ได้ยินเสียงหมู่ข้อยบ่ ? สรรหา สว. สะท้อนความหวังประชาชน

23 พฤษภาคม 2567 ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น

แม้จะสิ้นสุดวันรับสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา ไปเมื่อวันที่ 20 – 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่การติดตามเพื่อสะท้อนความคาดหวังต่อ สว.ผู้จะเข้าไปทำหน้าที่สำคัญในสภาสูงดูเหมือนเพิ่งจะเริ่มต้น

“สว.เป็นองค์ประกอบสำคัญองค์กรหนึ่งขององค์กรนิติบัญญัตินะครับ ฉะนั้นการได้มาซึ่ง สว. ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่นะครับ เราในฐานะพลเมืองชาวไทยทุกคนควรจะได้มีส่วนร่วม สิทธิ์ เสียงของทุกคนควรจะได้มีส่วนในการส่งเสียงให้เห็นถึงว่า การได้มาซึ่ง สว.ในครั้งนี้ ประชาชนทุกคนมีความคาดหวัง ประชาชนทุกคนเฝ้ามองแล้วก็อยากเห็นบทบาทของ สว.ในการขับเคลื่อนประเทศไทย” ผศ. ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการส่งเสียงจากประชาชนในภูมิภาคในการเลือก สว. ครั้งนี้

“สว. มีส่วนสำคัญมากโดยเฉพาะ เรื่องของการแก้ไข หรือผลักดันนโยบายต่าง ๆ เพราะเวลาที่อยู่ในสภา ถ้าเราจะผ่านกฎหมายอะไรก็คือจะต้องด้รับเสียงโหวตจาก สว.ด้วย เพราะฉะนั้น สว. จึงมีส่วนสำคัญในการที่จะพัฒนาประเทศ เพราะตอนนี้หลาย ๆ  กฎหมายที่ไม่ผ่านก็เพราะว่า สว.อาจจะไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นการที่เราจะขับเคลื่อนประเทศเราไปได้ก็คือกฎหมายบางอย่างที่มันล้าสมัยก็อาจจะต้องปรับไปด้วย”  จงกล พารา เครือข่ายตลาดเขียวขอนแก่น หนึ่งในผู้ร่วมล้อมวงโสเหล่ เสวนา ฟังเสียงประเทศไทย ฟังเสียงคนท้องถิ่น ที่จัดขึ้น ณ ลานดาวเหนือ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 สำทับถึงความสำคัญในบทบาทการผ่านร่างกฎหมายของ สว.

สว.ทำอะไรได้บ้าง

เว็บไซต์ iLaw หรือ “โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน” รวบรวมข้อมูล เป็น สว. ทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนที่สนใจด้านกฎหมายและการสรรหา สว. ในครั้งนี้ ระบุว่า เป็น สว. สามารถสานต่อภารกิจเพื่อประชาธิปไตยได้หลายเรื่อง ได้แก่

เขียนรัฐธรรมนูญใหม่  พิจารณากฎหมาย เพราะ สว. มีอำนาจลงมติเพื่อออกกฎหมาย การพิจารณากฎหมายบางประเภท สว. มีอำนาจเท่า สส. แต่บางกรณีก็มีบทบาทน้อยกว่า สส.

พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ : ทำในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สว. มีอำนาจเท่า สส. นอกจากนี้ สว. สามารถลงชื่อร่วมกับ สส. เพื่อเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญได้

พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) : พ.ร.ป. เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ การพิจารณาจะทำในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สว. มีอำนาจเท่า สส.

พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) : สว. มีบทบาทน้อยกว่า สส. สว. ไม่มีอำนาจ ‘ปัดตก’ ร่างกฎหมาย แต่ สว. สามารถเห็นชอบ หรือแก้ไขร่างกฎหมายที่ผ่าน สส. มาได้ และ แม้บทบาทจะน้อยกว่า สส. แต่ถ้า สว. ไม่สนับสนุนหลักการประชาธิปไตย กฎหมายดีๆ ก็ผ่านได้ยาก เคาะเลือกคนมาตรวจสอบรัฐบาล

สว. เป็นด่านสำคัญที่จะลงมติรับรองผู้มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ  รวมถึง สว. ยังมีอำนาจให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ ของรัฐ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น อัยการสูงสุด ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแห่งชาติ (ปปง.)

ทั้งนี้ สว. 2567 มีอายุ 5 ปี โดยในรอบ 5 ปีที่ดำรงตำแหน่ง สว. 2567 จะสามารถเคาะเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ-กรรมการองค์กรอิสระคนใหม่ที่จะมาดำรงตำแหน่งแทนที่คนเก่าที่ทยอยพ้นวาระได้ “เกินครึ่ง” สว. จึงเป็นผู้เล่นสำคัญ ที่จะกำหนดหน้าตาผู้มาเป็นศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระชุดต่อไป

ล้อมวงโสเหล่ ฟังเสียงท้องถิ่น ณ  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในโอกาสที่ประเทศไทย กำหนดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในปี 2567  ไทยพีบีเอส โดยกองบรรณาธิการฟังเสียงประเทศไทย ได้กำหนดจัดเวทีฟังเสียงประเทศไทย “เลือกตั้ง สว.” สะท้อนความคาดหวังของประชาชน ซึ่งจัดขึ้นใน 4 จังหวัด 4 ภูมิภาคของไทย  ได้แก่

23  พฤษภาคม 2567  จังหวัดขอนแก่น ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น
30 พฤษภาคม 2567  เวทีภาคใต้ จังหวัดพัทลุง
4 มิถุนายน 2567 เวทีภาคกลาง จังหวัดลพบุรี
7 มิถุนายน 2567 เวทีภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย  

โดยเวทีเสวนาดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกทั่วประเทศและดึงดูดผู้คนในประเด็นการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา ภายใต้ความร่วมมือของ เครือข่ายศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า, สถาบันการศึกษาในภูมิภาค ซึ่งในพื้นที่ภาคอีสานได้แก่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น,  ศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อสาธารณะ, เครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น ที่ร่วมถ่ายทอดสดและเผยแพร่เนื้อหาผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม กว่า 20 เครือข่าย และไทยพีบีเอส ดำเนินวงเสวนา โดย วิภาพร วัฒนวิทย์

เวทีพูดคุยครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ประชาชนทั่วไปที่สนใจเรื่องสังคม การเมือง และประชาชนจาก 20 กลุ่มอาชีพ ภายใต้วัตถุประสงค์สำคัญ คือ 1. ให้องค์ความรู้และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ การคัดเลือก สว.ตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทย และ 2. ได้รับข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนในการคัดเลือก สว.และคุณสมบัติที่ต้องการ เพื่อนำข้อมูลที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนของประชาชนมาต่อยอดเป็นข้อเสนอและภาพสะท้อนของสังคมไทยต่อไป

“เลือก สว.” สะท้อนความคาดหวังของประชาชน

“สว. ถ้ายังไม่มาจาการเลือกตั้งของประชาชน ไม่มีหน้าที่ไปเสนอกฎหมายและไม่มีหน้าที่แต่งตั้งใคร ผมคิดว่าหน้าที่ของ สว. ควรจะมีหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจของกลไกของรัฐ หรืออำนาจต่าง ๆ ที่มีในสังคม นี่คือหลักการสำคัญที่จะทำให้กระบวนการประชาธิปไตยมันไปได้” ณัฐวุฒิ กรมภักดี เลขาธิการ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน ย้ำถึงมุมมองต่อบทบาท สว.ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยไทย

“กติกาที่จะเข้าไปคือสิ่งที่มันเป็นอุปสรรคอันดับแรก ๆ เงื่อนไขมันเป็นอุปสรรคในการสกัดกั้นคนเข้าไปตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว เรื่องเงินค่าสมัคร 2,500 บาท เรื่องเอกสารจุกจิก ค่าใบรับรองแพทย์ที่จะต้องจ่าย แล้วมันยังมีอะไรต่าง ๆ อีกเยอะแยะมากมายที่มันเป็นอุปสรรค ถ้าถามว่า สว.จะมาจากประชาชนได้ไหม ณ ตอนนี้มันไม่มีทางที่จะสามารถเป็น สว.ของภาคประชาชนได้ และประชาชนไม่ได้เลือกด้วย ที่สำคัญทำไมถึงไม่ให้ประชาชนเลือก อันนี้คือคำถามที่ กกต. ต้องตอบให้ได้ด้วยซ้ำ” พิณทอง เล่กัณฑ์ ชาวบ้านดอนหัน อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น เธอนิยามตัวเองว่าอยู่ในกลุ่มอาชีพประชาสังคม ทำอาชีพรับจ้างทั่วไป แลกเปลี่ยนถึงมุมมองต่อเงื่อนไขและอุปสรรคในการสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา

ขอ 1 คำ “สว. สำคัญอย่างไรกับประชาธิปไตยไทย”

หลากหลายถ้อยคำที่ระดม เมื่อถามว่า “สว. สำคัญอย่างไรกับประชาธิปไตยไทย” อันเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงความคาดหวังในการทำหน้าที่ของ สว. ผ่านกลไกรัฐสภา พร้อมกับความกังวลใจ เมื่อการสรรหา สว.ของประเทศไทยในครั้งนี้ มีขั้นตอนที่ซับซ้อนที่สุดอีกครั้งที่ต้องบันทึกไว้ ซึ่งอาจจะที่สุดในโลก

มองภาพอนาคต “ถอดรหัส สรรหา สว. คนไทยได้อะไร”

เพื่อให้กระบวนการสนทนาดำเนินไปตามเป้าหมายเพื่อเป็นพื้นที่พูดคุยอย่างไตร่ตรอง รับฟังทุกความเห็นที่หลากหลาย “ฉากทัศน์” Scenario ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสนทนาของผู้เข้าร่วมโสเหล่ กว่า 120 คน พร้อมให้มีการโหวตเลือก เพื่อจำลองสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น และแลกเปลี่ยนร่วมกับวิทยากร 3 ท่าน  คือ รศ.วนิดา แสงสารพันธ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ผศ.ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น, และมารุต ชุ่มขุนทด ผู้ประกอบการท้องถิ่น CEO และผู้ก่อตั้งคลาสคาเฟ่ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองที่มีแต่ละฉากทัศน์

“ต้องบอกว่าทั้ง 3 ฉากทัศน์มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้ง 3 ฉากทัศน์เลยในสภาพของการเมืองไทยในปัจจุบัน”  รศ.วนิดา แสงสารพันธ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มต้นให้ความเห็นต่อภาพอนาคตที่ใช้เป็นเครื่องมือในการโสเหล่เสวนาถึงอนาคตหลังการสรรหา สว. ก่อนจะขยายความไล่เรียงแต่ละฉากทัศน์ผ่านมุมมองนักวิชาการด้านกฎหมาย

ฉากทัศที่ 1 “จำลองตัวระบบการเลือกตั้งที่บอกว่าซับซ้อนที่สุดในโลก แล้วก็พยายามที่จะชี้ว่าตัวที่ซับซ้อนที่สุดในโลกมันจะนำไปสู่การตั้งคำถามในอนาคตถึงบทบาทหรืออำนาจหน้าที่ของ สว. ฉากทัศน์นี้ก็เป็นไปได้ เราจะสังเกตได้จากในช่วงระยะเวลาที่เริ่มมีการพูดถึงการเลือก สว. ในรอบปัจจุบัน ที่จะมีการส่งเสียงออกมาว่าเป็นการเลือกตั้ง ที่เป็นการเลือกที่จำกัดสิทธิ์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นคนที่อายุไม่ถึง 40 ปี ในขณะเดียวกันคนที่อายุเกิน 40 ปีที่จะเลือกได้ก็ต้องเป็นคนที่จะต้องเข้าสมัครเท่านั้น

เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นฉากทัศที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่ตามมาจากฉากทัศน์ที่ 1 ผลที่มันรุนแรงมากที่สุดคือภาพสะท้อน อันจะนำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณภาพของ สว.ที่ได้มา ในขณะเดียวกัน สว.ที่ว่าจะทำงานได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้หรือไม่ ถ้าเราสังเกตเราจะเห็นว่าในรัฐธรรมนูญมีกำหนดหน้าที่ของของ สว.เอาไว้ 3 – 4 เรื่อง จริง ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ

เรื่องแรก เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพิจารณากฎหมาย ซึ่ง สว.ก็จะมีอำนาจในการยับยั้งในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมาย ซึ่งจะต้องนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วม สอง จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเข้าชื่อกันระหว่าง สส. สว. เพื่อนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่ากฎหมายฉบับใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อันนี้ก็จะใช้เสียงของ สว.เช่นเดียวกัน ในขณะที่เรื่องที่สำคัญมาก ๆ ที่มีผลกับอนาคตการเมืองไทยปัจจุบัน ก็คือเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้เสียงของ สว.ที่เห็นชอบอย่างน้อย 1 ใน 3 ของ สว. 200 คน ก็แปลว่าเกือบ 70 คน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า สว.ที่กำลังจะได้มา จะมีบทบาทอย่างสูงต่อการที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศไทยในช่วงนี้ ซึ่งเราอยู่ในช่วงของการใช้รัฐธรรมนูญฉบับละอายุเฉลี่ยประมาณ 10 ปี ปี พ.ศ.2540, พ.ศ.2550 แล้วก็มาที่ ปี พ.ศ.2560 ส่วนใหญ่ก็จะยอมรับกันว่าในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ มันก็จะมีกลไกซึ่งมีปัญหาอยู่ วิธีแก้ปัญหาประเทศไทยในตอนนี้ก็คืออาจจะต้องไปปลดล็อคที่ตัวรัฐธรรมนูญซึ่งเสียงของ สว.เป็นตัวที่สำคัญมากในการที่จะปลดล็อคหรือแก้ไขได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นฉากทัศน์ที่ 1 ก็เลยนำไปสู่คำถามที่ว่า สว.ถ้ามันเป็นลักษณะแบบซับซ้อนที่สุดในโลก จำกัดคนเข้าถึง แล้ว สว.ที่เข้าไปจะสามารถทำสิ่งที่สำคัญ ๆ เหล่านี้ได้จริงหรือเปล่า”

ฉากทัศน์ที่ 2 ดูแล้วเหมือนจะดีมาก ๆ เลย ก็คือเป็นการตื่นตัวทางการเมือง ซึ่งประชาชนก็ผลักดันให้มีการเลือก ให้ส่งคนของตัวเองหรือคนที่มีคุณสมบัติเข้าไปเพื่อป้องกันไม่ให้มีการบล็อกโหวตจากกลุ่มการเมือง ซึ่งเข้าไปได้แบบนี้จริง ๆ ในส่วนของฉากทัศน์ที่ 2 อาจจะมองโลกในแง่ดีมาก ๆ เลย ก็คือบอกว่าประชาชนสนับสนุนก็จะมีตัวแทนของประชาชนในกลุ่มเข้าไปได้จำนวนมากในขณะที่ในกลุ่มที่บล็อกโหวตเข้าไปจะมีจำนวนไม่มากพอ แล้วมันก็จะนำไปสู่การตรวจสอบกันระหว่าง สว.ที่มาจาก 2 ฟาก แล้วทำให้ทั้ง 2 ฟากนำไปสู่การการตรากฎหมายหรือผลักดันแก้ไขกฎหมายที่น่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ฉากทัศน์ที่ 2 เป็นไปได้ แต่ว่าก้าวแรกที่มันจะต้องเกิดขึ้นก็คือว่ามันจะต้องมีการเข้าสู่กระบวนการเลือกให้มากที่สุดจากภาคประชาชนบวกเงิน 2,500 บาท

ฉากทัศน์ที่ 3 เป็นฉากทัศน์ที่ไม่อยากเห็น เพราะตอนท้ายในจำลองของฉากทัศน์บอกว่ามันจะนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลเกิดปัญหาเสถียรภาพ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ฉากทัศน์ที่ 3 บอกว่าประชาชนตื่นตัว แล้วนำไปสู่ความวุ่นวาย จริง ๆ การตื่นตัวในทางการเมืองดี แต่ว่าการตื่นตัวในทางการเมืองควรจะนำไปสู่สิ่งที่สร้างสรรค์มากกว่านั้น คือสามารถสร้างพลังที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สร้างพลังที่ทำให้ประชาชนหรือ สว.ที่เข้าไป แม้จะมาจากภาคใดก็ตามนำเสียงหรือความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน ไปเป็นทิศทางในการขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไป”

นับหนึ่ง…นี่เพิ่งเริ่มต้น คนไทยจับตาสรรหา สว. 

แม้จะสิ้นสุดวันรับสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา ไปเมื่อวันที่ 20 – 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่กติกาที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน ยิ่งทำให้ประชาชนคนไทยจากทั่วทุกภูมิภาค จำเป็นอย่างมากที่ต้องจับตาเฝ้ามองกลไกหารสรรหา สว. ที่เปรียบเสมือน “ห้องแห่งความลับ” ซึ่งนาทีนี้ ความหวังที่จะเข้าไปในห้องนั้นได้ คือ กลไกของผู้สมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา ประชาชนไทยผู้มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป และมีคุณสมบัติตรงตามกติกาการสมัคร ซึ่งประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร วันในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ ก่อนจะมีขั้นตอนการเลือกระหว่างผู้สมัคร ในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศต่อไป

“การออกแบบรอบนี้ที่ให้เป็นการเลือกจากกลุ่มอาชีพ คงไม่กล้าอธิบายแทนกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่เข้าใจได้ว่าพยายามที่จะให้ที่มาของ สว.แตกต่างจาก สส.เพราะถ้าใช้การเลือกตั้งปกติใช้พื้นที่อำเภอ พื้นที่จังหวัด ในการเลือกตั้งมันก็จะได้คนในกลุ่มเดิม ก็เลยเป็นการดีไซน์ออกมาว่าควรจะมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ เพื่อให้หลากหลายสาขาอาชีพเข้ามาช่วยกันคิด เข้ามาช่วยกันทำหน้าที่เป็นวุฒิสภาแบบนี้

แต่ทีนี้ปัญหามันติดอยู่นิดเดียวก็คือว่ากระบวนการของการเลือก สว.ในรอบนี้ การออกแบบที่ว่าต้องบอกว่าออกแบบให้คนอายุ 40 ขึ้นไป มีสิทธิ์สมัคร สว.ไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นคุณสมบัติเบื้องต้น ถ้าเราไปสังเกตดูไม่ว่าจะเป็นตัว สสเอง ไม่ว่าจะเป็นตัวนายกรัฐมนตรีเอง คุณสมบัติเบื้องต้นของคนที่จะดำรงตำแหน่งเหล่านี้จะมีอายุกำหนดเอาไว้เสมอว่าจะต้องมีอายุเท่าไร เพราะฉะนั้นการออกแบบให้คนอายุ 40 ขึ้นไปมีสิทธิ์ที่จะสมัครเลือก สว.ได้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เรื่องที่แปลกก็คือ คนมักจะกังวลใจกับเรื่องที่เราไม่ชัดเจน วันนี้สิ่งที่ภาครัฐจะทำให้ประชาชนสบายใจกับกติกาการเลือกตั้งในวันนี้ได้อาจจะต้องเป็นการอธิบายว่ากลไกเหล่านี้ที่ กกต. ออกแบบมา มี

วัตถุประสงค์เพื่อที่จะต้องการอะไร แล้วการป้องกันที่พูดถึงกลไกที่ออกแบบแบบนี้ มันจะไปป้องกันอะไรได้แล้วผลที่ กกต.คาดหวังนี่คืออะไร

จะเห็นว่าน้อง ๆ นักศึกษายุคใหม่ เด็กยุคใหม่สนใจมากขึ้นแบบ เพราะฉะนั้นความสนใจมากขึ้นแบบนี้มันแสวงหาคำตอบว่าเวลาเราสงสัยว่ากระบวนการแบบนี้มันคืออะไร เขียนแบบนี้โดยในห้องเลือกตั้งจะไปจัดในห้องประชุมหรืออะไรก็ตามสื่อมวลชนเข้าไม่ได้ เฉพาะคนที่คนที่สมัครเท่านั้น มันทำให้ประชาชนสงสัยไงว่าแล้วข้างในเขาทำอะไรกัน มันก็เลยเป็นที่มาที่มีคนพยายามที่อธิบายว่าถ้าเราอยากรู้ว่าเราทำอะไรกันข้างใน เราก็ต้องพยายามที่จะส่งคนเข้าไป พยายามที่จะรณรงค์ให้คนเข้าไป เพื่อให้คนเหล่านั้นไปดูซิว่าข้างในเขาทำอะไรกัน แต่จริง ๆ คิดว่าประเด็นนี้ กกต.สามารถที่จะอธิบายได้ว่าที่ออกแบบแบบนี้เพื่ออะไร

กลไกที่สำคัญที่สุดก็คือประชาชน เพราะประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ

มาถึงเรื่องสุดท้าย คือเรื่องของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน กำลังจะบอกว่าไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะออกแบบมาแบบไหนก็ตาม เราสังเกตรัฐธรรมนูญไทยยาวขึ้นทุกวัน ปีหน้ารอบหน้าที่มีการเขียนใหม่อาจจะยาวกว่านี้ก็ได้ เพราะฉะนั้นการที่มันเขียนยาวขึ้น คืออะไร เขียนเพื่อพยายามที่จะไปแก้ไขปัญหาเดิม แต่ว่าการแก้ไขปัญหาเดิม มันไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ด้วยกลไกเดียวคือการเลือกตั้ง หรือกลไกเดียวคือการตั้งองค์กรอิสระชื่อแปลก ๆ หน้าตาแปลก ๆ ขึ้นมา แต่กำลังจะบอกว่าการแก้ไขปัญหามันต้องทำให้กลไกในรัฐธรรมนูญทุกกลไกมันทำงานด้วยกัน สอดสัมพันธ์กันไปหมด แบบนี้คือการเขียนหนึ่งอย่างขึ้นมา แล้วบอกว่าประเทศไทยจะหลุดพ้นจากวงจรอะไรก็ตามมันเป็นไปไม่ได้ ซึ่งลักษณะแบบนี้เราจะเห็นว่ากลไกที่สำคัญที่สุดก็คือประชาชน

ถ้าเราวันนี้เราบอกว่าเราสิ้นหวัง เราไม่อยากที่จะสนใจทางการเมืองอีกต่อไปแล้ว เรากำลังจะปล่อยให้ประเทศไทยอยู่ในมือของนักการเมือง หรือนักเลือกตั้งซึ่งเราไม่รู้จักเขาเลย วันนี้เราก็บอกเราไม่รู้จักเลยว่าใครจะมาเลือกตั้ง สว. เพราะฉะนั้นยิ่งเป็นแบบนี้ คนก็ต้องยิ่งสนใจมากขึ้น ประชาชนก็จะต้องยิ่งสนใจกันมากขึ้น ให้ความสำคัญกับมันมากขึ้น ถึงแม้ว่าระดับของการให้มีส่วนร่วมทางการเมืองอาจจะเป็นแค่ระดับต้นคือแค่ให้ข้อมูล เพราะฉะนั้นวันนี้สิ่งที่จะต้องทำคือ ใครคุณสมบัติครบอย่าลืมไปเลือกตั้ง พอเข้าไปแล้วเกิดอะไรขึ้นมาเล่าให้เราฟังหน่อยว่าข้างในห้องนี้เขาทำอะไรกัน”

แชร์บทความนี้