ฟังเสียงประเทศไทย : เชื่อไหม “ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญได้”

‘‘รัฐธรรมนูญ’ กฎหมายสูงสุดของประเทศ สำคัญต่อการปกครองประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม และเกิดความมั่นคง สงบเรียบร้อย นี่คือหัวใจของการมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

แต่ทว่า ‘รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560’ ที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน กลับกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนลงความเห็นว่า ขาดการมีส่วนร่วม ไม่เป็นประชาธิปไตย และสร้างผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา 

จนนำไปสู่การเรียกร้องของภาคประชาชน นักวิชาการ นักศึกษาหลายองค์กร ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่การติดกระดุมเม็ดแรก โดยมีความพยายามเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562  เรื่อยมา

จนในช่วงปี 2566 ความหวังของประชาชนกลับมาลุกโชนอีกครั้ง จากการที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจ เลือกตั้งใหญ่ระดับประเทศ หลายพรรคการเมืองได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นนโยบายหาเสียงกับประชาชนกันอย่างครึกโครม รวมถึงพรรคเพื่อไทย ที่หลังจากได้เสียงข้างมาก จัดตั้งรัฐบาลจนสำเร็จ ก็ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่าจะ “เร่งแก้รัฐธรรมนูญ” อย่างแน่นอน

แต่ผ่านมา 2 ปี รัฐธรรมนูญใหม่ที่หลายคนวาดฝันไว้กลับแทบจะไม่ขยับไปไหน เพราะถึงวันนี้เพิ่งจะมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จาก 2 พรรคการเมือง คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน และจะมีการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ ในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568

ประชาชนตามติดตามการประชุมรัฐสภา และการทำหน้าที่ของ สส. และ สว. ด้วยความมุ่งหมายในการมีรัฐธรรมนูญใหม่ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2570

ภาพจากสมัชชาคนจน 19 ธันวาคม 2562 

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ประชาชนจะได้กำหนดอนาคตของสังคมร่วมกัน แล้วรัฐธรรมนูญแบบไหนที่จะตอบโจทย์ความต้องการ ปกป้องสิทธิ เสรีภาพของประชาชน เราชวนมาร่วมกันคิด ร่วมกันมอง หาทางออก เพื่อปลดล็อกประเทศไทยเดินหน้าต่อไปพร้อม ๆ กัน

  • แขกรับเชิญทั้ง 7 ท่าน ในรายการฟังเสียงประเทศไทย
    • บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน
    •  ณัฐวุฒิ กรมภักดี คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน
    • สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ระดับชาติ (กป.อพช.)
    •  นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัมสี่ภาค
    •  ศ. ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    •  ณัชปกร นามเมือง เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) 
    • รศ. ดร.สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์

ศ. ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้ย่ำอยู่ที่เดิม แต่ไม่ไปไกลกว่าที่เราคาดหวังไว้ อาจเป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่วางกลไกไว้แน่นหนา 

อีกประการอาจเป็นเพราะว่าสภาพทางการเมืองที่มีการเจรจาต่อรองกันไปมา ตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้า จนมาถึงรัฐบาลนี้ มีการชิงไวพริบกัน รัฐธรรมนูญกลายเป็นเกมของพรรคร่วมรัฐบาล ใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองอำนาจกันไปมา 

ตอนนี้จึงไม่มีความคืบหน้าในแบบที่เราคาดหวัง อย่างมากการประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ ก็ยังวนอยู่ที่จะทำประชามติกันกี่รอบ ยังไม่รวมถึงหน้าตา สสร. ควรจะเป็นอย่างไร เนื้อหาที่จะเขียนในรัฐธรรมนูญจะเป็นแบบไหน เรื่องเหล่านี้ยังไม่ถึงวาระที่จะพูดถึงด้วยซ้ำ ถือว่าเราช้าค่อนข้างมาก 

ณัชปกร นามเมือง เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) คาดการณ์ทิศทางของเส้นทางรัฐธรรมนูญใหม่ ก่อนที่จะมีการประชุมสภาฯ พิจารณาและลงมติในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ ว่า เป็นจุดวัดใจสำคัญว่าเราจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ภายในปี 2570 หรือไม่ 

ตลอดหนึ่งปีครึ่งที่เรามีการจัดตั้งรัฐบาลในปี 2566 เหมือนกับการพายเรืออยู่ในอ่าง การขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญเดินไม่ได้เร็วแบบที่เราหวัง ทั้ง ๆ ที่มีความมุ่งมั่นจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้ได้ภายใน 4 ปี ตอนจะจัดตั้งรัฐบาล แล้วผ่านมาปีครึ่งเรายังเพิ่งเริ่มต้นก้าวแรก ที่เสนอร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มี สสร. มาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เสนอแล้ว จะต้องผ่านถึง 3 วาระ ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลากี่ปี อย่างเร็วก็คือผ่านในปีนี้ แต่ก็ต้องไปทำประชามติอีก 1 ครั้ง เพื่อยืนยันว่าจะได้มี สสร. จากการเลือกตั้ง และถึงจะได้เริ่มจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จริง ๆ

แต่ถ้า 13-14 กุมภาพันธ์ นี้ไม่ผ่าน เราไม่รู้เลยว่าจะทำอย่างไรให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้เร็วขึ้น จุดสำคัญคือ สว. จะยกมือให้ไหม 4 ปี ที่แล้ว สว. ที่ผ่านมา สว. ไม่ยอมยกมือให้เลย แต่ตอนนี้เรามี สว. ชุดใหม่แล้ว แต่เราไม่รู้ว่า สว. ชุดใหม่นี้จะยอมเปิดประตูให้ได้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไหม ถ้าไม่สำเร็จใน 13-14 กุมภาพันธ์ นี้  อย่างช้าที่สุดก็คงหลังเลือกตั้งครั้งหน้า เราถึงจะได้เห็นรัฐธรรมนูญใหม่ 

ด้าน รศ. ดร.สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์ มองว่า รัฐธรรมนูญใหม่น่าจะช้าออกไปอีก ประเมินจากระยะเวลาที่ผ่านมาของสภาฯ รวมถึงภาคประชาชนด้วย การแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเป็นไปได้ยากมาก ในครั้งหน้าน่าจะมีเรื่องราวอื่น ๆ ที่ทำให้ถูกเบี่ยงเบนไป ที่ไม่ใช่วาระแห่งชาติของการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ยิ่งช้าออกไป โอกาสที่จะได้แก้ไขจะยากมากขึ้น 

ความท้าทายอยู่ที่โครงสร้างหลักของประเทศไทย ความสัมพันธ์ของสถาบันทางการเมืองกับประชาชน ยังไม่ลงตัวกัน ซึ่งฝ่ายหนึ่งมีอำนาจสูงสุด ส่วนอีกฝ่ายเป็นภาคประชาชน ตราบใดที่สองฝ่ายยังไม่ลงตัวในอำนาจแบบนี้ก็ยากที่จะนำไปสู่รัฐธรรมนูญที่สามารถดำรงอยู่อย่างยอมรับร่วมกัน และทำให้สังคมก้าวเดินต่อไปได้

ศ. ดร.อนุสรณ์ อุณโณ เสริมต่อเรื่องของความท้าทายว่า เป็นความท้าทายของประชาชนโดยตรง ถ้ามองรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด อาจนับได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนชน ตอนนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมืองกับประชาชน โดยเฉพาะเชิงจารีต ค่อนข้างเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ที่ผ่านมาทำให้เกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจประชาชน และใช้เครื่องมือในการกีดกันประชาชนออกไปจากการมีส่วนร่วมในการดูแลบ้านเมืองนี้ 

ดังนั้น ภายใต้สภาพการณ์แบบนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของประชาชนมาก ๆ ที่จะลุกขึ้นมาส่งเสียงว่าเราจะร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไร และต่อมาก็คือจะทำอย่างไรให้สถาบันตามประเพณีมีความเชื่อใจประชาชนมากขึ้น พอที่จะเขียนกติกาและอยู่ร่วมกันได้ 

ณัชปกร นามเมือง มองว่าความท้าทายสำคัญคือ

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้อำนาจกับภาคประชาชนมีความไม่ไว้วางใจกัน จริง ๆ แทบจะเป็นฝั่งผู้มีอำนาจฝ่ายเดียวที่ไม่ไว้วางใจว่าประชาชนทำได้ จริง ๆ คำถามว่า ประชาชนจะเขียนรัฐธรรมนูญได้ไหม เป็นคำถามเดียวกับตอนปี 2475 เลยว่า ประเทศไทยพร้อมสำหรับเป็นประชาธิปไตยหรือยัง ซึ่งประชาธิปไตยเป็นกระบวนการของการเรียนรู้ที่ค่อย ๆ พัฒนา ผ่านการมีส่วนร่วม รัฐธรรมนูญเป็นภาพแทนของการหาฉันทามติ ถ้าคุณไม่ไว้วางใจให้ประชาชนเขียน แล้วคุณจะอยู่กันบนฉันทามติแบบไหน 

นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า ประชาชนไม่ไว้ใจ เพราะว่าเราถูกริดรอนสิทธิตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เราถูกจำกัดสิทธิ์ในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสดงออกทางการเมือง การเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ กลายเป็นเหมือนถูกจำกัดโดยกฎหมายสูงสุด

กฎหมายบังคับใช้กับคนส่วนใหญ่ ไปอำนวยความสะดวกและเป็นธรรมกับคนกลุ่มเดียว รัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นธรรม เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดควรจะเป็นธรรมของคนทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น การจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะบ้านเรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ได้ แสดงว่าต้องมีการแก้แล้ว แก้อีกจนถึงฉบับที่ 20 ถ้าจะมีฉบับที่ 21 ในฐานะประชาชนก็อยากจะให้เป็นเรื่องง่าย เพราะถ้าเราคิดเรื่องยากจะไปต่อไม่ได้ ถ้าเราคิดว่ามันง่ายก็จะได้ไปต่อด้วยกันได้

บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าดีที่สุดไหม แต่สำหรับประชาชนรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม เป็นรัฐธรรมนูญที่พวกเรามีโอกาสนำเสนอประเด็นปัญหาของพวกเรา เราเชื่อว่าดีสำหรับเรา ถามว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ทำอะไรบ้าง ทำให้พวกเรามีการเสมอภาคขึ้นมา เราได้รับสิทธิ ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่ามันดี 

วันนี้เราไม่ได้สนใจกระบวนการของรัฐสภา ถ้าปล่อยให้กระบวนการของรัฐสภาทำหน้าที่ไป ชาตินี้อาจไม่ได้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นภารกิจของพวกเราคนที่อยากเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องออกมาเคลื่อนไหวกดดันให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้ได้เป็นภารกิจของเรา 

ด้าน สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ระดับชาติ (กป.อพช.) มองประเด็นนี้ว่า ถ้าเราอ่านกระแสสังคมตอนนี้ตอนที่หาเสียงเลือกตั้งก่อนที่จะได้รัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศสังคมเห็นร่วมกันว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาในหลายมิติ เป็นเหตุให้พรรคการเมืองหลายพรรคเสนอนโยบายเรื่องนี้ว่าเข้ามาจะแก้ปัญหาให้ได้ เพื่อไทยเสนอชัดเจนว่าเข้ามาจะแก้ไขทันที 

ในสถานการณ์ตอนนั้นสังคมเป็นแบบนั้น แต่ตอนนี้อาจต้องมาวิเคราะห์ว่า พอได้รัฐบาลสังคมคิดอะไรอยู่ เสมือนว่านายกรัฐบาลก่อนหน้านี้ที่บริหารมาเกือบ 10 ปี อาจจะเป็นสภาวะที่จำยอมที่จะต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่มีความหวังเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แต่พอรัฐบาลชุดนี้เข้ามา คิดว่าจำนวนหนึ่งมองว่าเศรษฐกิจอาจเปลี่ยนไป ทำให้ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญถูกมองว่าเป็นเรื่องรอง ถ้าสังคมยังอยู่ในสภาวะอารมณ์ก่อนเลือกตั้ง ผมเชื่อว่ารัฐบาลเองจะต้องแก้

หรือว่าความไม่ลงตัวในเรื่องของอำนาจ อันนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจจะต้องวิเคราะห์ เป็นเหตุให้พรรคการเมือง หรือนักการเมือง หรือแม้แต่สมาชิกวุฒิสภาที่เลือกตั้งเข้ามาใหม่ ก็มองว่าไม่แก้ก็ไม่เป็นไร เพราะสังคมไม่ได้สนใจอะไรแล้ว ผมคิดว่าเป็นโจทย์ที่ใหญ่มากที่พี่บารมีเสนอว่า คนในสังคมอาจจะต้องกลับมาคิดว่า จะยอมรับ หรือยอมอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้อีกกี่ปี ทั้ง ๆ ที่เรารู้ว่ามีปัญหา 

ส่วน ณัฐวุฒิ กรมภักดี คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช) ภาคอีสาน มองว่า สิ่งที่ภาคอีสานพยายามจะทำก็คือ การพยายามสร้างความหวังว่ารัฐธรรมนูญมันถูกเขียนโดยประชาชนได้  สิ่งที่ชนชั้นนำพยายามสร้างมาตลอดคือทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยาก ทำให้ห่างไกลประชาชน ทำให้รัฐธรรมนูญถูกมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับชีวิต 

สิ่งสำคัญภาคประชาชนต้องหนักแน่น ทำให้รู้สึกว่า ชีวิตเกี่ยวร้อยกับรัฐธรรมนูญ มีความหวัง เพราะเมื่อมนุษย์มีความหวังจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างที่พี่แหม่มพูด อีสานพยายามทำให้เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องไม่ยาก เชื่อมร้อยกับชาวบ้าน เชื่อมร้อยภาษาที่ง่าย ๆ ทำให้เขารู้สึกว่า เมื่อถึงวันเวลาที่เขาพร้อมที่จะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จากปลายปากกาของเขาเอง อันนี้เป็นปฏิบัติการสำคัญอาจจะไม่ใช่วันนี้ อาจจะเป็นระยะยาว เราต้องคิดเรื่องแบบนี้ในระยะยาว จะสู้ในระบบ สู้กลไกรัฐสภาก็ว่าไป  

คนที่ทำเพื่อสร้างความหวังของผู้คน ทำงานทางความคิดของผู้คน ต้องทำให้เชื่อว่ารัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงชีวิตได้จากคนข้างล่าง คนทั่วไป อันนี้คือวิธีการสำคัญที่ภาคอีสาน เราเริ่มมาระดับหนึ่งแล้วคือการทำงานความคิด ขยายผู้คน เตรียมคนเพื่อให้พร้อมจริง ๆ เพราะว่าเรารู้ว่าที่ผ่านมามันไม่พร้อม 

ณัชปกร นามเมือง กล่าวว่า เอาวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ที่จะเข้าสภาฯ ก่อน สภาฯ มี 3 ชั้นก็คือ คุณได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาหรือไม่ ในวันที่โหวต มี 700 ที่นั่ง เราได้เกิน 351 เสียงหรือไม่ ล็อกที่ 2 คือ สว. ให้ผ่านเกิน 1 และ 3 ไหม คือ 67 เสียง ถ้าผ่าน 3 ด่านนี้ไปได้ ล็อกสุดท้าย คือ ประชาชนจะเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาเห็นชอบหรือเปล่า อันนี้คือกลไกของรัฐสภา

สิ่งที่จะถกเถียงกันในวันที่ 13-14 นี้จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนในการร่างแบบไหน เพราะมีทั้งข้อเสนอของพรรคประชาชนและก็ร่างของพรรคเพื่อไทย โดยหลักการมีเหมือนกันอยู่ 1 อย่าง ก็คือให้ สสร. มาจากการเลือกตั้ง แต่ระบบการเลือกตั้งต่างกันทั้ง 2 แบบ มีข้อดีข้อเสียต่างกัน และอำนาจของ สสร. ร่างใหม่ทั้งฉบับได้ไหม หรือยกเว้นห้ามแก้บางหมวด บางมาตรา 

หลักสำคัญที่จะเดินต่อไปได้ก็คือ ถ้าจะเร็วให้ทันภายในปี 2570 รับทุกร่าง และไปถกเถียงกันที่ชั้นกรรมาธิการ โดยให้เอาพี่บาร พี่ณัฐ บังแกน พี่แหม่ม อาจารย์อนุสรณ์  อาจารย์สามชาย และท่านอื่น ๆ เข้าไปร่วมกันแสดงความคิดเห็น ว่ากระบวนการแบบไหนที่จะทําให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของสังคมโดยที่เราจะมีแค่รัฐธรรมนูญ 21 ฉบับเดียวไม่ต้องฉีกอีก แต่แก้ไขได้

มันยืดหยุ่นพอ และมันโอบรับความหลากหลายของผู้คนในสังคมมันตอบสนองความหวัง ให้ความหวัง ความมั่นคง ว่าเราจะอยู่ในการปกครองที่ดีมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีชีวิตที่ดี มันก็ต้องไปถกเถียงกัน

แต่ถ้าสมมุติว่า 13-14 ก.พ. นี้ไม่ผ่าน ผมคิดว่าภาคประชาชนเราก็เดินหน้าของเรา  นักวิชาการก็เดินหน้าของเราได้ เดินด้วยการรักษาความหวังว่าเรายังอยากเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ คือ

  1. รัฐธรรมนูญปี 2560 มันไม่ตอบโจทย์เราก็ต้องเดินไป  ซึ่งจะเดินไปด้วยการทําให้คนเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญสัมพันธ์กับชีวิตคนยังไงก็ขาหนึ่ง   
  2. ทําในมิติของนักวิชาการว่า แล้วเนื้อหาที่มันจะดีขึ้นเป็นยังไงก็ส่วนหนึ่ง  
  3. ประชาชนจะรวมตัวกันหรือทําแอคชั่นบางอย่างยังไง กดดันเพื่อให้รัฐสภาเปิดประตูไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จริง ๆ ได้ 

ซึ่งมันจะช้าก็ช้าไม่เป็นไรครับ แต่ว่าประชาชนก็เตรียมความพร้อมของตัวเองไป  

ด้าน ศ. ดร.อนุสรณ์ อุณโณ มองในฐานะวิชาการว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ผ่านมา มีปัญหานอกเหนือไปจากที่เราตระหนักก่อนหน้านั้นแล้ว ในช่วงเวลานี้ ที่เราประสบเกี่ยวกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ เอาเข้าจริงแล้วพวกเราเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญฉบับตั้งแต่ก่อนที่มันยังเป็นร่างด้วยซ้ำ

ทวนย้อนกลับไปในปลายปี 2559 พวกเรารวมกลุ่มกันในฐานะที่มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วพวกเราก็ไปโหวต NO กัน แล้วสุดท้ายด้วยการใช้กลวิธีอะไรบางอย่างก็ทําให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านมาได้ แล้วก็ประกาศใช้แล้ว หลังจากนั้นเราก็อยู่กับรัฐธรรมนูญนี้มาโดยตลอด ตั้งแต่พอได้มาแล้วก็อยากให้มีการเลือกตั้ง พอเลือกตั้งแล้วก็เลือกตั้งอย่างเสรี ผลสุดท้ายแล้วพอมีรัฐบาลเราก็พบว่ามันก็เป็นข้อปัญหาสําคัญแล้วก็นํามาสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่  

ตอนนั้นเราตั้ง ครช. หรือ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ตั้งแต่ 19 กันยายน 2562 ตอนนั้นเราวางเอาไว้ว่าทํา 3 ประเด็นใหญ่ ๆ 

  1. รณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามันอยู่ตรงไหนทําไมถึงต้องแก้
  2. ถ้าเกิดว่าอยากจะแก้ ประเด็นที่อยากจะแก้ หรืออยากจะเขียนในรัฐธรรมนูญใหม่ที่เราจะพอจะทําได้ มันควรจะเป็นอะไร
  3. กลไกและกระบวนการควรจะเป็นแบบไหน สสร. แบบที่ปี 2540 มา ซึ่งมันเปลี่ยนมาประมาณเกือบจะ 30 ปีแล้ว ยังควรใช้ได้หรือไม่ หรือว่ามันควรจะเป็นอย่างไร เราคุยกันมาตลอด อย่างที่เห็นทำมาตั้งแต่ปี 2562 ปีนี้ 2568  และวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ ยังต้องมาคุยกันอยู่ 

ในช่วงจังหวะนี้ในทางภาควิชาการเราก็ถือโอกาสในการที่ถอยกลับมาตั้งหลักในการพิจารณาว่าถ้าเกิดว่าสังคมได้โอกาสที่จะเขียนจริง ๆ ซึ่งตอนนี้เราก็ยังไม่รู้นะว่าเมื่อไหร่ แต่อย่างน้อยที่สุด เราน่าจะเตรียมความพร้อมในเชิงความรู้ ความเข้าใจให้กับสังคม

ตอนที่เราเขียนรัฐธรรมนูญ 2540 มันก็ไม่ได้มีเขียนมา คล้าย ๆ มาเฉพาะการเคลื่อนไหว แต่มีฐานทางวิชาการอยู่ และตอนปี 2537 มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย โดยรัฐสภา เป็นผลสืบเนื่องมาจากการตื่นตัวของสังคมที่อยากจะให้มีการปฏิรูปการเมือง  แล้วคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตยก็ทําหน้าที่ในการไปศึกษาทบทวนแล้วก็เสนอ ว่าถ้าจะเขียนรัฐธรรมนูญควรจะเป็นอย่างไร มันมีงานวิจัยทั้งหมด 15 ชิ้นด้วยกัน เขียนโดยนักกฎหมายหมดเลย

หลังจากนั้นก็มาเสนอให้กับรัฐสภาแล้วก็เห็นชอบ ต่อมามีการตั้งคณะการปฏิรูปการเมือง แล้วนํามาสู่การแก้รัฐธรรมนูญ 2534 ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีการตั้ง สสร. ขึ้นมา ร่างรัฐธรรมนูญปี 2539 แล้วประกาศใช้ปี 2540

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า ฐานที่ใช้ในการเขียนรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นงานวิชาการ สิ่งที่เราพบมันมีข้อจํากัดอย่างน้อย 3 ประการด้วยกัน

ประการที่ 1 ถูกร่างโดยนักกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ แทบจะไม่มีนักวิชาการสาขาอื่นเข้าไปเกี่ยวข้องเลย เขาแบ่งเป็น 15 โครงการวิจัย เพียง 3 หมวด  หมวดที่ว่าด้วยรัฐธรรมนูญควรจะเป็นอย่างไร  หมวดที่ว่าด้วยระบบพรรคการเมืองการเลือกตั้งควรจะเป็นอย่างไร  และอีกหมวดคือองค์กรอิสระซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่  แล้วก็เป็นฐานในการเขียนรัฐธรรมนูญปี 2540

ประการที่ 2 คือ ไม่มีประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้องเลย ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนแต่อย่างใด

และประการที่ 3 ที่มันเขียนเอาไว้ตรงนั้น พอประชาชนไม่ค่อยเข้าไปเกี่ยวข้องตรงมากนัก มันทําให้สิ่งที่มันวางเอาไว้หลายข้อด้วยกัน รัฐธรรมนูญ 2540 มันถูกปรับใช้ที่ผิดไปจากเจตนารมณ์ดั้งเดิม

ดังนั้น คิดว่าน่าจะเป็นโอกาสอันดีที่เราน่าจะทําการวิจัยใหม่อีกครั้ง โดยอาจจะเริ่มต้นไปจากประเด็นที่ตัวของโครงการวิจัยชุดนั้นวางเอาไว้อยู่แล้ว กับอันที่ 2 สภาพการณ์ที่มันเกิดขึ้นในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา มันทําให้เราจําเป็นจะต้องปรับอะไรบ้างที่รัฐธรรมนูญ 2540 วางเอาไว้ แล้วก็เป็นผลพวงมาถึง รัฐธรรมนูญ 2550-2560  

ยกตัวอย่าง กลไกที่เป็นองค์กรอิสระ หรือแม้กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญ หรือว่าศาลอะไรทั้งหลาย มันควรจะปรับแค่ไหนอย่างไรเป็นต้น แล้วก็อีกหลายประเด็นด้วยกัน

อีกอันซึ่งคิดว่าสําคัญมาก ๆ ก็คือในเรื่องของสิทธิ์ ด้วยความที่รัฐธรรมนูญ 2540 จะเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมาก แต่ฐานคิดของมัน ถ้าเราไปดูในงานวิจัยแทบจะไม่มีการพูดถึงเรื่องสิทธิ์ของประชาชนเลย เพราะฉะนั้นเราก็เลยให้ความสําคัญตรงนี้ เพราะเราเห็นว่าในช่วง 3 ทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรัฐประหาร 2557 สิทธิของประชาชนถูกริดรอนไปอย่างมาก  

เราให้ความสําคัญกับประเด็นนี้ ว่าถ้าจะเขียนใหม่เพื่อจะเป็นหลักประกันให้กับสิทธิของประชาชนที่จะไม่ถูกพรากไปหรือว่าถูกริดรอนไปอย่างง่าย มันควรจะเขียนแบบไหน เรามีงานวิจัยที่ว่าด้วยสิทธิ์ตรงนี้ค่อนข้างจะหลายโครงการด้วยกัน  มีตั้งแต่ในแง่ของหลักการพื้นฐาน  สิทธิพื้นฐานของประชาชนที่มันควรจะเขียนรัฐธรรมนูญควรจะเป็นยังไง  อันนี้อาจจะเทียบเคียงจากหลักสากล หรือว่าต่างประเทศที่เขามีเอาไว้ลงมาถึงในระดับของสิทธิมนุษยชนควรจะเป็นแบบไหน  แล้วก็มาถึงสิทธิชุมชนควรจะเป็นอย่างไร  สิทธิเหนือทรัพยากรควรจะเป็นแบบไหน  สิทธิเนื้อตัวร่างกายควรจะเป็นอย่างไร เหล่านี้ทั้งหมดเราจะให้ความสําคัญ เพื่อจะได้เป็นหลักประกันว่ามันจะไม่ถูกบิดเบือนไปง่าย ๆ จะไม่ถูกใช้อย่างผิดเจตนารนณ์ไปตั้งแต่แรก และขณะเดียวกันก็จะเป็นหลักประกันว่าสิทธิของประชาชนจะยังคงอยู่

รศ. ดร.สามชาย ศรีสันต์ กล่าวยกคำพูดของ อาจารย์ชาญวิทย์ ที่เคยบอกว่า “เราจะรู้อนาคตได้ก็ต้องย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์” เพราะฉะนั้นถ้ารัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน  ที่มันเกิดขึ้นได้ เราก็อาจจะไปดูว่าตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 40 มันเกิดขึ้นได้ยังไง  เพราะฉะนั้นสิ่งที่อาจารย์อนุสรณ์กําลังทํากับพวกนักวิชาการอยู่ ก็อาจจะเป็นรูปแบบหนึ่งของจุดเริ่มต้นที่เราน่าจะต้องไปแตะกับปัญหาสําคัญที่เป็นปัญหาใจกลางของการที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันแก้ไม่ได้ หรือว่ามีอุปสรรคขัดขวางต่าง ๆ 

ผมก็คาดหวังว่า งานที่เราจะทําด้วยกันในทีมนักวิชาการจะไปให้คําตอบ หรือให้ข้อมูลที่เป็นทางออกกับสังคม ว่าสังคมควรจะเดินไปทางไหน สําหรับประเด็นที่มันแหลมคมสําหรับสังคมไทย ซึ่งจริง ๆ เราก็ระมัดระวังพอสมควร แล้วไม่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวดหนึ่ง หมวดสองโดยตรง เพราะมันเป็นเรื่องที่พูดถึงไม่ได้ แต่ว่าผมก็คาดหวังว่าในประเด็นอื่น ๆ ที่เรากําลังทําอยู่มันอาจจะต้องมีข้อเสนออะไรที่เป็นทางออกในปัญหาที่เรากําลังปะทะกันอยู่ แล้วอยู่ร่วมในสังคมไทยได้

ถ้าเราเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงตามหลักการทางวิชาการที่จะให้ทางออกกับสังคมไทยเห็นพ้องต้องกันได้  ก็เป็นทิศทางที่มันจะนําไปสู่การได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

สมบูรณ์ คำแหง เสริมต่อว่า ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าเราย้อนไปดูตอนปี 2540 มีการลงพื้นที่ลงรับฟังความคิดเห็นกันเยอะมาก ผมได้ข้อมูลต่าง ๆ จากกระบวนการทางวิชาการ ก็มากลั่นกรองแล้วก็ยกเป็นร่างตัวรัฐธรรมนูญขึ้นมา อันนี้เป็นสิ่งที่มันสอดรับกันอยู่แล้ว 

สิ่งที่หวังในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่น การพูดถึงเรื่องการต้องมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100%  ซึ่งภาคประชาชนก็พยายามนําเสนอ แต่ว่าในส่วนพรรคการเมืองเองก็พยายามต่อรองเรื่องเหล่านี้

อย่างไรก็แล้วแต่ เรายังมีจุดมุ่งหมายว่าในกระบวนการร่าง มันก็ต้องเป็นกระบวนการที่ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง  ซึ่งผมคิดว่าตอนที่มีการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 อาจมีบทเรียนที่เป็นประสบการณ์ว่า บางทีร่างแล้วฟังประชาชนมากเกินไปก็อาจเป็นจุดอ่อนเหมือนกัน ที่ทําให้ฝ่ายการเมืองเองอาจจะใช้ช่องว่างช่องโหว่ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ของพรรคการเมือง 

แต่ผมคิดว่า ถ้ามีกระบวนการนี้เกิดขึ้นจริง  ผมเชื่อว่ามันคงไม่เป็นแบบนั้นแล้ว ความเข้มข้นหรือเกราะอะไรบางอย่างที่ภาคประชาชน หรือแม้กระทั่งชาวบ้านทั่วไปเขาได้เรียนรู้ อาจเป็นจุดแข็งที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะฉะนั้นที่เราคาดหวังว่าในกระบวนการร่างคือต้องมีกลไกที่เชื่อมโยงกับกับภาคประชาชนชัดเจน น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นความหวังว่าในกระบวนการของรัฐสภาจะยอมรับเรื่องนี้แล้วก็จะนําไปสู่การขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้อย่างรวดเร็วจัดให้มีการเลือกตั้ง สสร. ที่มาจากประชาชนจริง ๆ  

งานวิชาการจะมารองรับตรงนี้ เพราะในกระบวนการทํางานการรับฟังความคิดเห็น มันก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเอาเนื้อหาสาระสําคัญทั้งหมดมารวบรวมเรียบเรียง แล้วก็กลั่นกรองกัน

ซึ่งจริง ๆ หลายเสียง ก็พูดว่าตัวรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฉบับที่ 21 อาจจะไม่จําเป็นต้องลงรายละเอียดแบบ รัฐธรรมนูญ 2540 หรือแบบฉบับ 2560 ก็ได้  ซึ่งอาจจะพูดในเชิงหลักการสําคัญว่ามันจะปกป้องสิทธิของประชาชนยังไง ซึ่งอาจจะต้องมีความยืดหยุ่นที่ไม่วางเกราะจนแข็งตัวเกินไปที่ไม่สามารถแก้อะไรได้เลย  ซึ่งเราต้องยอมรับว่าสังคมมันเปลี่ยนผ่านไปเร็วมาก การแก้ไขรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ว่าการไปไปฉีกทิ้งทําลาย อาจจะเป็นโจทย์ใหญ่ว่าเราจะร่างแล้วก็สร้างเงื่อนไขไม่ให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญอีกได้อย่างไร เป็นโจทย์ที่อาจจะต้องคิดร่วมกัน

iLaw เดินขบวนไปรัฐสภา เพื่อยื่น 100,000 รายชื่อ สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งฉบับ

นุชนารถ แท่นทอง พาย้อนอดีตช่วงก่อนที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ว่า ก่อนที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นจะมีการลงไปตามกลุ่มต่าง ๆ เพื่อเข้าไประดมความคิดเห็น เข้าไปยันชุมชนเลย ตอนนั้นตนอยู่ในชุมชน เป็นครูศูนย์เด็ก ก็ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมที่จุฬาฯ   และก็ลงไปที่ชุมชน ไปช่วยกันระดมความต้องการที่จะอยากเห็นความต้องการของเราเข้าไปบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ  

ตอนนั้นมีการรณรงค์ไปทุกกลุ่มทั่วประเทศ เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่า เรามีโอกาสได้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ รู้สึกเป็นเกียรติในยุคนั้น เพราะว่าตอนนั้นยังเป็นชาวบ้านที่ถูกไล่ที่อยู่เลย  ยังเป็นคนที่เป็นตัวเล็กตัวน้อยในชุมชนอยู่  จนถึงวันนี้เรายังรู้สึกว่า รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใกล้ตัวแล้วมันสัมพันธ์กับเรายันเรื่องปากท้องเลย

จึงยืนยันว่าการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ควรจะมีการเลือกตั้ง สสร. 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ยังเชื่อมั่นว่าขบวนการของประชาชนยังมีอํานาจในการที่จะกําหนดอนาคตของตัวเองด้วย

ณัฐวุฒิ กรมภักดี เสริมต่อว่า ไม่ได้คิดว่าจะมีรัฐธรรมนูญไหนที่สมบูรณ์แบบ แม้แต่ รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 เอง แต่เชื่ออย่างหนึ่งว่าตัวรัฐธรรมนูญต้องมีกระบวนการที่มันเกี่ยวร้อยประชาชน  ประชาชนมีสิทธิ์ออกแบบ มีสิทธิ์ตัดสินใจเหมือนที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ 2540

เราคิดว่าว่าถ้ารัฐธรรมนูญมันตอบโจทย์มันต้องยึดโยงกับประชาชน เป็นหลักการพื้นฐานเจตนารมณ์พื้นฐานของรัฐธรรมนูญ ถ้าอันไหนขัดแย้งมันละเมิดสิทธิประชาชนในเนื้อหา ในรัฐธรรมนูญแสดงว่ามันไม่ใช่รัฐธรรมนูญของประชาชน ถ้ามีข้อกฎหมายที่ออกแบบมาแล้วไปละเมิดสิทธิประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไปตัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนออก อันนั้นก็ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของพวกเรา 

หรือแม้แต่ถ้ารัฐธรรมนูญ คือกฎหมายก็ต้องแก้ไขได้ทั้งหมด  เรื่องที่เป็นตรรกะที่บิดเบี้ยวทําให้ขวางคอเรื่องรัฐธรรมนูญอยู่ คือ คนไม่เคารพตรรกะพื้นฐานที่มันยึดโยงกับเจตนารมณ์ เปลี่ยนเลนเปลี่ยนทางให้เราไปสนใจแต่มาตราเล็ก ๆ ทั้ง ๆ ที่หลักการใหญ่ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนี่แหละที่ประชาชนควรจะต้องสร้างขึ้นมา   

นี่เป็นวิธีการสําคัญที่ภาคประชาชนเองจะทํางานกับคนในครอบครัว กับพี่น้อง กับชาวบ้านที่เราอยู่ด้วยเพื่อให้เขาเห็นว่าเจตนารมณ์เป็นเรื่องที่สําคัญ ถ้าใครมาล้มล้างเจตนารมณ์ของเราก็ต้องต่อสู้ ฉะนั้นเวลาพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญผมจึงไม่ได้มองว่า มันคือคัมภีร์สุดวิเศษหรือคือเทวดาที่มาปลดปล่อยอะไรขนาดนั้น แต่มันคือเครื่องมือของการต่อสู้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งจุดยืนของประชาชน ภาคประชาชนเองก็ต้องกลับมาตั้งหลักเรื่องแบบนี้แล้วก็ทํางานเรื่องแบบนี้กันให้มากขึ้น

ภาพจากสมัชชาคนจน 19 ธันวาคม 2562

ด้าน บารมี ชัยรัตน์ เล่าถึงบรรยากาศตอนที่จะมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ว่า ตอนนั้นพวกเรารณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ด้วยความสุข ด้วยความหวัง ด้วยความมีพลังที่คิดว่า รัฐธรรมนูญที่จะเขียนขึ้นมาใหม่เป็นรัฐธรรมนูญที่มันคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพวกเรา และก็จะเป็นเครื่องมือของพวกเราในการไปจํากัดอํานาจรัฐ ที่จะไม่ให้มาละเมิดสิทธิเสรีภาพของพวกเรา  

ผมยืนยันว่าเราต้องอาศัยความเข้มแข็งของภาคประชาชนเป็นหลัก ความเข้มแข็งของภาคประชาชนเท่านั้นที่จะชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้ได้ หรือชี้นกเป็นไม้ก็ได้  ถ้าพวกเราเข้มแข็งเราสามารถทําให้รัฐสภาสามารถร่างรัฐธรรมนูญให้จบ เขียนรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในปี 2570 ได้ แต่ถ้าพวกเราไม่เข้มแข็งก็ลากไปเรื่อย ๆ เมื่อไหร่ก็ไม่รู้จบ

ดังนั้นมันเป็นภารกิจที่สําคัญสําหรับพวกเราที่จะต้องไปทํางานกับพี่น้องชาวบ้าน  ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ผ่านมามันทําร้ายวิถีชีวิต  ทําร้ายละเมิดสิทธิเสรีภาพของพวกเราขนาดไหน  ถ้าพวกเราอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น เราต้องสร้างรัฐธรรมนูญ ให้รัฐบาลดําเนินการเขียนรัฐธรรมนูญให้จบโดยเร็ววันนะ  ซึ่งไม่ทันในปี 2570 ก็ไม่เป็นไร ยังไงการเลือกตั้งครั้งหน้า ผมคิดว่าคงต้องเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 นี่แหละ มันไม่เร็วไปกว่านั้นได้อีกแล้ว ซึ่งวันที่ 13-14 อาจจะไม่ใช่เป็นความหวังของพวกเรา เพราะว่าเรายังรวมพลังกันไม่พอ เรายังเข้มแข็งไม่พอ แต่สักวันหนึ่งผมเชื่อว่าเราแข็งแรงพอ


ดูรายการฟังเสียงประเทศไทยแบบจุใจ ในรูปแบบ UNCUT ได้แล้ววันนี้ ที่ YouTube CitizenThaiPBS

ฟังเสียงประเทศไทย : คุณเชื่อไหมว่า ประชาชนเขียนรัฐธรรมนูญได้ | 8 ก.พ. 68
https://www.youtube.com/watch?v=MtSZO_NdJpg

[UNCUT] คุณเชื่อไหม ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญได้ ? | ฟังเสียงประเทศไทย
https://www.youtube.com/watch?v=LUYn-Ht-CRU

แชร์บทความนี้