“นางเลิ้ง” ในความทรงจำของคุณคืออะไร? หลายคนอาจนึกถึง ตลาดนางเลิ้งตลาดบกแห่งแรกของไทย พื้นที่ย่านเก่าแก่ในกลางกรุงเทพฯ บนถนนนครสวรรค์ วัดสุนทรธรรมทานหรือวัดแคนางเลิ้งที่บรรจุอัฐิของมิตร ชัยบัญชา ละครชาตรี พื้นที่สร้างสรรค์ และอีกมากมาย แต่เมื่อทีม Locals ชวนคุยกับ “น้ำมนต์” นวรัตน์ แววพลอยงาม คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาจากชุมชนนางเลิ้ง และยังเป็นศิลปินผู้ก่อตั้งกลุ่มอีเลิ้ง กลับได้คำตอบที่ทำให้อยากเดินไปทำความรู้จัก “นางเลิ้ง” ให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
“นางเลิ้ง” สำหรับน้ำมนต์ ไม่ใช่แค่สถานที่ แต่หมายถึง “ผู้คน” แม้ว่าตอนนี้จะเปลี่ยนไปตามเวลาและตามการเติบโตของเมือง แต่ก็มีความพยายามบันทึกข้อมูลตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และมองไปถึงอนาคตของนางเลิ้ง ผ่านห้องทดลอง Community Lab ที่เชื่อมคนและคนภายนอก เพื่อจัดเก็บคลังข้อมูลของชุมชน โดยมีศิลปินทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาอยู่ เรียนรู้ และสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ต่อยอดจากวิถีชีวิต วัฒนธรรมซึ่งเป็นต้นทุนของชุมชน อย่าง “ละครชาตรี” ที่คนไทยอาจจะไม่คุ้นชิน แต่มีคุณค่าในสายตาของคนนอก โดยศิลปินชาวอังกฤษ นำ AI มาใช้เก็บท่ารำละครชาตรีและสร้างเป็นละครชาตรีร่วมสมัย นำไปจัดแสดงทั่วโลก
อนาคตก้าวต่อไป ในอีก 5 ปี จากนี้ ชุมชนนางเลิ้งจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไร อะไรคืออนาคต ความฝัน และความหวังของคนนางเลิ้ง อยากชวนทุกคนไปติดตามบทสัมภาษณ์ “น้ำมนต์” คนนางเลิ้ง
น้ำมนต์-นวรัตน์ แววพลอยงาม
ถาม : กว่า 100 ปี ละครชาตรีคู่ชุมชนนางเลิ้ง ถึงวันเปลี่ยนแปลง ?
ตอบ : ละครชาตรีเป็นส่วนสำคัญของชุมชน อยู่มาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม และสืบสาน ดำรงอยูมาถึงปัจจุบัน และมีกระบวนการต่าง ๆ ที่พยายามในเทคโนโลยีมารักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ อย่างที่เห็นว่าครูละครชาตรีมีคุณค่ามาก แต่ครู (ครูจ๋า – กัญญา ทิพโยสถ ผู้สืบทอดละครชาตรี) มีอายุมากแล้ว โจทย์คือจะทำอย่างไรให้สิ่งดีงานเหล่านี้ยังอยู่ต่อไปได้
ครูจ๋า – กัญญา ทิพโยสถ นักแสดงละครชาตรี ผู้สืบทอดละครชาตรีคนสุดท้ายในเมืองไทย
ปัจจุบัน “ละครชาตรี” สามารถทำเป็น VR (Virtual Environment – เทคโนโลยีที่สร้างสิ่งแวดล้อมเสมือน) ใช้ในการเรียนออนไลน์ได้ การนำท่ารำต่าง ๆ ของครู 12 ท่ารำไปทำ 3D ต้องยอมรับว่ามันค่อนข้างยาก เพราะเป็นศาสตร์ของคนยุคหนึ่ง แต่ในยุคนี้คนมีทางเลือกหลากหลาย แต่เรายังเห็นความสำคัญว่ามันจะต้องเก็บของดังเดิมเอาไว้
“วงมือรำของครู ไม่ว่าจะให้สายไหนมาเรียนก็ค่อนข้างยากมากที่จะสืบสาน แต่เทคโนโลยีมันสามารถทำหน้าที่ตรงนั้นได้ ก็จะมีกลุ่ม Maker กลุ่ม Hub ต่าง ๆ ที่มีเครื่องมือเหล่านี้มาช่วยซับพอร์ทงานของชุมชนได้”
เทคโนโลยีวันนี้ทำได้แล้ว แต่ครูยังอยู่ ก็ยังอยากให้เจอครูจริง ๆ ที่ยังมีลมหายใจ วันนี้ก็อยากให้มาเจอครูตัวจริงในชุมชน
อะไรอยู่ตรงไหนบ้างในพื้นที่ชุมชนนางเลิ้ง หากจะมองแผนที่ชุมชนนางเลิ้งดั้งเดิมทั้งหมดจะมองเห็นเป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งก็มีความเชื่อที่ว่าพื้นที่สามเหลี่ยมจะเป็นพื้นที่ที่ artist หรือ ศิลปินอยู่กัน และละครชาตรีก็อยู่ในพื้นที่นี้ อยู่ริมถนนหลานหลวง
แผนที่ชุมชนนางเลิ้งดั้งเดิม ที่มองเห็นเป็นรูปสามเหลี่ยม เชื่อว่าเป็นพื้นที่ของ artist หรือ ศิลปิน
ถาม : สำหรับคนรุ่นใหม่ คำว่า “ชุมชน” หมายถึงอะไร ?
ตอบ : ปัจจุบันคำว่าชุมชนมันขยายกว้าง มันอาจเลยยุคไปแล้วที่จะมาพูดถึง “คนใน” หรือ “คนนอก” ถึงยุคที่ทุกอย่างมันผสมผสานเข้าหากัน คำว่าชุมชนจึงมีทั้งชุมชนเก่าแบบ physical (ชุมชนเชิงกายภาพ) และชุมชนของคนที่มีความสนใจร่วมกัน ทำอะไรร่วมกัน ชุมชนของคนที่สนใจเทคโนโลยีก็จะรวมกลุ่มกันในออนไลน์ มี Hub มี Discord (แอปพลิเคชันสนทนา) เหล่านี้ก็เป็นชุมชน สำหรับน้ำมนต์ที่ลงมาทำงานกับชุมชนเก่าที่เป็นชุมชนเชิงกายภาพและมีเพื่อน มีเครือข่ายที่ช่วยกันทำงานพวกนี้จากชุมชนต่าง ทั้งชุมชนเทคโนโลยี ชุมชนศิลปิน ฯลฯ เพราะฉะนั้นคำว่าชุมชนมันหลากหลาย
บรรยากาศขณะเดินทางเรียนรู้ในชุมชนนางเลิ้ง
ถาม : เมื่อพูดถึง “อีเลิ้ง” หรือ “นางเลิ้ง” นึกถึงอะไร ?
ตอบ : อีเลิ้งกับนางเลิ้งมันแยกกัน อีเลิ้งมันก็คือเป็นชื่อดั้งเดิม แล้วก็เป็นชื่อที่เรานํามาตั้งชื่อกลุ่ม “อีเลิ้งอาร์ติสคอลเลคทีฟ” ทําเป็นพื้นที่เรียนรู้ อีเลิ้งคือการผสานกันระหว่าง อดีต ปัจจุบัน และอนาคต แต่ถ้าพูดถึง “นางเลิ้ง” มันคืออะไรที่หลากหลายมากเลย
“นางเลิ้ง” ไม่สามารถที่จะหยิบอย่างใดอย่างหนึ่งมาได้เลยว่า คือละครชาตรี หรือนักแสดงอย่างมิตร ชัยบัญชา ฯลฯ แต่นางเลิ้งมันอยู่ทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ศิลปะไทยแรกเริ่ม เรามีละครชาตรีและคณะละครมีหลายคณะมาก หนังตะลุง คณะกลองยาว จนมาถึงยุคเริ่มเป็นดนตรีสากลเข้ามา มีการเล่นไวโอลิน มีสุนทราภรณ์เกิดขึ้นมาก็อยู่ตรงนี้ มาถึงยุค 90 ก็มีวงเดอะ ฟ็อกซ์ (The Fox) คนวาดโปสเตอร์โรงหนังก็อยู่อยู่ตรงนี้กันหมดเลย มีทั้งโรงพิมพ์หนังสือตั้งแต่ยุคแบบเรียนโบราณ มานีมานะ จนเป็นคอมมิคมังงะ คิดว่านางเลิ้งมันค่อนข้างครอบคลุม
แต่ว่าถ้าพูดว่า “นางเลิ้ง” คิดถึงอะไร? เราคิดถึงคนนางเลิ้ง เพราะมันมีคาแรคเตอร์ของความเป็นนางเลิ้ง ซึ่งน่าสนใจในเรื่องนี้เนอะ ย่านบางลําพูคนก็จะเป็นคาแรกเตอร์ของบางลำพู นางเลิ้งอีกคาแรกเตอร์ ตลาดน้อยเอกคาแรคเตอร์ คิดว่าสิ่งที่สะท้อนความเป็นนางเลิ้งที่ดีที่สุดคือคนนางเลิ้ง
แล้วก็ดอกจันทร์นิดนึงว่าถ้าในยุคคําว่าคนนอกคนในมันค่อย ๆ จางลงไป หรือแม้กระทั่ง Community Lab ที่ทํา เพราะเรามองว่าการทํางานเรื่องชุมชน การขับเคลื่อนมันไม่สามารถแบ่งได้แล้วว่าคนนอกคนใน นักศึกษาที่เข้ามาทํางานวันนี้อาจกลายเป็นคนใน เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นคีย์สําคัญเหมือนกันว่ามันไม่สามารถแบ่งได้ว่าคนนอกคนใน
น้ำมนต์บรรยายเรื่องละครชาตรีและการสร้างสรรค์งานศิลปะ
ถาม : ชีวิตในวัยเด็กของ “คนนางเลิ่ง” คนหนึ่ง เราเติบโตมาอย่างไร?
ตอบ : ถ้าพูดถึงตั้งแต่ย้อนความและจุดเริ่มต้นเติบโตมากับครอบครัวที่บ้านเหมือนเป็นพื้นที่สาธารณะ คนในชุมชนเข้ามาในบ้านเต็มไปหมด มาขอข้าวกินแม่ต้องทํากับข้าวให้กิน บางคนโดนพ่อเลี้ยงข่มขืนมา ต้องมานอนที่บ้าน มาอยู่กันทั้งครอบครัว เด็กเข้าโรงเรียนไม่ได้ไม่มีทะเบียนบ้านต้องมาขออาศัยอยู่ในทะเบียนบ้าน ตอนนั้นงานพัฒนาชุมชนมันมีหลายด้านมาก ด้านคุณภาพชีวิต ด้านการศึกษา ด้านดูแลเด็ก ทางบ้านก็ทํางานชุมชนกับเขตแล้วในตอนนั้น
เราเติบโตมากับชุมชนที่มีการช่วยเหลือเป็นเรื่องปกติ เหมือนนางเลิ้งคล้าย ๆ เป็นชนบทที่อยู่กลางเมือง มันจะมีความเป็นคาแรคเตอร์ของคนบ้าน ๆ เราก็เติบโตมากับบรรยากาศแบบนี้ เดินไปนิดหนึ่งก็ตลาดของกินเยอะแยะ มีความสุขกับการกิน มีทุกอย่างใกล้ตัว อย่างหนึ่งที่รู้สึกว่าโชคดีมากเลยคือมีร้านวัสดุก่อสร้างในชุมชน ทำให้ไม่ต้องต้องนั่งรถไปเพื่อซื้อของมาซ่อมแซม ซึ่งเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ การที่คนเชื่อมร้อยกันหมด มีร้านเย็บผ้า ร้านทําผม ทุกคนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในละแวกเดียวกันตั้งแต่เกิดจนตายได้
ในขณะเดียวกันสิ่งที่เติบโตมาก็เป็นยุคมืดของย่านเหมือนกัน โรงหนังก็เริ่มปิดตัว เอ๊ะทําไมตลาดถึงมีการรื้อใหม่ ตอนเด็กจำได้ว่ามีตลาดน้ำอัมพวามาดูงานเรา ซึ่งเป็นตลาดไม้ที่ใหญ่ที่สุดและเป็นตลาดสวยที่สุด วันหนึ่งเอ๊ะ! ทําไมมันถูกรื้อไปนะ ทั้งที่บางคนเคยให้คุณค่ามัน มันอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน ชุมชนรอบรอบ ๆ ค่อย ๆ ล้มหายตายจากไป มีกระบวนการต่อสู้ของชุมชน เหมือนเกิดมาในยุคที่มันค่อย ๆ เปลี่ยน
“นางเลิ้งในความทรงจําที่เขาเล่ากันมาก็คือเป็นยุครุ่งเรืองมาก่อน เคยเปิดทั้งวันทั้งคืน มาถึงยุคเราเริ่มซบเซา ร้านค้าเริ่มขายไม่ค่อยดี อย่างที่เล่ามาก็มองเห็นทั้งโอกาสแล้วก็มองเห็นปัญหาเชิงประจักษ์ที่อยู่รอบตัวเลย”
ตอนนั้นที่รื้อตลาดเห็นแผ่นกระเบื้องว่าวที่แบบมันสวยมาก ทําไมเค้าไม่รื้อให้มันดี ๆ เราเห็นเขาปาทิ้งหลายอย่างที่เห็นทำให้สะเทือนใจในมุมของสุนทรียะ ทำให้เกิดมาเป็นโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่เริ่มทดลองทํา แม่ก็เป็นผู้นําชุมชนสายสุขภาพแบบฮาร์ดคอร์ต่อสู้มาตั้งแต่เด็ก เราก็อาจจะไม่ได้เก่งเท่าแม่ แต่ก็สนใจที่ว่า เฮ้ย! ถ้าพูดไม่เก่ง แล้วอะไรบ้างที่มันจะสามารถพูดแทนได้ และก็สนใจที่ให้ศิลปะเป็นตัวพูดแทน
ถาม : การสร้างงานศิลปะทั้งของตัวเองขยายสู่ชุมชน มันมีพัฒนาการมาอย่างไร?
ตอบ : โครงการเริ่มต้นจริงจังก็น่าตั้งแต่ช่วงมัธยม เรียนสาธิตประสานมิตร เรียนสาธิตปทุมวัน เราก็มีแก๊งเพื่อนที่มาช่วยกัน เพราะงานพวกนี้ไม่มีเงินสนับสนุน ช่วงนั้นมีทำเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ทำถนนเด็กเดิน สนใจในรากของปัญหาจากเรื่องของพื้นที่สาธารณะที่ทำให้ผู้คนทั้งภายนอกและในชุมชนได้มาเจอกัน ในมุมมองของศิลปะไม่ควรเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ทำกันเองดูกันเองอยู่ในวงแคบ ๆ เลยนำพื้นที่สาธารณะและพื้นที่งานมาผสมกัน
ต่อมาก็เริ่มเป็นใช้ศิลปะมากขึ้น เราสนใจกลุ่มคนสลัมที่อยู่ในชุมชน บางทีเดินด้านนอกไม่รู้หรอกว่าในนางเลิ้งจะมีสลัมอยู่ข้างในใจกลางเมือง ในตอนนั้นสไตล์การทํางานของเราก็จะไม่ได้มองว่าสลัมตรงนี้คือปัญหา แต่เราสนใจคาแรคเตอร์ของคนสลัม มันมีการที่เด็ก ๆ คิดคำรักบ้านเกิดในสไตล์ของเขา เช่น นางเลิ้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉันคือนางเลิ้ง ML เป็นต้น มันมีคาแรคเตอร์ วิธีคิด เราก็รู้สึกสนใจก็ลงไปทํา
ศิลปะที่ทํากับคนในสลัมนางเลิ้ง ผลงานมีตั้งแต่การทําแผนที่ การเดินเท้า การนับก้าวเด็กชายและหญิง เนื่องจากชุมชนมันเล็กมาก บ้านนี้ห่างไกลแค่สองก้าว ตัวงานก็จะเน้นงานในชุมชน ทำอยู่ทั้งหมด 6 เดือน
ย้อนกลับไปตอนต้นปี พ.ศ.2543 ค่านิยมในการทำโครงการส่วนใหญ่จะต้องมีผลงานชัดเจน ทำให้ชีวิตเด็กดีขึ้น แต่เราก็ไม่ค่อยทําในทางนั้น เราไม่อยากที่จะวางกรอบชัด ซึ่งวางกรอบไว้แค่ 3 กิจกรรม คาดเอาว่าจะมีกิจกรรมอะไรบ้างที่ Improvise ตัวเองไปสู่อีกกิจกรรมหนึ่ง อันนี้คือสิ่งที่ตั้งใจทํา อาจเรียกได้ว่าเป็นวิธีการทํางานแบบใหม่ในยุคนั้น
โครงการแผนที่ชุุมชนทําให้คนในคนนอกค่อย ๆ เดินเข้าหากัน เดินปุ๊บเอ้ย! มองเห็นขยะก็เกิดกิจกรรมที่ Improvise ตัวเองเป็นถังขยะชุมชน แบบบ้านชุมชนเอากระดาษลังกล่องมาทํา เพราะว่าเดินแล้วมองเห็นคนนี้อยู่ห้องไหน
เดือนที่สองคือกิจกรรมภาพครอบครัว เกิดจากก็ในแต่ละบ้านเขาไม่มีภาพครอบครัวกันเลย เราน่าสนใจมาก ทําไมมันถึงไม่มีทุกบ้าน พี่ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาต้องแก้ หรือเศร้ามาก สนใจแค่ว่าถ้าทดลองมีมันจะให้ความรู้สึกไง? เราเรียนเรื่องภาพถ่ายมาก็เลยลงมือทำเอาฉากเขียวไปตั้งในสลัมเลย เราไม่ได้แค่อยากผลิตภาพออกมาแล้วแจกจบ แต่สนใจกระบวนการศิลปะการถ่ายภาพที่มันจะต้องมีการสัมผัสกันโดยอัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องบอก ซึ่งเรื่องการสัมผัสกันและกันไม่เกิดขึ้นในชีวิตประจําวัน เราอยากทดลองสร้างพื้นที่ให้มันลองเกิดขึ้นแล้วมันก็เกิดขึ้นจริง
ในวันนั้นมีการตั้งทีวีสองฝั่งเพราะรู้สึกว่ามันต้องมีตัวกระตุ้นอะไรบางอย่าง เวลาถ่ายปุ๊บภาพขึ้นจอเลย คอยกระตุ้นผู้คนให้อยากมาถ่ายภาพกับเรา ตัวงานมันเลยคือสกรีนที่ตั้งและปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น นั่นแหละคืองานศิลปะชุมชน สุดท้ายผลพลอยได้กลายมาเป็นภาพครอบครัวทุกบ้าน ทุกบ้านส่วนใหญ่จะมีคนที่ติดคุกอยู่ นวัตกรรมภาพมันมีเทคโนโลยี Photoshop สามารถตัดแต่งคนเข้ามาได้ครบทุกคนสุดท้ายก็เป็นนิทรรศการภาพที่ถ่ายมาจัดแสดงในสลัมเลย
โปรเจกต์ต่อจากนั้นก็จะมี “อีเลิ้ง” การต่อสู้เรื่องโรงหนังที่เติบโตมา จําได้ว่าแม่ต่อสู้เรื่องนี้มานานมาก เราก็สนใจว่ามันมีวิธีการต่อสู้อะไรบ้างที่จะทําเรื่องนี้ได้ก็เลยทําหนังมาสู้ เราเชิญศิลปิน 7 คนมาอยู่ในพื้นที่นางเลิ้งและทําหนัง โดยให้เวลาทําหนังหนึ่งปี ผลิตหนังออกมาและมีการฉายที่โรงหนังนางเลิ้ง แต่ในตัวงานจริง ๆ ก็คือระยะเวลาที่เราให้เวลาหนึ่งปีที่ให้หนังมันค่อย ๆ ไปมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่
ในตัวหนังก็จะมีการสัมภาษณ์ ซึ่งบทสนทนาจะช่วยให้รื้อฟื้นความทรงจําที่มันเคยมีให้เกิดขึ้นมา Pian point หนึ่งของโรงหนังที่กำลังเกิดขึ้นคือความสำคัญค่อย ๆ จืดจางไป ความทรงจําของพื้นที่มันถูกทําให้ลืมลงไปเรื่อย ๆ จนทำให้คนอาจไม่รู้สึกกับโรงหนัง
ศาลาเฉลิมธานี จุดกำเนิด “โรงหนังนางเลิ้ง” หรือ โรงภาพยนตร์เฉลิมธานี เปิดทำการ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2461
เพราะฉะนั้นกระบวนการทําหนังอีเลิ้งคือกระบวนการรื้อฟื้นความทรงจํานั้น สุดท้ายผลพลอยได้ก็คือเป็นหนัง หนังมีคุณสมบัติในการที่จะเอาเรื่องราวไปใช้ทั่วโลกมีหลายซับไตเติ้ลมาก อันนี้ก็ยกตัวอย่างให้ฟังว่ากระบวนการงานที่ทําก็ทำมาเรื่อย ๆ
เราทํา Artist in the Residency คือการทํางานกับศิลปินต่างประเทศ เรามีบ้านเรือนไทยข้างบนเป็นที่พํานักให้ศิลปินมาอยู่แล้วก็มาสร้างผลงานศิลปะ เคยมีศิลปินบัลเล่มาเรียนกับครูละครชาตรีสร้างเป็นละครชาตรีร่วมสมัยไปทัวร์ทั่วโลก มีศิลปินอังกฤษเป็นศิลปิน AI มาพํานักใช้ AI ช่วยเก็บท่ารำละครชาตรีและสร้างเป็นละครชาตรีอีกรูปแบบหนึ่ง เราหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของการทํางานศิลปะวัฒนธรรมพื้นถิ่นกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
ถาม : จากกระแส Soft Power นางเลิ้งมีอะไรที่จะผลักดันสู่ Soft Power ได้บ้าง ?
ตอบ : อย่างที่บอกรากฐานนางเลิ้งมันเป็นพหุวัฒนธรรมตั้งแต่แรกแล้วมันมีความหลากหลาย ถ้าพี่เป็นคนในแล้วสนใจเรื่อง Database จะไม่ค่อยนิยมชมชอบว่าจะต้องเลือกหนึ่งอย่าง เพราะมันเพราะมันค่อนข้างมีความคาบเกี่ยวมาก เพราะรากของพื้นที่มันคือพหุวัฒนธรรม
ชุดละครชาตรี
นโยบายด้านซอฟพาเวอร์เริ่มขึ้นมาแล้วมันน่าสนใจมาก ขานี้มันดันเป็นขาที่เป็นเรื่องศิลปะวัฒนธรรมด้วย เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงแบบขายง่ายสุดนะอาหารขายง่ายสุด ไปไกลสุด เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ คนนึกถึงนางเลิ้งก็นึกถึงอาหารอร่อย เพราะเป็นอาหารที่มีสูตรชาวบ้าน ชาววัง แล้วก็มีโครงการที่เคยเริ่มทํามาแล้ว ทํากับศิลปิน อย่าง “จุกจิก จับใจ” เป็น Food Testing เป็นถ้วยเล็กแล้วก็ไปชิมอาหารได้หลากหลาย ถูกใจร้านไหนค่อยซื้อกลับไปกิน นางเลิ้งมันมีของอร่อยหลายอย่าง
ต่อมาจากที่เราเคยทําแล้วก็ทําเป็นเซตปิ่นโตสําหรับเซตอาหารนางเลิ้งทั่วไป วันไหนประชุมก็เป็นของว่าง เซตทําโมเดลพวกนี้แล้ว เราก็คิดว่าอาจจะมีสองอย่างละกันก็คือหนึ่งอาหารมันเป็นเรื่องที่ทั่วไป คิดว่าดันแล้วไปได้ไกลและอยากช่วยคนในตลาดและรอบตลาด อีกเรื่องก็คงเป็นเรื่องศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นเพราะว่าไม่เหมือนที่อื่นอย่างละครชาตรี
ถาม : Database คือ Subjective ที่สำคัญของนางเลิ้งคืออะไร ?
ตอบ : สําหรับ Database การที่ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของ รวบรวม ค้นคว้า จัดประเภทข้อมูลและจัดการข้อมูลสร้างเป็นแพลตฟอร์ม มันคือการแสดงตนว่าฉันเป็น Subjective ชุมชนเป็นเจ้าของของเรื่องเหล่านี้นะ คนที่อยากทํางานด้วย เรามาเป็นพาร์ทเนอร์ไม่ใช่ใช้ระบบพ่อพระแม่พระที่มาช่วยเหลือชุมชน ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน คิดว่า Database นั่นแหละเป็นเป็นตัวที่ชัดเจนที่สุดแล้วที่จะสะท้อนถึงความเป็น Subjectiveของของชุมชน
อีกอย่างคือ Database ที่ทําไว้ทำให้เรารู้ว่า ณ วันนี้เรารู้ว่าเรามีปัญหาอะไร เราไม่ได้แบบชินชากับสิ่งที่เกิดขึ้น เราคิดว่าการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงมันทําได้มากกว่าไม่รู้อะไรเลยดีกว่าความเปลี่ยนแปลงค่อยเข้ามาแล้วค่อยทํา ความเปลี่ยนแปลงการพัฒนาเมืองมาอยู่แล้ว โจทย์ก็คือว่าจะทํายังไงกับความสําคัญของนางเลิ้ง สําหรับเราก็คืออย่างน้อยคนดั้งเดิมยังได้อยู่หรือว่าคาแรคเตอร์กลิ่นอายเดิมบางอย่างยังอยู่ได้และก็ต้องมีพื้นที่ตรงกลาง ความเจริญมาพร้อมกับผสมผสานร่วมกันระหว่างคนเก่าคนใหม่ อย่างเช่นคาเฟ่หรืออะไรมันเกิดขึ้นได้เพื่อรองรับความต้องการ แต่มันก็อาจเป็นเจ้าของคาเฟ่ที่ใส่ใจชุมชนมากขึ้น รู้สึกเป็นคนในมากขึ้นจากกระบวนการเหล่านี้
ถาม : ถึงตอนนี้ อยากเห็นอะไรในนางเลิ้ง ?
ตอบ : อย่างที่เห็นมา นางเลิ้งคือผู้คน เป็นผู้คนจากยุคก่อนที่สั่งสมภูมิปัญญามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ศิลปวัฒนธรรม เรื่องกระบวนการพัฒนาชุมชนอย่างที่ได้ลุกขึ้นมาทำนี้มันมีผู้ใหญ่หลาย ๆ คน มีแม่ที่ลุกขึ้นมาเห็นคุณค่าและพยายามรักษาให้คงอยู่
“สิ่งที่เป็นความฝันสำหรับนำมนต์ก็คือ ความเก่ากับสิ่งใหม่ งานพัฒนามันสามารถควบคู่กันได้ สิ่งที่อยากจะเห็นคือเมืองที่พัฒนา รถไฟฟ้าที่ใกล้เข้ามาในพื้นที่นางเลิ้ง มีสถานีนางเลิ้งก็ยังอยากให้คนนางเลิ้งยังอยู่ในพื้นที่ต่อไป”
ถาม : ความเปลี่ยนแปลงของนางเลิ้งอีก 5 ปีหลังจากนี้มองเห็นอะไร ?
ตอบ : จริง ๆ แล้วความเปลี่ยนแปลงมีมาทุกยุคเนอะ ตั้งแต่ยุคที่เกิดมานางเลิ้งมันเริ่มเสื่อมตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว ข้อดีของนางเลิ้งอย่างหนึ่งคือเรารู้ตัวว่ามีปัญหาหลักคือความไม่มั่นคงทางที่อยู่อาศัย เราไม่ได้คิดแค่ว่าในวันที่เขาจะไล่แล้วเราค่อยมารวมตัวกันแล้วค่อยทํา เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราทํามาตลอดหลากหลายแนวทาง ในนางเลิ้งเองก็มีหลายคนขับเคลื่อน
แดง-สุวัน แววพลอยงาม (กลาง) และ น้ำมนต์-นวรัตน์ แววพลอยงาม (ขวา)
ถ้าพูดถึงในอีก 5 ปีข้างหน้า ก่อนหน้านี้มันมีพวกเรื่องการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ แนวคิดต่าง ๆ การขับเคลื่อนทางสังคมในไทย เรื่องบางเรื่องที่ทุกวันนี้เข้ากันเป็นเรื่องพื้นฐานแต่ก่อนหน้านี้ไม่เก็ทเลยคือ “เรื่องพื้นที่สาธารณะ” ยุคก่อนจะไม่ค่อยมีใครเข้าใจว่าเป็น Pian point หรือว่าการพูดเรื่องของ Database หลายคนอยากทํามานานแต่ราคาแพงมาก คนไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้จะทําอะไรต่อได้
เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่นางเลิ้งมีคือการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย ความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันมีองค์ความรู้ต่าง ๆ เยอะมาก มันมีแนวคิดของเรื่องของมนุษยวิทยาด้วย เราคิดว่ามีความสําคัญกับงานชุมชน องค์ความรู้ร่วมสมัยมีส่วนในการที่ชุมชนต้องใช้เป็นเครื่องมือในการที่จะขับเคลื่อนชุมชนด้วย ดังนั้นก็คิดว่าความเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ เรายอมรับว่ามันน่ากลัวแหละแต่มันก็มาพร้อมกับยุคสังคมที่เราคิดว่ามันไปมันมาในกระแสที่ส่งเสริมชุมชนมากขึ้น เด็กวัยรุ่นเริ่มเข้าใจและเริ่มพยายามที่จะมีการที่จะเข้าใจบริบทมนุษย์มากขึ้น
บรรยากาศภายในร้านคำหอม หนึ่งในคาเฟ่ที่ผสานกลิ่นอายของความเป็นนางเลิ้งผ่านเสียงและแผ่นเพลง
อีก 5 ปีเมื่อรถไฟฟ้ามาถึง อย่างน้อยเราไม่ได้ขัดแย้งกับรถไฟฟ้าอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ตอนมาที่ชุมชนเขารู้หมดเลยว่ามีตรงไหนแล้วก็มีการนั่งคุยกับคนที่ทํา ณ ตอนนั้น มีการออกแบบสถานีร่วมกัน ชุมชนไม่ได้ขัดแย้งกับการพัฒนา ถ้าสถานีนางเลิ้งถ้าขึ้นมาจะชื่อสถานีหลานหลวงอาจใช้ Database ที่ Community Lab เคยทําให้เห็นว่านางเลิ้งสามารถเล่นได้ทุกยุคเลยนะ ขึ้นสถานีมาอาจมีเพลงมิตร ชัยบัญชาหรือสุนทราภรณ์ทำให้รู้สึกแบบว้าวได้
อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง แกะรอยแผนที่วัฒนธรรม 120 ปีนางเลิ้ง
รับชม รายการคุณเล่าเราขยาย ตอน อีเลิ้งชุมชนออกแบบได้