บุหรี่ไฟฟ้าภัยเงียบใกล้ตัวเยาวชน หมอเด็กเผยมีผู้ป่วยเข้ามารักษาตั้งแต่อายุ 10 ปี สอบถามพบสูบบุหรี่ไฟฟ้าและดื่มน้ำกระท่อมตั้งแต่อายุ 8 ขวบ วอนรัฐจัดการก่อนอนาคตของชาติพัง ด้านครูเผยรูปลักษณ์บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เด็กสนใจและเข้าถึงง่าย

รายการ “อีสานขานข่าว” ทางช่องเฟซบุ๊ก “อยู่ดีมีแฮง”ในเครือไทยพีบีเอส ซึ่งถ่ายทอดสดเมื่อเวลา 19.00-20.00 น.วันที่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้หยิบยกประเด็นร้อนเรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า” ซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามเยาวชนในภาคอีสานอย่างหนัก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่เริ่มสูบตั้งแต่อายุเพียง 8-10 ปี จนเกิดปัญหาสุขภาพรุนแรง เช่น ปอดทะลุ ต้องนอน ICU และมีผลกระทบระยะยาวต่อการเรียนและชีวิตประจำวัน โดยรายการได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมรายการจำนวน 3 คนเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และหาทางแก้ไข ประกอบด้วย นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง กุมารแพทย์โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ซึ่งคุณหมอให้ข้อมูลว่า เริ่มพบเด็กป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่กลางปี 2567 ที่ผ่านมาโดยเคสแรกเป็นเด็กอายุ 10 ปี ที่สอบถามพบว่าเริ่มสูบตั้งแต่อายุ 8 ปี และใช้สารเสพติดอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำกระท่อม กัญชา และยาบ้าซึ่งผลที่เกิดขึ้นทำให้เด็กมีปัญหาทั้งทางกายและจิตใจ
นอกจากนั้นยังพบตัวเลขที่น่าตกใจว่า ในช่วงกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2567 พบเด็กป่วย 5 ราย และจนถึงปัจจุบันมีเด็กป่วยหนักจากบุหรี่ไฟฟ้า 6 ราย โดย 50% ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และนอน ICU นานถึง 14 วัน ผลกระทบกับสุขภาพเด็กพบว่า มีปอดถูกทำลายอย่างรุนแรง บางรายอาจเข้าสู่ภาวะปอดอักเสบเรื้อรัง ส่งผลต่อการเรียนและการใช้ชีวิตในระยะยาว ส่วนการที่การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดผลกระทบกับเด็กเร็วกว่าผู้ใหญ่เนื่องจากหลอดลมและปอดของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ กลไกป้องกันสารเคมียังอ่อนแอ ทำให้ผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้าเกิดเร็วและรุนแรงกว่าหลายเท่าตัว
ส่วนปัจจัยที่ทำให้เด็กเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้ามากนั้นเพราะเด็กเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าจากการชักชวนของเพื่อน เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีรูปลักษณ์น่ารัก กลิ่นหอม และดูเป็นแฟชั่น รวมถึงเข้าถึงง่ายทั้งทางออนไลน์และหน้าร้านที่มีขายอยู่เกลื่อนเต็มไปหมด ทั้งในหมู่บ้าน หน้าโรงเรียนและซื้อขายได้ทางออนไลน์อีกด้วย นอกจากนั้นยังพบข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามักใช้ร่วมกับน้ำกระท่อม ซึ่งปัจจุบันระบาดในเด็กอีสานเช่นกัน คุณหมอยังพบเคสเด็กกระเพาะทะลุจากน้ำกระท่อม และจำนวนนี้พบว่าเป็นเด็กหญิงป่วยหนักมากถึง 5 ใน 6 ราย โดยคุณหมอเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการ “Total Ban” ห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย และห้ามครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กด้วยการให้ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อป้องกันก่อนเด็กป่วยและเสียสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้าดังกล่าว
ด้านนางหนูแดง ทูลฉลอง ครูจากโรงเรียนหนองขามวิทยา จ.กาฬสินธุ์ เล่าถึงสถานการณ์ในโรงเรียนและในหมู่บ้านพบว่า แม้จะไม่พบเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนโดยตรง แต่พบผ่านโซเชียลมีเดียที่เด็กโพสต์ลงออนไลน์ จึงรีบเรียกผู้ปกครองมาหารือ และสามารถสกัดปัญหาในโรงเรียนได้ระดับหนึ่ง ส่วนปัจจัยที่ทำให้เด็กเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าคือเพื่อนและรุ่นพี่ เด็กได้รับการชักชวนจากเพื่อนหรือรุ่นพี่ให้ทดลองสูบ นอกจากนั้นยังมีการโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้ามีการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ เช่น Facebook ด้วยราคาถูกตั้งแต่ 99 บาท และมีรูปลักษณ์น่ารัก กลิ่นหอม เช่น รสสตรอว์เบอร์รี ทำให้เด็กอยากลอง อีกองค์ประกอบสำคัญคือครอบครัวอ่อนแอเด็กจำนวนมากในชนบทอยู่กับปู่ย่าตายายที่ไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้ขาดการดูแล และชุมชนที่มีปัญหายาเสพติด เด็กที่อยู่ใกล้ชิดญาติหรือเพื่อนบ้านที่ติดยาเสพติด มีโอกาสเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำกระท่อมมากขึ้น ส่วนแนวทางแก้ไขคุณครูเน้นว่าการแก้ปัญหาต้องเริ่มจากครอบครัวและชุมชน ควบคู่กับโรงเรียน โดยโรงเรียนต้องกล้ายอมรับความจริงว่ามีปัญหา และประสานงานกับผู้ปกครองเพื่อแก้ไขอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ด้านนายวิรัช มั่นในบุญธรรม รองประธานเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต 7 จ.ขอนแก่น กล่าวว่า สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้า ภาพรวมประเทศไทยพบเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้า 9.1% ภาคอีสาน เขตสุขภาพที่มีการสูบสูงสุดคือเขต 9 (นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์) 13.6% รองลงมาคือเขต 8 (บึงกาฬ เลย อุดร หนองคาย หนองบัวลำภู นครพนม สกลนคร) 12% และเขต 7 (ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์) 8.7%
ส่วน จ.ขอนแก่นมีอัตราการสูบสูงถึง 25% โดยเด็กเล็กสุดที่พบคืออายุ 9 ปี และมีรายงานเด็กอายุ 8 ปีในบางพื้นที่ และเป็นที่น่าตกใจที่เด็กหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าเด็กชาย (49.7% เทียบ 44.2%) และยังมีทัศนคติที่ผิดของเยาวชน โดยพบว่า 50% คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน 27% ชอบกลิ่นหอมของบุหรี่ไฟฟ้า 21% คิดว่าควันบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย 23% ไม่รู้ว่าการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย 51% เชื่อว่านิโคตินดีต่อสุขภาพ 61% คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่มวนได้
ส่วนการแก้ไขปัญหาและนโยบายภาครัฐ นายวิรัชชี้ว่ากฎหมายที่มีอยู่ เช่น โทษจำคุก 3-10 ปี และปรับสูงสุด 5 เท่าของมูลค่าสินค้า ยังไม่เพียงพอและบังคับใช้ช้า ต้องเร่งสร้างความตระหนักในเด็กและเยาวชน ส่วนแนวทางแก้ไข ต้อง สร้างแกนนำเยาวชนในโรงเรียนและชุมชน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง ผลิตสื่อที่เข้าถึงเด็กและเยาวชน เพื่อแก้ไขทัศนคติที่ผิด ประสานงานทุกภาคส่วน เช่น โรงเรียน ชุมชน ท้องถิ่น ร้านยา และสำนักงานควบคุมโรค เพื่อคัดกรองและช่วยเหลือเด็กที่ติดบุหรี่ไฟฟ้า เบื้องต้นได้ทำโครงการทดลองในเขต 7 โดยเลือกโรงเรียน 12 แห่ง (จังหวัดละ 3 แห่ง) เป็นโมเดลต้นแบบในการแก้ปัญหา