ฟังเสียงประเทศไทย : แรงงานโยกย้าย

“แรงงานโยกย้าย” หรือ “แรงงานข้ามชาติ” เป็นกำลังงานแรงงานที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนการพัฒนา และเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะในวันที่ ประเทศไทยเราเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ จำนวนประชากรเราลดลงอย่างต่อเนื่องจนน่ากังวล 

หนึ่งในนโยบาย การนำเข้าแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะเมียนมา ลาว กัมพูชา และอีกหลายประเทศ เป็นหนึ่งในแนวทางที่นักวิชาการมองว่าจะช่วยให้ประเทศไทย ไม่เจ็บหนัก จากการขาดแคลนแรงงาน แต่วันนี้การจะทำให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย นายจ้างยังต้องเจอปัญหาหลายอย่าง จากระบบการขึ้นทะเบียนที่ยังไม่ลงตัว เอกสารที่ยุ่งยาก ระบบที่แข็งตัว ทำให้นายจ้างและลูกจ้างต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายแพง นำไปสู่ความเสี่ยงในการทำผิดกฎหมายจากความไม่ชัดเจอของขั้นตอนและกระบวนการขึ้นทะเบียน

นี่คือโจทย์ที่ฟังเสียงประเทศไทย เปิดพื้นที่พูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างรอบด้าน เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2567 เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับนโยบายแรงงานข้ามชาติ ทำอย่างไรให้การขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องไม่ยาก ผู้ประกอบการและแรงงานไม่ต้องแบบรับความเสี่ยง กับผู้เข้าร่วมเสวนากว่า 40 ท่าน ทั้งตัวแทนแรงงานนอกระบบไทย แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศ ตัวแทนนายจ้าง นักวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐ มาร่วมแลกเปลี่ยน 

ขอ 3 คำ แรงงานเพื่อนบ้านในไทยตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง –

สถานการณ์เมียนมาเป็นสงครามการเมือง เงินเฟ้อ ความยากจน ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ การโยกย้ายที่ดีที่สุด คือ ประเทศไทย ที่ปลอดภัย และสามารถหารายได้ได้ เมื่อย้ายมาเมืองไทย สิ่งที่เราอยากได้ คือการขึ้นทะเบียน เมื่อขึ้นทะเบียนแล้วก็จะเป็นคนถูกกฎหมาย เวลาไปไหนมาไหน ก็ไม่ต้องกังวล 

แต่รัฐบาลยังเปิดช่องว่างให้เกิดการคอรัปชั่น และรีดไถ่แรงงาน ซึ่งแรงงานที่อพยพมา เป็นแรงงานยากจน และไม่มีความรู้ เมื่อเปิดให้ขึ้นทะเบียนออนไลน์ ก็ควรให้มีการชำระเงินออนไลน์ จะได้ตัดปัญหาการเรียกเงินซับซ้อน หรือเป็นส่วนเกินต่าง ๆ จะได้ตัดปัญหาในการเรียกรับเงินเกิน รัฐบาลออกแบบให้การต่อทะเบียนกระชั้นชิดเกินไป บริหารจัดการที่ล้าหลังไปเรื่อย ๆ ไม่เป็นระบบเหมือนเมื่อก่อน ทำตามได้ยาก นายจ้างก็อยากจ้างคนที่ถูกกฎหมาย ลูกจ้างก็อยากเป็นคนถูกกฎหมาย แต่นโยบายของรัฐทำให้ลูกจ้างและนายจ้างทำตามลำบาก เพราะเยอะและซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายเยอะ

มีแรงงานประท้วงหลายจังหวัดแล้ว ที่ระนอง นครปฐม หรือสมุทรสาคร แม้ว่านายจ้างจะไม่รู้ว่า เรียกค่าต่ออายุบัตรเกิน 10,000 บาท รัฐบาลควรจะออกกำหนดชัดเจนว่า ค่าวีซ่า 1,900 บาท ค่าต่ออายุบัตร 1,900 บาท  ค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท รวม ๆ แล้ว ก็แค่ 4,000-5,000 บาท แต่คุณเก็บหลักหมื่น อยากให้นายจ้างไหน เรียกเงินต่ออายุเกิน 5,000 บาทนี้ นายจ้างผิดกฎหมายไปเลย ในเมื่อคุณเอาลูกจ้างมา ต้องอำนวยความสะดวกให้เขา ควรจะเซ็ทระบบแบบนี้มากกว่า ระบบนายจ้างรายย่อยค่อนข้างอำนวยความสะดวกให้กับลูกจ้าง แต่บางทีอาจจะเจอบุคลากรของบริษัททำการละเมิดกฎระเบียบต่าง ๆ อาจจะต้องสอดส่องดูแลด้วย

ณีรมล สุทธิพรรณพงศ์ พิมพ์คำว่า “ถูกตีตรา” บางคนมองว่าคนต่างชาติเข้ามาทำงาน แล้วมาทะเลาะกับคนไทย บางคนดูถูกคนที่เข้ามาทำงานว่ามาทำงานต่ำ ๆ  บางคนเขามีลูกมา ก็ไปบอกเขาว่า พวกเขาเข้าไม่ถึงสิทธิ์หรอก หรืออย่างเช่น มีโรงเรียนเด็กเล็ก มีนักเรียน 53 คน มีลูกแรงงานต่างชาติอยู่ 3 คน งบประมาณได้มาแค่ 50 คน เด็กถูกตีตราว่าเป็นลูกต่างชาติ มาอาศัยประเทศไทยอยู่ 

Miscommunication among migrants communities ในชุมชนของแรงงานส่วนใหญ่การสื่อสารไม่ค่อยชัดเจน อาจจะทำให้เข้าใจผิดกับคนที่อยู่ในชุมชนด้วยกัน สื่อสารไม่ตรงกัน ทำให้ปัญหาเกิด กลายเป็นเข้าใจผิดกัน อยากให้การสื่อสารตรงไปตรงมา ช่องทางเดียวกัน ทำให้แรงงานที่อยู่ในชมุชนเข้าใจตรงกัน

“ทำบัตรแพง” ตอนนี้มีราคาที่ยังไม่นิ่ง ทางสถานทูตของพม่าเอง มีเก็บภาษี แพงมากกว่าที่รัฐบาลไทยตั้งเอาไว้ และมีคนที่ยังไม่ได้ทำงานเยอะมาก เพราะสถานการณ์การเมืองของเมียรมาตอนนี้ยังไม่ดีเท่าไหร่ จึงมีคนที่ข้ามมาทางประเทศไทยเยอะ ยังไม่มีคนที่ทำงาน และได้งานทุกคน เท่ากับว่ารายได้เขายังไม่เยอะ บางคนไม่มี แต่ต้องทำบัตรแพงมากขึ้น ซึ่งบางคนเขาต้องหานายจ้างที่เป็นนายหน้า ทำให้มีค่าใช้จ่ายเยอะมากขึ้นไปอีก 

“Expensive” จากที่ทำงานในพื้นที่ ได้รับทราบประกาศเรื่องของการที่ต้องลงทะเบียนจากในพื้นที่มาว่า พี่น้องแรงงานหลายคน เพิ่งมาถึง อาจจะไม่มีกำลังที่จะจ่ายเงิน รวมทั้งข่าวที่พี่น้องแรงงานเรียกร้องอย่างสันติ ให้ลดค่าทำบัตร แต่ถูกจับ หลายอย่างมาจากราคาแพง 

“ปัญหาเรื่องเอกสาร” การทำพาสปอร์ตแรงานต่างชาติ มีปัญหาหลายอย่างมาก ไหนจะพาสปอร์ตสีน้ำเงิน สีแดง สีชมพู หลายอย่างมาก บางคนเพิ่งทำบัตรสีชมพูมาไม่ถึงหนึ่งเดือน ก็เปลี่ยนให้มาทำพาสปอร์ต เสียเงินเป็นหมื่น บางคนนายจ้างไม่ว่างก็ต้องให้นายหน้า บัตรสุขภาพ บางคนไม่ได้เข้าประกันสังคม ก็ทำบัตร 30 บาท แต่ก่อนจะได้บัตรก็ต้องเสียเป็นพัน อย่างเราไม่เคยเข้าโรงพยาบาลรัฐบาลเลยแต่ต้องเสียเงินบัตรประกันสุขภาพเหมือนกัน เอกสารเยอะมาก นายจ้างเขาก็ปวดหัว อยากให้มีอะไรที่ง่าย ๆ สแกนหน้าผ่านมือถือ หรือใช้หนังสือมอบอำนาจนายจ้างให้ลูกจ้างไปเอง

จากตัวแทนนายจ้าง สิ่งที่ทางนายจ้างได้สัมผัสเรื่องการต่อใบอนุญาตการจ้างแรงงาน กระบวนการทำงานในรัฐบาลที่ผ่านมา นายจ้างทำง่ายมาก ลงทะเบียนผ่านระบบ สะดวก สบาย แต่มติคณะรัฐมนตรี 24 กันยายน 2567 รู้สึกว่า บางขั้นตอนใช้เวลาอนุมัติค่อนข้างนานมาก นานกว่าปกติ ต้องรอทางโน้นอนุมัติ ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะอนุมัติ ทำไมเราถึงพึ่งพาทางเขา ทำไมไม่ให้มันจบที่เรา บางขั้นตอนเสียเยอะมาก ปีนี้ดุเดือดมาก อย่างต่ำ เสียเงิน 13,000 บาทต่อคน บางเจ้าเสียตั้ง 18,000 บาท ยังไม่นับกับที่ต้องไปเสียที่สถานทูตอีก ทำอะไรก็ได้ให้เซฟลูกจ้างไม่ให้ใช้เงินเยอะ เซฟนายจ้างด้วย บางครั้งเราต้องใช้เงินตรงนี้มาลุงทุนกับลูกจ้าง เพราะเราต้องการแรงงานมาทำงานต่อ เราเห็นใจเขา เขามีภาระค่าเช่าบ้าน ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องจ่าย เราอยากให้รัฐบาลมองเห็นตรงนี้ 

ประมาณปี 2562 มีระบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง และลูกจ้าง ต่ออายุนายจ้างสามารถทำเองได้หมด ไม่ต้องพึ่งประเทศต้นทาง เราก็ถามไปทางราชการว่า ทำไมระบบตอนนี้ต้องยื่นไปแล้วต้องรอฝั่งโน้นอนุมัติ ซึ่งระบบเขาตอนนี้ยังไม่เปิดให้จองคิว นายจ้างลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมาแล้ว จนตอนนี้ยังไม่มีทีท่าจะเข้าไปจองคิวได้เลย อย่างกัมพูชาก็ใช้เซิร์ฟเวอร์ของไทย ฐานข้อมูลก็อยู่ในไทย แต่พอนายจ้างคีย์ข้อมูลผิดเข้าไปตัวหนึ่ง เขาให้ไปถามกัมพูชา พอถามกัมพูชาเขาให้ไปถาม สบต. ทำไมถึงต้องมีการเปลี่ยนระบบทุกปีที่มีการต่ออายุ ทั้งที่ระบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว ทำไมต้องทีระบบใหม่ขึ้นมา ผมตั้งข้อสงสัยตรงนี้

“คอรัปชั่น” คือ เรื่องที่สหภาพแรงงานได้รับร้องเรียนจากแรงงานข้ามชาติเยอะที่สุด พวกเขาไม่ได้อยากผิดกฎหมาย เขาเอาเงินไปให้นายหน้าทำเอกสาร ก็เอาไปให้ แล้วไม่ยอมทำให้เขา ต้องไปแจ้งความ พอเข้าสู่กระบวนการของตำรวจก็ล่าช้าอีก ซ้ำร้ายเขารอเอกสารอยู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไปเก็บส่วยเขา เก็บเป็นรายเดือนและมีสติ๊กเกอร์ให้ เดือนหนึ่งมีหลายหน่วยมาก 13-14 หน่วย สติ๊กเกอร์ละ 300 บาท เราเห็นการทำตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐ ที่สำคัญเราเคยไปที่ตลาดกรีบหมู เหมือนเป็นแหล่งค้ามนุษย์ และจะมีนายจ้างมาซื้อตัว ใครเป็นช่างก่อ ช่างฉาบ ช่างปูน ก็เลือกกันตรงนั้นเลย แล้วเย็นก็เอามาส่ง ความเป็นนิติสัมพันธ์ นายจ้าง ประกันสังคมอะไรไม่คุ้มครองเลย บางทีเจ้าหน้าที่จับไป ขอ 5,000 บาท แล้วก็ปล่อยเขา นายจ้างก็ถูกเก็บส่วยเหมือนกัน

“ผิดกฎหมายเยอะ” สถานการณ์เมียรมาเป็นสงครามการเมือง เงินเฟ้อ ชาวบ้านยากจน ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ การโยกย้ายที่ดีที่สุดคือ ประเทศไทย เพราะอยู่ใกล้และปลอดภัย พอโยกย้ายมาก็มีเรื่องการขึ้นทะเบียน ในเมื่อรัฐบาลให้ขึ้นทะเบียน ก็ดีที่จะได้ถูกกฎหมาย เวลาไปไหนมาไหน ก็ไม่มีข้อกังวล แต่รัฐบาลกลับเปิดช่องว่างให้เกิดการคอรัปชั่น และการรีดไถ่เงินกับแรงงาน ส่วนใหญ่แรงงานที่อพยพมา เป็นแรงงานที่ยากจน ไม่มีความรู้ ไม่ควรให้เกิดช่องว่างนี้ เมื่อมีการขึ้นทะเบียนออนไลน์ ต้องมีการขำระเงินทางออนไลน์ จะได้ตัดปัญหาเรื่องการเรียกรับเงินที่ซ้ำซ้อน หรือเรียกรับเงินเกินได้ รัฐบาลออกแบบเพื่อให้คนขึ้นทะเบียนต่ออายุได้แบบกระชั้นชิดเกินไป บริหารจัดการล่าหลังไปเรื่อย ๆ ไม่เป็นระบบ นายจ้างอยากจ้างคนถูกกฎหมาย ลูกจ้าง ก็อยากเป็นคนถูกกฎหมาย แต่นโยบายของรัฐทำให้ทั้งลูกจ้างและนายจ้างทำตามลำบากมาก ขั้นตอนเยอะ ซับซ้อน มีค่าใช้จ่าย มีแรงงานในโรงงานหลายที่ประท้วง รัฐบาลควรจะออกประกาศชัดเจนเรื่องของราคาที่นายจ้างต้องต่ออายุบัตร ปกติค่า Visa ประมาณ 1,900 บาท ค่าใบต่ออายุการทำงาน 2 ปี ประมาณ 1,900 บาท ตรวจสุขภาพ 500 บาท รวมแล้ว ไม่กี่บาท แต่ถูกเรียกเก็บหลักหมื่นเลย อยากให้รัฐบาลออกประกาศเลยว่า นายจ้างไหนเรียกเงินต่ออายุจากแรงงานเกิน 5,000 บาท นายจ้างผิดกฎหมาย 

สถานการณ์แรงงานโยกย้ายในวันนี้ – 

วัยแรงงานลดลง ขณะที่สูงวัยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตวัยแรงงานอยู่หรือไม่ ?

ปัจจุบันประเทศไทย มีประชากร กว่า 66 ล้านคน แต่ถ้าดูจากสถิติจำนวนประชากรย้อนหลัง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 จะเห็นได้ชัดเลย ว่า วัยเด็ก และวัยแรงงานของประเทศไทยเรา มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง 

แต่ในทางตรงกันข้าม เรากับมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในปี 2566  ประเทศไทยเรา ได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ 

 โดยมีจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มากถึง 20% ของประชากรทั้งหมด

คนสูงวัยเยอะ แล้วเรามีคนทำงานได้อยู่เท่าไหร่

จากผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2566 พบว่า ประเทศไทย มีประชากรวัยแรงงาน หรือประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 58.92 ล้านคน 

แต่เป็นคนที่อยู่นอกกำลังแรงงาน อย่าง คนทำงานบ้าน เด็กนักเรียน คนชรา คนที่ไม่สามารถทำงานได้ และอื่นๆ อีก 18.47 ล้านคน หรือ ร้อยละ 31.35 ส่วนผู้อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวน 40.45 ล้านคน หรือ ร้อยละ 68.65 ซึ่งในกำลังแรงงาน 40.45 ล้านคนนี้ ยังมีผู้ว่างงานและยังรอฤดูกาลอีกราว 4 แสนคน เราเหลือผู้มีงานทำไม่ถึง 40 ล้านคน

นี่เป็นปัญหาระดับชาติ  เพราะการที่มีจำนวนแรงงานลดลง แต่จำนวนสูงวัยเพิ่มขึ้น สร้างความสั่นสะเทือนทางด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศไม่น้อย 

แรงงานลด กระทบเศรษฐกิจของประเทศ

งานวิจัยจากเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP Research ประเมินศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ว่า การมีแรงงานลดลง อาจจะทำให้ GDP ของประเทศลดลง ประมาณ 0.5 จุดต่อปี  และจะลดลงเรื่อย ๆ ไปจนถึงปี 2573 และอาจจะลดลงมากกว่านี้ อีก ถึง 0.8 จุดต่อปีในปี 2583 โดยจะทำให้ศักยภาพ GDP ไทยเหลือต่ำเพียงราว 2% ต่อปี เท่านั้น

เนื่องจากกำลังซื้อภายในประเทศจะลดลง รวมไปถึง กำลังการผลิต ที่ต้องใช้แรงงานก็จะลดลงเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกันเรื่องประชากร และกำลังคน จึงถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนการพัฒนาและเศรษฐกิจของประเทศ 

หากเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องของโครงสร้างประชากรได้ อาจทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเติบโต แข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน

ตามรายงาน World Population Prospects ปี 2567 ของ UN ได้จัดทำค่าประมาณประชากรทั่วโลกพบว่า ในสิ้นศตวรรษที่ 21 หรือ ปี พ.ศ. 2643  ประมาณการณ์ว่าประเทศไทยจะมีประชากรอยู่ที่ราว 45 ล้านคน ซึ่งน้อยลงจากปี 2567 ถึงร้อยละ 36.2  หรือหายไปมากกว่า 1 ใน 3

ซึ่งไทย จัดเป็นประเทศที่มีอัตราการสูญเสียประชากรอันดับ 2 รองจากประเทศญี่ปุ่น ที่สูญเสียประชากรไป 41% ส่วนประเทศ อื่น ๆ อยู่ที่ประมาณ 10%

นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกในเอเชียที่เปลี่ยนผ่านจากสังคมสูงวัยขั้นสมบูรณ์ (Aged society) ไปสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด (Super-aged society) ในปี 2572 โดยมีการคาดการณ์ว่าอย่างช้าสุดประชากรของไทยจะลดลงเหลือเพียง 33 ล้านคน และวัยแรงงานของไทยจะลดลง เป็น 14 ล้านคน ในอีก 60 ปีข้างหน้า นี่จึงทำให้ประเทศไทยต้องเริ่มวางกรอบนโยบายด้านประชากรและการจ้างงานใหม่ เพื่อลดผลกระทบจากสังคมสูงวัย 

แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยตั้งแต่เมื่อไหร่

สำหรับการใช้แรงงานต่างชาติของไทย มีมาแต่ในอดีต โดยแรงงานดังกล่าว มักเป็นแรงงานเชลยที่เกิดการกวาดต้อนผู้คน เมื่อชนะศึกสงคราม เพื่อเข้ามาเป็นแรงงาน หรือแรงงานในระบบไพร่ ที่สังกัดมูลนายต่างๆ ซึ่งมีการบันทึกไว้ในพงศาวดาร

เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง การก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง / ประตูและป้อมปราการของพระราชวัง กำแพงพระนคร บรรดาฝีมือช่างและแรงงานต่าง ๆ นอกจากแรงงานชาวไทยแล้ว ก็มีแรงงานชาวต่างชาติเป็นชาวเขมร  และก็ลาว

ส่วนการใช้ แรงงานต่างชาติ ในลักษณะการ ว่าจ้าง  เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 2 และ 3 เมื่อชาวจีนที่อพยพหนีภัยธรรมชาติ ความอดอยากในประเทศตนเอง เข้ามารับจ้างเป็นแรงงานในไทย ทั้งที่เป็นกุลี หรือแรงงานอิสระ รับจ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั่วไป

ต่อมา เมื่อมีชาวต่างชาติ เข้าทำงานในสาขาอาชีพต่าง ๆ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รัชกาลที่ 6 ทรงห่วงว่า แรงงานไทย จะถูกแย่งงงานไปหมด ดังนั้น ในปี 2454 จึงโปรดให้ตรากฎหมายเพื่อควบคุมแรงงาน และสภาพการทำงาน

ปี 2459 ตรากฎหมาย กำหนดให้กรรมกรลากรถ ต้องจดทะเบียนใบอนุญาตทำงาน และมีข้อปฏิบัติว่า ต้องมีอายุระหว่าง 18-40 ปี พูดภาษาไทยได้  ซึ่งถือเป็นกฎหมายกำหนดมาตรฐานแรงงาน และควบคุมอาชีพ แรงงานต่างชาติ ฉบับแรก ๆ ของไทย

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 รัฐบาลได้มีการตรากฎหมายหลายฉบับ เพื่อจำกัดอาชีพ คงต่างชาติไว้ เช่น พระราชกฤษฎีกาสงวนอาชีพสำหรับคนไทย พ.ศ. 2483 พระราชบัญญัติช่วยอาชีพและวิชาชีพ พ.ศ. 2484 เพื่อสงวนอาชีพ และวิชาชีพบางประเภทไว้สำหรับคนไทย และกำหนดพื้นที่ที่ห้ามคนต่างชาติประกอบอาชีพ 

พระราชบัญญัติช่วยอาชีพและวิชาชีพ พ.ศ. 2485 ที่มีกำหนดให้โรงงานต้องจ้างคนไทยตามจำนวนหรือตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนด

ประเทศไทยมีแรงงานโยกย้ายเท่าไหร่ในปัจจุบัน


การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ก้าวหน้ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงมีความต้องการกำลังแรงงานจำนวนมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จำนวนการจ้างแรงงานข้ามชาติปรับตัวสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบัน จากข้อมูลโดยกรมการจัดหางาน ณ วันที่ 30 มกราคม 2567 มีแรงงานต่างด้าวสี่สัญชาติ เมียนมา กัมพูชา ลาวและเวียดนาม ทั้งหมดจำนวน 3,415,774 คน

ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวอยู่ในระดับที่สูงติดอันดับที่ 17 ของโลก และถือเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมหลัก 4 ประเภท ได้แก่ (1) ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้และประมง (2) ภาคการก่อสร้าง (3) ภาคการผลิต และ (4) ภาคบริการ

โดยธุรกิจที่มีการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวสูงจะเป็นบริษัทที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 95 และมีการจ้างงานกว่าร้อยละ 50 ของภาคธุรกิจทั้งหมด

จนถึงวันนี้ อย่างที่เราทุกคนเห็นกัน คนย้ายถิ่นในประเทศไทยส่วนใหญ่ มาทำงานในกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น ครอบคลุมอาชีพหลัก  ได้แก่ กิจการก่อสร้าง   เกษตรและปศุสัตว์ การให้บริการต่าง ๆ และกิจการต่อเนื่องการเกษตร เป็นต้น 

โดยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน 4 สัญชาติ ที่อยู่ในระบบ 3,027,129 คน ประกอบด้วย  เมียนมา 2,275,888 คน กัมพูชา 461,117 คน   ลาว 286,457 คน และเวียดนาม 3,667 คน

ความท้าทายที่แรงงานโยกย้ายต้องเผชิญ เมื่อก้าวเข้ามาทำงานที่ประเทศไทย

การเข้ามาทำงาน ใช้ชีวิตอยู่ในไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับแรงงานที่อพยพ โยกย้ายเข้ามา 

พวกเขาต้องเผชิญปัญหาหลายอย่าง ทั้งเรื่องกฎหมาย สังคม เศรษฐกิจ สภาพการทำงาน และสิทธิในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ได้รับสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจน หรือไม่ได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสม เช่น ความไม่ชัดเจน ไม่แน่นอนของมาตรการผ่อนผัน ขึ้นทะเบียนแรงงาน การกำหนดให้การขึ้นทะเบียนแรงงานต้องไปยึดโยงกับกับการดำเนินการในประเทศต้นทาง 

เพราะทำให้แรงงานและนายจ้างมีค่าใช้จ่ายสูง และกรณีเมียนมา ยังมีเหตุด้านการเมืองที่ทำให้แรงงาน ไม่ต้องการยืนยันตัวตน และให้ข้อมูลส่วนบุคคลกับรัฐบาลทหาร

ความท้าทายในประเทศต้นทาง เช่น แรงงานจากกัมพูชามีค่าใช้จ่ายสูงในกระบวนการจัดทำหนังสือเดินทาง  แรงงานจากเมียนมา ที่จะออกไปทำงานต่างประเทศต้องทำเอกสารประจําตัวประชาชน  ซึ่งแรงงานไม่ต้องการทำหรือไม่ต้องส่งข้อมูลให้รัฐบาลทหารพม่า เพราะไม่ต้องถูกบังคับใช้การเก็บเงินภาษี 2% และเกณฑ์ทหาร ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลทหาร ยังมีนโยบายห้ามผู้ชายไปทำงานต่างประเทศ และปราบปรามผู้ที่เคยเข้าร่วมเดินขบวนประท้วงของประชาชนทั่วประเทศ 

ความท้าทายในเชิงอุดมคติและปรากฏการณ์สื่อที่สร้างความเกลียดชัง เช่น ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ชุมชนแรงงานย้ายถิ่นถูกมองว่าเป็นแหล่งแพร่ระบาดของไวรัส การให้ภาพแรงงานย้ายถิ่นว่าเข้ามาแย่งงานคนไทยทำงาน การมองแรงงานย้ายถิ่นว่าเป็นภาระด้านสาธารณสุข  การมองคนย้ายถิ่นว่าเป็นแหล่งอาชญากรรม 

ทั้งหมดนี้ เกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์และการวางกรอบนโยบายด้านจัดการประชากรย้ายถิ่น เพื่อให้ประเทศไทย สามารถดึงดูดประชากรคุณภาพและเชื่อมโยงประชากรกลุ่มต่าง ๆ ให้สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม  และสุขภาวะที่เหมาะสม กับการอาศัยอยู่ในสังคมร่วมกัน  

4 มุมมอง วิเคราะห์อนาคตแรงงานโยกย้าย –

แรงงานข้ามชาติ จิ๊กซอว์เชื่อมเศรษฐกิจไทย

ผศ. ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ประเทศไทยต้องการแรงงานข้ามชาติแน่นอน ปัจจุบันเรามีแรงงานข้ามชาติ 3.3 ล้านคน มาจากเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ มากถึง 95% แรงงานข้ามชาติเข้ามาประเทศไทยหลายสิบปี การเข้ามาเป็นเพราะว่าเรามีความต้องการแรงงาน กับปัญหาโครงสร้างประชากรสังคมสูงวัย

ประเด็นแรกคือสังคมสูงวัยกับผลกระทบด้านแรงงาน ปัจจุบันเราเข้าสู่สังคมสูงวัยมาหลายปีแล้ว และอนาคตอันใกล้นี้ประชากรวัยแรงงานจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แค่ราว ๆ 6-7 ปี ข้างหน้า ประชากรวัยแรงงานจะลดลงปีละ 1.2% ทำให้อายุเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 40.5 ปี เป็น 44.3 ปี อัตราการเกิดลดลง อัตราการตายเพิ่มขึ้น คนมีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเราไม่นำเข้าแรงงาน เราจะเจอปัญหาไม่มีคนเสียภาษี เศรษฐกิจไม่พัฒนา

ประเด็นที่สอง อัตราการเกิดลดลง ปีละ 2.5-3% สูงมาก มีเด็กจบใหม่ลดลงจาก 550,000 คน ในปี 2567 เหลือ 470,000 คน ในปี 2573 ไม่ถึงทศวรรษ เด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ถ้าต่ำกว่า 500,000 คน ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมากสำหรับนักประชากรศาสตร์ เพราะถือว่า มีผลกระทบอย่างรุนแรง 

ประเด็นที่สาม แรงงานทักษะไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ เราขาดแคลนแรงงานทักษะจำนวนมาก และหลังจากนี้ ปี 2573 เราจะขาดช่างเทคนิคประมาณ 200,000 คน แรงงานดิจิทัล ซึ่งเราพยายามขับเคลื่อนให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศก็ขาดอีกประมาณ 200,000 คน 

ประเด็นที่สี่ แม้ว่าเราจะมีแรงงานข้ามชาติ 3.3 ล้านคน แต่มีแค่ 5-10% เท่านั้นที่เป็นแรงงานที่มีทักษะ  และกว่า 90% เป็นแรงงานที่มีทักษะต่ำ ถ้าเราจะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่แรงงานที่ทันสมัย เช่น AI ปัญญาประดิษฐ์ต่าง ๆ หุ่นยนต์ แรงงานดิจิทัล นั่นหมายความว่าเรามีแรงงานไม่เพียงพอ เราต้องการแรงงานกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ว่าเราไม่ต้องการแรงงานทั่วไป เรายังต้องการ แต่แรงงานทักษะเราก็ต้องการอยู่

EEC พยายามส่งเสริมการลงทุนอย่างมาก มีคนที่จะเข้ามาขอลงทุนเยอะ แต่ไม่มีคนทำงาน ต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งในการส่งเสริมกิจการการลงทุนเขาอนุญาตให้นำแรงงานเข้ามาได้ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะ 

ภาพรวมความต้องการแรงงานข้ามชาติ ปี 2567-2573 เราต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้นปัจจุบัน 33% และจากนี้ 2567-2573 กลุ่มแรงงานที่เราต้องการมากคือการท่องเที่ยว  ประมาณ 3 แสนคน ภาคอุตสาหกรรม เราต้องการ 650,000-800,000 คน และภาคเทคโนโลยีดิจิทัล 200,000 คน นี่แค่สามภาคส่วน แต่ยังมีอีกหลาย ๆ ส่วนที่เรายังไม่ได้พูดถึง เราจำเป็นต้องแก้ปัญหานี้ และจะทำยังไงให้มีการนำเข้าแรงงานมาโดยไม่ติดขัด ไม่มีอุปสรรค ต้นทุนต่ำ ไม่มีเบี้ยบ้ายรายทาง ไม่มีต้นทุนเยอะ 

ส่วนกลุ่มแรงงานทักษะที่ขาดแคลน ปี 2567-2573 จริง ๆ เราไม่มีนโยบายการนำเข้าแรงงานทักษะอย่างเป็นรูปธรรม เรานำเข้าแรงงานทั่วไป แต่กลุ่มทักษะสำคัญมาก จาก ปี 2567-2573 เราต้องการแรงงานทักษะมาก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ทำงานด้านไซเบอร์ Data science และปัญญาประดิษฐ์ ต้องการ 220,000 คน ด้านช่างเทคนิคที่มีทักษะ เช่น เชี่ยวชาญด้านหุ่นยุนต์ และการผลิตที่มีความแม่นยำจำนวน 175,000 คน และบุคลาการทางการแพทย์ พยาบาลและแพทย์เฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุ กว่า 85,000 คน 

ถ้าเราไม่นำเข้าแรงงานเหล่านี้มาจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจมากมาย เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี ถ้าเราไม่นำเข้าแรงงานเพิ่มขึ้น จะทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของเราลดลง 15-20%

ถ้าไม่นำแรงงานด้านการผลิตยานยนต์เข้ามาเพิ่มจะทำให้  มูลค่าทางเศรษฐกิจจะลดลง 10-15% เกษตรอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในด้านที่ขาดแคลนแรงงานมากมูลค่าทางเศรษฐกิจจะลดลง 8-12% ภาคการท่องเที่ยวและบริการมูลค่าจะลดลง 12-18% หากไม่นำเข้าแรงงานเข้ามา 

ดังนั้นถ้าเราไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการนำเข้าแรงงาน เศรษฐกิจจะเติบโตช้าลง และประชากรด้านแรงงานจะลดลงในปี ค.ศ. 2100 ประชากรไทยจะเหลือแค่ 32 ล้านคน ครึ่งหนึ่งของประชากรในปัจจุบัน และเป็นสังคมสูงวัยอย่างมาก 

เร่งใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยแก้ปัญหา ปลดล็อกการขึ้นทะเบียนแรงงาน

จำนงค์ ทรงเคารพ ผู้ตรวจราชการกรม กรมการจัดหางาน กล่าวถึงความจำเป็นของการนำเข้าแรงงานว่า มองว่าช่วงนี้เศรษฐกิจเราค่อย ๆ ขยับดีขึ้น ความต้องการแรงงานข้ามชาติยังคงต้องมี ปัจจุบันเราเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ เพื่อตอบสนองความต้องการ แต่อยากให้ต้องการตามความเป็นจริง บางห้วง บางเวลาอาจจะใช้คนไทยไปทำงานก่อน ให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ค่อนใช้แรงงานข้ามชาติ เพราะแรงงานข้ามชาติเดินทางมาจากประเทศของเขา เราต้องให้การดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ เรื่องของรายได้ เหมือนกับคนไทย หรือใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นการใช้แรงงานข้ามชาติไม่ได้ประหยัด หรือลดต้นทุนไปมากกว่าคนไทย จึงอยากให้เลือกใช้คนไทยก่อน ถ้าไม่ได้คนไทยจริง ๆ ค่อยเลือกใช้แรงงานข้ามชาติ

เรื่องของการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ เรามีแผนที่จะใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามา อย่างเต็มรูปแบบในเรื่องของการขอใบอนุญาตทำงาน ตอนนี้อยู่ระหว่างกระบวนการตรวจงานและแก้ไข เราจ้างเหมาบริษัทเอกชนมาดำเนินการ ในการยื่นขอใบอนุญาตทำงานทุกกระบวนการทุกขั้นตอน จะรวบเป็นหนึ่งเดียว ทุกขั้นตอนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ และไปรับใบอนุญาตด้วยตนเอง  แต่ก็มีการจัดเก็บอัตลักษณ์ต่าง ๆ เหมือนกับที่ทำอยู่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะดีขึ้น การเข้ามาของแรงงานข้ามชาติ ก็จะสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งประมาณการณ์ไว้ว่าปี 2568 น่าจะได้เริ่มดำเนินการ 

ด้านนิลุบล พงษ์พยอม ในฐานะตัวแทนนายจ้าง กล่าวว่า กระทรวงแรงงานต้องเป็นตัวแทนของนายจ้างและผู้ประกอบการแรงงานด้วย ในการขึ้นทะเบียนแรงงานครั้งนี้ ระบบออนไลน์เคยทำมาหลายปี ทุกอย่างเคยทำในระบบ มีการสแกนออนไลน์หมด แต่ทำไมถึงหายไป 

ทุกครั้งที่มีการขึ้นทะเบียนจะมีระบบใหม่ขึ้น ทำไมถึงไม่ต่อยอดจากระบบเดิม จำนวนตัวเลขเมื่อกี้ 2 ล้านกว่าคนที่ทำใบอนุญาตทำงาน แล้วต่อใบอนุญาตมาเรื่อย ๆ ทีละ 2 ปี ในประเทศไทย ครั้งนี้มีการดึงประเทศต้นทางเข้ามาเกี่ยวข้องในการร่วมอนุมัติ หรือ เซ็นสัญญาในรูปแบบของ MOU นายจ้าง 5 แสนกว่าคน หรือ แรงงานกว่า 2 ล้านคนไม่เคยทำในระบบของ MOU มาก่อน กระทรวงแรงงานไม่เคยให้เราได้เรียนรู้เรื่องของการทำระบบของ MOU สำหรับกลุ่มนี้ที่ต่อมาตลอด

ด้วยระยะเวลาควรจะต้องมีให้เรามากกว่านี้เพราะระบบเพิ่งจะเปิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ตอนนี้เราต้องทำทุกอย่างในกระบวนการ ยื่นขอใบอนุญาตร วมถึงรอระบบของทางสถานทูต เอกสารทุกอย่าง นายจ้างรู้ไหมว่าต้องใช้อะไร ก็ไม่รู้ ในฐานะกลุ่มนายจ้างสีขาวเราพยายามที่จะคุยกับนายจ้างว่าทำในระบบ MOU คุณโอเคหรือเปล่า เราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องของ MOU แต่เราต้องการเรียนรู้ก่อนว่าระบบออนไลน์ใช้อะไรบ้าง 

สถานทูตไม่ได้เข้ามาเซ็นสัญญาเฉย ๆ ต้องให้นายจ้างไปที่ศูนย์ที่ทางสถานทูตเปิด จ.เชียงใหม่ จ.ระนอง และกรุงเทพฯ ตอนนี้นายจ้างเองเราเจอวิกฤตเศรษฐกิจ นายเจ้าต้องมีภาระในการเดินทางไปแต่ละที่ต้องแบกทุกอย่าง และในระบบต้องทำทุกอย่างให้เสร็จภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งอันนี้จะมีแค่แรงงานจากเมียนมาร์ที่ทำระบบนี้

จำนงค์ ทรงเคารพ เสริมต่อ เรื่องของเวลามีการยืดระยะเวลา แต่เรื่องการนำประเทศต้นทางเข้ามาร่วมแรงงานข้ามชาติที่เราบริหารจัดการตรงนี้ เดิมเป็นแรงงานที่หลบหนีเข้าเมืองไม่ได้เข้ามาทำงานแบบถูกกฎหมาย เริ่มต้นเราก็ผ่อนผันให้จดทะเบียน หลังจากจดทะเบียนแล้วก็ให้ประเทศต้นทางเข้ามาพิสูจน์สัญชาติ แรงงานข้ามชาติทุกคนมีเอกสารหนังสือเดินทางทุกคน ทำงานผ่านประเทศไทยมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี กลุ่มนี้อยู่ในประเทศไทยยาวนานแล้ว ในการจะต่ออายุออกไปอีก เราเห็นว่าประเทศเมียนมาร์มีปัญหาขัดข้องในประเทศของเขา 

โจทย์ที่ 1 ก็คือไม่ต้องให้คนแรงงานข้ามชาติเดินทางออกนอกประเทศ

โจทย์ที่ 2 ก็คือทำยังไงให้เขาอยู่ได้นาน การอยู่ได้นานเรามองเรื่องของ MOU และการ MOU คือทำงาน 2 ปี บวกอีก 2 ปี สามารถอยู่ในประเทศไทยได้เลย 4 ปีเต็ม ๆ 

ดังนั้นการจะอยู่ในประเทศไทยได้ในระยะเวลานาน ๆ แบบนี้ก็เลยต้องเอากระบวนการขั้นตอนของ MOU เข้ามาประยุกต์ใช้ จึงมีประเทศต้นทางเข้ามาร่วมดำเนินการ แรงงานทั้งหมดที่เข้ามามีข้อมูลอยู่ที่รัฐทั้งหมดแล้ว เพราะผ่านการพิสูจน์สัญชาติหมดแล้ว มีการแสดงตนหมดแล้ว รับรู้อยู่แล้วว่าเขาอยู่ที่ไหน รอบนี้เขาก็เลยอยากจะทราบว่าที่เขาออก CI ให้ ถ้าเขาดูตั้งแต่ต้นว่าเป็นคนของเขาที่เขาไม่ได้เรียกว่าคนของเขา เขาจะไม่ออกเอกสารให้ ตอนนี้ทุกคนมีเอกสารแสดงตนหมด แล้วที่เขาไปดูเขาดู 2 เรื่อง  1. เรื่องสัญญาจ้าง ความเป็นธรรม เรื่องการใช้ชีวิตในประเทศของคนของเขา ถ้าใครเคยนำเข้า MOU จะรู้ว่าฑูตแรงงานจะต้องเดินทางไปตรวจสถานประกอบการ แต่ครั้งนี้เขายกเว้น ขอเพียงแค่ให้นายจ้างหรือตัวแทนนายจ้างเดินทางไปที่ศูนย์ของเขา เพื่อไปเซ็นสัญญาเอาสัญญาจ้างไปให้ดู เขาจะได้เชื่อมั่นว่าคนของเขาได้อยู่และทำงานในประเทศไทยด้วยความสุขต่อไป

แต่ว่าไม่ได้บังคับซะทีเดียว เพราะกัมพูชาเขาตัดกระบวนการตรงนี้ออก เพราะเขาไม่ต้องดู เขาเชื่อมั่นในประเทศไทย เราส่งบัญชีรายชื่อไปให้เขาเขาตรวจสอบทางอิเล็กทรอนิกส์เขาก็เชื่อ รับรองเสร็จ เขาก็ส่งกลับมา

ส่วนลาวเขาต้องการให้คนกลับประเทศ เราเจรจากับเขา เขาบอกว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คนของเขาต้องเดินทางกลับประเทศเพื่อที่จะไปดูเรื่องสิทธิประโยชน์ว่าที่อยู่ในประเทศไทยได้รับสิทธิประโยชน์ครบไหม เลยต้องขอกลับไปดูตัวก่อน ซึ่งเรากำลังเจรจาอยู่ว่าให้สถานทูตเขาเหมือนดินแดนเขาได้ไหม เราให้คนลาวไปรายงานตัวที่สถานทูต ตอนนี้อยู่ระหว่างรอคำตอบอยู่ 

ข้อเสนอนโยบายแรงงานข้ามชาติ ต้องแก้ที่ระบบ หยุดทำงานแบบราชการ

โรยทราย วงศ์สุบรรณ ที่ปรึกษาการรณรงค์นโยบาย เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พื้นฐานนโยบายแรงงานข้ามชาติของไทยมีความชั่วคราว แต่ละปีแต่จะมีประกาศที่เปลี่ยนไป เพราะนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติถูกออกแบบโดยระบบราชการ เวลาเราดูโครงสร้างการออกแบบนโยบายข้าราชการเป็นคนกำหนดโดยมีเครื่องมือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.แรงงานต่างด้าว พ.ร.บ.คนเข้าเมือง หรือ พ.ร.บ.พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน และที่สำคัญที่สุดทำให้นโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาไม่สะท้อนการบังคับใช้ได้จริง โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบ แรงงาน ผู้ประกอบการ 

ยกตัวอย่างสั้น ๆ ในโครงสร้างการออกแบบนโยบายมีสัดส่วนภาคเอกชนเข้าไปนั่งอยู่กี่คน แล้วเวลาเราพูดถึงผู้แทนภาคเอกชนที่เข้าไปร่วมสะท้อนว่านโยบายเป็นไปได้ไหม นอกจากจำนวนน้อยแล้ว ดันเป็นภาคเอกชนขนาดใหญ่ ภาคอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรม หรือสภาหอการค้า ซึ่งเขามีความต้องการใช้แรงงานไม่เหมือนกับภาคส่วนอื่น ๆ อย่างช่วงเวลาในการทำงานวันนี้ในภาคเกษตรกับภาคการท่องเที่ยวเป็นช่วงพีคของการทำงานของเขาการที่จะต้องใช้ช่วงเวลาเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ไปทำเอกสาร ก็ส่งผลต่อการทำงาน ปกตินายจ้างจะต้องลาหยุดเพื่อเดินทางไป หรืออย่างเรือประมง เรือเขาต้องออกเดือนหนึ่ง 30 วัน ต้องให้เราไปทำเอกสารที่เขาอาจจะต้องขาดการออกเรือ

ถ้าจะแก้ไขเรื่องนี้ต้องลดความเป็นระบบราชการลง ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายมากขึ้นเข้าไปสะท้อนการออกแบบนโยบาย เพราะไม่งั้นจะเป็นนโยบายที่ภาคราชการคิดมาแล้วว่าต้องทำแบบนี้ ราชการมีหน้าที่ในการเจรจากับประเทศต้นทาง และตกลงกับประเทศต้นทางว่าต้องเป็นแบบนี้ แต่คนที่รับผลกระทบก็คือภาคธุรกิจเอกชนหรือลูกจ้าง เวลาเราพูดถึงลูกจ้าง หรือนายจ้าง อย่าไปพูดถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างเดียว ต้องคิดถึงภาคครัวเรือนที่แค่หยุดงาน 1 คนก็ได้รับผลกระทบแล้ว อย่างเช่นการดูแลผู้สูงอายุกว่าจะฝึกให้แรงงาน 1 คนรู้วิธีการป้อนอาหารทางสายยาง อยู่ ๆ ไปทำเอกสาร 2 อาทิตย์ ครอบครัวนั้นเท่ากับว่าคนที่ต้องออกไปทำงานข้างนอกไม่สามารถไปทำงานได้ 

คนได้รับผลกระทบต้องออกมาพูด เพราะอึดอัด ไม่มีช่องทางให้เขาแก้ไข ถ้าเราตัดสินใจดำเนินนโยบายโดยออกแบบจากภาครัฐอย่างเดียวก็จะมีความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเช่นตอนที่เป็นข่าวดัง กรณีที่เป็นแรงงานข้ามชาติมาคลอดที่โรงพยาบาล ถามว่าเราได้ยินหมอบอกว่า ก็แรงงานมายืนอยู่หน้าโรงพยาบาล แล้วต้องใช้บริการมาอธิบายว่าทำไมเขาต้องทำ เราแทบไม่ได้ยินคำอธิบายจากกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นคนคิดค้นประกันสุขภาพ กองทุนสิทธิ์ การย้ายแรงงานเข้ามาประกันสังคมเลย ถ้าเราปล่อยให้คนที่ออกแบบนโยบายไม่ต้องรับผิดรับผิดชอบในผลกระทบที่เกิดขึ้น นโยบายมันจะไม่เคยสอดคล้องกับความเป็นจริง ถ้าอันนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน อาจจะฝากทั้งหน่วยงานราชการ คุณต้องยกเลิกหมวกหรือกฎหมายที่ครอบ และทำยังไงให้เสียงของคนเข้าไปอยู่ในวิธีการดีไซน์นโยบายมากขึ้น 

ข้อกังวลที่เราเห็นอีกส่วนหนึ่งก็คือ หลัง ๆ ประเทศไทยจะแรงกดดันเรื่องสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน ยกตัวอย่าง กรณีอาหารทะเลไทย หลังจากปี 2016 เราตกเป็นข่าวว่าเรามีการใช้แรงงานที่อาจจะเข้าข่ายค้ามนุษย์ ผิดกฎหมาย แล้วก็มีคำใหม่ ๆ ที่ใช้ ก็คือทาสสมัยใหม่ เพราะว่าสินค้าภาคผลิตและภาคบริการของเราเป็นสินค้าที่มูลค่าไม่สูง ผู้ประกอบการจะต้องพยายามกดต้นทุนทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นคน สิ่งแวดล้อมให้ประหยัดที่สุดเพื่อแข่งขันในตลาดโลกได้ในการที่มีค่าใช้จ่ายในการทำเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมของรัฐ ค่าเดินทางเข้ามาเกี่ยวข้องค่าใช้จ่ายมันก็จะปูดที่ผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการบางส่วนที่แบกรับไม่ไหวก็จะบอกว่า จ้างคนไทยไม่ต้องจ่ายค่าเอกสาร เพราะฉะนั้นแรงงานข้ามชาติต้องจ่ายเอง คราวนี้คนที่รับ แรงงานขั้นต่ำจะมีเงิน 10,000-20,000 บาท มาออกก็ต้องยืมผู้ประกอบการ พอยืมปุ๊บผู้ประกอบการบอกว่า ฉันไม่ให้คุณออกจากงาน ต้องจ่ายหนี้ฉันก่อน ก็วนกลับมาสู่คำกล่าวหาที่ประเทศไทยสนับสนุนให้เกิดแรงงานบังคับ สนับสนุนให้แรงงานเป็นหนี้ จะได้ออกจากงานไม่ได้

เราแก้ปัญหานี้ตั้งแต่ 2016 จนถึงวันนี้จะเข้า 2025 แล้ว ก็วนเข้ามาสู่ระบบเดิม เราอยากจะฝากตรงนี้ว่า ประเทศไทยไม่ได้มีทางเลือกมากในการแข่งขันห่วงโซ่อุปทาน เป็นความโชคร้ายที่ห่วงโซ่อุปทานเน้นแต่ของถูกอยากจะให้ภาครัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ แล้วเข้าใจว่าต้องเข้ามากำกับดูแล แต่ไม่อยากให้การใช้อำนาจรัฐเป็นลักษณะควบคุมห้ามบอกว่าอะไรทำไม่ได้อย่างเดียว อยากให้มีทางเลือกมากขึ้น ให้ตลาดแรงงานสามารถดำเนินการไปได้จริง 

ประเทศไทยพยายามสร้างกลไกออกแบบนโยบายให้มีเสียงของหลายภาคส่วน เรามีคณะกรรมการนโยบายแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีท่านรัฐมนตรีแรงงานเป็นประธาน ฉะนั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็จะตกที่รัฐมนตรีแรงงานเยอะ ทั้งที่ในกลไกมีหน่วยงานรัฐหลายส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานความมั่นคง หรือสภาพัฒน์ที่ดูเรื่องทิศทางการพัฒนาสังคมของไทย แต่นายจ้างที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คุณเชิญหน่วยงานเดียว นโยบายเลยไม่สะท้อน ข้าราชการไทยส่วนใหญ่ทำงานประจำ ถ้ามีแรงงานข้ามชาติก็อาจจะเป็นแรงงานในบ้านนิดหน่อย 1-2 คน ไม่ได้ต้องเจอสเกลปัญหาอย่างนายจ้าง SME ร้านก๋วยเตี๋ยว หรือร้านหมูกระทะ ที่มีลูกจ้างอยู่ 10 คน ถ้าลูกจ้าง 10 คน ทำเอกสาร ก็ปิดร้าน 7 วัน แต่ค่าเช่าเท่าเดิม ต้นทุนทุกอย่างยังเท่าเดิม

นิลุบล พงษ์พยอม มองว่า ถ้ามีเสียงของนายจ้างเข้าไป ก็อาจจะไม่ได้มีกลุ่มนายจ้างสีขาวในวันนี้เป็นเสียงที่ผู้ประกอบการ SME รายย่อยอึดอัด เราเจอวิธีการขึ้นทะเบียนแบบนี้มาตลอดเวลา ไม่มีการปรับทิศทาง หรือทำให้นายจ้างสะดวกสบาย ทั้ง ๆ ที่เราก็เป็นส่วนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ

ค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายจริงตามประกาศกระทรวงแรงงาน จะมีแค่ค่าใบอนุญาตทำงาน 1,900 บาท ค่าวีซ่า 500 บาท ค่าตรวจโรค และค่าซื้อประกันแล้วแต่ประเภทกิจการ ถ้าเป็นกิจการที่ต้องขึ้นประกันสังคม ก็จ่าย 500 บาท เท่านั้นในการซื้อประกันที่จะรอสิทธิ์ของประกันสังคมเกิด เผื่อว่าแรงงานเกิดอุบัติเหตุในงานหรือข้างนอกงาน ถ้าเป็นกลุ่มของเกษตรประมงคนทำงานบ้านหาบเร่แผงลอยก็จะจ่ายอีกเรทนึง เพื่อให้ Cover กับใบอนุญาตทำงาน 2 ปี ค่าใช้จ่ายจริง ๆ แล้ว ตกอยู่ที่ประมาณ 3,000 กว่าบาท ที่เหลือพอมีเรื่องของประเทศต้นทางเข้ามา หรือมีเรื่องของที่ต้องเดินทางมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เป็นภาระของนายจ้างที่ต้องส่งตัวแทนหรือต้องจ้างตัวแทนผู้ประกอบการไป เราไม่รู้ว่ามีเอกสารอะไรบ้าง ได้สื่อสารกับทางสถานทูตยังไง มีเอกสารหรือค่าใช้จ่ายเท่าไหร่บ้างและต้องจ่ายใคร มีอะไรนอกเหนือจากนี้ไหม ในประกาศของกระทรวงแรงงานไม่ได้ชี้แจง แต่มีการพูดคุยกับประเทศต้นทางมีการหารือเพื่อที่จะอยากได้ MOU มาหลายปี แต่หลายปีนี้มีเงื่อนไขที่เป็นภาระให้กับผู้ประกอบการเพิ่มเป็นคอร์สเป็นต้นทุนที่ต้องเพิ่มลงไปใน product ทำให้เราไปแข่งขันตลาดอื่นไม่ได้

อาจจะต้องทบทวนกันใหม่เรื่องของการขึ้นทะเบียนทุกครั้ง ขั้นตอนต่าง ๆ หรือแต่ละหน่วยงานที่เราจะไปต่อใบอนุญาตทำงาน แต่ละหน่วยงานรับประกาศของกระทรวงแรงงานไป เราได้ประสานกับหลายหน่วยงานว่าทราบหรือไม่ที่จะต้องทำอย่างไรในการที่จะรับคนเข้าไปตรวจโรค หรือตีวีซ่า หรือจะไปขึ้นประกันสังคม สุดท้ายหน่วยงานพวกนี้แม้แต่ประกันสังคมเองที่อยู่ในกระทรวงเดียวกันเอง ก็ยังอ่านภาษาราชการไม่รู้เรื่อง นายจ้างผู้ประกอบการซึ่งเป็น SME หรือคนที่ไม่รู้ภาษาราชการ ก็ยิ่งมีปัญหายิ่งทำคอมพิวเตอร์ไม่เป็น อยู่ในภาวะผู้สูงวัยด้วย ต้องดูแลคนที่บ้านจะทำอย่างไร 

พอเราเข้าไม่ถึงแล้วมีประเทศต้นทางเข้ามา จะมีแรงงานหรือคนที่เป็นสัญชาติเขาอยู่ ตอนนี้เกิดอาชีพให้คนพวกนี้เข้าไปทำในอาชีพที่เขาไม่อนุญาตตามกฎหมาย นายจ้างเราเองไม่ได้มีข้อมูลว่าตัวแทนไหนที่จะเป็นตัวแทนนายจ้างได้ แล้วถามว่าคนไทยไปไหน คุณจะให้คนไทยมาทำงาน 3D พวกนี้ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว คนรุ่นใหม่ก็อยากจะไปทำงานที่ดี ๆ ที่โชว์หน้าโชว์ตา และนายจ้างผู้ประกอบการเอง เราก็ไม่เคยแปะป้ายที่จะบอกว่ารับคนงานข้ามชาติเท่านั้น เรารับหมด แต่ว่าไม่มีคนไทยที่เข้ามาทำ หน่วยงานต่าง ๆ หรือกระทรวงแรงงานต้องหยุดพูดได้แล้ว 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการจ่ายค่าคิวต่าง ๆ ทำให้เราไม่ได้เสียค่าธรรมเนียมอย่างเดียว เราต้องเสียค่าคิวผี ส่วยต่าง ๆ คอร์รัปชั่นต่าง ๆ ของหน่วยงาน ไม่ใช่ของกระทรวงแรงงานอย่างเดียว แต่ละหน่วยงานค่อนข้างเยอะ นายจ้างเองก็อยากจะใช้อะไรที่ถูกต้อง คุณก็ทำระบบออนไลน์ที่เคยทำไว้สแกนจ่ายเงินให้ถูกต้อง มีใบเสร็จทุกอย่างนายจ้างก็ไม่ได้ติดปัญหาอะไร

ผศ. ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ เสริมต่อว่า ปัญหาที่เราคุยทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากนโยบายการย้ายถิ่นซึ่งไม่ชัดเจน เป็นการย้ายถิ่นที่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การใช้มติ ครม. เป็นครั้ง ๆ ไป ในการขึ้นทะเบียนแรงงาน หรือต่อไปอนุญาตทำงาน และระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละครั้ง ไม่มีความนิ่ง 

ซึ่งจริง ๆ การต่อใบอนุญาตทำงาน ควรจะเป็นเรื่องอนุมัติว่า ครบกำหนดแล้วก็ต่อได้เลย เอกสารก็ควรจะชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง ที่มีออนไลน์ก็ควรจะง่ายขึ้น แล้วก็ไม่มีอุปสรรคในการดำเนินงาน มีต้นทุนต่ำ อันนี้เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ 

แต่ผมอยากจะพูดถึงนโยบายที่ต้องผลักดัน ไม่เพียงนโยบายการที่แรงงานขึ้นทะเบียนแรงงาน แต่ต้องเป็นนโยบายในระยะยาวเพื่อตอบโจทย์สังคมสูงวัย ตอบโจทย์การเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม เราจำเป็นต้องมีนโยบายทดแทนประชากรด้วยการนำเข้าแรงงานหรือการย้ายถิ่น เพื่อให้ตอบโจทย์โครงสร้างประชากรที่ต้องการบุคลากรจำนวนมาก เพื่อชะลอการลดลงของประชากรและมีแรงงานทดแทน ไม่ใช่เพียงแค่นำเข้า 2 ปี ทำงานได้ 2 ปีแล้วก็ต่อวีซ่าทุกปี แต่ต้องมีนโยบายที่บูรณาการทางสังคมให้ประชากรที่เราอนุญาตให้เข้ามาทำงานและอยู่ในประเทศไทย สามารถเป็นผู้มีถิ่นถาวรในประเทศไทยได้ และในอนาคตสามารถเป็นประชากร พลเมืองไทยได้ 

นโยบายเรื่องการทดแทนประชากรด้วยการย้ายถิ่นเป็นแนวคิดที่สำคัญมาก สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลเราพยายามเสนอนโยบายนี้ นโยบายนี้จำเป็นต้องอาศัยความพยายามอย่างมาก ประเทศเราจำเป็นต้องมีหน่วยงานระดับชาติขึ้นมา เพื่อกำหนดแนวทางเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบ ประสานหน่วยงานข้ามกระทรวง ต้องมีการตั้งเป้าหมายประชากรที่เราจะนำเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศระยะยาว อาจจะมีการปรับหน่วยงานระดับกรมหรือสำนักงานเข้ามารวมกันก็ได้ เพื่อเป็นกระทรวงใหม่หรือเป็นหน่วยงานที่อาจจะขึ้นตรงกับนายกก็ได้ เพื่อสามารถสั่งการกระทรวงอื่น ๆ ได้ และต้องมีการกำหนดเป้าหมายจำนวนแล้วก็คุณสมบัติของผู้ย้ายถิ่นที่เราจะนำเข้ามา ในขั้นต้นเราคิดว่าควรจะไม่ต่ำกว่าปีละ 200,000 คนเป็นอย่างน้อย เพื่อชะลอการลดลงของจำนวนประชากรในปี 2643 ให้เหลือ 45 ล้านคน เพื่อไม่ให้ประเทศไทยช็อกในแง่ของการขาดแคลนแรงงาน แล้วจะมีการนำเข้าแรงงานแบบผิดกฎหมาย มีปัญหาต่อสังคม เพราะคนไทยเหลือน้อย คนต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก ก็จะมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งในสังคมได้ แต่เราจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะยาว ปีละ 200,000 คน ไปเรื่อย ๆ อันนี้จะไม่มากเกินไป และคนไทยจะมีประชากรที่ลดลง อัตราที่น้อยลงเรื่อย ๆ สามารถที่จะรักษาโมเมนตัมในการพัฒนาประเทศได้

แต่กระบวนการที่สำคัญมากๆก็คือจะต้องได้รับการเห็นพ้องต้องกัน มีการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้งรัฐบาล สภา เอกชน นายจ้าง ชุมชน ภาคประชาสังคม กลุ่มแรงงานในบางพื้นที่เราต้องการประชากรในพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ย้ายถิ่นจำนวนมาก คนในพื้นที่ลดลงมีแต่คนสูงวัย ไม่มีคนหนุ่มสาว เราต้องมีคนไปอยู่ตรงนั้น ต้องหารือกับท้องถิ่นเป็นต้น อันนี้เป็นบทเรียนที่ใช้ในต่างประเทศ เช่น ฟินแลนด์ แคนาดา เป็นต้น เขาจะมีการดำเนินนโยบายแบบนี้มีการกำหนดพื้นที่ในการนำเข้าประชากร มาแล้วอยู่ตรงไหนบ้าง คุณสมบัติของประชากรเป็นใคร แรงงานกลุ่มไหน หรือสกิลที่หลากหลายกลุ่ม เราจำเป็นต้องมีวีซ่าหลากหลาย มีวีซ่าที่เป็นสกิลระดับสูง ช่างเทคนิค เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ศิลปิน นักกีฬา แรงงานทั่วไป แรงงานดูแลผู้สูงอายุในอนาคตต้องการอย่างมาก และมีความยืดหยุ่นในนโยบายเหล่านี้ ที่สำคัญก็คือเราจำเป็นต้องมีการบูรณาการทางสังคม คุ้มครองสิทธิคนทุกกลุ่ม โดยมีนโยบายเรื่องพหุวัฒนธรรมด้วย อันนี้เป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย จำเป็นต้องหารือกันและดำเนินการขับเคลื่อนต่อไป 

ปัจจุบันเราเข้าใจผิดคิดว่าแรงงานข้ามชาติไม่เสียภาษี ซึ่งไม่จริง สินค้าทุกชนิดที่เขาซื้อ เขาเสีย แบบจ่าย Vat เพราะฉะนั้นทุกคนที่อยู่ในประเทศนี้ที่ซื้อสินค้าต้องจ่าย vat หมด ภาษีของเราเป็นภาษีรายได้ กำหนดรายได้ขั้นต่ำที่ไม่ต้องเสียภาษี ประเทศนี้ใช้กฎเกณฑ์เดียวกันหมด ไม่แยกสัญชาติ แต่ปัญหาคือเราไม่ดึงคนที่อยู่นอกระบบเข้าสู่ระบบ ไม่ใช่เฉพาะรายงานข้ามชาติ คนไทยด้วยประเทศนี้เสียภาษี 3-4 ล้านคน แต่ประชากรวัยแรงงาน 40 ล้านคน หมายความว่ายังไง คนส่วนใหญ่อยู่นอกระบบภาษี อย่าไปมองว่าเป็นข้ามชาติหรือคนไทยคนไทย รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อย มีสวัสดิการน้อยลง ถ้าเก็บภาษีได้มากขึ้น สวัสดิการก็จะเพิ่มขึ้น จำเป็นที่จะต้องดึงเศรษฐกิจนอกระบบเข้ามาบนดิน คนที่อยู่นอกระบบภาษี จะต้องเข้ามาเสียภาษีอาจจะมีแรงจูงใจต่าง ๆ มีกระบวนการเรื่องของกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่ออำนวยมากขึ้น มีการแก้กฎหมายเรื่องภาษีจำนวนมาก 

ติดตามบทสนทนาเสวนาฟังเสียงประเทศไทย ตอนแรงงานโยกย้าย  3 ชั่วโมงเต็ม ได้ที่

–โหวตฉากทัศน์ –

หลังจากได้ฟังมุมมองจากวิทยากรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลแล้ว เรามีภาพฉากทัศน์ที่เป็นตุ๊กตาตั้งต้นเพื่อให้ทุคนได้นำไปคิดต่อ ด้วยกัน 3 ฉากทัศน์ อนาคตของแรงงานโยกย้ายในประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า มาให้ได้ลองโหวตเลือกกัน

ฉากทัศน์ 1: รัฐเชื่อมรัฐรวมศูนย์ดูแลจัดการ

ประเทศไทยใช้แรงงานข้ามชาติมากที่สุดในอาเซียน เพื่อความมั่นคงด้านแรงงาน รัฐบาลกลางมีนโยบายบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติแบบรวมศูนย์ เน้นควบคุมผ่านการจ้างงานแบบ MOU ระหว่างรัฐ และการจ้างงานชายแดน แต่นโยบายผ่อนผันขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานที่ขาดความต่อเนื่อง และยังคงมีการกำหนดอาชีพสงวน ทำให้แม้จะจัดการคนในระบบได้มากขึ้น แต่อาจไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน นายจ้างและลูกจ้างมีค่าใช้จ่ายสูงในการเข้าระบบ การลักลอบเข้าเมืองและการจ้างงานผิดกฎหมายอาจกลายเป็นทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้

การที่แรงงานจำนวนมากเข้าสู่ระบบ ส่งผลให้รัฐจัดการกำลังแรงงานได้มีประสิทธิภาพ และมีงบประมาณในการดูแลสวัสดิการที่ดีขึ้น แต่การจัดการที่รวมศูนย์และเน้นควบคุม อาจไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานในระดับพื้นที่

ฉากทัศน์ 2: รับแรงงานข้ามชาติสู่สังคมไทย

การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัยทำให้ไทยต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากขึ้นในหลายมิติ นำมาสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายที่เน้นการบูรณาการแรงงานข้ามชาติเข้าสู่สังคมไทย มีการปรับปรุงกฎหมายให้แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามสามารถพำนักระยะยาวได้มากขึ้น เข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ทายาทเข้าถึงการศึกษา ภาคเอกชนมีบทบาทในการพัฒนาทักษะแรงงาน ลดข้อจำกัดด้านอาชีพสงวนเพื่อให้มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ และยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิต 

ทุกภาคส่วนร่วมมือกันสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดพื้นที่เรียนรู้และยอมรับซึ่งกันและกัน ท่ามกลางความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรม มองเห็นแรงงานข้ามชาติเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมไทย นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจและเคารพความแตกต่าง 

ฉากทัศน์ 3: แรงงานอาเซียนที่ไร้พรมแดน

การรวมตัวของประชาคมอาเซียนพัฒนาสู่การเป็นตลาดแรงงานเดียว แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ภายใต้มาตรฐานการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการที่เท่าเทียมกันในทุกประเทศ เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสหภาพแรงงาน องค์กรภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐในระดับภูมิภาค ที่ร่วมกันพัฒนาระบบการจัดการแรงงานอาเซียนที่มีประสิทธิภาพ แรงงานมีอำนาจต่อรองมากขึ้น สามารถเลือกงานและสถานที่ทำงานตามความต้องการและศักยภาพของตนเอง 

เทคโนโลยีดิจิทัลถูกนำมาใช้ในการเชื่อมโยงตลาดแรงงานที่ไร้พรมแดน การพัฒนาทักษะ และการคุ้มครองสิทธิได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ ทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานกลายเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในภูมิภาค


แชร์บทความนี้