
งานใหญ่ประจำปี ประเพณี “บวชสามเณรฤดูร้อน” ของชุมชนชาวลัวะใกล้คลองเนินทราย เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ที่ศูนย์ประสานงานสมาคมลัวะแห่งประเทศไทยจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่อสืบสานวิถีวัฒนธรรม ในปีนี้มีพี่น้องชาวลัวะ และกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และในภาคกลาง รวมถึงจากภาคเหนืออย่างเชียงรายและเชียงใหม่ เดินทางมาร่วมงานหลายร้อยคน
การบวชสามเณรภาคฤดูร้อน หรือที่คนลัวะเรียกว่า “บวชลูกแก้ว” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 เมษายน 2568 ณ วัดศาลาแดง แขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร มีเด็ก ๆ ร่วมบวชถึง 53 คน
“คนเป็นแม่เห็นลูกได้บวชก็รู้สึกดีใจมาก ช่วงปิดเทอมแม่ก็ต้องไปทำงาน การที่ลูกได้บวชก็จะทำให้เขาไม่ไปดื้อไปซนที่ไหน เด็กที่บวชเณรจะแข็งแรงสมบูรณ์ เขาก็จะเป็นเด็กดี” ผู้ปกครองคนหนึ่งกล่าว
ในวันงาน ลูกแก้วจะถูกจับแต่งตัว วาดลวดลายสวยงามบนหน้า สวมเสื้อผ้าหลากสี มีผ้าโพกหัวประดับด้วยดอกไม้นานาชนิด ขณะที่เสียงกลองและฆ้องดังกระหึ่มทั่วลานหน้าวัดศาลาแดง กลุ่มชายฉกรรจ์รวมตัวออกแรงยกเคะแห่รอบลานพิธี เคะถูกโยกและเขย่าแรงตามจังหวะดนตรี ลูกแก้วตัวน้อยที่นั่งอยู่ด้านในหัวเราะชอบใจ แต่ก็ต้องจับที่นั่งให้แน่น เพราะถ้าพลาดเมื่อไหร่ก็มีสิทธิ์ร่วงจากเคะได้เหมือนกัน
ตามความเชื่อของชาวลัวะ ลูกแก้วที่จะบวชเณรนั้น เป็นเด็กบริสุทธิ์และเหมาะสมที่จะได้รับการแห่ขึ้นบน “เคะ” ถือเป็นการแสดงออกถึงความเคารพและศรัทธาต่อการบวช นอกจากเด็กที่บวชจะได้รับการศึกษาพระธรรมในพุทธศาสนา ยังมีความเชื่อว่า การบวช จะทำให้เด็กมีความสมบูรณ์แข็งแรง โดยการ “บวชเณร” เป็นการบวชทดแทนบุญคุณแม่ ส่วนการ “บวชพระ” เป็นการบวชทดแทนบุญคุณพ่อ
อีกหนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญของการบวชสามเณรของชาวลัวะ คือ “เคะ” หรือเสลี่ยงไม้ ลักษณะคล้ายเก้าอี้ใช้สำหรับการแห่ หรือชาวลัวะเรียกว่า “แห่ลูกแก้ว” ก่อนถึงวันงานคนในชุมชนจะช่วยกันสร้างเคะขึ้นมา คลุมด้วยผ้าหลากสี ประดับตกแต่งให้สวยงามด้วยธง กิ่งไม่ และดอกไม้ ก่อนจะให้ลูกแก้วขึ้นไปนั่งในเคะเพื่อแห่
ในการแบกเคะ ต้องมีคนแบกอย่างน้อย 8 คน และต้องมีคนคอยสลับสับเปลี่ยนช่วยกันแบก นี่ไม่ใช่เพียงพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นกิจกรรมที่สะท้อนถึงการรวมตัวและความสามัคคีของชุมชนลัวะอีกด้วย
ท่ามกลางจังหวะเร้าใจ ผู้ชายที่แบกเคะต้องแข็งแรงพอตัว บางคนแบกเคะโยกจนเหนื่อยก็ผลัดเปลี่ยนกับเพื่อน จังหวะโยกถ้าแรงเกิน เคะหักก็มีให้เห็น แต่ไม่ใช่ปัญหา ซ่อมไม้ มัดเชือกใหม่ ก็กลับเข้าขบวนแห่ต่อได้ทันที ส่วนลูกแก้วที่ตัวไม่ใหญ่ ก็อุ้มขึ้นขี่คอพ่อหรือญาติผู้ชาย เดินแห่ไปรอบงาน พร้อมขบวนรำของชาวบ้าน
แม้จะมีประเพณีและกิจกรรมที่เข้มแข็งในด้านศาสนาและวัฒนธรรม แต่ชาวลัวะยังคงเผชิญกับปัญหาทางด้านสิทธิพลเมืองโดยเฉพาะเรื่องการได้รับสัญชาติไทย
สาม ตาโบ ผู้นำชุมชนชาวลัวะในเขตทวีวัฒนากล่าวว่า ปัจจุบันมีชาวลัวะอาศัยอยู่ในภาคกลางจำนวนราว 3,000 – 4,000 คน และในจำนวนนี้กว่าครึ่งยังอยู่ในสถานะคนไร้รัฐไร้สัญชาติ
สาม เล่าว่า ในอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ชาวลัวะเริ่มย้ายถิ่นฐานจากเชียงรายเข้ากรุงเทพฯ จุดมุ่งหมายเพื่อหางานทำ เริ่มมาอยู่ในเขตทวีวัฒนาก่อนกระจายตัวไปอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ โดยรอบ การที่พวกเขาไร้สัญชาติ ทำให้ต้องเผชิญกับข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้าน ทั้งเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล รวมทั้งการทำงาน
ปัจจุบันชาวลัวะยังคงเดินหน้าการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของตนเองและลูกหลานในอนาคต เพื่อให้สามารถมีสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ในสังคม และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น