โค้งสุดท้ายเลือก สว. ฟังเสียงคนเหนือ

ฟังเสียงประเทศไทย ช่วยกันส่งเสียง ช่วยกันรับฟัง ช่วยกันสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ ปลดล็อก ประเทศไทยเดินหน้าต่อ

ฟังเสียงประเทศไทย” Creative Listening

ฟังเสียงประเทศไทยจัดวงเสวนาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย “เลือกตั้ง สว. 2567” สะท้อนความหวังของประชาชน (ภาคเหนือ) เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา เวลา 13.15-16.00 น. หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย : ชวนตัวแทนคนเชียงรายและตัวแทนคนเหนือตามกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่มมาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนกัน และชวนมองไปถึงภาพอนาคตในอีกหลังเลือก สว. ว่าพวกเขาอยากเห็นการเลือกสว. ครั้งนี้เป็นแบบไหน

ชวนฟังเสียงคนเหนือ ก่อนด่านสุดท้ายชิงเก้าอี้ สว.ระดับประเทศ ในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ซึ่งผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 10 คนแรกจากแต่ละ 20 กลุ่มอาชีพ จะได้เป็น 200 คนสุดท้ายที่เข้าไปทำหน้าที่ในวุฒิสภา

แม้จะมีเสียงวิพากย์วิจารย์มาต่อเนื่องตลอดช่วงสัปดาห์ของการเลือกทั้งในระดับอำเภอ และระดับจังหวัง ถึงกติกาที่มีความซับซ้อน แต่คู่ขนานเราได้เห็นประชาชนลงไปเล่นในสนามการเมืองรอบนี้อย่างคึกคัก นี่เป็นห้องทดลองในเส้นทางประชาธิปไตย โจทย์ความน่าจะเป็นทั้งการกระจายกลุ่มตัวแทนในสายอาชีพ และจังหวัด จะตรงตามเจตนารมย์หรือไม่ ซึ่งอาจทำให้การยึดโยงกับประชาชนลดน้อยลง

หลายภาครวมทั้งเสียงของคนภาคเหนือมีความหวังว่าการสรรหา สว.ในครั้งนี้เราจะเห็นการเมืองไทยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และพาสังคมไทยเดินไปข้างหน้า ชวนขยายมุมมองต่อกับฟังเสียงประเทศไทย ตอน โค้งสุดท้ายเลือก สว. ฟังเสียงคนเหนือ (บันทึกฉบับเต็ม)

รายการฟังเสียงประเทศไทยชวนตัวแทนคนเหนือ 3 ท่าน ฉายภาพความหวังของการเลือก สว.ครั้งนี้ ให้ผู้อ่านเข้าใจ สถานการณ์ปัจจุบัน

Ted Talk

คุณไวยิ่ง ทองบือ ตัวแทนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยประกอบไปด้วยหลากหลายชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง หนึ่งในนั้น คือ พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง ที่ได้สร้าง พัฒนาประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่ผ่านมานะ

อย่างไรก็ตามพวกเขาเหล่านั้น ได้รับผลกระทบ จากการพัฒนาและก็นโยบายของรัฐโดยเฉพาะในเรื่องของทางอคติทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และอคติทางสังคม  ในเรื่องของพี่น้องชนเผ่าทำลายป่า พี่น้องชนเผ่าทำลายป่า  เป็นต่างด้าว ค้ายาเสพติด ทำให้พี่น้องชาติพันธุ์ได้รับผลกระทบ ที่ผ่านมานะอาจมีกฎหมายบางฉบับ ที่พี่น้องชนเผ่านำเสนอเข้าไปแต่สุดท้ายไม่ได้รับการการเห็นชอบในสภานิติบัญญัติ 

ในการคัดเลือกสว. หรือ สมาชิกสภาวุฒิสมาชิกในครั้งนี้  พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มีความสนใจที่จะเสนอตัวเข้ามาเพื่อที่จะเป็นตัวแทนในการแก้ปัญหาหรือว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่ถูกนำเสนอในขณะนี้ เช่น พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง พ.ร.บ. อากาศสะอาด พ.ร.บ.ป่าชุมชน

ในการคัดเลือก สว. ในครั้งนี้ ได้มีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เผ่าต่าง ๆ ได้เสนอตัวที่จะมาเป็นตัวแทนในการที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างไรก็ตามด้วยระเบียบ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างนะ อาจจะทำให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้รับการคัดเลือก ก็ขอให้ท่านที่มีโอกาสได้เป็น สว. ก็อย่าลืมเรา

คุณ กิตติ ทิศสกุล ที่ปรึกษาหอการค้า จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การเลือกตั้ง สว” ในครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ที่มีความสลับซับซ้อน ผมเห็นว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ยึดโยง เกี่ยวกับประชาชน ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาโดยตรง ใครก็ตามที่จะไปเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในครั้งนี้ คุณจะต้องสมัคร แล้วจ่ายเงิน 2,500 บาทเพื่อได้สิทธิ์ในการไปเลือกตั้ง

ซึ่งตามหลักประชาธิปไตยนั้น การได้มาของสมาชิกวุฒิสภา หรือสภาสูง ต้องมีการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตามหลักการของประชาธิปไตย

การได้มา สว. ในครั้งนี้ของเรา ในบริบทของปัญหาประเทศชาติ ที่สะสมมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขัดแย้งทางด้านการเมือง ปัญหาในเรื่องสังคมเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบริบทที่แปรเปลี่ยนไปในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโดน Disruption ในเรื่องของดิจิตอลก็ดี ในเรื่องของ AI ก็ดี สมาชิกวุฒิสภาจะต้องไปร่างกฎหมาย ให้ทันต่อบริบทการพัฒนาของประเทศ กอบกับในโลกใบนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของปัญหาการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านก็ดี ปัญหาเศรษฐกิจของโลกก็ดีปัญหาภัยที่เกิดจากภาวะสงครามของโลกใบนี้ 

เพราะฉะนั้นกรอบในเรื่องของสมาชิกวุฒิสภา ที่จะต้องเป็นร่างกฎหมาย หรือไปแก้ไขปัญหาหรือก้าวเข้าไปตรวจสอบในการทำงานของรัฐบาล หรือแม้กระทั่งทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปในการคัดสรรคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในบริบทของประเทศไทย ที่เราต้องก้าวต่อไป ผมเห็นว่าการเลือกตั้ง ส.ว ครั้งนี้ เป็นความคาดหวังของคนไทยทั้งประเทศที่อยากเห็นประเทศไทยเดินหน้า แล้วพัฒนาเทียบทันกับโลกใบนี้แล้วแก้ปัญหาให้กับคนไทยเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและมั่นคง 

คุณ แพรวพร  สุขัษเฐียร ผู้ร่วมก่อตั้งและนักออกแบบใจบ้านสตูดิโอ กล่าวว่า อ้อ ตัวแทนจากกลุ่มใจบ้านสตูดิโอ เป็นสถาปนิกที่ทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ พวกเราสนใจการทำงานออกแบบร่วมกับธรรมชาติ ผู้คน และการอยู่ร่วมกันในสังคม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่เราร่วมกันกับภาคีต่าง ๆ ในงานพัฒนาเมือง เราก็เห็นประเด็นสำคัญของการออกแบบผังเมืองและสิ่งแวดล้อม รวมถึงธรรมชาติ

ที่ผ่านมานโยบายผังเมือง หรือสิ่งต่างๆ ไม่ได้ถูกออกแบบวางแผนไว้ให้ผู้คนหรือสิ่งแวดล้อม หรือธรรมชาติ เราถูกจัดการแค่ความสูงและความหนาแน่น ดังนั้นในการเลือก สว. ครั้งนี้ อ้อ มีจุดมุ่งหมายที่จะเข้าไปช่วยคัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและพร้อมที่จะพูดแทนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เรามีผังเมือง ที่ไม่ได้มองแค่อาคาร แต่มองคุณภาพชีวิตของผู้คน ดังนั้น ยังอยากจะส่งต่อไปถึงพี่ๆ เพื่อนๆ ที่ผ่านการคัดเลือกรอบประเทศ ว่าเรา ยังคงมีความหวัง ที่จะคัดเลือกคนที่เหมาะสม

ที่ผ่านมาเราอยู่กับความจริงที่ไม่จริง ความจริงที่เราต้องการคนที่เหมาะสม แต่เราถูกความไม่จริงของการแพ้ชนะ มาบดบังการคัดเลือกที่เหมาะสม ดังนั้นในโค้งสุดท้ายนี้ก็อยากฝากทุกคนทำตามความฝันวันแรกที่เราลงสมัครเลือกสว.

นอกจากตัวแทนคนในพื้นที่ภาคเหนือ ฟังเสียงประเทศไทยชวนขยาย และคุยกันอย่างเข้มข้นกับบรรยากาศโค้งสุดท้ายเลือก สว. 67 ล้อมวงเติมมุมมอง กับ ผศ. ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ. ดร.วีระ เลิศสมพร คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยพะเยา และ ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เชื่อว่าคุณผู้อ่านมีหลายความรู้สึกในช่วงเวลานี้ เติมประเด็นการกับแขกรับเชิญบนเวทีของเราทั้ง 6 ท่าน

ในบรรยากาศช่วงโค้งสุดท้ายหากนิยามมาสัก 1 คีย์เวิร์ด 1 คำ เราอยู่ในความรู้สึกแบบไหน

ผศ. ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขอตอบว่าตื่นเต้น ผมคิดว่าเรากำลังจะออกจาก สว. ที่เราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆทั้งสิ้น และไปสู่สว. ชุดใหม่ ซึ่งแม้ประชาชนโดยทั่วไปไม่ได้มีโอกาสเลือกแต่มันก็เป็นกระบวนการที่มีมีความตื่นตัวและมีความหลากหลายอย่างยิ่ง จากที่เราสังเกตมาใน 2 รอบ

รศ. ดร.วีระ เลิศสมพร คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า ต้องเดินหน้าต่อไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อุปสรรคปัญหานานัปประการ คือเรื่องของการเลือก สว.​ครั้งนี้ ที่มีความซับซ้อนและก็มีข้อร้องเรียนเยอะมาก และคิดอยู่คำเดียวว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราต้องเดินหน้าต่อ

ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขอให้สำเร็จ นะ เพราะว่า รธน. ฉบับนี้เขาเขียนว่า ถ้าสว. ที่หมดวาระไป จะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าสว. ชุดใหม่จะเข้ามาความหมายคือว่า ถ้าหากเลือก สว. ชุดใหม่ไม่สำเร็จ เราต้องอยู่กับสว.​ชุดที่เราไม่เลือก คือ คสช. เขาเรียกไว้ต่อไป อีกตราบนานเท่านาน

ปัญหาแม้ว่าจะมีเกิดขึ้นค่อนข้างมาก แต่ต้องถือว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะอำเภอนั้น จังหวัดนี้ ผู้สมัครคนนั้น เจ้าหน้าที่คนนี้ ไม่ใช่ภาพรวม ผมคิดว่าต้องช่วยกันทำให้การเลือกครั้งนี้สำเร็จ เพื่อที่ว่าจะได้มีสว.​ชุดใหม่ แม้จะมีที่มาที่มาจากระบบที่มันซับซ้อนที่สุดในโลกแต่ยังไงก็ดีกว่าสว.​ที่ประชาชนไม่ได้เกี่ยวข้อง 

คุณ กิตติ ทิศสกุล ที่ปรึกษาหอการค้า จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า อนาคต ผมคิดไว้ว่า ประเทศไทยเราผิดหวังกันมาเยอะมาก แล้วเราเสียเวลากับเรื่องพวกนี้มาเยอะมาก ประชาชนรู้สึกอึดอัด แล้วเขาต้องการเดินไปข้างหน้า เขาต้องการมองเห็นอนาคตของประเทศที่สดใส ประเทศนี้ไม่ใช่คนของกลุ่มใดคนใดคนหนึ่ง มันเป็นของทุกๆคน การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นโอกาสอย่างดียิ่ง ที่เราจะเดินต่อไป นี่คือ ความคาดหวัง 

ในฐาที่เป็นภาคประชาชนที่ลงสมัคร แต่ไม่ผ่านรอบแรก ถึงตอนนี้ เชื่อว่ามีความหวัง

คุณ แพรวพร  สุขัษเฐียร ผู้ร่วมก่อตั้งและนักออกแบบใจบ้านสตูดิโอ กล่าวว่า ให้นิยามว่า พลังแห่งความสิ้นหวัง คือท่ามกลางของความสิ้นหวัง เราก็ยังต้องมีพลังที่เราจะต้องมองกันยาวๆ แล้วก็เชื่อว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ มันจะทำให้คนที่สิ้นหวังแล้วไม่อยากเข้ามาอยู่ในวงเวียน มันน่าจะเป็นพลังให้เขากลับมาว่า จริงๆมันทีละนิดทีละนิด มันยังมีโอกาส

คุณไวยิ่ง ทองบือ ตัวแทนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐาที่ผมเป็นประชาชนคนหนึ่งและก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย ผมว่าผมทำหน้าที่ที่สุดแล้ว นั่นก็คือลงสมัคร แต่ว่าด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทำให้ไม่สามารถที่จะเข้ารอบได้ ก็เหลือแต่ว่าคนที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ หรือว่าคนที่ได้รับเลือกตั้งก็อย่าลืมพวกผม หรือว่าอย่าลืมผม

ถ้าเผื่อว่าการเลือก สว. ครั้งนี้มันตะกุกตะกัก สังคมเดินไปถอยหลัง ?

ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ต้องเรียนว่าเขา เขาตอนเขียนรัฐธรรมนูญ เขาเขียนไว้ประหลาดที่สุด  คือไม่ได้มีไม่ได้บอกว่าต้องเลือกให้เสร็จภายในเมื่อไหร่ แล้วก็ชุดนี้ก็ไม่รักษาการที่หมดวาระไปแล้ว จะอยู่ไปเรื่อยๆ ผมก็เกรงว่าเกิดมีใครเขาคิดว่าเอ๊ะเราอยากจะต่ออายุ สว. ชุดนี้จะต่อยังไง ก็ทำให้การเลือกสว. ไม่สำเร็จ

ข้อเสนอ-Listen

ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ต้องมองแยกกัน ที่เราวิจารย์ก็เพื่อให้มันดีขึ้นตรงไหนมีปัญหาก็แก้ไป เขตไหน อำเภอใด จังหวัดใด ก็แก้เป็นที่ๆไป ผมคิดว่าเราต้องเดินหน้าต่อไป แม้ว่าชุดนี้เราจะมีที่มาที่มันมีปัญหา แต่ว่ายังไงก็ดีกว่าก็ดีกว่า ต้องมาแทนที่ได้ แล้ว สว. ชุดนี้ จะเข้ามาแก้ รธน.เรื่องแรกคือ เรื่องที่มา สว. นี่แหละ ให้มันดีกว่านี้  

คุณ แพรวพร สุขัษเฐียร ผู้ร่วมก่อตั้งและนักออกแบบใจบ้านสตูดิโอ กล่าวว่า ขอเกริ่นช่วงที่ก่อนเข้าเวที คือการลงสว. ครั้งนี้ มันทำให้เรา รู้จักคนที่ เราไม่คาดถึง คือเขาก็จะเดินเข้ามาแนำตัว แล้วก็รู้จักกัน และสิ่งที่เราเจอในอำเภอคือ จริงๆ ไม่ได้เกินความคาดหมาย ในอำเภอก็มีความวุ่นวาย หรือว่าในระหว่างจะเลือกอยู่แล้ว ซึ่งอ้อไม่ได้อยู่รอบบ่าย แต่ว่ารอบเช้าก็จะมีความไม่มั่นใจ จะเขียนเลขตัวนั้นตัวนี้ผิดหรือไม่ จริงๆมันควรจะพูดกันตั้งแต่ก่อนที่คุณจะมานั่งเลือกแล้ว

มันเป็นประเด็นที่รู้สึกว่า พวกเราหรือว่าประชาชน ช่างอ่อนแอในการความรู้พื้นฐานในการจะใช้สิทธิ์ตัวเองไปซะเหลือเกิน อีกอย่างที่รู้สึกว่าเป็นข้อดีของครั้งนี้ คือ อย่างเมืองเชียงใหม่เองที่เรามีผู้สมัครเยอะมากเนาะ 300 กว่าคน สิ่งที่เราเห็นคือเราเห็นหัวจิตหัวใจผู้สมัครอิสระ และได้ทำความรู้จักกันว่ามีพี่ๆ น้องๆ มีคนมีความรู้ความสามารถเยอะแยะมากมาย ถึงแม้ว่าเขาไม่ได้เข้าผ่านรอบต่อไปเหมือนเรา แต่เรารู้สึกว่านี่แหละคนแบบนี้แหละที่เราอยากจะทำงานด้วยกันในระดับพื้นที่ หรือจะมองเป็นภาพรวมระดับประเทศ เรารู้สึกว่า ข้อดีคือการได้รู้จักคนใหม่ๆ ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งก็เป็นโจทย์ท้าทาย 

ผศ. ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในร้ายมันมีดี คือ ระบบแบบนี้ทำให้ คนที่ที่ทางน้อง เขาพูด คนที่เราไม่คาดคิด เข้ามาสู่การเมือง ผมย้อนไปดูตัวเลขตอนพีคสุดของระบบเลือกตั้ง สว. คือ ปี 2543 ตอนนั้น มีคนลง สว.​ทั้งประเทศ ประมาณ 1,500 กว่าคน 1,500 กว่าคนเทียบกับตอนนี้ที่เป็นระบบเลือกกันเอง แบบที่เป็นอยู่ มีคนลง 40,000 ประมาณ 48,000 และตอนหลังก็มีการตัดสิทธิ์ เหลือประมาณ 4 หมื่นห้าสี่หมื่นหก คือมันต่างกันลิบลับ นี่คือความตื่นตัวที่ผมเห็น ถ้ามองเล็กลงมาที่เชียงใหม่ ตอนเลือกปี 43 เชียงใหม่มีผู้สมัครประมาณ 100 ประมาณ 51 คน แค่นั้นตอนนั้น มี สว.​ได้ 5 คน นี่คือความต่างที่มันเห็นว่า 1 มีความตื่นตัว 2 มีความหลากหลาย 

เนื่องจากเขาคัดเลือกกันตามกลุ่มอาชีพ เพียงแต่ว่าประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงที่เป็นกลุ่มอาชีพที่กฎหมาย พรบ.​ประกอบ กำหนดมันใช่อาชีพที่ๆ มันเหมาะสมหรือไม่ นี่อีกเรื่องหนึ่ง แต่วิธีคิด ฐานคิด ของการเลือกตามกลุ่มอาชีพ และเราเห็นผู้สมัครที่หลากหลายแบบไม่เคยมีมาก่อน ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเรื่อง ผู้หญิง กับ ผู้ชาย ย้อนกลับไปปี 2543 ยังมีสัดส่วนผู้หญิงลงสมัคร ส.ว.​ แค่ประมาณ 7% มาปัจจุบันขึ้นมาประมาณ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ สูงมาก เนื่องจาก 1 มีกลุ่มสตรีมีแท่งของกลุ่มสตรี เป็นส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่าระบบที่เป็นอยู่มันดึงคนที่อาจจะไม่เคยคิดจะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเข้ามาสู่การเมืองแล้วมันเป็นระบบที่ค่อนข้างปิด คือว่าประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิ์เลือก

ถ้าคุณอยากเลือกคุณต้องสมัคร แล้วก็ต้องมีค่าสมัครด้วย 2,500 บาท มันเลยทำให้ตรงนี้ ผมคิดว่ามันก็มีดีในร้าย มีพัฒนาการ เห็นสัญญาณ เห็นความตื่นตัว เห็นความหลากหลาย ซึ่งเชื่อว่าถ้ามันมีการปฏิรูปในอนาคต ต้องดีกว่าที่เป็นอยู่  

คุณไวยิ่ง ทองบือ ตัวแทนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงสมัครครั้งนี้ ผมไม่ได้ตื่นเต้นเลย เพราะว่าผมมีประสบการณ์แบบนี้มาอย่างน้อย 3 ครั้ง และกับองค์กรอื่นๆ ในลักษณะแบบนี้ ที่มีการคัดเลือกกันแล้วก็มาโหวตกันอย่างนี้ ธรรมดาตัวผมเองผมพยากรณ์ ตั้งแต่ วันที่ 29 แล้ว ว่าผมไม่ผ่าน ถ้าผ่านก็คือโชค  โชคในที่นี้ก็คือ พระเจ้านี่แหละที่ช่วยผม  เพราะใน 8 คน มีชาติพันธุ์เพียงคนเดียว ถ้าโหวตนี่มันจะไปได้ที่ไหนใช่ไหม แต่บังเอิญผมผ่านรอบแรก   รอบที่ 2  มันไขว้ 90 กว่า เอ่อ ไขว้นี้ประมาณ 20 คน ผมไม่รู้จักเขา เขามองหน้ากันเขารู้จักกันหมดเลย มีผมนี่ที่ไม่รู้จักใครเลย อย่างนี้ ก็คือโชคด้วย แล้วก็การลงถ้าเรามีเทคนิค 

ก็จะไม่ลงอำเภอที่ผมอยู่ ผมจะไปที่อำเภอกัลยา หรือว่าอมก๋อย เพราะคนลงไม่เยอะบางคนที่เข้าไปในกลุ่ม 8 หรือว่ากลุ่มอื่นๆที่ขอยกตัวอย่าง แค่ 2 คน บางกลุ่มแค่คนเดียวและกลุ่ม 3 คน คุณไม่ต้องไปเลือกตั้งแล้ว ขอให้คุณได้คะแนน 1 คะแนนคุณก็ผ่านเข้าไปแล้ว

ผ่านเข้าไปในจังหวัด โดยที่คุณไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ผม ตั้งแต่ยกแรก ผ่านไป 1 รอบ นั่นคือ พระเจ้าช่วยละ แสดงว่า ความดีของเราเขาก็พอจะเห็นว่าคนเนี้ยสมควรให้ซึ่งผมไม่รู้จักจริงๆ อันนี้ ผมคิดว่าอันหนึ่ง แล้วเราจะเอาเงินที่ไหน ของพี่น้องชาติพันธุ์ 2,500 บาทนี่เป็นเป็นเริ่มต้น

ค่าเดินทาง ค่ากิน ทั้งหมด คำนวณแล้ว ต้อง 4 ครั้งในระดับอำเภอ แล้ว สว. ๑ สว. ๒ ครั้งนึง ก็ไปสมัครอีกครั้งหนึ่ง  ไปรับสว. 3 อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ไปสมัครอีกครั้งหนึ่ง 4 ครั้ง ถ้าผมจะเทียบยังอมก๋อยนี่ ต.แม่ตื่น น่ะ ไปสมัครที่อมก๋อย ก็ใช้งบประมาณในการ ไปสมัครที่อำเภอ เกือบ 5,000 แล้วใครจะออก ถ้าคุณออกแสดงว่าคนนั้นแหละ โอ้โห ผมนับถือหัวใจ

เว้นเสียแต่ว่า มีคนออกให้แค่นั้น เพราะฉะนั้นผมมาคนเดียวมันไม่แปลกที่ผมแพ้ และผมไม่เสียใจ เพราะผมรู้อยู่แล้ว แต่ที่ผมลง ผมจะประกาศว่า ผมเป็นชนเผ่า ผมมีอะไรปัญหา ที่จะต้องแก้ 1 2 3  แต่ว่า มันไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนที่ได้เป็นสว.​ก็อย่าลืมเราอันนี้ขอฝากไว้ อย่าลืมเรา คนที่ได้เป็น เพราะว่าสิ่งที่คุณเล่นเป็นนั้นน่ะก็มันก็มันก็เกิดจากที่แบบห้ามเราเหมือนกัน 

เขาไม่ดูหรอกว่า โปรไฟล์คุณเป็นยังไง บางคนประวัติแค่สองพยางค์ ถ้าเกิดว่าเราตั้งใจที่จะลงสมัครอะไรสักอย่างหนึ่งประวัติของคุณ 2 คำ หรือ 1 คำได้ไหม ผมว่าไม่มีหรอก เราก็พอจะประมาณว่ามาเพื่ออะไร จริงๆ แล้วบางคนไม่มีประวัติด้วยซ้ำ

คุณ แพรวพร  สุขัษเฐียร ผู้ร่วมก่อตั้งและนักออกแบบใจบ้านสตูดิโอ กล่าวว่า ช่วงก่อนเลือกตั้ง เราจะเจอหลายคนที่อยากมาทำความรู้จักโดยเราก็รู้สึกว่าเอ้ย ดีจังเลย ที่มาคุยกัน กลุ่มเรามีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องอสังหา มันน่าจะได้เจอคนที่ทำงานคล้ายๆกัน  แต่การเปิดฉากในการแนะนำตัว มันไม่ได้พูดถึงคะ ไม่ได้ถามว่าเราทำอะไร มีประสบการณ์อะไร ซึ่งทำให้ความตั้งใจเดิมที่เรามาลงเพื่อเรื่องอสังหา เรื่องสิ่งแวดล้อมมันหายไป

การคุยในชั่วโมง 2 ชั่วโมงที่เราเสียเวลาจากงานที่เราทำ มันไม่ได้เห็นอนาคต ซึ่งสุดท้ายแล้วเราก็ได้แต่ยืนยันว่า วันนี้ที่เรามารู้จักกันเนาะ ให้รู้ว่าพี่ทำอะไร อ้อทำอะไร แต่ว่าเรื่องการแลกคะแนนหรือคณิตศาสตร์ก็เราไม่เราไม่เชื่อในทางนั้นค่ะเราอยากพิสูจน์ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าตกรอบ  

คุณ กิตติ ทิศสกุล ที่ปรึกษาหอการค้า จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า มันเป็นการสะท้อนของคนที่ออกกฎกติกาออกมาว่า มันมีปัญหา ประเทศไทยก็มีการเลือกตั้ง สว.​มาแต่ละยุคแต่ละสมัย มีบทเรียนที่ผ่านมาทั้งหมด กฎกติกาที่ออกมาครั้งนี้ค่อนข้างจะพิสดาร และไม่ยึดโยงกับประชาชนเลย หลักการของประชาธิปไตยคือ การมีส่วนร่วมของประชาชน เราต้องให้สิทธิ์ประชาชน 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่าเที่ยมกัน คนออกกฏกติกานี้ออกมาผมถือว่า ไม่เคารพประชาชน 

ผมคิดไว้ว่าความคาดหวังของประชาชนโดยทั่วไป เขาก็อยากคาดหวังในเรื่องของการเปลี่ยนแปลง หลักง่ายๆ ทุกคนอยากแก้ไข ในเรื่องของรัฐธรรมนูญ ก็ต้องถามว่า ตัวแทนของ ส.ส .​ที่ท่านออกกฎกติกาออกไปแบบสลับซับซ้อนออกมา แล้วผมก็ไม่รู้ว่าผ่านระดับออกไป อำเภอเป็นอย่างนี้ จังหวัดเป็นอย่างนี้ แล้วก็ถ้าไประดับประเทศแล้ว ความตั้งใจจริงของท่านที่อยากได้ภาพของ สว.​ ที่คนเขียนบทบัญญัติในการเลือกตั้งออกมามันตรงกับความต้องการของประชาชน แล้วตอบโจทย์ในเรื่องของปัญหาของประเทศหรือเปล่า

ฝากไว้ว่า ครั้งนี้มันคงแก้ไขอะไรไม่ได้หรอก เราต้องเดินหน้าต่อทำยังไงให้ครั้งนี้เป็นบทเรียน แล้วก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เราจะไปข้างหน้ายังไงกันต่อดี

ภาคเหนือมีโจทย์ที่ซับซ้อนหลายเรื่อง ทั้งเรื่องชาติพันธุ์ ฝุ่นควัน ข้ามพรมแดน เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว หวังกับการเลือก สว.ครั้งนี้อย่างไร ?

คุณ กิตติ ทิศสกุล ที่ปรึกษาหอการค้า จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ที่ผ่านมา บริบทของการพัฒนาในเรื่องของพื้นที่ก็ดี เราคาดหวังไว้ว่า รัฐบาลจะเดินหน้าต่อ อย่างในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เช่น การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีมาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี ถามว่าเม็ดเงินในการลงทุนในจังหวัดเชียงราย ที่สรุปมา 45 ล้านบาท ที่ได้รับสิทธิ์ในเรื่องของการลงทุนในพื้นที่

ถ้าดูฝั่งตรงข้ามกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่เป็นสปป.​ลาว ปรากฏว่า มีเม็ดมีเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 30,000 ล้านหยวน ทางเขาเกิดการลงทุนที่มากมาย ทางเชียงรายเราเอง อยากให้แก้ไขปัญหาตรงนี้เราเคยเสนอขยายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือไม่งั้นก็ปรับเปลี่ยนบริบท ซึ่งมันต้องไปแก้ไขข้อกฎหมายแล้ว ทั้ง ๆ เราเองอยากเห็นในเรื่องของการขยายในเรื่องของ Single วีซ่า ให้เกิดขึ้นในระดับอาเซียน และอยากเห็นภาพในเรื่องของการแก้ไขปัญหาในเรื่องของไฟป่าหมอกควันที่จะต้องเชื่อมโยงการแก้ไขกับประเทศเพื่อนบ้าน

เพราะฉะนั้น สว.​ที่เราคาดหวังไว้ว่า ตรงนี้มันน่าจะมีบริบทบทบาท และนำไปสู่การแก้ไขปัญหา แล้วก็กำกับดูแลกับรัฐบาล หรือแม้กระทั่งกรอบกฎหมายที่จะต้องเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะฉะนั้นความคาดหวังภาคธุรกิจค่อนข้างจะมีสูงในเรื่องของเศรษฐกิจก็ในเรื่องของสังคม ที่เราจะแก้ 

กติกาที่ดูใจร้าย แต่ความหวังและใจของภาคพลเมืองใหญ่มาก ธรรมชาติการเมืองในพื้นที่ภาคเหนือ กับความหวังของคนในพื้นที่ คิดว่าจะมีคนคุณภาพหลุดเข้าไปสักกี่เปอร์เซ็น ?

รศ. ดร.วีระ เลิศสมพร คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า เปอร์เซ็นต์คงจะคาดการณ์ไม่ได้แม่นยำทุกคน ผมกำลังจะกล่าวถึงความหวังและความคาดหวังก็แล้วกัน ไม่ว่าคนที่เข้าไป จะมีเบื้องหลังอะไรก็แล้วแต่ โดยเฉพาะเบื้องหลังที่เป็นประเด็นเชิงลบ แล้วก็ทราบข่าวกันดี การบล๊อกโหวต หรือฮั้วอะไรต่างๆ นานา ผมคาดหวังว่าเมื่อผู้ที่เข้าไป 200 คนจาก 20 กลุ่มสถานภาพ และกลุ่มอาชีพ จะมีความเป็นอิสระ จากพันธนาการที่อยู่เบื้องหลังออกให้หมด ไม่ทั้งหมดก็ได้ แต่ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ 

และมีความตระหนัก มีจิตสำนึกทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นตัวตั้ง ตามหน้าที่และอำนาจที่ระบุไว้ว่าเขามีอำนาจหน้าที่ 3 ประการหลัก ตรงนั้นเองจะแสดงถึงการยึดโยงกับประชาชน โดยภาพรวมของประเทศ

ประการที่ 1  ขอนำเรียนว่าอำนาจหน้าที่ของ สว.​ 200 ท่านนี้ คือ การพิจารณาและการกองกฎหมาย หนึ่งในนั้นที่เราติดตามกันและคาดหวัง คือ การแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้น แล้วก็ยังมีเรื่องของ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญการพิจารณาเรื่องของพระกำหนดร่าง พระราชบัญญัติกฎหมายโดยทั่วไปเป็นต้น

เรื่องที่ 2 หน้าที่ในเรื่องของการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตรงนี้มองว่าสามารถที่จะยึดโยงกับประชาชนโดยทั่วไปได้ แสดงเจตจำนงค์ออกมา ๅคือ เรื่องของความสามารถที่จะตั้งกระทู้ถาม และการขอเปิดอภิปรายโดยทั่วไปได้ อันนี้เป็นต้น สำคัญคือการสามารถตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ และวิสามัญได้ 

กรณีของภาคเหนือ หากว่า สว. 200 ท่านนี้ พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นในเรื่องของหมอกควัน รู้สึกว่าสถานการณ์แย่สามารถที่จะตั้งเป็นคณะกรรมาธิการอย่างนี้เป็นต้น ก็แสดงว่าความยึดโยงความเกี่ยวข้องกับประชาชนนั้นสามารถทำได้ ขอเพียงแต่มีการเชื่อมประสานระหว่าง สว. กับ ประชาชน ในแต่ละพื้นที่ ​ผ่านหน้าที่ในประการที่ 2 ที่ผมนำเรียนไปเมื่อสักครู่นี้

และสุดท้ายนี่สำคัญ มากทุกท่าน คือ เรื่องของหน้าที่และอำนาจในการที่จะให้คำแนำหรือให้ความเห็นชอบให้ผู้ลงตำแหน่ง ยกตัวอย่างเช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ต่างๆ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น เราจะเห็นได้ว่า 3 หัวใจหลักของหน้าที่ และอำนาจของ สว.​ เป็นสิ่งสำคัญที่ผมมีความคาดหวัง

อย่างที่นำเรียนเมื่อสักครู่นี้ว่า เราจะเห็นข่าวที่ชุลมุน ค่อนข้างที่จะซับซ้อนเรื่องของปัญหาต่างๆ นานา อย่างที่ท่านอาจารย์ปริญญา ได้นำเรียนไปว่า ต้องเดินหน้าต่อ โดยมันมีปัญหาจุดไหนเราก็แก้จุดนั้น แล้วคลายปมออกไป แล้วหวังว่าเราจะได้เห็น สว.​ชุดใหม่ ทำหน้าที่ อย่างเต็มที่

เรามีโอกาสเห็นสัก 1 ใน 3 หรือไม่ ไปโหวตร่างรัฐธรรมนูญให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ

ผศ. ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ผมตอบในภาพใหญ่ของทั้งภาคเหนือไม่ได้ แต่ว่าถ้าเป็นแค่เชียงใหม่ ผมมีความหวัง อย่างที่ผมบอกตอนต้น ว่า ผมตื่นเต้น เพราะว่ามันเป็นครั้งที่เราไม่คิดหรอกว่า คนที่เราเคยได้ทำงานด้วยคนที่เรารับรู้จักมาคุณจะมาเป็น สว.​จะเข้าใกล้ การเป็นสว. 

ด้วยระบบแบบนี้ ที่มันมี 20 กลุ่มอาชีพ  อยากจัดเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คิดว่าแต่ละกลุ่มจะสามารถ จะสามารถได้ที่นั่งในใน 3 กลุ่มใหญ่ ผมเรียกว่ากลุ่มสายบนก่อน กลุ่มสายบนก็คือกลุ่มอาชีพต้นๆ กลุ่ม 1 ก็จะเป็นของมหาดไทยเนาะ กลุ่ม 2 ก็จะเป็นของตำรวจ

กลุ่ม 3 ก็จะเป็นของคุณครู กลุ่ม 4 ก็จะเป็นของ ทางหมอ ทางพยาบาล แล้วที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ผมเรียกว่ากลุ่มนี้คือกลุ่มที่เป็นข้าราชการ ข้าราชการน่าจะได้ได้ที่นั่งในกลุ่มสายบนไป ๆ เยอะ 

และมีกลุ่มสายกลาง ซึ่งกลุ่มนี้ผมคิดว่ายังบอกไม่ได้ว่ากลุ่มนี้จะมีจุดยืน อุดมการณ์เรื่องการแก้รัฐธรรมนูอุดมการณ์ เรื่องการปฏิรูปการเมืองไปในทิศทางไหน จะถูกล้มนำไปทางไหน แต่ว่ากลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ผมคิดว่าเป็นกลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย ทั้งชาวนา ชาวไร่ ประกอบไปด้วยอาชีพอิสระ ประกอบไปด้วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรม นักวิทยาศาสตร์ รวมถึงน้องปอผังเมืองอะไรเงี้ย มันก็จะประกอบไปด้วยความหลากหลายตรงกลาง ซึ่งไม่รู้ว่าจะไปในทิศทางไหน

กับกลุ่มหลังสายล่าง คือ กลุ่มที่เป็นภาคประชาสังคม ก็จะมีคนที่ทำงานศิลปะ พวกคนเป็นนักเขียน สื่อสารมวลชน คนที่เป็นเอ็นจีโอ กลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ ชาติพันธ์ ก็เป็นสายล่าง ถ้าย้อนมาที่คำถามว่าจนถึง 1 ใน 3 ไหม ถ้าตอบในจิ๊กซอเล็ก ๆ ของเชียงใหม่

แต่เมื่อจิ๊กซอว์ตัวนี้เป็นประกอบกับภาพใหญ่ระดับประเทศผมไม่แน่ใจ เพราะว่าสุดท้ายแล้ว มันต้องไปตัดสินใจกันที่รอบระดับประเทศ และคนที่ผ่านจากเชียงใหม่ไป40 คน สุดท้ายแล้ว ผมไม่รู้ว่าจะมี 40 คนนี้ จะได้เป็นตัวแทน เป็น สว.ของทั้ง ประเทศแค่ไหน ถ้าเป็นเลือกระบบก่อน แน่นอน การันตีเลยว่าเชียงใหม่ ต้องมี 5 คน  ประชาชนเลือกเข้าไปก็ได้แน่นอน 5 คน ที่เป็นตัวแทนกับคนเชียงใหม่

แต่พอเป็นแบบนี้ เรามี 40 เข้าไป แต่สุดท้ายปลายทางออกมา ไม่รู้จะได้สักกี่คน แต่ว่าท่านได้อย่างที่ผมตั้งความหวังไว้ ก็มีโอกาสเห็นความเปลี่ยนแปลงแผนที่พี่กิตติพูด แบบคิดหลายในที่นี้อยากเห็น

ความเป็นไปได้ Possibility

ผศ. ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า คิดว่าเท่าที่ผมดูจากแค่รอบจังหวัด การติดต่อมีการมีการทาบทาม มีการเสนอนู่นนี่นั่น อาจจะไม่ใช่รูปตัวเงิน อาจจะ เช่น ถ้ายอม เขาเรียกว่า ยอมทิ้งคะแนนตัวเอง คือ ไม่เลือกตัวเอง เรามีสองคะแนน ในรอบแรก เรา เท 2 คะแนนให้คนอื่นไปเลย ถ้า 1 ในกลุ่มเราเป็น สว.​ขึ้นมา ในท้ายที่สุด

อาจจะได้ตำแหน่งเป็นผู้ช่วย คือเขาตั้งต้นที่ปรึกษาได้ อาจจะได้เป็นกรรมาธิการ นี่เป็นข้อเสนอที่ได้ยิน ได้ฟังมา ว่ามีการเสนอให้ แต่ว่าไม่ใช่ตัวเงิน คือ หมายความว่าถ้ายอมทิ้งตัวเองไม่เลือกตัวเองแล้วก็เทคะแนนให้คนอื่นที่อยู่ภายในกลุ่ม ถ้าเขาได้เป็น สว.​ในที่สุด เค้าก็จะผลักดัน และดูแลต่อไปก็มีแบบนี้ ที่ได้ยินได้ฟังมา แต่ประเภทที่แบบซื้อกันเป็นแบบที่เขาเรียกว่ายิงเป็นกระสุน แล้วกี่กิโลเมตร ผมยังไม่รู้ข้อมูล มันอาจจะไม่ใช้กันในรอบจังหวัด เครื่องมือนี้อาจจะมาต่อรอบระดับประเทศ อันนี้ก็ต้องฝากสื่อมวลชน ภาคประชาสังคมช่วยกันจับตา

วิเคราะห์จิ๊กซอในภาคเหนือ ชวนฉายภาพใหญ่ในระดับประเทศ 1 ใน 3 ของ 267 ท่าน 

ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่า ในระดับประเทศ ขั้นตอนการเลือกจะเป็นอย่างไร มันจะต่างจากการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด​ ที่ผ่านมา  อย่างรอบระดับอำเภอ แต่ละกลุ่มคือ 1 ถึง 3 จาก ๒๐ กลุ่มใช่ไหม ได้เข้า รอบระดับจังหวัด เหลือแค่ 1 กับ 2 ก็แปลว่ารอบ ระดับประเทศที่จะเลือกกันในวันทรี่ 26 มิถุนายน 2567 อีกไม่กี่วันข้างหน้า จะมีสามพันแปดสิบคน กลุ่มหนึ่งมี 2 คน ก็แปลว่าจังหวัดหนึ่งมี 40 คน 2 คูณ 20 มี 77 จังหวัด คือ 3,080

ทีนี้ เขาเริ่มต้นแบบนี้ เขาจะทำเหมือนอำเภอ กับจังหวัด จะเลือกในกลุ่มตัวเองก่อน แต่ละกลุ่มมี 2 คนจากจังหวัดใช่ไหม ก็แปลว่าแต่ละกลุ่มจะมี 154 คน 77 คูณ 2 เท่ากับ 154 คน ทุกคนจะมี 10 คะแนน รอบอำเภอกับจังหวัด แต่มีแค่ 2 แต่รอบประเทศนี้จะมี 10 คะแนน

เลือกในกลุ่มเล็ก 10 คะแนน เลือกไปเลย ทีนี้ 10 คะแนน คนที่ได้ที่ 1 ถึงที่ 40 จาก 154 จะเหลือแค่ 40 คน เข้าสู่รอบสุดท้าย รอบบ่ายของ 26 (มิย.) 2657 คือเลือกไขว้ ทีนี้ตอนรอบเลือกไขว้ ก็จับสายแบ่งเหมือนกับรอบอำเภอ นี่แหละ 

นั่นก็แปลว่า 40 แบ่งสาย 1 มี 5 กลุ่ม สายนึงก็มี 200 คน ทีนี้แต่ละคน จะมี 5 คะแนนในการเลือกสายกลุ่มอาชีพอื่น ห้ามเลือกคนในสายเดียวกันกับห้ามเลือกตัวเอง และสุดท้ายคนที่ได้เป็น สว.​คือใคร แต่ละกลุ่มอาชีพ ที่เมื่อกี้ เหลือ 40 จะเหลือแค่ 10 คน ที่ 1 ถึงที่ 10 คือผู้ที่จะเป็น สว.​

เพราะ สว.​มี 200 คน 20 กลุ่ม กลุ่ม 10 คนก็ 200 ส่วนที่ 11-15 ก็สำรองไว้ ถ้าหากว่า 1-10 แต่ละกลุ่มโดนตัดสิทธิ์ขึ้นมา นี่ก็เลื่อนขึ้นไป  อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 นี้ 

ทีนี้ถามว่าในการเดินหน้าต่อไปผมว่า ข้อสำคัญเลยจริงๆ  มันอยู่ที่รอบประเทศ เพราะตอนนี้มันก็ผ่านอำเภอกับจังหวัดมาแล้ว ทีนี้ถามว่าทำอย่างไร รอบอำเภอกับจังหวัด มันก็มีปัญหาตามที่เราได้ฟังมารอบประเทศมันต้องไม่เกิดปัญหาอีก

ผมว่าข้อสำคัญเลย ที่ต้องทำให้ได้ ปัญหาคือตอนเลือกไขว้ ทั้ง 2 ท่านที่สมัครมาก็คงเห็น ตอนเลือกไขว้ มันไม่รู้เรา ไม่รู้จักไง ข้ามกลุ่ม ต่อให้อำเภอเดียวกัน หรือจังหวัดเดียวกัน แต่มันข้ามกลุ่มอาชีพที่ไม่รู้จัก แล้วเวลาในการให้แนะนำตัว ถ้าไม่มีปุ๊ปก็เสร็จเลย เสร็จใคร เสร็จคนที่เขาจะมีแผนมาแล้ว จัดตั้งมาแล้วหรือแม้กระทั่งพูดตรงๆ ถ้าจะมีการใช้ประโยชน์ในการจูงใจ ให้เลือก เอาง่ายๆ จากวันนี้ไปตั้งแต่รู้ผลผ่านรอบจังหวัดมาแล้ว จนถึง 26 มิถุนายน 2567

ทุกคนรู้หมดแล้วว่า ในกลุ่มอาชีพตัวเอง จังหวัดอื่นทั้งหมด มีใครบ้าง  ถ้าหากจะมีการหว่านล้อมจูงใจ ก็ทำในช่วงนี้ เพราะว่าที่ 1-40  วิธีการได้ไปต่อ คือการต้องได้ที่ 1 ถึง 40 ในกลุ่มตัวเองให้ได้ ก็นับดู จาก 154 ใครบ้างที่เราจะได้คะแนนมา อย่าลืมทุกคนมี 10 คะแนน ขอคะแนนหนึ่งให้ผมแต่ละคน ผมก็ได้เข้าไปแล้วใช่ไหม ถ้าเกิดทำได้ ถ้าทุกคนให้มากที่สุด

ทีนี้ พอรอบต่อไปนี่คือตอนเข้าสู่รอบไขว้ ๆ มันมีประโยชน์ ระบบมันมีจุดที่ป้องกันอยู่ข้อหนึ่ง การจับสลากนี้ไม่รู้ล่วงหน้า ต้องเลือกในกลุ่มให้เสร็จก่อน ถึงค่อยจับฉลากแบ่งสาย ใช่ไหม มันถึงล่วงหน้าไม่ได้ คือ ล่วงหน้าได้ก็ไม่รู้ มันจะหว่านมาก แต่แบบเข้าเป้ามันต้องหลังจากแต่งสายเสร็จ

ทีนี้ ช่วงระหว่าง เลือกกลุ่มอาชีพเสร็จ ตอนเช้ากับเรื่องไขว้ตอนบ่าย กกต.​จะป้องกันยังไง มี 2 อย่าง 1 ก็ ต้องมีกระบวนการให้เขาแนะนำตัว รู้จักกัน เขาถึงจะรู้ว่า พอไปถึงรอบไขว้ เขามี 5 คะแนน ในการเลือกสายอื่น ๆ ในสายเดียวกัน มีเลือกได้ 5 คน แต่ละกลุ่ม แต่ละกลุ่ม เข้ามา 40 คน เรากลุ่มเรา มีสายเรา มี 200 คน ก็แปลว่ามี 160 คนจากสายอื่นอีก 4 สาย ที่เราจะเลือกได้สายกลุ่มนึง  5 คน

ทีนี้ มันต้องมีข้อมูล รู้ไหมว่า 200 คน เราจะเลือกใคร มันต้องมีข้อมูลเพียงพอต่อให้นั่งแนะนำตัวกันธรรมดา ยังลำบากเลย มันจะเลือกอย่างไร ตรงนี้พอไม่รู้ปุ๊บ บทบาทในซึ่งเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดมันจะมีบทบาทแทนไง

เอางี้ผมถามว่ามันจะเกิดการไปเข้าห้องน้ำพร้อมกัน ในช่วงพักเที่ยง แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ก็ กกต. ก็ต้องทำสองอย่าง 1 มีวิธีการ ทำยังไงให้ในรอบไขว้ 200 คน 5 กลุ่มอาชีพกลุ่มละ 40 คน 5 กลุ่ม 200 คน เขาต้องเลือกกลุ่มอื่น เขายังไม่รู้จัก ระดับประเทศแล้ว อันนี้คนดังคนมีชื่อเสียงจะมีโอกาส แต่คนที่เขาไม่ได้มีชื่อเสียงเท่า เค้าก็ต้องไม่เสียเปรียบสิ กกต.​ก็ต้องหาทางทำยังไงให้กระบวนการแนะนำตัวมันเกิด

แล้วก็จะป้องกันยังไงไม่เกิดการซื้อ พูดตรงๆ มันไม่ใช่เรื่องของอาจารย์ ๆ เลือกผม แต่มันจะเลือกอาจารย์ อาจารย์เท่าไหร่ ถ้ามันมีขึ้นมา แต่ข้อสำคัญต่อให้มันเกิดปัญหาขึ้นมาอันนี้ไม่ใช่เหตุทำให้การเลือกเป็นโมฆะ

ถ้าอาจารย์ซื้อผม อาจารย์ก็ผิด ไม่ใช่การเลือกทั้งหมดผิด เราต้องแยกแยะ เพราะผมกลับมาเรื่องเดิมเรื่องใหญ่สุด อำนาจ สว.​ ที่พูดไป เรื่องใหญ่สุด เรื่องสุดท้าย อำนาจในการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ และในเร็ววันนี้  จะมีการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่หลายท่าน มีการเลือก กกต.​ใหม่ หลายท่าน ปปช.​ใหม่ หลายท่าน มันก็มีคนที่คิดว่า เอ๊ะถ้าจะให้ สว. ​ชุดนี้ เขาอยู่ต่ออีกหน่อยถึงตอนเลือกทำยังไง  ก็ต้องทำให้การเลือกครั้งนี้ ไม่สำเร็จ

ผมเลยบอกว่า ต้องแยกแยะ  ว่าแม้ว่าการเลือกจะมีปัญหา สว. ตาม พรบ. การเลือก สว. แต่ว่ามันเป็นปัญหาของแต่ละคน ปัญหาของแต่ละที่เท่านั้น ทีนี้ข้อสำคัญ อีกข้อนึง ซึ่ง กกต. ทำได้ดีกว่าระดับอำเภอ จังหวัดที่ผ่านมา คือ อำเภอนี่ยากหน่อย เพราะมี 928 อำเภอ จังหวัดก็ดีขึ้นก็เหลือแค่ 77 แต่พอรอบประเทศมันที่เดียว ที่อิมแพคใช่ไหม ที่เดียวหลักความโปร่งใส การมีส่วนร่วมในการสังเกตุการณ์ จัดให้เต็มเลย ต้องให้พร้อม เพราะถ้าเกิดมีความโปร่งใส การทำอะไรที่ไม่ชอบมาพากล

อาจารย์เอาเท่าไหร่ ให้เลือกผม มันจะได้ไม่เกิด มันก็ต้องไม่เกิด เราต้องป้องกันให้ได้ คือ เค้าทำอยู่แล้ว ในกลุ่มอาชีพตัวเอง 154 คน ทุกคนมีข้อมูลแล้ว จะเกิดการโทรศัพท์หาบ้าง LINE หาบ้างแล้ว แต่ข้อที่หนักสุด คือ รอบสุดท้ายตอนเลือกไขว้ จะได้เป็นหรือไม่ คือ ผมต้องอยู่ระดับ 1 ถึง 10 ให้ได้ ของกลุ่มผม ผมจะได้เป็นสว.​ เลย

ไอ้ตรงนี้แหละถ้าจะมีการซื้อในราคาจะแพงสุด จะป้องกันอย่างไร กกต.​ขอเสนอว่า ก็ป้องกันด้วยประชาชนมีส่วนร่วมสังเกตการณ์ อย่าให้เข้ามานั่งดูจอ ต้องไปนั่งดูที่หน้างาน ประชาชนพร้อม กกต.​ช่วย กกต. ถ้าเอาความโปร่งใสเข้าไป การทำอะไร ที่ไม่ชอบมาพากล มันจะทำไม่ได้ แต่ผมย้ำว่า ตอนรอบจังหวะจะดีขึ้นแต่รอบอำเภอปัญหาเยอะมาก ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญการได้มาซึ่งสว.​ เค้าบัญญัติไว้ว่าการเลือกทั้งระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ ต้องมีการบันทึกภาพและเสียงตลอดเวลาที่มีการเลือก แต่ระดับอำเภอ ปรากฏว่ามีแต่ภาพ ไม่มีเสียงแล้วภาพนี่กว้าง ก็ถือว่า มันมี 928 อำเภอ จังหวัดก็ดีขึ้น แต่ประเทศ มันมีที่เดียวที่อิมแพค จัดเต็มเลย 20 กลุ่ม กล้อง 20 ตัว บันทึกเสียงด้วย เอาหลักความโปร่งใสเข้าไป

เหลืออีกไม่กี่วัน จะเลือกระดับประเทศ ประชาชน ทำอะไรได้บ้าง ?

รศ. ดร.วีระ เลิศสมพร คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า ในฐาผู้สมัคร ก็มีความหนักใจคือว่าไม่ค่อยรู้จักคนอื่น อันนั้นก็เป็นปัญหาของระบบที่มีความพิสดารตัวนี้ แล้วมันทำให้ เขาเรียกว่าไง ทำให้ไม่รู้ว่า ท่านอื่นมีความเชี่ยวชาญอะไร ยังไง เราก็จะได้มาซึ่งการเลือกบางที อาจจะเลือกโดย ที่คือไม่มีข้อมูลเพียงพอ 

เป็นการทำการบ้านที่หนักพอสมควร อันนี้มองในมุมของผู้สมัคร ส่วนประชาชนอย่างที่อาจารย์ปริญญาได้กล่าวไป กกต.​จะกำหนดให้ประชาชนทั่วไป มีการนั่งหรือสังเกตการณ์ที่ใกล้ชิดมากกว่ากล้อง ๆ โอเคมี บันทึกภาพบันทึกเสียง แต่ว่าสถานที่ที่จะดูแบ บใกล้ ๆ อาจจะไม่ใกล้มากก็ใกล้พอสมควรพอเห็นได้ มันน่าจะได้อารมณ์มากกว่ากล้องเพิ่มเติมไหมประมาณนี้

เสนอ กกต. 20 กลุ่ม กล้อง 20 ตัว แล้วไลฟ์เลย ช่วย กกต.ตรวจสอบ คือใครพร้อมจะไปก็จัดที่ให้เขา ไม่ไปกวนการเลือก แต่ว่าใครอยู่บ้าน ดูจอเลย ถามว่าทำไมในเมื่อต้องบันทึกภาพและเสียงอยู่แล้ว ก็ไลฟ์ไปเลย ก่อนหน้านี้มันจัดการยากเพราะมันกระจายทั้งประเทศ อำเภอ จังหวัด แต่คราวนี้ มันที่เดียว คือ ถ้าไม่ยอมทำอีกก็แปลว่าท่านไม่อยากทำให้มันโปร่งใส ขอโทษทีก็อาจจะพูดตรงไปหน่อย  แต่ว่ามันไม่ยากไง คือ วิธีการเดียวที่จะได้ สว. ที่เป็นตัวแทนปวงชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ สว. ที่กดปุ่มได้ คือ ทำให้การเลือกมันโปร่งใส เปิดเผย และประชาชน ที่สมัครเข้าไปต้องรู้จักกันให้มากที่สุด เป็นทางเดียว

ในฐาคนเคยสมัครคิดว่าการแนะนำตัวอะไรจะช่วย กกต.​ควรจัดระบบแบบไหน เพื่อจะช่วยให้มันดี

คุณ แพรวพร  สุขัษเฐียร ผู้ร่วมก่อตั้งและนักออกแบบใจบ้านสตูดิโอ กล่าวว่า ตอนที่เราเข้าอำเภอ 300 กว่าคน จริง ๆ นัดกันได้ เสาร์-อาทิตย์ แล้วเราก็ขึ้นไปคุยเลยว่าเรามาจากกลุ่มนี้ เราเคยทำอะไรมาบ้าง เราก็จะได้รู้จักผู้สมัคร  300 กว่าคน ซึ่งใช้เวลาไม่เยอะ

อย่างตอนที่อ้อลงและทำเอง คือ 300 กว่าคน เราเอาชื่อไปเสริชทำข้อมูล Backup แต่ว่าถามว่าเหนื่อยมั้ย เหนื่อย มันเป็นหน้าที่เราไหมไม่ได้เป็นหน้าที่ แต่เรารู้สึกว่าถ้าเรามีโอกาสผ่านรอบไขว้ คือการรู้จักพื้นฐานโดยที่เราไม่จำเป็นต้องถามผู้สมัคร เช่น คุณคนนี้ คือใคร เขาทำอะไรมาก่อน เรารู้สึกว่าเราอยากทำวิธีที่มันแบบพื้นฐานได้ง่ายที่สุด รู้สึกว่าต้องทำ แต่ถามว่าได้ไหม ได้ แต่ก็เหนื่อย

แล้วรอบประเทศมันยาก มันรู้สึกว่าการแนะตัวที่เป็นแบบสาธารณะ แบบเปิดเผย  มันจะช่วยคัดกรอง และเป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่า เราเข้ามาทำอะไร คนที่ไม่กล้าพูด ภายใน 2 นาที นั่นก็คือ ประมาณการได้ว่า เขาคงไม่ได้มีความแบบจริงใจเหมือนพี่ไวยิ่งแน่นอน เรารู้สึกว่าเป็นคานงัดที่ถ้าเขาถ้าเรามีกฎเกณฑ์ให้แสดงตัว มันเป็นสิ่งที่ช่วยคัดกรองคน ที่เขาเข้ามาด้วยเหตุผลอื่น อาจจะไม่กล้าแล่ว ถ้าเรามีระบบนี้

คุณไวยิ่ง ทองบือ ตัวแทนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผมมองกลับ ต่อให้แนะนำตัวอย่างไรก็ช่างเขาจะไม่ฟัง เพราะว่าในใจเขาจะเลือกใครในกลุ่มนี้ คือคุณจะทำอย่างไรเขาไม่ฟัง ผมจะเลือกคนนี้ๆ มันมัดไว้แล้ว เขาบอกว่าเขาคุยกันแล้วอย่างนี้มันก็จบ เพราะผมคิดว่า ที่ผมพูดหรือโชคในระดับอำเภอ รู้หรือเปล่าว่า คนที่ผ่าน จับสลาก ที่ได้คะแนน 1 คะแนน มาจับสลากกันหลายคน แล้วก็ผ่านเข้าไป ปรากฏว่า รอบ 2 คะแนนเยอะกว่าเขา

แล้วคนที่คะแนนเยอะกว่าเขาในรอบแรก ปรากฏว่าตกไปพร้อมกับผม ผมคิดว่าโชคเหมือนกัน ผมก็เหมือนกัน ผมไปจับกลุ่มที่ไม่รู้จักใครเลย ที่จริงก็มีคนกลุ่มอื่นๆ ที่เขาเห็นแล้วก็อยากจะช่วย ปรากฏว่ามันไม่ได้ นี่โชคก็เป็นส่วนหนึ่ง สอดคล้องกับที่อาจารย์ปริญญาพูด  คือช่วงที่ไขว้ หากว่าทำอย่างรอบคอบผมคิดว่า คนที่แบบไม่ได้เตรียมการ อาจจะ อาจจะ เตรียมการไม่ทัน เหมือนอย่างที่อาจารย์ว่า

แต่ในระดับอำเภอมันไม่ใช่ มันก็เหมือนว่าอ้าว ไปช่วยกันหาเสียงและมีคล้ายๆ เหมือนว่า โกงกัน ราเลือกเขา เขาไม่เลือกเรา ผมเลือกเขา ครบ 4 คน แต่ว่าผมไม่มี เพราะว่ารอบสุดท้าย รอบที่ 2 เราไม่มีสิทธิ์เลือกตัวเอง แต่เราเลือกหมดคนอื่นหมด เพราะว่าเราจะไม่ทำให้คะแนนเราเสีย ก็ให้ไปแต่เราไม่ได้สักคะแนนอย่าง ผมคิดว่าเรื่องนี้มันมันถูกวางไว้แล้วแหละ แต่ว่าจะพูดมากกว่านี้ มันไม่ได้

ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผมคิดว่ามันมีฃสองส่วน คือส่วนที่เขาไม่ได้อยากเป็น สว. แต่ด้วยเหตุใดก็ไม่รู้เขามาสมัคร แต่จะมี สว. ที่เขาตั้งใจ ยอมจ่าย 2,500 เพื่อจะได้มาเลือกผู้ที่มีคุณภาพ จริงๆ แล้วบางส่วนก็พร้อมด้วย ถ้าถูกเลือก ก็พร้อมจะไปต่อ ตรงนี้ทำอย่างไรให้เขามีโอกาสมากที่สุด

วิธีการแนะนำตัวที่ดีช่วยได้ ส่วนคนที่เขามีธงในใจแล้วว่า เล็งใครไว้ ว่าคนนี้ จะต้องไปให้ถึงเป็น สว. และต้องเป็นถึงขนาดเป็นประธาน มันก็ทำอะไรเขาก็ไม่ได้ แต่ผมเชื่อ คนที่ๆ อิสระ แล้วเข้าไปถึงในรอบประเทศเกินครึ่ง

ในฐาประชาชน คิดว่า นาทีนี้ ทำอะไรได้บ้าง ก่อนจะเลือกระดับประเทศ

คุณ กิตติ ทิศสกุล ที่ปรึกษาหอการค้า จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ผมเห็นด้วยว่าการใช้เทคโนโลยี มากลั่นกรอง แล้วมีการตรวจสอบกระบวนการในระดับประเทศ ควรจะทำ ติดกล้องให้เยอะที่สุด ถ้าเป็นไปได้ก็ติดไมค์ไว้ที่ทุกคนเลย

ถ้าให้เกิดกระบวนการตรวจสอบแล้ว ที่มา ที่ไป แฟร์กันที่สุด ก็ให้ยุติธรรมที่สุดและโปร่งใสที่สุดมันเป็นกระบวนการที่จะได้มาซึ่ง สว.​  ค่อนข้างที่จะโคตรสับสน ใช้เทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องอาจจะกลั่นกรองและทำให้ สว.​ที่ได้มาค่อนข้างน่าเชื่อมั่นว่า มีคุณภาพ

ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อว่า เพราะกลุ่ม 1 แค่ 40 คน 20 กลุ่ม 800 ทำยังไงให้ 800 คน โปร่งใสที่สุด มันเป็นไปได้ที่ กกต. ทำให้ในช่วงรอยต่อ พอประกาศปั๊ป พวกกลุ่มใครที่ 1 ถึง 40 เข้าไป รอบบ่ายใช้กระบวนการความโปร่งใสตรวจสอบได้เอาเข้าไปได้เลย

แล้วให้มีโอกาสแนะนำให้มากที่สุด ผมว่าโอกาสเรายังมี ที่รอบสุดท้าย จะได้คนที่มี 5 คะแนน ในการเลือกกลุ่มอื่น ห้ามเลือกตัวเอง แต่ว่ากลุ่มอื่นเลือกได้ 5 คะแนน ซึ่งมีโอกาสที่จาก 40 เอา 5 คนดีสุดออกมา มันมีโอกาส ถ้าหากว่ามีกระบวนการ

แต่ว่าถ้าไม่ทำ ก็ยากมา กลุ่ม 1 ตอนไขว้มี 200 คน แล้วมาจากทั้งประเทศ 20 กลุ่ม เราจะรู้จักกันหมดได้ยอย่างไร รู้จักแค่คนดัง แต่คนดังก็ได้เปรียบ แต่คนไม่ดัง ซึ่งมีมากกว่าทำอย่างไรต้องให้โอกาสเขา

ปลดล็อก ประเทศไทย

ฉากหลังการเมืองหลังจากเลือก สว.จะเป็นอย่างไร ?

ผศ. ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ผมคิดว่า แบบที่ อ.ปริญญา ตั้งประเด็นตั้งแต่ตอนต้น คือมันอยู่บนสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเนื่องจากมีคนไปยื่น เขามีคดีในศาลปกครอง เขาก็ได้สู้ มีข้อต่อสู้ว่าตัวพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ​ที่ใช้อยู่ตอนนี้มันขัดรัฐธรรมนูญ​ แล้วมาตราที่เขาบอกว่ามันขัดรัฐธรรมนูญ​นั้น มีอยู่ 4 มาตรา 3 มาตรา เกี่ยวกับกระบวนการเลือก สว.​ตั้งแต่ระดับอำเภอ ไปถึงจังหวัด จนถึงประเทศ

ถ้าศาลชี้ว่า ตรงนี้มันขัด คือ ประเด็นที่เขาใช้สู้คือในตัวรัฐธรรมนูญ เขียนบอกว่า ให้เลือกกันเอง แต่ว่าในการออกแบบตัวพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ประกอบดันมีระบบการเลือกไขว้ ซึ่งเราไม่ได้เลือกของตัวเอง ก็เลยมีช่องที่ทำให้เขาเอาไปร้อง แล้วเขาก็สู้ตรงนี้ในที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ ว่า มองว่า ตรงนี้มันขัด หรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ในแง่เจตนารมณ์ ซึ่งอันนี้ผมก็คิดว่า ก็เป็นอีกจุดหนึ่ง ซึ่งมันอาจจะเป็นทั้งจุดเปลี่ยนในเชิงบวก คือไม่ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไร หรือว่าเป็นการเปลี่ยนในเชิงลบที่อาจจะฉุดรั้งกระบวนการนี้ ที่อาจารย์ปริญญาตั้งข้อสังเกต  กคือว่าหลังจากนี้ มันมีเรื่องของการการให้ความเห็นชอบคนที่จะมาเปลี่ยนองค์กรอิสระ จำนวนมากรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ  ซึ่งมันมีมันมีเงื่อนปมตรงนี้อยู่เบื้องหลังหรือเปล่า อันนี้ก็ต้องติดตามกันต่อไป

รศ. ดร.วีระ เลิศสมพร คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า เหมือนที่ผมได้กล่าวตอนต้น ทุกสิ่งอย่างต้องเดินหน้าต่อ แล้วก็ผมหวังว่า พลังของพลเมืองทุกภาคส่วน สื่อมวลชนด้วย นักวิชาการ ฝ่ายประชาสังคมทุกภาคส่วน จะร่วมกันเป็นพลังที่จะสื่อไปยัง ว่าที่ สว. 200 ท่าน สื่อกับเขา ไม่ว่าจะสื่อด้วยวิธีการใดก็ตามแต่ จดหมาย การพบปะ การพูดคุย เวทีต่างๆนานา รวมถึงอาจจะไปพบที่สภาก็ยังได้ ว่าพวกเราจะขอแสดงความรู้สึก พลังไปยังถึงท่านทุกคนว่า ขอให้กำลังใจทุกท่านและยินดีด้วยทุกท่านได้เข้าสู่สภาทรงเกียรติ ขอให้ทุกท่านทำหน้าที่โดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นอิสระ เราจะติดตามท่านให้กำลังใจท่านอยู่เสมอ และขอให้ท่านได้ทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมให้ดีที่สุด นำพาประเทศชาติให้ก้าวเดินไปข้างหน้า

คุณ แพรวพร  สุขัษเฐียร ผู้ร่วมก่อตั้งและนักออกแบบใจบ้านสตูดิโอ กล่าวว่า อ้อเองก็ตื่นตัวขึ้นแล้ว อย่างน้อยที่เราทำได้ คือ แวดวงพี่ๆ น้องๆ ที่ทำงานด้วยกัน ต้องขยับแล้ว โดยเฉพาะสายนักออกแบบที่เรามักจะเจอปัญหาออกแบบที่ไม่เข้ากับเมือง เสากินรีมาโผล่เชียงใหม่ใด ๆ ที่เราพยายามเรียกร้อง มันถึงเวลาแล้ว ที่เราก็เป็นมาราธอน มันไม่ใช่แค่วิ่งเร็วแค่ครั้งนี้ แต่ว่าเหมือนที่อาจารย์บอกคือครั้งนี้มันอาจจะแก้โจทย์ได้ครั้งหนึ่ง แต่ในระยะยาวเราก็ต้องขยับเข้ามาให้มากขึ้นอีก

แล้วทำในสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้อง อย่างส่วนตัวอ้อเองก็รู้สึกว่า อยากฝากกำลังใจให้คนที่เข้าผ่านระดับประเทศ ทำเถอะ ถึงแม้เราก็เคยอยู่ในวงนั้น มันเหนื่อยมันน่ารำคาญ ต้องมีกรุ๊ปไลน์อะไรเยอะแยะไปหมด แต่ว่าอย่าเพิ่งท้อ- ได้โอกาสนั้นแล้วก็อยากให้กลับมาว่าความตั้งใจเดิมที่เราจะเปลี่ยนมันมีแม้ว่าจะน้อยนิด 

คุณ กิตติ ทิศสกุล ที่ปรึกษาหอการค้า จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในเมื่อกฎกติกามันเป็นแบบ เราก็รู้กันอยู่ว่า คนที่มาสมัคร คุณก็ต้องยอมรับกฎกติกาแบบนี้ขึ้นมา ขั้นตอนมันเลยคนจะมาพูดกันเรื่องกฎกติกาแล้ว มันไปขั้นตอนของการคัดเลือกแล้ว ก็เลือกตั้ง ผมก็อยากวอนผู้มีอำนาจหน้าที่ทุกคน ขอให้ทำหน้าที่ ให้ยึดความความคาดหวังจากภาคประชาชน 9 ปีแล้ว ที่ประชาชนรู้สึกไม่แฮปปี้ตอนนี้ มีโอกาสแล้ว ที่จะได้ สว. ชุดใหม่ เพื่อไปทำหน้าที่ให้กับประชาชน

ผมคิดว่าในกฎกติกาที่มันซับซ้อนแบบนี้ แล้วมีได้โอกาสได้มีการเลือก สว.แบบนี้ มันยังมีโอกาสที่ยังแก้ไขได้ โดยการทำให้กระบวนการเลือกตั้งขั้นตอนสุดท้าย ที่ไประดับประเทศมันโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนเคารพในหลักการและที่มาของ สว. เราก็คาดหวังไว้ว่าสวทุกท่านที่จะมา เป็นโอกาสของประเทศไทย แล้วก็ผมคิดไว้ว่า อนาคตของประเทศไทยต้องดีกว่านี้ฝากไว้กับทุกท่านด้วยที่มีอำนาจอย่าไปทำให้การเลือกตั้งสว. ครั้งนี้ ทำให้ประชาชนผิดหวัง

คุณไวยิ่ง ทองบือ ตัวแทนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนตัวผมนี้ ผมไม่ได้รับความเป็นธรรม ตั้งแต่ยังไม่ได้สมัครเลย เพราะอะไร เพราะเอากลุ่มของผู้สูงอายุ รู้หรือเปล่าว่าผู้สูงอายุมาจากใครก็ได้ ที่อายุ 60 ก็คือผู้สูงอายุไม่ได้มาบอกว่า ทำงานผู้สูงอายุ แต่ในหลักการบอกว่าคุณมาจากผู้สูงอายุ แล้วก็มาแข่งกับพี่น้องชนเผ่า และผู้พิการ ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะว่ามีแต่คนเก่งๆ เข้ามาในกลุ่มนี้ ซึ่งมาแข่งกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ใช่ว่า เกิดมาเป็นชาติพันธุ์แล้วจะลงสมัครก็ไม่ใช่ มันต้องดูว่าคุณน่ะทำงานด้านนี้หรือเปล่า มันเกี่ยวกับงาน แล้ว กกต. ไม่ได้พิจารณาเลยตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ ก็สมัครเข้าไป มันถึงมีถึง 5,000 กว่าคน กลุ่มนี้แหละ ทำไมถึงมี และยังไม่พอกลุ่มนี้ไม่ต้องมีใบรับรอง มันเหมือนช่องให้กับคนอื่นๆ ที่ไปที่ไหนไม่ได้แล้วมาแข่งกับกลุ่มชาติพันธุ์

แล้วผมจะทำอย่างไร ผมก็ได้แต่ว่าในเมื่อรัฐธรรมนูญในเมื่อกฎหมายออกมาแล้ว ถ้าคุณไม่ทำก็มันเป็นเรื่องของคุณ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าผมจะทิ้งโอกาสนี้มาได้ ก็ประกาศตัวการมีตัวตนในประเทศนี้ มีพี่น้องกลุ่มชาติพันธ์ รู้ว่า สู้เขาไม่ได้แต่เราจะต้องลง เราจะต้องสู้แค่นั้น ผมคิดว่า ถ้าพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ จัดการดีๆ ในระดับประเทศ เขาก็มีเครือข่าย ผมก็ยังหวังว่า อย่างน้อยสัก 1 คน น่าจะเข้าไป หรือว่าถ้าไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์จริงๆ อย่างน้อยคนที่ทำงานด้านชาติพันธุ์ที่เข้าใจ ได้เป็นตัวแทน อันนี้ผมก็ยังหวังลึกๆ ยังไงยังไงผมยังหวังลึกอยู่

คีย์เวิร์ดและบรรยากาศของคนเหนือ ที่เขาอยากประนีประนอม บนโจทย์เส้นทางประชาธิปไตยเหมือนกัน อาจารย์อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางประชาธิปไตยมานานอาจารย์คิดว่าฉากหลัง สว. อย่างไรกับบรรยากาศแบบนี้

ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความจริงเรื่องนึงที่มันมีประโยชน์ และมันเกิดขึ้นแล้ว คือ เกิดความตื่นตัวทุกจังหวัด มีคนจำนวนหนึ่งที่ก่อนหน้านี้ อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ไม่ได้ก้าวออกมาในการที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ปัญหาต่างๆ ก็มีการมาสมัคร สว. กันเยอะ  ใน 46,000 คนที่มีสิทธิ์สมัคร ผมคาดคะเนว่า ต้องมีเกินครึ่งแหละ ที่เขาเป็นอิสระ คาดคะเนคร่าวๆ  ต้องมีเกินครึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างสมัคร สส.​ คนเหล่านี้ไม่เคยไปสมัครแน่ สมัคร สส. ครั้งล่าสุดก็ 6,000 คน อันนี้เป็น 46,000 คน  ถ้าครึ่งนึงอิสระก็มี 2-3-4 หมื่น ซึ่งมันเยอะๆ มาก และผมคิดว่าผลที่มันเกิดขึ้น คือ เมื่อก้าวออกมาแล้ว ชั้นจะไม่ยอมให้มันแย่กว่านี้ แฃัฃะผมคิดว่ามันเกิดขึ้นและเขารู้จักข้ามกลุ่มอาชีพด้วยใน อำเภอ ตัวเองจังหวัดตัวเอง ผมว่าผลที่มันเกิดขึ้นในทางบวกนี่คือเครือข่ายของภาคประชาชนของทุกอำเภอและจังหวัด

คนที่เขามาแบบไม่ได้หวังจะเป็น มาเพราะมีอะไรทำให้เข้ามาก็ไม่เป็นไร แต่คนที่เข้ามาด้วยความตั้งใจ ผมเชื่อมีมากกว่า แล้วก็ นั่นแหละ คือ ความหวังของเรา ในการปลดล็อคประเทศไทย ส่วนระบบอันเนี้ย เป็นระบบที่ซับซ้อนที่สุดแล้วก็แย่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทย แล้วก็ในโลกนี้ด้วยเคยมี เชื่อผม ใช้ครั้งเดียว ครั้งหน้าไม่มีใครใช้ต่อแล้ว ก็ง่ายๆ คือ เดี๋ยวจะมีการแก้ไขแน่คือ สว. ท่านที่จะได้รับเลือกเข้าไป 200 ท่าน จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ ในเพราะตัวท่านเองก็ผ่านระบบตรงนี้มาท่านก็เห็นว่ามันไม่ดีแล้วครั้งหน้าอีก 5 ปีระบบมันต้องดีกว่านี้

ปลดล็อคประเทศไทย แต่สำคัญ คือ ต้องให้การเลือก สว.​ ครั้งนี้มันสำเร็จ  ต้องสำเร็จ

ผมย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าจะมีปัญหาก็เป็นเรื่องของเป็นคนๆ ไป เป็นอำเภอ เป็นจังหวัดไป ไม่ใช่ทั้งหมด อันนี้ผมคิดว่าเราไม่ได้เข้าไปสู่การก้าวครั้งแรกนั่นคือ สว.​ ชุด คสช.​เขาก็พ้นตำแหน่งไป ตอนนี้เขาไม่พ้นตำแหน่งประหลาดมาก หมดวาระ แต่ไม่พ้นตำแหน่ง

นี่เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญ ที่แปลกมาก วิธีการให้เขาพ้นตำแหน่ง คือ ชุดใหม่ต้องเข้ามา  พอเข้ามาปุ๊ป ตนก็เชื่อว่า ที่มามันหลากหลาย ต่อให้มีกระบวนการจัดตั้งอะไรมา ก็แล้วแต่ แต่ว่าไม่มีใครจะครอบงำและควบคุมได้ทั้งหมด ซึ่งเหมือนชุดนี้ เพราะ คสช.​เค้าเลือกมาเลยมีบทบาทมากมาย และโอกาสของการที่จะได้องค์กรอิสระที่ไม่เหมือนที่ผ่านมา หรือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในแบบที่ไม่มีใครมาสั่งได้เอาประโยชน์ปวงชนเป็นที่ตั้งเลยมันจะดีกว่าที่ผ่านมา

และผมเชื่อว่าการปลดล็อคประเทศไทยเริ่มต้นจากปลดล็อค สว. ก่อน  ต้องให้ สว. จาก คสช. เขาหมดวาระไป

นี่คือกระดุมเม็ดแรกที่ จะเดินหน้าสู่เส้นทางประชาธิปไตย อย่างที่หลายท่านหลายๆ พื้นที่หลายๆ เวทีในทุกภาค มีคีย์เวิร์ดเดียวกัน คือ เราอยากเห็นประเทศเปลี่ยน

แต่สิ่งสำคัญที่เวทีของเราพูดคุยกัน คือ ต้องทำให้การเลือกสว. รอบนื้ ผ่านไปได้ สำเร็จไปได้ แน่นอนว่าอาจจะไม่เปลี่ยนในทันที แต่มันขยับไปข้างหน้าอย่างแน่นอน ซึ่งหากว่าเราสามารถทำให้มันผ่านไปได้และเชื่อว่าท่ามกลางบรรยากาศของประชาชนที่อยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย อย่างที่จะปลดล็อคสู่ทศวรรษของความรุ่งเรือง เราอยู่ในทศวรรษของความสูญหายมานาน และเราอยากไปสู่สิ่งที่ดีกว่า นี่คือ ด่านแรก เป็นเกมยาว เป็นห้องทดลอง แต่เป็นสิ่งที่เห็นว่าประชาชนตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก

แชร์บทความนี้