ฟังเสียงมูโนะ : จุดประกายความฝัน ความหวังและการไปต่อ

ครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์ โกดังพลุระเบิดที่ตลาดมูโนะ ตำบลมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ระเบิดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 66  ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมถึงบ้านเรือนได้รับความเสียหาย  ตลอดระยะที่ผ่านมาเกือบจะ 1 ปี  พบว่าชาวบ้านมูโน๊ะนับร้อยครัวเรือนยังเคว้ง บ้านซ่อมไม่เสร็จ การสูญเสียครั้งนี้ ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู ทั้งสภาพจิตใจ  อาชีพ รวมถึงวิถีชีวิตตลาดนัดชายแดนที่แต่เดิมมูโนะเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย ตอนนี้สภาพเปลี่ยนไปอย่างมาก ยังเป็นโจทย์ที่ยังเร่งช่วยเหลือและฟื้น มูโน๊ะให้กับมามีชีวิตอีกครั้ง 

มูโนะ อยู่ตรงไหนของแผนที่

สำหรับหมู่บ้านมูโนะเป็นหมู่บ้านที่ติดชายแดนประเทศมาเลเซีย มีเพียงแม่น้ำเล็กๆ กั้นระหว่างเขตแดนไทยและมาเลเซีย ชายแดนสุไหงโกลก จ.นราธิวาส ตลาดมูโนะคือตลาดสำคัญของผู้คนในหมู่บ้านมูโนะ เป็นพื้นที่ของการซื้อขายสินค้า ไม่ว่าจะมาจากประเทศมาเลเซียหรือไทย ถือว่าเป็นตลาดสำคัญของผู้คนในพื้นที่แถวนั้น และตลาดเป็นสัญลักษณ์ของ ความร่ำรวย สร้างผู้คน สร้างอัตลักษณ์ที่หลากหลาย เป็นพื้นที่ต่อรองผ่อนปรน

ทีมงานฟังเสียงประเทศไทย เดินทางมาที่ตลาดมูโนะ ตำบลมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส  ในงานครบรอบ 1 ปีมูโนะ ได้จัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ เพื่อสร้างกำลังใจ ฟื้นฟูสภาพจิตใจและเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงปัญหาและภาพอนาคตของชาวมูโน๊ะห้องทดลองปัญญารวมหมู่ของไทยพีบีเอส ได้จัดระดมความคิดเห็นกับชาวมูโนะ และคนที่มาร่วมงาน “มูโนะที่ฉันอยากเห็น” 

คลิ๊กลิ้งค์ ร่วมเติมคำตอบ

และนี่คือคำตอบที่ทีมงานร่วมกันสกัดออกมา คำใหญ่ ๆ ที่ตอบตรงกันมากที่สุดก็คือให้กำลังใจชาวมูโนะ  มีความสุข   มีความเจริญด้านการค้า  เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นตามกาลเวลา รวมถึงคำอื่น ๆ อย่างมีบ้านใหม่ และอยากเห็นมูโนะใหม่ ที่ยังคงเป็นเมืองค้าขาย ที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเหมือนเดิม  

เราชวนคนมูโนะ ก้าวข้ามเหตุการณ์ เพื่อร่วมสะท้อนทิศทางและอนาคตของเมืองมูโนะ ที่ทุกคนอยากเห็นผ่านเวทีเสวนา ฟังเสียงประเทศไทย ฟังเสียงชาวมูโนะ  จุดประกายความฝัน ความหวังและการไปต่อ

อัสมาน บิลาดีน ชาวบ้านมูโนะ

นิฟารา เปาะอาเดะ เยาวชนมูโนะ

ประเสริฐ อาแว กำนัน

เปรมวดี รัดรึงสุนทรี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

รอมฎอน ปันจอร์ กรรมมาธิการฯ /สส. พรรคประชาชน

อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ ThaiPBS

ดำเนินการเสวนาโดย ผศ.ดร.สมัชชา นิลปัทม์ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ครั้งนี้ชาวบ้านให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 200 คน มีการประมวลฉากทัศน์จากจุดแข็งของพื้นที่ชายแดน การค้าและการจ้างงานข้ามแดนของสองฝั่งประเทศ  ประมวลความเป็นไปได้  3 แนวทางหลัก

ฉากทัศน์ 1 : มูโนะ ฟื้นฟูด้วยตัวเอง

ด้วยจุดแข็งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นท่าเรือข้ามแดนไปมาระหว่าง 2 ประเทศได้สะดวกกว่าพื้นที่อื่น  ค่อยๆ ฟื้นตัวกลับสู่สภาพปรกติ มีนักท่องเที่ยวมาเลเซียข้ามแดนมาจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงเลือกซื้อผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นของมูโนะเหมือนแต่ก่อน แต่สินค้าประเภทผิดกฎหมายที่ลักลอบขายและมีโกดังเก็บของทั้งในตลาดมูโนะและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงสินค้าที่ไม่มีใบอนุญาตจำหน่ายอย่าง พลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ยังมีปรากฏอยู่เช่นเดิม

ฉากทัศน์ 2 : จุดผ่อนปรนมูโนะ 

ตลาดมูโนะ ถูกยกระดับเป็นจุดผ่อนปรนเพื่อการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่ชายแดนทั้งสองประเทศ  มีการฟื้นฟูตลาดมูโนะให้เป็นตลาดชุมชนที่มีชีวิตชีวา ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

ขณะที่ท้องถิ่นโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีแผนรองรับโดยเน้นพัฒนาทักษะใหม่ให้คนรุ่นใหม่เเละชาวบ้านในพื้นที่ สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี  ชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและตัดสินใจในการพัฒนา

ฉากทัศน์ 3 : มูโนะ ศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศ

มูโนะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของด่านพรมแดนระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย โดยชูจุดขายเป็นแหล่งจับจ่ายสินค้าราคาถูกปลอดภาษี   ดึงดูดคนไทย-มาเลเซีย สามารถเข้ามาจับจ่ายใช้สอยโดยไม่ต้องใช้พาสปอร์ต //ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ด้วยการเปิดประตูเสรีเข้ามาเที่ยวตลาด

ฉากทัศน์นี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากนโยบายของรัฐคือ รัฐบาลต้องปลดล็อคนโยบายด้านความมั่นคง ผลักดันเรื่องเศรษฐกิจและการค้าชายแดนทำให้สินค้าหนีภาษีเช่น เครื่องอุปโภค บริโภค ให้ถูกต้อง เป็นพื้นที่ปลอดภาษีโดยต้องจับมือกับภาคประชาชนพื้นที่อื่นๆ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐบาลและกลุ่มทุน

5 ปีข้างหน้า คนในพื้นที่อยากให้มูโนะ เป็นแบบไหน ?

เปรมวดี รัตนสุนทรี  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า อยากให้มีจุดผ่อนปรนมาเป็นอันดับแรกเพราะว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว บ้านเราจะคึกคัก บ้านพี่เมืองน้องไปมาหาสู่กันได้ คนที่นี่มีพี่น้องที่อยู่ฝั่งโน้นเจ็บไข้ได้ป่วยเราไปมาหาสูกัน เป็นจุดที่คนมาเลเซียมาซื้อของ อยากให้มีการผ่อนปรน อยู่ในกรอบที่ดูแลได้

นิฟารา เปาะมาเดะ เยาวชนมูโนะ จ.นราธิวาส  มองถึงอนาคตของมูโนะที่สร้างใหม่ว่า  อนาคตอยากเปิดชายแดนทั้งสองประเทศเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้

ก่อนหน้านี้ก็คือในอดีตนะคะ ก็คือเป็นของถูก คนมาเลเซียชอบเข้ามาในฝั่งไทย ตลาดมูโนะ ซื้อของเยอะมาก แล้วรายได้หรือว่าทุกอย่างมันก็คือ จะมาจากคนมาเลเซีย ก็คือข้ามมาอย่างง่ายแต่ ณ ตอนนี้ ก็คือมันไม่ได้ง่ายเลย หลังเกิดเหตุ มันเกิดขึ้นน่าจะเป็นช่วงโควิดนะคะ จากที่ว่ามีกลายเป็นไม่มีนะ จากที่ไม่มีก็ไม่เหลืออะไรเลยก็คือวันเกิดเหตุ ณ ตอนนี้ก็คือเข้าใจว่า ตลาดมูโนะไม่มีแล้ว ผู้คนก็คือ เราจะทำยังไงดีว่าจะดึงดูดคนเข้าหา ขนาดวันนั้นงานครบรอบ 1 ปีอ่ะ ที่จัดมาได้อะไรหลายอย่างเลย อย่างแรกก็คือเหมือนคนมาเลเซียแล้วก็คนสิงคโปร์ ก็คือได้ร่วมงานในครั้งนี้ด้วย เค้าก็เลยถามว่า ตลาดมูโนะยังมีอีกหรอ ก็คือหลังเกิดเหตุก็คือเค้าเข้าใจว่าไม่มี เราก็คือต้องการซัพพอร์ตจากหน่วยงานแล้วก็ภาคเอกชน ในการช่วยซัพพอร์ตตรงนี้ คือไม่ใช่แค่เปิดตลาดอย่างเดียวเราต้องการดึงดูดจากต่างประเทศมาด้วย ก่อนก่อนที่จะดึงดูดต่างประเทศ เราต้องทำคนในประเทศก่อนเข้ามา ดึงดูดเข้ามาหาตรงนี้ค่ะ

ประเสริฐ อาแว กำนันบ้านมูโนะ  สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของมูโนะในช่วงที่ผ่านมาว่า “เราประสบปัญหาโควิดมาช่วงระยะหนึ่ง ภาพรวมเศรษฐกิจเรากระทบมหาศาล จริงมันถึงเวลาที่จะพัฒนาเปลี่ยนแปลง ผมมองภาพง่ายๆว่า โควิดมาเพื่อการเปลี่ยนแปลง และมูโนะก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ที่กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง พัฒนายกระดับ การฟื้นในเชิงการค้ายาก สิ่งที่ผมอยากเห็น เราผลักดันในเรื่องการท่องเที่ยว ถ้ามูโนะจะกลับมาคึกคักเราต้องสร้างแลนมาร์คหรือสร้างจุดแข็งโดดเด่น อาหารวัฒนกรรม  การค้าเสรีที่เชื่อมต่อการท่องเที่ยวต้องใช้นวัตกรรมใหม่ๆในการค้าขาย มาตฐาน ทำอะไรที่มีคุณภาพมีมาตรฐาน ”

“หลังจากที่เราเกิดความสูญเสียขึ้นมาเป็นระยะช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาน่ะ สิ่งแรกที่ชาวบ้านเค้าอยากจะสื่อสาร บอกว่า อะไรความต้องการที่เขาอยากจะได้จริง ๆ ถ้าถามชาวบ้านน่ะ เค้าก็แค่อยากจะได้สิ่งที่เป็นสภาพเดิม ๆ ที่เค้าซื้อขายได้ทุกวันเท่านั้น แต่ในอีกบางส่วนที่เค้าอาจจะมองความก้าวหน้าหรือความเป็นไปได้ การพัฒนา การเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น ผมมองว่าโอกาส ภาพรวมของนราธิวาส โดยเฉพาะของมูโนะ ซึ่งมันเป็นพื้นที่ชายแดน ทำไมเราไม่คิดเป็นพื้นที่ฟรีโซนหรือเขตการค้าเสรีเหมือนที่อรัญประเทศที่สระแก้วหรืออีกหลายที่ ที่มันเป็นชายแดน”

ผศ.ดร. เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สะท้อนมุมมอง จากครบรอบ 1 ปีมูโนะ เห็นถึง 3 อย่าง อย่างแรกผมคิดว่า ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือเราอยู่ภายใต้รัฐราชการ รัฐราชการหมายความว่าไง ก็คือยึดระเบียบเป็นหลักนะครับ อะไรที่อยู่ในระเบียบทำ อะไรที่นอกเหนือระเบียบแต่เป็นประโยชน์กับชาวบ้านไม่ทำ ก็เป็นลักษณะของรัฐราชการซึ่งมันลึกมากกว่านั้น รัฐราชการในพื้นที่ความขัดแย้ง

ประการที่ 2 อยากจะชี้เห็นว่า ครบรอบ 1 ปีสิ่งที่เราไม่พูดคงไม่ได้ เรื่องของความสัมพันธ์ของผู้คน มีความสัมพันธ์ระหว่างข้ามฝั่งของแต่ละฝั่ง มีคนข้ามฝั่ง มีญาติ มีพี่น้อง มันเป็นความสัมพันธ์ที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แต่พอหลังเหตุการณ์ความรุนแรง มันมีมิติเรื่องของความมั่นคงของรัฐเนี่ยไปจับจ้องผู้คนนะครับ ทำให้ศักยภาพความความสัมพันธ์ที่แข็งแรงที่มีมาอย่างยาวนานเนี่ย มันเปราะบางและมันหวาดระแวงกันเกิดขึ้นเมื่อมีความคิดแบบมิติของความมั่นคง

ประเด็นสุดท้ายที่ผมเห็นล่าสุดที่ทางชุมชนได้ทำแล้วก็ทีมที่ได้ลงไป ผมเห็นอย่างที่หลายหลายท่านพูดนะครับ ผม ผมเห็นว่าภายใต้ข้อจำกัด ภายใต้ความสำคัญ ความสัมพันธ์ที่มันเปราะบาง แต่มันเห็นผู้คนที่พยายามที่จะขับเคลื่อนมูโนะขึ้นมาใหม่ ภายใต้ความเปลี่ยนแปลง มันมีพลวัตไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการค้าขายเรื่องของทุน ที่มันมีทุนแล้วก็มีเศรษฐกิจที่มันหลากหลายมากขึ้นนะครับ มันมีการแข่งขันกันมากขึ้น 2. มันมีคนรุ่นใหม่ที่เห็นถึงโอกาส หมายความว่าในยุคปัจจุบันเห็นโอกาสของการที่สามารถที่จะฟื้นฟูมูโนะในรูปแบบใหม่ ในสถานการณ์ใหม่ ซึ่งซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องนับถือน้ำใจของผู้คนที่จัดงาน ณ วันนั้นด้วย ที่ที่พยามที่จะจุดประกายมา แล้วก็สุดท้ายผมว่าผู้นำที่อยู่ในท้องถิ่นก็จะเป็นสิ่งที่สำคัญ นอกจากการให้กำลังใจและเข้ามาร่วมงานแล้วก็สะท้อนให้เห็นถึงว่าท้องถิ่นก็เอาด้วย ไม่ใช่แต่รอรัฐราชการที่มันเป็นรัฐส่วนกลางอย่างเดียว ท้องถิ่นท้องที่ก็พยายามที่จะตอบสนองกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ เพราะเขาใกล้ชิดกับประชาชนอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ที่นี่มีทุนทางสังคม ทั้งภาษา และความสัมพันธ์ของพี่น้องสองฝั่ง การศึกษา  ซึ่งมีโอกาสและความท้าทาย สำหรับโอกาสของการแข่งขันไปในระดับประเทศ อาเซียน เศรษฐกิจหมุนเร็วมาก มีความท้าทาย มูโนะต้องใหม่แต่อย่างไรก็ตาม เราจะมีเศรษฐกิจโดยที่เด็กไม่ต้องเรียนหนังสือก็ได้ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะใช่ แต่เราจะทำให้ไรให้เด็กที่เติบโตมีศักยภาพใดๆ อย่าคิดแค่ มูโนะ แต่คิดว่าพื้นที่ใกล้เป็นอย่างไร  เชื่อมกันอย่างไร มูโนะต้องเห็นศักยภาพพื้นที่อื่นอย่างไร เมืองที่พัฒนาแล้วจะเอื้อต่อเมืองรองเมืองต่างๆด้วย 

รอมฎอน ปันจอร์  ส.ส.พรรคประชาชน กล่าวว่า ไกลสุดผมอยากผลักไปถึงฉากทัศน์ที่สาม ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดที่คิดว่ามูโนะสามารถไปได้ พลังของที่นี้ศักยภาพที่ซ่อนอยู่มีมาก โดยภูมิศาสตร์ที่มีคลองที่สั้น มีความเป็นเครือญาติของสองฝั่ง ต้องยอมรับกันตรงๆว่าชีวิตของคนที่นี่อยู่กับความเทาๆ  แต่ศักยภาพที่นี่มีมาก คนมูโนะแปลกมีคาเรกเตอร์ที่ผสมผสาน เรามีผู้กำกับหนัง เรามีคนที่ไปทำงานต่างประเทศ เรามีนักสร้างสรรค์ มีคนอีกมากมายที่มีศักยภาพ ด้วยความเป็นตลาดมูโนะ คือการสร้างคน ผสมผสานความรู้  แฟชั่น ไอเดีย ครีเอทีฟ คนมูโนะต้องเอาสิ่งเหล่านั้นฉายออกมา

เพราะฉะนั้นเนี่ยผมกำลังชี้ให้เห็นว่า เรากำลังพูดถึงการเติบโตการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่อาจะละเลยความมุ่งมั่น ที่จะคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งให้ได้ ผมยกตัวอย่างได้ ถ้าถามผมนะ ผมอยากเห็นภาพกว้าง ๆ ผมอยากเห็นมูโนะใหม่เนี่ยนะครับโดยวิธีการที่เราต้องฉายแสงฉายไฟเนี่ย เข้าไปที่มูโนะให้มากที่สุดผมต้องขอบคุณหลายคนที่ยังสนใจมูโนะ เพราะว่าอะไร เพราะว่าแสงเนี่ยมันส่องทำให้สีเทามันบางลง มันทำให้สีต่าง ๆ สดใสขึ้น

ผมคิดว่าทำให้มูโนะสว่าง อยู่ในที่เปิดนะครับ และเราอาจจะเห็นศักยภาพที่นั่น แต่ว่าท้ายสุดแล้วคุณต้องเจอโจทย์หนึ่ง คือท้ายสุดเราต้องการความร่วมมือจากมาเลเซียครับ ผมทราบว่า คนมูโนะพยายามมากนะครับ ในการที่จะแสวงหาความร่วมมือข้ามความร่วมมือระหว่างเมืองกับเมืองอะไร แต่ท้ายที่สุดเราต้องการความร่วมมือในระดับรัฐที่จะหาข้อตกลงได้ว่า เส้นชายแดนนี้ เราจะแสวงหาประโยชน์ความเจริญรุ่งเรืองเหมือนกันยังไง อย่างกรณีนายกอันวาร์ กับนายกเศรษฐาลงพื้นที่ไปช่วงต้นเดือนสิงหาคม ผมก็อยากให้เขาไปที่มูโนะนะ เขาไม่ได้ไป แต่เขาทำอันนึงที่เนื้อหาสาระเป็นยังไงไม่รู้ เขาพูดถึง Common Peace and Possibilities คือการมีสันติภาพและการเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ผมว่าทิศทางเนี่ยไอเดียน่าสนใจ แต่มูโนะจะอยู่ตรงไหน เพราะท้ายสุดคุณต้องทำให้สันติภาพบังเกิดขึ้น หาข้อยุติหาข้อตกลงกันให้ได้ว่า คุณจะอยู่ร่วมกันในจังหวัดภาคใต้ยังไง และมูโนะอยู่ในนั้น มูโนะเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ทั้งหมดของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรัฐตอนเหนือของมาเลเซีย เราเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศทางธุรกิจทางเศรษฐกิจแบบนั้น เวลาพูดถึงเรื่องชายแดนไทย -มาเลย์ มันไม่ได้แค่ เขื่อนกันตลิ่ง แไม่ใช่แค่สะพานโกลกแห่ง 2 เท่านั้น แต่หมายถึงชีวิตของผู้คน ทั้งสองฟากฝั่งด้วย และรวมทั้งการฟื้นฟูมูโนะฐานะที่ เป็นการชดเชยความรับผิดชอบของรัฐ ที่จะจัดเยียวยาผู้คนให้เดินไปสู่อนาคตได้ แล้วผมเชื่อว่านะครับ ถ้าเราทำให้มูโนะสว่างกว่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ได้ไปพร้อม ๆ กับการแสวงหาเสถียรภาพ และความมั่นคง และสันติภาพที่มีชีวิตของคนอยู่ในนั้นด้วยนะครับ

โหวตฉากทัศน์ผ่านลิ้งค์นี้

แชร์บทความนี้