ผู้เขียน : ศิลา สีแดง
“มาเด้อ กินข้าวนำกัน” . . .
เสียงพูดดังขึ้นใต้ร่มฉำฉา กลิ่นข้าวเหนียวหอมฟุ้งลอยมาตามสายลม ผสมกับกลิ่นชาที่พึ่งชงจากใบหม่อนสด บนโต๊ะตัวยาว ซึ่งเบียดแน่นด้วยคนคุ้นเคย เสียงพูดสลับกับเสียงครกตำเครื่องแกงเป็นจังหวะ คล้ายฉากหนึ่งในอดีต …ที่นี่ไม่ใช่ร้านอาหาร แต่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “ทอกะยาย LOCAL LAB” หรือกิจกรรมเปิดบ้าน ที่จัดขึ้นโดยผู้ก่อตั้งทอกะยาย “โอ้” พัฒนชัย ลิมไธสง

“โอ้” ไม่ได้เป็นเชฟมืออาชีพ ไม่ได้เปิดร้านอาหารชื่อดัง เขาเป็นคนธรรมดาที่อยากเปิดบ้านให้ผู้คนเข้ามาเรียนรู้วิถีชุมชน ผ่านเรื่องราวจากผ้าทอ และรสชาติอาหาร ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าสิ่งเหล่านี้กำลังจางหายไปจากชุมชนของเขามากขึ้นทุกที
หลังเรียนจบคณะศึกษาศาสตร์ สาขาการศึกษาตลอดชีวิต จากมหาวิทยาลัยศิลปากร โอ้ใช้เวลาหลายปีทำงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนที่เขาไป เช่น ปัญหาด้านสังคมที่คนหนุ่มสาวย้ายออกจากบ้าน เหลือไว้เพียงผู้สูงอายุที่ต้องดูแลตัวเอง, ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เกิดภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านโดยตรง ไปจนถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ไม่มั่นคง คนหนุ่มสาวจึงนิยมย้ายเข้าเมืองใหญ่ (บ้างก็ไปต่างประเทศ) ทำให้ชนบทไทยขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก
โดยเฉพาะปัญหาทางวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตแบบคนเมืองมากกว่าวิถีแบบชนบท ผู้คนเป็นปัจเจกกันมากขึ้น ความสัมพันธ์ต่าง ๆ ในชุมชนจึงลดลงตามการเปลี่ยนแปลง
ปัญหาดังกล่าวทำให้โอ้ย้อนกลับมานึกถึงชุมชนของตนเอง บ้านสระแก้ว ต.บ้านเป้า อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ เพราะนับตั้งแต่จำความได้ เขาได้เห็นชุมชนเปลี่ยนแปลงมาตลอด-เขารู้เพียงว่าชุมชนของเขาเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เห็นได้จากโบสถ์ไม้โบราณในวัด หรือพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นจากไม้ประดู่ บ่งบอกได้ถึงรากความเป็นมาที่ยาวนานของชุมชน โดยเฉพาะวัฒนธรรมการทอผ้าใช้เอง ซึ่งเขาได้เห็นคนในครอบครัว ตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ถักทอผ้าไหมอันปราณีตที่งดงามและเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณมาตลอด แต่ทุกวันนี้ กลับค่อย ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา
“เหมือนคนรุ่นใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีในชุมชน อย่างเช่นว่า เมื่อก่อนเราเห็นคนเข้าไปใส่บาตรที่วัดกันตั้งแต่เช้า แต่ทุกวันนี้หาคนรุ่นใหม่ในวัดแทบไม่เจอ หรือแม้แต่การสวมใส่เสื้อผ้า เราสามารถซื้อเสื้อแพง ๆ ได้ แต่ไม่สามารถซื้อผ้าทอราคาไม่กี่ร้อยบาทได้ มันบ่งบอกได้ว่า คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้น้อยลง”
ด้วยเหตุนี้ หลังจากทำงานด้านการพัฒนาชุมชนอยู่หลายปี ในที่สุด ปี พ.ศ. 2560 โอ้จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิด เพื่อทำในสิ่งที่ตัวเองฝันด้วยแนวคิดว่า “การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน” เขาก่อตั้ง “ทอกะยาย” แบรนด์ผ้าทอที่เป็นมากกว่าสินค้า แต่เขาตั้งใจให้เป็นพื้นที่เรียนรู้แลกเปลี่ยนแนวคิดของกันและกัน
“พอเรียนจบ เรามีโอกาสได้ทำงานอยู่กรุงเทพฯ หลายเดือน ทั้งเหนื่อย ทั้งเครียด ก็คุยกับยายอยู่ตลอดว่าอยากกลับบ้าน แต่ไม่มีโอกาสได้กลับสักที จึงลาออกมาจับได้ใบแดง เลยไปเป็นทหาร พอปลดออกมา ก็อยากทำนา ปลูกผัก ทอผ้าท้องถิ่น สืบต่อวัฒนธรรมชุมชนให้เป็นที่รู้จัก ก็เลยคิดว่าทอกะยายน่าจะตอบโจทย์ของเราได้มากที่สุด”
“เราเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้ถักทอแต่ผ้า หากแต่ถักทอชีวิตไปด้วย” โอ้มักจะมีนัยน์ตาลุกวาวเมื่อเขาได้กล่าวคำนี้ ซึ่งทำให้เราเข้าใจแนวคิดที่ทำให้เขาตัดสินใจกลับบ้านมากขึ้น
แต่การเริ่มต้นแบรนด์ในพื้นที่บ้านเกิดไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากผ้าทอมือไม่ได้เป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมากนัก โอ้จึงจำต้องทำงานประจำควบคู่ไปด้วย และใช้เวลาหลังเลิกงานผลักดันให้ทอกะยายมีการเติบโตตามทิศทางที่เขาต้องการ โดยเฉพาะตลาดออนไลน์
ซึ่งสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ การทำงานของเขาจึงเป็นไปตามจังหวะชีวิต ไม่เร่งรีบ แต่ให้คุณค่ากับทุกเส้นดายที่ถูกถักทอขึ้นมา
ภาพของหลานนั่งเคียงคู่กับยายจึงเกิดขึ้น พวกเขาเล่าเรื่องราวของวันวานให้กันและกันฟัง ขณะที่มือยังคงขยับไปตามฟืม ถักทอเส้นดายที่ถูกสอดสลับไปมา จนกลายเป็นลวดลายบนผืนผ้า ซึ่งทุกลายเน้นการส่งต่อความทรงจำ วิถีชีวิต และภูมิปัญญา ที่ผสมผสานกับแนวคิดร่วมสมัยได้อย่างลงตัว
สีที่ใช้นำมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ ต้นคราม ใบไม้ ผ้าที่ออกจากทอกะยาย จึงไม่ได้ปรากฏเพียงลวดลาย แต่กลับมีความงามของเวลา แรงกาย และความอบอุ่นอยู่ในทุกอณูของผืนผ้า
แม้ทอกะยายอาจเป็นเพียงแบรนด์ผ้าทอเล็ก ๆ ในสายตาของใครหลายคน แต่สำหรับคนในชุมชน ที่นิยมทอผ้าใช้กันเป็นปกติ ได้กลายเป็นสิ่งที่เชื่อมร้อยอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของคนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน
แน่นอนว่าโอ้มองเห็นความพิเศษข้อนี้ดี เขาจึงขยับขยายพื้นที่บ้านให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ด้วยการจัดกิจกรรม ทอกะยาย LOCAL LAB ขึ้นเป็นครั้งแรก
(เมื่อวันที่ 22-23 มีนาคม ปี 68 ที่ผ่านมา) โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ซึ่งได้รับทุนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้เพื่อนพ้องกับผู้มาเยือนได้สัมผัสบรรยากาศวิถีชุมชนผ่านผ้าทอ และอาหารท้องถิ่นที่หนึ่งฤดูกาลจะได้กินเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น กลิ่นหอมของข้าว กับเสียงพูดคุยอันสนุกสนาน ในวงกินข้าวที่สุดแสนจะธรรมดาจึงเกิดขึ้นในบริเวณบ้านของเขาทันที
“มาเด้อกินข้าวแลงบ้านเฮา” โอ้กล่าวเสียงดังพร้อมกับรอยยิ้ม
หลังจากที่ทุกคนเหน็ดเหนื่อยจากการประกอบกิจกรรมมาตลอดทั้งวัน ท้องไส้ก็เริ่มส่งเสียงด้วยความกระหายหิว อาจเป็นเพราะเสียงสากกระทบกับครกที่ดังขึ้นจากในครัว กลิ่นหอมของขนมจีนน้ำยาปลา ที่ได้มาจากปลาแม่น้ำในชุมชน ผสมกับไอร้อนจากหม้อต้มไก่ใส่ใบหม่อนที่กำลังเดือดปุด ๆ บนเตา ช่างเย้ายวนให้น้ำลายไหลอย่างต้านไม่อยู่
จากนั้นเพียงไม่นาน ขนมจีนน้ำยาปลา, ซุปผักติ้ว, น้ำพริกและผักสดท้ายครัวก็ถูกเสิร์ฟบนโต๊ะ อาหารเหล่านี้ต่างเป็นอาหารตามฤดูกาลที่ชาวบ้านรับประทานกันปกติ เมื่อถูกจัดเรียงต่อหน้าแขกที่เข้ามาร่วมงาน มันจึงไม่ได้เป็นแค่ของกิน แต่มันคือสะพานเชื่อมร้อยผู้คนจากหลายท้องถิ่นให้มาร่วมวงกินข้าวพร้อมกัน
นับเป็นภาพบรรยากาศที่หาชมได้ยาก เพราะวัฒนธรรมการกินเปลี่ยนไป อาหารอีสานดั้งเดิม เช่น ข้าวเหนียว ส้มตำ แจ่ว ลาบ มักกินเป็นวงใหญ่ แต่การเกิดขึ้นของอาหารจานด่วน ร่วมถึงอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ กลับได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้รูปแบบการนั่งกินเปลี่ยนไป บรรยากาศของการล้อมวงกินข้าวพร้อมกันจึงลดลงตามไปด้วย
“อาหารแต่ละท้องถิ่นมันเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชนได้นะ” โอ้กล่าว “เรากินข้าวแบบนี้มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ทุกครั้งก็รู้สึกว่าเรื่องราวของอาหารมันเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย”
สำหรับคนอีสาน การกินข้าวไม่ใช่แค่การเพิ่มพลังงานให้ร่างกายเท่านั้น แต่เป็นการรวมตัวกันของคนในครอบครัวและชุมชน “วงข้าวในอดีต” เคยเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ในครัวเรือน ทุกคนจะนั่งล้อมวงตักข้าวเหนียวจิ้มน้ำพริก แบ่งปันอาหารกันกินเสมือนว่าทุกคนคือเครือญาติ แล้วยังเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวที่ได้พบเจอมาตลอดทั้งวันอีกด้วย
เมื่อบนโต๊ะอาหารเริ่มพร่อง แต่เสียงพูดคุยยังคงสนั่นต่อเนื่อง บางคนลุกไปช่วยล้างจาน บางคนเดินเยี่ยมชมนิทรรศการที่ท้ายสวน บางคนก็สนุกกับการทำชาใบหม่อน ซึ่งมีกลิ่นหอมและเบาสบายท้องเมื่อได้ดื่มกิน บางคนหยิบเส้นไหมขึ้นมาลองสาวด้วยมือของตนเอง
บางคนอาจมางานนี้ด้วยมือเปล่า แต่คล้ายกับว่าพวกเขาได้รับบางสิ่งกลับไป อาจเป็นเส้นไหม ผ้าทอ ชาใบหม่อน อาหารรสชาติใหม่ ๆ หรือมิตรภาพกับความรู้สึกอุ่นใจ แต่สำหรับโอ้ เขาได้เรียนรู้ว่าการเปิดบ้าน ไม่ใช่แค่การต้อนรับแขกเพื่อแบ่งปันอาหาร แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่ช่วยให้เขาเข้าใจอะไรบางอย่างที่ลึกซึ้งกว่านั้นมาก
แม้ว่าการเปิดบ้านครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกของเขาก็ตาม แต่เมื่อได้ลองเปิดบ้านให้คนอื่นเข้ามาเยี่ยมชม มันคือพื้นที่แห่งชีวิต ที่ถักทอกันเหมือนเส้นดาย มีเรื่องราวจากแขกผู้มาเยือนที่หลากหลาย ทำให้เข้าใจว่า ทุกการแลกเปลี่ยนมีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด ความรู้ หรือแม้แต่รอยยิ้มของมิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างงาน สมกับคำที่โอ้มักชอบกล่าวไว้เสมอ “มนุษย์ไม่ได้ถักทอแต่ผ้า หากแต่ถักทอชีวิตไปด้วย”
“มนุษย์ไม่ได้ถักทอแต่ผ้า หากแต่ถักทอชีวิตไปด้วย”