดขึ้นมันต้องมีหลายมิติ กระบวนการยุติธรรมที่เรากำลังพูดกัน กระบวนการรู้ความจริง โดยวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี สหประชาชาติ ได้ประกาศให้เป็นวันแห่งการรู้ความจริงในการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของเหยื่อ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่าเหตุการณ์ตากใบส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้สูญเสีย รวมถึงชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ เพราะจำเลยยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยังไม่มีคำตัดสินถูกผิด ซึ่งที่ผ่านมามีผู้คนจำนวนมากที่รอดจากเหตุการณ์ รวมถึงครอบครัวผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ที่ยังคงอยู่ในสภาวะความกลัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และยังคงไม่ลืมเหตุการณ์ในวันนี้
วันที่ 24 มีนาคมของทุกปีถือเป็นวันสิทธิในการทราบความเป็นจริง เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นและเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของบรรดาเหยื่อผู้เสียหาย (International Day for the Right to Truth concerning Human Rights Violation and for the Dignity of Victims)
สิทธิในการทราบความจริง หมายถึงการรู้ความจริงที่สมบูรณ์และครบถ้วนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในสถานการณ์เฉพาะ และผู้ที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้น รวมถึงพฤติการณ์ และสาเหตุซึ่งทำให้เกิดการละเมิดสิทธิ รวมถึงการสิทธิในการรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรวมถึงเหตุผลของการกระทำนั้น – เพราะความรับผิดชอบคือกุญแจสำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชน
“20 ปีที่ผ่านมา คนในครอบครัว ญาติพี่น้องเขาต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้(ความกลัวและไม่เคยลืมสิ่งที่เกิดขึ้น) ทุกวี่ทุกวัน ถ้ารัฐบาลที่ผ่านมามีความเข้าใจในการที่จะแสวงหาสันติสุข แสวงหาสันติภาพ แสวงหาความปรองดองที่จะให้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ตรงนั้น แต่กลายเป็นว่ากระบวนการต่าง ๆ ตรงนี้เกิดขึ้นแต่กับเฉพาะภาคประชาสังคมที่พยายามจะมาทำร่วมกับชาวบ้าน ทั้ง ๆ ที่กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างมาก”
“เรื่องการปรองดอง เราพูดกันมาก เห็นในสื่อต่าง ๆ ว่าที่ผ่านมารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้จ่ายเงินเยียวยาไป 600 กว่าล้านแล้ว ทำไมเรื่องไม่จบ แม้แต่นักวิชาการที่มีชื่อเสียงบางท่านที่ออกมาบอกว่าการที่จะจ่ายเงินเยียวยาได้เพราะกระบวนการยุติธรรมสิ้นสุดแล้ว ซึ่งการปรองดองมันจะต้องไม่มีสูตรสำเร็จ เพียงแค่เยียวยาเสร็จแล้วจบเลย เพราะแต่ละความขัดแย้งก็จะมีบริบทที่เราจะต้องสร้างการปรองดองที่มีความแตกต่างกัน”
“สิ่งสำคัญในการที่จะสร้างการจดจำอันใหม่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก และถ้ากระบวนการยุติธรรมมันไม่ทะลุตรงนี้(ไม่มีความกระจ่างจัด) ซึ่งผมก็มีความห่วงใยว่าถ้าเราไม่สามารถให้ความจริงปรากฏขึ้นได้ เขา(ผู้ได้รับความสูญเสีย) ก็จะอยู่กับความทรงจำอันเดิม แต่ในขณะที่ความยุติธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าใครผิดใครถูก มันจะเป็นการปรับโครงสร้างของความจดจดจำอันใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ๆ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี
ด้านนวลน้อย ธรรมเสถียร มองว่า “เหตุการณ์ตากใบ หรือเวลาที่มีคนถูกละเมิด ความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับความรู้สึกของคน ที่เป็นคนถูกกระทำหรือผู้เสียหาย แต่ว่าความเสียหายมันกว้างกว่านั้นแล้วชุมชนที่อยู่ใกล้ตัวเขา ญาติพี่น้อง คนที่อยู่รอบ ๆ คนที่รักความเป็นธรรมทุก ๆ คน รู้สึกเจ็บปวดไปด้วย ไม่ใช่แค่ชุมชนมุสลิม ชุมชนคนไทยที่เรารู้สึกอยากเห็นความเป็นธรรม และที่เรามีความคาดหวังกับกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้มันเจ็บปวดไปด้วย แล้วอยากจะเห็นสิ่งนี้ได้รับการรื้อฟื้น”
“ความสงบที่ไม่มีเสียงคัดค้าน อาจจะเป็นการเกลี่ยปัญหาเข้าไปอยู่ใต้พรม แล้วในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาไม่ได้หายไปไหน มันซุกอยู่ตรงนั้นบ่มเพาะตัวเองรอวันที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ เหมือนก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ตากใบ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี 2547” นวลน้อย ธรรมเสถียร
ภาพจาก Decode.plus
กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า ส่งต่อความรุนแรงข้ามรุ่น
“ในทางวิชาการมีการศึกษาเรื่องความขัดแย้งรุนแรง แต่กระบวนการยุติธรรมไม่มีความชัดเจน หรือเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ในงานศึกษาชี้ชัดว่าจนำไปสู่ความรุนแรง และที่น่ากลัว น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือจะมีการนำส่งความรุนแรงไปยังคนอีกรุ่น”
การส่งต่อความรุนแรงข้ามรุ่นเป็นข้อกังวลของผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี ที่อาจทำให้กระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่หยุดชะงักลงได้
“ที่ผ่านมาเราไปพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ยังมีความรู้สึกว่าในเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้าม และยังมีทัศนคติแบบนี้ ซึ่งทำอย่างไรที่เราจะบาลานซ์สร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงกับมิติสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการที่จะนำสู่ความสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่”
“เราเห็นการสลายการชุมนุมจนเกิดการสูญเสียในสังคมนี้ เป็นระยะ ๆ มาตลอด แล้วเราไม่เคยเรียนรู้เลย ยังคงใช้ความรุนแรง แต่รัฐยังมองว่าคนที่มาชุมนุมเป็นพวกก่อความวุ่นวาย เป็นพวกปั่นป่วน จึงทำให้มีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ซึ่งยังเป็นการควบคุม ผ่านมุมมองว่าเป็นฝูงชนที่บ้าคลั่ง ไม่มีระเบียบวินัย จะมาก่อความวุ่นวาย ขณะที่ต่างประเทศมองว่าเป็นการจัดการฝูงชน มีการพูดคุยเจรจา ให้มีการชุมนุมอย่างสงบ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี
นิทรรศการ “ลบไม่เลือน 20 ปี ตากใบ” โดย อรรณพ เจ๊ะสุโหลง
“จากที่ได้คุยกับบรรดาคนที่รับความเสียหาย สิ่งที่เขาต้องการคือกระบวนการเยียวยาความรู้สึก ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งมันยังไม่เกิดขึ้นเลย จำได้ว่าได้สัมภาษณ์คนที่เป็นผู้เสียหายคนหนึ่งที่อยู่เป็นโจทก์ร่วมฟ้องด้วย เขาพูดอย่างชัดเจนว่าอยากจะมาเจอกัน อยากจะให้มีกระบวนการที่มารับฟังเขา ว่าเขาเสียหาย เขาเจ็บปวดอะไรอย่างไร เพราะนี่คือการเยียวยาอย่างหนึ่ง ซึ่งกระบวนการยังไม่มี เรายังไม่ได้เห็นคนที่มีส่วนออกมาแสดงความสำนึกหรือยอมรับว่ามีความเจ็บปวดเกิดขึ้น มีความสูญเสียเกิดขึ้น เราเห็นแต่คำพูดว่า “คนที่ไปชุมนุมมีอาวุธ”, “ทำความผิดอย่างนั้นอย่างนี้” ซึ่งรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็สรุปแล้วว่าผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ เราต้องไม่ตั้งศาลเตี้ยตัดสินคน และเราต้องไม่สนับสนุนระบบที่ทำให้เกิดการด้อยค่าคนที่เรียกร้องสิทธิ์ของตัวเองหรือสิทธิ์ของคนอื่นแล้วก็ใช้ระบบศาลเตี้ยนี้ตัดสิน” นวลน้อย ธรรมเสถียร
ในขณะเดียวกันนวลน้อย ธรรมเสถียร มองว่าการเยียวยาด้วยความเป็นธรรมคือจุดเริ่มต้นของการปรองดอง แต่วันนี้คดีตากใบยังคงต้องรอกระบวนการพิสูจน์ความจริง ซึ่งในกระบวนการนี้เขามองว่ารัฐบาลจะสามารถทำอะไรได้มากกว่าปล่อยให้ถึงวันที่คดีหมดอายุความโดยที่ไม่มีจำเลยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
“รัฐบาลยังสามารถทำอะไรได้อีกเยอะมาก ซึ่งความจริงแล้วที่ผ่านมามันมีความคาดหวังว่าทางกลไกของรัฐ จะสามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่เป็นการริเริ่ม เพราะว่าก่อนจะมาถึงวันนี้ ก่อนคดีจะหมดอายุความ มีการเตือนกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่เมื่อไม่นานมานี้เอง เราพึ่งได้ยินจากอัยการสั่งการให้ตำรวจไปทำสำนวน สั่งฟ้องอีก 8 คน ซึ่งเรายังไม่เห็นความคืบหน้าเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามนั่นเป็นความริเริ่มของทางฝ่ายอัยการ ความจริงแล้วสัญญาณการเตือนเรื่องของการหมดอายุคดีความมีมาสักพักใหญ่แล้ว แล้วความริเริ่มในการที่จะติดตามผลักดันมาจากรัฐสภา มาจากคณะกรรมาธิการทางด้านฝ่ายการกฎหมาย ซึ่งเป็นคนไปไล่จี้จุดนั้นจุดนี้ทำให้มีการตื่นตัวขึ้นมา” นวลน้อย ธรรมเสถียร
“จริงอยู่ว่าหลายคนบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของส่วนตัวใช่ คุณไม่สามารถเอาผิดคนนั้นคนนี้ได้เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา แต่อย่าลืมว่าคนเหล่านี้ทำงานในฐานะตัวแทนของรัฐบาล จุดเชื่อมโยงตรงนี้ คุณทำดีหรือไม่ดีมีผลต่อรัฐบาลทั้งสิ้น สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำ รัฐบาลไม่ได้ทำมาพักหนึ่งแล้ว ถึงวันนี้หลายจุดอาจจะช้าไป แต่ว่าสิ่งสำคัญก็คือว่าทำเถอะค่ะ ทำตอนนี้ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แล้วทำอย่างเต็มที่ ทำให้เข้มแข็งที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เห็นความจริงใจแล้วก็ให้มีความรู้สึกว่าคุณยอมรับจริง ๆ” นวลน้อย ธรรมเสถียร