เมื่อพูดถึงการแข่งเรือยาว หลายคนอาจนึกถึงภาพของฝีพายที่โหมแรงแขนอย่างสามัคคีในสายน้ำ แต่ความสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากฝีพายเพียงอย่างเดียว หากยังมีผู้คนเบื้องหลังที่ทุ่มเทอย่างเงียบ ๆ หนึ่งในนั้นคือ ตาโชติ ชอนหนองบอน จากบ้านท่ามะขาม จ.พิจิตร วัย 74 ปี ผู้เป็นทั้งช่างเรือ ผู้สนับสนุน และผู้รักษาประเพณีที่มีคุณค่า
“ผมไม่รู้ว่าชอบเรือตอนไหน แต่เกิดมาก็เห็นคนแข่งเรือยาวลอยน้ำมาแล้ว”
![]()
ตาโชติกล่าวด้วยรอยยิ้ม เล่าถึงวัยเด็กที่เติบโตในหมู่บ้านที่มีคลองวังทองไหลผ่าน คุณพ่อของตาโชติเองก็เคยเป็นฝีพาย และวิถีชีวิตของคนในชุมชนหลังเสร็จจากการทำนาคือการมารวมตัวซ้อมพายเรือในคลองหลังบ้าน เสียงหัวเราะ ความสนุกสนาน และความสามัคคีในหมู่บ้านปลูกฝังให้ตาโชติหลงรักในวัฒนธรรมเรือยาวตั้งแต่ยังเล็ก
“สาวจำปา” และความทรงจำครั้งแรกกับเรือจิ๋ว
หนึ่งในความทรงจำที่ชัดเจนที่สุดของตาโชติคือการได้เห็น เรือจิ๋ว 12 ฝีพายลำแรกของหมู่บ้าน ที่มีชื่อว่า “สาวจำปา” ซึ่งสร้างความประทับใจให้เขาอย่างมาก เขาชอบเรือจิ๋วเพราะการจัดการไม่ยุ่งยาก พิธีการไหว้เรือเรียบง่าย และสามารถดึงคนในชุมชนมาร่วมทีมได้ไม่ยาก ต่างจากเรือใหญ่ 30-55 ฝีพายที่ต้องใช้ทรัพยากรมากกว่า
“เรือจิ๋วมันเหมือนหัวใจของชุมชน มันไม่ใหญ่โตเกินไป แต่ก็สนุกพอสำหรับทุกคน” ตาโชติเล่าพลางหัวเราะ
ไม่ใช่ฝีพาย แต่เป็นทุกอย่างเพื่อทีม แม้จะรักเรือยาวมาก แต่ตาโชติสารภาพว่าเขาไม่ชอบการเป็นฝีพาย เพราะการลงเรือทำให้เวียนหัว “เรือมันโยกไปมา ผมไม่ไหวจริง ๆ” เขายอมรับอย่างขำขัน แต่แทนที่จะถอยห่าง เขากลับเลือกสนับสนุนทีมในวิถีทางอื่น ตั้งแต่การซ่อมเรือ ตกแต่งเรือ ไปจนถึงการเตรียมอุปกรณ์ให้ทีมเยาวชน
ตาโชติยังเล่าว่า สมัยก่อนที่ไม่มีเงินมากนัก เขาเคยเดินเท้าระยะทางกว่า 9-10 กิโลเมตรเพื่อไปเชียร์ทีมหมู่บ้านในการแข่งเรือที่อีกหมู่บ้าน นั่นแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทที่เขามีต่อวัฒนธรรมนี้
“หน้าที่ของผมคือการทำให้ทีมพร้อมที่สุด ให้กำลังใจเขา และแนะนำเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่าที่เรารู้ เพราะเราอยากเห็นคนรุ่นใหม่ได้พายเรือและสนุกกับมันเต็มที่”
บทบาทของคนเบื้องหลังที่ยิ่งใหญ่
ปัจจุบัน ตาโชติไม่ได้เป็นแค่ผู้สนับสนุนทีม แต่ยังเป็นช่างต่อเรือที่หลายคนในชุมชนไว้วางใจ เขาเล่าว่า บางวันก็มีคนมาจ้างให้ช่วยดูแลเรือ หรือซ่อมเรือที่ใช้แข่ง “มันเป็นความภูมิใจของผมที่ได้ช่วยทำให้เรือพร้อมลุยสนาม และเห็นคนในชุมชนได้มีพื้นที่ในการแข่งขัน”
นอกจากการช่วยซ่อมเรือ ตาโชติยังช่วยแนะนำเรื่องการไหว้เรือ และเล่าเรื่องราวประเพณีเก่าแก่ให้คนรุ่นใหม่ฟัง เช่น การโห่เรือ การร้องเพลงเรือ และการพูดคุยเรื่องการออกแบบตัวเรือ
รักษาวัฒนธรรมให้คงอยู่ในอนาคต
ตาโชติย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเขาคือการรักษาเรือยาวให้คงอยู่ในชุมชน “เรือยาวไม่ใช่แค่กีฬา มันคือชีวิต วัฒนธรรม และศักดิ์ศรีของหมู่บ้าน ผมอยากเห็นเด็ก ๆ มีพื้นที่ให้พายเรือ และภูมิใจกับสิ่งนี้เหมือนที่ผมเคยรู้สึก”
เรื่องราวของตาโชติสะท้อนถึงความหลากหลายของคนที่เกี่ยวข้องกับเรือยาว ไม่ว่าคุณจะเป็นฝีพาย ผู้สนับสนุน หรือช่างต่อเรือ ทุกบทบาทล้วนมีความสำคัญ การแข่งเรือยาวจึงไม่ได้เป็นเพียงการแข่งขัน แต่เป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงชุมชนและสร้างความภาคภูมิใจให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง
ขอบคุณ ตาโชติ ชอนหนองบอน
ใบไม้ผลัดถิ่น Writer, ไอ่หนุ่มเมืองเข้ Editor, ทีมงานเรารักเรือยาว กลุ่มศึกษาและพัฒนาอัตลักษณ์เมืองพิจิตร